ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม และแนวโน้มปี 2562 - 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 18, 2019 11:03 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

กองยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค

แถลงข่าว วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 เวลา 09.30 น.

  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า (%YoY) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2562 ขยายตัวจากไตรมาสที่สองของปี 2562 ร้อยละ 0.1 (%QoQ_SA) รวม 9 เดือนแรกของปี 2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.5
  • ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน และ การขยายตัวเร่งขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ และการใช้จ่ายของรัฐบาล ในขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าลดลง ด้านการผลิต การผลิตสาขาเกษตรกรรมกลับมาขยายตัว การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัวเร่งขึ้น การผลิตสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่การผลิตสาขาการขายส่งและการขายปลีกฯ สาขาก่อสร้าง และสาขาไฟฟ้า ก๊าซฯ ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนสาขาอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
  • แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.6 โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะลดลงร้อยละ 2.0 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.3 และร้อยละ 2.7 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยร้อยละ 0.8 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 6.2 ของ GDP
  • แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.7 - 3.7 โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญ ประกอบด้วย (1) แนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งในด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนภาครัฐและเอกชน (2) การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกภายใต้แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจโลก และการปรับตัวของภาคการส่งออกต่อมาตรการกีดกันทางการค้า (3) การดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ และ (4) การปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 2.3 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.7 และร้อยละ 4.8 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 - 1.5 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 5.6 ของ GDP
  • ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2562 และปี 2563 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การขับเคลื่อนการส่งออกให้มูลค่าการส่งออกกลับมาขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.0 โดยให้ความสำคัญกับ (i) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกัน ทางการค้า (ii) การให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบผ่านความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิต (iii) การปฏิบัติตามกรอบกติกาการค้าโลก ข้อกำหนด และแนวทางปฏิบัติในประเทศคู่ค้า และ (iv) การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า โดยเฉพาะกับประเทศที่มีโอกาสใช้ประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทิศทางทางการค้า (2) การขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้สามารถขยายตัวและสนับสนุนเศรษฐกิจในภาพรวมได้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูง การกระจายตลาดนักท่องเที่ยวให้มีความสมดุลมากขึ้น การรักษาความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว การอำนวยความสะดวกและลดปัญหาความแออัดของนักท่องเที่ยว และการรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวชาวไทยท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น (3) การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับ (i) การเตรียมโครงการให้มีความพร้อมต่อการเบิกจ่าย เมื่องบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มีผลบังคับใช้ (ii) การเร่งรัดอัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีในปีงบประมาณ 2563 ให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 92.3 โดยงบประจำ และงบลงทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 98.0 และร้อยละ 70.0 ตามลำดับ งบเหลื่อมปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 73.0 และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80.0 (iii) การเร่งรัดดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการเบิกจ่ายจากโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และ (iv) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการยกระดับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (4) การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย (i) การขับเคลื่อนการส่งออก (ii) การผลักดันโครงการลงทุนที่ขอรับและได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้มีการลงทุนจริงโดยเร็ว (iii) การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มการใช้กำลังการผลิตและย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทย (iv) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนของภาครัฐ และ (v) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงาน และ (5) การดูแลเกษตรกร กำลังแรงงาน ผู้มีรายได้น้อย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเศรษฐกิจฐานราก
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2562 และแนวโน้มปี 2562 - 2563

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน และการขยายตัวเร่งขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ และการใช้จ่ายของรัฐบาล ในขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าลดลง ด้านการผลิต การผลิตสาขาเกษตรกรรมกลับมาขยายตัว การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัวเร่งขึ้น การผลิตสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่การผลิตสาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมฯ สาขาก่อสร้าง และสาขาไฟฟ้า ก๊าซฯ ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนสาขาอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2562 ขยายตัวจากไตรมาสที่สองของปี 2562 ร้อยละ 0.1 (QoQ_SA) รวม 9 เดือนแรกของปี 2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.5

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2562

1)การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 4.2 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 4.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และการดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ การขยายตัวของการใช้จ่าย ภาคครัวเรือนในไตรมาสนี้ สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของเครื่องชี้ด้านการใช้จ่ายสำคัญ ๆ โดยเฉพาะดัชนีปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือน ดัชนีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล และดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งขยายตัวร้อยละ 8.3 ร้อยละ 4.7 และร้อยละ 5.0 ตามลำดับ ในขณะที่ยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลปรับตัวลดลงร้อยละ 6.5 ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 60.8 เทียบกับระดับ 64.8 ในไตรมาสก่อนหน้า การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 1.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายรวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 21.0 (สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 20.5 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)

รวม 9 เดือนแรกของปี 2562 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.5 และการใช้จ่ายของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 2.1

2) การลงทุนรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.4 เร่งขึ้นจาก การขยายตัวร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 ในขณะที่การลงทุนในสิ่งก่อสร้างทรงตัว ส่วนการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 เร่งขึ้นจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 5.6 ขณะที่ การลงทุนของรัฐวิสาหกิจลดลงร้อยละ 0.8 สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 21.6 เทียบกับอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 16.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 19.9 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

รวม 9 เดือนแรกของปี 2562 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.6 โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 1.7 และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.0

3) การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 63,295 ล้านดอลลาร์ สรอ. ทรงตัว เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 0.4 ในขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น น้ำตาล (ร้อยละ 5.1) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ 0.3) รถกระบะและรถบรรทุก (ร้อยละ 0.5) รถจักรยานยนต์ (ร้อยละ 19.5) เครื่องปรับอากาศ (ร้อยละ 4.0) และผลไม้ (ร้อยละ 41.4) เป็นต้น กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น ข้าว (ลดลงร้อยละ 35.1) มันสำปะหลัง (ลดลงร้อยละ 27.3) ยางพารา (ลดลงร้อยละ 3.9) แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน (ลดลงร้อยละ 8.4) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ลดลงร้อยละ 7.2) ผลิตภัณฑ์ยาง (ลดลงร้อยละ 14.2) รถยนต์นั่ง (ลดลงร้อยละ 4.4) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ลดลงร้อยละ 10.6) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 29.3) และเคมีภัณฑ์ (ลดลงร้อยละ 18.8) เป็นต้น การส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง (15) ขยายตัว ขณะที่การส่งออกไปยังอาเซียน (9) และสหภาพยุโรป (15) ปรับตัวลดลง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 4.8 เมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออก สินค้าลดลงร้อยละ 6.9

รวม 9 เดือนแรกของปี 2562 การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 183,700 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 2.7 โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 3.0 ในขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกมีมูลค่า 5,748 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.3

4) สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง ขยายตัวร้อยละ 1.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรร้อยละ 1.1 โดยผลผลิตเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา (ร้อยละ 5.9) มันสำปะหลัง (ร้อยละ 6.9) และปาล์มน้ำมัน (ร้อยละ 10.8) เป็นต้น ส่วนผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ลดลง เช่น ข้าวเปลือก (ลดลงร้อยละ 6.3) และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ลดลงร้อยละ 5.2) เป็นต้น ด้านหมวดประมงขยายตัวร้อยละ 5.1 ในขณะที่หมวดปศุสัตว์ลดลงร้อยละ 1.0 ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของราคาข้าวเปลือก (ร้อยละ 9.9) ราคาสุกร (ร้อยละ 15.9) และราคากลุ่มไม้ผล (ร้อยละ 5.7) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการปรับตัวลดลง เช่น ราคามันสำปะหลัง (ลดลงร้อยละ 31.1) และราคาปาล์มน้ำมัน (ลดลงร้อยละ 22.2) เป็นต้น การเพิ่มขึ้นของทั้งดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและดัชนีราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5

รวม 9 เดือนแรกของปี 2562 การผลิตสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 0.1 ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 และดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0

5) สาขาการผลิตอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.5 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 0.2 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและมาตรการกีดกันทางการค้า โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วง ร้อยละ 30 - 60 และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ลดลงร้อยละ 5.9 และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ลดลงร้อยละ 2.3 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 65.0 ลดลงจากร้อยละ 65.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 68.7 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ลดลงเช่น การผลิตยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 6.3) การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 7.4) และการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ (ลดลงร้อยละ 18.2) เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น การต้ม การกลั่น และการผสมสุรา (ร้อยละ 36.1) การผลิตพลาสติกและยาง (ร้อยละ 3.8) และการผลิตสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำสดแช่เย็นหรือแช่แข็ง (ร้อยละ 10.3) เป็นต้น

รวม 9 เดือนแรกของปี 2562 การผลิตสาขาการผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.3 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 2.6 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 67.3

6) สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัวร้อยละ 6.6 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวในเกณฑ์สูงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 9.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อรวมกับการลดลงของนักท่องเที่ยวชาวไทย ส่งผลให้ในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 738.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 476.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 โดยรายรับจากนักท่องเที่ยวจากประเทศสำคัญที่ยังขยายตัวสูง ประกอบด้วย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน เป็นต้น และ (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 261.8 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.0 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 64.1 ลดลงจากร้อยละ 69.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และลดลงจากร้อยละ 65.4 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

รวม 9 เดือนแรกของปี 2562 การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 1,429.3 พันล้านบาท และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 71.2

7) สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ขยายตัวร้อยละ 2.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของบริการขนส่งผู้โดยสาร เป็นสำคัญ โดยบริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียงขยายตัวร้อยละ 4.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และบริการขนส่งทางอากาศขยายตัวร้อยละ 2.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่บริการขนส่งทางน้ำลดลงร้อยละ 3.0 ส่วนบริการสนับสนุนการขนส่งและบริการไปรษณีย์ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 3.9 และร้อยละ 1.6 ตามลำดับ

รวม 9 เดือนแรกของปี 2562 การผลิตสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 โดยบริการขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 บริการสนับสนุนการขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 และบริการไปรษณีย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2562 - 2563

สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 2.6 โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะลดลงร้อยละ 2.0 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.3 และร้อยละ 2.7 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.8 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 6.2 ของ GDP แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.7 - 3.7 โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญ ประกอบด้วย (1) แนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ ที่น่าพอใจของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งในด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐ (2) การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกภายใต้แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้น ของเศรษฐกิจโลก และการปรับตัวของภาคการส่งออกต่อมาตรการกีดกันทางการค้า (3) การดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ และ (4) การปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 2.3 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.7 และร้อยละ 4.8 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 - 1.5 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 5.6 ของ GDP

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สามของปี 2562 และแนวโน้มปี 2562 - 2563

ด้านการใช้จ่าย

การบริโภคภาคเอกชน: ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาล ในไตรมาสที่สามของปี 2562 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.2 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 4.6 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของเครื่องชี้ด้านการใช้จ่ายสำคัญ ๆ โดยเฉพาะดัชนีปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือน ดัชนีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล และดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งขยายตัวร้อยละ 8.3 ร้อยละ 4.7 และร้อยละ 5.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 15.6 ร้อยละ 5.2 และร้อยละ 4.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ในขณะที่ยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.5 และร้อยละ 9.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.7 และร้อยละ 5.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ การขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในไตรมาสนี้มีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ อัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และการดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติมของภาครัฐ สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 60.8 เทียบกับระดับ 64.8 ในไตรมาสก่อนหน้า

การลงทุนภาคเอกชน: ขยายตัวเร่งขึ้นอย่างช้า ๆ ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างทรงตัว ในไตรมาสที่สามของปี 2562 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 3.1 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างทรงตัวที่ร้อยละ 0.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศและพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลร้อยละ 3.8 และร้อยละ 6.8 ตามลำดับ สำหรับมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสนี้มีมูลค่า 81.5 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 11.4 ในขณะที่มูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) มีมูลค่า 49.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.1 ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 48.5 เทียบกับระดับ 49.6 ในไตรมาสก่อนหน้า

การส่งออก: มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ทรงตัวตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า รวมทั้งการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก การส่งออกสินค้าในไตรมาสที่สามของปี 2562 มีมูลค่า 63,295 ล้านดอลลาร์ สรอ. ทรงตัวที่ร้อยละ 0.0 เทียบกับ การลดลงร้อยละ 4.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 0.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ผลของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และภาวะการค้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกที่ยังคงชะลอลงต่อเนื่อง โดยปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตร สินค้าประมง และสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงร้อยละ 14.1 ร้อยละ 5.9 และร้อยละ 4.7 ตามลำดับ ส่วนราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ใกล้เคียงกับการขยายตัวร้อยละ 0.2 ใน ไตรมาสก่อนหน้า โดยราคาสินค้าเกษตร และสินค้าประมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 และร้อยละ 3.2 ตามลำดับ ในขณะที่ราคาสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงร้อยละ 0.2 ซึ่งสอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของราคาส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น ราคาน้ำมันสำเร็จรูป (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.8) ลดลงร้อยละ 7.8 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า และราคาเม็ดพลาสติก (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.6) ลดลงร้อยละ 6.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.9 ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 4.8 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 5.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 1,944 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.9 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 5.3 ในไตรมาสก่อนหน้า

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 8.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 14.1 ตามการลดลงของปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ในขณะที่ราคาส่งออกขยายตัวร้อยละ 6.1 โดยราคาส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และน้ำตาล เพิ่มขึ้น การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ ประกอบด้วย ข้าว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 35.1 ตามการลดลงของมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศเบนิน จีน และอังโกลา เป็นสำคัญ ประกอบกับสต็อกข้าวของจีนอยู่ในระดับสูงและมีการส่งออกเพื่อระบายสต็อก รวมทั้งผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ข้าวไทยมีราคาสูงกว่าคู่แข่ง โดยปริมาณการส่งออกข้าวลดลงร้อยละ 44.5 ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 มันสำปะหลัง มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 27.3 โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 24.0 เนื่องจากปริมาณผลผลิตมีไม่เพียงพอต่อความต้องการส่งออก จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 สอดคล้องกับความต้องการจากประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยางพารา มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 3.9 ตามการลดลงของการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะจีน เกาหลีใต้ และมาเลเซีย โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 12.3 เนื่องจากอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าหลักปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ประกอบกับสต็อกยางในประเทศคู่ค้ายังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 น้ำตาล มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ตามการเพิ่มขึ้นของการส่งออกไปยังจีน มาเลเซีย และลาว โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เนื่องจากการปรับตัวลดลงของปริมาณผลผลิตและสต็อกน้ำตาลในตลาดโลก และราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 4.9 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 5.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ผลกระทบจากมาตรการกีดกัน ทางการค้า การชะลอตัวต่อเนื่องของภาวะการค้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบ ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 4.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.2 ในไตรมาสก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 29.3 ร้อยละ 9.2 และร้อยละ 18.8 ตามลำดับ สำหรับสินค้าอื่น ๆ ที่ปรับตัวลดลง ประกอบด้วย แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน (ลดลงร้อยละ 8.4) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ลดลงร้อยละ 7.2) ผลิตภัณฑ์ยาง (ลดลงร้อยละ 14.2) รถยนต์นั่ง (ลดลงร้อยละ 4.4) และชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ลดลงร้อยละ 10.6) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ รถกระบะและรถบรรทุก และรถจักรยานยนต์ ขยายตัวร้อยละ 0.3 ร้อยละ 0.5 และร้อยละ 19.5 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงลดลงร้อยละ 2.9 โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 5.9 ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ ปลา (ลดลงร้อยละ 9.1) และปลาหมึก (ลดลงร้อยละ 6.4) สินค้าส่งออกอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 317.3 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปร้อยละ 348.2

ตลาดส่งออก: การส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง (15) ขยายตัว ขณะที่การส่งออกไปยังอาเซียน (9) และสหภาพยุโรป (15) ปรับตัวลดลง การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 7.7 ส่วนหนึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการเบี่ยงเบนของทิศทางทางการค้าที่เกิดจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีน การส่งออกไปยังตลาดจีนกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ร้อยละ 2.8 เทียบกับการลดลงร้อยละ 9.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของการส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นสำคัญ เช่นเดียวกับการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 2.9 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังตลาดอาเซียน (9) ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.9 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 5.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน (5) ที่ลดลงร้อยละ 12.1 และกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ลดลง ร้อยละ 16.2 ส่วนการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป (15) ลดลงร้อยละ 5.6 ตามการลดลงของการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอดเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกเครื่องปรับอากาศยังคงขยายตัวต่อเนื่อง การส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลียขยายตัวร้อยละ 14.0 ตามการเพิ่มขึ้นของการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปเป็นสำคัญ ทั้งนี้ หากหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลียปรับตัวลดลงร้อยละ 12.8 ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลาง (15) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 5.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และอัญมณีและเครื่องประดับ

มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของความต้องการส่งออก ในไตรมาสที่สามของปี 2562 การนำเข้ามีมูลค่า 55,333 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 6.8 (ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สาม) เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 6.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงของปริมาณการนำเข้าในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางร้อยละ 3.8 สอดคล้องกับการลดลงของความต้องการส่งออก ขณะที่ราคานำเข้าปรับตัวลดลงร้อยละ 0.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อหักการนำเข้าทองคำออกแล้ว มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 2.6 ทั้งนี้ หากไม่รวมการนำเข้าทองคำและน้ำมันดิบ มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 0.4 ในรูปของเงินบาท การนำเข้าสินค้ามีมูลค่ารวม 1,700 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 13.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้าในรายหมวด มูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางและสินค้านำเข้าอื่น ๆ ปรับตัวลดลง ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้น มูลค่าการนำเข้าหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางลดลงร้อยละ 7.0 โดยปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 3.8 สอดคล้องกับการลดลงของความต้องการส่งออก และการผลิตภาคอุตสาหกรรม ส่วนราคานำเข้าลดลงร้อยละ 3.3 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง ได้แก่ น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน และวัสดุที่ทำด้วยโลหะ เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของปริมาณและราคานำเข้าร้อยละ 2.3 และร้อยละ 1.7 ตามลำดับ เนื่องจากการนำเข้าสินค้าในกลุ่มอากาศยาน เรือ แท่น และรถไฟขยายตัวร้อยละ 89.4 ขณะที่การนำเข้าในหมวดเครื่องจักร อุปกรณ์ และเครื่องใช้ประกอบปรับตัวลดลงร้อยละ 0.2 สินค้าที่มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ คอมพิวเตอร์ เครื่องชั่ง ตวง วัด และเครื่องจักรกลอื่น ๆ และชิ้นส่วน มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 8.9 โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 ส่วนราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์นม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และสิ่งทอ เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 29.3 ตามการลดลงของการนำเข้าทองคำ (ไม่รวมทองรูปพรรณ) ซึ่งลดลงร้อยละ 56.6

อัตราการค้า (Term of Trade) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าเนื่องจากราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ขณะที่ราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.2 ส่งผลให้อัตราการค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 107.7 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นระดับ 108.3 ในไตรมาสที่สามของปี 2562

ดุลการค้าเกินดุล ในไตรมาสที่สามของปี 2562 ดุลการค้าเกินดุล 7.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (244.5 พันล้านบาท) สูงกว่าการเกินดุล 5.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (178.6 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า และการเกินดุล 3.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (129.4 พันล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ด้านการผลิต

สาขาเกษตรกรรม: กลับมาขยายตัวหลังจากได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพอากาศที่แห้งแล้งและฝนทิ้งช่วงในไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสที่สามของปี 2562 การผลิตสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมงขยายตัวร้อยละ 1.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 2.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยผลผลิตพืชผลเกษตรสำคัญ ๆ ที่ขยายตัว เช่น (1) ยางพารา เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 เนื่องจากต้นยางพาราที่ปลูกทดแทนพืชชนิดอื่นตั้งแต่ปี 2556 อยู่ในช่วงอายุการให้ผลผลิตสูง (2) มันสำปะหลัง เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 ตามการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เพาะปลูก เนื่องจากเกษตรกรได้รับแรงจูงใจด้านราคาในปีก่อนที่อยู่ในเกณฑ์ดี (3) ปาล์มน้ำมัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันและต้นปาล์มน้ำมันส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง รวมทั้งสภาพอากาศในไตรมาสนี้เอื้ออำนวยต่อต้นปาล์มน้ำมัน และปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูก และ (4) กลุ่มไม้ผล เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 เนื่องจากผลผลิตต่อไร่ของไม้ผลบางรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ส้มเขียวหวาน ทุเรียน และมังคุด เป็นต้น ในขณะที่ผลผลิตพืชผลเกษตรสำคัญๆ ที่ปรับตัวลดลง เช่น (1) ข้าวเปลือก ลดลงร้อยละ 6.3 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากปัญหาฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำที่อยู่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และผลกระทบจากอุทกภัยในบางพื้นที่ และ (2) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลดลงร้อยละ 5.2 เนื่องจากการระบาดของศัตรูพืช โดยเฉพาะหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดและภาวะฝนทิ้งช่วง รวมไปถึงบางพื้นที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย เป็นต้น ด้านผลผลิตหมวดประมงขยายตัวร้อยละ 5.1 โดยเฉพาะผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 เนื่องจากเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มกุ้งที่ดีและระบบการเลี้ยงกุ้งที่เหมาะสมกับพื้นที่ อีกทั้งภาครัฐยังมีการสนับสนุนและส่งเสริมการขยายตลาดซื้อขายกุ้งภายในประเทศ ในขณะที่ผลผลิตหมวดปศุสัตว์ลดลงร้อยละ 1.0 โดยเฉพาะผลผลิตสุกรลดลงร้อยละ 7.2 เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลผลิตไข่ไก่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยส่งผลให้แม่ไก่ออกไข่ได้ดี ด้านดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 และเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สอง ตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ เช่น (1) ข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ในขณะที่ความต้องการข้าวเปลือกของตลาดยังมีอย่างต่อเนื่อง (2) สุกร เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดลดลง ในขณะที่ความต้องการบริโภคภายในประเทศสูง ประกอบกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาเนื้อสุกรในตลาดโลกที่ได้รับผลกระทบจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยเฉพาะประเทศจีน เวียดนาม กัมพูชา และลาว เป็นต้น (3) กลุ่มไม้ผล เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 เนื่องจากปริมาณผลผลิตไม้ผลบางรายการ ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เช่น สับปะรด และทุเรียน เป็นต้น (4) ไก่เนื้อ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 เนื่องจากปริมาณผลผลิตเนื้อไก่ไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความต้องการบริโภคจากต่างประเทศโดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศจีน (5) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 เนื่องจากผลผลิตมีปริมาณลดลง ในขณะที่ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการปรับตัวลดลง เช่น ราคามันสำปะหลังลดลงร้อยละ 31.1 ราคาปาล์มน้ำมันลดลงร้อยละ 22.2 ราคาอ้อยลดลงร้อยละ 7.6 ราคากุ้งขาวแวนนาไมลดลงร้อยละ 8.7 และราคายางพาราลดลงร้อยละ 0.6 ตามลำดับ การเพิ่มขึ้นของทั้งดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและดัชนีราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5

สาขาการผลิตอุตสาหกรรม: ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสที่สามของปี 2562 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 1.5 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 0.2 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 4.2 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนส่งออกในช่วงร้อยละ 30 - 60 ลดลงร้อยละ 5.9 ตามการลดลงของการผลิตยานยนต์ร้อยละ 6.3 การผลิตน้ำตาลลดลงร้อยละ 18.4 การทอผ้าลดลงร้อยละ 21.1 การผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าลดลงร้อยละ 11.7 และการเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอลดลงร้อยละ12.7 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การผลิตเฟอร์นิเจอร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 และการผลิตเส้นใยประดิษฐ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ลดลงร้อยละ 5.9 โดยการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 18.2 การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 12.0 การแปรรูปและการถนอมผลไม้และผักลดลงร้อยละ 10.0 การผลิตเครื่องประดับเพชรพลอยแท้ลดลงร้อยละ 9.5 และการผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือนลดลงร้อยละ 4.2 ตามลำดับ ในขณะที่การผลิตสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำสด แช่เย็นหรือแช่แข็งขยายตัวร้อยละ 10.3 และการผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไปขยายตัวร้อยละ 4.8 ตามลำดับ และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ลดลงร้อยละ 2.3 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการผลิตปิโตรเลียมลดลงร้อยละ 7.4 การผลิตเหล็กขั้นมูลฐานลดลงร้อยละ 16.4 การผลิตปุ๋ยเคมีและสารประกอบไนโตรเจนลดลงร้อยละ 25.6 การผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีตฯ ลดลงร้อยละ 5.7 และ การผลิตเครื่องปรุงและเครื่องประกอบอาหารลดลงร้อยละ 9.3 ตามลำดับ ในขณะที่การต้ม การกลั่น และการผสมสุราขยายตัวร้อยละ 36.1 และการผลิตพลาสติกและยางขยายตัวร้อยละ 3.8 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 65.0 ลดลงจากร้อยละ 65.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และลดลงจากร้อยละ 68.7 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ลดลง เช่น การผลิตยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 6.3) การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 7.4) การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ (ลดลงร้อยละ 18.2) การผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (ลดลงร้อยละ 12.0) การผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน (ลดลงร้อยละ 16.4) การผลิตน้ำตาล (ลดลงร้อยละ 18.4) การผลิตปุ๋ยเคมีและสารประกอบไนโตรเจน (ลดลงร้อยละ 25.6) การทอผ้า (ลดลงร้อยละ 21.1) การผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ (ลดลงร้อยละ 5.7) และการแปรรูปและการถนอมผลไม้และผัก (ลดลงร้อยละ 10.0) เป็นต้น

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น การต้ม การกลั่น และการผสมสุรา (ร้อยละ 36.1) การผลิตพลาสติกและยาง (ร้อยละ 3.8) การผลิตสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำสด แช่เย็นหรือแช่แข็ง (ร้อยละ 10.3) การผลิตเภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค (ร้อยละ 12.1) การผลิตเฟอร์นิเจอร์ (ร้อยละ 8.4) การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป (ร้อยละ 4.8) การผลิตกระเป๋าเดินทางและสิ่งที่คล้ายกัน (ร้อยละ 44.4) การผลิตมอลต์และสุราที่ทำจากข้าวมอลต์ (ร้อยละ 8.1) การผลิตผลิตภัณฑ์นม (ร้อยละ 7.7) และการผลิตน้ำมันปาล์ม (ร้อยละ 8.2) เป็นต้น

สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร: ขยายตัวเร่งขึ้นสอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์สูงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในไตรมาสที่สามของปี 2562 การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัวร้อยละ 6.6 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 9.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้าส่วนหนึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากฐานที่ต่ำผิดปกติในไตรมาสที่สามของปี 2561 และการให้ขยายระยะเวลามาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา (Visa on Arrival: VOA) ให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศจำนวน 21 ชาติ ออกไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 เพื่อจูงใจให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางมาท่องเที่ยวและพำนักในประเทศไทยมากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ขยายตัวสูง 5 ประเทศ ประกอบด้วย นักท่องเที่ยวจากประเทศอินเดีย (สัดส่วนร้อยละ 5.08) เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.3 จีน (สัดส่วนร้อยละ 29.57) เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 เกาหลีใต้ (สัดส่วนร้อยละ 5.07) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 ญี่ปุ่น (สัดส่วนร้อยละ 5.03) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 และไต้หวัน (สัดส่วนร้อยละ 2.09) เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 ตามลำดับ ในขณะที่นักท่องเที่ยวยุโรป (สัดส่วนร้อยละ 11.97) ลดลงร้อยละ 2.2 ส่วนรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 738.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 476.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.8 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยรายรับจากนักท่องเที่ยวจากประเทศสำคัญที่ยังขยายตัวสูง ประกอบด้วย รายรับจากนักท่องเที่ยวจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน เป็นสำคัญ (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 261.8 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.0 เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวไทยนิยมเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศมากขึ้น ในขณะที่ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 64.1 ลดลงจากร้อยละ 69.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และลดลงจากร้อยละ 65.4 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

สาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์: ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง แม้ว่าจะชะลอตัวลงอย่างช้า ๆ ตามการชะลอตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ในไตรมาสที่สามของปี 2562 การผลิตสาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 5.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.9 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของดัชนีรวมการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ร้อยละ 3.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 6.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ประกอบด้วย (1) ดัชนีการขายส่ง (ยกเว้นยานยนต์และจักรยานยนต์) ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 7.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยหมวดการขายส่งของใช้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 และหมวดการขายส่งอาหารเครื่องดื่มและยาสูบเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 ในขณะที่หมวดการขายส่งสินค้าเฉพาะประเภทอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 4.6 (เช่น ร้านขายส่งเหล็ก เหล็กกล้า และโลหะที่นอกกลุ่มเหล็กขั้นมูลฐาน และร้านขายส่งเคมีภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม) (2) ดัชนีการขายปลีก (ยกเว้นยานยนต์และจักรยานยนต์) ทรงตัวที่ร้อยละ 0.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยหมวดร้านขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ลดลงร้อยละ 7.6 และหมวดร้านขายปลีกอุปกรณ์อื่น ๆ ชนิดใช้ในครัวเรือนลดลงร้อยละ 2.7 ในขณะที่หมวดร้านขายปลีกในร้านค้าทั่วไปเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.8 และหมวดร้านขายปลีกสินค้าประเภทอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 (เช่น ร้านขายปลีกเครื่องประดับ และร้านขายปลีกเครื่องสำอาง) และ (3) ดัชนีการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์

ลดลงร้อยละ 3.8 โดยหมวดการขายยานยนต์ลดลงร้อยละ 7.1 และหมวดการบำรุงรักษาและการซ่อมยานยนต์ลดลงร้อยละ 4.2 ในขณะที่หมวดการขายชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมของยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2

สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า: ขยายตัวและเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของบริการขนส่ง โดยเฉพาะบริการขนส่งทางอากาศสอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์สูงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในไตรมาสที่สามของปี 2562 การผลิตสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวร้อยละ 2.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยบริการขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของบริการขนส่งผู้โดยสารเป็นสำคัญ ประกอบด้วย บริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียงขยายตัวร้อยละ 4.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และบริการขนส่งทางอากาศขยายตัวร้อยละ 2.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่บริการขนส่งทางน้ำลดลงร้อยละ 3.0 ส่วนบริการสนับสนุนการขนส่งและบริการไปรษณีย์ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 3.9 และร้อยละ 1.6 ตามลำดับ

สาขาไฟฟ้า ก๊าซ และระบบปรับอากาศ: ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของกิจกรรมการผลิตไฟฟ้า ในขณะที่กิจกรรมโรงแยกก๊าซขยายตัวเร่งขึ้น ในไตรมาสที่สามของปี 2562 การผลิตสาขาไฟฟ้า ก๊าซ และระบบปรับอากาศขยายตัวร้อยละ 1.9 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 7.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดย (1) กิจกรรมการผลิตไฟฟ้าขยายตัวร้อยละ 1.0 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 7.6 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 2.4 สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของการผลิตอุตสาหกรรม ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 8.2 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 15.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และ (2) กิจกรรมโรงแยกก๊าซเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.2 ในไตรมาสก่อนหน้า

สาขาก่อสร้าง:ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวลงอย่างช้า ๆ ของการก่อสร้างภาครัฐ ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนทรงตัว ในไตรมาสที่สามของปี 2562 การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 2.7 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการก่อสร้างภาครัฐขยายตัว ร้อยละ 5.1 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 5.8 ในไตรมาสก่อนหน้า (การก่อสร้างของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 5.1 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 8.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 4.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อนหน้า) ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนทรงตัว เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยปรับตัวลดลง ในขณะที่การก่อสร้างอาคารที่มิใช่ที่อยู่อาศัย (เช่น อาคารพาณิชย์ และอาคารโรงงาน) ชะลอตัว อย่างไรก็ตามก่อสร้างอื่น ๆ ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของการก่อสร้างรถไฟฟ้า และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างลดลงร้อยละ 2.4 เทียบกับการทรงตัวร้อยละ 0.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (ลดลงร้อยละ 13.3) หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต (ลดลงร้อยละ 1.8) และหมวดซีเมนต์ (ลดลงร้อยละ 0.5) เป็นสำคัญ ในขณะที่ดัชนีราคาหมวดไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ขยายตัวร้อยละ 11.2

ผู้มีงานทำ: ปรับตัวลดลงตามการลดลงของผู้มีงานทำทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร ในไตรมาสที่สามของปี 2562 จำนวนผู้มีงานทำลดลงร้อยละ 2.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อนหน้าโดยผู้มีงานทำภาคเกษตร (สัดส่วนร้อยละ 33.53) ลดลงร้อยละ 1.8 และเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 สอดคล้องกับการลดลงของผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการ เช่น ข้าวเปลือก และข้าวโพด ในขณะที่ผู้มีงานทำ นอกภาคเกษตร (สัดส่วนร้อยละ 66.47)ลดลงร้อยละ 2.3 ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ตามการลดลงของจำนวนผู้มีงานทำในสาขาการผลิตอุตสาหกรรม สาขาก่อสร้าง และสาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมยานยนต์ฯ เป็นสำคัญ ส่วนจำนวนผู้มีงานทำที่ขยายตัว ได้แก่ สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร อัตราการว่างงานในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 1.1 สูงกว่าอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีผู้ว่างงานเฉลี่ยจำนวน 4.0 แสนคนเทียบกับผู้ว่างงานจำนวน 3.7 แสนคนในช่วงเดียวกันในปีก่อน

ด้านการคลัง

ในไตรมาสที่สี่ของปีงบประมาณ 2562 (กรกฎาคม - กันยายน 2562) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 626,189.7 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.9 โดยการจัดเก็บรายได้ที่ลดลง ได้แก่ (1) การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งลดลงตามการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการปรับตัวลดลงของมูลค่าการนำเข้าสินค้า (2) การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันลดลงตามปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลที่ลดลงจากมาตรการส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซลซึ่งมีอัตราภาษีต่ำกว่าน้ำมันดีเซล ประกอบกับการปิดซ่อมแซมหอกลั่นเพื่อเตรียมการสำหรับผลิตน้ำมัน Euro 5 ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด ทำให้กำลังการกลั่นน้ำมันในประเทศลดลง (3) การนำส่งรายได้ของ ส่วนราชการอื่นลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีการนำส่งทุนหรือกำไรสะสมส่วนเกินของทุนหมุนเวียน การรับรู้ส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตร (Premium) และการนำส่งรายได้ของสำนักงาน กสทช. และ (4) การลดลงของการจัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เป็นผลจากการชำระภาษีธุรกิจปิโตรเลียมย้อนหลังในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

รวมทั้งปีงบประมาณ 2562 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 2,563,067.0 ล้านบาท สูงกว่าปีงบประมาณก่อนหน้าร้อยละ 1.0

การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ในไตรมาสที่สี่ของปีงบประมาณ 2562 ในภาพรวมรัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 748,424.0 ล้านบาท1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 โดยการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 และร้อยละ 5.4 ตามลำดับ ประกอบด้วย (1)การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 จำนวน630,661.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีงบประมาณก่อนหน้าร้อยละ 0.8 และมีอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 21.0 สูงกว่าร้อยละ 20.5 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น การเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 511,780.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.3 ตามการเบิกจ่ายในหมวดงบรายจ่ายอื่นเป็นสำคัญ โดยมีอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 20.9 สูงกว่าร้อยละ 20.6 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 118,880.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 ตามการเพิ่มขึ้นของการเบิกจ่ายในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้าง และหมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ โดยมีอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 21.6 สูงกว่าร้อยละ 19.9 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

(2)การเบิกจ่ายงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 56,845.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.2 โดยมีอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 15.3 สูงกว่าร้อยละ 13.8 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (3)การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวมบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)) คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ 63,696.1 ล้านบาท2เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีงบประมาณก่อนหน้าร้อยละ 3.2 ตามการปรับเพิ่มแผนการลงทุนของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด และการประปาส่วนภูมิภาค และ (4) การเบิกจ่ายเงินกู้นอกงบประมาณ 1,417.1 ล้านบาท เทียบกับการเบิกจ่าย 817.7 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเบิกจ่ายเงินกู้ ตามมาตรการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (แผนงาน/โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน) และเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan: DPL) จำนวน 1,250.2 ล้านบาท และ 167.0 ล้านบาท ตามลำดับ

รวมทั้งปีงบประมาณ 2562 ภาครัฐมีการเบิกจ่ายงบประมาณรวมทั้งสิ้น 3,267.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.5 ประกอบด้วย (1) การเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 จำนวน 2,783.2 พันล้านบาท (ลดลงร้อยละ 0.3) คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 92.8 สูงกว่าร้อยละ 91.5 ในปีงบประมาณก่อนหน้า แบ่งเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 2,396.1 พันล้านบาท (ลดลงร้อยละ 0.6) คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 97.8 สูงกว่าร้อยละ 96.1 ในปีงบประมาณก่อนหน้า การเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 387.1 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8) คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 70.2 ต่ำกว่าร้อยละ 70.5

หมายเหตุ:

1 การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ประกอบด้วย (1) งบประมาณรายจ่ายประจำปี (2) งบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี (3) งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวมบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และรายจ่ายลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี) และ (4) เงินกู้นอกงบประมาณ

2 รวมรายจ่ายลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 4,195.3 ล้านบาท

ในปีงบประมาณก่อนหน้า (2) การเบิกจ่ายงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 259.9 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.8) โดยมีอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 70.0 (3) การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวมบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)) คาดว่ามีจำนวน 235.6 พันล้านบาท3 และ (4) การเบิกจ่ายเงินกู้นอกงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 3,190.5 ล้านบาท

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 มีมูลค่าทั้งสิ้น 6,901,801.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40.9 ของ GDP ประกอบด้วย หนี้เงินกู้ภายในประเทศ 6,684,357.5 ล้านบาท (ร้อยละ 39.6 ของ GDP) และ หนี้เงินกู้จากต่างประเทศ 217,444.1 ล้านบาท (ร้อยละ 1.3 ของ GDP) โดยแบ่งออกเป็นหนี้ของรัฐบาล 5,664,176.0 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 892,597.7 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 335,921.2 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 9,106.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 82.1 ร้อยละ 12.9 ร้อยละ 4.9 และร้อยละ 0.1 ของหนี้สาธารณะคงค้าง ตามลำดับ

ฐานะการคลัง: ในไตรมาสที่สี่ของปีงบประมาณ 2562 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ 92,240 ล้านบาท เมื่อรวมกับการเกินดุลเงินนอกงบประมาณ 59,820 ล้านบาท และการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 48,000 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลเกินดุลเงินสดสุทธิ 15,580 ล้านบาท และเมื่อรวมกับเงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาสก่อนหน้าจำนวน 497,375 ล้านบาท ส่งผลให้ฐานะเงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ของปีงบประมาณ 2562 อยู่ที่ 512,955 ล้านบาท

รวมทั้งปีงบประมาณ 2562 รัฐบาลมีการขาดดุลงบประมาณ 504,747 ล้านบาท เกินดุลเงินนอกงบประมาณ 35,288 ล้านบาท และมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 348,978 ล้านบาท (กรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 450,000 ล้านบาท) ส่งผลให้รัฐบาลยังคงขาดดุลเงินสดหลังกู้ 120,481 ล้านบาท

หมายเหตุ:

3 รวมรายจ่ายลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 13,975.6 ล้านบาท

ภาวะการเงิน

อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ในไตรมาสที่สามของปี 2562

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562 ที่ประชุมมีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ และอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย เช่นเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.00 - 2.25 และ 1.75 - 2.00 ต่อปีในเดือนสิงหาคมและกันยายน ตามลำดับ ขณะที่หลายประเทศดำเนินนโยบายการเงินในทิศทางผ่อนคลายมากขึ้น โดยเฉพาะธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 จำนวน 3 ครั้ง ในเดือนกรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน ทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงจากร้อยละ 6.00 เป็นร้อยละ 5.25 ต่อปี และเกาหลีใต้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกรกฎาคมจากร้อยละ 1.75 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี นอกจากนี้มีหลายประเทศได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า เช่น อินเดีย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย รัสเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น

ในเดือนตุลาคม 2562 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.50 - 1.75 ต่อปี เช่นเดียวกับประเทศอินเดีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 5.15 ร้อยละ 0.75 ร้อยละ 1.25 และร้อยละ 5.00 ตามลำดับ ขณะที่รัสเซียปรับลดลงร้อยละ 0.50 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 6.50

ล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2562 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้และขยายตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพ

ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และขนาดกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ขณะที่คงดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ในระดับเดียวกับไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสที่สามของปี 2562 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.03 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.46 ต่อปี เป็นผลมาจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ในเดือนมิถุนายนส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ยในไตรมาสที่สามสูงกว่าในไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมแก่ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ไว้ในระดับเดียวกับไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.28 ต่อปี เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางได้มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ยมาอยู่ที่ร้อยละ 1.35 และคงอัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ยไว้ที่ร้อยละ 6.71 อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงเฉลี่ย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ที่แท้จริงเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อ

ในเดือนตุลาคม 2562 ธนาคารพาณิชย์ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ แต่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับสูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง

ล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2562 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน แต่ส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (ยกเว้นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่หนึ่งแห่งที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงร้อยละ 0.25) ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก

สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินชะลอตัวลงทั้งในสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อครัวเรือน โดย ณ สิ้น ไตรมาสที่สามของปี 2562 ยอดคงค้างสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 3.9 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.5 ในไตรมาสก่อนหน้าตามการลดลงของสินเชื่อสาขาการผลิต สาขาการขายส่งและการขายปลีก และสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารเป็นสำคัญ สำหรับสินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 4.6 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 5.0 ในไตรมาสก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยลดลง ร้อยละ 5.3 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 29.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ภายหลังหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ปรับปรุงใหม่มีผลใช้บังคับในเดือนเมษายน 2562 และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ที่ลดลงเนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตยังปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการส่งเสริมการขายและการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ของผู้ให้บริการ ในขณะที่คุณภาพของสินเชื่อโดยรวมปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non Performing Loan) ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มเป็นร้อยละ 3.03 เทียบกับร้อยละ 2.97 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งสาเหตุหลักมาจากสินเชื่อของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสที่สามของปี 2562 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 30.71 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 2.8 สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดีและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ค่าเงินของประเทศอื่นในภูมิภาค อาทิ ค่าเงินวอน ค่าเงินริงกิต และค่าเงินรูปี เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่น ๆ เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้น สะท้อนจากดัชนีค่าเงินบาท (NEER)4 ที่เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 3.4

ในเดือนตุลาคม 2562 ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด รวมทั้งเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง ท่ามกลางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือนตุลาคม 2562 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 30.37 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.7 จากค่าเฉลี่ยในเดือนก่อนหน้า

ล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้เงินทุนไหลออกซึ่งจะช่วยปรับสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายและลดแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินบาท อาทิ การยกเว้นการนำเงินรายได้จากการส่งออกกลับประเทศ การอนุญาตให้นักลงทุนสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เองในวงเงิน 200,000 ดอลลาร์ สรอ. ต่อปี โดยที่ไม่ต้องผ่านตัวกลางทางการเงินในประเทศ การผ่อนคลายหลักเกณฑ์การโอนเงินออกนอกประเทศมากขึ้น และการอนุญาตให้ซื้อขายทองคำในประเทศเป็นเงินตราต่างประเทศ

ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสที่สามของปี 2562 ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์มีการเคลื่อนไหวในทิศทางลดลง โดย ณ สิ้นไตรมาสปิดที่ 1,637.2 จุด ลดลงร้อยละ 5.6 จากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของดัชนีในช่วงไตรมาสสาม ได้แก่ (1) ทิศทางการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของ Fed '(2) ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง และ (3) สถานการณ์ความไม่แน่นอนของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

ในเดือนตุลาคม 2562 ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงจากสิ้นเดือนกันยายน 2562 ร้อยละ 2.2 มาอยู่ที่ 1,601.5 จุด โดยได้รับแรงกดดันจากการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่นักลงทุนรายย่อยยังคงซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยในไตรมาสที่สามต่ำกว่าการคาดการณ์ โดยเฉพาะกลุ่มธนาคาร

หมายเหตุ:

4 ธปท. เริ่มปรับใช้สกุลเงินพร้อมน้ำหนักใหม่ในการคำนวณดัชนีค่าเงินบาท (NEER) และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ในเดือนมีนาคม 2557 พร้อมปรับปีฐานของค่าดัชนีให้สอดคล้องกับปีที่ใช้คำนวณน้ำหนัก คือ ปี 2555 เพื่อให้สะท้อนถึงโครงสร้างทางการค้าตามความเป็นจริงได้ดียิ่งขึ้น

นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิในตลาดตราสารหนี้ ในไตรมาสที่สามของปี 2562 นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิในตลาดตราสารหนี้ไทย 79.9 พันล้านบาท เทียบกับยอดซื้อสุทธิ 46.2 พันล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคมที่มีการขายสุทธิสูงถึง 34.6 พันล้านบาท ภายหลังธนาคารแห่งประเทศไทยใชมาตรการปองปรามการเก็งกำไรคาเงินในช่วงตนเดือนกรกฎาคม เช่น การจำกัดการปล่อยสภาพคล่องเงินบาท การดูแลเงินทุนนำเข้า การดูแลบัญชี Non-resident Baht Account (NRBA) และบัญชี Non-resident Baht Account for Securities (NRBS) และ การดูแลธุรกรรม Non-Deliverable Forward (NDF) ประกอบกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ในเดือนกรกฎาคมและกันยายน อีกทั้งธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทยทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนสิงหาคม สงผลใหนักลงทุนตางชาติมีการปรับพอรตการลงทุนและทยอยขายทำกำไร ทำให้มีการขายสุทธิตราสารหนี้ไทยตลอดไตรมาสที่สาม

ในเดือนตุลาคม 2562 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตราสารหนี้น้อยลง โดยเป็นการขายพันธบัตรระยะสั้นและซื้อพันธบัตรระยะยาว ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับราบลงจากเดือนก่อนหน้า

เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสุทธิ ใน 2 เดือนแรกของไตรมาสที่สามมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 1.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เป็นผลมาจากผู้ประกอบการไทยในต่างประเทศได้เคลื่อนย้ายเงินทุนกลับมาประเทศในรูปแบบของรายการเงินสดและเงินฝาก รวมทั้งนักลงทุนต่างชาติได้นำเงินเข้ามาลงทุนในรูปแบบของการลงทุนโดยตรงในไทยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสุทธิครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาส

ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ในไตรมาสที่สามของปี 2562 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 9.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (280.2 พันล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 3.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (125.8 พันล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และการเกินดุล 5.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (158.5 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการเกินดุลการค้า 8.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (สูงกว่าการเกินดุล 3.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) และการเกินดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิ 1.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (สูงกว่าการขาดดุล 0.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)

เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ 220.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี net forward position อีก 33.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) คิดเป็นประมาณ 3.7 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ข้อมูลเบื้องต้น ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562) และเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 12 เดือน (ค่าเฉลี่ยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่สามของปี 2562)

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสที่สามของปี 2562 อยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 0.6 ชะลอลงจากร้อยละ 1.1 ในไตรมาสที่สองของปี 2562 โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาผลไม้สดร้อยละ 7.9 เร่งขึ้นจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ในไตรมาสที่สองของปี 2562 รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของราคาผักและผลไม้สด ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง และเนื้อสัตว์ เป็นต้น ในขณะที่ดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มปรับตัวลดลงร้อยละ 0.7 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ในไตรมาสที่สองของปี 2562 ตามการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ซึ่งทำให้ดัชนีราคาในหมวดพลังงานในไตรมาสนี้ลดลงร้อยละ 5.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.7 ในไตรมาสที่สองของปี 2562 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 0.4 เทียบกับร้อยละ 0.5 ในไตรมาสก่อนหน้า5

ดัชนีราคาผู้ผลิต ในไตรมาสที่สามของปี 2562 ลดลงร้อยละ 1.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.1 ในไตรมาสที่สองของปี 2562 เป็นผลจากการปรับตัวลดลงของราคาในหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์จากเหมืองเป็นสำคัญ โดยราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 2.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.2 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ปรับตัวลดลง ในขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองปรับตัวลดลงร้อยละ 4.8 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของราคาลิกไนต์ ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ ส่วนราคาผลผลิตเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 ต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาผลผลิตการเกษตร และสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ เป็นสำคัญ6

หมายเหตุ:

5 ในเดือนตุลาคม 2562 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.1 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.4 เฉลี่ย 10 เดือนแรกของปี 2562 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.7 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5

6 ในเดือนตุลาคม 2562 ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ 2.5 เฉลี่ย 10 เดือนแรกของปี 2562 ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ 0.9

2. ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันไตรมาสที่สามของปี 2562

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงทั้งจากไตรมาสก่อนหน้าและในช่วงเดียวกันของปีก่อน ในไตรมาสที่สามของปี 2562 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 60.22 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 18.1 จาก 73.53 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 8.5 จากราคาเฉลี่ย 65.80 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในไตรมาสที่สองของปี 2562

การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในไตรมาสนี้มีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของกลุ่ม OECD (เช่น สหรัฐอเมริกา และแคนาดา) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2,890 ล้านบาร์เรล (สูงกว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของกลุ่ม OECD ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 2,846 ล้านบาร์เรล) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (2) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งทำให้ความต้องการน้ำมันดิบยังเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ และ (3) ความวิตกกังวลของนักลงทุนต่อความเสี่ยงสำคัญ ๆ อาทิ สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป

3. เศรษฐกิจโลกไตรมาสที่สามของปี 2562

ในไตรมาสที่สามของปี 2562 เศรษฐกิจโลกยังคงมีทิศทางชะลอตัวต่อเนื่องจากครึ่งแรกของปี ตามการชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจหลักซึ่งเข้าสู่การขยายตัวต่ำสุดในรอบหลายไตรมาส โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ (ต่ำสุดในรอบ 12 ไตรมาส) และเศรษฐกิจจีน (ต่ำสุดในรอบ 111 ไตรมาส) ท่ามกลางแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และทิศทางของมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีความไม่แน่นอนตลอดทั้งไตรมาส รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแยกตัวของสหราชอาณาจักรจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลง การชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจหลักและแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้าส่งผลให้การส่งออกและเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ กลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญอื่น ๆ ส่วนใหญ่ยังคงมีทิศทางชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง

การชะลอตัวของเศรษฐกิจท่ามกลางความไม่แน่นอนของมาตรการกีดกันทางการค้าและอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายของนโยบายการเงิน ทำให้ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงติดต่อกันสองครั้ง ธนาคารกลางยุโรปที่ดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเพิ่มปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตร เช่นเดียวกับธนาคารกลางของประเทศในเอเชียหลายประเทศที่ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม เช่น ธนาคารกลางจีน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.0 ชะลอลงจากร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อน และเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 12 ไตรมาส โดยเป็นผลจากการลดลงของการผลิตภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากการปรับตัวลดลงของดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับ 49.4 ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่า 50 และต่ำสุดในรอบ 15 ไตรมาส นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงและมีอัตราขยายตัวต่ำสุดในรอบ 12 ไตรมาส ตามการชะลอตัวของการลงทุนที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ ในขณะที่แรงสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของภาคการจ้างงาน ซึ่งส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ต่ำสุดในรอบ 50 ปี ขณะที่การส่งออกลดลงร้อยละ 1.8 เป็นการลดลงติดต่อกันสองไตรมาส และการนำเข้าลดลงร้อยละ 1.4 ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาสที่สามของปี 2559 สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.8 เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่าเป้าหมายนโยบายการเงินที่ร้อยละ 2.0 ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปีในการประชุมเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมและปรับลดติดต่อกันเป็นครั้งที่สองในการประชุมเมื่อวันที่ 18 กันยายน ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 - 30 ตุลาคม ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาที่ร้อยละ 1.50 - 1.75 ซึ่งเป็นการปรับลดเป็นครั้งที่ 3 ของปี 2562

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ขยายตัวร้อยละ 1.2 เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า การขยายตัวในเกณฑ์ต่ำของเศรษฐกิจเนื่องมาจากการลดลงของการผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของประเทศคู่ค้าและมาตรการกีดกันทางการค้า รวมทั้งการปรับมาตรฐานไอเสียใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตในหมวดยานยนต์ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 46.4 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 28 ไตรมาส สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 82.2 ต่ำที่สุดในรอบ 10 ไตรมาส อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีการค้าปลีกในเดือนสิงหาคมขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 2.2 สอดคล้องกับอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 7.3 ต่ำสุดในรอบ 48 ไตรมาส ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ลดลงจากร้อยละ 1.4 ในไตรมาสที่ 2 ส่งผลให้ในการประชุมเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2562 ธนาคารกลางยุโรปปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงร้อยละ 0.1 ส่งผลให้อัตราเงินเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ -0.5 โดยเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่มีนาคม 2559 ควบคู่ไปกับมาตรการเพิ่มปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตร (Asset Purchase Programme) เดือนละ 2 หมื่นล้านยูโร มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ธนาคารพาณิชย์รอบที่ 3 (TLTROs III) และการกำหนดจำนวนเงินสดสำรอง ขั้นต่ำซึ่งจะไม่ถูกคิดอัตราดอกเบี้ยติดลบ (Two-tier System)

เศรษฐกิจญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 1.3 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเร่งตัวขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนก่อนการปรับขึ้นภาษีการบริโภคจากเดิมในอัตราร้อยละ 8.0 เป็นร้อยละ 10.0 ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.3 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.8 ในไตรมาสก่อนหน้า นอกจากนี้ ยังมีแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนรวมที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 และร้อยละ 4.1 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.1 และร้อยละ 0.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม แรงสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิปรับตัวลดลง โดยการส่งออกสินค้าและบริการลดลงร้อยละ 1.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การนำเข้าสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 2.0 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อนหน้า สำหรับอัตราเงินเฟ้อลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.3 ตามการปรับตัวลดลงของราคาหมวดอาหารและพลังงาน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายนโยบายการเงินที่ระดับร้อยละ 2.0 ส่งผลให้ในการประชุมเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม แต่ได้ส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น

เศรษฐกิจจีน ขยายตัวร้อยละ 6.0 ชะลอลงจากร้อยละ 6.2 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบเกือบ 28 ปี ตามการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งในด้านการบริโภคภาคเอกชนและ การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร รวมทั้งการลดลงของการส่งออกที่เกิดจากผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าและการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยการส่งออกสินค้าลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สองร้อยละ 0.4 ในขณะที่การนำเข้าสินค้าลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สามที่ร้อยละ 6.5 โดยการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 15.1 ขณะที่การนำเข้าจากสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 19.1 ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.9 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 23 ไตรมาส โดยเป็นผลจากการเร่งตัวขึ้นของราคาหมวดอาหารโดยเฉพาะเนื้อหมูซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และการเพิ่มขึ้นของภาษีสินค้านำเข้าหลายรายการโดยเฉพาะจากสหรัฐฯ ในขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศปรับตัวลดลงเป็น 3.09 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน สอดคล้องกับอ่อนค่าของเงินหยวนอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่เฉลี่ย 6.9917 หยวนต่อดอลลาร์ สรอ. เงื่อนไขการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและแรงกดดันด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ธนาคารกลางจีน (PBoC) ปรับลดสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง (Reserve Requirement Ratio: RRR) ของธนาคารพาณิชย์ลงร้อยละ 0.5 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 10.5 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเงินกู้ (Loan Prime Rate: LPR) ระยะ 1 ปี เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 จากร้อยละ 4.25 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4.20 นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม โดยการอัดฉีด สภาพคล่องเข้าสู่ตลาดการเงินผ่านโครงการเงินกู้ระยะปานกลาง (Medium-term Lending Facility: MLF) มูลค่า 2 แสนล้านหยวนเพื่อสร้างสภาพคล่องให้กับธนาคารพาณิชย์ในระบบอย่างต่อเนื่องเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม และ 15 พฤศจิกายน 2562

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) ส่วนใหญ่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลดลงของการส่งออกซึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและแรงกดดันจากการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า รวมทั้งผลกระทบจากเหตุการณ์ประท้วงที่ยืดเยื้อในฮ่องกงซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจฮ่องกงลดลงร้อยละ 2.9 เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 40 ไตรมาส ในขณะที่เศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัวในเกณฑ์ต่ำร้อยละ 0.1 เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า และเศรษฐกิจเกาหลีใต้ที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่เศรษฐกิจไต้หวันขยายตัวร้อยละ 2.9 สูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการเร่งตัวขึ้นของการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิ และการใช้จ่ายภาครัฐที่กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส สำหรับอัตราเงินเฟ้อส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าตามการลดลงของราคาหมวดพลังงาน ยกเว้นฮ่องกงที่อัตราเงินเฟ้อเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 3.3 สูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาเนื้อหมูที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร สำหรับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน ส่วนใหญ่มูลค่าการส่งออกเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเศรษฐกิจอินโดนีเซียและมาเลเซีย ขยายตัวร้อยละ 5.0 และร้อยละ 4.4 ตามลำดับ ชะลอลงจากร้อยละ 5.1 และร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และการส่งออกที่ยังคงปรับตัวลดลง ในขณะที่เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวร้อยละ 7.3 เร่งขึ้นจากร้อยละ 6.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และการส่งออก ส่วนเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ขยายตัวร้อยละ 6.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 5.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเร่งตัวขึ้นของการใช้จ่ายภายในประเทศ ขณะที่การส่งออกสุทธิชะลอตัว สำหรับอัตราเงินเฟ้อของเวียดนามและฟิลิปปินส์ปรับตัวลดลงตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและพลังงาน ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียและมาเลเซียปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาหมวดอาหารเป็นสำคัญ

4. แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2563

ในปี 2563 เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ต่ำตามแนวโน้มการชะลอตัวลงอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น และผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้กระนั้นก็ตาม ในกรณีฐาน คาดว่าการทวีความรุนแรงของมาตรการกีดกันทางการค้าจะเริ่มผ่อนคลายลง ซึ่งจะช่วยให้ระบบการค้าโลกเริ่มปรับตัวเข้าสู่เสถียรภาพมากขึ้น เมื่อรวมกับการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างเร่งรีบของประเทศต่าง ๆ ในปี 2562 เงื่อนไขดังกล่าว คาดว่าจะเอื้ออำนวยต่อการเริ่มฟื้นตัวของประเทศสำคัญอื่น ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะ อินเดีย ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ อาเซียน อินเดีย และประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ซึ่งบางส่วนได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนของทิศทางการค้าและและการปรับตัวของทิศทางการลงทุนระหว่างประเทศ เงื่อนไขดังกล่าว เมื่อรวมกับแนวโน้มการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศยูโรโซน คาดว่าจะทำให้ปริมาณการค้าโลกและเศรษฐกิจโลกเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากปี 2563 โดยในกรณีฐานที่ไม่มีการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าและพัฒนาการของความเสี่ยงสำคัญ ๆ เพิ่มเติม คาดว่าเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 2563 จะขยายตัวร้อยละ 3.3 และร้อยละ 2.8 ตามลำดับ เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.1 และร้อยละ 1.5 ในปี 2562

แนวโน้มการผ่อนคลายลงของความรุนแรงจากมาตรการกีดกันทางการค้าในกรณีฐาน ท่ามกลางการปรับตัวเข้าสู่เสถียรภาพมากขึ้น ของการส่งออกและเศรษฐกิจของประเทศสำคัญ ๆ คาดว่าจะทำให้ธนาคารกลางของประเทศสำคัญ ๆ เริ่มลดระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงิน หลังจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างเร่งรีบในช่วงปี 2562 โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะคงระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินไว้ในระดับเดิม ในขณะที่ธนาคารกลางจีนยังมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเพื่อลดแรงกดดันจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แม้กระนั้นก็ตาม ธนาคารกลางสหรัฐฯ และญี่ปุ่น อาจพิจารณาผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมหากแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้าและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

เศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าในปี 2563 จะขยายตัวร้อยละ 2.1 ชะลอลงจากร้อยละ 2.4 และต่ำสุดในรอบ 4 ปีตามแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของมาตรการกีดกันทางการค้าซึ่งจะยังคงส่งผลต่อภาคการผลิตอุตสาหกรรม การส่งออก และการลงทุน ประกอบกับผลของแรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นทางการคลังภายใต้แผนปฏิรูปภาษีในช่วงปี 2561 - 2562 ที่จะเริ่มลดลง และการปรับตัวของเศรษฐกิจตามข้อจำกัดของระบบเศรษฐกิจที่การจ้างงานสูงกว่าระดับการจ้างงานเต็มที่ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและการดำเนินนโยบายเนื่องจากกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีและช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2563 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน สอดคล้องกับตลาดแรงงานที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งและอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2563 ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะคงนโยบายการเงินไว้ในระดับเดิม หากแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้าและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

เศรษฐกิจยูโรโซน คาดว่าในปี 2563 จะขยายตัวร้อยละ 1.3 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 1.1 ในปี 2562 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับตัวของอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ภายหลังได้รับผลกระทบจากการปรับมาตรฐานไอเสียรถยนต์ในปี 2562 ประกอบกับการขยายตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายภายในประเทศเนื่องจากการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมในช่วงก่อนหน้า สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงาน ตามอัตราการว่างงานเดือนตุลาคมที่ลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของทิศทางการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่อาจนำไปสู่การปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนของสหรัฐฯ ตามมาตรา 232 ของกฎหมาย Trade Expansion Act of 1962 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรปได้ นอกจากนี้ บรรยากาศทางเศรษฐกิจและการลงทุนจะได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของผลการเจรจาเพื่อออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรภายใต้รัฐบาลใหม่ของอังกฤษซึ่งจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 12 ธันวาคม 2562 และยังคงมีความเสี่ยงที่จะเป็นการแยกตัวแบบไร้ข้อตกลง หากไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ภายในวันที่ 31 มกราคม 2563 รวมทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ ทั้งเหตุการณ์ประท้วงในสเปน และเงื่อนไขทางการเมืองของอิตาลี

เศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่าในปี 2563 จะขยายตัวร้อยละ 0.6 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 0.9 ในปี 2562 ตามการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งคาดว่าจะชะลอตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากที่เร่งตัวขึ้นก่อนการปรับขึ้นอัตราภาษีเพื่อการบริโภคในเดือนตุลาคม 2562 ขณะเดียวกันการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้อย่างช้า ๆ เนื่องจากความไม่แน่นอนของมาตรการกีดกันทางการค้าและการแข็งค่าของเงินเยน อย่างไรก็ดี คาดว่าข้อจำกัดจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้มีแนวโน้มคลี่คลายมากขึ้น นอกจากนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการลงทุนที่เกิดจากการปรับตัวของภาคธุรกิจต่อมาตรการกีดกันทางการค้า และผลจากข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (EPA) ประกอบกับแรงสนับสนุนจากการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม - 9 สิงหาคม 2563 จะช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศและภาคการท่องเที่ยวได้

เศรษฐกิจจีน คาดว่าในปี 2563 จะขยายตัวร้อยละ 5.9 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 6.1 ในปี 2562 ตามการชะลอตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลดลงของการส่งออกเนื่องจากความไม่แน่นอนของมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศทั้งการบริโภคภาคครัวเรือนและการลงทุนของภาคเอกชน ท่ามกลางปัญหาทางด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะข้อจำกัดจากระดับหนี้สินภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง ในขณะเดียวกัน โครงการลงทุนก่อสร้างของรัฐบาลท้องถิ่นมีแนวโน้มเผชิญปัญหาความเสี่ยงทางการเงินและนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ที่สูงขึ้น ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลให้ธนาคารกลางจีนจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทางการเงินที่อาจจะเพิ่มขึ้น โดยใช้กลไกการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเงินกู้ (Loan Prime Rate: LPR) และอัตราดอกเบี้ยโครงการเงินกู้ระยะกลาง (Medium-Term Lending Facility: MLF) รวมทั้งกลไกการปล่อยสินเชื่อของธนาคารเฉพาะกิจเพื่อลดต้นทุนการกู้ยืมให้กับธนาคารพาณิชย์และภาคธุรกิจ ควบคู่กับการดูแลสภาพคล่องในระบบการเงินผ่านการลดสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง (RRR) รวมทั้งมีความเป็นไปได้ในการดำเนินนโยบายการคลังผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) คาดว่าในปี 2563 จะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2562 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุนภายในประเทศที่เกิดจากการปรับตัวของภาคธุรกิจต่อมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ประกอบกับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายของธนาคารกลางในหลายประเทศจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยในกรณีฐานคาดว่า ในปี 2563 เศรษฐกิจเกาหลีใต้ และสิงคโปร์ มีแนวโน้มที่จะขยายตัวร้อยละ 2.2 และร้อยละ 1.0 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.9 และร้อยละ 0.5 ในปี 2562 ตามลำดับ ในขณะที่เศรษฐกิจไต้หวันคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.3 เท่ากับปี 2562 ส่วนเศรษฐกิจฮ่องกงคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.0 ในปี 2562 เช่นเดียวกับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน ที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการส่งออก และการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทิศทางการค้าและห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศที่เกิดจากการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าซึ่งคาดว่าจะปรับตัวได้แล้วและเริ่มส่งผลด้านบวกที่ชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งแรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นทางการคลังในช่วงก่อนหน้า เมื่อรวมกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในหลายประเทศ คาดว่าในปี 2563 เศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ จะขยายตัวร้อยละ 5.2 ร้อยละ 4.7 และร้อยละ 6.2 ตามลำดับเร่งขึ้นจากร้อยละ 5.0 ร้อยละ 4.5 ร้อยละ 5.8 ในปี 2562 ตามลำดับ ขณะที่เศรษฐกิจเวียดนาม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.7 ชะลอลงจากร้อยละ 6.9 ในปี 2562

แม้กระนั้นก็ตาม ความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบการเงินโลกในปี 2563 ยังคงมีอยู่หลายประการ ซึ่งอาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ปริมาณการค้าโลก และทิศทางนโยบายการเงินของประเทศสำคัญ ๆ เปลี่ยนแปลงไปจากการคาดการณ์ในกรณีฐาน โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย (1) ทิศทางและผลการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศต่าง ๆ ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศอื่นๆ ที่อาจมีเพิ่มเติม โดยเฉพาะความเป็นไปได้ของการปรับขึ้นภาษีนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนของสหรัฐฯ ภายใต้มาตรา 232 ของกฎหมาย Trade Expansion Act of 1962 ซึ่งอาจจะนำไปสู่การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ได้ อาทิ เหล็ก อะลูมิเนียม รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมในหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหภาพยุโรป เม็กซิโก แคนาดา และญี่ปุ่น (2) ความไม่แน่นอนของผลการเจรจาเพื่อออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรภายใต้รัฐบาลใหม่ของอังกฤษ ซึ่งยังคงมีความเสี่ยงที่จะเป็นการแยกตัวแบบไร้ข้อตกลง (No-deal Brexit) หากไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ภายในวันที่ 31 มกราคม 2563 โดยเฉพาะหากผลการเลือกตั้งของอังกฤษในวันที่ 12 ธันวาคม 2562 ไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จ (3) การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจเร็วกว่าการคาดการณ์และแรงกดดันจากปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจของจีนที่อาจเพิ่มขึ้นภายใต้แนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการอ่อนค่าของเงินหยวน และ (4) สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศต่าง ๆ ได้แก่ (i) เงื่อนไขทางการเมืองของอิตาลีที่อาจจะนำไปสู่ความล่าช้าในการปรับลดการขาดดุลงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายเดิมและจะส่งผลต่อการชำระหนี้ของอิตาลีในอนาคต (ii) การประท้วงในสเปนกรณีการแยกตัวเป็นเอกราชของแคว้น คาตาลุญญา (iii) เงื่อนไขทางการเมืองและการประท้วงในฮ่องกงที่ยังคงยืดเยื้อและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค และ (iv) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในประเทศสำคัญ ๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสถียรภาพทางการเมืองของภูมิภาคตะวันออกกลางภายหลังรัฐบาลตุรกีใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามกบฏชาวเคิร์ดที่พรมแดนซีเรีย การสังหารผู้นำกลุ่มรัฐอิสลามอิรักและซีเรีย (ISIS) และการคว่ำบาตรทางการค้าของสหรัฐฯ ต่ออิหร่าน

5. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2562

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 2.6 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.1 ในปี 2561 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.8 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 6.2 ของ GDP เทียบกับการเกินดุลร้อยละ 5.6 ของ GDP ในปี 2561

ในการแถลงข่าววันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 2.6 ใกล้เคียงกับขอบล่างของช่วงการประมาณการร้อยละ 2.7 - 3.2 ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2562 โดยมีการปรับองค์ประกอบของ การขยายตัวทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับข้อมูลจริงในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2562 และการปรับเปลี่ยนสมมติฐานการประมาณการที่สำคัญ ๆ ดังนี้

1) เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2562 ขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ โดยมีปัจจัยสำคัญมาจาก

(1) การขยายตัวที่ต่ำกว่าคาดของการส่งออก สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่สามซึ่งแม้ว่าจะเริ่มมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น แต่ยังเป็นการฟื้นตัวที่ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้า และความไม่แน่นอนของทิศทางมาตรการกีดกันทางการค้าตลอดทั้งไตรมาส ซึ่งส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการผลิตและการส่งออกในห่วงโซ่การค้าและสายพานการผลิตระหว่างประเทศยังคงตัดสินใจชะลอกิจกรรมการผลิตและการค้าอย่างต่อเนื่อง (2) การเบิกจ่าย งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจยังอยู่ในระดับต่ำกว่าสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา และส่งผลให้ การลงทุนภาครัฐขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์ สอดคล้องกับความล่าช้าในการดำเนินโครงการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ๆ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา เป็นต้น และ (3) ผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราวที่เกิดจากการเปลี่ยนรุ่นของตลาดรถยนต์ในประเทศ และการปิดซ่อมโรงกลั่นบางแห่ง เมื่อรวมกับการฟื้นตัวที่ล่าช้าของภาคการส่งออกทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ปัจจัยดังกล่าวทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในไตรมาสที่สามขยายตัวได้ร้อยละ 2.4 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ และเมื่อรวมกับการขยายตัวในช่วงสอง ไตรมาสก่อนหน้า เศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.5 ใกล้เคียงกับขอบล่างของช่วงการประมาณการร้อยละ 2.7 - 3.2 ในการแถลงข่าวครั้งที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ไม่มีมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมคาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจะขยายตัวเร่งขึ้นอย่างช้า ๆ และทำให้เศรษฐกิจทั้งปีขยายตัวใกล้เคียงกับขอบล่างของช่วงการประมาณการร้อยละ 2.7 - 3.2 ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2562

2) การปรับองค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับข้อมูลจริงในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2562 และการปรับเปลี่ยนสมมติฐานการประมาณการที่สำคัญ ๆ ประกอบด้วย (1) การปรับลดสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาส่งออกในปี 2562 จากร้อยละ 3.3 และร้อยละ 0.5 ในสมมติฐานประมาณการครั้งก่อน เป็นร้อยละ 3.1 และร้อยละ 0.3 ตามลำดับ ตามการขยายตัวที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ๆ และราคาสินค้าส่งออกในไตรมาสที่สาม สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้าและสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะส่งผลให้การขยายตัวของมูลค่าการส่งออกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ (2) การปรับลดการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐให้สอดคล้องกับผลการเบิกจ่ายที่เกิดขึ้นจริงในไตรมาสที่สี่ของปีงบประมาณ 2562 ซึ่งอยู่ในระดับที่คาดการณ์ไว้ และ (3) การปรับลดประมาณการการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน ตามการขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์ในไตรมาสที่สาม สอดคล้องกับการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดของการส่งออกและการลงทุนภาครัฐ

6. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563

เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ยังมีข้อจำกัดจากการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าท่ามกลางความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง แม้กระนั้นก็ตาม เศรษฐกิจไทยในกรณีฐานมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปี 2562 ตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจโลก และการปรับตัวของทิศทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศต่อมาตรการกีดกันทางการค้า รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว และแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในประเทศที่ยังมีปัจจัยพื้นฐานอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งในด้านการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามการเบิกจ่ายภายใต้โครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ๆ ที่มีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในช่วงปี 2563 - 2564 และการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุน การลงทุนภาคเอกชนที่มีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการย้ายฐานการผลิตระหว่างประเทศ และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้ง แรงขับเคลื่อนเพิ่มเติมจากมาตรการบริหารเศรษฐกิจของภาครัฐ

ปัจจัยสนับสนุน

1) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งในด้าน (1)การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (i) อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำตามแนวโน้มราคาน้ำมันที่คาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 (ii) อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องตามการผ่อนคลายนโยบายการเงินในช่วงก่อนหน้าซึ่งส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่หลายแห่งเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง และ (iii) การดำเนินมาตรการของภาครัฐในการดูแลผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร (2) การลงทุนภาคเอกชน ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีตามปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่ขยายตัวร้อยละ 42.4 ในปี 2561 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนขยายตัวสูงร้อยละ 137.4 ในปี 2561 และร้อยละ 75.1 ในไตรมาสที่สามของปี 2562 และปัจจัยเพิ่มเติมจากการย้ายฐานการผลิตของ นักลงทุนต่างชาติเพื่อลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีความชัดเจนมากขึ้น โดยนักลงทุนบางส่วนได้เริ่มย้ายฐานการผลิตเข้ามายังประเทศไทยและมีการลงทุนจริงมากขึ้น รวมทั้งการดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ อาทิ มาตรการรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package) และมาตรการสนับสนุนด้านสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจ และ (3)การลงทุนภาครัฐตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะภายใต้โครงการสำคัญ ๆ ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 17 โครงการ วงเงินรวม 681,190 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการปี 2559 - 2566 ซึ่งหลายโครงการมีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2563 - 2564 ซึ่งจะทำให้การเบิกจ่ายเม็ดเงินเร่งตัวขึ้น เช่น โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) สายพัทยา - มาบตาพุด โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ และเส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย โครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง 2 สายทาง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของกรอบงบลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ร้อยละ 18.9 เมื่อเทียบกับกรอบงบลงทุนในปีงบประมาณ 2562

2) การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของการส่งออก แม้ว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างเป็นวงกว้างและ การเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าจะทำให้ปริมาณการค้าโลกชะลอตัวลงและส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งแรกของปีปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี ในไตรมาสที่สามของปี 2562 มูลค่าส่งออกของไทยเริ่มหดตัวช้าลงและเมื่อพิจารณาตามตลาดสำคัญพบว่าการส่งออกไปสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.7 เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของมูลค่าสินค้าส่งออกสำคัญหลายรายการ ซึ่งส่วนหนึ่งเนื่องจากได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทิศทางทางการค้า ในขณะเดียวกัน การส่งออกไปญี่ปุ่น และจีนในไตรมาสที่สามกลับมาขยายตัวร้อยละ 2.9 และร้อยละ 2.8 ตามลำดับ ภายหลังจากที่ปรับตัวลดลงในช่วงสองไตรมาสก่อนหน้า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ประกอบกับการปรับตัวของภาคการส่งออกต่อมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะมีความชัดเจนมากขึ้น และมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2562 และในปี 2563 ตามฐานการขยายตัวที่ต่ำลงและแนวโน้มการปรับตัวที่ดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางการปรับตัวต่อมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะมีความชัดเจนมากขึ้น ตามลำดับ

3) การดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่มีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะภายใต้กรอบการบริหารเศรษฐกิจในปี 2562 - 2563 (มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 20 สิงหาคม 2562) ซึ่งให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ โดยเฉพาะการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ควบคู่ไปกับมาตรการในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย แรงงาน และเศรษฐกิจฐานราก โดย ณ เดือนพฤศจิกายน 2562 รัฐบาลได้มีมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบการบริหารเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ มาตรการบรรเทาค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกองทุนหมู่บ้าน มาตรการเพื่อบรรเทาค่าครองชีพสำหรับเกษตรกรผู้ประสบ ภัยแล้งและเกษตรกรรายย่อย มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ "ชิมช้อปใช้" มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางการลงทุนเพื่อชักจูงและรองรับการลงทุนจากการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติมาประเทศไทย (Thailand Plus Package) และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เป็นต้น

4) การปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว ต่อเนื่องจากการขยายตัวเร่งขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญจาก (1) การขยายระยะเวลามาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา (Visa on Arrival) ออกไปอีก 6 เดือน จากเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ไปเป็นวันที่ 30 เมษายน 2563 (2) การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งกลับมาขยายตัวร้อยละ 17.3 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 หลังจากการลดลงต่อเนื่องกันมา 4 ไตรมาส โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (i) แนวโน้มการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนจากการเดินทางท่องเที่ยวระยะไกลมาเป็นการเดินทางระยะใกล้มากขึ้น (ii) การประท้วงในฮ่องกงที่ยังคงยืดเยื้อซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงการเดินทางไปเยือน และ (iii) การขึ้นภาษีการบริโภคของญี่ปุ่นซึ่งเป็นหนึ่งในปลายหลักของนักท่องเที่ยวจีน ที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเที่ยวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น และ (3) แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมและการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่และเศรษฐกิจในภูมิภาค ส่งผลให้คาดว่านักท่องเที่ยวจากเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกและอาเซียน มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีและสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวได้อย่างต่อเนื่อง

ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง

1) ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและเศรษฐกิจโลกในภาพรวมจะขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์ในกรณีฐาน โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน ยังมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวมากกว่ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ในกรณีที่มาตรการกีดกันทางการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่นเดียวกับเศรษฐกิจยูโรโซนที่ยังมีความเสี่ยงจากการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรแบบไร้ข้อตกลง (No-deal Brexit)

2) ความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกยังอยู่ในเกณฑ์สูงและมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีสถานการณ์ที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย (1) การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนและประเทศอื่น ๆ ที่อาจมีเพิ่มเติม อาทิ การดำเนินการภายใต้มาตรา 232 ของกฎหมาย Trade Expansion Act of 1962 ที่อาจส่งผลต่อสินค้าอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วน (2) สถานการณ์การเมืองของสหรัฐฯ ทั้งการดำเนินการถอดถอนประธานาธิบดี และการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน 2563 (3) สถานการณ์เศรษฐกิจยูโรโซนและสหราชอาณาจักรที่อาจจะเผชิญกับความผันผวนอันเนื่องมาจากเหตุปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ความไม่แน่นอนของการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร การประท้วงในสเปน เงื่อนไขทางการเมืองในอิตาลี และการเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีในเดือนตุลาคม 2563 เป็นต้น (4) แรงกดดันจากปัญหาเสถียรภาพของเศรษฐกิจจีนที่อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นภายใต้แนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการอ่อนค่าของเงินหยวน (5) ความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนที่เกิดจากการคาดการณ์และการปรับตัวของนักลงทุนต่อทิศทางนโยบายการเงินและแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศสำคัญ ๆ และ (6) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และปัญหาการเมืองภายในประเทศซึ่งนำไปสู่การประท้วงในประเทศต่าง ๆ อาทิ ฮ่องกง ชิลี อิรัก และเลบานอน รวมถึงปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง

3) ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง จากข้อมูลปริมาณน้ำใช้ได้จริงใน 4 เขื่อนหลักลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 อยู่ในระดับ 11,950 ล้านลูกบาศก์เมตร (คิดเป็นร้อยละ 48.0 ของระดับน้ำเก็บกักรวม) ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2561 และ 2560 ที่ 19,552 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 78.6) และ 21,126 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 84.9) ตามลำดับ ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตภาคการเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตข้าวนาปรังในปี 2563 ให้ขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์

ข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2562 และ ปี 2563

1) เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.1 และร้อยละ 1.5 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการปรับลดจากสมมติฐานการขยายตัวร้อยละ 3.3 และร้อยละ 3.4 ในการประมาณการครั้งก่อน และชะลอตัวลงจากร้อยละ 3.9 และร้อยละ 4.0 ในปี 2561 สอดคล้องกับการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2562 โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยูโรโซน และจีน ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงและมีทิศทางที่ไม่แน่นอนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดครึ่งปีหลัง รวมทั้งความวิตกกังวลต่อการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรโดยไม่มีข้อตกลง (No-deal Brexit) สำหรับในปี 2563 ในกรณีฐาน คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 3.3 ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการขยายตัวร้อยละ 3.1 ในปี 2562 ตามการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจยูโรโซน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ อาเซียน และอินเดียและประเทศกำลังพัฒนาสำคัญอื่น ๆ ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีนยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่วนปริมาณการค้าโลกคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.8 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 1.5 ในปี 2562

2) ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 31.0 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากเฉลี่ย 32.3 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในปี 2561 และแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากค่ากลางในการประมาณการครั้งก่อนที่ 31.2 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ตามทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมของประเทศสำคัญ ๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ปรับลดดอกเบี้ยลงเป็นครั้งที่สามของปี 2562 ในเดือนตุลาคม 2562 รวมถึงธนาคารกลางยุโรปปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเพิ่มปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตร เช่นเดียวกับธนาคารกลางของประเทศในเอเชียที่ดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้น ประกอบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยที่ยังคงมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง สำหรับปี 2563 คาดว่าค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2563 มีแนวโน้มที่จะอยู่ในช่วง 30.5 - 31.5 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. เท่ากับในปี 2562 โดยแม้ว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะยังคงเผชิญกับแรงกดดันต่อการแข็งค่าต่อเนื่องจากในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 แต่แนวโน้มการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจโลกในปี 2563 ท่ามกลางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของประเทศเศรษฐกิจหลักที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการคงนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการดำเนินมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยในการปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกมากขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 จะช่วยลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทในปี 2563

3) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 63.2 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ใกล้เคียงกับค่ากลางของสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมาที่ 64.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล สำหรับในปี 2563 คาดว่าราคาน้ำมับดิบดูไบจะอยู่ในช่วง 57.0 - 67.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ใกล้เคียงกับปี 2562 โดยคาดว่าราคาน้ำมันจะยังมีแรงกดดันทางด้านต่ำเนื่องจาก (1) แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายสำคัญของโลก อาทิ สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการน้ำมันโดยรวม (2) ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพการผลิตของแท่นขุดเจาะน้ำมัน และ (3) มาตรการลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์หรือกำมะถันจากน้ำมันเพื่อลดมลพิษทางอากาศขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO 2020) ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 และคาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการน้ำมันดิบดูไบซึ่งมีกำมะถันสูงเมื่อเทียบกับแหล่งอื่น ๆ มีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ราคาน้ำมันไม่สามารถปรับตัวลดลงได้อย่างรวดเร็ว ได้แก่ (1) ความเป็นไปได้ที่จะมีการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2563 ออกไป ในการประชุมวันที่ 5 - 6 ธันวาคม 2562 (2) มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้การผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านและเวเนซุเอลาลดลง และ (3) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบ อาทิ ความไม่สงบในบริเวณช่องแคบฮอร์มุซซึ่งเป็นช่องแคบสำคัญในการขนส่งน้ำมันปริมาณ 1 ใน 3 ของการขนส่งน้ำมันทางทะเลทั่วโลก รวมทั้งเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศสมาชิกกลุ่ม OPEC และประเทศซีเรีย

4) ราคาสินค้าส่งออกและราคาสินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์ สรอ. คาดว่าในปี 2563 จะลดลงเล็กน้อยร้อยละ (-0.6) - 0.4 และร้อยละ (-0.6) - 0.4 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 และร้อยละ 0.0 ตามลำดับ ในปี 2562 สอดคล้องกับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบและแนวโน้มราคาวัตถุดิบและราคาสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่อาจปรับตัวลดลง ในขณะที่ราคาสินค้าขั้นปฐมที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้นจากปี 2562

5) รายรับและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งปี 2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.04 ล้านล้านบาท และ 39.8 ล้านคน เท่ากับสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากข้อมูลในไตรมาสที่สามเป็นไปตามที่คาดไว้ โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 9.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนตามการขยายตัวในเกณฑ์สูงของนักท่องเที่ยวจากจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ สำหรับในปี 2563 คาดว่ารายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มอยู่ที่ 2.20 ล้านล้านบาท และมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 41.8 ล้านคน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมและเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียและอินเดีย ซึ่งจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวยังคงเดินทางมาเที่ยวมากขึ้น (2) มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การขยายระยะเวลามาตรการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa On Arrival) ออกไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2563 และการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa) เพื่อการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวจากจีนและอินเดีย และ (3) ฐานการขยายตัวที่ต่ำในช่วงครึ่งแรกของปี 2562

6) การเบิกจ่ายงบประมาณ ประกอบด้วย (1) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ในกรณีฐาน คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณเป็นต้นไป โดยสมมติฐานอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายรวมอยู่ที่ร้อยละ 92.3 ของวงเงินงบประมาณ (เทียบกับร้อยละ 92.8 ในปีงบประมาณ 2562) โดยแบ่งเป็นอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำร้อยละ 98.0 (เทียบกับ ร้อยละ 97.8) และรายจ่ายลงทุนร้อยละ 70.0 (เทียบกับร้อยละ 70.2) ทั้งนี้คาดว่าอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม - ธันวาคม 2562) อยู่ที่ร้อยละ 28.0 (2) อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณเหลื่อมปีอยู่ที่ร้อยละ 73.0 และ (3) อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจอยู่ที่ร้อยละ 80.0 ของเงินงบประมาณ

องค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

1) การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค (1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว ร้อยละ 3.7 ชะลอลงจากร้อยละ 4.3 ในปี 2562 โดยเป็นการชะลอตัวจากฐานการขยายตัวสูงโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ซึ่งการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนประเภทรถยนต์มีการขยายตัวสูง อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งการปรับตัวที่ดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการ และการดำเนินนโยบายของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร และ (2) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.6 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.2 ในปี 2562 สอดคล้องกับกรอบวงเงินงบรายจ่ายประจำภายใต้งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2563 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 จากปีงบประมาณ 2562

2) การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.8 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.7 ในปี 2562 โดยคาดว่าการลงทุนภาครัฐ จะขยายตัวร้อยละ 6.5 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.3 ในปี 2562 สอดคล้องกับกรอบวงเงินงบรายจ่ายลงทุนภายใต้งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2563 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 จากปีงบประมาณ 2562 ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.8 ในปี 2562 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากปัจจัยพื้นฐานด้านการลงทุนที่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนและมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในปี 2561 รวมทั้งการลงทุนภายใต้โครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) และแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติเพื่อลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีความรุนแรงมากขึ้นตลอดช่วงปี 2562 ภายใต้การดำเนินมาตรการสนับสนุนการลงทุนของภาครัฐเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนที่มีความชัดเจนมากขึ้น

3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.3 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 2.0 ในปี 2562 โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 2.3 ในปี 2562 ตามแนวโน้มการขยายตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2563 ขณะที่คาดว่าราคาสินค้าส่งออกจะลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.1 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ในปี 2562 สอดคล้องกับสมมติฐานราคาน้ำมันในตลาดโลก เมื่อรวมกับการส่งออกบริการที่ยังมีแนวโน้ม ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องจากครึ่งหลังของปี 2562 ตามรายรับและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่คาดว่าจะยังเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า คาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.7 ในปี 2562

4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.6 ในปี 2562 โดยคาดว่าปริมาณการนำเข้าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.6 ตามการฟื้นตัวของการส่งออกและการขยายตัวเร่งขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนจากการย้ายฐานการผลิตที่เกิดจากมาตรการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวเร่งขึ้นตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ๆ ขณะที่คาดว่าราคานำเข้าจะลดลงร้อยละ 0.1 เทียบกับการทรงตัวที่ร้อยละ 0.0 ในปี 2562 เมื่อรวมกับการนำเข้าบริการคาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณนำเข้าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.5 ในปี 2562

5) ดุลการค้า คาดว่าจะเกินดุลประมาณ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากการเกินดุล 2.56 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2562 เนื่องจากการประมาณการอัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น เร็วกว่ามูลค่าการส่งออก เมื่อรวมกับการเกินดุลบริการคาดว่าจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 3.18 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.6 ของ GDP เทียบกับการเกินดุล 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. หรือคิดเป็นร้อยละ 6.2 ของ GDP ในปี 2562

6) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 - 1.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จากร้อยละ 0.8 ในปี 2562 ตามการเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ภายในประเทศ แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสด และสมมติฐานราคาน้ำมันดิบที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงในอัตราที่ชะลอลง

7. ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2562 และในปี 2563 ยังมีข้อจำกัดจากการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำของเศรษฐกิจโลกท่ามกลางความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้า และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง แม้กระนั้นก็ตาม เศรษฐกิจไทยในกรณีฐานยังมีโอกาสที่จะปรับตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจโลกและการปรับตัวของระบบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศต่อมาตรการกีดกันทางการค้าที่คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว และปัจจัยพื้นฐานด้านอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะแนวโน้มการเร่งตัวขึ้นของการเบิกจ่ายภายใต้โครงการลงทุนของภาครัฐ และการขยายตัวในเกณฑ์ที่ น่าพอใจของการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชน ภายใต้แนวโน้มดังกล่าว การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2562 และในปี 2563 ควรให้ความสำคัญกับ

1) การขับเคลื่อนการส่งออก ให้มูลค่าการส่งออกกลับมาขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.0 โดยให้ความสำคัญ มากขึ้นกับ (1) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า ควบคู่กับการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตทั้งในประเทศไทยและในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มการใช้กำลังการผลิตในประเทศไทย (2) การให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าผ่านความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตและผลกระทบจากการถูกระงับสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) ในตลาดสหรัฐฯ ให้สามารถส่งออกไปยังตลาดอื่นได้เร็วขึ้น (3) การปฏิบัติตามกรอบกติกาการค้าโลก ข้อกำหนด และแนวทางปฏิบัติในประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะเงื่อนไขสำคัญ ๆ ในสหรัฐฯ ที่มีความเกี่ยวพันกับสิทธิพิเศษทางการค้า (4) การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า โดยเฉพาะการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีภายใต้กรอบต่าง ๆ และให้ความสำคัญเพิ่มเติมกับประเทศที่ไทยมีโอกาสใช้ประโยชน์จากการเบี่ยงเบนของทิศทางทางการค้าและลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าผ่านห่วงโซ่การผลิตไทย - จีน - สหรัฐฯ และ (5) การดูแลและลดผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทที่มีต่อภาคการส่งออกและภาคการผลิต ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก

2) การขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้สามารถสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับ (1) การเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูงในประเทศจีน (2) การกระจายตลาดนักท่องเที่ยวให้มีความสมดุลมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวจีนในกลุ่มรายได้ปานกลางที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น (3) การให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวทั้งในด้านชีวิตและทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง (4) การป้องกันและแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) (5) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องเพิ่มเติมเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวรายได้สูงทั้งในตลาดระยะไกลและในภูมิภาค (6) การอำนวยความสะดวกและลดปัญหาการแออัดของจำนวนนักท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวหลัก และ (7) การรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวชาวไทยที่นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น

3) การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับ (1) การเตรียมแผนงานและโครงการให้มีความพร้อมสำหรับดำเนินการและเบิกจ่ายได้ทันทีที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 มีผลบังคับใช้ (2) การเร่งรัดอัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีในปีงบประมาณ 2563 ให้อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าร้อยละ 92.3 แบ่งเป็น งบประจำและงบลงทุน ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 98.0 และร้อยละ 70.0 ตามลำดับ การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบเหลื่อมปีในปีงบประมาณ 2563 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 73.0 และการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 2563 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80.0 (3) การเร่งรัดดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับอนุมัติเพิ่มเติมและการเบิกจ่ายจากโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และ (4) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการยกระดับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

4) การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย (1) การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถกลับมาขยายตัวเพื่อเพิ่มระดับการใช้กำลังการผลิต (2) การติดตามและอำนวยความสะดวกให้โครงการลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนและได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้มีการลงทุนจริงโดยเร็ว (3) การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตทั้งในประเทศไทยและประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าและการชะลอตัวของเศรษฐกิจให้เพิ่มการใช้กำลังการผลิตในประเทศไทยมากขึ้น รวมทั้งการชักจูงและอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าและอยู่ในช่วงของการย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น โดยใช้จุดเด่นด้านสิทธิประโยชน์การลงทุน ความพร้อมและความเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง และศักยภาพของพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับการลงทุน (4) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนของภาครัฐทั้งในด้านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจที่มีความสำคัญ ๆ อย่างต่อเนื่องและเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และ (5) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้มีความเพียงพอต่อการรองรับการลงทุนโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสในการขยายตัวจากการย้ายฐาน การผลิตระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมสำคัญที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาประเทศ

5) การดูแลเกษตรกร กำลังแรงงาน ผู้มีรายได้น้อย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคการส่งออก การจ้างงาน รวมทั้งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความตกต่ำของราคาสินค้าในตลาดโลก ความผันผวนของสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยให้ความสำคัญกับ (1) ด้านการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร ให้ความสำคัญกับ (i) การป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งการเตรียมมาตรการทางการเงิน การคลัง และการผลิตเพื่อฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้ง ที่ยังมีความเสี่ยงในเกณฑ์สูง (ii) การดูแลแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรบางรายการที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญ ๆ และ (iii) การขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ ควบคู่ไปกับการเพิ่มส่วนแบ่งของเกษตรกรในรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตขั้นสุดท้าย โดยให้ความสำคัญกับการลดขั้นตอนทางการตลาด (2) ด้านการดูแลผู้รายได้น้อย กำลังแรงงาน SMEs และเศรษฐกิจฐานราก โดยให้ความสำคัญกับ (i) การดำเนินการตามโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ii) การดำเนินมาตรการสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์ในการลดภาระการชำระหนี้ การลดผลกระทบจากการถูกเลิกจ้าง การสนับสนุนการอบรมและปรับเปลี่ยนอาชีพและการผลิต รวมทั้งสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์ในการลดข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย วิสาหกิจชุมชน และ SMEs และ (iii) การให้ความช่วยเหลือและพัฒนา SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการส่งออกและการท่องเที่ยว การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค โครงสร้างประชากร และความผันผวนของค่าเงิน

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ