ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ ทั้งปี 2562 และแนวโน้มปี 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 17, 2020 14:02 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

กองยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค

แถลงข่าว วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 09.30 น.

  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 1.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า (%YoY) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยใน ไตรมาสที่สี่ของปี 2562 ขยายตัวจากไตรมาสที่สามของปี 2562 ร้อยละ 0.2 (%QoQ SA)
  • ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน และการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และ การส่งออกสินค้าปรับตัวลดลง ด้านการผลิต การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวเร่งขึ้น สาขาการขายส่งและการขายปลีกฯ ขยายตัวในเกณฑ์ดี ในขณะที่สาขาอุตสาหกรรม สาขาเกษตรกรรม สาขาก่อสร้างและสาขาไฟฟ้าฯ ปรับตัวลดลง
  • รวมทั้งปี 2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.4 เทียบกับร้อยละ 4.2 ในปี 2561 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงร้อยละ 3.2 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.5 และร้อยละ 2.2 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยร้อยละ 0.7 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 6.8 ของ GDP
  • แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5 - 2.5 ชะลอตัวลงจากปี 2562 ตามข้อจำกัดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัญหาภัยแล้ง และความล่าช้าของงบประมาณ แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจและการค้าโลกตามการลดลงของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันการค้าและความเสี่ยงจาก การแยกตัวของสหราชอาณาจักรแบบไร้ข้อตกลง (2) การขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจของ การใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ (3) แรงขับเคลื่อนจากมาตรการภาครัฐ และ (4) ฐานการขยายตัวที่ต่ำในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 1.4 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.5 และร้อยละ 3.6 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.4 - 1.4 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 5.3 ของ GDP
  • ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงปี 2563 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การประสานนโยบายการเงินการคลัง เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในครึ่งปีแรก และสนับสนุนการฟื้นตัว และการขยายตัวในครึ่งปีหลัง (2) การฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้สามารถกลับมาขยายตัวในครึ่งปีหลัง โดยมีจำนวนและรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีไม่ต่ำกว่า 37.0 ล้านคน และ 1.73 ล้านล้านบาท ตามลำดับ โดยให้ความสำคัญกับ (i) การยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าปรับให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส (ii) การรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวไทยหันมาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น (iii) การจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งหลังของปี (iv) การพิจารณาวันหยุดเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีแรก โดยไม่กระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ และ (v) การติดตามขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว (3) การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถกลับมาขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.0 (ไม่รวมทองคำ) โดย (i) การขับเคลื่อนแผนการส่งออกปี 2563 (ii) การให้ความสำคัญกับการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทางการค้า และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของไวรัส (iii) การให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตและการค้าไทย-จีน และ (iv) การเร่งรัดการเจรจาความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ (4) การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยการเร่งรัดการเบิกจ่ายเพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 งบประมาณเหลื่อมปี และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 91.2 ร้อยละ 70.0 และร้อยละ 75.0 ตามลำดับ (5) การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุน การขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย (i) การติดตามและขับเคลื่อนมาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุน (ii) การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ (iii) การเร่งรัดการเจรจาความร่วมมือทางการค้าที่สำคัญ ๆ และ (iv) การแก้ไขปัญหาอุปสรรคการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการต่างชาติ และ (6) การดูแลผู้มีรายได้น้อย ผู้ได้รับผลกระทบจาก ภัยแล้ง การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับ (i) กลุ่มเกษตรกรที่ทำงานในภาคบริการในช่วงนอกฤดูกาลเพาะปลูกและฤดูกาลเก็บเกี่ยว (ii) กลุ่มพนักงานในสาขาการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง (iii) กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs (iv) การเร่งรัดเบิกจ่ายเงินชดเชย และการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และ (v) การบริหารจัดการน้ำ
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 ทั้งปี 2562 และแนวโน้มปี 2563

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 1.6 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณ ผลกระทบจากภัยแล้ง และปัจจัยชั่วคราวในการผลิตภาคอุตสาหกรรม ด้านการใช้จ่าย การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ดี การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนภาครัฐ และการส่งออกสินค้าปรับตัวลดลง ด้านการผลิต การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวเร่งขึ้น ส่วนการผลิตสาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมฯ ขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่การผลิตสาขาอุตสาหกรรม สาขาเกษตรกรรม สาขาก่อสร้าง และสาขาไฟฟ้า ก๊าซฯ ปรับตัวลดลง เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 ขยายตัวจากไตรมาส ที่สามของปี 2562 ร้อยละ 0.2 (QoQ SA) รวมทั้งปี 2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.2 ในปี 2561

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 และทั้งปี 2562

1) การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์ร้อยละ 4.1 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ย และอัตราเงินเฟ้อ ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ มาตรการของภาครัฐ และการเร่งตัวขึ้นของรายจ่ายของคนไทยในต่างประเทศ การขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในไตรมาสนี้ สอดคล้องกับเครื่องชี้ด้านการใช้จ่ายสำคัญ ๆ โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร ดัชนีปริมาณ การจำหน่ายน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล และปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 ร้อยละ 3.4 และร้อยละ 3.1 ตามลำดับ ในขณะที่ยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ปรับตัวลดลงร้อยละ 16.4 และร้อยละ 17.2 ตามลำดับ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 56.8 เทียบกับระดับ 60.8 ในไตรมาสก่อนหน้า การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลปรับตัวลดลงร้อยละ 0.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเกิดจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณ โดยการใช้จ่ายหมวด ค่าใช้สอยปรับตัวลดลงร้อยละ 6.5 ขณะที่หมวดค่าตอบแทน (ค่าจ้าง เงินเดือน) และค่าใช้จ่ายสวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 และร้อยละ 5.1 ตามลำดับ อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายรวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 22.8 (ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 29.8 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)

รวมทั้งปี 2562 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.5 และการใช้จ่ายของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 1.4

2) การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 0.9 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้าตามการลดลงของการลงทุนภาครัฐ ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.6 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนในสิ่งก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 3.1 และการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 2.5 ในขณะที่การลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลงร้อยละ 5.1 ตามความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณ เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนของรัฐบาลปรับตัวลดลงร้อยละ 16.7 ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 13.1 สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 4.0 เทียบกับอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 21.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 13.7 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

รวมทั้งปี 2562 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.2 โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 0.2 และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.8

3) การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 59,169 ล้านดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.9 เทียบกับร้อยละ 0.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 5.3 ในขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น น้ำตาล (ร้อยละ 51.1) อากาศยาน เรือ แท่นขุดเจาะน้ำมัน และรถไฟ (ร้อยละ 26.5) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 5.2) รถจักรยานยนต์ (ร้อยละ 44.1) เครื่องปรับอากาศ (ร้อยละ 8.2) เครื่องดื่ม (ร้อยละ 11.4) และผลไม้ (ร้อยละ 9.9) เป็นต้น กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 30.7) เคมีภัณฑ์ (ลดลงร้อยละ 25.9) ข้าว (ลดลงร้อยละ 33.3) มันสำปะหลัง (ลดลงร้อยละ 37.7) ยางพารา (ลดลงร้อยละ 15.2) รถกระบะและรถบรรทุก (ลดลงร้อยละ 22.6) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ลดลงร้อยละ 8.2) รถยนต์นั่ง (ลดลงร้อยละ 6.3) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 3.1) และผลิตภัณฑ์ยาง (ลดลงร้อยละ 0.5) เป็นต้น การส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ จีน ตะวันออกกลาง (15) และไต้หวัน ขยายตัว ขณะที่การส่งออกไปยังญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (15) อาเซียน (9) และออสเตรเลีย ปรับตัวลดลง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 4.7 เมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงร้อยละ 12.3

รวมทั้งปี 2562 การส่งออกสินค้ารวมมีมูลค่า 243.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 3.2 การส่งออกในรูปเงินบาทลดลงร้อยละ 7.0

4) สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง ลดลงร้อยละ 1.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของผลผลิตพืชเกษตรสำคัญ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพอากาศที่แห้งแล้งและฝนทิ้งช่วง ได้แก่ ข้าวเปลือก (ลดลงร้อยละ 3.2) อ้อย (ลดลงร้อยละ 21.2) ปาล์มน้ำมัน (ลดลงร้อยละ 15.2) และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ลดลงร้อยละ 4.9) เป็นต้น ส่วนผลผลิตสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มไม้ผล (ร้อยละ 8.4) ยางพารา (ร้อยละ 2.4) และมันสำปะหลัง (ร้อยละ 10.9) เป็นต้น ด้านหมวดประมงและหมวดปศุสัตว์ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาส ที่สองร้อยละ 13.7 และร้อยละ 0.7 ตามลำดับ ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีราคาผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มไม้ผล (ร้อยละ 10.3) ข้าวเปลือก (ร้อยละ 6.7) ปาล์มน้ำมัน (ร้อยละ 39.8) และอ้อย (ร้อยละ 1.0) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการปรับตัวลดลง เช่น มันสำปะหลัง (ลดลงร้อยละ 23.6) ยางพารา (ลดลงร้อยละ 2.3) และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ลดลงร้อยละ 5.8) เป็นต้น การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6

รวมทั้งปี 2562 การผลิตสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 และร้อยละ 1.9 ตามลำดับ ดัชนีรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3

5) สาขาการผลิตอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.3 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 0.8 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของการส่งออก และปัจจัยชั่วคราวในการผลิตอุตสาหกรรมสำคัญบางรายการ โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วง ร้อยละ 30 - 60 ลดลงร้อยละ 16.0 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ลดลงร้อยละ 4.5 และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ลดลงร้อยละ 1.6 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 63.4 ลดลงจากร้อยละ 65.0 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 69.3 ในไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ลดลง เช่น ยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 21.4) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 15.2) และน้ำตาล (ลดลงร้อยละ 22.1) เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป (ร้อยละ 17.0)คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ 7.3) และการต้ม การกลั่น และการผสมสุรา (ร้อยละ 31.7) เป็นต้น

รวมทั้งปี 2562 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.7 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 3.7 และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 66.3

6) สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 6.8 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 6.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตาม การขยายตัวในเกณฑ์สูงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 10.33 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 7.2 ในไตรมาสก่อนหน้า รายรับรวมจากการท่องเที่ยวมีมูลค่า 0.79 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศมูลค่า 0.50 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ชะลอลงจากร้อยละ 5.8 ในไตรมาสก่อน โดยรายรับจากนักท่องเที่ยวจากประเทศสำคัญที่ยังขยายตัวสูง ประกอบด้วย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น รัสเซีย และไต้หวัน เป็นต้น และ (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยมูลค่า 0.29 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.8 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า

อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 71.24 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 64.08 ในไตรมาสก่อนหน้า

รวมทั้งปี 2562 การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 รายรับรวมจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 3.02 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 39.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 1.93 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 1.08 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 71.38

7) สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ขยายตัวร้อยละ 3.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของบริการขนส่งผู้โดยสาร เป็นสำคัญ โดยบริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียงขยายตัวร้อยละ 2.8 บริการขนส่งทางอากาศขยายตัวร้อยละ 5.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และบริการขนส่งทางน้ำขยายตัวร้อยละ 4.2 บริการสนับสนุนการขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 ในขณะที่บริการไปรษณีย์ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.8

รวมทั้งปี 2562 การผลิตสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 โดยบริการขนส่งขยายตัวร้อยละ 2.8 บริการสนับสนุน การขนส่งขยายตัวร้อยละ 5.9 และบริการไปรษณีย์ขยายตัวร้อยละ 3.6

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2563

สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะขยายตัวร้อยละ 1.5 - 2.5 ชะลอตัวลงจากปี 2562 ตามข้อจำกัดที่เกิดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรงมากขึ้น และความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปียังมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจโลกตามการผ่อนคลายลงของแรงกดดันจากมาตรการทางการค้า การลดลงของความเสี่ยงจากการแยกตัวของสหราชอาณาจักรแบบไร้ข้อตกลง และนโยบายการเงินที่อยู่ในภาวะผ่อนคลาย (2) การขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งในด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ (3) แรงขับเคลื่อนจากมาตรการภาครัฐ ที่มีความครอบคลุมทั้งในด้านการดูแลเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย SMEs และเศรษฐกิจฐานราก ภาคการท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชน และ (4) ฐานการขยายตัวที่ต่ำกว่าปกติในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 1.4 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.5 และร้อยละ 3.6 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.4 - 1.4 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 5.3 ของ GDP

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ของปี 2562 และ ทั้งปี 2562 ในด้านต่าง ๆ เป็นดังนี้

ด้านการใช้จ่าย

การบริโภคภาคเอกชน: ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก อัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และมาตรการของภาครัฐ ในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.1 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการบริโภคสินค้าไม่คงทน และสินค้ากึ่งคงทนขยายตัวสอดคล้องกับการขยายตัวของเครื่องชี้สำคัญ ๆ โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร ที่ขยายตัวร้อยละ 6.3 รวมทั้งปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์และน้ำมันดีเซล และปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 3.4 และร้อยละ 3.1 ตามลำดับ ในขณะที่ การบริโภคสินค้าคงทนปรับตัวลดลงสอดคล้องกับการลดลงของยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ร้อยละ 16.4 และร้อยละ 17.2 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 6.5 และ 9.1 ในไตรมาสก่อนหน้า การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสนี้มีปัจจัยสนับสนุนมาจาก (1) อัตราดอกเบี้ย และอัตราเงินเฟ้อ ที่อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งสินเชื่อเพื่อการบริโภคที่ขยายตัวต่อเนื่อง (2) มาตรการของภาครัฐในการสนับสนุนด้านรายได้และกระตุ้นการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ และ (3) การใช้จ่ายของคนไทยในต่างประเทศที่ขยายตัวเร่งขึ้น สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 56.8 เทียบกับระดับ 60.8 ในไตรมาสก่อนหน้า

รวมทั้งปี 2562 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 4.6 ในปี 2561

การลงทุนภาคเอกชน: ปรับตัวดีขึ้นตามการกลับมาขยายตัวของการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง และการขยายตัวต่อเนื่องของการลงทุนหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.6 เร่งตัวขึ้นอย่างช้า ๆ จากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า การลงทุนในหมวดการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 3.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการก่อสร้างอาคารโรงงานและอาคารที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยขยายตัวเร่งขึ้น โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ การก่อสร้างใน เขตนิคมอุตสาหกรรม และการก่อสร้างคอนโดมิเนียมในต่างจังหวัด ส่วนการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ขยายตัวร้อยละ 2.5 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของการนำเข้าเครื่องจักรที่เกี่ยวกับการขนส่ง เช่น อากาศยาน เรือ และหัวรถจักร สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 46.9 เทียบกับระดับ 48.5 ในไตรมาสก่อนหน้า

รวมทั้งปี 2562 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.8 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 4.1 ในปี 2561 โดยที่การลงทุนในหมวดการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 1.4 และการลงทุนหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 3.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.9 และร้อยละ 3.9 ในปี 2561 ตามลำดับ

การส่งออก: มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ความไม่แน่นอนของทิศทางมาตรการกีดกันทางการค้า การแข็งค่าของเงินบาท และปัจจัยชั่วคราว ในภาคการผลิต การส่งออกสินค้าในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 มีมูลค่า 59,169 ล้านดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.9 เทียบกับการทรงตัวในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 5.3 เทียบกับ การลดลงร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศคู่ค้าที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว การเพิ่มขึ้นของความไม่แน่นอนของทิศทางมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน การแข็งค่าของเงินบาท และผลกระทบเพิ่มเติมจากปัจจัยชั่วคราวของภาคการผลิตในประเทศ โดยเฉพาะการปิดซ่อมบำรุง โรงกลั่นน้ำมัน โดยปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตร สินค้าประมง และสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงร้อยละ 22.3 ร้อยละ 1.7 และร้อยละ 3.2 ตามลำดับ ส่วนราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เท่ากับร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ในด้านราคาส่งออก ราคาสินค้าเกษตร และสินค้าประมงปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 และร้อยละ 2.2 ตามลำดับ ในขณะที่ราคาสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงร้อยละ 0.3 ซึ่งสอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของราคาส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น ราคาน้ำมันสำเร็จรูป (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.1) ลดลงร้อยละ 5.8 เทียบกับการลดลงร้อยละ 7.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และราคาเม็ดพลาสติก (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.7) ลดลงร้อยละ 5.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 6.6 ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 4.7 เมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 1,792 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 12.3 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 6.9 ในไตรมาสก่อนหน้า

รวมทั้งปี 2562 การส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. อยู่ที่ 242,981 ล้านดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.2 จากปี 2561

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 17.8 เทียบกับการลดลงร้อยละ 8.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 22.3 ตามการลดลงของปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ในขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 โดยราคาส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และน้ำตาล เพิ่มขึ้น การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ ประกอบด้วย ข้าว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 33.3 ตามการลดลงของมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศจีน แอฟริกาใต้ และเบนิน เป็นสำคัญ โดยปริมาณการส่งออกข้าวลดลงร้อยละ 44.6 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะภัยแล้งทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวไม่เพียงพอกับการส่งออก ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4 มันสำปะหลัง มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 37.7 โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 30.9 สอดคล้องกับการลดลงของความต้องการในประเทศคู่ค้า ประกอบกับปริมาณผลผลิตได้รับผลกระทบจากโรคใบด่างมันสำปะหลัง ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ยางพารา มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 15.2 ตามการลดลงของการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 18.3 เนื่องจากอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าหลักปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวประกอบกับสต็อกยางยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 น้ำตาล มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.1 ตามการเพิ่มขึ้นของการส่งออกไปยังประเทศอินโดนีเซีย จีน และกัมพูชา โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.2 เนื่องจากการปรับตัวลดลงของปริมาณผลผลิตและสต็อกน้ำตาลในตลาดโลก ซึ่งเป็นผลจากภาวะภัยแล้งในประเทศผู้ผลิต และราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 3.5 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 4.9 ในไตรมาส ก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 3.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.7 ในไตรมาสก่อนหน้า และราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.3 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 0.2 ในไตรมาสก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 30.7 ร้อยละ 9.3 และร้อยละ 25.9 ตามลำดับ สำหรับสินค้าอื่น ๆ ที่ปรับตัวลดลง ประกอบด้วย รถกระบะและรถบรรทุก (ลดลงร้อยละ 22.6) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ลดลงร้อยละ 8.2) รถยนต์นั่ง (ลดลงร้อยละ 6.3) และชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 3.1) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ และรถจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 ร้อยละ 7.9 และร้อยละ 44.1 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 1.7 ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ กุ้ง ปู กั้ง และล็อบสเตอร์ (ลดลงร้อยละ 5.9) และปลาหมึก (ลดลงร้อยละ 4.1) สินค้าส่งออกอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 11.5 เป็นผลจากการลดลงของมูลค่า การส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปร้อยละ 16.4

ตลาดส่งออก: การส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ จีน และตะวันออกกลาง (15) ขยายตัว ขณะที่การส่งออกไปยังญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (15) อาเซียน (9) และออสเตรเลีย ปรับตัวลดลง การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 5.4 ส่วนหนึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการเบี่ยงเบนของทิศทางทางการค้าที่เกิดจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีน การส่งออกไปยังตลาดจีนขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของการส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นสำคัญ เช่นเดียวกับการส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลาง (15) ขยายตัวร้อยละ 5.4 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นปรับตัวลดลงร้อยละ 5.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเป็นสำคัญ ตลาดสหภาพยุโรป (15) ลดลงร้อยละ 6.4 ตามการลดลงของการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกเครื่องปรับอากาศยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน (9) ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.2 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 13.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน (5) ลดลงร้อยละ 9.8 และกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ลดลงร้อยละ 6.2 เช่นเดียวกับการส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลียลดลงร้อยละ 14.8 ตามการลดลงของการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปเป็นสำคัญ

มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของ การส่งออก และการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ ในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 การนำเข้ามีมูลค่า 53,221 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 7.6 (ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สี่) เทียบกับการลดลงร้อยละ 6.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 8.3 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 6.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการลดลงของปริมาณการนำเข้าทั้งในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุน ซึ่งลดลงร้อยละ 1.4 ร้อยละ 12.1 และร้อยละ 0.3 ตามลำดับ สอดคล้องกับการลดลงของการส่งออก และการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่ราคานำเข้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.2 ในไตรมาสก่อนหน้า หากไม่รวมการนำเข้าทองคำ มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 8.3 ในรูปของเงินบาท การนำเข้าสินค้ามีมูลค่ารวม 1,612 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 14.8 เทียบกับการลดลงร้อยละ 13.2 ในไตรมาสก่อนหน้า

รวมทั้งปี 2562 การนำเข้ารวมมีมูลค่า 216,351 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 5.4 เทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 13.7 ในปี 2561 โดยมูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 2.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 12.5 ในปี 2561 มูลค่าการนำเข้าหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางมูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าทุนและมูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอื่น ๆ ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.8 ร้อยละ 2.1 และร้อยละ 5.6 เทียบกับ การขยายตัวร้อยละ 17.9 ร้อยละ 1.0 และร้อยละ 9.0 ในปี 2561 ตามลำดับ ในรายหมวด มูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางปรับตัวลดลง ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุน และสินค้านำเข้าอื่น ๆ เพิ่มขึ้น มูลค่าการนำเข้าหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางลดลงร้อยละ 13.6 โดยปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 12.1 สอดคล้องกับการลดลงของ การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ส่วนราคานำเข้าลดลงร้อยละ 1.8 สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง ได้แก่ น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน และวัสดุที่ทำด้วยโลหะ เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 โดยเป็นการลดลงของปริมาณนำเข้าร้อยละ 0.3 ขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าในกลุ่มอากาศยาน เรือ แท่นขุดเจาะน้ำมัน และรถไฟเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.2 ขณะที่การนำเข้าในหมวดเครื่องจักร อุปกรณ์ และเครื่องใช้ประกอบ ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.4 สินค้า ที่มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ คอมพิวเตอร์ เครื่องจักรสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า อุปกรณ์การถ่ายภาพและภาพยนตร์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 0.1 โดยปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 1.4 ส่วนราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 สินค้าอุปโภคบริโภคที่มีมูลค่า การนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์นม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และเครื่องประดับ (ยกเว้นไข่มุกและอัญมณี) เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 ตามการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าทองคำ (ไม่รวมทองรูปพรรณ) ร้อยละ 12.5

อัตราการค้า (Term of Trade) ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 และราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ส่งผลให้อัตราการค้าปรับตัวลดลงจากระดับ 108.4 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นระดับ 108.0 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2562

ดุลการค้าเกินดุล ในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 ดุลการค้าเกินดุล 5.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (180.1 พันล้านบาท) ต่ำกว่า การเกินดุล 8.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (244.5 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า แต่สูงกว่าการเกินดุล 4.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (151.6 พันล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

รวมทั้งปี 2562 ดุลการค้าเกินดุล 26.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (824.1 พันล้านบาท) สูงกว่าการเกินดุล 22.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (720.4 พันล้านบาท) ในปี 2561

ด้านการผลิต

สาขาเกษตรกรรม ปรับตัวลดลงสอดคล้องกับสภาพอากาศที่แห้งแล้งและฝนทิ้งช่วง การผลิตสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมงลดลงร้อยละ 1.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรร้อยละ 1.5 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงตามผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ คือ (1) ข้าวเปลือก ลดลงร้อยละ 3.2 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากปัญหาฝนทิ้งช่วงและภัยแล้ง ในพื้นที่ปลูกข้าวนาปีในช่วงต้นฤดูกาลเพาะปลูก และปริมาณน้ำที่อยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน (2) อ้อย ลดลงร้อยละ 21.2 เนื่องจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ฝนทิ้งช่วงและภัยแล้ง (3) ปาล์มน้ำมันลดลงร้อยละ 15.2 เนื่องจากการลดลงของราคาในช่วงต้นปี ทำให้เกษตรกรลดการดูแลและส่งผลให้ผลผลิตขาดความสมบูรณ์ (4) สุกร ลดลงร้อยละ 1.9 เนื่องจากการลดปริมาณการผลิตของเกษตรกรรายย่อยและความวิตกกังวลต่อโรคอหิวาต์แอฟริกา และ (5) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลดลงร้อยละ 4.9 เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง และการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ในขณะที่ผลผลิตที่ขยายตัว ประกอบด้วย กลุ่มไม้ผล (ร้อยละ 8.4) กุ้งขาวแวนนาไม (ร้อยละ 13.7) ยางพารา (ร้อยละ 2.4) และ มันสำปะหลัง (ร้อยละ 10.9) เป็นต้น ด้านหมวดประมงและหมวดปศุสัตว์ขยายตัวร้อยละ 13.7 และร้อยละ 0.7 ตามลำดับ ในด้านราคา ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 ต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ เช่น (1) กลุ่มไม้ผลเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 เนื่องจากปริมาณผลผลิตไม้ผล บางรายการไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด (2) ข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 เนื่องจากปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกออกสู่ตลาดน้อยลง (3) ปาล์มน้ำมัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.8 ตามการลดลงของปริมาณผลผลิตและปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการลดสต็อกน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินของภาครัฐ และ (4) ไก่เนื้อ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 ตามการเพิ่มขึ้นของความต้องการบริโภคเนื้อไก่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนซึ่งประสบปัญหาการระบาดของ โรคอหิวาต์ในสุกร อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการปรับตัวลดลง เช่น ราคามันสำปะหลัง(ลดลงร้อยละ 23.6) ราคายางพารา (ลดลงร้อยละ 2.3) ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ลดลงร้อยละ 5.8) และราคา กุ้งขาวแวนนาไม (ลดลงร้อยละ 0.1) เป็นต้น การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6

รวมทั้งปี 2562 การผลิตสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ชะลอตัวลงจาก การขยายตัวร้อยละ 5.5 ในปี 2561 สำหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 และร้อยละ 1.9 ตามลำดับ ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3

สาขาอุตสาหกรรม: ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการส่งออกและปัจจัยชั่วคราวในการผลิตสินค้าสำคัญบางรายการ การผลิตสาขาอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 2.3 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 0.8 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมร้อยละ 6.9 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนส่งออกในช่วงร้อยละ 30 - 60 ลดลงร้อยละ 16.0 ตามการลดลงของการผลิตสินค้าสำคัญ ๆ โดยเฉพาะยานยนต์ซึ่งลดลงร้อยละ 21.4 น้ำตาลลดลงร้อยละ 22.1 ยางนอกและยางในลดลงร้อยละ 12.5 อย่างไรก็ตาม การผลิตจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ลดลงร้อยละ 4.5 โดยผลิตสินค้าสำคัญ ๆ ที่ปรับตัวลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 15.2) เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน (ลดลงร้อยละ 10.2) น้ำมันปาล์ม (ลดลงร้อยละ 23.6) และบรรจุภัณฑ์พลาสติก (ลดลงร้อยละ 3.6) และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่ม

การผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ลดลงร้อยละ 1.6 โดยเป็นผลมาจากการผลิตสินค้าสำคัญ ๆ ปรับตัวลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ (ลดลงร้อยละ 8.1) การแปรรูปและการถนอมผลไม้และผัก (ลดลงร้อยละ 14.0) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ลดลงร้อยละ 3.9) เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (ลดลงร้อยละ 12.4) และเครื่องใช้ในครัวเรือน (ลดลงร้อยละ 7.6) อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 63.4 ลดลงจากร้อยละ 65.0 ในไตรมาสก่อนหน้า และลดลงจากร้อยละ 69.3 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ลดลง เช่น การผลิตยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 21.4) การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 15.2) การผลิตน้ำตาล (ลดลงร้อยละ 22.1) การผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน (ลดลงร้อยละ 10.2) การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ (ลดลงร้อยละ 8.1) การผลิตน้ำมันปาล์ม (ลดลงร้อยละ 23.6) การแปรรูปและการถนอมผลไม้และผัก (ลดลงร้อยละ 14.0) การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ลดลงร้อยละ 3.9) การผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (ลดลงร้อยละ 12.4) และการผลิตยางนอกและยางใน (ลดลงร้อยละ 12.5) เป็นต้น

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป (ร้อยละ 17.0) การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ 7.3) การต้ม การกลั่น และการผสมสุรา (ร้อยละ 31.7) การผลิตสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำสด แช่เย็นหรือแช่แข็ง (ร้อยละ 8.3) การผลิตมอลต์และสุราที่ทำจากข้าวมอลต์ (ร้อยละ 6.5) การผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิกชนิดพอร์ชเลน (ร้อยละ 19.2) การฆ่าสัตว์ปีกและการผลิตเนื้อสัตว์ปีกสด แช่เย็นหรือแช่แข็ง (ร้อยละ 5.5) การผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน (ร้อยละ 7.4) การผลิตสายไฟและเคเบิลอื่น ๆ ชนิดใช้ในทาง (ร้อยละ 7.0) และการผลิตปูนซีเมนต์ (ร้อยละ 4.3) เป็นต้น

รวมทั้งปี 2562 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในปี 2561 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 3.7 และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 66.3 เทียบกับ ร้อยละ 69.8 ในปี 2561

สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร: ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของอัตราการเข้าพักเฉลี่ย การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัวร้อยละ 6.8 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 6.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 10.33 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 7.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการให้ขยายระยะเวลามาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา (Visa on Arrival: VOA) ให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ 21 ชาติ ออกไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ประกอบกับการฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวจีนและการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยนักท่องเที่ยวจาก 5 ประเทศสำคัญที่ขยายตัวสูง ประกอบด้วย นักท่องเที่ยวจากจีน (สัดส่วนร้อยละ 23.97) เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6 อินเดีย (สัดส่วนร้อยละ 5.07) เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.8 รัสเซีย (สัดส่วนร้อยละ 4.96) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ไต้หวัน (สัดส่วนร้อยละ 1.90) เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.0 และลาว (สัดส่วนร้อยละ 4.47) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 ตามลำดับ เมื่อรวมกับ การเพิ่มขึ้นของมูลค่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวไทย ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศของภาครัฐ ส่งผลให้ในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 0.79 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 โดย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 0.50 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 โดยรายรับจากนักท่องเที่ยวจากประเทศสำคัญที่ขยายตัวสูง ประกอบด้วย รายรับจากนักท่องเที่ยวจีน อินเดีย ญี่ปุ่น รัสเซีย และไต้หวัน (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 0.29 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.8 แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 71.24 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 64.08 ในไตรมาสก่อนหน้า

รวมทั้งปี 2562 การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 7.6 ในปี 2561 รายรับรวมจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 3.02 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 ชะลอตัวลงจาก ร้อยละ 4.5 ในปี 2561 โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศรวม 39.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 และรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 1.93 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ส่วนรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยอยู่ที่ 1.08 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 71.38

สาขาการขายส่ง และการขายปลีกฯ: ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า การผลิตสาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 5.2 ต่อเนื่องจากการขยายตัว ร้อยละ 5.3 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของดัชนีสำคัญ ๆ ประกอบด้วย ดัชนีการขายปลีก (ยกเว้น ยานยนต์และจักรยานยนต์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.4 ในไตรมาส ก่อนหน้า โดยดัชนีหมวดร้านขายปลีกสินค้าประเภทอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 5.5 และหมวดร้านขายปลีกในร้านค้าทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ดัชนีการขายส่ง (ยกเว้น ยานยนต์และจักรยานยนต์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 โดยดัชนีหมวด การขายส่งของใช้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 และหมวดการขายส่งสินค้าทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 อย่างไรก็ตาม ดัชนีการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ลดลงร้อยละ 13.0 เนื่องจากหมวดการขายยานยนต์ลดลงร้อยละ 15.9 และหมวดการขายชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมของยานยนต์ลดลงร้อยละ 9.4

รวมทั้งปี 2562 การผลิตสาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 6.6 ในปี 2561

สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า: เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของบริการขนส่งทางอากาศ บริการสนับสนุนการขนส่ง และบริการขนส่งทางน้ำ การผลิตสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดย (1) บริการขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยบริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียงขยายตัวร้อยละ 2.8 บริการขนส่งทางอากาศขยายตัวร้อยละ 5.1 และบริการขนส่งทางน้ำขยายตัวร้อยละ 4.2 ตามลำดับ (2) บริการสนับสนุนการขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับ การเพิ่มขึ้นของผลประกอบการของผู้ให้บริการสนับสนุนการขนส่ง และ (3) บริการไปรษณีย์ปรับตัวลดลง ร้อยละ 0.8

รวมทั้งปี 2562 การผลิตสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.4 ในปี 2561 โดยบริการขนส่งขยายตัวร้อยละ 2.8 บริการสนับสนุนการขนส่งขยายตัวร้อยละ 5.9 และบริการไปรษณีย์ขยายตัวร้อยละ 3.6

สาขาไฟฟ้า ก๊าซ และระบบปรับอากาศ: ปรับตัวลดลงตามการลดลงของกิจกรรมการผลิตไฟฟ้า และ การชะลอตัวของกิจกรรมโรงแยกก๊าซ การผลิตสาขาไฟฟ้า ก๊าซ และระบบปรับอากาศลดลงร้อยละ 0.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดย (1) กิจกรรมการผลิตไฟฟ้าลดลงร้อยละ 0.9 เทียบกับ การขยายตัวร้อยละ 2.8 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของการใช้ไฟฟ้ารวมร้อยละ 0.4 โดยการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 3.9 ขณะที่การใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 ชะลอตัวลงจาก ร้อยละ 6.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และ (2) กิจกรรมโรงแยกก๊าซขยายตัวร้อยละ 3.1 ชะลอตัวลงจากการขยายตัว ร้อยละ 7.5 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการชะลอตัวของปริมาณการใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้า

รวมทั้งปี 2562 สาขาไฟฟ้า ก๊าซ และระบบปรับอากาศขยายตัวร้อยละ 4.9 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.2 ในปี 2561 โดยกิจกรรมการผลิตไฟฟ้าขยายตัวร้อยละ 5.1 และกิจกรรมโรงแยกก๊าซขยายตัวร้อยละ 3.3

สาขาก่อสร้าง:ปรับตัวลดลงตามความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณซึ่งส่งผลให้การก่อสร้างภาครัฐปรับตัวลดลง ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้น การผลิตสาขาก่อสร้างลดลงร้อยละ 1.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการก่อสร้างภาครัฐลดลงร้อยละ 6.1 เทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 5.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีสาเหตุมาจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณเป็นสำคัญ (การก่อสร้างของรัฐบาลลดลงร้อยละ 17.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 15.2) การก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยและการก่อสร้างอาคารที่มิใช่ที่อยู่อาศัย (เช่น อาคารพาณิชย์ และอาคารโรงงาน) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการก่อสร้างในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และการก่อสร้างโรงแรมขนาดใหญ่หลายแห่งในกรุงเทพและปริมณฑล ในขณะที่สิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ปรับตัวลดลง ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างลดลงติดต่อกันเป็น ไตรมาสที่สองร้อยละ 2.8 ตามการลดลงของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (ลดลงร้อยละ 15.2) และหมวดซีเมนต์ (ลดลงร้อยละ 0.2) เป็นสำคัญ ในขณะที่ดัชนีราคาหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 รวมทั้งปี 2562 การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 2.0 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.4 ในปี 2561 โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวร้อยละ 2.4 (การก่อสร้างของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 0.7 และการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 5.6) และการก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.4

ผู้มีงานทำ: ปรับตัวลดลงตามการลดลงของผู้มีงานทำทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร แต่อัตรา การว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 จำนวนผู้มีงานทำลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สาม ร้อยละ 1.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยผู้มีงานทำภาคเกษตร (สัดส่วนร้อยละ 32.09) ลดลงร้อยละ 1.6 และเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สี่ สอดคล้องกับการลดลงของผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการ เช่น ข้าวเปลือก อ้อยโรงงาน และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น และผู้มีงานทำนอกภาคเกษตร (สัดส่วนร้อยละ 67.91) ลดลงร้อยละ 0.9 และเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สอง ตามการลดลงของจำนวนผู้มีงานทำในสาขาการผลิตอุตสาหกรรม และสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ผู้มีงานทำในสาขาก่อสร้าง และสาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมยานยนต์ฯ กลับมาขยายตัวในไตรมาสนี้ อัตราการว่างงานในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 1.0 สูงกว่าอัตราการว่างงานร้อยละ 0.9 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีผู้ว่างงานจำนวน 3.7 แสนคน เทียบกับผู้ว่างงานจำนวน 3.6 แสนคนในช่วงเดียวกันในปีก่อน

เฉลี่ยทั้งปี 2562 มีผู้ว่างงานจำนวน 3.7 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0

ด้านการคลัง

ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม - ธันวาคม 2562) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 605,767.7 ล้านบาท สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.5 โดยเป็นผลมาจาก (1) การเพิ่มขึ้นของการจัดเก็บภาษีน้ำมันฯ เนื่องจากการเปลี่ยนวิธีการชำระภาษีจากการชำระภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป เป็นการชำระภายใน 10 วัน หลังจากนำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรม ทำให้ในเดือนตุลาคม 2562 มีการจัดเก็บภาษีน้ำมันฯ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาอีก 21 วัน (2) การเพิ่มขึ้นของการจัดเก็บภาษีเบียร์ เนื่องจากผู้ประกอบการเพิ่มการผลิตสินค้าเพื่อรองรับความต้องการบริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่ (3) การนำส่งรายได้เหลื่อมปีเพิ่มขึ้นของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และธนาคารออมสิน เป็นต้น (4) การเพิ่มขึ้นของ การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากการขยายตัวของภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากเงินเดือน (ภ.ง.ด. 1) และ จากดอกเบี้ย (ภ.ง.ด. 2)

การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 873,587.5 ล้านบาท1 ลดลงร้อยละ 15.4 (รายจ่ายประจำลดลงร้อยละ 13.8 และรายจ่ายลงทุนลดลงร้อยละ 22.5) ประกอบด้วย (1)การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จำนวน 729,528.0 ล้านบาท2 ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีงบประมาณก่อนร้อยละ 18.3 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 22.8 ต่ำกว่าร้อยละ 29.8 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) เนื่องจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 จำแนกเป็น การเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 703,482.8 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14.0 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 27.7 ต่ำกว่าร้อยละ 33.4 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) และการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 26,045.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 65.4 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 4.0 ต่ำกว่าร้อยละ 13.7 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)

(2)การเบิกจ่ายงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี 80,655.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.0 ตามการขยายตัวของรายจ่ายลงทุน โดยอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปีอยู่ที่ ร้อยละ 30.6 (สูงกว่าร้อยละ 19.1 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) (3)การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวมบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)) 64,156.6 ล้านบาท3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 8.0 ตามการปรับเพิ่มแผนการลงทุนของการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นสำคัญ และ (4) การเบิกจ่ายเงินกู้นอกงบประมาณ 519.2 ล้านบาท สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีการเบิกจ่าย 279.7 ล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายในส่วนของเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan: DPL) 519.2 ล้านบาท

หมายเหตุ:

1 การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ประกอบด้วย งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี เงินกู้นอกงบประมาณ และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวมงบลงทุนของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และไม่รวมรายจ่ายลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี)

2 เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อน

3 รวมรายจ่ายลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 2,029.8 ล้านบาท

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนธันวาคม มีมูลค่าทั้งสิ้น 6,953,936.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.2 ของ GDP ประกอบด้วยเงินกู้ภายในประเทศ 6,765,469.5 ล้านบาท (ร้อยละ 40.1 ของ GDP) และเงินกู้จากต่างประเทศ 188,467.4 ล้านบาท (ร้อยละ 1.1 ของ GDP) โดยแบ่งเป็นหนี้ของรัฐบาล 5,741,489.0 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 869,827.9 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 333,918.9 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 8,701.1 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 82.6 ร้อยละ 12.5 ร้อยละ 4.8 และร้อยละ 0.1 ของหนี้สาธารณะคงค้าง ตามลำดับ

ฐานะการคลัง: ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ 163,864 ล้านบาท เมื่อรวมกับการขาดดุลเงินนอกงบประมาณ 59,035 ล้านบาท และการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 26,314 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดสุทธิ 196,585 ล้านบาท และเมื่อรวมกับเงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาสก่อนหน้าจำนวน 512,955 ล้านบาท ส่งผลให้ฐานะเงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 316,370 ล้านบาท

ภาวะการเงิน

อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวลดลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี ในไตรมาสที่สี่ของปี 2562

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 7/2562 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ที่ประชุมมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้และต่ำกว่าศักยภาพ สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 1.50-1.75 ต่อปี และหลายประเทศที่ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมโดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่อเนื่องมาจากไตรมาสก่อนหน้า เช่น อินเดีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย ที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ขณะที่ธนาคารกลางรัสเซียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง โดยปรับลดลงร้อยละ 0.50 ในเดือนตุลาคมและ ร้อยละ 0.25 ในเดือนธันวาคม ซึ่งส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวลดลงจากร้อยละ 7.00 เป็นร้อยละ 6.25 รวมทั้งปี 2562 คณะกรรมการนโยบายการเงินได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 2 ครั้ง ในเดือนสิงหาคม และเดือนพฤศจิกายน ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวลดลงจากร้อยละ 1.75 ต่อปี ณ สิ้นปี 2561 เป็นร้อยละ 1.25 ต่อปี ณ สิ้นปี 2562

ในเดือนมกราคม 2563 ธนาคารกลางมาเลเซียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.75

ล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2563 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก ร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.00 ต่อปี เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการและต่ำกว่าระดับศักยภาพค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 และสภาวะภัยแล้ง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงินมีความเสี่ยงจาก การชะลอตัวของเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับประเทศรัสเซียและฟิลิปปินส์ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25

ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ย ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.06 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ร้อยละ 1.39 ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 3 ใน 5 แห่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.38 ต่อปี และร้อยละ 1.33 ต่อปี ในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม ตามลำดับ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมแก่ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) เฉลี่ย ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.5 จากไตรมาสก่อนเป็นระดับร้อยละ 6.15 ต่อปี ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 14 ไตรมาส หลังจากที่ปรับลดครั้งล่าสุดในเดือนเมษายน 2559 สำหรับธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ย มาอยู่ที่ร้อยละ 1.30 ต่อปีและ 6.65 ต่อปีตามลำดับ ในขณะที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ย มาอยู่ที่ร้อยละ 1.58 ต่อปีและ 6.46 ต่อปีตามลำดับ อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงเฉลี่ย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ที่แท้จริงเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อ

รวมทั้งปี 2562 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ยและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ปรับตัวลดลงเป็นร้อยละ 1.41 ต่อปีและ 6.23 ต่อปีตามลำดับ เช่นเดียวกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เฉลี่ยเป็นร้อยละ 1.59 ต่อปีและ 6.55 ต่อปีตามลำดับ

ในเดือนมกราคม 2563 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และสถาบันการเงินเฉพาะกิจบางแห่งได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ยังคงระดับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับลดลงจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น โดยในเดือนมกราคมอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.05 ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 8 เดือน

ล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 2 แห่งและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 1 แห่ง ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่งและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 2 แห่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตาม การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิม โดยธนาคารพาณิชย์บางธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมแก่ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR)

สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินชะลอตัวลงทั้งในสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อครัวเรือน โดย ณ สิ้นไตรมาส ที่สี่ปี 2562 ยอดคงค้างสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 2.3 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้าตามการลดลงของสินเชื่อสาขาการผลิต การขายส่งและการขายปลีก และที่พักแรมและบริการด้านร้านอาหาร สำหรับสินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 4.0 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.6 ในไตรมาสก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ชะลอลงจากร้อยละ 4.6 มาเป็นร้อยละ 3.4 แต่สินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอื่น ๆ ชะลอตัวลงเพียงเล็กน้อยส่วนหนึ่งเป็นเพราะสินเชื่อบัตรเครดิต ยังขยายตัวได้ดีตามการส่งเสริมการขายและการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ของผู้ให้บริการ ในขณะที่คุณภาพของสินเชื่อโดยรวมปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPL) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.99 เทียบกับร้อยละ 3.03 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนส่วนหนึ่งจาก การเพิ่มขึ้นของมูลค่าสินเชื่อคงค้างของสินเชื่อของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล

รวมทั้งปี 2562 ยอดคงค้างสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงิน ณ สิ้นปีขยายตัวร้อยละ 2.3 ชะลอลงจาก การขยายตัวร้อยละ 5.9 ณ สิ้นปี 2561 โดยเป็นการชะลอตัวจากสินเชื่อภาคครัวเรือน ส่วนสินเชื่อภาคธุรกิจปรับตัวลดลงร้อยละ 0.8

อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 30.28 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 1.4 แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในเดือนพฤศจิกายน และธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกแล้วก็ตาม ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินบาทเป็นผลจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับดัชนีค่าเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลง ภายหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงเดือนตุลาคม สำหรับค่าเงินของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคที่เคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินบาท อาทิ ค่าเงินดอลลาร์ไต้หวัน ค่าเงินวอนเกาหลีใต้ ค่าเงินเปโซฟิลิปปินส์ และค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าหรือ คู่แข่งอื่น ๆ เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้น สะท้อนจากดัชนีค่าเงินบาท (NEER)4 ในไตรมาสที่สี่ อยู่ที่ 126.95 เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 1.6

รวมทั้งปี 2562 ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.15 - 32.37 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. (ค่าเฉลี่ย 31.04 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.) แข็งค่าขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 3.96 เนื่องจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ผลจากสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ และทิศทางการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายของประเทศผู้นำทางการค้า เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เป็นต้น

ในเดือนมกราคม 2562 ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าลงในทิศทางเดียวกับค่าเงินของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค สืบเนื่องจากความกังวลที่มีต่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่จะกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม ประกอบกับสถานการณ์การค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่มีทิศทางดีขึ้นหลังการลงนามในข้อตกลงการค้าระยะแรก โดยในเดือนมกราคม 2563 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 30.44 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงร้อยละ 0.7 จากค่าเฉลี่ยในเดือนก่อนหน้า

หมายเหตุ:

4 ธปท. เริ่มปรับใช้สกุลเงินพร้อมน้ำหนักใหม่ในการคำนวณดัชนีค่าเงินบาท (NEER) และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ในเดือนมีนาคม 2557 พร้อมปรับปีฐานของค่าดัชนีให้สอดคล้องกับปีที่ใช้คำนวณน้ำหนัก คือ ปี 2555 เพื่อให้สะท้อนถึงโครงสร้างทางการค้าตามความเป็นจริงได้ดียิ่งขึ้น

ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์เคลื่อนไหวในทิศทางลดลงต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นไตรมาสปิดที่ 1,580 จุด ลดลงร้อยละ 3.5 จากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ของไทยในไตรมาสนี้เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับประเทศในภูมิภาค โดยมีปัจจัยสำคัญ ได้แก่ (1) การส่งออกของไทยที่ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง (2) การระงับสิทธิพิเศษ GSP สินค้าไทยของสหรัฐฯ (3) ผลประกอบการของธุรกิจพลังงานลดลงตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบ และ (4) ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และสถานการณ์การเมืองในฮ่องกง

รวมทั้งปี 2562 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นจาก 1,564 จุด ณ สิ้นปี 2561 เป็น 1,580 จุด ณ สิ้นปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 อย่างไรก็ดี ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ไทยในปี 2562 ค่อนข้างมีความผันผวน โดยมีปัจจัยสำคัญจากสถานการณ์สงครามทางการค้า สถานการณ์การเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศสำคัญ

ในเดือนมกราคม 2563 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับลดลงจากเดือนธันวาคม 2562 ร้อยละ 4.2 มาอยู่ที่ 1,514 จุด เนื่องจากความกังวลของนักลงทุนต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน และการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบันในประเทศมียอดขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุน รายย่อยยังคงซื้อสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทย

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับตัวลดลง ขณะที่พันธบัตรระยะยาวปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาสสี่ของปี 2562 นักลงทุนยังมีความกังวลต่อสถานการณปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในเดือนสิงหาคมและเดือนพฤศจิกายน ในขณะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และประเทศ ในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงสถานการณ์ความตึงเครียดจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเริ่มผ่อนคลายภายหลังมีการเจรจาการค้าระยะแรกระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในช่วงเดือนกันยายน ส่งผลให้นักลงทุนปรับสัดส่วนการลงทุนและทยอยขายทำกำไร โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในพันธบัตรระยะสั้นแต่ซื้อ ในพันธบัตรระยะยาว อย่างไรก็ดีนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิในตลาดตราสารหนี้ที่ 8.3 พันล้านบาท ลดลงจาก 79.9 พันล้านบาท ในไตรมาสก่อนหน้า

รวมทั้งปี 2562 มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาดเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 87.8 พันล้านบาท จากเฉลี่ย 78.8 พันล้านบาทต่อวันในปี 2561 การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก ร้อยละ 1.75 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.25 และความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรปรับตัวลดลงจากปี 2561 ทุกช่วงอายุและดัชนีราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 โดยนักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิ 79.3 พันล้านบาท

ในเดือนมกราคม 2563 นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยมียอดซื้อสุทธิ 10.8 พันล้านบาท โดยเป็นการซื้อในพันธบัตรระยะยาว และขายพันธบัตรระยะสั้น

เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิ ใน 2 เดือนแรกของไตรมาสที่สี่มีเงินทุนไหลออกสุทธิ 1.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เป็นผลจากนักลงทุนไทยนำเงินออกไปลงทุนทั้งในรูปแบบของการลงทุนโดยตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งในตลาดตราสารทุนและตลาดตราสารหนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดียังมีเงินไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนต่างชาติ

ใน 11 เดือนแรกของปี2562 มีเงินทุนไหลออกสุทธิ 10.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจาก 14.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2561 เนื่องจากผู้ประกอบการไทยนำเงินออกไปลงทุนโดยตรง และการลงทุนในตราสารหนี้ เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดียังมีเงินทุนไหลเข้าในรูปแบบการลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง

ดุลบัญชีเดินสะพัด ในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 10.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (314.5 พันล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 6.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (205.3 พันล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และการเกินดุล 9.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (283.6 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการเกินดุลการค้า 5.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (สูงกว่าการเกินดุล 4.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) และการเกินดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิ 4.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (สูงกว่าการเกินดุล 1.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาส เดียวกันของปีก่อน)

รวมทั้งปี 2562 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 37.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (1,154.4 พันล้านบาท) เทียบกับ การเกินดุล 28.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (913.3 พันล้านบาท) ในปี 2561

เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ 224.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี net forward position อีก 34.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) คิดเป็นประมาณ 3.8 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ข้อมูลเบื้องต้น ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562) และเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 12.6 เดือน (ค่าเฉลี่ยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่สี่ของปี 2562)

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.4 ชะลอลงจากร้อยละ 0.6 ในไตรมาสที่สามของปี 2562 โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ชะลอลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับราคาผักสด ผลไม้สด และเนื้อสัตว์ ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ร้อยละ 3.3 และร้อยละ 3.2 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 7.9 ร้อยละ 11.1 และร้อยละ 7.3 ในไตรมาสที่สามของปี 2562 ในขณะที่ดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มปรับตัวลดลงร้อยละ 0.4 เทียบกับการปรับตัวลดลงร้อยละ 0.7 ในไตรมาสที่สามของปี 2562 ตามการปรับตัวลดลงของดัชนีราคาหมวดพลังงานร้อยละ 4.2 ในไตรมาสนี้ เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 0.5 เทียบกับร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อนหน้า5

รวมทั้งปี 2562 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 0.7 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5 เทียบกับร้อยละ 1.1 และร้อยละ 0.7 ในปี 2561

ดัชนีราคาผู้ผลิต ในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 ลดลงร้อยละ 1.7 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 1.6 ในไตรมาสที่สามของปี 2562 เป็นผลจากการปรับตัวลดลงของราคาในผลิตภัณฑ์จากเหมืองและหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป็นสำคัญ โดยราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองปรับตัวลดลงร้อยละ 5.7 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 4.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของราคาลิกไนต์ ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ และราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 2.3 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ในขณะที่ ราคาผลผลิตเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 ต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของราคาผลผลิตการเกษตร และสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ เป็นสำคัญ6รวมทั้งปี 2562 ดัชนีราคาผู้ผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 1.0 เทียบกับการเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.4 ในปี 2561

หมายเหตุ:

5 ในเดือนมกราคม 2563 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.1 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5

6 ในเดือนมกราคม 2563 ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8

2. ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันไตรมาสที่สี่ของปี 2562

ราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังคงเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 60.90 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 8.1 จากเฉลี่ย 66.30 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 จากราคาเฉลี่ย 60.22 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในไตรมาสที่สามของปี 2562

การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในไตรมาสนี้มีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของกลุ่ม OECD (เช่น สหรัฐอเมริกา และแคนาดา) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2,914 ล้านบาร์เรล (สูงกว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของกลุ่ม OECD ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 2,860 ล้านบาร์เรล) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (2) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งทำให้ความต้องการน้ำมันดิบยังเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ และ (3) ความวิตกกังวลของนักลงทุนต่อความเสี่ยงสำคัญ ๆ อาทิ สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป

รวมทั้งปี 2562 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 61.94 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 10.3 จากเฉลี่ย 69.08 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปีก่อน

3. เศรษฐกิจโลกไตรมาสที่สี่ของปี 2562

ในไตรมาสที่สี่ของปี 2562 เศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมทั้งประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้นจากไตรมาสที่สาม โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญจากห่วงโซ่การผลิตและการค้าระหว่างประเทศที่เริ่มปรับตัวต่อมาตรการกีดกันทางการค้าได้มากขึ้น และการผ่อนคลายลงของความตึงเครียดจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ภายหลังการเจรจาการค้าระดับรัฐมนตรีระหว่างสหรัฐฯ และจีนในช่วงวันที่ 19 - 20 กันยายน 2562 ซึ่งมีผลให้สหรัฐฯ ประกาศเลื่อนการปรับเพิ่มอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเดิมจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 และการเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มเติมอีกมูลค่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเดิมจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ธันวาคม 2562 ออกไป ในขณะเดียวกันทางรัฐบาลจีนก็ได้ประกาศจะนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ มูลค่าประมาณ 4 - 5 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นไปอย่างเปราะบางสะท้อนจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศเศรษฐกิจสำคัญ ๆ อาทิ ยูโรโซน และญี่ปุ่น ที่ยังคงปรับตัวลดลงรวมถึงอุปสงค์ภายในประเทศของหลายประเทศที่ยังคงขยายตัวได้ในเกณฑ์ต่ำ

ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเป็นไปอย่างเปราะบางและอัตราเงินเฟ้อ ที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายนโยบายการเงิน ทำให้ธนาคารกลางของประเทศสำคัญ ๆ ยังคงดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้งในเดือนตุลาคม 2562 ส่งผลให้ทั้งปี 2562 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงทั้งหมด 3 ครั้ง รวมร้อยละ 0.75 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.25 - 1.50 ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรปได้ดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมโดยการเข้าซื้อพันธบัตรและมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์ ส่วนธนาคารกลางจีนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องลงอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับธนาคารกลางอีกหลายประเทศสำคัญ ๆ ที่ได้ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาทิ ออสเตรเลีย อินเดีย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฮ่องกง เม็กซิโก รัสเซีย และบราซิล

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.3 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเร่งขึ้นของ การลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 6.5 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2546 และการส่งออกสุทธิที่เพิ่มขึ้นโดยเป็นผลมาจากการลดลงของการนำเข้าซึ่งลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยเฉพาะการนำเข้าจากประเทศจีนที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 23.8 นอกจากนี้ ยังได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงาน ซึ่งส่งผลให้อัตราการว่างงานทรงตัวอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 3.5 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE) เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง ส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 1.50 - 1.75 ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 - 11 ธันวาคม 2562 ภายหลังจากปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้วทั้งสิ้น 3 ครั้งในช่วงปี 2562 รวมทั้งปี 2562 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.3 ชะลอลงจากร้อยละ 2.9 ในปีก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3 ปี โดยเป็นการชะลอตัวตามการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออก เป็นสำคัญ

เศรษฐกิจยูโรโซน ขยายตัวร้อยละ 0.9 เทียบกับร้อยละ 1.2 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตรา การขยายตัวต่ำสุดในรอบ 24 ไตรมาส การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจเป็นผลมาจากการปรับตัวลดลงของ การผลิตในภาคอุตสาหกรรมเป็นสำคัญซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าและการปรับมาตรฐานไอเสียใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตในหมวดยานยนต์ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 46.4 เท่ากับในไตรมาสที่ 3 ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ต่อเนื่องกันเป็นไตรมาสที่ 4 สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 81.0 เป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 20 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2558 ในขณะเดียวกัน การบริโภคภาคครัวเรือนชะลอตัวลง สะท้อนจากดัชนีการค้าปลีก ที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 ชะลอลงจากร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่ลดลงซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความวิตกกังวลต่อความไม่แน่นอนในกระบวนการแยกตัวของสหราชอาณาจักร ออกจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลง อย่างไรก็ดี อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับเฉลี่ยร้อยละ 7.4 สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ใกล้เคียงกับร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ในการประชุมธนาคารกลางยุโรป เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 จึงยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปทั้งการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำ มาตรการเพิ่มปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตร (Asset Purchase Programme) มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ธนาคารพาณิชย์รอบที่ 3 (TLTROs III) และการกำหนดจำนวนเงินสดสำรองขั้นต่ำซึ่งจะไม่ถูกคิดอัตราดอกเบี้ยติดลบ (Two-tier System) รวมทั้งปี 2562 เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัวร้อยละ 1.2 โดยเป็นการขยายตัวต่ำสุด ในรอบ 3 ปี และชะลอลงจากร้อยละ 1.9 ในปี 2561 โดยเป็นการชะลอตัวตามการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ

เศรษฐกิจญี่ปุ่น มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการบริโภคภาคเอกชนและ การส่งออกเป็นสำคัญ โดยดัชนีค้าปลีกลดลงร้อยละ 3.8 เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 13 ไตรมาส ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราภาษีเพื่อการบริโภคที่เริ่มบังคับใช้ในเดือนตุลาคม สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ในขณะเดียวกัน การส่งออกลดลงร้อยละ 4.4 เป็นการลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สี่ สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 49.5 ต่ำกว่าระดับ 50.0 ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สี่เช่นเดียวกัน สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ยังคงต่ำกว่าระดับเป้าหมายนโยบายการเงินที่ร้อยละ 2.0 ส่งผลให้ใน การประชุมเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2562 ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ -0.1 และดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินไว้ที่ระดับเดิม รวมทั้งปี 2562 เศรษฐกิจญี่ปุ่นคาดว่าจะขยายตัว ร้อยละ 1.0 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 0.3 ในปี 2561 โดยมีแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออก เป็นสำคัญ

เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 6.0 เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า และยังคงเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 111 ไตรมาส โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังขยายตัวต่อเนื่องทั้งการบริโภคภาคเอกชนและ การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ในขณะที่การส่งออกสุทธิปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส โดยเป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่กลับมาขยายตัวและเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการส่งออก ในขณะที่การนำเข้าจากสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.5 และการส่งออกไปสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 18.0 ด้านอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 4.3 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.9 ใน ไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 32 ไตรมาส ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งตัวขึ้นของราคาในหมวดอาหารโดยเฉพาะเนื้อสุกรซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและการเพิ่มขึ้นของภาษีนำเข้าหลายรายการจากสหรัฐฯ ส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.108 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 สูงสุดในรอบ 6 เดือน ในขณะที่สัดส่วนหนี้สินของภาคธุรกิจยังคงอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 154.5 ต่อ GDP เงื่อนไขการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและแรงกดดันด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจส่งผลให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเงินกู้ (Loan Prime Rate: LPR) ระยะ 1 ปี เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 จากร้อยละ 4.20 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4.15 รวมทั้งปี 2562 เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 6.1 ชะลอลงจากร้อยละ 6.7 ในปี 2561 และเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 29 ปี โดยเป็นผลจากการชะลอตัวของภาคบริการ ภาคการผลิตอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม ป่าไม้ ปศุสัตว์ และประมง

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) ส่วนใหญ่เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าตามการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าและการลงทุนภาคเอกชน ภายหลังจากความตึงเครียดจากการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเริ่มผ่อนคลายลงและแรงสนับสนุนจากการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้า โดยเศรษฐกิจเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 2.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.0 ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของภาคบริการ และการกลับมาขยายตัวของภาคการก่อสร้าง ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรชะลอตัว เศรษฐกิจไต้หวันขยายตัวร้อยละ 3.3 เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.0 ตามการเร่งตัวขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนและ การลงทุนรวม และเศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 0.8 ใกล้เคียงกับการขยายตัวร้อยละ 0.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของภาคบริการ ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตยังคงลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4 สอดคล้องกับภาคการก่อสร้างที่ชะลอตัวลงและขยายตัวต่ำสุดในรอบ 4 ไตรมาส ขณะที่เศรษฐกิจฮ่องกงยังคงลดลงร้อยละ 2.9 ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 ตามการลดลงของการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนรวม และการส่งออกสินค้าเนื่องจากผลกระทบของเหตุการณ์การประท้วงภายในประเทศที่ยังคงยืดเยื้อ สำหรับอัตราเงินเฟ้อส่วนใหญ่เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าหมวดอาหารโดยเฉพาะราคาเนื้อสุกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ยกเว้นฮ่องกงที่อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากการลดลงของราคาหมวดที่พักอาศัยและหมวดสาธารณูปโภค เมื่อรวมทั้งปี 2562 เศรษฐกิจเกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ ขยายตัวร้อยละ 2.0 2.7 และร้อยละ 0.7 เทียบกับร้อยละ 2.7 2.7 และร้อยละ 3.2 ในปี 2561 ตามลำดับ ในขณะที่เศรษฐกิจฮ่องกงลดลงร้อยละ 1.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.1 ในปี 2561 และเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 10 ปี

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน ส่วนใหญ่มูลค่าการส่งออกเริ่มปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องกับมูลค่าการนำเข้าของจีนที่กลับมาขยายตัวในไตรมาสนี้ โดยเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ขยายตัวร้อยละ 5.0 เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า โดยมี แรงสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังชะลอตัวต่อเนื่อง และเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ขยายตัวร้อยละ 6.4 เร่งขึ้นจากร้อยละ 6.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเร่งตัวขึ้นของการใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนรวม รวมทั้งการส่งออกสินค้าและบริการ ในขณะที่เศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัวร้อยละ 3.6 ชะลอลงจากร้อยละ 4.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลงทุนรวมที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิซึ่งลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส และเศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวร้อยละ 7.0 ชะลอลงจากร้อยละ 7.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง รวมทั้งภาคเกษตรกรรม ในขณะที่ภาคบริการยังคงขยายตัวเร่งขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงตามราคาสินค้าในหมวดอาหารเป็นสำคัญ ยกเว้นอัตราเงินเฟ้อของเวียดนามที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งปี 2562 เศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ขยายตัวร้อยละ 5.0 ร้อยละ 4.3 ร้อยละ 5.9 และร้อยละ 7.0 ชะลอลงจากร้อยละ 5.2 ร้อยละ 4.7 ร้อยละ 6.2 และร้อยละ 7.1 ในปี 2561 ตามลำดับ

4. แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2563

ในปี 2563 เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ต่อเนื่องจากสัญญาณการฟื้นตัวของการผลิตและส่งออกของประเทศสำคัญ ๆ หลายประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการลดลงของความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ความเสี่ยงจากการแยกตัวของสหราชอาณาจักรแบบไร้ข้อตกลง ความชัดเจนของข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา (USMCA) และการปรับตัวของห่วงโซ่การผลิตและการค้าระหว่างประเทศต่อมาตรการ กีดกันทางการค้า เมื่อรวมกับการผ่อนคลายนโยบายการเงินและการคลังอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจหลักทั้งสหรัฐฯ ยูโรโซน จีน และญี่ปุ่นขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจ รวมทั้งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจอินเดีย กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ และกลุ่มประเทศอาเซียนปรับตัวดีขึ้นจากปี 2562

อย่างไรก็ตาม ความต่อเนื่องในการฟื้นตัวและขยายตัวของระบบเศรษฐกิจและการค้าโลกในช่วงที่เหลือของปี 2563 เริ่มมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน และประเทศต่าง ๆ ผ่านการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว ระบบการขนส่งและห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศ การชะลอตัวของการส่งออก และการลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ในตลาดโลก แม้ว่าสถานการณ์และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงก็ตาม ภายใต้สมมติฐานการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่คาดว่าจะเข้าสู่จุดสูงสุดในเดือนมีนาคม และสิ้นสุดลงในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม คาดว่าผลกระทบผ่านระบบขนส่งและ ห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศจะสามารถสิ้นสุดลงในไตรมาสแรกของปี 2563 ในขณะที่ผลกระทบผ่านการส่งออกและการท่องเที่ยวจะเริ่ม ผ่อนคลายลงในไตรมาสที่สองก่อนที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในไตรมาสที่สาม ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว คาดว่าเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2563 จะขยายตัวร้อยละ 3.2 และร้อยละ 2.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.1 และร้อยละ 1.5 ในปี 2562 ตามลำดับ

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกท่ามกลางความเสี่ยงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นคาดว่าจะยังทำให้ประเทศสำคัญ ๆ ยังคงดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง โดยการรักษาระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อรักษาพลวัตรการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสนับสนุนอัตราเงินเฟ้อให้กลับสู่ระดับเป้าหมาย โดยในกรณีฐาน คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงการผ่อนคลายนโยบายการเงินไว้ในระดับเดิม แต่มีความเป็นไปได้ที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในช่วงครึ่งหลังของปี หากอัตราเงินเฟ้อยังไม่มีแนวโน้มกลับสู่เป้าหมายอย่างชัดเจน ส่วนธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่น มีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป ขณะที่ธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเพื่อช่วย ลดผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจที่ร้อยละ 2.1 แม้ว่าจะเป็นการชะลอลงจากร้อยละ 2.3 ในปี 2562 แต่ยังเป็น การขยายตัวที่สูงกว่าศักยภาพและเป็นการชะลอตัวจากปีก่อนหน้าตามวัฏจักรเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าในช่วงก่อนหน้าซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม การส่งออก และการลงทุน นอกจากนี้การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจยังเป็นผลมาจากการลดลงของแรงขับเคลื่อนจากมาตรการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลภายใต้แผนการปฏิรูปภาษีในช่วงปี 2561 - 2562 รวมทั้งทิศทางนโยบายการค้าที่มีต่อประเทศคู่ค้าสำคัญ ๆ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป และจีน ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง อย่างไรก็ดี การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2563 ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดที่อยู่อาศัย สอดคล้องกับอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำและนโยบายการเงินที่อยู่ในภาวะผ่อนคลาย นอกจากนี้ การลดลงของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตร การลงทุนภาคธุรกิจ รวมถึงการนำเข้าเพื่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมคาดว่าจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ภายใต้แนวโน้มดังกล่าวธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มคงการผ่อนคลายนโยบายการเงินไว้ที่ระดับเดิม แม้จะมีความเป็นไปได้ที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีหลังหากอัตราเงินเฟ้อยังไม่มีสัญญาณที่จะกลับเข้าสู่เป้าหมาย

เศรษฐกิจยูโรโซน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.3 ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากร้อยละ 1.2 ในปี 2562 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออกและภาคการผลิตอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นตัวของการผลิตรถยนต์ภายหลังได้รับผลกระทบจากการปรับมาตรฐานไอเสีย ในปีที่ผ่านมา รวมทั้งแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่มีปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง และการลดลงของความเสี่ยงจากการแยกตัวของสหราชอาณาจักรแบบไร้ข้อตกลง แม้กระนั้นก็ตาม เศรษฐกิจในปี 2563 ยังมีความเสี่ยงจากเงื่อนไขความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงและอาจนำไปสู่การที่สหรัฐฯ จะดำเนินการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนตามมาตรา 232 ของกฎหมาย Trade Expansion Act of 1962 รวมทั้งความเสี่ยงจากผลการเจรจาเงื่อนไขทางการค้าระหว่างสหภาพยุโรปกับสหราชอาณาจักร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าและการลงทุนในภูมิภาค เช่นเดียวกับความเสี่ยงจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศสมาชิกสำคัญ ๆ ที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความขัดแย้งในแคว้นกาตาลุญญาของสเปน และปัญหาทางการคลังและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศที่ยังมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอ โดยเฉพาะกรีซ

เศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.6 ในปี 2563 ชะลอลงจากร้อยละ 1.0 ในปี 2562 ตามแนวโน้มการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนซึ่งเกิดจากการปรับเพิ่มภาษีการบริโภคในเดือนตุลาคม 2562 รวมทั้งแนวโน้มการขยายตัวอย่างช้า ๆ ของการผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งยังมีข้อจำกัดจากการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าและการแข็งค่าของเงินเยนในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการค้าและการลงทุนที่เกิดจากการปรับตัวของภาคธุรกิจต่อมาตรการกีดกันทางการค้า การปรับตัวดีขึ้นของบรรยากาศทางการค้าที่เกิดจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับสหภาพยุโรป (EPA) ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 รวมถึงข้อพิพาททางการค้ากับเกาหลีใต้ที่คลี่คลายลง ประกอบกับความคืบหน้าของข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามกันภายในปี 2563 รวมถึงปัจจัยสนับสนุนจากการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2563 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังมูลค่า 26 ล้านล้านเยน หรือ 2.38 แสนล้านดอลลาร์ สรอ.

เศรษฐกิจจีนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.7 ชะลอลงจากร้อยละ 6.1 ในปี 2562 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชนและ ภาครัฐวิสาหกิจภายใต้แผนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ รวมทั้งผลจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ในช่วงปีที่ผ่านมาซึ่งยังเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของการผลิตและการส่งออก ประกอบกับผลกระทบเพิ่มเติมจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของการผลิต การส่งออก และการใช้จ่ายในประเทศ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี แม้ว่าสถานการณ์การระบาดจะยังมีความไม่แน่นอนสูงและเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกในภาพรวม แต่สถานการณ์ล่าสุดแสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เริ่มปรับตัวลดลง และผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาเริ่มมีการคาดการณ์ว่าการระบาดจะเข้าสู่จุดสูงสุดในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน ก่อนที่จะยุติลงภายในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2563 ในขณะที่ภาคธุรกิจบางส่วนสามารถกลับมาเปิดทำการได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะทำให้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจจีนเริ่มผ่อนคลายลงในไตรมาสที่สอง ก่อนที่จะฟื้นตัวอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวคาดว่าธนาคารกลางจีนจะดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติม ทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ย การเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงินผ่านการลดสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ การดำเนินธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร รวมทั้งการปล่อยสินเชื่อของธนาคารเฉพาะกิจให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ7 รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อาทิ การลดค่าธรรมเนียมเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการขยายเพดานการก่อหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น เป็นต้น

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs)และเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ตามการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกและการผลิตท่ามกลางการผ่อนคลายลงของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และเงื่อนไขสภาพแวดล้อมทางการเงินที่ยังอยู่ในภาวะผ่อนคลาย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยังคงมีความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดจาก การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว รวมถึงความสัมพันธ์ในห่วงโซ่การค้าและการผลิต ทั้งนี้ ผลกระทบทางตรงที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งยังเป็นเงื่อนไขที่จะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยในกรณีฐานคาดว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะผ่อนคลายลงและสิ้นสุดลงในช่วงกลางไตรมาสที่สอง ซึ่งความรุนแรงของผลกระทบการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อประเทศต่าง ๆ จะขึ้นอยู่กับความพึ่งพิงทางเศรษฐกิจแต่ละประเทศต่อประเทศจีน โดยเฉพาะการส่งออกสินค้า การลงทุนโดยตรงจากประเทศจีน รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวจีน ทั้งนี้ คาดว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้ และสิงคโปร์ในปี 2563 มีแนวโน้มจะขยายตัวร้อยละ 2.2 และร้อยละ 1.0 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.0 และร้อยละ 0.7 ในปี 2562 ตามลำดับ ในขณะที่เศรษฐกิจฮ่องกงคาดว่าจะกลับมาขยายตัวร้อยละ 1.2 ฟื้นตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.2 ในปี 2562 ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจไต้หวันจะขยายตัวร้อยละ 2.2 ชะลอลงจากร้อยละ 2.7 ในปี 2562 ส่วนเศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.0 ร้อยละ 4.5 และร้อยละ 6.0 ตามลำดับ เทียบกับร้อยละ 5.0 ร้อยละ 4.3 ร้อยละ 5.9 ในปี 2562 ในขณะที่เศรษฐกิจเวียดนามในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.7 ชะลอลงจากร้อยละ 7.0 ในปี 2562

แม้กระนั้นก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่อาจทำให้เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ รวมทั้งทำให้ระบบการเงินโลกมี ความผันผวนมากขึ้น โดยมีเงื่อนไขที่จะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย (1) ความรุนแรงและระยะเวลาใน การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีนที่อาจมีความรุนแรง และยืดเยื้อกว่าการคาดการณ์ในกรณีฐาน รวมทั้งอาจจะขยายขอบเขตเป็นการแพร่ระบาดที่รุนแรงในประเทศอื่น ๆ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีน รวมทั้งเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในภาพรวมขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะข้อมูลในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อ 46,997 คน โดยแม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่จะเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ แต่พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1,368 ราย ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.91 สูงสุดในรอบ 20 วัน ซึ่งแสดงถึงสถานการณ์ความรุนแรงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง (2) ความเสี่ยงจากทิศทางและนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อประเทศอื่น ๆ ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อสหภาพยุโรปที่ยังคงมีความตึงเครียดในเกณฑ์สูงภายใต้เงื่อนไขข้อขัดแย้งสำคัญ ๆ อาทิ การจัดเก็บภาษีดิจิทัล (Digital Tax) การอุดหนุนอุตสาหกรรมการบินของยุโรป และการอ่อนค่าของสกุลเงินยูโร เช่นเดียวกับความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนซึ่งยังมีความเสี่ยง ที่จะกลับมาทวีความรุนแรงมากขึ้นในขั้นตอนของการเจรจาภายใต้ข้อตกลงทางการค้าฉบับที่ 1 โดยเฉพาะในประเด็นการอุดหนุนภาคอุตสาหกรรม และการเข้าถึงตลาดจีนของธุรกิจต่างชาติ และ (3) ความเสี่ยงจากปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจจีนที่อาจถูกซ้ำเติมโดย การชะลอตัวทางเศรษฐกิจซึ่งเกิดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานอ่อนแอ (เช่น กรีซ และอาร์เจนตินา) รวมทั้งปัญหาหนี้เสียของสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคารในอินเดีย

หมายเหตุ:

7 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563 ธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ลงร้อยละ 0.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 10.0 และล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ได้ดำเนินธุรกรรมการซื้อพันธบัตรโดยมีสัญญาจะขายคืน (Reverse repo operations) เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (Reverse repo rate) อายุ 7 วัน และ 14 วัน ลงร้อยละ 0.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.40 และร้อยละ 2.55 ตามลำดับ รวมถึงการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดการเงินผ่านข้อตกลงซื้อคืนพันธบัตรวงเงินรวม 1.7 ล้านล้านหยวน ในช่วงระหว่างวันที่ 3 - 4 กุมภาพันธ์ 2563

5. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563

เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2563 มีข้อจำกัดต่อขยายตัวมากขึ้น ทั้งในภาคเกษตรที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่มีความชัดเจนมากขึ้น ภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกที่ยังมีข้อจำกัดจากการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำของเศรษฐกิจโลกซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูง และภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะที่ความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณส่งผลให้แรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภาครัฐอยู่ในเกณฑ์ต่ำและเป็นข้อจำกัดต่อการใช้นโยบายการคลังในการบริหารจัดการเศรษฐกิจในครึ่งปีแรก แม้กระนั้นก็ตาม ในกรณีฐานคาดว่าข้อจำกัดที่เกิดจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณจะยุติลงในไตรมาสแรก และผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะสิ้นสุดลงในช่วงกลางไตรมาสที่สอง ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวคาดว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวเข้าสู่เกณฑ์ปกติในช่วงหลังของปี 2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ การขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจของอุปสงค์ภายในประเทศ แรงขับเคลื่อนจากมาตรการภาครัฐ และฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562

ปัจจัยสนับสนุน

1) การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจโลกท่ามกลางการผ่อนคลายลงของแรงกดดันจากมาตรการทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

และการลดลงของความเสี่ยงจากการแยกตัวแบบไร้ข้อตกลงของสหราชอาณาจักร แม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนและประเทศสำคัญ ๆ ผ่านการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว และผ่านห่วงโซ่การผลิตและการค้าระหว่างประเทศ แต่ในกรณีฐานคาดว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 จะสิ้นสุดลงและส่งผลให้ทางการจีนยุติมาตรการห้ามประชาชนเดินทางไปต่างประเทศภายในต้นเดือนพฤษภาคม 2563 ทำให้ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทยและต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะเริ่มผ่อนคลายลงในไตรมาสที่สอง ขณะที่ผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศและการส่งออกสินค้าที่เกิดจากการปิดทำการของภาคธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐมีแนวโน้มผ่อนคลายลงในไตรมาสแรกตามแผนการกลับมาเปิดทำการของหน่วยงานภาครัฐในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เงื่อนไขดังกล่าวคาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกและการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาทรงตัวและขยายตัวได้อย่างช้า ๆ ในช่วงครึ่งหลัง ของปี 2563

2) การขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งในด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ที่มีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ต่ำ มาตรการของภาครัฐในการดูแลรายได้และสนับสนุนการใช้จ่ายที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการลดลงของผลผลิตที่เกิดจากปัญหาภัยแล้งได้ในบางส่วน การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การลงทุนย้ายฐานการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าท่ามกลางความคืบหน้าของโครงการลงทุนสำคัญ ๆ ของภาครัฐทั้งในด้านการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่มีความชัดเจนมากขึ้น สอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้นของการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนในหมวดโรงงานในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา (2) การผ่อนคลายมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) และมาตรการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศของรัฐบาล และ (3) มาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศปี 2563 และมาตรการส่งเสริมการลงทุนและมาตรการรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package) และการลงทุนภาครัฐ ซึ่งมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามการเร่งเบิกจ่ายภายใต้โครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ที่มีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2563 - 2564 รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนประจำปีงบประมาณ 2563 ซึ่งจะสามารถชดเชยผลกระทบจากการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลที่เกิดจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณ ในครึ่งแรกของปีในบางส่วน

3) แรงขับเคลื่อนจากมาตรการภาครัฐ ประกอบด้วย (1) มาตรการการดูแลผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร SMEs และเศรษฐกิจฐานราก เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการดูแลรายได้และสินเชื่อผ่อนปรน มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ มาตรการพักชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ และให้เงินทุนหมุนเวียน เป็นต้น (2) มาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว (มติคณะรัฐมนตรี 4 กุมภาพันธ์ 2563) อาทิ การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การหักรายจ่ายจาก การอบรมสัมมนาภายในประเทศ การหักรายจ่ายสำหรับเงินได้ที่จ่ายสำหรับการปรับปรุงอาคาร สำหรับผู้ประกอบการโรงแรม และมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเงื่อนไขผ่อนปรนแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (3) มาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุน การลงทุนในประเทศ (มติคณะรัฐมนตรี 28 มกราคม 2563) เช่น การให้ผู้ประกอบการหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักร 2.5 เท่าของรายจ่ายจริง การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรจำนวน 146 รายการ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และ (4) มาตรการส่งเสริมการลงทุนและมาตรการรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package)อาทิ การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี สำหรับโครงการที่มีเงินลงทุนจริงอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2564

4) ฐานการขยายตัวที่ต่ำกว่าปกติในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ซึ่งเกิดจาก (1) การปิดทำการชั่วคราวของโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งทำให้ การผลิตในหมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 15.2 (2) การเปลี่ยนรุ่นของอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนส่วนหนึ่งที่ทำให้การผลิตรถยนต์ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ปรับตัวลดลงร้อยละ 21.4 (3) อุตสาหกรรมน้ำตาลซึ่งปรับตัวลดลงร้อยละ 22.1 และ (4) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนของภาครัฐซึ่งปรับตัวลดลงร้อยละ 65.4 อันเนื่องมาจากปัญหาความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณ เงื่อนไขดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจใน ไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนคาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าปกติ

ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง

1) การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว และผ่านห่วงโซ่การผลิตและ การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่เกิดจากการปิดทำการของหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจของจีน รวมถึงผ่านการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกในภาพรวมซึ่งทำให้การส่งออกสินค้าเริ่มมีข้อจำกัดในการขยายตัวมากขึ้น แม้ว่าผลกระทบดังกล่าวจะยังไม่ชัดเจนโดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความรุนแรงของการระบาด รวมทั้งขึ้นอยู่กับมาตรการของทางการจีนในการหยุดยั้งการแพร่ระบาด แต่ในกรณีฐานซึ่งประมาณการจากระยะเวลาและผลกระทบจากการระบาดของโรคซาร์ (SARs) ในปี 2546 คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะเข้าสู่จุดสูงสุดในช่วงเดือนมีนาคม และจะสิ้นสุดลงจนทำให้ทางการจีนยุติมาตรการห้ามประชาชนเดินทางไปต่างประเทศในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2563 ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2563 ลดลงจากปี 2562 ประมาณร้อยละ 7.1 และร้อยละ 8.0 ตามลำดับ โดยในปี 2563 คาดว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 37.0 ล้านคน และรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 1.73 ล้านล้านบาท ลดลงจากการคาดการณ์เดิมร้อยละ 11.5 และร้อยละ 11.5 ตามลำดับ ในขณะที่ผลกระทบผ่านห่วงโซ่การผลิตและการขนส่งระหว่างประเทศที่เกิดจากการปิดทำการของหน่วยงานรัฐและภาคธุรกิจคาดว่ายังมีแนวโน้มที่จะยังอยู่ในขอบเขตจำกัด สอดคล้องกับแผนการเปิดทำการของหน่วยงานรัฐและภาคธุรกิจซึ่งส่วนใหญ่มีกำหนดที่จะกลับมาเปิดทำการในช่วงประมาณวันที่ 17 - 24 กุมภาพันธ์ 2563 เช่นเดียวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนซึ่งในกรณีฐานคาดว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวช้าลงประมาณร้อยละ 0.2

2) สถานการณ์ภัยแล้งที่เริ่มมีความชัดเจนและเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการผลิตภาคเกษตรมากขึ้น โดยข้อมูลปริมาณน้ำใช้ได้จริงในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำรวมทั่วประเทศ ณ วันที่ 31 มกราคม 2563 อยู่ที่ 18,359 ล้านลูกบาศก์เมตร (หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.9 ของความจุระดับน้ำเก็บกักรวม) ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี โดยต่ำกว่าระดับ 27,813 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2562 (สัดส่วน ร้อยละ 39.3) และใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2558 (สัดส่วนร้อยละ 28) และ 2559 (สัดส่วนร้อยละ 21) ซึ่งเป็นปีที่สถานการณ์ ภัยแล้งมีความรุนแรงและส่งผลให้การผลิตในภาคเกษตรในปี 2558 และปี 2559 ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.5 และร้อยละ 1.2 ตามลำดับ เงื่อนไขดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทำให้การผลิตภาคเกษตรในปี 2563 ปรับตัวลดลงหากปริมาณฝนในช่วงที่เหลือของปีอยู่ในระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมา รวมทั้งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตในภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ หากสถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรงมากขึ้น

3) ความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณ ในกรณีฐานคาดว่างบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 จะสามารถเริ่มเบิกจ่ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ในต้นเดือนเมษายน 2563 ล่าช้าจากสมมติฐานเดิมซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มเบิกจ่ายได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เงื่อนไขดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทำให้การเบิกจ่ายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในไตรมาสที่สองและทั้งปีงบประมาณ 2563 อยู่ในระดับต่ำกว่าสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะเม็ดเงินจากการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนภาครัฐ โดยผลกระทบดังกล่าวคาดว่าจะทำให้วงเงินการเบิกจ่ายงบลงทุนลดลงจากสมมติฐานเดิมประมาณ 32,791 ล้านบาท

4) ความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก แม้ว่าเศรษฐกิจโลกในกรณีฐานจะยังมีแนวโน้มขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับประมาณการครั้งก่อนก็ตาม แต่ยังมีความเสี่ยงที่สำคัญ ๆ ที่อาจทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์และระบบการเงินโลกมีความผันผวนมากขึ้น ประกอบด้วย (1) สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่อาจยืดเยื้อและมีความรุนแรงกว่า การคาดการณ์ในกรณีฐาน (2) ความเสี่ยงของการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่มีความขัดแย้งกันในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ประเด็นการเก็บภาษีดิจิทัล (Digital tax) การอ่อนค่าของเงินยูโรท่ามกลางการขาดดุลการค้ามากขึ้นของสหรัฐฯ ที่มีต่อยุโรป การอุดหนุนอุตสาหกรรมการบินของยุโรป และการกลับมาใช้ทุ่นระเบิดสังหารของสหรัฐฯ รวมทั้งพัฒนาการของข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง (3) สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ความขัดแย้งในแคว้นกาตาลุญญาของสเปน สถานการณ์การประท้วงในฮ่องกงที่ยังคงยืดเยื้อ รวมทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในประเทศตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน (4) การปรับคาดการณ์ของนักลงทุนและการเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายการเงินของประเทศสำคัญ ๆ (5) ความเสี่ยงต่อการชะลอตัวรุนแรงและปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งอาจซ้ำเติมโดยปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 และ (6) ปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา อาทิ ภาระทางการคลังและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของกรีซ ความเสี่ยงกับ การผิดนัดชำระหนี้ของอาร์เจนตินา และปัญหาหนี้เสียของภาคธนาคารและบริษัทการเงินที่มิใช่ธนาคารของอินเดีย เป็นต้น

ข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2563

1) เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.2 และร้อยละ 2.4 เป็นการปรับลดลงจากร้อยละ 3.3 และร้อยละ 2.8 ในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะประเทศที่มีความเชื่อมโยงทางการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวกับจีนในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ภายใต้สมมติฐานการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังอยู่ในขอบเขตจำกัดและสิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคม คาดว่าเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2563 จะปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการขยายตัวร้อยละ 3.1 และร้อยละ 1.5 ในปี 2562 โดยมีปัจจัยสนับสนุน มาจากการผ่อนคลายลงของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน การลดลงของความเสี่ยงจากการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลงของสหราชอาณาจักร ความชัดเจนของข้อตกลงการค้า USMCA และการปรับตัวของห่วงโซ่การผลิตและการค้าระหว่างประเทศต่อมาตรการกีดกันทางการค้า รวมทั้งปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินของประเทศสำคัญในช่วงปี ที่ผ่านมา เงื่อนไขดังกล่าวคาดว่าจะช่วยให้ระบบการค้าและการลงทุนเริ่มฟื้นตัวเข้าสู่เสถียรภาพมากขึ้น และเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศสำคัญ ๆ รวมทั้งประเทศตลาดเกิดใหม่ กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ และประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจ

2) ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2563 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 30.7 - 31.7 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากค่าเฉลี่ย 31.0 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในปี 2562 และอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากค่าเฉลี่ย 30.5 - 31.5 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และประเทศสำคัญ ๆ ที่คาดว่ามีแนวโน้มที่จะคงการผ่อนคลายนโยบายการเงินไว้ในระดับเดิมมากขึ้น หลังจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา รวมทั้งสอดคล้องกับแนวโน้มการลดลงของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ที่เกิดจาก การลดลงของรายได้จากการส่งออกบริการท่องเที่ยวในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งในกรณีฐานคาดว่าจะทำให้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 150,000 ล้านบาท และแนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐฯ และประเทศสำคัญ ๆ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563

3) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2563 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 57.0 - 67.0 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล ใกล้เคียงกับราคาเฉลี่ยที่ 63.3 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล ในปี 2562 และเป็นการคงสมมติฐานในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบยังมีแรงกดดันด้านต่ำจาก (1) แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายสำคัญของโลก อาทิ สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น รวมถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง (2) ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 13.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบกับ 12.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2562 เนื่องจากการลดลงของข้อจำกัดด้านการขนส่งน้ำมันผ่านท่อและ การเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพการผลิตน้ำมันดิบจากแท่นขุดเจาะ และ (3) มาตรการลดการปล่อยกำมะถันจากน้ำมันเพื่อลดมลพิษทางอากาศขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO 2020) ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการน้ำมันดิบดูไบซึ่งมีกำมะถันสูงปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบไม่สามารถปรับตัวลดลงได้อย่างรวดเร็ว ได้แก่ (1) ความเป็นไปได้ที่การประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และชาติพันธมิตรนำโดยรัสเซีย (OPEC+) ระหว่างวันที่ 5 - 6 มีนาคม 2563 จะมีการพิจารณาการขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตจากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2563 ออกไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 และอาจพิจารณาปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมจาก 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็น 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ (2) ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางภายหลังการใช้อาวุธโจมตีทางอากาศระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน และนำมาสู่มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมต่ออิหร่านซึ่งอาจส่งผลให้ปริมาณการผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านลดลง รวมทั้งเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศสมาชิกกลุ่ม OPEC โดยเฉพาะอิรักและลิเบีย

4) ราคาสินค้าส่งออกและราคาสินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์ สรอ. คาดว่าในปี 2563 จะลดลงเล็กน้อยร้อยละ (-0.6) - 0.4 และร้อยละ (-0.6) - 0.4 โดยมีค่ากลางของช่วงสมมติฐานราคาส่งออกและราคานำเข้าอยู่ที่ร้อยละ -0.1 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 และร้อยละ 0.2 ในปี 2562 และเป็นการคงสมมติฐานจากการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบและ การปรับตัวลดลงของราคาสินค้าวัตถุดิบและราคาสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกชะลอตัวลง

5) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศปี 2563 จำนวน 1.73 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 8.0 จาก 1.88 ล้านล้านบาท ในปี 2562 ภายใต้สมมติฐานการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่คาดว่าจะเข้าสู่ช่วงสูงสุดในเดือนมีนาคมและจะสิ้นสุดลงในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในปี 2563 จำนวนรวมทั้งสิ้น 37.0 ล้านคน ลดลงร้อยละ 7.1 จากจำนวน 39.8 ล้านคนในปี 2562 และลดลงจาก 41.8 ล้านคน ในสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา แม้กระนั้นก็ตาม ผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อสมมติฐานจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการแพร่ระบาดและความรุนแรงของไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีน การขยายขอบเขตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศอื่น ๆ รวมทั้งการดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมสถานการณ์ของทางการจีนและประเทศอื่นๆ ที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่จะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

6) การเบิกจ่ายงบประมาณ ประกอบด้วย (1) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ร้อยละ 91.2 ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งเป็นการปรับลดจากสมมติฐานการเบิกจ่ายร้อยละ 92.0 ในประมาณการครั้งก่อน โดยมีสาเหตุจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณ (ในกรณีฐาน คาดว่าจะสามารถเริ่มเบิกจ่ายในต้นเดือนเมษายน 2563 เทียบกับการเริ่มเบิกจ่ายในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน)และอัตราการเบิกจ่ายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยคาดว่าอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำจะอยู่ที่ร้อยละ 98.0 (เท่ากับประมาณการครั้งก่อน) และอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนร้อยละ 65 (ลดลงจากร้อยละ 70.0 ในประมาณการครั้งก่อน) (2) อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณเหลื่อมปีอยู่ที่ ร้อยละ 70.0 ลดลงสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อนที่ร้อยละ 73.0 และ (3) อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 75.0 ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากสมมติฐานการเบิกจ่ายร้อยละ 80.0 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

ประมาณการเศรษฐกิจปี 2563

เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 1.5 - 2.5 (ค่ากลางการประมาณการร้อยละ 2.0) เทียบกับร้อยละ 2.4 ในปี 2562 อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.4 - 1.4 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 5.3 ของ GDP

ในการแถลงข่าววันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะขยายตัวร้อยละ 1.5 - 2.5 (ค่ากลางการประมาณการร้อยละ 2.0) ซึ่งเป็นการปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากร้อยละ 2.7 - 3.7 (ค่ากลางการประมาณการร้อยละ 3.2) ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 รวมทั้งปรับเปลี่ยนองค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับเงื่อนไขและการปรับเปลี่ยนสมมติฐานประมาณการที่สำคัญ ๆ ดังนี้

1) เศรษฐกิจไทยในปี 2563 เริ่มมีเงื่อนไขข้อจำกัดต่อการขยายตัวที่มากขึ้น ประกอบด้วย (1) สถานการณ์ภัยแล้งที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อ การผลิตภาคเกษตรอย่างชัดเจนมากขึ้น (2) การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีนและประเทศต่าง ๆ ในทุกภูมิภาคซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง และ (3) ความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณ เงื่อนไขดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลโดยตรงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงสมมติฐานประมาณการเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ ประกอบด้วย

(1) สถานการณ์ภัยแล้ง ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2563 ปริมาณน้ำใช้ได้จริงของเขื่อนและอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศอยู่ที่ 18,359 ล้านลูกบาศก์เมตร (หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.9 ของความจุระดับน้ำเก็บกักรวม) ต่ำกว่าระดับ 27,813 ล้านลูกบาศก์เมตร (สัดส่วนร้อยละ 39.3) ในปี 2562 และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2558 - 2559 ซึ่ง ณ ช่วงเดียวกันของปี 2558 ปริมาณน้ำอยู่ที่ระดับ 19,733 ล้านลูกบาศก์เมตร (สัดส่วนร้อยละ 23.2) ลดลงจาก 24,876 ล้านลูกบาศก์เมตร (สัดส่วนร้อยละ 35.4) ในปี 2557 ซึ่งการลดลงของปริมาณน้ำในปี 2558 เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การผลิต ในภาคเกษตรลดลงร้อยละ 6.5 แม้ว่าผลกระทบจากภัยแล้งต่อการผลิตภาคเกษตรและเศรษฐกิจโดยรวมในปี 2563 ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงโดยขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนในช่วงที่เหลือของปี แต่จากการคาดการณ์ล่าสุดของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าปริมาณน้ำฝนในปี 2563 จะอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์ภัยแล้งมีความชัดเจนและรุนแรงมากขึ้น เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ สศช. ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจตามผลกระทบทางตรงที่จะเกิดขึ้นหลังจากการระบุไว้เป็นปัจจัยเสี่ยงใน การประมาณการสำหรับการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562

(2) การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย โดยนับตั้งแต่ในช่วงวันที่ 24 มกราคม 2563 (ซึ่งเป็นวันแรกที่ทางการจีนประกาศให้บริษัทนำเที่ยวจีนยุติการดำเนินกิจกรรมต่างประเทศ) จนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมปรับตัวลดลงร้อยละ 33.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงร้อยละ 76.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางตรงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว การหยุดงานในประเทศจีนซึ่งจะส่งผลกระทบผ่านห่วงโซ่การผลิตและอุปสรรคในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และผลกระทบทางอ้อมผ่านการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกในภาพรวมยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง โดยขึ้นอยู่กับ (1) ระยะเวลาในการระบาด (2) ความรุนแรงของการแพร่ระบาด และ (3) มาตรการควบคุมสถานการณ์ของประเทศที่มี การระบาดของไวรัสโควิด-19 (เช่น การหยุดงาน และการห้ามประชาชนเดินทางออกนอกประเทศ) อย่างไรก็ตาม ภายใต้สมมติฐานเทียบเคียงระยะเวลา รูปแบบ และขนาดผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงการระบาดของโรคโคโรนาไวรัสสายพันธุ์กลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARs) ที่แพร่ระบาดในปี 2546 สามารถคาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีนจะเข้าสู่จุดสูงสุดในช่วงเดือนมีนาคมก่อนที่จะสิ้นสุดลงและทำให้ทางการจีนยกเลิกมาตรการห้ามการเดินทางออกนอกประเทศในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม (ระยะเวลา 4 เดือนนับจากวันที่ 30 มกราคม 2563 ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลก) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยในไตรมาสแรกลดลงร้อยละ 31.5 8 (นักท่องเที่ยวจีนลดลงร้อยละ 50.5 และนักท่องเที่ยวอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 23.8) ก่อนที่จะผ่อนคลายลงในช่วงไตรมาสที่สองเป็นการลดลงร้อยละ 4.2 (นักท่องเที่ยวจีนลดลงร้อยละ 20.1 และนักท่องเที่ยวอื่น ๆ กลับมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1) ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 150,000 ล้านบาท และลดลงจากสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมาประมาณ 230,000 ล้านบาท ในขณะที่ผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและอุปสรรคด้านการขนส่งสินค้ายังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในขอบเขตจำกัดตามแผนการเปิดทำการของหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศจีนภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563

(3) ความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 โดยในกรณีฐานคาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงต้นเดือนเมษายน ล่าช้ากว่าต้นเดือนกุมภาพันธ์ในสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เมื่อรวมกับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในช่วงไตรมาสแรกของงบประมาณที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าการคาดการณ์ทำให้มีการปรับลดอัตรางบประมาณรายจ่ายลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีและอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจลงเป็นร้อยละ 65.0 และร้อยละ 75.0 ของกรอบงบประมาณ ตามลำดับ

องค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

1) การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค (1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 ชะลอลงจากร้อยละ 4.5 ในปี 2562 และเป็นการปรับลดจากร้อยละ 3.7 ในการประมาณการครั้งก่อน ตามแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจและฐานรายได้ในภาพรวมที่อยู่ในระดับต่ำกว่าการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะฐานรายได้ในภาคการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบจาก การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และฐานรายได้ในภาคเกษตรซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง รวมทั้งแนวโน้มการลดลงของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกซึ่งนักท่องเที่ยวชาวไทยยังคงระมัดระวังสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะยังขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งการดำเนินนโยบายของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร และแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของฐานรายได้ในภาคการส่งออก และ (2) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.6 เท่ากับประมาณการครั้งก่อน และเร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในปี 2562 สอดคล้องกับกรอบวงเงินรายจ่ายประจำภายใต้งบประมาณประจำปี 2563

2) การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.2 ในปี 2562 โดยการลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.8 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.2 ในปี 2562 แต่เป็นการปรับลดจากร้อยละ 6.5 ในการประมาณการครั้งก่อน ตามการปรับลดสมมติฐานอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 65.0 ของวงเงินงบประมาณ ต่ำกว่าร้อยละ 70.0 ในสมมติฐานการประมาณครั้งที่ผ่านมาตามกระบวนการงบประมาณที่มีความล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ และการปรับลดสมมติฐานอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจจากร้อยละ 80.0 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมาเป็นร้อยละ 75.0 แม้กระนั้นก็ตาม การลงทุนภาครัฐทั้งปียังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนประจำปีงบประมาณ 2563 ร้อยละ 19.0 รวมทั้งปัจจัยสนับสนุนจากฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 และการเร่งตัวขึ้นของการเบิกจ่ายภายใต้โครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ที่มีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2563 - 2564 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.2 ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากร้อยละ 2.8 ในปี 2562 แต่เป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 4.2 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา สอดคล้องกับการปรับลดประมาณการการขยายตัวของภาคการส่งออกซึ่งส่งผลให้ความต้องการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตลดลงจากการประมาณการครั้งที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปียังมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) ความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐทั้งในด้านการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษและโครงการลงทุนด้านคมนาคมขนส่งที่มีความชัดเจนมากขึ้น และการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการในต่างประเทศ สอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์สูงและต่อเนื่องของการลงทุนก่อสร้างในหมวดโรงงานในครึ่งหลังของปี 2562 (2) การผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย (LTV) และ (3) การดำเนินมาตรการกระตุ้นการลงทุนเพิ่มเติมของภาครัฐ ทั้งในส่วนของมาตรการส่งเสริมการลงทุน มาตรการรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package) และมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563

3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.2 ในปี 2562 แต่เป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยเป็นผลจาก (1) การปรับลดประมาณการปริมาณการส่งออกสินค้าจากการขยายตัวร้อยละ 2.4 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมาเป็นร้อยละ 1.5 ตามการปรับลดสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกจากร้อยละ 3.3 และร้อยละ 2.8 เป็นร้อยละ 3.2 และร้อยละ 2.4 ตามลำดับ และ (2) การปรับลดประมาณการปริมาณ การส่งออกบริการตามการปรับลดสมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2563 จาก 41.8 ล้านคนในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เป็น 37.0 ล้านคน ซึ่งส่งผลให้รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 150,000 ล้านบาท (ภายใต้เงื่อนไขการระบาดของไวรัสโควิด-19 เข้าสู่จุดสูงสุดในเดือนมีนาคมและสิ้นสุดลงจนทำให้เงื่อนไขการเดินทางออกนอกประเทศของนักท่องเที่ยวจีนยุติลงในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม) เมื่อรวมกับการปรับลดประมาณการส่งออกทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 0.9 ลดลงจากร้อยละ 3.5 ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า

(4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.4 ในปี 2562 และเป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 3.5 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากการปรับลดประมาณการปริมาณการนำเข้าสินค้าที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.6 ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการปรับลดประมาณการการขยายตัวของการส่งออก และการลงทุนรวมทั้งภาคเอกชนและภาครัฐลงจากการประมาณการครั้งก่อน เมื่อรวมกับการปรับลดการนำเข้าบริการตามแนวโน้มการลดลงของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางออกนอกประเทศ ทำให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ต่ำกว่าร้อยละ 3.9 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

5) ดุลการค้า คาดว่าจะเกินดุลประมาณ 24.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากการเกินดุล 26.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2562 แต่เป็นการปรับเพิ่มเล็กน้อยจากการเกินดุล 23.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการครั้งก่อน โดยเป็นผลจากการปรับลดการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าที่เร็วกว่ามูลค่าการส่งออก เมื่อรวมกับการเกินดุลบริการที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงตามรายรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ คาดว่าจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 29.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือคิดเป็นร้อยละ 5.3 ของ GDP เทียบกับการเกินดุลร้อยละ 6.8 ในปี 2562 และลดลงจากร้อยละ 5.6 ในการประมาณการครั้งก่อน

6) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.4 - 1.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จากร้อยละ 0.7 ในปี 2562 และใกล้เคียงกับร้อยละ 0.5 - 1.5 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

หมายเหตุ:

8 ต่ำกว่าสัดส่วนการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 2 ในช่วงการระบาดของโรค SARs เนื่องจากผลกระทบในกรณีการระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มต้นในช่วงปลายเดือนมกราคม 2563 ในขณะที่ผลกระทบกรณีโรค SARs ในไตรมาสที่สองของปี 2546 เกิดขึ้นเต็มไตรมาส

6. ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค

เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปียังมีข้อจำกัดในการขยายตัว ทั้งในภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกที่ยังมีข้อจำกัดจากการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำของเศรษฐกิจโลกซึ่งยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง รวมถึงภาคการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่องซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะที่ความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณส่งผลให้แรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภาครัฐอยู่ในเกณฑ์ต่ำและเป็นข้อจำกัดต่อการใช้นโยบายการคลังในการบริหารจัดการเศรษฐกิจในครึ่งปีแรก แม้กระนั้นก็ตาม ในกรณีฐานคาดว่า ข้อจำกัดที่เกิดจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 จะสิ้นสุดลงภายในช่วงครึ่งปีแรก และส่งผลให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวตามปกติในช่วงครึ่งปีหลัง ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว การบริหารเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจึงควรให้ความสำคัญกับการประสานนโยบายและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกด้านเพื่อประคับประคองสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่มีต่อ SMEs และผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะในภาคเกษตรและการท่องเที่ยว รวมทั้งการเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจสามารถกลับมาขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพภายหลังจากข้อจำกัดด้านงบประมาณและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลง โดยประเด็น การบริหารเศรษฐกิจมหภาคที่ควรให้ความสำคัญ ประกอบด้วย

1) การประสานนโยบายการเงินการคลัง เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในครึ่งปีแรก และสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวในครึ่งปีหลัง รวมทั้งผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะสามารถกลับสู่เป้าหมายนโยบายการเงินที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน

2) การขับเคลื่อนและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว เพื่อให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีไม่ต่ำกว่า 37.0 ล้านคน และรายได้จากการท่องเที่ยว

ไม่ต่ำกว่า 1.73 ล้านล้านบาท โดยให้ความสำคัญกับ (1) การผ่อนปรนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จองห้องพักและบริการท่องเที่ยวในด้านต่าง ๆ แต่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้สามารถเลื่อนการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและใช้บริการภายหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลงโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม (2) การจัดแผนการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมและจูงใจให้นักท่องเที่ยวไทยที่มีความประสงค์ที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศแต่ระงับการเดินทางในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้หันมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น (3) การเตรียมการและจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเพิ่มเติมในช่วงครึ่งหลังของปีหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลง (4) การประชาสัมพันธ์จุดแข็งของประเทศไทยในด้านการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลง รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศและการจับจ่ายใช้สอยในสถานที่สาธารณะ (5) การร่วมมือกับภาคเอกชนในการพิจารณาวันหยุดเพิ่มเติมหรือการเลื่อนวันหยุด สำหรับพนักงานในช่วงครึ่งปีแรกโดยไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากการปรับตัวลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะในช่วงก่อนเดือนพฤษภาคม และ (6) การดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 โดยเฉพาะมาตรการสินเชื่อให้เข้าถึงเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมาตรการการหักลดภาษีค่าใช้จ่ายสำหรับการอบรมสัมมนาของภาคเอกชน

3) การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถกลับมาขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.0 (ไม่รวมทองคำ) โดยให้ความสำคัญกับ (1) การเร่งรัดเป้าหมายการส่งออก การจัดทำแผนขับเคลื่อนการส่งออก และการขับเคลื่อนตามแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย (2) การให้ความสำคัญกับ การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสจากการเบี่ยงเบนทิศทางทางการค้าซึ่งเริ่มมีบทบาทต่อการขับเคลื่อนการส่งออกในครึ่งหลังของปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจนมากขึ้น (3) การให้ความสำคัญกับสินค้าส่งออกที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีน โดยเฉพาะในกลุ่มวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ อาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร รวมทั้งสินค้าที่สามารถใช้ทดแทนสินค้าของประเทศจีนในช่วงที่จีนยังมีปัญหาอุปสรรคในการส่งออก (4) การให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตและการค้าไทยจีน และ (5) การเร่งรัดดำเนินการหาข้อสรุปของการเจรจาภายใต้กรอบความร่วมมือทางการค้าที่สำคัญ ๆ อาทิ กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) และ ไทย - สหภาพยุโรป รวมทั้งให้ความสำคัญกับการร่วมมือระหว่างไทย - สหราชอาณาจักร

4) การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยมีเป้าหมายการเบิกจ่ายที่สำคัญ ๆ ประกอบด้วย (1) การเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ร้อยละ 91.2 ของวงเงินงบประมาณ โดยแบ่งเป็น การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนอยู่ที่ร้อยละ 98.0 และร้อยละ 65.0 ตามลำดับ (2) การเบิกจ่ายงบประมาณเหลื่อมปีอยู่ที่ร้อยละ 70.0 และ (3) การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 75.0 ของวงเงินงบประมาณ โดยให้ความสำคัญกับ การเร่งรัดการเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายเหลื่อมปีและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในช่วงที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ยังไม่มีผลบังคับใช้ การกำหนดเป้าหมายและติดตามผลการเบิกจ่ายของหน่วยงานภาครัฐเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายหลังจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มีผลบังคับใช้ และการเตรียมแนวทางและมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์ในกรณีที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีความยืดเยื้อมากกว่าที่คาดการณ์และส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ

5) การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญกับ (1) การติดตามและขับเคลื่อนมาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศที่ผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยเฉพาะมาตรการรองรับการย้ายฐาน การผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package) และมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศปี 2563 (2) การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ ทั้งในส่วนของโครงการลงทุนที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โครงการที่ผ่านการอนุมัติของ ครม. และโครงการที่อยู่ระหว่างและรอนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (3) การเร่งรัดการเจรจาข้อตกความร่วมมือทางการค้าที่สำคัญ ๆ ให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว และ (4) การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการชาวต่างชาติให้ความเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะในประเด็นการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ การขอใบอนุญาตทำงานของชาวต่างชาติและการขอ วีซ่า ขั้นตอนระบบศุลกากร และปัญหาค่าเงินบาท เป็นต้น

6) การดูแลผู้มีรายได้น้อย ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยการติดตามขับเคลื่อนมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบันให้สามารถเข้าถึงเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและมีวงเงินเพียงพอต่อการรองรับสภาพปัญหาที่มี ความรุนแรงมากขึ้น ควบคู่ไปกับการพิจารณาให้ความสำคัญเพิ่มเติมกับ (1) กลุ่มเกษตรกรที่ทำงานในภาคบริการในช่วงนอกฤดูการเพาะปลูกและฤดูการเก็บเกี่ยว (2) กลุ่มพนักงานในสาขาการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องซึ่งมีความเสี่ยงจากการถูกเลิกจ้างในช่วงการปรับตัวลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินมาตรการเพื่อชะลอการถูกเลิกจ้าง (3) กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ในภาคเกษตรและ การท่องเที่ยว (4) การเร่งรัดเบิกจ่ายเงินชดเชยความเสียหายที่เกิดจากปัญหาภัยแล้งและการเยียวยาฟื้นฟู และ (5) การบริหารจัดการน้ำและบริหารจัดการการผลิตเพื่อลดผลกระทบต่อภาคเกษตร รวมถึงป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและบริการในพื้นที่ที่เป็นฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมและบริการที่สำคัญ ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ