สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขอแถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่สองของปี 2562 และแนวโน้มปี 2562 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2562 ขยายตัวจากไตรมาสแรกของปี 2562 ร้อยละ 0.6 (QoQ_SA) รวมครึ่งแรกของปี 2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.6
ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายของรัฐบาล ในขณะที่การส่งออกสินค้าปรับตัวลดลง การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 4.4 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการอยู่ในเกณฑ์ดี และการดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ สอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของเครื่องชี้ด้านการใช้จ่ายสำคัญ ๆ โดยเฉพาะดัชนีปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือน ดัชนีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล และดัชนีปริมาณค้าปลีกสินค้ากึ่งคงทน ซึ่งขยายตัวร้อยละ 17.2 ร้อยละ 4.7 และร้อยละ 3.5 ตามลำดับ ในขณะที่ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ และยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ขยายตัวร้อยละ 5.4 และร้อยละ 1.7 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 10.6 และร้อยละ 12.3 ในไตรมาสแรก ตามลำดับ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 64.8 เทียบกับระดับ 68.1 ในไตรมาสก่อนหน้า การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 1.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายรวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 19.7 (ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 22.8 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) การลงทุนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.2 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 และการลงทุนในสิ่งก่อสร้างที่ขยายตัวร้อยละ 0.9 ส่วนการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 โดยการลงทุนของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 5.9 ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจลดลงร้อยละ 5.0 สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 14.4 เทียบกับอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 15.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 17.0 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ในด้านภาคต่างประเทศ การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 60,553 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 4.2 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 4.0 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของการส่งออกและการชะลอตัวเป็นวงกว้างของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และการเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้า โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 4.4 ในขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ 1.0) เครื่องปรับอากาศ (ร้อยละ 10.6) และผลไม้ (ร้อยละ 39.0) เป็นต้น กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น ข้าว (ลดลงร้อยละ 23.9) มันสำปะหลัง (ลดลงร้อยละ 8.5) ยางพารา (ลดลงร้อยละ 11.8) รถยนต์นั่ง (ลดลงร้อยละ 12.9) ปิโตรเคมี (ลดลงร้อยละ 10.2) และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 14.2) เป็นต้น การส่งออกสินค้าไปยังตลาดจีน ญี่ปุ่น อาเซียน (9) สหภาพยุโรป (15) ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง (15) ลดลง ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่อง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 5.8 เมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงร้อยละ 5.3 การนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 54,844 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 3.4 (ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สอง) เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของมูลค่าการส่งออกและการชะลอตัวลงอย่างช้า ๆ ของอุปสงค์ในประเทศ โดยปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 3.3 ส่วนราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.1
ด้านการผลิต การผลิตสาขาเกษตรกรรม และสาขาอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง ในขณะที่การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การผลิตสาขาก่อสร้าง และสาขาไฟฟ้า ก๊าซฯ ขยายตัวเร่งขึ้น และสาขาการขายส่ง ขายปลีก ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง ลดลงร้อยละ 1.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของผลผลิตพืชเกษตรสำคัญ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพอากาศที่แห้งแล้งและฝนทิ้งช่วง ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 9 ไตรมาส ส่งผลให้รายได้เกษตรกรปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สอง ผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ลดลง เช่น ข้าวเปลือก (ลดลงร้อยละ 15.3) และอ้อย (ลดลงร้อยละ 65.3) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผลผลิตสำคัญอื่น ๆ ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ในขณะที่ผลผลิตหมวดปศุสัตว์และหมวดประมงกลับมาขยายตัว ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของราคาสุกร (ร้อยละ 26.1) ราคายางพารา (ร้อยละ 9.5) และราคากลุ่มไม้ผล (ร้อยละ 9.3) การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 สาขาการผลิตอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.6 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและมาตรการกีดกันทางการค้า โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ลดลงร้อยละ 7.5 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 – 60 ลดลงร้อยละ 4.3 ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 65.58 ลดลงจากร้อยละ 68.16 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ลดลง เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์ยาง (ลดลงร้อยละ 16.9) การผลิตน้ำตาล (ลดลงร้อยละ 24.8) และการผลิตเครื่องประดับเพชรพลอยแท้ (ลดลงร้อยละ 34.3) เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ (ร้อยละ 13.9) และการผลิตน้ำมันปาล์ม (ร้อยละ 23.7) เป็นต้น สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัวร้อยละ 3.7 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศและรายได้ที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ และการชะลอตัวอย่างช้า ๆ ของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 8.97 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อน เมื่อรวมกับการขยายตัวต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวชาวไทย ส่งผลให้ในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 708.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เท่ากับการขยายตัวในไตรมาสก่อนหน้า ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 448.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 โดยรายรับจากนักท่องเที่ยวจากประเทศสำคัญที่ยังขยายตัวสูง ประกอบด้วย อินเดีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ในขณะที่รายรับจากนักท่องเที่ยวจีนและรัสเซียลดลง (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 259.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.9 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 69.83 ลดลงจากร้อยละ 70.37 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า ขยายตัวร้อยละ 2.5 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของบริการการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการปรับตัวลดลงของการผลิตสาขาอุตสาหกรรม โดยบริการขนส่งทางน้ำลดลงร้อยละ 1.9 ในขณะที่บริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียง และบริการขนส่งทางอากาศขยายตัวร้อยละ 3.9 และร้อยละ 1.5 ตามลำดับ นอกจากนี้ บริการสนับสนุนการขนส่ง และบริการไปรษณีย์และการรับส่งเอกสารขยายตัวร้อยละ 4.4 และร้อยละ 2.7 ตามลำดับ สอดคล้องกับรายรับของผู้ประกอบการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.1 บัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (154.2 พันล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 3.7 ของ GDP เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 อยู่ที่ 251.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 มีมูลค่าทั้งสิ้น 6,883.2 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40.5 ของ GDP
เศรษฐกิจไทยปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.7 - 3.2 โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญ ประกอบด้วย (1) แนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ภายในประเทศที่จะยังมีความต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งในด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนภาคเอกชน (2) แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง ตามการปรับตัวของภาคการผลิตและส่งออกต่อมาตรการกีดกันทางการค้าที่คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น (3) การดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ และ (4) ฐานการขยายตัวที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะลดลงร้อยละ 1.2 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.2 และร้อยละ 3.8 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 – 1.2 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 5.9 ของ GDP
รายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2562 ในด้านต่าง ๆ มีดังนี้
1. การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 4.6 ในปี 2561 โดยในครึ่งปีแรกการใช้จ่ายบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 4.6 และในครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง ตามอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการที่อยู่ในเกณฑ์ดี และปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินซึ่งส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่หลายแห่งเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง รวมทั้งการดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ และการเปิดตัวของรถยนต์นั่งขนาดกลางรุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.2 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน และเร่งขึ้นจากร้อยละ 1.8 ในปี 2561 สอดคล้องกับอัตราเบิกจ่ายงบประจำในรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ในช่วง 9 เดือนแรกอยู่ที่ร้อยละ 80.0 สูงกว่าอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 75.4 ในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2561
2. การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.8 เทียบกับร้อยละ 4.5 ในการประมาณการครั้งก่อนและเท่ากับการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในปี 2561 โดยคาดว่า การลงทุนภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่ำกว่าการขยายตัวร้อยละ 4.5 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ตามการปรับลดสมมติฐานอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 และสมมติฐานการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับข้อมูลการเบิกจ่ายในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 อย่างไรก็ดี คาดว่าการลงทุนภาครัฐในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ตามการเบิกจ่ายภายใต้โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ของภาครัฐ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.7 ต่ำกว่าการขยายตัวร้อยละ 4.5 ในการประมาณการครั้งก่อน และชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในปี 2561 สอดคล้องกับแนวโน้มการปรับตัวลดลงของการอัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนเพื่อการขยายกำลังการผลิต อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนในครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนภายใต้โครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน (Public Private Partnership: PPP) และ (2) การขยายตัวของโครงการลงทุนใหม่ที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีสะท้อนจากการขยายตัวของภาคก่อสร้างในหมวดการก่อสร้างโรงงานในไตรมาสที่สองร้อยละ 9.0 สอดคล้องกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนร้อยละ 42.4 ในปี 2561 และร้อยละ 32.7 ในไตรมาสที่สองของปี 2562 โดยเฉพาะมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 137.4 และร้อยละ 74.3 ตามลำดับ
3. มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะลดลงร้อยละ 1.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.5 ในปี 2561 ต่ำกว่าการขยายตัวร้อยละ 2.2 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยเป็นผลจากการปรับลดปริมาณการส่งออกสินค้าลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.0 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมาเป็นการลดลงร้อยละ 1.7 ตามการปรับลดสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกซึ่งสอดคล้องกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและการเพิ่มขึ้นของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการปรับลดสมมติฐานราคาส่งออกจากช่วงร้อยละ 0.5 – 1.5 ในการประมาณการครั้งก่อน เป็นร้อยละ 0.0 – 1.0 สอดคล้องกับการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบ และเมื่อรวมกับการปรับลดการขยายตัวของการส่งออกบริการตามการปรับลดสมมติฐานจำนวนและรายรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ คาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการลดลงร้อยละ 0.7 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 ในปี 2561 และการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในการประมาณการครั้งก่อน
การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2562 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การขับเคลื่อนการส่งออกในครึ่งปีหลังให้สามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.0 โดยให้ความสำคัญกับ (i) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า (ii) การใช้โอกาสจากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดในสุกร และการยกเลิกการผ่อนผันนำเข้าสินค้าเกษตรภายใต้มาตรการกีดกันทางการค้าของจีน (iii) การให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบผ่านความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตให้ส่งออกไปยังตลาดอื่นได้เร็วขึ้น (iv) การติดตามการเปลี่ยนแปลงของสินค้านำเข้าสำคัญ ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งอาจเปลี่ยนทิศทางมาส่งออกผ่านไทยมากขึ้น (v) การปฏิบัติตามข้อกำหนดและแนวทางการปฏิบัติในประเทศคู่ค้า ที่มีความเกี่ยวพันกับการให้สิทธิพิเศษทางการค้าและกีดกันทางการค้า (vi) การขยายความร่วมมือทางการค้า โดยเฉพาะกับประเทศที่มีแนวโน้มที่จะมีบทบาทในการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศมากขึ้น (vii) การอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก (2) การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับการเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูงในประเทศจีน การจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว การส่งเสริมการขายในตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกลและรายได้สูง และการรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวชาวไทยท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น (3) การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับ (i) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนประจำปีงบประมาณ 2562 ให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60.0 (ii) การเบิกจ่ายจากงบเหลื่อมปี ให้มีอัตราเบิกจ่ายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 73.0 (iii) การเร่งรัดกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 และ (iv) การเร่งรัดดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (4) การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย (i) การขับเคลื่อนการส่งออกเพื่อเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม (ii) การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มการใช้กำลังการผลิตในประเทศไทย รวมทั้งชักจูงนักลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าให้ย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทย (iii) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนที่สำคัญของภาครัฐ (iv) การผลักดันโครงการลงทุนที่ขอรับและได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้มีการลงทุนจริงโดยเร็ว และ (v) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงาน (5) การดูแลเกษตรกร กำลังแรงงาน ผู้มีรายได้น้อย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเศรษฐกิจฐานราก และ (6) การรักษาความสงบเรียบร้อยและบรรยากาศทางการเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
19 สิงหาคม 2562
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ