สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค
แถลงข่าว วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 09.30 น.
- เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 ขยายตัวจากไตรมาสที่สามของปี 2561 ร้อยละ 0.8 (QoQ_SA)
- ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกสินค้าและบริการ ในขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลชะลอตัวในด้านการผลิต การผลิตสาขาอุตสาหกรรม สาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซม สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการขนส่งและการคมนาคมขยายตัวเร่งขึ้น ส่วนการผลิตภาคเกษตรและสาขาก่อสร้างชะลอตัว
- รวมทั้งปี 2561 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 4.1 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.0 ในปี 2560 และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.6 และร้อยละ 3.8 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.1 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 7.4 ของ GDP
- แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.5 โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญ ประกอบด้วย (1) การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง (2) การปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนตามการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิต และการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน (3) การเร่งตัวขึ้นของการลงทุนภาครัฐ ตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ๆ (4) การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว ตามการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของจำนวนและรายได้จากการท่องเที่ยว และ (5) การเปลี่ยนแปลงทิศทางการค้า การผลิต และการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 4.1 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.2 และร้อยละ 5.1 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 - 1.5 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 6.2 ของ GDP
- ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2562 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การขับเคลื่อนการส่งออกทั้งปีให้สามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5.0 โดยให้ความสำคัญกับ (i) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า และให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบรวมทั้งติดตามการเปลี่ยนแปลงของสินค้านำเข้าที่สำคัญ ๆ (ii) การปฏิบัติตามกรอบกติกาการค้าโลก ข้อกำหนดและแนวทางการปฏิบัติในประเทศคู่ค้า (iii) การขยายความร่วมมือทางการค้าโดยเฉพาะในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และ (iv) การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการส่งออกบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการลดต้นทุนและอำนวยความสะดวกด้านการส่งออก (2) การสนับสนุนการฟื้นตัวและ การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การรักษาความปลอดภัย การอำนวยความสะดวกและลดความแออัดของนักท่องเที่ยว การส่งเสริมการขาย ในตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกลและกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูง การกระจายรายได้ลงสู่เมืองรองและชุมชน การสร้างความเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไทยกับประเทศในภูมิภาค และการรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวชาวไทยกลับมานิยมท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น (3) การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับ (i) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนประจำปีงบประมาณ 2562 ให้มีอัตราการเบิกจ่ายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70.0 และการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในปี 2562 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80.0 งบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปีให้มีอัตราการเบิกจ่ายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75.0 และการเบิกจ่ายเงินกู้นอกงบประมาณที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายจำนวน 12,858.1 ล้านบาท (4) การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย (i) การขับเคลื่อนการส่งออกเพื่อเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตและกระตุ้น การลงทุนในภาคอุตสาหกรรม (ii) การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกัน ทางการค้าเพิ่มการใช้กำลังการผลิตในประเทศไทย รวมทั้งชักจูงนักลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ กีดกันทางการค้าให้ย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น และ (iii) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง (5) การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยและการสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเศรษฐกิจฐานราก และ (6) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงานให้มีเพียงพอต่อการรองรับการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุน รวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสในการขยายตัวจากการย้ายฐานการผลิตระหว่างประเทศ
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกสินค้าและบริการ ในขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลชะลอตัว ด้านการผลิต การผลิตสาขาอุตสาหกรรม สาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซม สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการขนส่งและการคมนาคมขยายตัวเร่งขึ้น ส่วนการผลิตภาคเกษตรและสาขาก่อสร้างชะลอตัว เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทย ในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 ขยายตัวจากไตรมาสที่สามของปี 2561 ร้อยละ 0.8 (QoQ_SA) รวมทั้งปี2561 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 4.1 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.0 ในปี 2560 และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี
1) การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 5.3 ต่อเนื่องจากร้อยละ 5.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้นของฐานรายได้และการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ การดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ และการสิ้นสุดลงของข้อจำกัดจากมาตรการรถยนต์คันแรก โดยการใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขยายตัวร้อยละ 9.8 ในขณะที่การใช้จ่ายซื้อสินค้ากึ่งคงทน และสินค้าไม่คงทน ขยายตัวเร่งขึ้น สอดคล้องกับการขยายตัวของดัชนีปริมาณค้าปลีกสินค้ากึ่งคงทน ดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม และดัชนีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล ที่ขยายตัวร้อยละ 6.8 ร้อยละ 23.2 และร้อยละ 5.8 ตามลำดับ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 67.4 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 1.4 อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายรวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 29.8
รวมทั้งปี 2561 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.6 สูงสุดในรอบ 6 ปี และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 1.8
2) การลงทุนรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 5.5 เร่งขึ้นจาก การขยายตัวร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 เป็นผลจากการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวร้อยละ 5.6 และการลงทุนในสิ่งก่อสร้างที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 ส่วนการลงทุนภาครัฐลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.1 ตามการลดลงของการลงทุนของรัฐบาลร้อยละ 3.0 ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 4.6
รวมทั้งปี 2561 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.8 โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 3.3 และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.9 สูงสุดในรอบ 6 ปี
3) การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 62,538 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 2.3 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณ การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการลดลงร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น น้ำตาล (ร้อยละ 19.0) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 20.1) ปิโตรเคมี (ร้อยละ 8.4) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ 5.6) และเครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 3.2) กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น ข้าว (ร้อยละ -5.0) มันสำปะหลัง (ร้อยละ -7.5) ยางพารา (ร้อยละ -25.5) รถยนต์นั่ง (ร้อยละ -16.8) รถกระบะและรถบรรทุก (ร้อยละ -1.2) และชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ -12.7) การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอาเซียน (9) ขยายตัว ขณะที่ตลาดจีน สหภาพยุโรป (15) ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง (15) ปรับตัวลดลง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9
รวมทั้งปี 2561 การส่งออกมีมูลค่า 253,431 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 7.7 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 9.8 ในปี 2560 โดยปริมาณ การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 และราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7
4) ภาคเกษตร ขยายตัวร้อยละ 1.4 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของผลผลิตสินค้าสำคัญ เนื่องจากข้าวและอ้อยได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในบางพื้นที่ ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น ยางพารา (ร้อยละ 2.9) กลุ่มไม้ผล (ร้อยละ 3.8) มันสำปะหลัง (ร้อยละ 12.2) กุ้งขาวแวนนาไม (ร้อยละ 2.6) และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ร้อยละ 2.5) อย่างไรก็ตาม ผลผลิตไก่เนื้อ อ้อย และข้าวเปลือก ลดลง ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 1.2 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะราคายางพารา ราคาอ้อย ราคากุ้งขาวแวนนาไม และราคาปาล์มน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ราคาข้าวเปลือก (ร้อยละ 13.0) ราคามันสำปะหลัง (ร้อยละ 45.0) และราคาสุกร (ร้อยละ 13.5) การลดลงของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและดัชนีราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้รายได้เกษตรกรโดยรวมลดลงร้อยละ 1.2
รวมทั้งปี 2561 การผลิตภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.7 ในปี 2560 โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ในขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 5.7 ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมลดลงร้อยละ 0.4
5) สาขาอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 3.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิต เพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ขยายตัวร้อยละ 2.7 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 - 60 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ลดลงร้อยละ 4.8 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 68.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 66.4 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 67.4 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น ยานยนต์ (ร้อยละ 13.5) น้ำตาล (ร้อยละ 54.4) กระเป๋าเดินทางและกระเป๋าถือ (ร้อยละ 131.4) ผลิตภัณฑ์จากยาสูบ (ร้อยละ 41.0) และเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้ในงานทั่วไป (ร้อยละ 13.7) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 8.8) และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 3.3) เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ -22.4) และคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ -11.5) เป็นต้น
รวมทั้งปี 2561 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 3.0 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในปี 2560 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 68.5
6) สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 5.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 9.74 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อรวมกับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ขยายตัวเร่งขึ้นตามการปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจและมาตรการสนับสนุนจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรองของภาครัฐ ส่งผลให้ในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 793.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 513.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายรับจากนักท่องเที่ยวมาเลเซีย ฮ่องกง อินเดีย สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นสำคัญ และ (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 280.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.3 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 71.12 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 65.38 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 69.44 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
รวมทั้งปี 2561 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 7.9 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 10.6 ในปี 2560 โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 38.28 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 รายรับรวมจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 3,075.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 2,007.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 1,068.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 71.40
7) สาขาการขนส่งและการคมนาคม ขยายตัวร้อยละ 6.1 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 5.3 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว และการเพิ่มขึ้นของการบริการขนส่งสินค้าและบริการขนส่งผู้โดยสาร รวมทั้งการขยายตัวของการผลิตสาขาอุตสาหกรรม โดยบริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียง และบริการขนส่งทางอากาศขยายตัวร้อยละ 5.4 และร้อยละ 6.4 ตามลำดับ ในขณะที่บริการขนส่งทางน้ำลดลงร้อยละ 0.7 นอกจากนี้ บริการโทรคมนาคมขยายตัวร้อยละ 8.9 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของผลประกอบการของผู้ให้บริการโทรคมนาคม
รวมทั้งปี 2561 การผลิตสาขาการขนส่ง และการคมนาคมขยายตัวร้อยละ 6.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.3 ในปี 2560 โดยบริการขนส่งขยายตัวร้อยละ 3.2 และบริการโทรคมนาคมขยายตัวร้อยละ 10.2
สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.5 โดยมีแรงสนับสนุนจาก (1) การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มขยายตัว ในเกณฑ์ดีและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ตามการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ของประชาชนและการจ้างงาน (2) การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของการลงทุนภาคเอกชน ตามการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิต การเพิ่มขึ้นของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน และความคืบหน้าของโครงการลงทุนที่สำคัญ ๆ (3) การเร่งตัวขึ้นของการลงทุนภาครัฐ ตามการเพิ่มขึ้นของกรอบงบลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบเหลื่อมปี รวมทั้งการเร่งตัวขึ้นของการเบิกจ่ายจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ (4) การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว ตามการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนและยุโรป และ (5) การเปลี่ยนแปลงทิศทางการค้า การผลิต และการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 4.1 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.2 และร้อยละ 5.1 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 - 1.5 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 6.2 ของ GDP
1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ของปี 2561 และทั้งปี 2561ในด้านต่าง ๆ เป็นดังนี้
การบริโภคภาคเอกชน: ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นและการกระจายตัวมากขึ้นของฐานรายได้และการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำและการดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ ในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 5.3 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 5.2 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของรายจ่ายบริโภคสินค้าคงทน โดยยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขยายตัวร้อยละ 9.8 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 27.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าอื่น ๆ อาทิ สินค้ากึ่งคงทน และสินค้าไม่คงทน ขยายตัวในเกณฑ์ดีและเร่งตัวขึ้น สอดคล้องกับการขยายตัวของดัชนีปริมาณค้าปลีกสินค้ากึ่งคงทน ดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ดัชนีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล และดัชนีปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนที่ขยายตัวร้อยละ 6.8 ร้อยละ 23.2 ร้อยละ 5.8 และร้อยละ 7.8 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 5.5 ร้อยละ 13.4 ร้อยละ 0.6 และการลดลงร้อยละ 0.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสนี้มีปัจจัยสนับสนุนมาจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องของฐานรายได้และการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ สอดคล้องกับข้อมูลในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 ที่จำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 3 ไตรมาส ซึ่งส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงต่ำสุดในรอบ 12 ไตรมาส (2) การขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กระจายตัวมากขึ้น (3) อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และ (4) การดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 67.4 เทียบกับระดับ 69.6 ในไตรมาสก่อนหน้า รวมทั้งปี 2561 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.6 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในปี 2560 และเป็นการขยายสูงสุดในรอบ 6 ปี
การลงทุนภาคเอกชน:ขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร และการขยายตัวต่อเนื่องของการลงทุนในหมวดก่อสร้าง ในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 5.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 5.6 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ในประเทศ และยอดจดทะเบียนยานยนต์ใหม่ร้อยละ 4.9 และร้อยละ 6.9 ตามลำดับรวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของการนำเข้าสินค้าทุนที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 2.7 สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการปรับตัวดีขึ้นของบรรยากาศการลงทุนในประเทศ สะท้อนจากมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งในไตรมาสนี้มีมูลค่า 528 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 103.9 โดยเฉพาะมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 146.5 ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 5.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.2 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศร้อยละ 7.9 รวมทั้งความคืบหน้าของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภาครัฐ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 50.7 เทียบกับระดับ 51.6 ในไตรมาสก่อนหน้า
รวมทั้งปี 2561 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในปี 2560 และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 3.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในปี 2560 และการลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 4.1 ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจากการลดลงร้อยละ 0.9 ในปี 2560
การส่งออก: มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ชะลอลงตามการชะลอตัวของราคาส่งออก ในขณะที่ปริมาณการส่งออกปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า การส่งออกสินค้าในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 มีมูลค่า 62,538 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 2.3 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงเนื่องจากฐานการขยายตัวที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน และปริมาณการส่งออกสินค้าประมงลดลงตามการลดลงของการผลิตในประเทศ ส่วนราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกขยายตัวช้าลง โดยเฉพาะราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น ราคาน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 4.2) ราคาเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.8) ราคาเม็ดพลาสติกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 (สัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 4.0) และราคาผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.4) เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 5.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 2,052 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อนหน้า
รวมทั้งปี 2561 การส่งออกมีมูลค่า 253,431 ล้านดอลลาร์ สรอ. (มูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์) ขยายตัวร้อยละ 7.7 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 9.8 ในปี 2560 โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ในปี 2560
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.5 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 8.1 เนื่องจากการลดลงของปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาส่งออกข้าว และมันสำปะหลัง เป็นสำคัญ แต่ราคาส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญอื่น ๆ เช่น ราคายางพาราและราคาน้ำตาลปรับตัวลดลง การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ ประกอบด้วย ข้าว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 5.0 ตามการลดลงของมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศแคเมอรูน โมซัมมิก เบนิน และแอฟริกาใต้ เป็นสำคัญ และส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในระดับสูง โดยเป็นการลดลงด้านปริมาณการส่งออกเป็นสำคัญ (ร้อยละ -13.2) ขณะที่ราคาส่งออกยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 8.7 มันสำปะหลัง มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 7.5 โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 36.0 เนื่องจากปริมาณผลผลิตมีไม่เพียงพอต่อความต้องการส่งออก ในขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.2 เนื่องจากปริมาณผลผลิตในตลาดโลกลดลง และประเทศคู่ค้ายังคงมีความต้องการใช้มันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง ยางพารา มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 25.5 ตามการลดลงของการส่งออกไปยังจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น โดยราคาส่งออกลดลงร้อยละ 14.6 และปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 13.1 เนื่องจากอุปสงค์จากประเทศนำเข้าสำคัญโดยเฉพาะจีนปรับตัวลดลง ตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า น้ำตาล มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.0 ตามปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.5 จากการส่งออกไปยังฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และกัมพูชา เป็นสำคัญ ส่วนราคาส่งออกลดลงร้อยละ 25.6 เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำตามปริมาณผลผลิตน้ำตาลในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 6.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งสอดคล้องกับการลดลงของการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า และราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 20.1) ปิโตรเคมี (ร้อยละ 8.4) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 25.5) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ 5.6) และเครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 3.2) เป็นต้น ในขณะที่การส่งออกรถยนต์นั่ง รถกระบะและรถบรรทุก ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และแผงวงจรรวมและชิ้นส่วนลดลงร้อยละ 16.8 ร้อยละ 1.2 ร้อยละ 12.7 และร้อยละ 5.4 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงลดลงร้อยละ 6.2 โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 3.4 และราคาส่งออกลดลงร้อยละ 2.9 สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ กุ้ง ปู กั้ง และล็อบสเตอร์ (ร้อยละ -6.3) เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในการส่งออก สินค้าส่งออกอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 80.1 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปร้อยละ 90.1
ตลาดส่งออก: การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอาเซียน (9) ขยายตัว ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดจีน สหภาพยุโรป (15) ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง (15) ปรับตัวลดลง การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาขยายตัวร้อยละ 6.7 ปรับตัวดีขึ้นมากจากการลดลงร้อยละ 0.01 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีน การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 8.4 ใกล้เคียงกับการขยายตัวร้อยละ 8.7 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 เช่นเดียวกับการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน (9) ขยายตัวร้อยละ 9.4 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 22.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ขยายตัว ร้อยละ 9.9 (ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 9) และตลาดอาเซียน (5) ขยายตัวร้อยละ 9.0 (ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7) อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังตลาดจีนลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 ที่ร้อยละ 4.6 ตามการลดลงของการส่งออกยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นสำคัญ สอดคล้องกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งผลจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ทำให้จีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเพื่อส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ ลดลง ขณะที่การส่งออกไปยังสหภาพยุโรป (15) ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาส ร้อยละ 3.7 ตามการลดลงของการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (แผงโซลาร์) เป็นสำคัญ ส่วนการส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลาง (15) และออสเตรเลีย ลดลงร้อยละ 6.7 และร้อยละ 6.3 ตามลำดับ เนื่องจากการลดลงของการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เป็นสำคัญ
มูลค่าการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเพิ่มขึ้นทั้งราคาและปริมาณการนำเข้า ในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 การนำเข้ามีมูลค่า 58,134 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 7.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 17.0 ในไตรมาสก่อนหน้าโดยราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 6.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 10.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของปริมาณการนำเข้าในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสินค้าอุปโภคบริโภคร้อยละ 9.9 และร้อยละ 8.4 ตามลำดับ สอดคล้องกับการขยายตัวของการส่งออกและอุปสงค์ภายในประเทศ เมื่อหักการนำเข้าทองคำออกแล้ว มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 ทั้งนี้ หากไม่รวมการนำเข้าทองคำและน้ำมันดิบ มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 ในรูปของเงินบาท การนำเข้ามีมูลค่ารวม 1,908 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 ในไตรมาสก่อนหน้า
รวมทั้งปี 2561 การนำเข้ามีมูลค่า 229,808 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 ในปี 2560 โดยปริมาณและราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 และร้อยละ 5.6 ตามลำดับ และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 ในปี 2560
ในรายหมวด มูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสินค้าอุปโภคบริโภค เพิ่มขึ้น ในขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนและสินค้านำเข้าอื่น ๆ ปรับตัวลดลง มูลค่าการนำเข้าหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9 โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 9.3 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น น้ำมันดิบก๊าซธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ และวัสดุที่ทำด้วยโลหะ เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าทุนลดลงร้อยละ 0.6 โดยปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 1.4 ขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 โดยการนำเข้าสินค้าในกลุ่มเครื่องจักร อุปกรณ์ และเครื่องใช้ประกอบขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 4.9 ขณะที่การนำเข้าสินค้าในกลุ่มอากาศยาน เรือ แท่น และรถไฟ ลดลงร้อยละ 41.3 เนื่องจากการลดลงของการนำเข้าอากาศยาน เรือ และชิ้นส่วนอากาศยานและเรือเป็นสำคัญ สินค้าที่มูลค่าการนำเข้าลดลง เช่น อากาศยาน เรือ ชิ้นส่วนอากาศยานและเรือ อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม และเครื่องจักรสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนสินค้าที่มูลค่าการนำเข้ายังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ได้แก่ คอมพิวเตอร์ เครื่องจักรกลอื่น ๆ และชิ้นส่วน หม้อแปลง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า มอเตอร์ และเครื่องเก็บประจุไฟฟ้า เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 5.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ และราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์และประมง อาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์นม และยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 21.5 ตามการลดลงของการนำเข้าทองคำ (ไม่รวมทองรูปพรรณ) ร้อยละ 50.1
อัตราการค้า (Term of Trade) ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าเนื่องจากราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 เร็วกว่าราคาส่งออกซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ส่งผลให้อัตราการค้าปรับตัวลดลงจากระดับ 109.7 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นระดับ 108.4 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2561
รวมทั้งปี 2561 อัตราการค้าอยู่ที่ 108.2 ปรับตัวลดลงจาก 110.5 ในปี 2560 เนื่องจากราคานำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.6 เร็วกว่าราคาส่งออกซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4
ดุลการค้าเกินดุล ในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 ดุลการค้าเกินดุล 4.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (144.3 พันล้านบาท) สูงกว่าการเกินดุล 3.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (112.5 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า แต่น้อยกว่าการเกินดุล 7.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (231.8 พันล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
รวมทั้งปี 2561 ดุลการค้าเกินดุล 23.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (758.8 พันล้านบาท) น้อยกว่าการเกินดุล 34.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (1,158.3 พันล้านบาท) ในปี 2560
ภาคเกษตร:ชะลอตัวลงตามการลดลงของผลผลิตสินค้าสำคัญ เนื่องจากข้าวและอ้อยได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในบางพื้นที่ ในขณะที่ผลผลิตสินค้าสำคัญอื่น ๆ ขยายตัวต่อเนื่อง การชะลอตัวของผลผลิตสินค้าเกษตรหมวดพืชผลสำคัญเมื่อรวมกับการลดลงของราคาสินค้าสำคัญบางรายการส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมปรับตัวลดลง ในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 การผลิตภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 1.4 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาสที่สามของปี 2561 สอดคล้องกับการขยายตัวของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหมวดพืชผลสำคัญร้อยละ 0.7 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า และการกลับมาขยายตัวของดัชนีผลผลิตหมวดประมงร้อยละ 2.6 ในขณะที่ดัชนีผลผลิตหมวด ปศุสัตว์ลดลงร้อยละ 4.1 การชะลอตัวของการผลิตภาคเกษตรในไตรมาสนี้มีสาเหตุมาจากการลดลงของผลผลิตสำคัญ ๆ ประกอบด้วย (1) ไก่เนื้อ ลดลงร้อยละ 9.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาที่ไม่จูงใจในการผลิต (2) อ้อยลดลงร้อยละ 11.2 ตามผลผลิตต่อไร่ที่ลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งและฝนทิ้งช่วง รวมทั้งการลดลงของราคาอ้อย และ (3) ข้าวเปลือก ลดลงร้อยละ 0.4 โดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ (ลดลงร้อยละ 11.4) เนื่องจากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงและภัยแล้งในพื้นที่ปลูกข้าวนาปีที่สำคัญในช่วงต้นฤดูกาลเพาะปลูก อย่างไรก็ตาม ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญอื่น ๆ ขยายตัวในเกณฑ์ดี เช่น ยางพารา (ร้อยละ 2.9) กลุ่มไม้ผล (ร้อยละ 3.8) มันสำปะหลัง (ร้อยละ 12.2) กุ้งขาวแวนนาไม (ร้อยละ 2.6)และ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ร้อยละ 2.5) เป็นต้น ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 1.2 ตามการลดลงของราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ เช่น (1) ยางพารา เนื่องจากคำสั่งซื้อของประเทศผู้ใช้ยางพารารายใหญ่ของโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น ประกอบกับการชะลอการซื้อขายยางพาราในตลาดล่วงหน้า (2) อ้อย ตามการลดลงของราคาน้ำตาลในตลาดโลกซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากปริมาณผลผลิตส่วนเกินในตลาดโลกและสต็อกน้ำตาลทรายภายในประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูง (3) กุ้งขาวแวนนาไม เนื่องจากการลดลงของราคากุ้งขาวแวนนาไมในตลาดโลกซึ่งได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในหลายประเทศ โดยเฉพาะอินเดีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น และ (4) ปาล์มน้ำมัน สอดคล้องกับทิศทางราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลก ประกอบกับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบของไทยยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ราคาข้าวเปลือก (เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0) ราคามันสำปะหลัง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.0) และราคาสุกร (เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5) เป็นต้น การลดลงของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและดัชนีราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมลดลงร้อยละ 1.2 รวมทั้งปี 2561 การผลิตภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.7 ในปี 2560 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ในขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 5.7 ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 0.4
สาขาอุตสาหกรรม: ขยายตัวเร่งขึ้นสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ในประเทศและการกลับมาขยายตัวของปริมาณการส่งออก ในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 3.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในไตรมาสที่สามของปี 2561 สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เทียบกับการขยายตัวร้อย 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ขยายตัวร้อยละ 2.7 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.6 ในไตรมาสก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการขยายตัวสูงของการผลิตผลิตภัณฑ์จากยาสูบ การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และการผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 41.0 ร้อยละ 8.8 และร้อยละ 10.0 ตามลำดับ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนส่งออกในช่วงร้อยละ 30 - 60 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของการผลิตยานยนต์จากร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นร้อยละ 13.5 โดยเฉพาะการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศที่ขยายตัวในเกณฑ์สูงเพื่อรองรับการจำหน่ายรถยนต์รุ่นใหม่ในไตรมาสสุดท้ายของปี ประกอบกับการขยายตัวในเกณฑ์สูงของการผลิตน้ำตาลร้อยละ 54.4 ซึ่งเป็นผลจากการเร่งเปิดหีบเร็วกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม การผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าปรับตัวลดลงร้อยละ 12.0 ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ลดลงร้อยละ 4.8 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของการผลิตผลิตภัณฑ์ยางและการผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงร้อยละ 22.4 และร้อยละ 11.5 ตามลำดับ ในขณะที่การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้ในงานทั่วไป และการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวร้อยละ 13.7 และร้อยละ 3.3 ตามลำดับ อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 68.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 66.4 ในไตรมาสก่อนหน้าและร้อยละ 67.4 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยในอุตสาหกรรมสำคัญ 23 รายการ มีอุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังการผลิตสูงกว่าร้อยละ 90 จำนวน 2 อุตสาหกรรม ได้แก่ การผลิตพลาสติกและยาง (ร้อยละ 99.0) และการผลิตยานยนต์ (ร้อยละ 97.4) อุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังการผลิตในช่วงร้อยละ 80 - 90 จำนวน 2 อุตสาหกรรม ได้แก่ การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 88.4) และการแปรรูปและถนอมเนื้อสัตว์ (ร้อยละ 83.8) ส่วนอุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังการผลิตในช่วงร้อยละ 70 - 80 จำนวน 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ 76.1) การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 75.6) และการผลิตจักรยานยนต์ (ร้อยละ 74.0)
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น การผลิตยานยนต์ (ร้อยละ 13.5) การผลิตน้ำตาล (ร้อยละ 54.4) การผลิตกระเป๋าเดินทางและกระเป๋าถือ (ร้อยละ 131.4 ) การผลิตผลิตภัณฑ์จากยาสูบ (ร้อยละ 41.0) การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้ในงานทั่วไป (ร้อยละ 13.7) การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 8.8) การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 3.3) การผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (ร้อยละ 10.0) การแปรรูปและการถนอมปลา (ร้อยละ 4.5) และการผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีตและปูนซีเมนต์ (ร้อยละ 7.0) เป็นต้น
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ลดลง เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ -22.4) การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ -11.5) การผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (ร้อยละ -12.0) การผลิตน้ำมันและไขมันจากพืชและสัตว์ (ร้อยละ -10.7) และการผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือน (ร้อยละ -7.3) เป็นต้น
รวมทั้งปี 2561 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 3.0 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในปี 2560 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 68.5
สาขาโรงแรมและภัตตาคาร: ขยายตัวเร่งขึ้นตามการเริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นของจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และการขยายตัวสูงต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของอัตราการเข้าพัก ในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 5.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.1 ในไตรมาสที่สามของปี 2561 โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 9.74 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า หลังจากผลกระทบจากเหตุการณ์เรือล่มเริ่มผ่อนคลายลง ภายใต้มาตรการแก้ไขปัญหาของภาครัฐและการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยในต่างประเทศของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย (สัดส่วนร้อยละ 12.6) เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.4 อินเดีย (สัดส่วนร้อยละ 4.4) เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 ฮ่องกง (สัดส่วนร้อยละ 2.4) เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.3 และญี่ปุ่น (สัดส่วนร้อยละ 4.4) เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 ประกอบกับนักท่องเที่ยวจากรัสเซียกลับมาขยายตัวร้อยละ 1.4 และนักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมาขยายตัวในเดือนธันวาคม เมื่อรวมกับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ขยายตัวเร่งขึ้นตามการปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจและมาตรการสนับสนุนจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรองของภาครัฐ ส่งผลให้ในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 793.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 513.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.3 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายรับจากนักท่องเที่ยวมาเลเซีย ฮ่องกง อินเดีย สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นสำคัญ และ (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 280.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.3 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 71.12 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 65.38 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 69.44 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
รวมทั้งปี 2561 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 7.9 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 10.6 ในปี 2560 โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 38.28 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 รายรับรวมจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 3,075.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 2,007.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 1,068.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 71.40
สาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซม: ขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้นตามการขยายตัวสูงต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการปรับตัวดีขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 การผลิตสาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซมเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 เร่งตัวขึ้นอย่างช้า ๆ จากการขยายตัวร้อยละ 7.3 ในไตรมาสที่สามของปี 2561 สอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์สูงของดัชนีการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซมร้อยละ 10.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 8.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ประกอบด้วย (1) ดัชนีการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 9.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยหมวดการขายยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 และหมวดการขายชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมของยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 (2) ดัชนีการขายส่ง (ยกเว้น ยานยนต์และจักรยานยนต์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 โดยหมวดการขายส่งสินค้าเฉพาะประเภทอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 (เช่น การขายส่งเคมีภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม การขายส่งเหล็ก เหล็กกล้า และโลหะที่นอกกลุ่มเหล็กขั้นมูลฐาน) และหมวดการขายส่งของใช้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 และ (3) ดัชนีการขายปลีก (ยกเว้น ยานยนต์และจักรยานยนต์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 19.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยหมวดขายปลีกสินค้าประเภทอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.6 (เช่น ร้านขายปลีกเครื่องประดับ ร้านขายปลีกสินค้าใหม่อื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น) และหมวดร้านขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6
รวมทั้งปี 2561 การผลิตสาขาการค้าส่งค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 7.0 ในปี 2560
สาขาการขนส่ง และการคมนาคม: ขยายตัวเร่งขึ้นสอดคล้องกับบริการขนส่งทางบก บริการขนส่งทางอากาศ และบริการโทรคมนาคม ในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 การผลิตสาขาการขนส่ง และการคมนาคมขยายตัวร้อยละ 6.1 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 5.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยบริการขนส่งขยายตัวร้อยละ 3.1 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของการบริการขนส่งสินค้าและบริการขนส่งผู้โดยสาร ประกอบด้วย (1) บริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียงขยายตัวร้อยละ 5.4 (2) บริการขนส่งทางอากาศขยายตัวร้อยละ 6.4 และ (3) บริการขนส่งทางน้ำลดลงร้อยละ 0.7 ส่วนการบริการโทรคมนาคมขยายตัวขึ้นร้อยละ 8.9 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของผลประกอบการของผู้ให้บริการโทรคมนาคม
รวมทั้งปี 2561 การผลิตสาขาการขนส่ง และการคมนาคมขยายตัวร้อยละ 6.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.3 ในปี 2560 โดยบริการขนส่งขยายตัวร้อยละ 3.2 และบริการโทรคมนาคมขยายตัวร้อยละ 10.2
สาขาไฟฟ้า ก๊าซ และการประปา: ขยายตัวเร่งขึ้นตามกิจกรรมการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและสาขาบริการที่สำคัญ ๆ รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของอุปสงค์ภาคครัวเรือนและอุณภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้น ในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 การผลิตสาขาไฟฟ้า ก๊าซ และการประปาเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.1 ในไตรมาสที่สามของปี 2561 โดย (1) กิจกรรมการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า (2) กิจกรรมโรงแยกก๊าซขยายตัวร้อยละ 2.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.7 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซที่ใช้ในโรงไฟฟ้า และ (3) การผลิตและจำหน่ายน้ำประปาลดลงร้อยละ 5.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 6.9 ในไตรมาสก่อนหน้า
รวมทั้งปี 2561 การผลิตสาขาไฟฟ้า ก๊าซ และการประปาขยายตัวร้อยละ 2.6 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัว ร้อยละ 2.3 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยกิจกรรมการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าขยายตัวร้อยละ 3.6 และกิจกรรมโรงแยกก๊าซขยายตัวร้อยละ 1.2 ในขณะที่ กิจกรรมการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาลดลงร้อยละ 4.4
สาขาก่อสร้าง:ชะลอตัวลงตามการก่อสร้างของภาครัฐ ในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 3.4 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.5 ในไตรมาสที่สามของปี 2561 โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวร้อยละ 2.0 (การก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 6.9 ในขณะที่การก่อสร้างของรัฐบาลลดลงร้อยละ 0.4) การก่อสร้างภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 สอดคล้องกับการชะลอตัวลงของการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยและอาคารที่มิใช่ที่อยู่อาศัย (เช่น อาคารพาณิชย์ และอาคารโรงงาน) ในขณะที่สิ่งก่อสร้างอื่นๆ ขยายตัว ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ตามการเพิ่มขึ้นของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (ร้อยละ 1.6) หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ (ร้อยละ 1.4) หมวดกระเบื้องและวัสดุประกอบ (ร้อยละ 3.5) และหมวดซีเมนต์ (ร้อยละ 1.0) เป็นสำคัญ
รวมทั้งปี 2561 การผลิตสาขาก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 2.8 โดยการก่อสร้างภาครัฐและการก่อสร้างภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 และร้อยละ 4.1 ตามลำดับ
ผู้มีงานทำ: ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง และเป็นการขยายตัวของผู้มีงานทำทั้งในเกือบทุกสาขาการผลิตสอดคล้องกับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กระจายตัวมากขึ้น ในขณะที่อัตราการว่างงานลดลงต่ำสุดในรอบ 12 ไตรมาส ในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 ผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัว ร้อยละ 1.7 ในไตรมาสที่สามของปี 2561 และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 35 ไตรมาส โดยผู้มีงานทำภาคเกษตร (สัดส่วนร้อยละ 32.2) ขยายตัวร้อยละ 2.4 และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 สอดคล้องกับการขยายตัวของผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น กลุ่มไม้ผล และมันสำปะหลัง เป็นต้น ในขณะที่ ผู้มีงานทำนอกภาคเกษตร (สัดส่วนร้อยละ 67.8)เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ของผู้มีงานทำในสาขาอุตสาหกรรมและเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่ 3 สอดคล้องกับการขยายตัวของผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และการเพิ่มขึ้นของผู้มีงานทำในสาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมยานยนต์ฯ ร้อยละ 1.5 สอดคล้องกับการขยายตัวของสาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซม และการขยายตัวของผู้มีงานทำในสาขาก่อสร้างร้อยละ 5.0 สอดคล้องกับการขยายตัวของสาขาก่อสร้าง ในขณะที่ผู้มีงานทำในสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารลดลงร้อยละ 0.02 การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของผู้มีงานทำส่งผลให้อัตราการว่างงานในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่ำสุด ในรอบ 12 ไตรมาส โดยมีผู้ว่างงานเฉลี่ยจำนวน 3.6 แสนคน
เฉลี่ยทั้งปี 2561 มีผู้ว่างงานจำนวน 4.0 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.1
ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2562 (ตุลาคม - ธันวาคม 2561) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 588,905.7 ล้านบาท สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การเพิ่มขึ้นของการนำส่งรายได้รัฐวิสาหกิจ เนื่องจากการจ่ายปันผลของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (2) การเพิ่มขึ้นของการจัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียม จากการชำระภาษีจากการโอนสัมปทานปิโตรเลียม (3) การเพิ่มขึ้นของการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7.0 ตามการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้า และ (4) การเพิ่มขึ้นของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตร้อยละ 11.6 สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจในประเทศ การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2562 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 1,034,271.6 ล้านบาท1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ประกอบด้วย (1)การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 จำนวน 892,969.9 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีงบประมาณก่อนร้อยละ 0.5 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 29.8 ต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 30.3 แต่สูงกว่าร้อยละ 29.4 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) จำแนกเป็น การเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 817,732.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 34.8 สูงกว่าอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 32.3 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) และการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 75,237.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13.8 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 11.6 ต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 21.1 และต่ำกว่าอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 16.2 ในไตรมาสเดียวกันของปีงบประมาณก่อนหน้า) (2) การเบิกจ่ายงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 70,751.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีงบประมาณก่อนร้อยละ 1.5 อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 19.3 (ต่ำกว่าอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 21.5 ในไตรมาสเดียวกันของปีงบประมาณก่อน) (3)การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวมบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)) คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ 73,548.1 ล้านบาท2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีงบประมาณก่อนหน้าร้อยละ 24.9 และ (4) การเบิกจ่ายเงินกู้นอกงบประมาณ จำนวน 279.7 ล้านบาท เทียบกับการเบิกจ่าย 992.6 ล้านบาท ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเบิกจ่ายเงินกู้ตามมาตรการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (แผนงาน/โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน) และเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan: DPL) จำนวน 185.7 ล้านบาท และ 94.0 ล้านบาท ตามลำดับ
หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนธันวาคม มีมูลค่าทั้งสิ้น 6,833,645.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.9 ของ GDP ประกอบด้วยเงินกู้ภายในประเทศ 6,578,857.8 ล้านบาท (ร้อยละ 40.3 ของ GDP) และเงินกู้จากต่างประเทศ 254,788.1 ล้านบาท (ร้อยละ 1.6 ของ GDP) โดยแบ่งออกเป็นหนี้ของรัฐบาล 5,551,356.5 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 937,778.1 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 336,643.4 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 7,867.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 81.2 ร้อยละ 13.7 ร้อยละ 4.9 และร้อยละ 0.1 ของหนี้สาธารณะคงค้าง ตามลำดับ
ฐานะการคลัง: ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2562 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ 350,716.8 ล้านบาท เมื่อรวมกับการขาดดุลเงินนอกงบประมาณ 24,621.2 ล้านบาท และการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 121,800.0 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดสุทธิ 253,538.0 ล้านบาท และเมื่อรวมกับเงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาสก่อนหน้าจำนวน 633,436.0 ล้านบาท ส่งผลให้ฐานะเงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2562 อยู่ที่ 379,898.0 ล้านบาท
หมายเหตุ: 1 การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ประกอบด้วย งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี เงินกู้นอกงบประมาณ และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวมงบลงทุนของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และไม่รวมรายจ่ายลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี)
2 รวมรายจ่ายลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 3,277.7 ล้านบาท
อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี ในไตรมาสที่สี่ของปี 2561
ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 ที่ประชุมมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ตามแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศ รวมทั้งเพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพในระบบการเงิน และสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ซึ่งสอดคล้องกับประเทศเศรษฐกิจหลักที่ปรับทิศทางนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ในช่วงร้อยละ 2.25 - 2.50 ต่อปี ซึ่งเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 4 ของปี 2561 เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ร้อยละ 2.00 และอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ เช่นเดียวกับธนาคารกลางแคนาดาที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี ส่วนธนาคารกลางรัสเซียได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ร้อยละ 7.75 ต่อปี ตามแรงกดดันทางด้านอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหภาพยุโรปยุติการดำเนินนโยบายผ่อนคลาย เชิงปริมาณในเดือนธันวาคม 2561 สำหรับธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 6.00 และร้อยละ 1.75 ต่อปี ตามแรงกดดันทางด้านการขาดดุลของบัญชีเดินสะพัด และการเพิ่มขึ้นของหนี้สินครัวเรือน ตามลำดับ
รวมทั้งปี 2561 คณะกรรมการนโยบายการเงินปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม 2561 ร้อยละ 0.25 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.50 ต่อปี ณ สิ้นปี 2560 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี ณ สิ้นปี 2561
ล่าสุดเดือนมกราคม 2562 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอาจพิจารณาปรับมาตรการลดการถือครองพันธบัตร โดยการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไปจะขึ้นอยู่กับข้อมูลเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและความเคลื่อนไหวในภาคการเงิน
อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ทรงตัวเท่ากับไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก โดยในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ย และอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมแก่ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ อยู่ที่ร้อยละ 1.37 และร้อยละ 6.28 ต่อปี เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินเฉพาะกิจแห่งหนึ่งปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนร้อยละ 0.25 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของสถาบันการเงินเฉพาะกิจอยู่ที่ร้อยละ 1.60 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ร้อยละ 0.08 ขณะที่อัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ยทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.58 ต่อปี เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงเฉลี่ย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ที่แท้จริงเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามการลดลงของอัตราเงินเฟ้อ
รวมทั้งปี 2561 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ยและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.37 และร้อยละ 6.28 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ยของสถาบันการเงินเฉพาะกิจปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.08 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทรงตัวอยู่ที่ระดับเดียวกับปีก่อนหน้า
ล่าสุดเดือนมกราคม 2562 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 2 แห่งปรับเพิ่มขึ้นเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากร้อยละ 0.25 ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มาอยู่ที่ร้อยละ 1.42 ต่อปี ขณะที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ในระดับเดียวกับ ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ของปี 2561
สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินทั้งระบบขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยสินเชื่อครัวเรือนขยายตัวเร่งขึ้น ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจชะลอตัวลง โดย ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ของปี 2561 ยอดคงค้างสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 5.8 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 6.2 ในไตรมาสที่สามตามการชะลอตัวลงของสินเชื่อภาคธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะสินเชื่อสาขาการผลิตและสาขาเกษตรกรรม ป่าไม้ ประมง และเหมืองแร่ ในขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ถึงแม้สินเชื่อครัวเรือนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจชะลอตัวลง ทั้งนี้ คุณภาพของสินเชื่อในไตรมาสที่สี่ปรับตัวดีขึ้น โดยสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non Performing Loan) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.94 ลดลงจาก ไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อย
ในปี 2561 ยอดคงค้างสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงิน ณ สิ้นปีขยายตัวร้อยละ 5.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.3 ณ สิ้นปี 2560 โดยเป็นการเร่งตัวขึ้นทั้งสินเชื่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน สินเชื่อภาคธุรกิจขยายตัวเร่งขึ้นตามการขยายตัวของสินเชื่อในสาขาการขายส่งและการขายปลีก และสาขาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่สินเชื่อครัวเรือนเร่งตัวได้ตามการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์
อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 32.82 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อนหน้า ร้อยละ 0.5 สอดคล้องกับการไหลเข้าสุทธิของเงินลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ขณะที่ค่าเงินเฉลี่ยของประเทศในภูมิภาคส่วนใหญ่เคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าลงจากไตรมาสที่แล้ว โดยการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในไตรมาสนี้ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับแนวโน้มการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวอ่อนค่าลง และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากทิศทางนโยบายการเงินของไทย ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่น ๆ เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้น สะท้อนจากดัชนีค่าเงินบาท (NEER)3 และดัชนีค่าเงินบาท ที่แท้จริง (REER) ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 1.6 และร้อยละ 1.4 ตามลำดับ
ทั้งปี 2561 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 32.32 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยในปี 2560 ร้อยละ 4.7 สอดคล้องกับทิศทางค่าเงินของประเทศในภูมิภาคที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อยู่ในเกณฑ์ดี เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย โดยการแข็งค่าของเงินบาทในปี 2561 มีปัจจัยสนับสนุนจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและการไหลเข้าของเงินลงทุนจากต่างชาติในตลาดตราสารหนี้เป็นสำคัญ
ในเดือนมกราคม 2562 ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากเดือนธันวาคม 2561 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากการคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะเผชิญกับเงื่อนไขความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้การคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed เริ่มมีความไม่แน่นอน และประกอบกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนมกราคม 2562 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 31.81 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.7 จากค่าเฉลี่ยในเดือนก่อนหน้า
ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) เคลื่อนไหวผันผวนในทิศทางที่ลดลง จากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ตลอดทั้งไตรมาส SET Index ปรับตัวในทิศทางที่ลดลงซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในภูมิภาค เนื่องจากมีความกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ประกอบกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและสหรัฐฯ รวมทั้งการยุติการดำเนินนโยบาย ผ่อนคลายเชิงปริมาณของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยยังได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และสถานการณ์การปิดทำการของหน่วยงานบางแห่งของรัฐบาลสหรัฐฯ (Government Shutdown) ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ SET Index ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ของปี 2561 ปิดที่ 1,563.9 จุด ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 10.96 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยลดลงเป็น 45.3 พันล้านบาทต่อวัน เทียบกับ 52.0 พันล้านบาทต่อวันในไตรมาสก่อนหน้า โดยนักลงทุนต่างชาติยังคงมียอดขายสุทธิ 78.6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า
ทั้งปี 2561 SET Index ปรับตัวลดลงจาก 1,753.7 จุด ณ สิ้นปี 2560 เป็น 1,563.9 จุด ณ สิ้นปี 2561 หรือลดลง ร้อยละ 10.8 โดยได้รับแรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก โดยเฉพาะสัญญาณการเข้าสู่ช่วงชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก มาตรการกีดกันทางการค้า การปิดทำการชั่วคราวของหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ การแยกตัวของสหราชอาณาจักรจากสหภาพยุโรป แนวโน้มทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และความผันผวนในตลาดน้ำมันโลก มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในปี 2561 อยู่ที่ 56.4 พันล้านบาทต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 18.2 นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิ 287.5 พันล้านบาท
หมายเหตุ: 3 ธปท. เริ่มปรับใช้สกุลเงินพร้อมน้ำหนักใหม่ในการคำนวณดัชนีค่าเงินบาท (NEER) และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ในเดือนมีนาคม 2557 พร้อมปรับปีฐานของค่าดัชนีให้สอดคล้องกับปีที่ใช้คำนวณน้ำหนัก คือปี 2555 เพื่อให้สะท้อนถึงโครงสร้างทางการค้าตามความเป็นจริงได้ดียิ่งขึ้น
ในเดือนมกราคม 2562 SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,641.7 จุด หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 จากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับแนวโน้มการชะลอการการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562
มูลค่าซื้อขายพันธบัตรปรับตัวลดลง ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งส่งผลให้ดัชนีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของอัตราผลตอบแทน ในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาด (Outright Transaction) อยู่ที่ 69.0 พันล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิ 33.6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาว และขายพันธบัตรระยะสั้น โดยส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ประกอบกับปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค ทำให้พันธบัตรระยะยาวของไทยยังคงเป็นที่ต้องการของนักลงทุน และกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่มีช่วงอายุ 1 ปีขึ้นไปปรับตัวลดลงในช่วง 14-30 basis point ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่มีช่วงอายุน้อยกว่า 1 ปี ปรับเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 1-31 basis point ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในเดือนธันวาคม 2561
ทั้งปี 2561 มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาดเฉลี่ยต่อวันลดลงมาอยู่ที่ 78.8 พันล้านบาท จากเฉลี่ย 90.4 พันล้านบาทต่อวันในปี 2560 โดยนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิสะสมทั้งปีที่ 131.3 พันล้านบาท ส่งผลให้ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 2.3 และอัตราผลตอบแทนปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุเมื่อเทียบกับปี 2560
ในเดือนมกราคม 2562 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรระยะสั้น ขณะที่พันธบัตรระยะยาวยังมียอดซื้อสุทธิ 13.0 พันล้านบาท ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นยังคงปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่พันธบัตรระยะยาวยังปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิ ในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 มีเงินทุนไหลออกสุทธิ 4.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จากการออกไปลงทุนในต่างประเทศของคนไทย ประกอบด้วย 1) การลงทุนโดยตรง 2) การลงทุนในหลักทรัพย์ และ 3) การลงทุนอื่นๆ เช่น การลงทุนในตราสารอนุพันธ์ การให้กู้เงิน และการฝากเงิน เป็นต้น ตลอดจน การขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ กระแสเงินลงทุนจากต่างชาติยังคงไหลเข้าประเทศไทยต่อเนื่อง ทั้งในรูปของการลงทุนโดยตรงและการลงทุนในตราสารหนี้
ทั้งปี 2561 มีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิที่ 21.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดยเป็นผลจากทั้งการนำเงินไปลงทุนต่างประเทศของคนไทย และการขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติเป็นสำคัญ
ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (280.1 พันล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 12.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (407.0 พันล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และการเกินดุล 4.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (137.7 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการเกินดุลการค้า 4.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (ต่ำกว่าการเกินดุล 7.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) และการเกินดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิ 4.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (ต่ำกว่าการเกินดุล 5.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)
รวมทั้งปี 2561 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 37.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (1,210.6 พันล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 50.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (1,702.5 พันล้านบาท) ในปี 2560
เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ 205.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี net forward position อีก 33.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) คิดเป็นประมาณ 3.3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ข้อมูลเบื้องต้น ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561) และเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 10.6 เดือน (ค่าเฉลี่ยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่สี่ของปี 2561)
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 อยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 0.8 ชะลอลงจากร้อยละ 1.5 ในไตรมาสที่สามของปี 2561 โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.4 ในไตรมาสที่สามของปี 2561 เป็นผลจากเพิ่มขึ้นของราคาข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ปลาและสัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นม และเครื่องประกอบอาหาร เป็นต้น ส่วนดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ชะลอลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ในไตรมาสที่สามของปี 2561 เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชะลอลง ซึ่งทำให้ดัชนีราคาในหมวดพลังงานชะลอลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 ในไตรมาสที่สามของปี 2561 เป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ในไตรมาสนี้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 0.7 เทียบกับร้อยละ 0.8 ในไตรมาสก่อนหน้า4
รวมทั้งปี 2561 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 1.1 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.7 ในปี 2560 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 0.7 เทียบกับร้อยละ 0.6 ในปี 2560
ดัชนีราคาผู้ผลิต ในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ชะลอลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ในไตรมาสที่สามของปี 2561 เป็นผลจากการชะลอลงของราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์จากเหมืองเป็นสำคัญ โดยราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ชะลอลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมชะลอตัวลง ส่วนราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 ชะลอลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการชะลอลงของราคาลิกไนต์ ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ ในขณะที่ราคาผลผลิตเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เร่งขึ้นจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาผลผลิตการเกษตรและสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์เป็นสำคัญ5
รวมทั้งปี 2561 ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ในปี 2560
หมายเหตุ: 4 ในเดือนมกราคม 2562 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.3 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.7
5 ในเดือนมกราคม 2562 ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ 1.1
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 65.47 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจาก 58.84 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.3 แต่ลดลงจากราคาเฉลี่ยในไตรมาสที่สามของปี 2561 ร้อยละ 11.0
การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในไตรมาสนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) ความต้องการใช้น้ำมันของโลกที่ยังคงเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 ความต้องการใช้น้ำมันของโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 100.94 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 จากเฉลี่ย 99.44 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐอเมริกาเฉลี่ยอยู่ที่ 20.64 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 20.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนความต้องการใช้น้ำมันของจีนเฉลี่ยอยู่ที่ 13.95 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 13.50 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันของยุโรปและญี่ปุ่นเฉลี่ยอยู่ที่ 14.31 และ 3.88 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงร้อยละ 0.6 และร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 14.40 และ 4.06 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ (2) ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและซาอุดิอาระเบียกรณีการหายสาบสูญของผู้สื่อข่าวซาอุดิอาระเบีย และมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกาต่ออิหร่าน ที่ส่งผลให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการลดลงของอุปทานน้ำมันจากตะวันออกกลาง และ (3) ปัจจัยความไม่สงบด้านภูมิรัฐศาสตร์จากเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศซีเรีย
รวมทั้งปี 2561 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 68.78 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล สูงกว่าราคาเฉลี่ย 53.01 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2560 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.7
เศรฐกิจโลกในไตรมาสที่สี่ ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ตามการปรับตัวเข้าสู่ช่วงขาลงของวัฏจักรเศรษฐกิจในประเทศเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของหลายประเทศในช่วงก่อนหน้า รวมทั้งผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้า และความวิตกกังวลของภาคธุรกิจต่อปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ๆ ในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก เงื่อนไขดังกล่าวทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ชะลอตัวลงอย่างเป็นวงกว้างทั้งในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ยูโรโซน (ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 20 ไตรมาส) จีน (ต่ำสุดในรอบ 112 ไตรมาส) และญี่ปุ่น (ต่ำสุดในรอบ 16 ไตรมาส) ไต้หวัน (ต่ำสุดในรอบ 10 ไตรมาส) และสิงคโปร์ (ต่ำสุดในรอบ 12 ไตรมาส)
แม้กระนั้นก็ตาม การขยายตัวที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าศักยภาพทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ปรับตัวเข้าสู่เป้าหมายนโยบายการเงินอย่างชัดเจนมากขึ้น และแรงกดดันจากปัญหาเงินทุนไหลออกในประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอ ทำให้ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักและประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศยังปรับทิศทางนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ควบคู่ไปกับการปรับลดขนาดงบดุล ธนาคารกลางแคนาดาปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรปยุติมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญ ๆ ท่ามกลางแนวโน้มการปรับทิศทางนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติของประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าและความเสี่ยงที่สำคัญ ๆ ส่งผลให้ตลาดเงิน ตลาดทุน ตลาดสินค้า และการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศมีความผันผวนตลอดทั้งไตรมาส
เศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.4 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามแนวโน้มการชะลอตัวของภาคการผลิต และแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออก สะท้อนจากการปรับตัวลดลงของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (ISM-PMI) ภาคอุตสาหกรรม จากระดับ 59.6 ในไตรมาสก่อนหน้าเป็นระดับ 56.9 และการชะลอตัวของมูลค่าการส่งออกจากการขยายตัวร้อยละ 8.1 ในไตรมาสที่สาม เป็นร้อยละ 5.7 ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่สี่ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือน สะท้อนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของดัชนีการค้าปลีกที่ขยายตัวร้อยละ 5.3 ในช่วง 2 เดือนแรกของ ไตรมาสที่สี่ เทียบกับร้อยละ 4.8 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของตลาดแรงงานและค่าจ้าง โดยการว่างงานลดลงต่อเนื่องเป็นร้อยละ 3.6 เทียบกับร้อยละ 3.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และค่าจ้างเฉลี่ยต่อชั่วโมงที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 สูงสุดในรอบ 39 ไตรมาส ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE Price Index) ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่สี่อยู่ที่ร้อยละ 1.9 การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าศักยภาพ ท่ามกลางการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายนโยบายการเงิน ส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 สู่ช่วงร้อยละ 2.25 - 2.50 ในการประชุมเมื่อวันที่ 18 - 19 ธันวาคม 2561 รวมทั้งปี2561 เศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.8 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 2.2 ในปี 2560 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.1 เทียบกับร้อยละ 1.8 ในปี 2560
เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ขยายตัวร้อยละ 1.2 ชะลอลงจากร้อยละ 1.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 20 ไตรมาส โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการการชะลอตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและภาคบริการ (Composite PMI) อย่างไรก็ตาม การบริโภคภายในประเทศขยายตัวเร่งขึ้นสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานซึ่งส่งผลให้อัตราการว่างงานปรับตัวลดลงเป็นร้อยละ 7.9 ต่ำสุดในรอบ 10 ปี แม้ว่าความวิตกกังวลต่อความเสี่ยงจากการแยกตัวของสหราชอาณาจักรจากสหภาพยุโรปโดยปราศจากข้อตกลง (No-Deal Brexit) และเงื่อนไขทางเศรษฐกิจในอิตาลีจะส่งผลกระทบให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อ (HICP) ปรับตัวลดลงตามราคาพลังงานจากร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นร้อยละ 1.9 ใกล้เคียงกับเป้าหมายของนโยบายการเงิน เงื่อนไขดังกล่าว ส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในการประชุมเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิมต่อไปอย่างน้อยจนถึงช่วงกลางปี 2562 และยุติการเข้าซื้อสินทรัพย์ตั้งแต่สิ้นเดือนธันวาคม 2561 ตามแผนที่กำหนดไว้ รวมทั้งปี 2561 เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนขยายตัวร้อยละ 1.8 ชะลอลงจากร้อยละ 2.5 ในปี 2560 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.7 เทียบกับร้อยละ 1.5 ในปี 2560
เศรษฐกิจญี่ปุ่น ทรงตัวจากไตรมาสที่สามโดยเป็นผลจากการลดลงของแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสุทธิ ตามการชะลอตัวของการส่งออกและการเร่งขึ้นของการนำเข้า ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้น สอดคล้องกับตลาดแรงงานที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 8 ปี ร้อยละ 2.4 ติดต่อกันสามไตรมาส และส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งการบริโภคก่อนการปรับขึ้นอัตราภาษี เพื่อการบริโภคในเดือนตุลาคม 2562 ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 0.8 ลดลงจากร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ต่ำกว่าระดับเป้าหมายของนโยบายการเงินที่ร้อยละ 2.0 ส่งผลให้ในการประชุมเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและรักษามาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ไว้ที่ระดับเดิม รวมทั้งปี 2561 เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 0.7 ชะลอลงจากร้อยละ 1.9 ในปี 2560 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.0 เทียบกับร้อยละ 0.5 ในปี 2560
เศรษฐกิจจีน ขยายตัวร้อยละ 6.4 ชะลอลงเล็กน้อยจากการขยายตัวร้อยละ 6.5 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 28 ปี ตามการชะลอลงของการผลิตภาคเกษตรและภาคบริการ และการลดลงของแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสุทธิซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนของสหรัฐฯ และทำให้มูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่สี่ ขยายตัวร้อยละ 4.4 ต่ำสุดในรอบ 7 ไตรมาส ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 4.8 ต่ำสุดในรอบ 2 ปี สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของมาตรการปรับเพิ่มภาษีสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐฯ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม เช่นเดียวกับการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี สอดคล้องกับการดำเนินมาตรการปรับสมดุลโครงสร้างเศรษฐกิจ รวมทั้งการเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์และการชะลอการลงทุนของภาคธุรกิจเพื่อรอดูความชัดเจนของมาตรการกีดกันทางการค้า ในด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สัดส่วนหนี้สินภาคธุรกิจต่อ GDP ยังคงอยู่ในระดับสูงร้อยละ 155.1 เช่นเดียวกับหนี้สินภาคครัวเรือนและภาครัฐบาลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศปรับตัวลดลงเป็น 3,073 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 ต่ำสุดในรอบ 6 ไตรมาส สอดคล้องกับการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 และการอ่อนค่าของเงินหยวนร้อยละ 5.6 ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 เทียบกับสิ้นเดือนธันวาคม 2560 การชะลอตัวของเศรษฐกิจท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของแรงกดดันจากปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจส่งผลให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio: RRR) เป็นร้อยละ 13.5 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2562 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจและกระตุ้นธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งเป็นการปรับลดเป็นครั้งที่ 4 ภายในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2562 รวมทั้งปี 2561 เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 6.6 ชะลอลงจากร้อยละ 6.8 ในปี 2560 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 2.1 เทียบกับร้อยละ 1.6 ในปี 2560
เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเศรษฐกิจไต้หวันและสิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 1.8 และร้อยละ 1.9 ชะลอลงจากร้อยละ 2.4 และร้อยละ 2.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ตามการชะลอตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก ในขณะที่เศรษฐกิจเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 3.1 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อนหน้า สูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส โดยส่วนหนึ่งเป็นผลของการเร่งขึ้นของมูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ปี รวมทั้งปี 2561 เศรษฐกิจไต้หวัน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ขยายตัวร้อยละ 2.6 ร้อยละ 3.2 และร้อยละ 2.7 ชะลอลงจากร้อยละ 3.1 ร้อยละ 3.9 และร้อยละ 3.1 ในปี 2560 ตามลำดับ สำหรับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน ส่วนใหญ่ขยายตัว ในเกณฑ์ดีตามแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนที่ขยายตัวดีขึ้น สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของตลาดแรงงานสะท้อนจากอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ การส่งออกชะลอลงอย่างต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามขยายตัวร้อยละ 4.7 ร้อยละ 6.1 และร้อยละ 7.3 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 4.4 ร้อยละ 6.0 และร้อยละ 6.8 ตามลำดับ ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวร้อยละ 5.2 เท่ากับไตรมาสก่อน สำหรับอัตราเงินเฟ้อส่วนใหญ่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของราคาสินค้าในหมวดพลังงานและหมวดการขนส่ง รวมทั้งปี 2561 เศรษฐกิจเวียดนามและอินโดนีเซียขยายตัวร้อยละ 7.1 และร้อยละ 5.2 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 6.8 และร้อยละ 5.1 ในปี 2560 ตามลำดับ ในขณะที่เศรษฐกิจมาเลเซียและฟิลิปปินส์ขยายตัวร้อยละ 4.7 และร้อยละ 6.2 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 5.9 และร้อยละ 6.7 ในปี 2560 ตามลำดับ
เศรษฐกิจโลกในปี 2562 มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องจากครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา ตามการปรับตัวเข้าสู่ช่วงขาลงของวัฏจักรเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและกลุ่มประเทศยูโรโซน ท่ามกลางการปรับตัวของประเทศต่าง ๆ ต่อการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญ ๆ และปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปี 2561 ในกรณีฐานคาดว่าเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 3.8 และร้อยละ 3.8 ตามลำดับ ชะลอตัวลงจากร้อยละ 3.9 และร้อยละ 4.0 ในปี 2561 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจและการเงินในประเทศสำคัญ ๆ และความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจ การค้าและการเงินโลกในภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์สูง เมื่อรวมกับแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอลงตามการปรับตัวของราคาน้ำมันและราคาสินค้าขั้นปฐมในตลาดโลก และการปรับตัวเข้าสู่ช่วงการชะลอตัวของ วัฏจักรเศรษฐกิจ คาดว่าจะส่งผลให้ประเทศเศรษฐกิจหลักสำคัญ ๆ ปรับทิศทางนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติช้าลงจากปีก่อนหน้าและเป็นไปด้วยความระมัดระวังมากขึ้น โดยในกรณีฐานคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 1 - 2 ครั้ง ช้าลงจากการปรับเพิ่ม 4 ครั้งในปี 2561 รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะพิจารณาทบทวนมาตรการลดขนาดงบดุลหากความเสี่ยงต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น แคนาดา และกลุ่มประเทศยูโรโซนมีแนวโน้มที่จะคงนโยบายการเงินไว้ในระดับเดียวกันกับปีก่อนหน้า และธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินควบคู่ไปกับการปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าอย่างช้า ๆ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า
เศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.6 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในปี 2561 ตามข้อจำกัดของระบบเศรษฐกิจในช่วงที่การจ้างงานอยู่ในระดับสูงกว่าการจ้างงานเต็มที่ การลดลงของแรงขับเคลื่อนจากมาตรการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงาน รวมทั้งผลกระทบจากการปรับทิศทางนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติอย่างต่อเนื่อง และการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าที่เริ่มส่งผลต่อภาคการส่งออก แม้กระนั้นก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับสูงกว่าศักยภาพซึ่งจะส่งผลให้อัตราการว่างงานปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และจะส่งผลให้แรงกดดันจากค่าจ้างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและทำให้อัตราเงินเฟ้อ (Core PCE inflation) อยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 - 2.3 สูงกว่าเป้าหมายของนโยบายการเงิน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุน และความเสี่ยงต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกจะทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายช้าลงจากปีก่อนหน้า โดยในกรณีฐานคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 - 2 ครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน และ/หรือเดือนธันวาคม 2562 เทียบกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 4 ครั้งในปี 2561 แม้กระนั้นก็ตาม ยังมีความเป็นไปได้ที่การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีความล่าช้ากว่าการคาดการณ์ในกรณีฐานรวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะมีการทบทวนมาตรการปรับลดขนาดงบดุลหากความเสี่ยงในตลาดเงินตลาดทุนและสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน มีแนวโน้มที่จะขยายตัวร้อยละ 1.6 ชะลอลงจากร้อยละ 1.8 ในปี 2561 ตามเงื่อนไขทางการเงินที่มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้นภายหลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยุติมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ในเดือนธันวาคม 2561 ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับการออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมทั้งผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า การปรับมาตรฐานการปล่อยไอเสียรถยนต์ใหม่ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น และความอ่อนแอของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในอิตาลี สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและภาคบริการ (Composite PMI) ของยูโรโซนล่าสุดในเดือนมกราคม 2562 ซึ่งปรับลดลงเป็นระดับ 51.0 ต่ำสุดในรอบ 66 เดือน แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจท่ามกลางความเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของเยอรมนี เงื่อนไขปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของอิตาลี และความไม่แน่นอนของผลกระทบจาก Brexit คาดว่าจะทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมหลังจากการยุติมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ในเดือนธันวาคม 2561
เศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.9 ใกล้เคียงกับการขยายตัวร้อยละ 0.7 ในปี 2561 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการผลิตและการลงทุนของภาคธุรกิจที่เกิดจากการปรับตัวของภาคธุรกิจต่อมาตรการกีดกันทางการค้า การเพิ่มขึ้นของกำลังแรงงานภายหลังการออกกฎหมายเปิดรับแรงงานต่างชาติเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2562 รวมทั้งการเร่งขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศในช่วงก่อนที่มาตรการเพิ่มอัตราภาษีการบริโภคจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2562 ในขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และยังมีความเสี่ยงจากการดำเนินมาตรการเก็บภาษีนำเข้าสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนในตลาดสหรัฐฯ หากผลการสืบสวนตามมาตรา 232 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ พบว่าการนำเข้าสินค้าดังกล่าวเป็นภัยต่อความมั่นคง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง เงื่อนดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงรักษาการผ่อนคลายนโยบายการเงินไว้ในระดับเดิมอย่างต่อเนื่อง
เศรษฐกิจจีน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.3 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 6.6 ในปี 2561 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของภาคการส่งออกและภาคการผลิต ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าอย่างชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ รวมทั้งแนวโน้มการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศตามการชะลอตัวของภาคการผลิตและส่งออก ข้อจำกัดจากภาวะหนี้สินของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และผลกระทบจากการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพในภาคการเงินและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ภายใต้แนวโน้มดังกล่าว คาดว่าธนาคารกลางจีนยังมีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ โดยการปล่อยให้เงินหยวนเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าอย่างช้า ๆ และการดำเนินมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการตึงตัวของตลาดเงินให้กับภาคธุรกิจผ่านกลไกการปล่อยสินเชื่อของธนาคารเฉพาะกิจ และการลดอัตราการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง
เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องจากครึ่งหลังของปี 2561 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งทำให้การส่งออกชะลอลงในช่วงแรกของการปรับตัวของทิศทางทางการค้าและสายพานการผลิตระหว่างประเทศ ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงในทิศทางการค้าและการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศคาดว่าจะเริ่มมีความชัดเจนและช่วยลดผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและมาตรการกีดกันทางการค้าได้มากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 โดยคาดว่าเศรษฐกิจฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ในปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 3.4 3.0 2.5 และ 2.4 ชะลอลงจากร้อยละ 3.5 3.2 2.7 และ 2.6 ในปี 2561 ตามลำดับ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างช้า ๆ ตามแนวโน้มการชะลอตัวของการส่งออก ซึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศซึ่งเกิดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีที่ผ่านมาเพื่อลดแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อและการรักษาเสถียรภาพค่าเงิน อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเปลี่ยนแปลงของทิศทางทางการค้าและสายพานการผลิตระหว่างประเทศที่เกิดจากการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าจะเริ่มส่งผลด้านบวกต่อเศรษฐกิจของบางประเทศมากขึ้นตามลำดับซึ่งจะช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าผ่านความเชื่อมโยงของสายพานการผลิตระหว่างอาเซียนกับจีน โดยในกรณีฐานคาดว่า ในปี 2562 เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย จะขยายตัวร้อยละ 6.0 4.6 6.8 และ 5.2 ตามลำดับ ชะลอลงจากร้อยละ 6.2 4.7 7.1 และ 5.2 ในปี 2561 ตามลำดับ
แม้กระนั้นก็ตาม ความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบการเงินโลกยังอยู่ในเกณฑ์สูงและเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ซึ่งอาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ปริมาณการค้าโลก และทิศทางนโยบายการเงินของประเทศสำคัญ ๆ เปลี่ยนแปลงไปจากการคาดการณ์ในกรณีฐาน โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย (1) ผลการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังจากข้อตกลงระงับการประกาศใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมชั่วคราว 90 วันสิ้นสุดลงในวันที่ 1 มีนาคม 2562 และทิศทางการดำเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ และจีนหลังจากการสรุปผลการเจรจาดังกล่าว (2) มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจมีการดำเนินการเพิ่มเติมกับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะผลการสืบสวนตามมาตรา 232 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ ในเรื่องรถยนต์กับความมั่นคง ซึ่งจะมีการสรุปภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562 และทิศทางการตัดสินใจดำเนินมาตรการของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในระยะเวลา 90 วันหากผลการสืบสวนพบว่าการนำเข้ารถยนต์ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ (3) ความคืบหน้าของการเจรจาและการดำเนินการเพื่อการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งมีกำหนดในวันที่ 29 มีนาคม 2562 (4) การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนท่ามกลางแรงกดดันของปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศที่อาจถูกซ้ำเติมโดยผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า และการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการย้ายฐานการผลิตซึ่งจะทำให้การชะลอตัวทางเศรษฐกิจและปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของจีนมีความรุนแรงมากกว่าการคาดการณ์ (5) ปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญ ๆ ที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอ (เวเนซุเอลา อาร์เจนตินา ตุรกี และแอฟริกาใต้) และมีความอ่อนไหวต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกและการชะลอตัวของการส่งออกและราคาสินค้าในตลาดโลก (6) ความขัดแย้งระหว่างพรรคเดโมแครตและริพับลิกันที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการกำหนดกรอบงบประมาณปี 2562 การแก้ไขปัญหาเพดานหนี้สาธารณะที่จะครบกำหนดในวันที่ 1 มีนาคม 2562 และการกำหนดกรอบงบประมาณประจำปี 2563 ในไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อการปิดทำการชั่วคราวของหน่วยงานภาครัฐเพิ่มเติม และการผิดนัดชำระหนี้ (7) ความผันผวนในตลาดการเงินที่เกิดจากการคาดการณ์และการปรับตัวของนักลงทุนต่อทิศทางนโยบายการเงินและแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศสำคัญ ๆ รวมทั้งเงื่อนไขความเสี่ยงที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ การค้า และการเงินโลก (8) ปัญหาความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญ ๆ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านกรณีสงครามในเยเมน การถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ และปัญหาทางการเมืองภายในประเทศเวเนซุเอลา
เศรษฐกิจไทยในปี 2562 มีแนวโน้มที่มีข้อจำกัดจากเงื่อนไขและปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกมากขึ้น แต่ในกรณีฐานคาดว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวในเกณฑ์ดีตามแรงขับเคลื่อนจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ในประเทศทั้งในด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยวและการเปลี่ยนแปลงในทิศทางการค้าและสายพานการผลิตระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยชดเชยผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะทำให้การส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างช้า ๆ จากปี 2561 อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจการเงินโลก รวมทั้งบรรยากาศทางการเมืองและทิศทางนโยบายของรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ยังเป็นปัจจัยที่จะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
1) การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี และสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 4.6 เร่งขึ้นจากการขยายตัว ร้อยละ 3.0 ในปี 2560 และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในภาคเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ที่กระจายตัวมากขึ้น ทั้งฐานรายได้ในภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการขยายตัวของผลผลิตและการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ บางรายการ (2) การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในภาคการจ้างงานซึ่งเริ่มกลับมาขยายตัวอย่างชัดเจน รวมทั้งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องตลอดทั้งปีและกระจายตัวครอบคลุมการจ้างงานทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร โดยจำนวนผู้มีงานทำในภาคเกษตรในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สี่ ร้อยละ 2.4 เช่นเดียวกับจำนวนผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นติดต่อกัน 2 ไตรมาส ในระดับสาขาการผลิต ผู้มีงานทำสาขาการก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 (สูงสุดในรอบ 10 ไตรมาส) สาขาอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 (สูงสุดในรอบ 45 ไตรมาส) และสาขาการขายส่งและการขายปลีก และการซ่อมยานยนต์ฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 (สูงสุดในรอบ 8 ไตรมาส) การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของจำนวนผู้มีงานทำส่งผลให้อัตราการว่างงานในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 ลดลงเป็นร้อยละ 0.9 ต่ำสุดในรอบ 12 ไตรมาส (3) อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ (4) การเปิดตัวของรถยนต์รุ่นใหม่ท่ามกลางการสิ้นสุดลงของข้อจำกัดจากมาตรการรถยนต์คันแรก และ (5) การดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ สำหรับในปี 2562 คาดว่าการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ การจ้างงาน อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งการดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ และปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากค่าใช้จ่ายในช่วงการเลือกตั้ง จะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนให้อยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าฐานที่สูงของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งมีแนวโน้มที่จะเริ่มเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนและส่งผลให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนในภาพรวมมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปี 2561 ก็ตาม
2) การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องจักรเครื่องมือที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของการส่งออกซึ่งทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตในอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญ ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นและเข้าสู่ช่วงของการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตมากขึ้นตามลำดับ สอดคล้องกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 อยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 68.4 6 เทียบกับร้อยละ 67.4 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวเร่งขึ้นอย่างช้าๆ สอดคล้องกับความคืบหน้าของโครงการลงทุนที่สำคัญ ๆ ของภาครัฐ และการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจในภาพรวม สำหรับในปี 2562 การลงทุนภาคเอกชนมี
หมายเหตุ: 6 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 68.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 66.4 ในไตรมาสก่อนหน้าและร้อยละ 67.4 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยในอุตสาหกรรมสำคัญ 23 รายการ มีอุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังการผลิตสูงกว่าร้อยละ 90 จำนวน 2 อุตสาหกรรม ได้แก่ การผลิตพลาสติกและยาง (ร้อยละ 99.0) และการผลิตยานยนต์ (ร้อยละ 97.4) อุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังการผลิตในช่วงร้อยละ 80 - 90 จำนวน 2 อุตสาหกรรม ได้แก่ การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 88.4) และการแปรรูปและถนอมเนื้อสัตว์ (ร้อยละ 83.8) ส่วนอุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังการผลิตในช่วงร้อยละ 70 - 80 จำนวน 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ 76.1) การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 75.6) และการผลิตจักรยานยนต์ (ร้อยละ 74.0)
แนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) อัตราการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในเกณฑ์สูงของอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ซึ่งจะกระตุ้นให้ภาคการผลิตมีการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตมากขึ้น (2) การปรับตัวดีขึ้นของบรรยากาศการลงทุนภายในประเทศ สอดคล้องกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ในปี 2561 ซึ่งมีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 901 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.8 โดยเฉพาะการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งในปี 2561 มีมูลค่า 683.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 137.4 โดยโครงการที่ขอรับการส่งเสริมดังกล่าวคาดว่าจะเริ่มมีการลงทุนบางส่วนในปี 2562 (3) ความคืบหน้าของโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ของภาครัฐทั้งในโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และ (4) การเปลี่ยนแปลงทิศทางการผลิตและการลงทุนภายใต้สถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญมีความคืบหน้ามากขึ้นและคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนมากขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ ณ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 มีโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน ปี 2559 (Action Plan ปี 2559) จำนวน 20 โครงการ โครงการภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ปี 2560 (Action Plan ปี 2560) จำนวน 36 โครงการ และโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ปี 2561 (Action Plan ปี 2561) จำนวน 9 โครงการ โดยมีโครงการที่เข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างแล้วจำนวน 20 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 728,669 ล้านบาท แบ่งเป็น (1) โครงการภายใต้ Action Plan ปี 2559 จำนวน 14 โครงการ วงเงินรวม 723,109 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 9 โครงการ วงเงินรวม 522,280 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน (2) โครงการภายใต้ Action Plan ปี 2560 จำนวน 5 โครงการ วงเงินรวม 3,517 ล้านบาท และ (3) โครงการภายใต้ Action Plan ปี 2561 จำนวน 1 โครงการ วงเงินรวม 2,043 ล้านบาท
สำหรับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญภายใต้แผนงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จำนวน 5 โครงการ (ซึ่งได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา) ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วทุกโครงการ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างกระบวนการเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอและเจรจากับเอกชน
3) การเร่งตัวขึ้นของการลงทุนภาครัฐ แม้ว่าการลงทุนภาครัฐในปี 2561 จะขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์เนื่องจากข้อจำกัดที่สำคัญ ๆ ประกอบด้วย (1) ข้อจำกัดจากกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ซึ่งลดลงจากปีงบประมาณ 2560 ร้อยละ 0.4 ทำให้การขยายตัวของการลงทุนของรัฐบาลต้องอาศัยการเพิ่มขึ้นของอัตราเบิกจ่าย (2) อัตราการเบิกจ่ายในไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติ แม้กระนั้นก็ตาม การลงทุนในส่วนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 8.7 สอดคล้องกับความคืบหน้าของการดำเนินโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับในปี 2562 การลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การเพิ่มขึ้นในเกณฑ์สูงร้อยละ 19.9 ของกรอบงบลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 และร้อยละ 6.9 ของงบลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 (2) การเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณเหลื่อมปีร้อยละ 13.1 และ(3) ความคืบหน้าของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ๆ โดยเฉพาะโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2559 ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างจำนวน 14 โครงการ มูลค่า 723,109 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 9 โครงการ มูลค่า 522,280 ล้านบาท) ซึ่งการดำเนินการและการเบิกจ่ายจะเร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่มีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2563 - 2564 รวมทั้งโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2561 ซึ่งมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 5 โครงการ วงเงิน 3,517 ล้านบาท และ 1 โครงการ วงเงิน 2,043 ล้านบาท ตามลำดับ
4) การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว แม้ว่าการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2561 จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราวซึ่งเกิดจากการแข่งขันฟุตบอลโลกในเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม และเหตุการณ์อุบัติเหตุเรือล่มที่จังหวัดภูเก็ตในเดือนกรกฎาคม เป็นข้อจำกัดที่สำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 4.5 ในเดือนพฤศจิกายน และร้อยละ 7.7 ในเดือนธันวาคมเร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.9 ในไตรมาสที่ 3 และร้อยละ 0.5 ในเดือนตุลาคม โดยนักท่องเที่ยวจากรัสเซียและยุโรปในภาพรวมเริ่มกลับมาขยายตัวร้อยละ 1.4 และร้อยละ 0.9 ในไตรมาสสุดท้ายของปี เทียบกับการลดลงร้อยละ 7.2 และ 1.5 ในไตรมาสที่ 3 ตามลำดับ เช่นเดียวกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในเดือนธันวาคมซึ่งเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน นอกจากนั้น ข้อมูลจำนวนผู้เดินทางผ่าน 5 ท่าอากาศยานหลัก ในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 6.0 ซึ่งแสดงถึงการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน ภายใต้แนวโน้มดังกล่าวคาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2562 ได้มากขึ้น
5) การเปลี่ยนแปลงทิศทางการค้า การผลิต และการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 2.4 ชะลอลงจากร้อยละ 13.5 ในช่วงครึ่งปีแรก สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรเศรษฐกิจโลกที่ผ่านจุดสูงสุดและเริ่มเข้าสู่ช่วงของการชะลอตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีความตึงเครียดมากขึ้น แม้กระนั้นก็ตามข้อมูลการส่งออกในไตรมาสสุดท้ายของปีแสดงให้เห็นว่ามูลค่าการส่งออกของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ และจีนหลายรายการได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า (ดูกล่องข้อความหน้า 31) เช่นเดียวกับข้อมูลด้านการลงทุนที่เริ่มมีสัญญาณการวางแผนย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการออกจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในกรณีที่มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และจีนมีความรุนแรงมากขึ้น การปรับตัวของทิศทางทางการค้าและสายพานการผลิตระหว่างประเทศดังกล่าว นอกจากจะช่วยลดผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีต่อประเทศไทยผ่านการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมแล้ว ยังเป็นโอกาสที่สำคัญของประเทศไทยในการขับเคลื่อนการส่งออกและการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
1) เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์และความเสี่ยงต่อความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกยังอยู่ในเกณฑ์สูง โดยในกรณีฐานคาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 3.8 ชะลอตัวลงอย่างช้า ๆ จากร้อยละ 3.9 ในปี 2561 แม้กระนั้นก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์และระบบการเงินโลกมีความผันผวนมากขึ้นซึ่งเป็นสถานการณ์ที่จะต้องติดตามและประเมินผลสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย (1) ผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในวันที่ 1 มีนาคม 2562 และแนวนโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าในระยะถัดไป (2) มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศต่าง ๆ ที่อาจมีการดำเนินการเพิ่มเติมโดยเฉพาะการรายงานเรื่องการนำเข้ารถยนต์กับความมั่นคงของสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และทิศทางการตัดสินใจดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เกิดจากรายงานฉบับดังกล่าว (3) การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจเร็วกว่าการคาดการณ์และการเพิ่มขึ้นของปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่เกิดจากความไม่สมดุลของระบบเศรษฐกิจ และถูกซ้ำเติมโดยผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า และการเคลื่อนย้ายเงินทุนและฐานการผลิต (4) ความเสี่ยงจากการแยกตัวของ สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลง (No-Deal Brexit) ในวันที่ 29 มีนาคม 2562 (5) ความขัดแย้งในทิศทางการดำเนินนโยบายระหว่างพรรคเดโมแครตและริพับลิกันที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการผ่านกฎหมายงบประมาณและการแก้ไขปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ ซึ่งอาจนำไปสู่การปิดทำการชั่วคราวของหน่วยงานภาครัฐเพิ่มเติมและการลดลงของแรงขับเคลื่อนทางการคลัง และ (6) ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญ ๆ เช่น ความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน การถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ และปัญหาทางการเมืองภายในประเทศเวเนซุเอลา เป็นต้น
2) บรรยากาศทางการเมืองและทิศทางนโยบายของรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง แม้ว่าในกรณีฐานจะคาดว่าการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจะเป็นไปอย่างราบรื่นและการขับเคลื่อนนโยบายที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่เงื่อนไขบรรยากาศทางการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง รวมทั้งทิศทางนโยบายของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของนักลงทุน และความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่กระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 และการอนุมัติโครงการลงทุนที่มีความล่าช้าออกไป
1) เศรษฐกิจโลกในปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 3.8 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในปี 2561 เท่ากับสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน ตามแนวโน้มการชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน กลุ่มประเทศยูโรโซน และกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งข้อมูลในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 สะท้อนให้เห็นทิศทางการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและการขยายตัวต่ำสุดในรอบหลายไตรมาสของหลายประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ทำให้การส่งออกของหลายประเทศและปริมาณการค้าโลกชะลอตัวลง โดยกรณีที่ไม่มีการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า
การส่งออกของไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 ขยายตัวในเกณฑ์ต่ำและชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับมูลค่าการส่งออกของประเทศสำคัญ ๆ ในภูมิภาคที่ชะลอตัวลงอย่างเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะการส่งออกของประเทศที่มีสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดจีนสูง สอดคล้องกับการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้า และการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 28 ปี ของเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการส่งออกของไทยในไตรมาสที่สี่ แสดงให้เห็นว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยที่อยู่ภายใต้มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน (รายการสินค้าที่จีนกับสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกัน) ยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องร้อยละ 4.8 และสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกในภาพรวม ในขณะที่การส่งออกสินค้าที่อยู่นอกมาตรการกีดกันทางการค้าปรับตัวลดลงร้อยละ 1.1 (ตารางที่ 1) และเมื่อพิจารณาสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการกีดกันทางการค้าในตลาดสหรัฐฯ และจีน พบว่า สินค้าที่ขยายตัวดีในตลาดสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่สหรัฐฯ ปรับเพิ่มภาษีนำเข้าจากจีน (ตารางที่ 2) เช่นเดียวกับสินค้าที่ขยายตัวดีในตลาดจีนที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่จีนเพิ่มภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ (ตารางที่ 3) ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในตลาดจีนที่ปรับตัวลดลง ส่วนใหญ่เป็นรายการสินค้าที่สหรัฐฯ ปรับเพิ่มภาษีนำเข้าจากจีน ซึ่งแสดงถึงผลกระทบผ่านความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตไทย-จีนเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ (ตารางที่ 4) ในขณะที่ผลกระทบผ่านห่วงโซ่การผลิตไทย-สหรัฐฯ เพื่อส่งออกไปจีนไม่มีความชัดเจนมากนัก ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นข้อเท็จจริงของการส่งออกในไตรมาสที่สี่ ที่สำคัญ 3 ประการ คือ (1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งผลให้การส่งออกของไทยปรับตัวลดลง สะท้อนจากการลดลงของมูลค่าการส่งออกที่อยู่นอกมาตรการกีดกันทางการค้า (2) มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเป็นปัจจัยด้านลบต่อการส่งออกของไทยผ่านความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตไทย-จีนที่ส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ และ (3) การเปลี่ยนแปลงทิศทางทางการค้าที่เกิดจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกของไทยและมีแนวโน้มที่จะสูงกว่าผลกระทบด้านลบที่เกิดผ่านความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิต ภายใต้ข้อเท็จจริงดังกล่าว การขับเคลื่อนการส่งออกของไทยในปี 2562 จะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับ (1) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าทั้งในตลาดสหรัฐฯ และจีน ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลของ สศช. พบว่า ในบรรดาสินค้าจีนที่ถูกสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีจำนวนทั้งสิ้น 6,847 รายการ มูลค่า 250 พันล้านดอลลาร์ สรอ. นั้น เป็นสินค้า HS (8 หลัก) เดียวกันกับสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ 2,556 รายการมูลค่า 22.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และในบรรดาสินค้าสหรัฐฯ ที่ถูกจีนปรับเพิ่มภาษีนำเข้าทั้งสิ้น 5,865 รายการ มูลค่า 110 พันล้านดอลลาร์ สรอ. นั้น เป็นสินค้า HS (8 หลัก) เดียวกันกับสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังจีน 3,042 รายการมูลค่า 31.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (ตารางที่ 5) (2) การให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบด้านลบจากมาตรการกีดกันทางการค้าผ่านความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะสินค้าที่ส่งออกไปยังตลาดจีนเพื่อทำการผลิตต่อและส่งออกไปยังตลาดหรัฐฯ ให้สามารถปรับเปลี่ยนทิศทางการส่งออกไปยังตลาดอื่นได้เร็วขึ้น และ (3) การติดตามการเปลี่ยนแปลงของสินค้านำเข้าที่สำคัญ ๆ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าในสหรัฐฯ และจีน ซึ่งอาจเปลี่ยนทิศทางเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น
เพิ่มเติม คาดว่าปริมาณการค้าโลกในปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 3.8 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 4.0 ในปี 2561 เท่ากับสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน แม้กระนั้นก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกต่ำกว่าสมมติฐานประมาณการ ซึ่งจะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
2) ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2562 อยู่ในช่วง 31.5 - 32.5 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากเฉลี่ย 32.3 บาท ต่อดอลลาร์ สรอ. ในปี 2561 และแข็งค่าขึ้นจากสมมติฐาน 32.5 - 33.5 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการครั้งก่อนตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มล่าช้ากว่าในสมมติฐานการประมาณการที่ผ่านมา โดยในกรณีฐานคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2562 อีก 1 - 2 ครั้ง และอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะ 10 ปีของสหรัฐฯ เฉลี่ยในไนไตรมาสสุดท้ายของปีอยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 เทียบกับสมมติฐานการปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ 2 - 3 ครั้งในสมมติฐานครั้งก่อน และค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐฯ ระยะ 10 ปีในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงในประเทศสำคัญ ๆ ที่ทำให้นักลงทุนมีความกังวลมากขึ้นต่อแนวโน้มการชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจหลักซึ่งจะทำให้ความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจและอัตราผลตอบแทนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศสำคัญ ๆ ปรับตัวลดลง
3) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2562 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 62.0 - 72.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ต่ำกว่าราคาเฉลี่ย 69.3 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2561 และเป็นการปรับลดจาก 70.0 - 80.0 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล ในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อนซึ่งเป็นการปรับสมมติฐานให้สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันในช่วงไตรมาสที่สี่ ของปี 2561 จากราคาเฉลี่ย 79.3 และ 65.7 ดอลลาร์ สรอ. ในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน เป็นเฉลี่ย 56.9 ดอลลาร์ สรอ. ในเดือนธันวาคม ตามลำดับ โดยมีสาเหตุสำคัญจาก (1) การส่งสัญญาณการเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบียและรัสเซียเพื่อเตรียมรองรับการลดลงของการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านอันเนื่องมาจากการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ได้ออกมาตรการผ่อนปรนการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านแก่ประเทศผู้นำเข้า 8 ประเทศเป็นเวลา 180 วัน กำหนดสิ้นสุดในวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 (2) การเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่เร็วกว่าการคาดการณ์ของตลาด และ (3) การเพิ่มขึ้นของปัจจัยเสี่ยงในประเทศสำคัญ ๆ ทำให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นช้าลงกว่าที่คาดการณ์ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC รวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือนมกราคม - มิถุนายน 2562 (2) การสิ้นสุดลงของมาตรการผ่อนปรนการห้ามนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านแก่ประเทศผู้นำเข้า 8 ประเทศ ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านลดลง และ (3) แนวโน้มการลดลงของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในประเทศเวเนซุเอลาซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
4) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 - 1.5 ชะลอลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ในปี 2561 และเป็นการปรับลดจากร้อยละ 1.0 - 2.0 ในสมมติฐานการประมาณการเดิม ในขณะที่ราคาสินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 - 2.0 ชะลอลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 ในปี 2561 และเป็นการปรับลดจากสมมติฐานร้อยละ 1.5 - 2.5 ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในปี 2562 ที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 3.3 เทียบกับสมมติฐานการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 ในการประมาณการครั้งก่อนซึ่งจะส่งผลให้ราคาส่งออกในหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงและราคาหมวดสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รวมทั้งราคานำเข้าสินค้าในหมวดเชื้อเพลิง และหมวดวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นช้ากว่าในสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา
5) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศปี 2562 จำนวน 2.24 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 จาก 2.05 ล้านล้านบาท ในปี 2561 เท่ากับสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศรัสเซียและนักท่องเที่ยวจากยุโรป หลังจากการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำผิดปกติในปี 2561 ที่มีสาเหตุมาจากการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ประเทศรัสเซียในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2561 ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวยุโรปเปลี่ยนจุดหมายการเดินทางไปยังรัสเซียมากขึ้น โดยในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 จำนวนนักท่องเที่ยวจากรัสเซียและยุโรปเริ่มกลับมาขยายตัวร้อยละ 1.4 และร้อยละ 0.9 ตามลำดับ รวมทั้งการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนหลังจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือนที่ร้อยละ 2.8 ในเดือนธันวาคม 2561 แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของนักท่องเที่ยวจากรัสเซีย ยุโรป และจีนดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลจำนวนผู้ที่เดินทางผ่าน 5 ท่าอากาศยานหลักล่าสุดในเดือนมกราคม 2562 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 และสอดคล้องกับสมมติฐานการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาสแรกของปี 2562 ในการประมาณการครั้งก่อน (2) การดำเนินมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เช่น การขยายมาตรการยกเลิกค่าธรรมเนียม Visa on arrival (VOA) ชั่วคราวเป็นสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2562 มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวในเมืองรอง การขยายฐานตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีศักยภาพ และการทำตลาดเพื่อเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ยังไม่เคยเดินทางมาประเทศไทย (First Visitor) และ (3) ภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยที่ยังเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
6) การเบิกจ่ายงบประมาณ ประกอบด้วย (1) อัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ร้อยละ 92.0 ของวงเงินงบประมาณ (ปรับลดจากร้อยละ 93.0 ในสมมติฐานเดิม) เทียบกับอัตราเบิกจ่ายจริงร้อยละ 91.5 ในปีงบประมาณ 2561 แบ่งเป็นอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ ร้อยละ 98.0 (เท่ากับสมมติฐานเดิม) และอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน ร้อยละ 70.0 (ปรับลดจากร้อยละ 75.0 ในสมมติฐานเดิม ตามข้อมูลเบิกจ่ายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2562 ที่ต่ำกว่าที่คาด) เทียบกับร้อยละ 96.1 และร้อยละ 70.5 ในปีงบประมาณ 2561 (2) อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 80.0 (3) อัตราการเบิกจ่ายงบเหลื่อมปี ร้อยละ 75.0 และ (4) การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม - ธันวาคม 2562) ร้อยละ 30.3 ของวงเงินงบประมาณ
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.5 (ค่ากลางการประมาณการร้อยละ 4.0) ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากการขยายตัวร้อยละ 4.1 ในปี 2561 อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 - 1.5 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 6.2 ของ GDP
ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าเศรษฐกิจในปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.5 (ค่ากลางการประมาณการร้อยละ 4.0) ซึ่งเป็นการคงประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้เท่ากับการประมาณการในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 แต่มีการปรับสมมติฐานด้านราคาน้ำมัน และอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งส่งผลให้ราคาและมูลค่าสินค้าส่งออกและนำเข้า รวมทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดและอัตราเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจและองค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ แม้กระนั้นก็ตาม ความเสี่ยงด้านต่ำต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนหน้า ซึ่งยังต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย
1) ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังมีความอ่อนไหวต่อ (1) ผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในวันที่ 1 มีนาคม 2562 และทิศทางมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในระยะถัดไป และมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจมีเพิ่มเติมกับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะมาตรการด้านการนำเข้ารถยนต์หากรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 พบว่าการนำเข้ารถยนต์ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง (2) การชะลอตัวของเศรษฐกิจและปัญหาเสถียรภาพทางเศรษกิจของจีนที่ถูกซ้ำเติมโดยผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า และการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการย้ายฐานการผลิต (3) ความเสี่ยงจากการแยกตัวของสหราชอาณาจักรโดยไม่มีข้อตกลง (No-Deal Brexit) (4) ปัญหาอุปสรรคของสหรัฐฯ ในการผ่านร่างกฎหมายงบประมาณและการแก้ไขปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ และ (5) ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญ ๆ
2) แม้ว่าในกรณีฐานจะคาดว่าการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเข้าสู่การเลือกตั้งจะเป็นไปอย่างราบรื่นและการขับเคลื่อนนโยบายที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและบรรยากาศทางเศรษฐกิจอาจมีความอ่อนไหวต่อบรรยากาศทางการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านและหลังเลือกตั้ง รวมทั้งกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 และการอนุมัติโครงการลงทุนอาจมีความล่าช้าออกไป
1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.6 ในปี 2561 ตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทน แต่ยังเป็นการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจที่มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะฐานรายได้ในภาคการจ้างงานสอดคล้องกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจำนวนผู้มีงานทำนับตั้งแต่ไตรมาสที่หนึ่งของปี 2561 และเร่งตัวขึ้น รวมทั้งเป็นการขยายตัวของจำนวนผู้มีงานทำทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรซึ่งครอบคลุมเกือบทุกสาขาการผลิต และส่งผลให้อัตราการว่างงานปรับตัวลดลงเป็นร้อยละ 0.9 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 และเป็นอัตราการว่างงานต่ำสุดในรอบ 12 ไตรมาส เช่นเดียวกับฐานรายได้ในภาคเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ซึ่งคาดว่าฐานรายได้จากภาคการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่องจะขยายตัวเร่งขึ้น ในขณะที่ฐานรายได้ในภาคอุตสาหกรรม การส่งออก และฐานรายได้ภาคเกษตรมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง (2) อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ และ (3) การดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.2 เท่ากับการประมาณการจากครั้งก่อน และเร่งขึ้นจากร้อยละ 1.8 ในปี 2561 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณและอัตราการเบิกจ่ายที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น
2) การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.1 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน และเร่งขึ้นจากการขยายตัว ร้อยละ 3.8 ในปี 2561 โดย การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.2 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน และเร่งขึ้นจากร้อยละ 3.3 ในปี 2561 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นในเกณฑ์สูงของกรอบวงเงินงบลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ร้อยละ 19.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.4 ในปีงบประมาณ 2561 รวมทั้งความคืบหน้าของโครงการลงทุนที่สำคัญ ๆ ของภาครัฐที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและเข้าสู่กระบวนการก่อสร้างเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะทำให้การเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจเร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่มีกำหนดแล้วเสร็จและเริ่มเปิดให้บริการในช่วงปี 2563 - 2564 ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.7 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน และเร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในปี 2561 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตตามการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องแม้จะชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้า และการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้มีการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้อัตรากำลังการผลิตในปัจจุบันสูงกว่าร้อยละ 75.0 และกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนทิศทางการค้าระหว่างประเทศ (2) ความคืบหน้าของมาตรการและโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่ร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (PPP) ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน (3) การปรับตัวดีขึ้นของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2561 ซึ่งมีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 901 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.8 โดยเฉพาะมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 137.4 ซึ่งคาดว่าจะมีโครงการส่วนหนึ่งเริ่มลงทุนในปี 2562 และ (4) การย้ายฐานการผลิตและการลงทุนของบริษัทต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีความยืดเยื้อและทวีความตึงเครียดมากขึ้น
3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.1 เทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 7.7 ในปี 2561 และเป็นการปรับลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.6 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุจากการปรับลดสมมติฐานราคาสินค้าส่งออกจากร้อยละ 1.0 - 2.0 ในการประมาณการครั้งก่อนเป็นร้อยละ 0.5 - 1.5 ตามการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ในขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน และเมื่อรวมกับการส่งออกบริการที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องตามรายรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ คาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 ในปี 2561
4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 14.3 ในปี 2561 และเป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 6.5 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากการปรับลดสมมติฐานราคาสินค้านำเข้าจากร้อยละ 1.5 - 2.5 เป็นร้อยละ 1.0 - 2.0 ตามการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบซึ่งจะส่งผลให้ราคานำเข้าวัตถุดิบและราคาในหมวดเชื้อเพลิงลดลง ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 4.5 ในการประมาณการครั้งก่อน ตามแนวโน้มการแข็งค่าของค่าเงินบาท และเมื่อรวมกับการนำเข้าบริการคาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณนำเข้าสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 ในปี 2561
5) ดุลการค้า คาดว่าจะเกินดุลประมาณ 20.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากการเกินดุล 23.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2561 และเมื่อรวมกับการเกินดุลบริการจากรายรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศคาดว่าจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 33.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือคิดเป็นร้อยละ 6.2 ของ GDP เทียบกับการเกินดุลร้อยละ 7.4 ของ GDP ในปี 2561
6)เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2562 คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 - 1.5 เทียบกับร้อยละ 1.1 ในปี 2561 และเป็นการปรับลดลงจากช่วงร้อยละ 0.7 - 1.7 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา สอดคล้องกับการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบและสมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยน
เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ในประเทศที่คาดว่าจะมีความต่อเนื่องในปี 2562 ทั้งในด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีตามการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้และการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ การลงทุนรวมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติซึ่งคาดว่าจะสามารถกลับมาสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น แม้กระนั้นก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงอย่างช้า ๆ ตามการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามวัฏจักรเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวเข้าสู่ ช่วงขาลง ท่ามกลางความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าและความผันผวนในระบบการเงินโลก ในขณะที่บรรยากาศทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนยังมีความเสี่ยงที่จะอ่อนไหวตามบรรยากาศทางการเมืองและทิศทางการดำเนินนโยบายของรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง แม้กระนั้นก็ตาม การปรับตัวของทิศทางทางการค้ามีแนวโน้มที่จะมีความชัดเจนมากขึ้นและเป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนการส่งออก การผลิต และการลงทุนในสาขาที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า เพื่อชดเชยผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและยกระดับศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ภายใต้แนวโน้มดังกล่าว การบริหารเศรษฐกิจมหภาคในปี 2562 จึงควรให้ความสำคัญกับ
1) การขับเคลื่อนมูลค่าการส่งออกทั้งปีให้สามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5.0 เพื่อรักษาพลวัตรการขยายตัวของฐานรายได้และการใช้จ่ายของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งเพื่อสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการให้ความสำคัญเพิ่มเติมกับ (1) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าทั้งในตลาดสหรัฐฯ และตลาดจีน ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตทั้งในประเทศไทยและในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มการใช้กำลังการผลิตในประเทศไทย (2) การให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าผ่านความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะสินค้าที่ส่งออกไปยังตลาดจีนเพื่อทำการผลิตต่อและส่งออกไปยังตลาดหรัฐฯ ให้สามารถปรับเปลี่ยนทิศทางการส่งออกไปยังตลาดอื่นได้เร็วขึ้น (3) การติดตามการเปลี่ยนแปลงของสินค้านำเข้าที่สำคัญ ๆ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าในสหรัฐฯ และจีน ซึ่งอาจเปลี่ยนทิศทางเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น (4) การปฏิบัติตามกรอบกติกาการค้าโลก รวมทั้งข้อกำหนดและแนวทางการปฏิบัติในประเทศคู่ค้า และเงื่อนไขที่สำคัญ ๆ ในสหรัฐฯ ที่มีความเกี่ยวพันกับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ให้แก่ประเทศไทย รวมทั้งติดตามและศึกษาผลกระทบจากการที่ประเทศในภูมิภาคจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าจากกรอบข้อตกลงทางการค้าเพิ่มเติม เช่น กรอบข้อตกลงใช้ประโยชน์ EU GSP+ ในกรณีฟิลิปปินส์ และกรอบข้อตกลง FTA Vietnam-EU (5) การเจรจาและขยายความร่วมมือทางการค้าโดยเฉพาะในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และ (6) การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการส่งออกบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก และการบรรเทาผลกระทบของผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน โดยเฉพาะในตลาดจีนซึ่งเงินหยวนยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในช่วงของการอ่อนค่า
2) การสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวให้สามารถกลับมาสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มศักยภาพต่อเนื่อง โดยการให้ความสำคัญกับ (1) การดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ (2) การให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวทั้งในด้านชีวิตและทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง (3) การส่งเสริมการขายในตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกลและกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูงในภูมิภาค รวมทั้งการขยายฐานนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (4) การอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวและการลดความแออัดของนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ๆ (5) การกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวลงสู่เมืองรองและชุมชน (6) การสร้างความเชื่อมโยงการท่องเที่ยวของไทยกับประเทศที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ในภูมิภาค และ (7) การรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวชาวไทยที่นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ กลับมาท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้นเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของการใช้จ่ายและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศในช่วงที่การส่งออกสินค้าเริ่มมีข้อจำกัดและความเสี่ยงจากเงื่อนไขเศรษฐกิจโลกมากขึ้น
3) การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในช่วงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยให้ความสำคัญกับ (1) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปีงบประมาณ 2562 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70.0 และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80.0 (2) การเร่งรัดกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ให้สามารถประกาศใช้ภายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ เพื่อป้องกันการลดลงของแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ (3) การเตรียมความพร้อมให้กับแผนงาน โครงการที่สำคัญ ๆ ให้มีความพร้อมสำหรับการดำเนินการและการเบิกจ่ายได้ทันทีที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มีผลบังคับใช้ (4) การเบิกจ่ายและดำเนินโครงการลงทุนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ (5) การชี้แจงทำความเข้าใจกับนักลงทุนเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและโครงการลงทุนที่สำคัญ ๆ หลังการจัดตั้งรัฐบาล และ (6) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการยกระดับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
4) การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย (1) การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม (2) การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตทั้งในประเทศไทยและในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มการใช้กำลังการผลิตในประเทศไทยมากขึ้น (3) การอำนวยความสะดวกและการชักจูงนักลงทุนในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าและอยู่ในช่วงของการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน ความพร้อมและขีดความสามารถในการแข่งขันของโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ความพร้อมและศักยภาพด้านพื้นที่เศรษฐกิจเพื่อรองรับการลงทุน และ (4) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนของภาครัฐทั้งในด้านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจที่มีความสำคัญ ๆ อย่างต่อเนื่อง
5) การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยและการสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเศรษฐกิจฐานราก โดย (1) ด้านการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร ให้ความสำคัญกับ (i) การดูแลปัญหาราคาสินค้าบางรายการที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยเฉพาะราคายางพาราซึ่งการฟื้นตัวยังมีข้อจำกัดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าที่ครอบคลุมสินค้ากลุ่มยานยนต์และผลิตภัณฑ์ยาง การฟื้นตัวของราคาปาล์มน้ำมันที่ยังมีข้อจำกัดจากสต็อกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง รวมทั้งแนวโน้มการปรับลดสัดส่วนเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มในสหภาพยุโรป และราคาอ้อยที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำตาลในตลาดโลก (ii) การขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ควบคู่ไปกับการเพิ่มส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตให้แก่เกษตรกร (iii) การส่งเสริมการสร้างและจัดหาตลาด เพื่อเพิ่มช่องทางการระบายผลผลิตการเกษตรของเกษตรกรในแต่ละชุมชน (iv) การส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรรวมไปถึงการผลิตอาหารสดของเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าให้มากขึ้น และ (v) การบริหารจัดการด้านทรัพยากรน้ำที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชในฤดูแล้ง เพื่อลดความเสี่ยงจากปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก (2) ด้านการดูแลผู้มีรายได้น้อย เศรษฐกิจฐานราก และ SMEs โดยให้ความสำคัญกับ (i) การดำเนินการตามโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ (ii) การดูแลให้มาตรการสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระการชำระหนี้และข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย วิสาหกิจชุมชน และ SMEs มีวงเงินที่เพียงพอและต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรที่ราคาผลผลิตยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว และ (3) ด้านการให้ความช่วยเหลือและพัฒนา SMEs ที่ได้รับผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค โครงสร้างประชากร และความผันผวนของค่าเงิน ต้องให้ความสำคัญกับ (i) การส่งเสริมให้ SMEs ใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการสินเชื่อ มาตรการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงิน และมาตรการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ของภาครัฐ (ii) การส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงความรู้ที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการธุรกิจที่เป็นระบบให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะ SMEs กลุ่มที่เพิ่งจะเริ่มต้นทำธุรกิจ (iii) การปรับปรุงการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาดของ SMEs ไปสู่การใช้เทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้น รวมทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการของตลาด และ (iv) การสร้างความเชื่อมโยง SMEs กับธุรกิจและการผลิตขนาดใหญ่
6) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงาน ให้เพียงพอต่อการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น รวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสในการขยายตัวจากการย้ายฐานการผลิตระหว่างประเทศ และอุตสาหกรรมสำคัญที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาประเทศ
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ