ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2562 และแนวโน้มปี 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 21, 2019 12:14 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

กองยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค

แถลงข่าว วันที่ 21 พฤษภาคม 2562 เวลา 09.30 น.

  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก ของปี 2562 ขยายตัวจากไตรมาสที่สี่ของปี 2561 ร้อยละ 1.0 (QoQ_SA)
  • ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวดีต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้จ่ายของรัฐบาล ในขณะที่การส่งออกปรับตัวลดลงด้านการผลิต การผลิตภาคเกษตร และสาขาไฟฟ้า ก๊าซฯ ขยายตัวเร่งขึ้น ส่วนการผลิตสาขาอุตสาหกรรม สาขาการขายส่ง การขายปลีกฯ สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการขนส่งฯ และสาขาการก่อสร้างชะลอตัว
  • แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.3 - 3.8 โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญ ประกอบด้วย (1) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ในประเทศ ทั้งในด้านการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ (2) แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของเงื่อนไขการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง ตามการลดลงของสินค้าคงคลังในประเทศเศรษฐกิจหลัก การผ่อนคลายลงของปัญหาการขาดแคลนหน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์ในตลาดโลก และการปรับตัวของทิศทางการค้า การผลิต และการลงทุนระหว่างประเทศ (3) แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว และ (4) ฐานการขยายตัวที่อยู่ในระดับต่ำในครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 2.2 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.2 และร้อยละ 4.5 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 - 1.2 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 5.9 ของ GDP
  • ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2562 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การขับเคลื่อนการส่งออกทั้งปีให้สามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.0 โดยให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์และลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะ (i) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์และให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบด้านลบจากการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า (ii) การปฏิบัติตามข้อกำหนดและแนวทางการปฏิบัติในประเทศคู่ค้า ที่มีความเกี่ยวพันกับการให้สิทธิพิเศษทางการค้าและเงื่อนไขการกีดกันทางการค้า (iii) การขยายความร่วมมือทางการค้า กับประเทศที่ไทยมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทิศทางทางการค้า และประเทศที่จะมีบทบาทในการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศมากขึ้น และ (iv) การสนับสนุนให้ผู้ส่งออกบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน (2) การขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้มีรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ต่ำกว่า 2.21 ล้านล้านบาท โดยให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การรักษาความปลอดภัย การฟื้นฟูภาพลักษณ์ด้านปัญหามลภาวะทางอากาศ (PM 2.5) การอำนวยความสะดวกและลดความแออัดของนักท่องเที่ยว การส่งเสริมการขายในตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกลและนักท่องเที่ยวรายได้สูง การกระจายรายได้ลงสู่เมืองรองและชุมชน การสร้างความเชื่อมโยง การท่องเที่ยวกับประเทศในภูมิภาค และรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวชาวไทยท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น (3) การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับ (i) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนประจำปีงบประมาณ 2562 ให้มีอัตราการเบิกจ่ายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70.0 และการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในปี 2562 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80.0 รวมทั้งเร่งรัดกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 (4) การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย (i) การขับเคลื่อนการส่งออกเพื่อเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม (ii) การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มการใช้กำลังการผลิตในประเทศไทย รวมทั้งชักจูงนักลงทุนที่ได้รับผลกระทบให้ย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น (iii) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง (iv) การเร่งรัดโครงการลงทุนที่ขอรับและได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้มีการลงทุนจริงโดยเร็ว และ (v) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงาน (5) การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยและการสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเศรษฐกิจฐานราก และ (6) การรักษาความสงบเรียบร้อยและบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2562 และแนวโน้มปี 2562

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้จ่ายของรัฐบาล ในขณะที่การส่งออกสินค้าปรับตัวลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้า ในด้านการผลิต การผลิตภาคเกษตร และสาขาไฟฟ้า ก๊าซฯ ขยายตัวเร่งขึ้น ส่วนการผลิตสาขาอุตสาหกรรม สาขาการขายส่ง การขายปลีกฯ สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการขนส่งฯ และสาขาการก่อสร้างชะลอตัว เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2562 ขยายตัวจากไตรมาสที่สี่ของปี 2561 ร้อยละ 1.0 (QoQ_SA)

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2562

1) การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 4.6 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 5.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากฐานรายได้และการจ้างงานที่ขยายตัวต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ การดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยในไตรมาสนี้การใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขยายตัวร้อยละ 12.3 ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าอื่น ๆ ขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยดัชนีปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือน ดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ดัชนีปริมาณการค้าปลีกสินค้ากึ่งคงทน และดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 11.9 ร้อยละ 7.6 ร้อยละ 1.8 และร้อยละ 3.2 ตามลำดับ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 68.1 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 3.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายรวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 22.3 (สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 22.0 และสูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 18.8 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)

2) การลงทุนรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ดี ร้อยละ 4.4 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 5.5 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 และการลงทุนในสิ่งก่อสร้างที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 ส่วนการลงทุนภาครัฐลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.1 เท่ากับการลดลงร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนของรัฐวิสาหกิจลดลงร้อยละ 1.4 ในขณะที่การลงทุนของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 0.6 อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 15.5 เทียบกับอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 17.4 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

3) การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 60,221 ล้านดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และการปรับตัวของผู้ประกอบการในต่างประเทศต่อมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 3.9 ในขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น ข้าว (ร้อยละ -10.1) มันสำปะหลัง (ร้อยละ -14.2) ยางพารา (ร้อยละ -8.9) น้ำตาล (ร้อยละ -16.5) รถยนต์นั่ง (ร้อยละ -8.4) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ -0.8) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ -7.1) ปิโตรเคมี (ร้อยละ -6.2) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ -9.2) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ -2.9) และกุ้ง ปู กั้งและล็อบสเตอร์ (ร้อยละ -14.2) เป็นต้น กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น รถกระบะและรถบรรทุก (ร้อยละ 6.8) คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 42.6) และผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 4.8) เป็นต้น การส่งออกไปยังจีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (15) อาเซียน (5) ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง (15) ปรับตัวลดลง ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศ CLMV ขยายตัว เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 3.8 เมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงร้อยละ 3.3

4) ภาคเกษตร ขยายตัวร้อยละ 0.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสินค้าสำคัญ เนื่องจากสภาพอากาศที่เหมาะสมส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และไม้ผลขยายพื้นที่เพาะปลูก ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงเล็กน้อย ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก (ร้อยละ 6.6) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ร้อยละ 21.5) กลุ่มไม้ผล (ร้อยละ 3.5) ยางพารา (ร้อยละ 2.1) ปาล์มน้ำมัน (ร้อยละ 18.7) และมันสำปะหลัง (ร้อยละ 5.6) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไม และอ้อยลดลง ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 0.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของราคาอ้อย ราคาปาล์มน้ำมัน ราคายางพารา และราคากุ้งขาวแวนนาไม อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ราคาสุกร (ร้อยละ 38.7) ราคาข้าวเปลือก (ร้อยละ 4.1) ราคาไข่ไก่ (ร้อยละ 4.7) ราคาไก่เนื้อ (ร้อยละ 1.4) และราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ร้อยละ 2.5) เป็นต้น การลดลงของราคาสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการ ส่งผลให้รายได้เกษตรกรโดยรวมลดลงร้อยละ 0.3

5) สาขาการผลิตอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 0.6 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.5 ในไตรมาสก่อนหน้าสอดคล้องกับการลดลงของมูลค่าการส่งออก โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ลดลงร้อยละ 4.4 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ลดลงร้อยละ 1.0 ในขณะที่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 - 60 ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 1.3 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย อยู่ที่ร้อยละ 71.3 เทียบกับร้อยละ 72.9 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น ยานยนต์ (ร้อยละ 4.6) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 2.2) เครื่องจักรอื่น ๆ (ร้อยละ 5.4) การต้ม การกลั่น และการผสมสุรา (ร้อยละ 17.9) น้ำตาล (ร้อยละ 3.2) เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์และทันตกรรม (ร้อยละ 10.7) ผลิตภัณฑ์นม (ร้อยละ 5.1) สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง (ร้อยละ 6.0) กระเป๋าเดินทาง และกระเป๋าถือ (ร้อยละ 18.5) และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (ร้อยละ 2.1) เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ลดลง เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ -15.2) เหล็กและเหล็กกล้า (ร้อยละ -11.3) ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ -6.5) การแปรรูปและการถนอมผลไม้และผัก (ร้อยละ -10.6) และมอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า (ร้อยละ -21.1) เป็นต้น

6) สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัวร้อยละ 4.9 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 5.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 10.80 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อรวมกับการขยายตัวต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวชาวไทย ส่งผลให้ในไตรมาสนี้ มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 850.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 573.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 โดยรายรับจากนักท่องเที่ยวจากประเทศสำคัญที่ยังขยายตัวสูง ประกอบด้วย อินเดีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ เป็นสำคัญ ในขณะที่รายรับจากนักท่องเที่ยวจีนและยุโรปลดลง (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 276.5 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.3 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 77.16 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 71.12 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 76.79 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

7) สาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า ขยายตัวร้อยละ 3.4 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 5.4 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว และการลดลงของการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการชะลอตัวของการผลิตสาขาการผลิตอุตสาหกรรม โดยบริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียง และบริการขนส่งทางอากาศขยายตัวร้อยละ 3.7 และร้อยละ 1.8 ตามลำดับ ในขณะที่บริการขนส่งทางน้ำลดลงร้อยละ 2.2 นอกจากนี้ บริการสถานที่เก็บสินค้าและบริการไปรษณีย์และการรับส่งเอกสารขยายตัวร้อยละ 9.0 และร้อยละ 7.5 ตามลำดับ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของรายรับของผู้ประกอบการ

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2562

สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 3.3 - 3.8 โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญ ประกอบด้วย (1) แนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งในด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่มีปัจจัยสนับสนุนจากฐานรายได้ที่ขยายตัวต่อเนื่อง อัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการที่อยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งการดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ด้านการลงทุนภาคเอกชนที่มีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในเกณฑ์สูง การย้ายฐานการผลิตภายใต้การเพิ่มขึ้นของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้า และความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐ และด้านอุปสงค์ภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นทั้งการใช้จ่ายและการลงทุน (2) แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของเงื่อนไขการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะการปรับตัวลดลงของสินค้าคงคลังในประเทศเศรษฐกิจหลัก การผ่อนคลายลงของปัญหาขาดแคลนหน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์ในตลาดโลก และการปรับตัวของทิศทางการค้าที่คาดว่าจะชัดเจนมากขึ้นตามแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้า (3) แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว และ (4) ฐานการขยายตัวที่อยู่ในระดับต่ำในครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 2.2 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.2 และร้อยละ 4.5 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 - 1.2 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 5.9 ของ GDP

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2562 ในด้านต่าง ๆ เป็นดังนี้

ด้านการใช้จ่าย

การบริโภคภาคเอกชน: ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของฐานรายได้และการจ้างงาน อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำการดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในไตรมาสแรกของปี 2562 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องร้อยละ 4.6 แม้ว่าจะชะลอตัวลงอย่างช้า ๆ จากการขยายตัวร้อยละ 5.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น และการเริ่มชะลอตัวลงของฐานรายได้ในภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในไตรมาสนี้สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของรายจ่ายบริโภคสินค้าคงทน โดยยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขยายตัวร้อยละ 12.3 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 9.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการเปิดตัวของรถยนต์รุ่นใหม่และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าอื่น ๆ ขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยดัชนีปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือน ดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ดัชนีปริมาณการค้าปลีกสินค้ากึ่งคงทน และดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 11.9 ร้อยละ 7.6 ร้อยละ 1.8 และร้อยละ 3.2 ตามลำดับ ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมาจาก (1) การขยายตัวต่อเนื่องของฐานรายได้และการจ้างงาน โดยการจ้างงานรวมในไตรมาสนี้ขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวติดต่อกัน 4 ไตรมาส (2) อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ (3) ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการที่อยู่ในเกณฑ์ดี และ (4) การดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 68.1 เทียบกับระดับ 67.4 ในไตรมาสก่อนหน้า

การลงทุนภาคเอกชน: ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง ตามการขยายตัวต่อเนื่องของการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและการก่อสร้าง ในไตรมาสแรกของปี 2562 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 5.1 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 5.6 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจดทะเบียนยานยนต์ใหม่ร้อยละ 2.5 และร้อยละ 6.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.5 และร้อยละ 6.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 1.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.1ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศร้อยละ 0.8 โดยปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศที่สำคัญ เช่น ปริมาณการจำหน่ายคอนกรีตผสมเสร็จและเสาเข็มคอนกรีต ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็ก (ไม่รวมแผ่นเหล็กเคลือบสังกะสี) และปริมาณการจำหน่ายกระเบื้องในประเทศ ขยายตัวร้อยละ 0.8 ร้อยละ 6.2 และร้อยละ 4.8 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 9.5 ร้อยละ 8.0 และร้อยละ 8.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ สำหรับยอดการอนุมัติ

และการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 134.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 76.7 เร่งขึ้นจากการเพิ่มขึ้น ร้อยละ 36.5 ในไตรมาสก่อนหน้า (เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4) ส่วนการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 89.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 (เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4)ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 50.4 เทียบกับระดับ 50.7 ในไตรมาสก่อนหน้า

การส่งออก: มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ไตรมาส ตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า การปรับตัวของผู้ประกอบการในต่างประเทศต่อการเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าท่ามกลางความไม่แน่นอนของผลการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น การส่งออกสินค้าในไตรมาสแรกของปี 2562 มีมูลค่า 60,221 ล้านดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ไตรมาสร้อยละ 3.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 3.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.7 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า การเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้า และผลการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยังมีความไม่แน่นอนตลอดทั้งไตรมาส รวมทั้งปัจจัยจากฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น ผลกระทบเพิ่มเติมจากเงื่อนไขการค้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลก และการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตร สินค้าประมง และสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงร้อยละ 1.9 ร้อยละ 14.2 และร้อยละ 2.1 ตามลำดับ ส่วนราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมทั้งแรงกดดันจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกขยายตัวช้าลง โดยเฉพาะราคาส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น ราคาน้ำมันสำเร็จรูป (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.2) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 17.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ราคาเคมีภัณฑ์ (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.3) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ราคาเม็ดพลาสติก (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.7) ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.0 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 3.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 1,904 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.3 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 2.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 6.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 1.9 เนื่องจากการลดลงของปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และน้ำตาล ในขณะที่ราคาส่งออกไม่ขยายตัว โดยราคาส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว และมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น แต่ราคาส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญอื่น ๆ เช่น ยางพาราและน้ำตาลปรับตัวลดลง การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ ประกอบด้วย ข้าว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 10.1 ตามการลดลงของมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศจีน เบนิน และแอฟริกาใต้เป็นสำคัญ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งประเทศจีนยังคงมีสต็อกข้าวจำนวนมากและมีแนวโน้มนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ มากขึ้น โดยปริมาณการส่งออกข้าวลดลงร้อยละ 13.5 ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 มันสำปะหลัง มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 14.2 โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 24.2 เนื่องจากปริมาณผลผลิตมีไม่เพียงพอต่อความต้องการส่งออก ในขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 เนื่องจากปริมาณผลผลิตในตลาดโลกลดลง และประเทศคู่ค้ายังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ยางพารา มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 8.9 ตามการลดลงของการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะจีน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ โดยราคาส่งออกลดลงร้อยละ 8.4 ตามอุปทานยางพาราในตลาดโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 0.5 เนื่องจากอุปสงค์จากประเทศนำเข้าสำคัญโดยเฉพาะจีนปรับตัวลดลง ตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า น้ำตาล มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 16.5 ตามการลดลงของการส่งออกไปยังกัมพูชา เมียนมา และไต้หวันเป็นสำคัญ โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 1.9 และราคาส่งออกลดลงร้อยละ 15.9 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 1.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 11 ไตรมาส ตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า การเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และผลการเจรจาทางการค้าที่ยังมีความไม่แน่นอนตลอดทั้งไตรมาส รวมทั้งผลกระทบอื่น ๆ เพิ่มเติมในการค้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลก ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 2.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.2 ร้อยละ 6.2 และร้อยละ 7.1 ตามลำดับ เนื่องจากราคาส่งออกชะลอตัวลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สำหรับสินค้าอื่น ๆ ที่ปรับตัวลดลง เช่น แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน (ร้อยละ -10.7) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ -2.9) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ -0.8) และรถยนต์นั่ง (ร้อยละ -8.4) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกรถกระบะและรถบรรทุก และผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 6.8 และร้อยละ 4.8 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงลดลงร้อยละ 14.9 โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 14.2 และราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.9 สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ กุ้ง ปู กั้ง และล็อบสเตอร์ (ร้อยละ -14.2) เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในการส่งออก และการเพิ่มขึ้นของการแข่งขันจากผู้ผลิตในประเทศ สินค้าส่งออกอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปร้อยละ 7.6

ตลาดส่งออก: การส่งออกไปยังจีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (15) อาเซียน (5) ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง (15) ปรับตัวลดลง ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศ CLMV ขยายตัว การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาขยายตัวร้อยละ 32.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 6.7 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากในไตรมาสนี้มีการส่งกลับอาวุธและยุทธปัจจัยที่นำเข้ามาเพื่อทำการซ้อมรบ อย่างไรก็ตาม หากหักการส่งออกอาวุธฯ มูลค่าการส่งออกยังขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 3.7 โดยส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีน การส่งออกไปยังตลาดจีนลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 ร้อยละ 9.2 ตามการลดลงของการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรและส่วนประกอบ เป็นสำคัญ สอดคล้องกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งผลจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ทำให้จีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเพื่อส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ ลดลง การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาส ร้อยละ 1.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 8.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เช่นเดียวกับการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน (9) ที่ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาส ร้อยละ 4.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 9.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการลดลงของการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน (5) ร้อยละ 7.5 (ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาส) ขณะที่การส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ยังคงขยายตัวร้อยละ 0.2 (ขยายตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 10) จากการส่งออกไปยังเวียดนามและกัมพูชาเป็นสำคัญ การส่งออกไปยังสหภาพยุโรป (15) ลดลง ร้อยละ 6.5 ตามการลดลงของการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (แผงโซลาร์) เป็นสำคัญ ส่วนการส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลียลดลงร้อยละ 12.2

ตามการลดลงของการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลาง (15) ลดลงร้อยละ 0.02 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 6.7 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับลดลง

มูลค่าการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวลดลง ตามการลดลงของปริมาณการนำเข้า ขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้น ในไตรมาสแรกของปี 2562 การนำเข้ามีมูลค่า 53,393 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 2.9 (ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาส) เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.5 ในไตรมาสก่อนหน้าโดยปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 3.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงของปริมาณการนำเข้าในหมวดสินค้าทุน วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสินค้าอุปโภคบริโภคร้อยละ 9.0 ร้อยละ 0.4 และร้อยละ 1.4 ตามลำดับ สอดคล้องกับการลดลงของการส่งออก ในขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อหักการนำเข้าทองคำออกแล้ว มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 0.1 ทั้งนี้ หากไม่รวมการนำเข้าทองคำและน้ำมันดิบ มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 0.4 ในรูปของเงินบาทการนำเข้ามีมูลค่ารวม 1,689 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.6 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 ในไตรมาสก่อนหน้า

ในรายหมวด มูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าทุนปรับตัวลดลง ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้านำเข้าอื่น ๆ เพิ่มขึ้น มูลค่าการนำเข้าหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางลดลงร้อยละ 0.1 โดยปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 0.4 สอดคล้องกับการลดลงของการส่งออก และการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง เช่น วัสดุที่ทำด้วยโลหะ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ วงจรพิมพ์ และแผงวงจรรวมและชิ้นส่วน เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าทุนลดลงร้อยละ 9.1 โดยปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 9.0 ส่วนราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.1 สินค้าที่มูลค่าการนำเข้าลดลง เช่น อากาศยาน เรือ แท่นขุดเจาะน้ำมัน อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม และเครื่องจักรสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าในกลุ่มเครื่องจักร อุปกรณ์ และเครื่องใช้ประกอบขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 3.0 โดยสินค้าที่มูลค่าการนำเข้ายังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ได้แก่ คอมพิวเตอร์ เครื่องจักรกลอื่น ๆ และชิ้นส่วน หม้อแปลง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า มอเตอร์ และเครื่องเก็บประจุไฟฟ้า เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงร้อยละ 1.2 โดยปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 1.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 8.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์จากสัตว์และประมง เครื่องประดับ (ยกเว้นไข่มุกและอัญมณี) และยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 10.3 ตามการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าในหมวดยานยนต์เป็นสำคัญ โดยการนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ขยายตัวร้อยละ 18.8 และร้อยละ 9.1 ตามลำดับ สอดคล้องกับการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ

อัตราการค้า (Term of Trade) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าเนื่องจากราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เร็วกว่าราคานำเข้าซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ส่งผลให้อัตราการค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 108.5 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นระดับ 108.8 ในไตรมาสแรกของปี 2562

ดุลการค้าเกินดุล ในไตรมาสแรกของปี 2562 ดุลการค้าเกินดุล 6.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (215.1 พันล้านบาท) สูงกว่าการเกินดุล 4.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (145.0 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า แต่น้อยกว่าการเกินดุล 7.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (235.8 พันล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ด้านการผลิต

ภาคเกษตร:ขยายตัวเร่งขึ้นอย่างช้า ๆ ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสินค้าสำคัญ ในไตรมาสแรกของปี 2562 การผลิตภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 0.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.7 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรร้อยละ 0.4 โดยผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ ที่ขยายตัวประกอบด้วย (1) ข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาข้าวในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะราคาข้าวหอมมะลิที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก รวมทั้งปริมาณน้ำที่เพียงพอในช่วงการเพาะปลูก (2) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.5 เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก และนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาของภาครัฐ (3) กลุ่มไม้ผลเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ตามการขยายตัวในเกณฑ์ดีของผลผลิตลำไยที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาผลิตลำไยนอกฤดูเพิ่มขึ้น และสภาพอากาศที่เหมาะสม (4) ยางพารา เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ตามการขยายตัวของผลผลิตของต้นยางพาราที่ปลูกทดแทนพืชชนิดอื่นตั้งแต่ปี 2556 และต้นยางพาราที่อยู่ในช่วงอายุการให้ผลผลิตสูง (5) ปาล์มน้ำมัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.7 โดยมีปัจจัยสนันสนุนจากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ให้ผลผลิตปาล์มน้ำมัน รวมทั้งต้นปาล์มน้ำมันส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง และสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และ (6) มันสำปะหลัง เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 ตามการเพิ่มขึ้นของราคามันสำปะหลังในปีก่อนหน้า ซึ่งจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไมและอ้อยปรับตัวลดลงร้อยละ 7.3 และร้อยละ 14.0 ตามลำดับ ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 0.7 ตามการลดลงของราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ เช่น (1) อ้อย เนื่องจากการลดลงของราคาน้ำตาลที่เกิดจากผลผลิตส่วนเกินในตลาดโลกและสต็อกน้ำตาลทรายในประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูง (2) ปาล์มน้ำมัน ตามการลดลงของราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลก และสต็อกน้ำมันปาล์มดิบของไทยยังคงอยู่ในระดับสูง (3) ยางพารา เนื่องจากการลดลงของคำสั่งซื้อของประเทศผู้ใช้ยางพารารายใหญ่ของโลก โดยเฉพาะจีน และมาเลเซีย และ (4) กุ้งขาวแวนนาไม เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในหลายประเทศ โดยเฉพาะอินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งส่งผลให้ราคากุ้งขาวแวนนาไมในตลาดโลกลดลง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ราคาสุกร(ร้อยละ 38.7) ราคาข้าวเปลือก (ร้อยละ 4.1) ราคาไข่ไก่ (ร้อยละ 4.7) ราคาไก่เนื้อ (ร้อยละ 1.4) และราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ร้อยละ 2.5) เป็นต้น การลดลงของดัชนีราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมลดลงร้อยละ 0.3

สาขาการผลิตอุตสาหกรรม: ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าสอดคล้องกับการลดลงของการส่งออก ซึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและมาตรการกีดกันทางการค้า ในไตรมาสแรกของปี 2562 การผลิตสาขาการผลิตอุตสาหกรรมขยายตัว 0.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.5 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมร้อยละ 1.1 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ลดลงร้อยละ 4.4 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงลดลงร้อยละ 15.2 การผลิตผลิตภัณฑ์ยางลดลงร้อยละ 6.5 และการแปรรูปและการถนอมผลไม้และผักลดลงร้อยละ 10.6 ในขณะที่การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ (เครื่องปรับอากาศ) ขยายตัวร้อยละ 5.4 และการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์และทางทันตกรรมขยายตัวร้อยละ 10.7 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30)ลดลงร้อยละ 1.0 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าลดลงร้อยละ 11.3 และการผลิตปุ๋ยเคมีลดลงร้อยละ 19.5 อย่างไรก็ตามการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องร้อยละ 2.2 ในขณะที่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนส่งออกในช่วงร้อยละ 30 - 60 ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 1.3 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ เช่น การผลิตยานยนต์ (ร้อยละ 4.6) และการผลิตน้ำตาล (ร้อยละ 3.2) อย่างไรก็ตาม การผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าปรับตัวลดลงร้อยละ 21.1 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 71.3 ลดลงจากร้อยละ 72.9 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยในอุตสาหกรรมสำคัญ 32 รายการ มีอุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังการผลิตสูงกว่าร้อยละ 100 จำนวน 1 อุตสาหกรรม ได้แก่ การผลิตน้ำตาล (ร้อยละ 139.8) อุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังการผลิตในช่วงร้อยละ 90 - 100 จำนวน 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ การผลิตพลาสติกและยาง (ร้อยละ 97.8) การผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมสำหรับยานยนต์ (ร้อยละ 91.0) และการผลิตยานยนต์ (ร้อยละ 90.2) ส่วนอุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังการผลิตในช่วงร้อยละ 80-90 จำนวน 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 87.4) การฆ่าสัตว์ปีก แช่เย็นหรือแช่แข็ง (ร้อยละ 84.7) การผลิตเคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 81.9) การผลิตเครื่องปรุงอาหาร (ร้อยละ 80.8) และการต้ม การกลั่น และการผสมสุรา (ร้อยละ 80.1)

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น การผลิตยานยนต์ (ร้อยละ 4.6) การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 2.2) การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ (ร้อยละ 5.4) การต้ม การกลั่น และการผสมสุรา (ร้อยละ 17.9) การผลิตน้ำตาล (ร้อยละ 3.2) การผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์และทันตกรรม (ร้อยละ 10.7) การผลิตผลิตภัณฑ์นม (ร้อยละ 5.1) การผลิตสัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง (ร้อยละ 6.0) การผลิตกระเป๋าเดินทางและกระเป๋าถือ (ร้อยละ 18.5) และการผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (ร้อยละ 2.1) เป็นต้น

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ลดลง เช่น การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ -15.2) การผลิตเหล็กและเหล็กกล้า (ร้อยละ -11.3) การผลิตผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ -6.5) การแปรรูปและการถนอมผลไม้และผัก (ร้อยละ -10.6) การผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (ร้อยละ -21.1) การผลิตปุ๋ยเคมี (ร้อยละ -19.5) การผลิตสายไฟและเคเบิลอื่น ๆ (ร้อยละ -24.7) การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ -2.6) การผลิตถัง และภาชนะบรรจุที่คล้ายกันที่ทำจากโลหะ (ร้อยละ -12.8) และการผลิตเครื่องประดับเพชรพลอยแท้ (ร้อยละ -6.3) เป็นต้น

สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร: ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในไตรมาสแรกของปี 2562 การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัวร้อยละ 4.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 10.80 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 โดยนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ขยายตัวสูง 5 ประเทศ ประกอบด้วย นักท่องเที่ยวจากประเทศอินเดีย (สัดส่วนร้อยละ 4.2) เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.0 มาเลเซีย (สัดส่วนร้อยละ 8.5) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 ญี่ปุ่น (สัดส่วนร้อยละ 4.4) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.6 เกาหลีใต้ (สัดส่วนร้อยละ 5.0) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 และไต้หวัน (สัดส่วนร้อยละ 1.8) เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 ตามลำดับ ในขณะที่นักท่องเที่ยวจีนสัดส่วนร้อยละ 28.9 ลดลงร้อยละ 1.7 แต่เป็นการปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 6.4 ในไตรมาสก่อนหน้า รายรับรวมจากการท่องเที่ยว 850.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 573.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 โดยรายรับจากนักท่องเที่ยวจากประเทศสำคัญที่ยังขยายตัวสูงประกอบด้วย อินเดีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ เป็นสำคัญ ในขณะที่รายรับจากนักท่องเที่ยวจีนและยุโรปลดลง (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 276.5 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.3 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 77.16 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 71.12 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 76.79 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

สาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์: ขยายตัวต่อเนื่องในเกณฑ์ดี แม้ว่าจะชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในไตรมาสแรกของปี 2562 การผลิตสาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.5 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของดัชนีรวมการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ร้อยละ 2.9 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 8.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ประกอบด้วย (1) ดัชนีการขายปลีก (ยกเว้น ยานยนต์และจักรยานยนต์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 17.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยหมวดร้านขายปลีกสินค้าประเภทอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.2 (เช่น ร้านขายปลีกเครื่องประดับ ร้านขายปลีกสินค้าใหม่อื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น) และหมวดร้านขายปลีกในร้านค้าทั่วไป เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 (2) ดัชนีการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 11.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยหมวดการขายชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมของยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 และหมวดการบำรุงรักษาและการซ่อมยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 และ (3) ดัชนีการขายส่ง (ยกเว้นยานยนต์และจักรยานยนต์) ลดลงร้อยละ 2.9 โดยหมวดการขายส่งของใช้ในครัวเรือน ลดลงร้อยละ 4.8 (เช่น การขายส่งนาฬิกาและเครื่องประดับ และการขายส่งเสื้อผ้า) และหมวดการขายส่งโดยได้รับค่าตอบแทนหรือตามสัญญาจ้างลดลงร้อยละ 3.5

สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า: ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของการขนส่งทางบกและการขนส่งทางอากาศ ในขณะที่บริการสถานที่เก็บสินค้า และบริการไปรษณีย์และการรับส่งเอกสารขยายตัว ในไตรมาสแรกของปี 2562 การผลิตสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวร้อยละ 3.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของบริการขนส่งเป็นสำคัญ โดย (1) บริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียงขยายตัวร้อยละ 3.7 ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของการขนส่งสินค้าทางบกเป็นสำคัญ (2) บริการขนส่งทางอากาศขยายตัวร้อยละ 1.8 ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศเป็นสำคัญ และ (3) บริการขนส่งทางน้ำลดลงร้อยละ 2.2 ตามการลดลงของการขนส่งสินค้าทางน้ำเป็นสำคัญ นอกจากนี้ บริการสถานที่เก็บสินค้า และบริการไปรษณีย์และการรับส่งเอกสารขยายตัวร้อยละ 9.0 และร้อยละ 7.5 ตามลำดับ สอดคล้องกับรายรับของผู้ประกอบการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

สาขาไฟฟ้า ก๊าซ และระบบปรับอากาศ : ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของอุปสงค์ภาคครัวเรือนและอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น ในไตรมาสแรกของปี 2562 การผลิตสาขาไฟฟ้า ก๊าซ และระบบปรับอากาศเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 5.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดย (1) กิจกรรมการผลิตไฟฟ้าขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 6.2 ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยในไตรมาสนี้สูงกว่าค่าปกติ 1.3 องศาเซลเซียส(เฉลี่ยร้อยละ 27.6 องศาเซลเซียส) ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลง สอดคล้องกับการชะลอตัวของการผลิตสาขาการผลิตอุตสาหกรรม และ (2) กิจกรรมโรงแยกก๊าซลดลงร้อยละ 1.6 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 5.6 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซที่ใช้ในโรงไฟฟ้า

สาขาก่อสร้าง:ขยายตัวต่อเนื่องตามการเร่งตัวขึ้นของการก่อสร้างภาครัฐ ในขณะที่การก่อสร้างของภาคเอกชนชะลอตัวลง ในไตรมาสแรกของปี 2562 การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 3.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวร้อยละ 4.1 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการก่อสร้างของรัฐบาลที่ขยายตัวร้อยละ 5.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อนหน้า และการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 1.1 การก่อสร้างภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยและการชะลอตัวของสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ เป็นสำคัญ ในขณะที่การก่อสร้างอาคารที่มิใช่ที่อยู่อาศัย (เช่น อาคารพาณิชย์ และอาคารโรงงาน) ขยายตัวต่อเนื่อง ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างลดลงร้อยละ 0.03 ตามการลดลงของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (ร้อยละ -4.5) เป็นสำคัญ ในขณะที่ดัชนีราคาหมวดไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้และหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีตขยายตัวร้อยละ 9.5 และร้อยละ 2.1 ตามลำดับ

ผู้มีงานทำ: ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของผู้มีงานทำนอกภาคเกษตร ในขณะที่ผู้มีงานทำในภาคเกษตรปรับตัวลดลง และอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำร้อยละ 0.9 ในไตรมาสแรกของปี 2562 ผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 0.9 โดยผู้มีงานทำนอกภาคเกษตร (สัดส่วนร้อยละ 70.35)ขยายตัวร้อยละ 3.2 และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 เนื่องจากการขยายตัวต่อเนื่องและเร่งขึ้นจาก ไตรมาสก่อนหน้าของผู้มีงานทำในสาขาก่อสร้างและสาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ร้อยละ 10.5 และร้อยละ 2.4 ตามลำดับ ส่วนผู้มีงานทำในสาขาการผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 1.0 ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการชะลอตัวของการผลิตสาขาการผลิตอุตสาหกรรม ในขณะที่ผู้มีงานทำในสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารลดลงร้อยละ 0.2 สอดคล้องกับการชะลอตัวของการผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ในขณะที่ผู้มีงานทำภาคเกษตร (สัดส่วนร้อยละ 29.65) ลดลงร้อยละ 4.2 สอดคล้องกับการลดลงของผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการ เช่น กุ้งขาวแวนนาไม และอ้อย อัตราการว่างงานในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 0.9 โดยมีผู้ว่างงานเฉลี่ยจำนวน 3.5 แสนคน

ด้านการคลัง

ในไตรมาสที่สองของปีงบประมาณ 2562 (มกราคม - มีนาคม 2562) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 565,687.3 ล้านบาท สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การเพิ่มขึ้นของ การจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่น เนื่องจากการนำส่งรายได้งวดสุดท้ายจากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม (4G) ที่จัดประมูลในปีงบประมาณ 2559 (2) การเพิ่มขึ้นของ การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของปริมาณการผลิตรถยนต์ในประเทศ (3) การเพิ่มขึ้นของการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย และ (4) การเพิ่มขึ้นของการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้า รวมครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2562 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,161,810.3 ล้านบาท สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.6

การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ในไตรมาสที่สองของปีงบประมาณ 2562 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 776,153.4 ล้านบาท1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 (รายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 และรายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4) ประกอบด้วย (1)การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 จำนวน669,461.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีงบประมาณก่อนร้อยละ 16.9 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 22.3 สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 22.0 และอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 18.8 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) จำแนกเป็น การเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 569,242.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 24.2 สูงกว่าอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 19.1 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของการเบิกจ่ายในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปของกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นสำคัญ การเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 100,218.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 15.5 ต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 22.0 และต่ำกว่าอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 17.4 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) (2)การเบิกจ่ายงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 60,996.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 5.2 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 16.4 ต่ำกว่าอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 17.9 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) (3)การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวมบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)) คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ 47,981.5 ล้านบาท2 ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีงบประมาณก่อนหน้าร้อยละ 9.9 และ (4) การเบิกจ่ายเงินกู้นอกงบประมาณ จำนวน 431.3 ล้านบาท เทียบกับการเบิกจ่าย 974.7 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเบิกจ่ายเงินกู้ตามมาตรการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (แผนงาน/โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน) และเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan : DPL) จำนวน 326.7 ล้านบาท และ 104.6 ล้านบาท ตามลำดับ

หมายเหตุ: 1 การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ประกอบด้วย งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวมบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และไม่รวมรายจ่ายลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี) และเงินกู้นอกงบประมาณ

2 รวมรายจ่ายลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 2,717.2 ล้านบาท

รวมครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2562 มีการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐรวม 1,810.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.3 ประกอบด้วย (1) การเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 จำนวน 1,562.4 พันล้านบาท (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 52.1 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ร้อยละ 52.3 แต่สูงกว่าอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 48.2 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน) แบ่งเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 1,386.9 พันล้านบาท (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 58.9 สูงกว่าเป้าหมายและอัตราการเบิกจ่ายในช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่ร้อยละ 55.0 และร้อยละ 51.4 ตามลำดับ) และการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 175.5 พันล้านบาท (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 27.2 ต่ำกว่าเป้าหมายและอัตราการเบิกจ่ายในช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่ร้อยละ 43.1 และร้อยละ 33.5 ตามลำดับ) (2) การเบิกจ่ายงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปีจำนวน 131.8 พันล้านบาท (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 35.5) (3) การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวมบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)) คาดว่ามีจำนวน 121.8 พันล้านบาท3 และ (4) การเบิกจ่ายเงินกู้นอกงบประมาณรวมทั้งสิ้น 711.0 ล้านบาท

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 มีมูลค่าทั้งสิ้น 6,908,743.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40.3 ของ GDP ประกอบด้วยเงินกู้ภายในประเทศ 6,660,465.6 ล้านบาท (ร้อยละ 38.9 ของ GDP) และเงินกู้จากต่างประเทศ 248,278.0 ล้านบาท (ร้อยละ 1.4 ของ GDP) โดยแบ่งออกเป็นหนี้ของรัฐบาล 5,645,640.2 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 925,701.2 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 329,004.2 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 8,398.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 81.7 ร้อยละ 13.4 ร้อยละ 4.8 และร้อยละ 0.1 ของหนี้สาธารณะคงค้าง ตามลำดับ

หมายเหตุ: 3 รวมรายจ่ายลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี จานวน 5,995.0 ล้านบาท

ฐานะการคลัง: ในไตรมาสที่สองของปีงบประมาณ 2562 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ 189,430.0 ล้านบาท เมื่อรวมกับการขาดดุลเงินนอกงบประมาณ 10,405.0 ล้านบาท และการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 108,978.0 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดสุทธิ 90,857.0 ล้านบาท และเมื่อรวมกับเงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาสก่อนหน้าจำนวน 379,898.0 ล้านบาท ส่งผลให้ฐานะเงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาสที่สองของปีงบประมาณ 2562 อยู่ที่ 289,041.0 ล้านบาท

รวมครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2562 รัฐบาลมีการขาดดุลงบประมาณ 538,559.0 ล้านบาท ขาดดุลเงินนอกงบประมาณ 36,614.0 ล้านบาท และมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 230,778.0 ล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลยังคงขาดดุลเงินสดหลังกู้สุทธิ 344,395.0 ล้านบาท

ภาวะการเงิน

อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี ในไตรมาสแรกของปี 2562

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 และ 20 มีนาคม 2562 ที่ประชุมมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายเพียงพอต่อการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เช่นเดียวกับประเทศเศรษฐกิจหลักและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคที่คงทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดียวกับไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม บางประเทศได้ปรับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย ภายหลังจากที่ดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง กล่าวคือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 2.25 - 2.50 ต่อปี และจะยุติการปรับลดขนาดงบดุลในเดือนกันยายน 2562 ธนาคารกลางยุโรปประกาศว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 0 ต่อปีจนถึงสิ้นปี 2562 จากเดิมที่กำหนดสิ้นสุดกลางปี 2562 นอกจากนี้ได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินรอบใหม่ ผ่านการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำอายุ 2 ปีแก่ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเริ่มขึ้นในเดือนกันยายน 2562 และจะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2564 ขณะที่ธนาคารกลางอินเดียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.25 ต่อปี ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 17 เดือน

ล่าสุดเดือนเมษายน 2562 ธนาคารกลางอินเดียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 6.00 ต่อปี เพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ

ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ตามการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก โดยในไตรมาสแรกของปี 2562 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.05 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.42 ต่อปี ภายหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ในเดือนธันวาคม 2561 แต่ยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมแก่ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ไว้ที่ระดับเดียวกับ ไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.28 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางแห่งหนึ่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนลงร้อยละ 0.13 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางอยู่ที่ร้อยละ 1.13 ต่อปี ลดลงร้อยละ 0.06 จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6.71 ต่อปี ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงเฉลี่ย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ที่แท้จริงเฉลี่ยปรับตัวลดลง ตามการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ

ล่าสุดเดือนเมษายน 2562 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งและธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยปรับลดเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงร้อยละ 0.10 และร้อยละ 0.05 ตามลำดับ ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยอยู่ที่ร้อยละ 1.40 และร้อยละ 1.80 ต่อปี ตามลำดับ

สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินชะลอตัวลงเล็กน้อยจากสินเชื่อธุรกิจ ขณะที่สินเชื่อครัวเรือนขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2562 ยอดคงค้างสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 5.5 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.6 ตามการชะลอตัวของสินเชื่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะสินเชื่อสาขาการผลิต สาขาการเงินและการประกันภัยและสาขาเกษตรกรรม ป่าไม้ ประมง และเหมืองแร่ ในขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า จากสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ โดยเป็นการขยายตัวจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ในขณะที่คุณภาพของสินเชื่อในไตรมาสแรกปีนี้ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า โดยสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non Performing Loan) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.95 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้าที่ ร้อยละ 2.94

อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสแรกของปี 2562 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 31.62 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นร้อยละ 3.66 จากค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินเฉลี่ยของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งเป็นไปตามการลดลงของดัชนีดอลลาร์ สรอ. ภายหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่น ๆ เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้น สะท้อนจากดัชนีค่าเงินบาท (NEER)4 ที่เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 2.49 แต่หากพิจารณาปัจจัยด้านระดับราคา หรืออัตราเงินเฟ้อร่วมด้วย พบว่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเล็กน้อย สะท้อนจากดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ที่ลดลงจากค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 0.02

หมายเหตุ: 4 ธปท. เริ่มปรับใช้สกุลเงินพร้อมน้ำหนักใหม่ในการคำนวณดัชนีค่าเงินบาท (NEER) และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ในเดือนมีนาคม 2557 พร้อมปรับปีฐานของค่าดัชนีให้สอดคล้องกับปีที่ใช้คำนวณน้ำหนัก คือปี 2555 เพื่อให้สะท้อนถึงโครงสร้างทางการค้าตามความเป็นจริงได้ดียิ่งขึ้น

ในเดือนเมษายน 2562 ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของดัชนีดอลลาร์ สรอ. สะท้อนถึงระดับความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์ สรอ. ที่เพิ่มมากขึ้น ภายหลังจากที่ตัวเลขการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ เดือนกุมภาพันธ์ลดลงมาอยู่ 4.94 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 ทั้งนี้ ในเดือนเมษายน 2562 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 31.85 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงร้อยละ 0.4 จากค่าเฉลี่ยในเดือนก่อนหน้า

ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสแรกของปี 2562 ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ปิดที่ 1,638.7 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 จากไตรมาสก่อนหน้า จากแรงซื้อของ นักลงทุนสถาบันเป็นสำคัญ ตามการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและทิศทางการบริโภคของประชาชนในช่วงก่อนการเลือกตั้ง สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีในกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค กลุ่มพาณิชย์ และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม สำหรับนักลงทุนต่างชาติมีสถานะซื้อสุทธิในช่วงต้นไตรมาส สอดคล้องกับประเทศ ในภูมิภาค ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากสถานการณ์ในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ปรับตัวดีขึ้น การส่งสัญญาณชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และสถานการณ์ความไม่แน่นอนทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองในยุโรป อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของไตรมาส นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิ ในตลาดหลักทรัพย์ไทย เนื่องจากรอความชัดเจนของผลการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาล ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเวลาดังกล่าวปรับตัวลดลงเล็กน้อย

ในเดือนเมษายน 2562 SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,673.5 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 จาก ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 โดยนักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิหลักทรัพย์ไทยในเดือนนี้ โดยการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาส่วนมากอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภค และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและแนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยในประเทศในช่วงวันหยุดยาว

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับราบลง มูลค่าซื้อขายพันธบัตรปรับตัวเพิ่มขึ้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ ในไตรมาสแรกของปี 2562 มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาด (Outright Transaction) อยู่ที่ 81.4 พันล้านบาทต่อวัน นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิ 37.3 พันล้านบาท หลังจากซื้อสุทธิในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 โดยส่วนใหญ่เป็นการขายพันธบัตรระยะสั้นอายุต่ำกว่า 1 ปี โดยมีแรงกดดันจากหลายปัจจัย เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาสก่อนหน้า สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ยังไม่ชัดเจน ประกอบกับปริมาณพันธบัตรระยะสั้นเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (ข้อมูล 2 เดือนแรก) ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวเพิ่มขึ้น ในช่วง 5-12 bps ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปีในไตรมาสนี้ปรับตัวลดลง เนื่องจากมีแรงกดดันที่สำคัญมาจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวในตลาดทั่วโลกปรับลดลง และแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากความเสี่ยง หลายประการ อาทิ สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ความเสี่ยงทางการเมืองยุโรป ประกอบกับมีแรงซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ

ในเดือนเมษายน 2562 นักลงทุนต่างชาติยังขายสุทธิต่อเนื่องที่ 21.3 พันล้านบาท โดยเป็นการขายพันธบัตรทั้งระยะสั้นและระยะยาว ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปี ปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นไม่เปลี่ยนแปลง

เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิ ในไตรมาสแรกของปี 2562 มีเงินทุนไหลออกสุทธิ 4.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดยมีสาเหตุจาก (1) การออกไปลงทุนในต่างประเทศของคนไทย ทั้งในรูปแบบของการลงทุนโดยตรงและ การลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ (2) การไหลออกของเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติทั้งในตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ และ (3) การชำระคืนสินเชื่อการค้าของคนไทย

ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ในไตรมาสแรกของปี 2562 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 14.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (460.5 พันล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 15.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (502.7 พันล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และการเกินดุล 7.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (232.9 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการเกินดุลการค้า 6.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (ต่ำกว่าการเกินดุล 7.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) และการเกินดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิ 7.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (ต่ำกว่าการเกินดุล 8.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)

เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ 212.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี net forward position อีก 32.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) คิดเป็นประมาณ 3.4 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ข้อมูลเบื้องต้น ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562) และเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 11.9 เดือน (ค่าเฉลี่ยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสแรกของปี 2562)

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสแรกของปี 2562 อยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 0.7 ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 0.8 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 โดยดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ชะลอลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชะลอตัวลง ซึ่งทำให้ดัชนีราคา ในหมวดพลังงานในไตรมาสนี้ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.8 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 ในขณะที่ดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เร่งขึ้นจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ปลาและสัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นม และเครื่องประกอบอาหาร เป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 0.6 เทียบกับร้อยละ 0.7 ในไตรมาสก่อนหน้า5

ดัชนีราคาผู้ผลิต ในไตรมาสแรกของปี 2562 ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.4 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 เป็นผลจากการปรับตัวลดลงของราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป็นสำคัญ โดยราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 1.0 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และเคมีภัณฑ์/ผลิตภัณฑ์เคมีปรับตัวลดลง ในขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.4 ชะลอลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการชะลอลงของราคาลิกไนต์ ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ ส่วนราคาผลผลิตเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 เร่งขึ้นจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ และผลผลิตการเกษตรเป็นสำคัญ6

หมายเหตุ: 5 ในเดือนเมษายน 2562 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.2 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.6 เฉลี่ย 4 เดือนแรกของปี 2562 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.9 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.6

6 ในเดือนเมษายน 2562 ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เฉลี่ย 4 เดือนแรกของปี 2562 ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ 0.1

2. ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันไตรมาสแรกของปี 2562

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงทั้งจากไตรมาสก่อนหน้าและในช่วงเดียวกันของปีก่อน ในไตรมาสแรกของปี 2562 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 61.38 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ลดลงจาก 64.46 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.8 และลดลงจากราคาเฉลี่ยในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 ร้อยละ 6.2 การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในไตรมาสนี้มีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของกลุ่ม OECD (เช่น สหรัฐฯ และแคนาดา) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2,861 ล้านบาร์เรล (สูงกว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของกลุ่ม OECD ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 2,839 ล้านบาร์เรล) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ (2) การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจึงทำให้อุปสงค์เพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ท่ามกลางความวิตกกังวลของนักลงทุนต่อความเสี่ยงสำคัญ ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป

3. เศรษฐกิจโลกไตรมาสแรกของปี 2562

เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในไตรมาสแรกของปี 2562 ขยายตัวในเกณฑ์ต่ำและชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากครึ่งหลังของปี 2561 ตามการดำเนินมาตรการเพื่อปรับสมดุลโครงสร้างเศรษฐกิจจีน การเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าท่ามกลางความไม่แน่นอนของผลการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ รวมทั้งความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงสำคัญ ๆ ในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของการเจรจาออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ทิศทางการดำเนินนโยบายการค้าในระยะต่อไปของสหรัฐฯ เงื่อนไขทางการคลังในอิตาลี รวมทั้งผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศต่าง ๆ ในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับปัจจัยชั่วคราวจากการปรับมาตรฐานไอเสียรถยนต์ในเยอรมนี การประท้วงในฝรั่งเศส และการเร่งนำเข้าของสหรัฐฯ ในช่วงก่อนหน้า เงื่อนไขดังกล่าวส่งผลให้เศรษฐกิจจีนและยูโรโซนขยายตัวในเกณฑ์ต่ำต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 ในขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ กลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญอื่น ๆ ชะลอตัวลงอย่างเป็นวงกว้าง ตามการชะลอตัวและปรับตัวลดลงของมูลค่าการส่งออกในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะมูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นซึ่งลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ไตรมาส ในขณะที่มูลค่าการส่งออกของฮ่องกง เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไต้หวันลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาส เช่นเดียวกับมูลค่าการส่งออกสินค้าของจีนและเวียดนามซึ่งขยายตัวต่ำสุดในรอบ 9 และ 13 ไตรมาสตามลำดับ แม้กระนั้นก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวเร่งขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสุทธิซึ่งเกิดจากการชะลอตัวของการนำเข้า และการขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้จ่ายภาครัฐหลังจากการปิดทำการของหน่วยงานของรัฐสิ้นสุดลง ในขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังขยายตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า และการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง หมวดเครื่องมือเครื่องจักร และหมวดผลิตภัณฑ์ทรัพย์สินทางปัญญา ชะลอตัวลง

การขยายตัวในเกณฑ์ต่ำของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และแนวโน้มการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี เมื่อรวมกับการลดลงของแรงกดดันด้านเงินเฟ้อตามการลดลงของราคาน้ำมันและการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ ส่งผลให้ธนาคารกลางของประเทศสำคัญ ๆ เริ่มส่งสัญญาณการเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนมีนาคม 2562 ธนาคารกลางยุโรปผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในการประชุมเดือนมีนาคม 2562 โดยการส่งสัญญาณขยายระยะเวลาการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนถึงสิ้นปี 2562 รวมทั้งการประกาศดำเนินมาตรการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์รอบที่ 3 (TLTRO-III) ซึ่งจะเริ่มมีผลในเดือนกันยายน 2562 หลังจากมาตรการปล่อยสินเชื่อฯ รอบที่ 2 (TLTRO-II) สิ้นสุดลง ส่วนธนาคารกลางจีนผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมโดยการปรับลดสัดส่วนการกันสำรอง (Reserve Requirement Ratio: RRR) ของธนาคารพาณิชย์ในการประชุมเดือนมกราคม 2562 และล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2562

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสแรก (Advance Estimate) ขยายตัวร้อยละ 3.2 เร่งขึ้นอย่างช้า ๆ จากร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสุทธิซึ่งเกิดจากชะลอตัวของการนำเข้า หลังจากที่ได้มีการเร่งนำเข้าในช่วงก่อนหน้า รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลัง และการขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้จ่ายภาครัฐ โดยการใช้จ่ายภาครัฐบาลในไตรมาสนี้ขยายตัวร้อยละ 1.8 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.7 ใกล้เคียงกับร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของการบริโภคสินค้าไม่คงทนและบริการ สอดคล้องกับ การขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของการจ้างงานซึ่งส่งผลให้อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 4.1 ลดลงจากร้อยละ 4.3 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังคงปรับตัวลดลงเป็นร้อยละ 3.6 ในเดือนเมษายน ซึ่งถือเป็นอัตราการว่างงานต่ำสุดในรอบ 49 ปี และค่าจ้างเฉลี่ยต่อชั่วโมงขยายตัวร้อยละ 3.3 สูงสุดในรอบ 10 ปี อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE Price Index) ลดลงจากร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นร้อยละ 1.7 ต่ำกว่าเป้าหมายนโยบายการเงิน ส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 30 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2562 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.25 - 2.50 และส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไป พร้อมทั้งจะยุติมาตรการปรับลดขนาดงบดุลในเดือนกันยายน 2562

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ขยายตัวร้อยละ 1.2 เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาส โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลงสอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) จากระดับ 51.7 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นระดับ 49.1 ต่ำสุดในรอบ 6 ปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับเปลี่ยนมาตรฐานไอเสียรถยนต์ในเยอรมนี และสอดคล้องกับการลดลงของมูลค่าการส่งออกร้อยละ 4.1 ในไตรมาสแรก ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 12 ไตรมาส ในขณะเดียวกัน การใช้จ่ายของภาคเอกชนในประเทศยังได้รับผลกระทบจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการเจรจาออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) การประท้วงในฝรั่งเศส และเงื่อนไขทางการคลังและนโยบายของรัฐบาลอิตาลี สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.4 ลดลงจากร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่าเป้าหมายนโยบายการเงิน เงื่อนไขดังกล่าวส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2562 มีมติผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม โดยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม แต่ส่งสัญญาณที่จะขยายระยะเวลาการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนถึงสิ้นปี 2562 เทียบกับกำหนดเดิมที่จะคงอัตราดอกเบี้ยจนถึงกลางปี 2562 รวมทั้งการประกาศดำเนินมาตรการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์รอบที่ 3 (TLTRO-III) ซึ่งจะเริ่มมีผลในเดือนกันยายน 2562 หลังจากมาตรการปล่อยสินเชื่อฯ รอบที่ 2 (TLTRO-II) สิ้นสุดลง

เศรษฐกิจญี่ปุ่น มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของการบริโภคและการลดลงของการส่งออกเป็นสำคัญ โดยดัชนีค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 0.8 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงสู่ระดับ 41.0 ต่ำสุดในรอบ 12 ไตรมาส ในขณะที่การส่งออกลดลงร้อยละ 5.7 ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ไตรมาส สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 49.5 ต่ำสุดในรอบ 24 ไตรมาส สำหรับอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 0.3 ต่ำสุดในรอบ 10 ไตรมาส และต่ำกว่าระดับเป้าหมายนโยบายการเงิน ส่งผลให้ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการผ่อนคลายทางการเงินไว้ที่ระดับเดิม

เศรษฐกิจจีน ขยายตัวร้อยละ 6.4 เท่ากับการขยายตัวในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 28 ปี โดยมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 1.3 ต่ำสุดในรอบ 9 ไตรมาส ส่วนหนึ่งเนื่องจากผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ในขณะที่การนำเข้าลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาสร้อยละ 4.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.8 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการชะลอตัวของการส่งออก รวมทั้งการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรซึ่งขยายตัวต่ำสุดในรอบ 19 ปี ซึ่งได้รับผลกระทบจากการดำเนินมาตรการปรับสมดุลโครงสร้างเศรษฐกิจ การเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และการชะลอการลงทุนของภาคธุรกิจเพื่อรอดูความชัดเจนของมาตรการกีดกันทางการค้า ในด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สัดส่วนหนี้สินภาคธุรกิจต่อ GDP อยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 152.9 ในขณะที่หนี้สินภาคครัวเรือนและภาครัฐบาลปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3,099 พันล้านดอลลาร์ สรอ. สูงสุดในรอบ 7 เดือน สอดคล้องกับการลดลงของการนำเข้าและเงินหยวนที่แข็งค่าขี้นจากในไตรมาสที่สี่ของปี 2561 เฉลี่ยร้อยละ 2.4 แม้ว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศไหลออกสุทธิอย่างต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่หกก็ตาม การชะลอตัวทางเศรษฐกิจทำให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) ดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมโดยการปรับลดสัดส่วนการกันสำรอง (Reserve Requirement Ratio: RRR) ของธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นร้อยละ 8.0 จากร้อยละ 11.5 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2562 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจและกระตุ้นธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งเป็นการปรับลดเป็นครั้งที่หกตั้งแต่ปี 2561 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจีน ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าผ่านทางมาตรการการคลังที่สำคัญ อาทิ การลดหย่อนภาษีรายได้เพิ่มเติม การลดภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับ SMEs การลดสัดส่วนเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้างลงเพื่อช่วยลดภาระทางการเงินของภาคธุรกิจ รวมทั้งมาตรการเพื่อลดต้นทุนด้านไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมและพาณิชย์

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการส่งออกและการชะลอตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจหลักและการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยเศรษฐกิจฮ่องกง เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไต้หวัน ขยายตัวร้อยละ 0.6 ร้อยละ 1.8 ร้อยละ 1.3 และร้อยละ 1.7 ตามลำดับ ชะลอลงจากร้อยละ 1.2 ร้อยละ 3.1 ร้อยละ 1.9 และร้อยละ 1.8 ตามลำดับ ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงร้อยละ 2.6 ร้อยละ 8.5 ร้อยละ 2.7 และร้อยละ 4.2 ตามลำดับ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อลดลงสอดคล้องกับการลดลงของราคาน้ำมันและการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียนที่ชะลอลง ตามการชะลอตัวและการลดลงของการส่งออก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของภาคผลิต โดยมูลค่าส่งออกของเศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวร้อยละ 6.7 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 ชะลอลงเป็นร้อยละ 5.1 ในไตรมาสแรกของปี 2562 ในขณะที่การส่งออกของเศรษฐกิจอินโดนีเซียปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สองที่ร้อยละ 8.3 เช่นเดียวกับการส่งออกของเศรษฐกิจมาเลเซีย ซึ่งปรับตัวลดลงร้อยละ 4.8 และเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาส โดยเศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามขยายตัวร้อยละ 5.1 ร้อยละ 4.5 ร้อยละ 5.6 และร้อยละ 6.8 ชะลอลงจากร้อยละ 5.2 ร้อยละ 4.7 ร้อยละ 6.3 และร้อยละ 7.3 ตามลำดับ ในไตรมาสก่อนหน้า

4. แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2562

เศรษฐกิจโลกในปี 2562 มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากครึ่งหลังของปี 2561 ตามการปรับตัวเข้าสู่ช่วงขาลงของวัฏจักรเศรษฐกิจสหรัฐฯ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและกลุ่มประเทศยูโรโซน รวมทั้งผลกระทบเพิ่มเติมจากการปรับตัวของประเทศต่าง ๆ ต่อความไม่แน่นอนของผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในช่วง 4 เดือนแรกของปีและการเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าในช่วงที่เหลือของปีที่เกิดจากการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งเรียกเก็บจากสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. เป็นร้อยละ 25.0 และการดำเนินมาตรการตอบโต้ของจีน ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการค้าโลกและเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนา ที่สำคัญ ๆ และเศรษฐกิจโลกในภาพรวมมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปี 2561 มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยในกรณีฐานซึ่งไม่มีการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าและการชะลอตัวรุนแรงของเศรษฐกิจสำคัญ ๆ เพิ่มเติม คาดว่าเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 3.6 และร้อยละ 3.6 ตามลำดับ ชะลอตัวลงจากร้อยละ 3.9 และร้อยละ 4.0 ในปี 2561 ตามลำดับ

การชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างเป็นวงกว้างของเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อ การเพิ่มขึ้นของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้า และความเสี่ยงสำคัญ ๆ ในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังอยู่เกณฑ์สูงทำให้ประเทศต่าง ๆ เริ่มปรับทิศทางนโยบายการเงินจากการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา เป็นการรักษาระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินไว้ในระดับเดิมและการผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น โดยในกรณีฐานคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมอย่างต่อเนื่อง และยุติมาตรการปรับลดขนาดงบดุลธนาคารกลางในเดือนกันยายน รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมหากเศรษฐกิจในช่วงปีหลังชะลอตัวลงมากกว่าการคาดการณ์และอัตราเงินเฟ้อยังไม่มีแนวโน้มกลับสู่เป้าหมายนโยบายการเงินอย่างชัดเจน ธนาคารกลางยุโรปที่เริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในเดือนกันยายน และมีแนวโน้มที่จะรักษาระดับการผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ยังมีแนวโน้มการคงนโยบายการเงินเพื่อรักษาพลวัต การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังเป็นไปอย่างช้า ๆ ในขณะที่ธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินและยอมให้ค่าเงินหยวนเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น เพื่อลดแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้าและแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

ในกรณีฐานคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวร้อยละ 2.5 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในปี 2561 ตามข้อจำกัดของระบบเศรษฐกิจที่การจ้างงานอยู่ในระดับสูงกว่าการจ้างงานเต็มที่ การลดลงของแรงขับเคลื่อนจากมาตรการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงาน รวมทั้งผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ภาคการผลิต และการใช้จ่ายของครัวเรือนและภาคธุรกิจ อย่างชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่ตลาดแรงงานขยายตัวอย่างแข็งแกร่งและอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานอย่างช้า ๆ ในขณะที่แรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำแม้ว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้านำเข้า ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหากความเสี่ยงในตลาดเงินตลาดทุนและสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น และอัตราเงินเฟ้อยังไม่มีแนวโน้มที่จะกลับสู่เป้าหมายของนโยบายการเงินอย่างชัดเจน

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.2 ชะลอลงจากร้อยละ 1.9 ในปี 2561 ตามการชะลอตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลดลงของการส่งออกซึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า การปรับมาตรฐานไอเสียรถยนต์ในเยอรมนี การประท้วงในฝรั่งเศส รวมทั้งความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงสำคัญ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการถอนตัวจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรแบบไร้ข้อตกลง (Brexit) ความไม่แน่นอนของทิศทางมาตรการกีดกันทางการค้าภายใต้มาตรา 232 ของสหรัฐฯ ต่อสหภาพยุโรป เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการคลังในอิตาลี รวมทั้งความวิตกกังวลต่อสภาพแวดล้อมทางการเมืองทั้งในการเลือกตั้งสภายุโรปในวันที่ 23 - 26 พฤษภาคม 2562 และสภาพแวดล้อมทางการเมืองในประเทศสำคัญ ๆ ที่กลุ่มที่มีแนวคิดต่อต้านการเปิดเสรี และกระแสโลกาภิวัฒน์ ได้รับคะแนนนิยมมากขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อความเป็นเอกภาพของกลุ่มยูโรโซน ภายใต้แนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงที่สำคัญทำให้ธนาคารกลางยุโรป ในการประชุมวันที่ 10 เมษายน 2562 มีมติผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม โดยการประกาศดำเนินมาตรการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์รอบที่ 3 (TLTRO-III) ซึ่งจะเริ่มมีผลในเดือนกันยายน 2562 และในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าธนาคารกลางยุโรปจะยังคงรักษาระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินไว้อย่างต่อเนื่อง

เศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.9 ใกล้เคียงกับการขยายตัวร้อยละ 0.8 ในปี 2561 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการผลิตและการลงทุนของภาคธุรกิจที่เกิดจากการปรับตัวของภาคธุรกิจต่อมาตรการกีดกันทางการค้า ข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (EPA) ระหว่างญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งทำให้การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนไปสหภาพยุโรปได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี และการออกกฎหมายเปิดรับแรงงานต่างชาติซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2562 รวมทั้งการเร่งขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศในช่วงก่อนที่มาตรการเพิ่มอัตราภาษีการบริโภคจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2562 อย่างไรก็ตาม การส่งออกยังมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า รวมทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้มาตรา 232 และข้อตกลง USMCA และข้อตกลง FTA ระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ภายใต้แนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวอย่างช้า ๆ อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และข้อจำกัดและความเสี่ยงทางการค้าในตลาดโลกที่อยู่ในเกณฑ์สูง คาดว่าจะทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงรักษาการผ่อนคลายนโยบายการเงินไว้ในระดับเดิมอย่างต่อเนื่อง

เศรษฐกิจจีน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.1 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 6.6 ในปี 2561 ตามการเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งมีแนวโน้มสร้างแรงกดดันต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการบริหารจัดการปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากขึ้นตามลำดับ ทั้งในด้านภาคการผลิตและการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง รวมทั้งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุนผ่านการลดลงของความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ และการชะลอตัวของการจ้างงาน ท่ามกลางข้อจำกัดจากภาระหนี้สินของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน ภายใต้แนวโน้มดังกล่าว คาดว่าธนาคารกลางจีนยังมีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ โดยการปล่อยให้เงินหยวนเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าอย่างช้า ๆ ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนของภาคการผลิตและการส่งออก และการใช้กลไกการปล่อยสินเชื่อของธนาคารเฉพาะกิจและการลดอัตราการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อลดความตึงตัวของสภาพคล่องในระบบการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจีนจะมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มเติม

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนผ่านการลดลงของปริมาณการค้าโลก และความสัมพันธ์ของห่วงโซ่การผลิต ซึ่งทำให้การส่งออกปรับตัวลดลงในระยะแรก ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงในทิศทางการค้าและการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศคาดว่าจะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นอย่างช้า ๆ และช่วยลดผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและมาตรการกีดกันทางการค้าในช่วงที่เหลือของปีได้มากขึ้นตามลำดับ โดยคาดว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ในปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 2.5 ร้อยละ 2.3 และร้อยละ 2.0 ชะลอลงจากร้อยละ 3.2 ร้อยละ 2.7 และร้อยละ 2.6 ในปี 2561 ตามลำดับ ส่วนเศรษฐกิจฮ่องกงคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 เท่ากับปีก่อนหน้า เช่นเดียวกับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามแนวโน้มการชะลอตัวของการส่งออกและการผลิต ซึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยูโรโซน และจีน รวมทั้งการชะลอตัวของอุปสงค์ ในประเทศ ซึ่งเกิดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีที่ผ่านมาเพื่อลดแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อและการรักษาเสถียรภาพค่าเงิน อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเปลี่ยนแปลงของทิศทางทางการค้าและสายพานการผลิตระหว่างประเทศที่เกิดจากการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าจะเริ่มส่งผลด้านบวกต่อเศรษฐกิจของบางประเทศมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและผลกระทบจากมาตรการกีดกัน ทางการค้าผ่านความเชื่อมโยงของสายพานการผลิตระหว่างอาเซียนกับจีนในระยะต่อไป โดยในกรณีฐาน คาดว่า เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย จะขยายตัวร้อยละ 5.8 ร้อยละ 4.4 ร้อยละ 6.8 และร้อยละ 5.0 ชะลอลงจากร้อยละ 6.2 ร้อยละ 4.7 ร้อยละ 7.1 และร้อยละ 5.2 ในปี 2561 ตามลำดับ

แม้กระนั้นก็ตาม ความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบการเงินโลกยังอยู่ในเกณฑ์สูงและเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ซึ่งอาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ปริมาณการค้าโลก และทิศทางนโยบายการเงินของประเทศสำคัญๆ เปลี่ยนแปลงไปจากการคาดการณ์ในกรณีฐาน โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย (1) ทิศทางการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ ต่อจีนและประเทศอื่น ๆ ที่อาจมีเพิ่มเติม โดยเฉพาะการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าจีนในส่วนที่เหลือเพิ่มเติมมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าในกลุ่มสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนผ่านมาตรา 232 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ และการตรวจสอบและดำเนินมาตรการกับประเทศที่สหรัฐฯ เชื่อว่ามีการแทรกแซงค่าเงิน รวมทั้งมาตรการตอบโต้ของจีนที่อาจขยายขอบเขตมากขึ้น (2) ความคืบหน้าของการเจรจาและการดำเนินการเพื่อการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) (3) แนวโน้มการชะลอตัวและปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจจีนที่อาจถูกซ้ำเติมโดยมาตรการกีดกันทางการค้า และทำให้การชะลอตัวทางเศรษฐกิจและปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมีความรุนแรงมากกว่าการคาดการณ์ (4) ปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญ ๆ ที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอ (เวเนซุเอลา อาร์เจนตินา ตุรกี และแอฟริกาใต้) (5) เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศสมาชิกกลุ่มประเทศยูโรโซนและผลการเลือกตั้งสภายุโรปในวันที่ 23 - 26 พฤษภาคม 2562 (6) ความขัดแย้งในรัฐสภาสหรัฐฯ ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาแก้ไขปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ และการเจรจาเพื่อกำหนดกรอบงบประมาณประจำปี 2563 (7) ความผันผวนในตลาดการเงินที่เกิดจากการคาดการณ์และการปรับตัวของนักลงทุนต่อทิศทางนโยบายการเงินและแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศสำคัญ ๆ และ (8) ปัญหาความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญๆ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน การถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ปัญหาทางการเมืองภายในประเทศเวเนซุเอลา และปัญหาความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี

5. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2562

การชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกภายใต้ความไม่แน่นอนของทิศทางมาตรการกีดกันทางการค้าทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกมีข้อจำกัดในการขยายตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ไม่มีการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า การชะลอตัวรุนแรงของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนจากบรรยากาศทางการเมืองเพิ่มเติม คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจะขยายตัวเร่งขึ้นอย่างช้า ๆ และส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปี 2562 อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจภายใต้เงื่อนไขการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ในประเทศ การปรับตัวดีขึ้นของเงื่อนไขทางการค้าท่ามกลางการปรับตัวของทิศทางการค้า การผลิต และการลงทุนระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศเศรษฐกิจหลัก รวมทั้งแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยวและฐานการขยายตัวที่ต่ำลงในช่วงครึ่งหลังของปี

ปัจจัยสนับสนุน

1) แนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะยังมีความต่อเนื่องในครึ่งปีหลังทั้งในด้าน (1) การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้มีงานทำติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สี่ อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำท่ามกลางการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องหลังขัอจำกัดจากมาตรการรถยนต์คันแรกสิ้นสุดลง และราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการที่อยู่ในเกณฑ์ดีท่ามกลางผลผลิตที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาข้าวเปลือก ข้าวโพด และมันสำปะหลัง รวมทั้งการดำเนินมาตรการดูแลประชาชนผู้มีรายได้ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (2) การลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจ สอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องร้อยละ 4.4 ในไตรมาสแรก โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความคืบหน้าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ อัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่อยู่ในเกณฑ์สูง การปรับตัวเพิ่มขึ้นของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมในปี 2560 และ 2561 ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 631.0 และ 899.7 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราขยายตัวร้อยละ 10.5 และ 42.6 ตามลำดับ โดยเฉพาะการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งในปี 2561 มีมูลค่า 683.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 137.4 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มมีการลงทุนบางส่วนในปี 2562 รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทิศทางการการค้า การผลิต และการลงทุนระหว่างประเทศที่คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้า (3) การลงทุนภาครัฐ ตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ของภาครัฐซึ่งมีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายของการลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างมากขึ้นตามลำดับ และการเพิ่มขึ้นของกรอบงบลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ร้อยละ 19.5 ตามลำดับ

โอกาสของไทยในการขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชนของประเทศอันเนื่องมาจากสงครามทางการค้า

นับตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการนับจากปี 2561 บริษัทต่างๆ ที่มีโรงงานตั้งอยู่ในจีนและสหรัฐฯ เริ่มที่จะแสวงหาแนวทางในการย้ายฐานการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากสงครามทางการค้า อย่างไรก็ดี ในการปรับขึ้นภาษีนำเข้าช่วงแรกของการทำสงครามทางการค้าในมาตรการแรก ( 6 กรกฎาคม 2561 มูลค่า 34 billon USD) และมาตรการที่สอง (23 สิงหาคม 2561 มูลค่า 16 billon USD) นั้น แม้ว่าอัตราภาษีจะสูงถึงร้อยละ 25 แต่ยังมีขอบเขตจำกัดทั้งในด้านมูลค่าสินค้าและรายการสินค้า ในขณะที่มาตรการที่ 3 (24 กันยายน 2561 มูลค่า 200 billion USD) ระยะแรกเป็นการขึ้นภาษีเพียงร้อยละ 10 ซึ่งอาจจะเป็นระดับการขึ้นภาษีที่บริษัทต่างๆ ยังไม่ได้ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดในการย้ายฐานการผลิต เนื่องจากต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการย้ายฐาน เช่น ต้นทุนในการก่อสร้างโรงงานใหม่ ค่าบริหารการขนส่งสินค้า ค่าจ้างแรงงาน ตลอดจนค่าบริหารจัดการในด้านต่างๆ อาจจะมีมูลค่ามากกว่าความเสียหายทางการค้าที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีในอัตราร้อยละ 10 โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง นอกจากนั้นผลกระทบที่เกิดจากการขึ้นอัตราภาษีร้อยละ 10 ส่วนหนึ่งจะสามารถชดเชยโดยการอ่อนค่าของเงินหยวนร้อยละ 3.5 ในช่วงครึ่งปีหลังที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี หลังจากที่ทั้ง 2 ประเทศมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25 (มาตรการ 3 ระยะที่ 2) และมีความเสี่ยงที่จะมีการประกาศมาตรการที่ 4 โดยการเพิ่มขอบเขตของสินค้าให้ครอบคลุมสินค้าทุกรายการที่มีการส่งออกนำเข้าระหว่างกัน ทำให้ความเสียหายทางการค้าที่บริษัทจะได้รับจากการคงฐานการผลิตไว้ที่เดิม อาจจะมากกว่าต้นทุนในการย้ายฐานการผลิต ประกอบกับแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวของจีนที่คาดว่าจะค่อยๆ ชะลอตัวลง จึงเป็นสถานการณ์ที่ทำให้บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องสร้างความชัดเจนในการย้ายฐานการผลิตมากขึ้น เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากสงครามทางการค้า

สำหรับปลายทางในการย้ายฐานการผลิตนั้น ก่อนหน้านี้มีผลสำรวจจากสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์เศรษฐกิจอย่างน้อย 3 แห่ง ได้แก่ American Chamber of Commerce in the People's Republic of China (AmCham China), Nomura และ JP Morgan ซึ่งได้สำรวจบริษัทเอกชนที่มีฐานการผลิตอยู่ในจีนในเรื่องของปลายทางที่น่าสนใจหากจะต้องมีการย้ายฐานการผลิตจากผลกระทบของสงครามการค้า โดยทั้ง 3 สถาบันระบุตรงกันว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และอินเดียในสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางชนิด) เป็นสถานที่ปลายทางที่น่าสนใจที่สุดในการย้ายฐานการผลิต โดยที่ Nomura และ JP Morgan ได้สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเทศจุดหมายปลายทางในการย้ายฐานการผลิตที่น่าสนใจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานระบุตรงกันว่า ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

ผลสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการเกิดสงครามการค้ามีแนวโน้มส่งผลให้ระบบสายการผลิตของโลกมีการปรับตัวครั้งสำคัญ คือ แนวโน้มที่สายพานการผลิตของสินค้าบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ามีการย้ายออกจากจีน ซึ่งเป็นประเทศหลักที่เป็นผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของโลกในช่วงที่ผ่านมา มายังประเทศในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ที่สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีความชัดเจนและสร้างความกดดันให้บริษัทต่าง ๆ ในจีน ต้องตัดสินใจในการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แสวงหาประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนในการดึงดูดนักลงทุนหรือผู้ประกอบการให้เข้ามาลงทุนในประเทศเพื่อเป็นการเพิ่มแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวต่อไป ดังนั้น แนวทางการบริหารเศรษฐกิจในส่วนของการสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนในระยะต่อไป ควรให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกและการชักจูงนักลงทุนในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าและอยู่ในช่วงของการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตทั้งในประเทศไทยและในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มการใช้กำลังการผลิตในประเทศไทยมากขึ้น

ความคืบหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภาครัฐ

โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญมีความคืบหน้ามากขึ้นและคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนมากขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ ณ เดือนพฤษภาคม 2562 มีโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน ปี 2559 (Action Plan ปี 2559) จำนวน 20 โครงการ โครงการภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ปี 2560 (Action Plan ปี 2560) จำนวน 36 โครงการ และโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ปี 2561 (Action Plan ปี 2561) จำนวน 9 โครงการ โดยมีความคืบหน้าดังนี้ (1) โครงการภายใต้ Action Plan ปี 2559 ก่อสร้างเสร็จแล้วจำนวน 2 โครงการ วงเงินรวม 4,809 ล้านบาท และเข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างแล้วจำนวน 12 โครงการ วงเงินรวม 732,490 ล้านบาท เทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีโครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้วจำนวน 1 โครงการ วงเงินรวม 1,864 ล้านบาท และที่เข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างแล้วจำนวน 13 โครงการ วงเงินรวม 703,637 ล้านบาท (2) โครงการภายใต้ Action Plan ปี 2560 ก่อสร้างเสร็จแล้วจำนวน 1 โครงการ วงเงินรวม 1,113 ล้านบาท และเข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างแล้วจำนวน 4 โครงการ วงเงินรวม 4,513 ล้านบาท และ (3) โครงการภายใต้ Action Plan ปี 2561 เข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างแล้วจำนวน 1 โครงการ วงเงินรวม 2,043 ล้านบาท

สำหรับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญภายใต้แผนงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จำนวน 5 โครงการ นั้น มีรายละเอียดดังนี้ (1) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) และ (2) โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ผ่านขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนแล้ว และอยู่ระหว่างการเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาร่างสัญญาการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) (3) โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา อยู่ระหว่างการร่วมกันพิจารณาร่างสัญญาการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อที่จะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจพิจารณา (4) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และ (5) โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 อยู่ระหว่างขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกคาดว่าจะลงนามสัญญากับเอกชนในทุกโครงการได้ภายในเดือนมิถุนายน 2562

2) แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของเงื่อนไขด้านการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง ตามแนวโน้ม การลดลงของสินค้าคงคลังในประเทศเศรษฐกิจหลัก การผ่อนคลายลงของปัญหาการขาดแคลนหน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์ในตลาดการค้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และการเพิ่มขึ้นของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งจะช่วยให้การผลิตและการส่งออกของประเทศสำคัญ ๆ เริ่มมีการปรับตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ การปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงของกิจกรรมการผลิตและการส่งออกในประเทศสำคัญ ๆ ในไตรมาสแรกมีสาเหตุมาจากปัจจัยสำคัญ คือ (1) การปรับตัวของวัฏจักรเศรษฐกิจในประเทศเศรษฐกิจหลักเข้าสู่ช่วงของการชะลอตัว (2) การเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าส่งผลกระทบให้ปริมาณการค้าโลกปรับตัวลดลง (Trade Dilution) และผลกระทบผ่านห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศ (Negative supply chain effects) (3) ความไม่แน่นอนของผลการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับจีนทำให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกในประเทศสำคัญ ๆ ชะลอการตัดสินใจการผลิต การนำเข้า และการส่งออก และชะลอการปรับตัวเพื่อรอดูความชัดเจนของผลการเจรจา และส่งผลกระทบซ้ำเติมต่อกิจกรรมทางการค้าและห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศ (4) การเร่งผลิตและนำเข้าของประเทศผู้ผลิตและนำเข้าสำคัญ ๆ ในช่วงก่อนที่มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ระยะแรก (ในเดือนมิถุนายน 2561 และเดือนสิงหาคม 2561) และระยะที่สอง (1 มกราคม 2562) จะมีผลบังคับใช้ ทำให้มีการสะสมสินค้าคงคลังในประเทศสำคัญ ๆ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ความต้องการนำเข้าในไตรมาสแรกของปี 2562 ปรับตัวลดลง และ (5) ปัญหาการขาดแคลนหน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์ในตลาดโลกที่มีสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเนื่องจากเกิดภาวะขาดแคลนกำลังการผลิตในการผลิตหน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์ขนาด 14 นาโนเมตร ซึ่งส่งผลกระทบซ้ำเติมต่อห่วงโซ่การผลิตและการค้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกอย่างต่อเนื่องนับจากเดือนกันยายน 2561 สำหรับในช่วงที่เหลือของปี แม้ว่ามาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ขยายขอบเขตมากขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2562 จะมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบผ่านการชะลอตัวของปริมาณการค้าและห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศมากขึ้นก็ตาม แต่ในกรณีที่ไม่มีมาตรการกีดกันทางการค้าและความไม่แน่นอนเพิ่มเติม คาดว่าการเพิ่มขึ้นและความชัดเจนมากขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าในช่วงเดือนพฤษภาคมจะทำให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก และผู้นำเข้ามีการตัดสินใจปรับตัวในการเปลี่ยนทิศทางการค้า การผลิต และการลงทุน และเริ่มกลับมาทำการผลิตและส่งออกที่ชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะภายใต้แรงกระตุ้นจากการปรับตัวลดลงของสินค้าคงคลังในประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีการเร่งสะสมไว้ในช่วงก่อนหน้า และภาวะการขาดแคลนหน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์ ที่มีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ภาวะการค้าระหว่างประเทศในช่วงครึ่งปีหลังปรับตัวดีขึ้นจากในช่วงครึ่งปีแรกอย่างช้า ๆ

3) การปรับตัวดีขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาสแรกของปี 2562 จะชะลอตัวลงและฟื้นตัวล่าช้ากว่าการคาดการณ์ในกรณีฐาน ซึ่งมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากผลกระทบเพิ่มเติมจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ฐานการขยายตัวที่สูง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการค้าซึ่งส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางออกนอกประเทศขยายตัวช้าลง ในช่วงที่เหลือของปี แม้ว่าผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนต่อการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวจะยังคงเป็นปัจจัยที่จะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ในกรณีฐานคาดว่าการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวจะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) (2) การขยายระยะเวลามาตรการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa On Arrival) ออกไปอีก 6 เดือน (จากเดิมสิ้นสุดในเดือนเมษายน เป็นเดือนตุลาคม 2562) (3) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และมาเลเซีย ซึ่งในไตรมาสแรกขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 9.6 ร้อยละ 7.1 ร้อยละ 25.0 และร้อยละ 8.3 ตามลำดับ (4) แนวโน้มการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนจากการเดินทางท่องเที่ยวระยะไกลเป็นการเดินทางระยะใกล้มากขึ้น และ (5) มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ

4) ฐานการขยายตัวที่ต่ำลงในช่วงครึ่งปีหลัง แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (%YoY) จะขยายตัวในเกณฑ์ต่ำร้อยละ 2.8 แต่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อนหน้าหลังปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว (QoQ, SA) ยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจร้อยละ 1.0 ซึ่งแสดงถึงพลวัตการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแสดงให้เห็นว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากฐานการขยายตัวที่สูงกว่าปกติ สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2561 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.0 สูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส เช่นเดียวกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.9 สูงสุดในรอบ 21 ไตรมาสและสูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 99 ไตรมาสนับจากการที่มีการเริ่มทำ GDP รายไตรมาสในไตรมาสที่ 1 ของปี 2536 ซึ่งอยู่ที่ ร้อยละ 0.9 รวมทั้งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงของการเร่งตัวขึ้นของการส่งออกในครึ่งปีแรกของปี 2561 ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเร่งนำเข้าของประเทศสำคัญ ๆ ก่อนที่มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ระลอกแรกจะมีผลบังคับใช้ในไตรมาสที่สาม และเริ่มชะลอการนำเข้าในช่วงไตรมาสที่สาม และไตรมาสที่สี่ ซึ่งส่งผลให้การส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงและฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรก

ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง

1) ความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกยังอยู่ในเกณฑ์สูงและอาจส่งผลให้เศรษฐกิจและการค้าโลกขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์ โดยมีสถานการณ์ที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย (1) การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีน และประเทศอื่น ๆ ที่อาจมีเพิ่มเติม (เช่น การดำเนินการตามมาตรา 232 และการขึ้นบัญชีตรวจสอบและดำเนินมาตรการตอบโต้กับประเทศผู้แทรกแซงค่าเงิน) รวมทั้งมาตรการตอบโต้ของจีนที่อาจขยายขอบเขตมากขึ้น และส่งผลให้เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ (2) ความคืบหน้าของการดำเนินการเพื่อการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) (3) เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเมืองในยุโรป โดยเฉพาะผลการเลือกตั้งสภายุโรปในวันที่ 23 -26 พฤษภาคม 2562 และสถานการณ์ด้านการคลังและทิศทางนโยบายของรัฐบาลอิตาลี (4) การชะลอตัวของเศรษฐกิจและปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจจีนที่อาจถูกซ้ำเติมโดยมาตรการกีดกันทางการค้า และทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวแรงและเร็วกว่าการคาดการณ์ (5) การเจรจาแก้ไขปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ และการกำหนดกรอบงบประมาณประจำปี 2563 (6) ความผันผวนในตลาดการเงินที่เกิดจากการคาดการณ์และการปรับตัวของนักลงทุนต่อทิศทางนโยบายการเงินและแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศสำคัญ ๆ และ (7) ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญ ๆ อาทิ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ - อิหร่าน ความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบีย - อิหร่านกรณีสงครามในเยเมน และปัญหาการเมืองในประเทศเวเนซุเอลา

2) บรรยากาศทางการเมือง กระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 และทิศทางนโยบายหลังการจัดตั้งรัฐบาล แม้ว่าในกรณีฐานคาดว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นไปอย่างราบรื่น ในขณะที่กระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 จะแล้วเสร็จและประกาศใช้หลังสิ้นปีงบประมาณ 2562 ประมาณ 2 - 4 เดือน และการขับเคลื่อนนโยบายที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่เงื่อนไขบรรยากาศทางการเมืองในช่วงการจัดตั้งและหลังจัดตั้งรัฐบาล ทิศทางนโยบายหลังการเลือกตั้งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของนักลงทุน และความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยว ในขณะที่กระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 และการอนุมัติโครงการลงทุนอาจมีความล่าช้ามากกว่าที่คาดการณ์ไว้

3) ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง ปริมาณน้ำใช้การได้จริง ใน 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ณ วันที่ 16 พฤษภาคม 2562 อยู่ในระดับ 4,393.9 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่มีปริมาณน้ำ 6,788.3 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ ปรากฏการณ์เอลนีโญมีแนวโน้มที่จะทำให้ปริมาณน้ำฝนในช่วงที่เหลือของปีต่ำกว่าค่าปกติ และมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้การขยายตัวของผลผลิตในภาคเกษตรในฤดูกาลเพาะปลูก 2562/2563 ขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์

ข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2562

1) เศรษฐกิจโลกในปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 3.6 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในปี 2561 และเป็นการปรับลดจากร้อยละ 3.8 ในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน ตามข้อมูลการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2562 ของหลายประเทศที่ต่ำกว่าการคาดการณ์และต่ำสุดในรอบหลายไตรมาส โดยเฉพาะเศรษฐกิจยูโรโซน เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่และเศรษฐกิจอาเซียน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีผลบังคับใช้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 การชะลอการตัดสินใจของผู้ผลิตและส่งออกเพื่อรอความชัดเจนในทิศทางมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน การลดลงของความต้องการนำเข้าในประเทศสำคัญ ๆ หลังการเร่งสะสมสินค้าคงคลังในช่วงก่อนหน้า ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร รวมทั้งผลกระทบเพิ่มเติมจากการเพิ่มขึ้นของการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าในเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจจีน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อปริมาณการค้าโลกและเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปีให้ชะลอตัวลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่มีการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ กับจีนและประเทศต่าง ๆ และมาตรการตอบโต้ที่อาจขยายขอบเขตเพิ่มเติมจากในปัจจุบัน คาดว่าจะทำให้ปริมาณการค้าโลกในปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 3.6 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 4.0 ในปี 2561 และเป็นการปรับลดจากร้อยละ 3.8 ในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน แม้กระนั้นก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกต่ำกว่าสมมติฐานประมาณการซึ่งจะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

2) ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2562 อยู่ในช่วง 31.1 - 32.1 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากเฉลี่ย 32.3 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในปี 2561 และแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจาก 31.5 - 32.5 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในสมมติฐานประมาณการครั้งก่อน ตามการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักจากการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติอย่างต่อเนื่องในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน เป็นการคงระดับการผ่อนคลายนโยบายการการเงินไว้ในระดับเดียวกันกับช่วงปลายปีที่ผ่านมาในการประมาณการครั้งนี้ และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในบางประเทศ เพื่อรองรับแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการลดลงของแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อท่ามกลางความเสี่ยงสำคัญ ๆ ของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง โดยในกรณีฐานคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมอย่างต่อเนื่องและยุติการปรับลดขนาดงบดุลธนาคารกลางในเดือนกันยายน และมีความเป็นไปได้ที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมหากเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังชะลอตัวมากกว่าการคาดการณ์และอัตราเงินเฟ้อยังไม่มีแนวโน้มกลับสู่เป้าหมายนโยบายการเงินอย่างชัดเจน ธนาคารกลางยุโรปที่มีแนวโน้มรักษานโยบายการเงินไว้ในระดับเดิมหลังจากการประกาศผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในการประชุมเดือนมีนาคม 2562 โดยส่งสัญญาณขยายระยะเวลาการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนถึงสิ้นปี 2562 รวมทั้งการประกาศดำเนินมาตรการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์รอบที่ 3 (TLTRO-III) ซึ่งจะเริ่มมีผลในเดือนกันยายน 2562 หลังจากมาตรการปล่อยสินเชื่อฯ รอบที่ 2 (TLTRO-II) สิ้นสุดลง และธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ยังมีแนวโน้มรักษาระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาพลวัตการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังเป็นไปอย่างช้า ๆ

3) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2562 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 62.0 - 72.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ต่ำกว่าราคาเฉลี่ย 69.3 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2561 เท่ากับสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน โดยราคาน้ำมันในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 63.3 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาเรล และในช่วงที่เหลือของปี ยังมีปัจจัยสนับสนุนให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม (1) แนวโน้มการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ออกไปจากกำหนดเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2562 (2) การลดลงของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของประเทศผู้ผลิตสำคัญ ได้แก่ ประเทศอิหร่าน (สัดส่วนร้อยละ 4.2 ของการผลิตในตลาดโลก) ภายหลังจากการสิ้นสุดลงของมาตรการผ่อนปรนการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านของสหรัฐฯ ให้แก่ 8 ประเทศ ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 และประเทศเวเนซุเอลา (สัดส่วนร้อยละ 1.7) เนื่องจากผลของการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ยังมีข้อจำกัดที่จะทำให้การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบเป็นไปอย่างช้า ๆ ประกอบด้วย (1) การเพิ่มขึ้นของปัจจัยเสี่ยงในประเทศสำคัญ ๆ ทำให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และ (2) ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้เร็วกว่าการคาดการณ์ของตลาด โดยส่วนหนึ่งเป็นผลเนื่องจากการลดลงของข้อจำกัดด้านท่อขนส่งน้ำมัน

4) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 - 1.5 ชะลอลงจากการเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.4 ในปี 2561 ในขณะที่ราคาสินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 - 2.0 ชะลอลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 ในปี 2561 เท่ากับสมมติฐานในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการคงสมมติฐานราคาน้ำมันดิบ โดยในไตรมาสแรกของปี ราคาส่งออกและราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 และร้อยละ 0.2 ตามลำดับ สอดคล้องกับสมมติฐานในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าราคาส่งออกและราคานำเข้าจะเริ่มปรับตัวลดลงในไตรมาสที่สอง ก่อนที่จะเร่งตัวขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี

5) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งปี 2.21 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2.03 ล้านล้านบาทในปี 2561 ร้อยละ 8.6 ซึ่งเป็นการปรับลดจากสมมติฐาน 2.24 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 9.4) ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยเป็นการปรับลดตามข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาสแรกของปี 2562 ที่เกิดขึ้นจริงจำนวน 10.8 ล้านคน ต่ำกว่า 11.1 ล้านคนในสมมติฐานเดิม ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) และความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและความตึงเครียดทางการค้าซึ่งส่งผลให้การขยายตัวของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางออกนอกประเทศชะลอลงและส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยในไตรมาสแรกปรับตัวลดลงร้อยละ 1.7 อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ตามการสิ้นสุดลงของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนมาเดินทางระยะใกล้มากขึ้น รวมทั้งการขยายระยะเวลามาตรการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa On Arrival) รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ดีของนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และมาเลเซีย สอดคล้องกับข้อมูลจำนวนผู้ที่เดินทางผ่าน 5 ท่าอากาศยานหลัก ในเดือนเมษายน 2562 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.1 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งแสดงถึงการเริ่มปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2562

6) การเบิกจ่ายงบประมาณ ประกอบด้วย (1) อัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ร้อยละ 90.9 ของวงเงินงบประมาณ (ปรับลดจากร้อยละ 92.0 ในสมมติฐานเดิม) เทียบกับอัตราเบิกจ่ายจริงร้อยละ 91.5 ในปีงบประมาณ 2561 แบ่งเป็น อัตราเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ ร้อยละ 98.0 (เท่ากับสมมติฐานเดิม) และอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน ร้อยละ 65.0 (ปรับลดจากร้อยละ 70.0 ในสมมติฐานเดิม ตามข้อมูลเบิกจ่ายในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2562 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 27.2 ต่ำกว่าสมมติฐานการเบิกจ่ายร้อยละ 30.0 และอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 33.5 ในครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2561) เทียบกับร้อยละ 96.1 และร้อยละ 70.5 ในปีงบประมาณ 2561 (2) อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 80.0 (เท่ากับสมมติฐานเดิม) (3) อัตราการเบิกจ่ายงบเหลื่อมปี ร้อยละ 75.0 (เท่ากับสมมติฐานเดิม) และ (4) การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม - ธันวาคม 2562) ร้อยละ 28.0 ของวงเงินงบประมาณ (ปรับลดจากร้อยละ 30.3 ในสมมติฐานเดิม) ตามการปรับลดอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 10 เนื่องจากคาดว่ากระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 จะแล้วเสร็จและประกาศใช้หลังสิ้นปีงบประมาณ 2562 ประมาณ 2 - 4 เดือน

ประมาณการเศรษฐกิจปี 2562

เศรษฐกิจไทยในปี 2562 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.3 - 3.8 (ค่ากลางการประมาณการร้อยละ 3.6) เทียบกับร้อยละ 4.1 ในปี 2561 อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 - 1.2 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 5.9 ของ GDP ในการแถลงข่าววันที่ 21 พฤษภาคม 2562 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 3.3 - 3.8 (ค่ากลางการประมาณการร้อยละ 3.6) ซึ่งเป็นการปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากร้อยละ 3.5 - 4.5 (ค่ากลางการประมาณการร้อยละ 4.0) ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 และเป็นการปรับช่วงการประมาณการให้แคบลง รวมทั้งปรับเปลี่ยนองค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับข้อมูลจริงในไตรมาสแรกและการปรับเปลี่ยนสมมติฐานประมาณการที่สำคัญ ๆ ดังนี้

1) ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 สศช. ประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไว้ที่ร้อยละ 3.3 - 3.8 (ค่ากลางของการประมาณการที่ร้อยละ 3.6) เป็นการปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากร้อยละ 3.5 - 4.5 (ค่ากลางการประมาณการร้อยละ 4.0) ในการแถลงข่าวครั้งก่อนเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 และเป็นการปรับช่วงการประมาณการให้แคบลง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 2.8 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้านับจากครึ่งหลังของปี 2561 ซึ่งถูกซ้ำเติมโดยความไม่แน่นอนในทิศทางของผลการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับจีนและทำให้ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ผู้ผลิต ในห่วงโซ่การค้าและการผลิตระหว่างประเทศชะลอการตัดสินใจในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อลดความเสี่ยงและรอผลการเจรจา รวมทั้งผลกระทบเพิ่มเติมจากการลดลงของความต้องการนำเข้าในประเทศเศรษฐกิจหลักหลังจากการเร่งนำเข้าในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ก่อนที่มาตรการกีดกันทางการค้าจะมีผลบังคับใช้ และปัญหาการขาดแคลนหน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์ ซึ่งส่งผลกระทบซ้ำเติมต่อภาวะการค้าและห่วงโซ่การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกให้มีความรุนแรงมากขึ้น เงื่อนไขดังกล่าวส่งผลให้การส่งออกของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคปรับตัวลดลง และการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมชะลอตัวลงอย่างเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกสูง และ (2) การฟื้นตัวที่ล่าช้ากว่าการคาดการณ์ของจำนวนนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนซึ่งกลับมาปรับตัวลดลงอีกครั้งร้อยละ 11.3 และร้อยละ 1.9 ในเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคม หลังจากการขยายตัวร้อยละ 10.3 ในเดือนมกราคม โดยคาดว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากข่าวสารความรุนแรงของปัญหามลภาวะทางอากาศ (PM 2.5) รวมทั้งความวิตกกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางออกนอกประเทศขยายตัวช้าลงและปรับเปลี่ยนจุดหมายการเดินทางเป็นการท่องเที่ยวระยะใกล้มากขึ้น เงื่อนไขดังกล่าวส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์ และทำให้ค่ากลางของช่วงประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปีลดลงจากร้อยละ 4.0 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

2) การปรับสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ซึ่งส่งผลให้แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมและองค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปจากการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ได้แก่ (1) การปรับลดสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2562 จากร้อยละ 3.8 ในการประมาณการครั้งก่อนเป็นร้อยละ 3.6 ในการประมาณการครั้งนี้ ซึ่งเป็นการปรับลดตามข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในไตรมาสแรกของปี 2562 ที่ชะลอตัวเป็นวงกว้างและขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์โดยเฉพาะเศรษฐกิจยูโรโซน เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่และเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าในเดือนพฤษภาคม การปรับสมมติฐานดังกล่าวทำให้แรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจปรับตัวลดลงต่ำกว่าการประมาณการที่ผ่านมา (2) การปรับลดสมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2562 จากจำนวน 41.0 ล้านคน (เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 7.1) และรายรับจากนักท่องเที่ยว 2.24 ล้านล้านบาท ในการประมาณการครั้งก่อน เป็น 40.5 ล้านคน (เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 5.8) และรายรับจากนักท่องเที่ยว 2.21 ล้านล้านบาท โดยเป็นการปรับลดตามข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาสแรกของปี 2562 ที่ชะลอตัวลงและฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ รวมทั้งแนวโน้มการชะลอตัวในการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงที่เหลือของปี และ (3) การปรับลดสมมติฐานอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ให้สอดคล้องกับข้อมูลอัตราการเบิกจ่ายในครึ่งแรกของปีงบประมาณซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 27.2 ต่ำกว่าอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 33.5 ในครึ่งแรกของปีงบประมาณที่ผ่านมา และเทียบกับสมมติฐานอัตราการเบิกจ่ายทั้งปีร้อยละ 70.0 ในสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา และการปรับลดสมมติฐานการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในไตรมาสแรก จากร้อยละ 20.0 เป็นร้อยละ 10.0 ซึ่งการปรับลดสมมติฐานการเบิกจ่ายดังกล่าวทำให้แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐต่ำกว่าสมมติฐานในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

องค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน และชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.6 ในปี 2561 ตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้นโดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทน แต่ยังเป็นการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การขยายตัวต่อเนื่องของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะฐานรายได้ในภาคการจ้างงานสอดคล้องกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจำนวนผู้มีงานทำติดต่อกันสี่ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2561 โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรร้อยละ 3.2 ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 35 ไตรมาส และส่งผลให้อัตราการว่างงานทรงตัวอยู่ในระดับต่ำร้อยละ 0.9 เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตราการว่างงานต่ำสุดในรอบ 13 ไตรมาส (2) อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ (3) ราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่อยู่ในเกณฑ์ดีหลายรายการท่ามกลางการขยายตัวของผลผลิตอย่างต่อเนื่อง (4) การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องหลังข้อจำกัดจากมาตรการรถยนต์คันแรกสิ้นสุดลง และ (5) การดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.2 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน และเร่งขึ้นจากร้อยละ 1.8 ในปี 2561

2) การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 ปรับลดจากประมาณการครั้งก่อน แต่เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในปี 2561 โดยคาดว่า การลงทุนภาครัฐ จะขยายตัวร้อยละ 4.5 ปรับลดจากร้อยละ 6.2 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการปรับลดสมมติฐานอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ให้สอดคล้องกับข้อมูลอัตราการเบิกจ่ายในครึ่งแรกของปีงบประมาณซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้ในสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา และการปรับลดสมมติฐานการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563 ประกอบกับการปรับลดกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง อย่างไรก็ดี คาดว่าการลงทุนภาครัฐจะเร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในปี 2561 ตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ของภาครัฐ และการเพิ่มขึ้นของกรอบงบลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.7 ในการประมาณการครั้งก่อน แต่เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในปี 2561 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความคืบหน้าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ อัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่อยู่ในเกณฑ์สูง การปรับตัวเพิ่มขึ้นของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2560 - 2561 และแนวโน้มการเปลี่ยนทิศทางการค้าการลงทุนที่คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้า

3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.2 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 7.2 ในปี 2561 และเป็นการปรับลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.1 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยเป็นผลจากการปรับลดปริมาณการส่งออกตามสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกจากร้อยละ 3.8 และร้อยละ 3.8 เป็นร้อยละ 3.6 และร้อยละ 3.6 ตามลำดับ โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เทียบกับร้อยละ 3.1 ในการประมาณการครั้งก่อน และเมื่อรวมกับการส่งออกบริการที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามรายรับและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ คาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 ในปี 2561

4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 14.3 ในปี 2561 และเป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 6.1 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากการปรับลดประมาณการการขยายตัวของการส่งออกและการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการนำเข้าลดลงจากประมาณการครั้งที่ผ่านมา และเมื่อรวมกับการนำเข้าบริการคาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 ในปี 2561

5) ดุลการค้า คาดว่าจะเกินดุลประมาณ 19.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากการเกินดุล 22.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2561 และลดลงเล็กน้อยจากการเกินดุล 20.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการปรับลดประมาณการการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกที่เร็วกว่าการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้า เมื่อรวมกับการปรับลดการเกินดุลบริการจากรายรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศคาดว่าจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 32.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือคิดเป็นร้อยละ 5.9 ของ GDP ลดลงจากร้อยละ 6.2 ของ GDP ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา และต่ำกว่าการเกินดุลร้อยละ 6.9 ในปี 2561

6) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2562 คาดว่าจะอยู่ในช่วง ร้อยละ 0.7 - 1.2 เทียบกับร้อยละ 1.1 ในปี 2561 โดยมีค่ากลางของช่วงการประมาณการที่ร้อยละ 1.0 เท่ากับการประมาณการครั้งที่ผ่านมา แต่ปรับช่วงประมาณการให้แคบลง

6. ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค

การชะลอตัวอย่างเป็นวงกว้างของเศรษฐกิจโลก และการเพิ่มขึ้นของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้าทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ และการขยายตัวในช่วงที่เหลือของปีมีข้อจำกัดจากแนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำของภาคการส่งออกและความล่าช้าในกระบวนการงบประมาณ แม้ว่าในกรณีฐานคาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรก โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวที่อยู่ในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ในประเทศทั้งในด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชน และการเบิกจ่ายจากโครงการลงทุนที่สำคัญของภาครัฐที่ได้รับการอนุมัติและอยู่ระหว่างการดำเนินการ รวมทั้งฐานการขยายตัวที่ต่ำลง และแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของเงื่อนไขด้านการส่งออกท่ามกลางการปรับตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของทิศทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศก็ตาม แต่ความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้การฟื้นตัวของการส่งออกมีความล่าช้ากว่าการคาดการณ์ และอาจส่งผลกระทบสืบเนื่องผ่านการจ้างงานและราคาสินค้าสำคัญ ๆ ทำให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนในครึ่งปีหลังชะลอตัวลงเร็วกว่าที่คาดไว้ ในขณะที่ความเชื่อมั่นของ นักลงทุนยังมีความเสี่ยงที่จะอ่อนไหวตามบรรยากาศทางการเมืองและทิศทางการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีจึงควรให้ความสำคัญกับ

1) การขับเคลื่อนการส่งออก ให้มูลค่าการส่งออกทั้งปีขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.0 เพื่อรักษาพลวัตการขยายตัวของภาคการผลิต และฐานรายได้และการใช้จ่ายของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งเพื่อสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนมีความต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญมากขึ้นกับการใช้ประโยชน์และลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะ (1) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าทั้งในตลาดสหรัฐฯ และตลาดจีน ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตทั้งในประเทศไทยและประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มการผลิตในประเทศไทย (2) การให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าผ่านความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะสินค้าที่ส่งออกไปยังตลาดจีนเพื่อทำการผลิตต่อและส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ให้สามารถปรับเปลี่ยนทิศทางการส่งออกไปยังตลาดอื่นได้เร็วขึ้น (3) การติดตามการเปลี่ยนแปลงของสินค้านำเข้าที่สำคัญ ๆ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าในสหรัฐฯ และจีน ซึ่งอาจเปลี่ยนทิศทางการส่งออกมายังประเทศไทยมากขึ้น (4) การปฏิบัติตามกรอบกติกาการค้าโลก และข้อกำหนดและแนวทางการปฏิบัติในประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะเงื่อนไขที่สำคัญ ๆ ในสหรัฐฯ ที่มีความเกี่ยวพันกับการให้สิทธิพิเศษทางการค้าและการกีดกันทางการค้า (5) การขยายความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกับประเทศในภูมิภาค และตลาดที่ไทยมีโอกาสใช้ประโยชน์จากการเบี่ยงเบนของทิศทางทางการค้าและลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าผ่านห่วงโซ่การผลิตไทย - จีน - สหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงประเทศที่มีแนวโน้มจะมีบทบาทในการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีต่อห่วงโซ่การผลิตอาเซียน - จีน - สหรัฐฯ และ (6) การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการส่งออกบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก

2) การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ให้สามารถกลับมาสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มศักยภาพต่อเนื่อง โดยมีรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ต่ำกว่า 2.21 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 8.6) โดยการให้ความสำคัญกับ (1) การใช้ประโยชน์จากแนวโน้มการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนมาเดินทางในระยะใกล้มากขึ้น โดยเฉพาะภายใต้การเพิ่มขึ้นของความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ (2) การให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวทั้งในด้านชีวิตและทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง (3) การฟื้นฟูภาพลักษณ์และแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศ (PM 2.5) ที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อภาคการท่องเที่ยวในระยะต่อไป (4) การส่งเสริมการขายในตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกลและกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูงในภูมิภาค รวมทั้งการขยายฐานนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (5) การอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวและการลดความแออัดของนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ๆ (6) การกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวลงสู่เมืองรองและชุมชน (7) การสร้างความเชื่อมโยงการท่องเที่ยวของไทยกับประเทศที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ในภูมิภาค และ (8) การรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวชาวไทยที่นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ กลับมาท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้นเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของการใช้จ่ายและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศในช่วงที่การส่งออกสินค้าเริ่มมีข้อจำกัดจากเงื่อนไขเศรษฐกิจโลกมากขึ้น

3) การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในช่วงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยให้ความสำคัญกับ (1) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปีงบประมาณ 2562 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70.0 และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80.0 (2) การเร่งรัดกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการเบิกจ่ายภายใต้โครงการที่มีการผูกพันข้ามปีงบประมาณ และการเบิกจ่ายจากงบเหลื่อมปีในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563 (3) การเตรียมความพร้อมให้กับแผนงาน โครงการที่สำคัญ ๆ ให้มีความพร้อมสำหรับการดำเนินการและการเบิกจ่ายได้ทันทีที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มีผลบังคับใช้ (4) การเร่งรัดดำเนินโครงการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติเพิ่มเติมและการเบิกจ่ายจากโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ (5) การชี้แจงทำความเข้าใจกับนักลงทุนเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและโครงการลงทุนที่สำคัญ ๆ หลังการจัดตั้งรัฐบาล และ (6) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการยกระดับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

4) การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย (1) การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม (2) การใช้ประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้า โดยการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตทั้งในประเทศไทยและในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มการใช้กำลังการผลิตในประเทศไทยมากขึ้น รวมทั้งการอำนวยความสะดวกและชักจูงนักลงทุนในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าและอยู่ในช่วงของการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น โดยใช้จุดเด่นด้านสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน ความพร้อมและความเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง และศักยภาพด้านพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับการลงทุน (3) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนของภาครัฐทั้งในด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจที่มีความสำคัญ ๆ อย่างต่อเนื่อง (4) การอำนวยความสะดวก ติดตามและขับเคลื่อนโครงการลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงปี 2560 - ไตรมาสแรกของปี 2562 ให้มีการลงทุนจริงโดยเร็ว และ (5) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงานให้เพียงพอต่อการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสในการขยายตัวจากการย้ายฐานการผลิตระหว่างประเทศ และอุตสาหกรรมสำคัญที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาประเทศ

5) การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยและการสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเศรษฐกิจฐานราก โดย (1) ด้านการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร ให้ความสำคัญกับ (i) การดูแลปัญหาราคาสินค้าบางรายการที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยเฉพาะราคายางพาราซึ่งการฟื้นตัว ยังมีข้อจำกัดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าที่ครอบคลุมสินค้ากลุ่มยานยนต์และผลิตภัณฑ์ยาง การฟื้นตัวของราคาปาล์มน้ำมันที่ยังมีข้อจำกัดจากสต็อกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง รวมทั้งแนวโน้มการปรับลดสัดส่วนเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มในสหภาพยุโรปและการเพิ่มภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มของอินเดีย และราคาอ้อยที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำตาลในตลาดโลก และราคากุ้งที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันในตลาดโลก (ii) การขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ควบคู่ไปกับการเพิ่มส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตให้แก่เกษตรกร (iii) การส่งเสริมการสร้างและจัดหาตลาด เพื่อเพิ่มช่องทางการระบายผลผลิตการเกษตรของเกษตรกรในแต่ละชุมชน (iv) การส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรรวมไปถึงการผลิตอาหารสดของเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าให้มากขึ้น และ (v) การบริหารจัดการด้านทรัพยากรน้ำที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชในฤดูแล้ง เพื่อลดความเสี่ยงจากปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก (2) ด้านการดูแลผู้มีรายได้น้อย เศรษฐกิจฐานราก และ SMEs โดยให้ความสำคัญกับ (i) การดำเนินการตามโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ (ii) การดูแลให้มาตรการสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระการชำระหนี้และข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย วิสาหกิจชุมชน และ SMEs มีวงเงินที่เพียงพอและต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรที่ราคาผลผลิตยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว และ (3) ด้านการให้ความช่วยเหลือและพัฒนา SMEs ที่ได้รับผลกระทบ จากการชะลอตัวของการส่งออก การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค โครงสร้างประชากร และความผันผวนของค่าเงิน

6) การรักษาความสงบเรียบร้อยและบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ รวมทั้งการดำเนินนโยบายที่มีความเหมาะสม มีความสมดุลระหว่างมาตรการบริหารวัฏจักรเศรษฐกิจในระยะสั้น กับมาตรการ การพัฒนาศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาว โดยคำนึงถึงสถานการณ์และเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อไม่ให้บรรยากาศทางการเมืองและการดำเนินนโยบายเป็นอุปสรรคต่อบรรยากาศและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ทั้งทางด้านการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศไทยมีโอกาสมากขึ้นในการใช้ประโยชน์จากแนวโน้ม การเบี่ยงเบนของทิศทางทางการค้า การผลิต และการลงทุนระหว่างประเทศในการสนับสนุนการลดผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการสร้างศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว

การส่งออก การท่องเที่ยว และอุปสงค์ในประเทศ: นัยยะเชิงนโยบายในช่วงที่เหลือของปี

การขยายตัวของการส่งออกสินค้าและบริการท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศทั้งในด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชน แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างการส่งออก การลงทุน และการบริโภคภาคครัวเรือนจะมีการเหลื่อมเวลาในการส่งผ่าน ซึ่งโดยปกติเมื่อการส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นจะทำให้สินค้าคงคลังปรับตัวลดลงจนถึงระดับหนึ่ง ก่อนที่การผลิตจะขยายตัวและเริ่มส่งผลให้รายได้ในภาคครัวเรือนและการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเริ่มปรับตัวดีขึ้น และเมื่อการผลิตเพิ่มขึ้นจนถึงระดับหนึ่งจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้มีการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต ซึ่งจะทำให้การจ้างงานและรายได้ครัวเรือนปรับตัวอย่างเด่นชัดมากขึ้น โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การส่งออกเริ่มปรับตัวดีขึ้นนับตั้งแต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 และเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในครึ่งแรกของปี 2561 ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวเร่งขึ้น อย่างต่อเนื่องนับจากไตรมาสแรกของปี 2561 และทำให้การลงทุนและการจ้างงานเริ่มกลับมาขยายตัวในครึ่งหลังของปี 2561 ซึ่งส่งผลให้การขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนมีความเด่นชัดมากขึ้นตามลำดับและต่อเนื่องมาจนถึงครึ่งหลังของปี 2561 อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของการส่งออกสินค้าและบริการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาชะลอตัวอีกครั้งนับจากครึ่งหลังของปี 2561 และในไตรมาสแรกของปี 2562 ซึ่งแม้ว่าการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในครึ่งหลังของปี 2561 และในไตรมาสแรกของปี 2562 ยังคงขยายตัวในเกณฑ์สูงและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง เนื่องจากการเหลื่อมเวลาของกลไกการส่งผ่านก็ตาม แต่ในกรณีที่รายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปีชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ก็จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงเร็วกว่าการคาดการณ์ ดังนั้น การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปีจึงต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับการขับเคลื่อนการส่งออกและการท่องเที่ยวเพื่อรักษาพลวัตการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ