ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองของปี 2563 และแนวโน้มปี 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 17, 2020 13:16 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

กองยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค

แถลงข่าว วันที่ 17 สิงหาคม 2563 เวลา 09.30 น.

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2563 ปรับตัวลดลงร้อยละ 12.2 ต่อเนื่องจาก การลดลงร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อนหน้า (%YoY) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2563 ลดลงจากไตรมาสแรกของปี 2563 (%QoQ_SA) ร้อยละ 9.7 รวมครึ่งแรกของปี 2563 เศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงร้อยละ 6.9

ด้านการใช้จ่าย การส่งออกสินค้าและบริการ และการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลง ขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐกลับมาขยายตัว ด้านการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาอุตสาหกรรม สาขาเกษตรกรรม สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาการขายส่งการขายปลีก และสาขาไฟฟ้าและก๊าซ ปรับตัวลดลง ในขณะที่การผลิต สาขาก่อสร้าง สาขาการเงินและการประกันภัย และสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ขยายตัว

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะปรับตัวลดลงในช่วงร้อยละ (-7.8) - (-7.3) เนื่องจาก (1)การปรับตัวลดลงมากของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ (2) ภาวะถดถอยรุนแรงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก (3) ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศ และ (4) ปัญหาภัยแล้ง โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 10.0 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมปรับตัวลดลงร้อยละ 3.1 และร้อยละ 5.8 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ (-1.2) - (-0.7) และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 2.5 ของ GDP

ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2563 ควรให้ความสำคัญกับ การป้องกันการกลับมาระบาดของไวรัสในประเทศ ควบคู่ไปกับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ ในประเด็นสำคัญ ๆ ประกอบด้วย (1) การประสานนโยบายการเงินการคลังเพื่อสนับสนุน การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโดย (i) การเร่งรัดติดตามมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับเงื่อนไขในการฟื้นตัวของแต่ละภาคธุรกิจ (ii) การติดตามและป้องกันปัญหาในบางภาคการผลิตที่อาจส่งผลกระทบเชื่อมโยงไปยังภาคการเงิน และ (iii) การสร้างสภาพแวดล้อมทางการเงินเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (2) การพิจารณามาตรการเพิ่มเติมสำหรับธุรกิจและแรงงานในสาขาเศรษฐกิจ ที่ยังมีปัญหาอุปสรรคในการฟื้นตัว โดยเฉพาะ (i) กลุ่มธุรกิจและแรงงานในภาคการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง (ii) กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังมีศักยภาพในการฟื้นตัวแต่ยังมีปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงมาตรการภาครัฐ (iii) กลุ่มธุรกิจและแรงงานที่อยู่ในช่วงของการปิดกิจการชั่วคราว รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ว่างงานและแรงงานที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ (3) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าและสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญกับ (i) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จาก การเบี่ยงเบนทิศทางทางการค้าและการย้ายฐานการผลิตในช่วงก่อนหน้า รวมทั้งกลุ่มสินค้า ที่ได้รับประโยชน์เพิ่มเติมจากการระบาดของโรคโควิด 19 (ii) การใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของประเทศไทยในด้านขีดความสามารถในการควบคุมการระบาดของโรค และ (iii) การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศภายในกลุ่มอาเซียน (4) การดูแล ภาคการเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งและการลดลงของราคาสินค้าส่งออกโดยให้ความสำคัญกับ (i) การจัดหาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำ (ii) การชดเชยเยียวยาเกษตรกร (iii) การปรับเปลี่ยนการผลิตในภาคเกษตร และ (iv) การสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรออนไลน์และบริการโลจิสติกส์ต้นทุนต่ำ (5) การขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐภายใต้กรอบสำคัญ ๆ ทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ในไตรมาสแรก และงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนมาตรการสร้างศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาว (6) การส่งเสริมไทยเที่ยวไทยและการรณรงค์ ใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศ (7) การเตรียมการรองรับความเสี่ยงสำคัญ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากความยืดเยื้อของการระบาดของโรคและการกลับมาระบาดในระลอกที่สอง ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก และเงื่อนไขความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจการเงินโลกในระยะปานกลาง และ (8) การรักษาบรรยากาศทางการเมืองในประเทศเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่ยังมีความเปราะบาง และมีความไม่แน่นอนอยู่สูงทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลาง

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2563 และแนวโน้มปี 2563

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2563 ปรับตัวลดลงร้อยละ 12.2 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ด้านการใช้จ่าย การส่งออกสินค้าและบริการ และการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลง ขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐกลับมาขยายตัว ด้านการผลิต สาขา ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาอุตสาหกรรม สาขาเกษตรกรรม สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาการขายส่งการขายปลีก และสาขาไฟฟ้าและก๊าซ ปรับตัวลดลง ในขณะที่การผลิตสาขาก่อสร้าง การเงินการประกันภัย และสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ขยายตัว เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2563 ลดลงจากไตรมาสแรกของปี 2563 (QoQ_SA) ร้อยละ 9.7 รวมครึ่งแรกของปี 2563 เศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงร้อยละ 6.9

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2563

1) การบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค และการดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งทำให้ การบริโภคภาคเอกชนลดลงทั้งในหมวดสินค้าคงทน กึ่งคงทน และหมวดบริการ สอดคล้องกับการลดลงของการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าและบริการสำคัญ ๆ เช่น การซื้อยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 43.0) การใช้จ่ายเกี่ยวกับเสื้อผ้าและรองเท้า (ลดลงร้อยละ 21.4) การใช้จ่ายในร้านอาหารและโรงแรม (ลดลงร้อยละ 45.8) การใช้จ่ายซื้อสินค้าเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (ลดลงร้อยละ 17.1) อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายเพื่อค่าน้ำและ ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เทียบกับการปรับตัวลดลงร้อยละ 2.8 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายรวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 22.3 (สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 19.7 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)

รวมครึ่งแรกของปี 2563 การบริโภคภาคเอกชนลดลงร้อยละ 2.1 และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลลดลงร้อยละ 0.7

2) การลงทุนรวม ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 6.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลงร้อยละ 15.0 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 5.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลดลงของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรและการลงทุนในสิ่งก่อสร้าง ร้อยละ 18.4 และร้อยละ 2.1 ตามลำดับ และการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 9.3 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลงทุนรัฐบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.0 ในขณะที่การลงทุนรัฐวิสาหกิจลดลงร้อยละ 0.8 สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ ร้อยละ 17.9 เทียบกับอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 10.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 16.8 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

รวมครึ่งแรกของปี 2563 การลงทุนรวมลดลงร้อยละ 7.2 โดยการลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 10.2 ขณะที่การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2

3) การส่งออกสินค้า ตามระบบดุลการชำระเงินมีมูลค่า 49,787 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 17.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 16.1 และราคาส่งออกลดลงร้อยละ 2.0 กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น ข้าว (ลดลงร้อยละ 0.9) ยางพารา (ลดลงร้อยละ 41.0) น้ำตาล (ลดลงร้อยละ 28.4) รถยนต์นั่ง (ลดลงร้อยละ 45.2) รถกระบะและรถบรรทุก (ลดลงร้อยละ 67.7) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 45.0) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ลดลงร้อยละ 23.4) เคมีภัณฑ์ (ลดลงร้อยละ 20.4) ปิโตรเคมี (ลดลงร้อยละ 18.9) และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 42.7) เป็นต้น กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น ผลไม้ (ร้อยละ 47.4) ปลากระป์องและปลาแปรรูป (ร้อยละ 17.9) ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 23.4) อาหารสัตว์ (ร้อยละ 24.0) และคอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 5.8) เป็นต้น การส่งออกสินค้าไปยังตลาด สหรัฐฯ จีน กลับมาขยายตัว ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น อาเซียน (9) สหภาพยุโรป (15) ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง (15) ปรับตัวลดลง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 21.4 และมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปของเงินบาทลดลงร้อยละ 16.8

การส่งออกสินค้าคิดเป็นมูลค่า 110,654 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 8.2 รวมครึ่งแรกของปี 2563

4) สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง ลดลงร้อยละ 3.2 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 9.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ลดลงร้อยละ 28.2) มันสำปะหลัง (ลดลงร้อยละ 5.1) และข้าวเปลือก (ลดลงร้อยละ 43.7) ส่วนผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ กลุ่มไม้ผล (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9) ปาล์มน้ำมัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3) และยางพารา (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9) ตามลำดับ การผลิตหมวดประมงลดลงร้อยละ 16.1 ในขณะที่หมวดปศุสัตว์ขยายตัวร้อยละ 6.2 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรโดยรวมลดลงร้อยละ 1.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 8.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีราคาสินค้าสำคัญที่ปรับตัวลดลง เช่น ราคายางพารา (ลดลงร้อยละ 27.0) ราคาสุกร (ลดลงร้อยละ 5.2) ราคาไก่เนื้อ (ลดลงร้อยละ 7.1) ราคามันสำปะหลัง (ลดลงร้อยละ 10.1) ราคากุ้งขาวแวนนาไม (ลดลงร้อยละ 3.5) ส่วนดัชนีราคาสินค้าสำคัญที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ราคาข้าวเปลือก (เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7) ราคาปาล์มน้ำมัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.5) ราคาอ้อย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4) และราคาไข่ไก่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8) การลดลงของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและดัชนีราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมลดลงร้อยละ 6.0 ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน

รวมครึ่งแรกของปี 2563 การผลิตสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมงลดลงร้อยละ 6.7 โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 9.2 ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 และดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมลดลงร้อยละ 6.1

5) สาขาการผลิตอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 14.4 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้าสอดคล้องกับการลดลงของการส่งออกและอุปสงค์ในประเทศ โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 - 60 ลดลงร้อยละ 50.9 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก(สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ลดลงร้อยละ 13.1 และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ(สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ลดลงร้อยละ 7.6 ตามลำดับ อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 52.9 เทียบกับ ร้อยละ 66.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 65.0 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ลดลง เช่น การผลิต ยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 68.8) การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 15.5) การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป (ลดลงร้อยละ 39.4) เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น การผลิตสัตว์น้ำบรรจุกระป์อง (ร้อยละ 28.6) การผลิตเภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค (ร้อยละ 15.4) และการผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูป (ร้อยละ 7.0) เป็นต้น

รวมครึ่งแรกของปี 2563 การผลิตสาขาการผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 8.3 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 12.9 อัตรา การใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 59.9

6) สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ลดลงร้อยละ 50.2 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 23.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและนักท่องเที่ยวชาวไทยซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจาก การท่องเที่ยว 0.019 ล้านล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 97.1 โดยรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยอยู่ที่ 0.019 ล้านล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 92.7 ในขณะรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในไตรมาสนี้ลดลงทั้งหมด อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6.51 ลดลงจากร้อยละ 51.50 ในไตรมาสก่อนหน้า และลดลงจากร้อยละ 70.79 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

รวมครึ่งแรกของปี 2563 การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารลดลงร้อยละ 36.2 โดยรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 0.332 ล้านล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงร้อยละ 66.2 และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 29.01

7) สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ลดลงร้อยละ 38.9 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 6.0 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศ การท่องเที่ยว และการผลิตในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมซึ่งทำให้ความต้องการบริการขนส่งลดลง โดยบริการขนส่งทางอากาศลดลงร้อยละ 89.6 บริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียงลดลงร้อยละ 43.9 และบริการขนส่งทางน้ำลดลงร้อยละ 2.2 ตามลำดับ ประกอบกับบริการสนับสนุนการขนส่งลดลงต่อเนื่องร้อยละ 26.1 ในขณะที่บริการไปรษณีย์ขยายตัวต่อเนื่อง ร้อยละ 22.9 และเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับรายรับของผู้ประกอบการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

รวมครึ่งแรกของปี 2563 การผลิตสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าลดลงร้อยละ 21.7 โดยบริการขนส่งลดลงร้อยละ 23.0 บริการสนับสนุนการขนส่งลดลงร้อยละ 14.0 ขณะที่บริการไปรษณีย์ขยายตัวร้อยละ 14.0

8) สาขาการผลิตที่ขยายตัวได้ในไตรมาสนี้ ประกอบด้วย สาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 7.4 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 9.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของการก่อสร้างภาครัฐ สาขาการเงินและการประกันภัยขยายตัวร้อยละ 1.7 ชะลอลงจากขยายตัวร้อยละ 4.5 ในไตรมาสก่อนหน้า และ สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.2

รวมครึ่งแรกของปี 2563 การผลิตสาขาก่อสร้างลดลงร้อยละ 1.3 สาขาการเงินและการประกันภัยขยายตัวร้อยละ 3.1 และสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2563

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะปรับตัวลดลงในช่วงร้อยละ (-7.8) - (-7.3) เป็นการปรับลดจากการลดลงร้อยละ (-6.0) - (-5.0) ในการประมาณการครั้งก่อน (ณ 18 พฤษภาคม 2563) โดยเศรษฐกิจทั้งปีมีข้อจำกัดจาก (1)การปรับตัวลดลงมากของจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ (2) ภาวะความถดถอยรุนแรงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก (3) ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศ และ (4) ปัญหาภัยแล้ง ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 10.0 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมปรับตัวลดลงร้อยละ 3.1 และร้อยละ 5.8 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ (-1.2) - (-0.7) และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 2.5 ของ GDP

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองของปี 2563 ในด้านต่าง ๆ เป็นดังนี้

ด้านการใช้จ่าย

การบริโภคภาคเอกชน: ปรับตัวลดลงตามฐานรายได้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค และการดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างไรก็ดี การเยียวยาของภาครัฐ ช่วยลดผลกระทบไม่ให้การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลงรุนแรงเกินไป ไตรมาสที่สองของปี 2563 การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลงร้อยละ 6.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นการลดลงของการใช้จ่าย ในกลุ่มสินค้าและบริการสำคัญ เช่น การซื้อยานยนต์ลดลงร้อยละ 43.0 สอดคล้องกับการลดลงของยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถยนต์เชิงพาณิชย์ และรถจักรยานยนต์ร้อยละ 58.0 ร้อยละ 42.9 และร้อยละ 28.1 ตามลำดับ การใช้จ่ายเกี่ยวกับเสื้อผ้าและรองเท้าลดลงร้อยละ 21.4 สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มร้อยละ 21.5 การใช้จ่ายในร้านอาหารและโรงแรมลดลงร้อยละ 45.8 สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคารร้อยละ 75.2 การใช้จ่ายในสินค้าเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ลดลงร้อยละ 17.1 สอดคล้องกับการลดลงของปริมาณการจำหน่ายเบียร์ร้อยละ 41.1 อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายเพื่อค่าน้ำและค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนร้อยละ 11.1 เนื่องจากการมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และการทำงานในรูปแบบ Work from Home ของประชาชน โดยการลดลงของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในไตรมาสนี้เป็นผลจากการปรับตัวลดลงของฐานรายได้ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโรคโควิด 19 และการดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาระดับการบริโภคภาคเอกชนไม่ให้ปรับตัวลดลงรุนแรงเกินไป สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 40.3 เทียบกับระดับ 49.7 ในไตรมาสก่อนหน้า

รวมครึ่งแรกของปี 2563 การบริโภคภาคเอกชนลดลงร้อยละ 2.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.2 ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562

การลงทุนภาคเอกชน: ปรับตัวลดลงตามการลดลงของการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและหมวดการก่อสร้าง ในไตรมาสที่สองของปี 2563 การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลงร้อยละ 15.0 เทียบกับการลดลง ร้อยละ 5.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรลดลงร้อยละ 18.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.7 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ปริมาณ การจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ และยอดจดทะเบียนยานยนต์ใหม่ ที่ลดลงร้อยละ 19.6 ร้อยละ 22.5 และร้อยละ 24.5 ตามลำดับ สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้าง ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า และดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศขยายตัวร้อยละ 2.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 35.2 เทียบกับระดับ 45.1 ในไตรมาสก่อนหน้า

รวมครึ่งแรกของปี 2563 การลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 10.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.4 ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562

การส่งออก: มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวลดลงตามภาวะความถดถอยของเศรษฐกิจและการค้าโลก ประกอบกับอุปสรรคด้านการขนส่งที่มีข้อจำกัดและมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น การส่งออกสินค้าในไตรมาส ที่สองของปี 2563 มีมูลค่า 49,787 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 17.8 (ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่สอง ของปี 2552 ที่ลดลงร้อยละ 25.6) เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 16.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ คู่ค้า และภาวะความถดถอยทางเศรษฐกิจและการค้าโลกในภาพรวม รวมทั้งข้อจำกัดและการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านการขนส่ง โดยปริมาณการส่งออกสินค้าประมง และสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 7.9 และร้อยละ 18.6 ตามลำดับ ขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 3.6 ส่วนราคาสินค้าส่งออกลดลงร้อยละ 2.0 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 21.4 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า การส่งออกในรูปของเงินบาท การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 1,592 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 16.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อนหน้า

รวมครึ่งแรกของปี 2563 การส่งออกสินค้าคิดเป็นมูลค่า 110,654 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 8.2 เทียบกับ การลดลงร้อยละ 4.0 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 7.1 และราคาส่งออกลดลงร้อยละ 1.2 การส่งออกในรูปของเงินบาทเป็นมูลค่า 3,497 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 8.2 เทียบกับการลดลง ร้อยละ 4.4 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 4.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 10.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ มันสำปะหลัง และผลไม้ เป็นต้น ขณะที่การส่งออก ข้าว ยางพารา และน้ำตาล ปรับตัวลดลง การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ ประกอบด้วย มันสำปะหลัง มูลค่าการส่งออก ขยายตัวร้อยละ 0.3 ตามการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศจีน และเกาหลีใต้เป็นสำคัญ สอดคล้องกับ ความต้องการของประเทศคู่ค้าที่เริ่มฟื้นตัว ผลไม้ มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 47.4 ตามการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกทุเรียน ลิ้นจี่ และส้ม ไปยังประเทศจีน เป็นสำคัญ ข้าว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 0.9 ตามการลดลงของการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะแอฟริกาใต้ จีน และแคมเมอรูน เนื่องจากประเทศ ผู้ส่งออกรายอื่นนอกเหนือจากไทยเริ่มกลับมาส่งออกข้าวมากขึ้น ทำให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดข้าว ในตลาดสำคัญ ยางพารา มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 41.0 ตามการลดลงของการส่งออกไปยังประเทศจีน มาเลเซีย สหรัฐฯ และญี่ปุ่น เป็นสำคัญ เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ยอดการสั่งซื้อรถยนต์ลดลงส่งผลต่อการผลิตยางรถยนต์ของผู้ผลิตรายใหญ่ น้ำตาล มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 28.4 ตามการลดลงของการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะอินโดนีเซียเนื่องจากความต้องการบริโภคน้ำตาลในตลาดโลกชะลอตัว ประกอบกับภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูลดลง มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 20.6 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ คู่ค้า และอุปสรรคด้านการขนส่งที่จำกัดและมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 18.6 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า และราคาส่งออกลดลงร้อยละ 2.5 ต่อเนื่องจาก การลดลงร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ รถยนต์นั่ง (ลดลงร้อยละ 45.2) รถกระบะและรถบรรทุก (ลดลงร้อยละ 67.7) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 45.0) อิเล็กทรอนิกส์ (ลดลงร้อยละ 6.6) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ลดลงร้อยละ 23.4) เคมีภัณฑ์ (ลดลงร้อยละ 20.4) ปิโตรเคมี (ลดลงร้อยละ 18.9) และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 42.7) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่มูลค่าส่งออกขยายตัว ประกอบด้วย ปลากระป์องและปลาแปรรูป (ร้อยละ 17.9) ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 23.4) อาหารสัตว์ (ร้อยละ 24.0)คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 5.8) อากาศยาน เรือ แท่น และรถไฟ (ร้อยละ 63.3) มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงลดลงร้อยละ 12.7 โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 7.9 และราคาส่งออกลดลงร้อยละ 5.2 สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ กุ้ง ปู กั้ง และล็อบสเตอร์ (ลดลงร้อยละ 15.3) เป็นต้น สินค้าส่งออกอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.5 เป็นผลจาก การเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปร้อยละ 73.3

ตลาดส่งออก: การส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ จีน ขยายตัว ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น อาเซียน (9) สหภาพยุโรป (15) ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง (15) ปรับตัวลดลง การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ กลับมาขยายตัวร้อยละ 8.9 เมื่อหักอาวุธและยานพาหนะซ้อมรบออกแล้ว มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.1 ตามการขยายตัวของการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด (แผงโซลาร์เซลล์) อาหารทะเลกระป์องและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น เช่นเดียวกับการส่งออกไปยังตลาดจีนกลับมาขยายตัวร้อยละ 12.1 ตามการเพิ่มขึ้นของการส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์ยาง และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นปรับตัวลดลงร้อยละ 13.5 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 5.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และเครื่องจักรและส่วนประกอบ เป็นต้น เช่นเดียวกับการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน (9) ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 22.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน (5) ร้อยละ 19.7 และกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ร้อยละ 25.8 ส่วนการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป (15) ลดลงร้อยละ 30.3 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 3.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นสำคัญ การส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลียลดลงร้อยละ 16.1 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลาง (15) ลดลงร้อยละ 19.7 ตามการลดลงของการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นสำคัญ

มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าสอดคล้องกับการลดลงของการส่งออก อุปสงค์ในประเทศ และราคานำเข้าสินค้า ในไตรมาสที่สองของปี 2563 การนำเข้ามีมูลค่า 41,746 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 23.4 (ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6) เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 19.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงในทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าทุน และวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ลดลงร้อยละ 16.3 ร้อยละ 19.4 และร้อยละ 13.6 ตามลำดับ ส่วนราคานำเข้าลดลงร้อยละ 5.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.9. ในไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ หากไม่รวมการนำเข้าทองคำ มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 21.5 การนำเข้าในรูปของเงินบาท มีมูลค่ารวม 1,335 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 22.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า

รวมครึ่งแรกของปี 2563 การนำเข้าสินค้าคิดเป็นมูลค่า 94,562 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 12.3 โดยปริมาณและราคานำเข้าลดลงร้อยละ 9.7 และร้อยละ 3.0 ตามลำดับ การนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 2,986 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 12.4

ในรายหมวด มูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าทุน วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสินค้านำเข้าอื่น ๆปรับตัวลดลง มูลค่าการนำเข้าหมวดอุปโภคบริโภค ลดลงร้อยละ 15.5 โดยปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 16.3 สอดคล้องกับการลดลงของการบริโภคภาคเอกชนในประเทศ ขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์จากสัตว์และประมง และสิ่งทอ เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าทุนลดลงร้อยละ 18.3 โดยเป็นการลดลงของปริมาณนำเข้าร้อยละ 19.4 สอดคล้องกับการลดลงของการลงทุน ในประเทศ ขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง เช่น เครื่องจักรกลอื่น ๆ และชิ้นส่วน อากาศยาน และหม้อแปลง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า มอเตอร์ และเครื่องเก็บประจุไฟฟ้า เป็นต้น มูลค่า การนำเข้าหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางลดลงร้อยละ 23.4 สอดคล้องกับการลดลงของการส่งออก โดยเป็นการลดลงทั้งปริมาณและราคานำเข้าร้อยละ 13.6 และร้อยละ 11.3 ตามลำดับ สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง ได้แก่ น้ำมันดิบ วัสดุที่ทำด้วยโลหะ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 46.0 ตามการลดลงของการนำเข้าทองคำ (ไม่รวมทองรูปพรรณ) และยานยนต์ ซึ่งลดลงร้อยละ 76.1 และร้อยละ 39.3 ตามลำดับ

อัตราการค้า (Term of Trade) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าเนื่องจากราคานำเข้าลดลงร้อยละ 5.1 เร็วกว่าการลดลงของราคาส่งออกร้อยละ 2.0 ส่งผลให้อัตราการค้าเพิ่มขึ้นจากระดับ 108.3 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นระดับ 111.7 ในไตรมาสที่สองของปี 2563

รวมครึ่งแรกของปี 2563 อัตราการค้าอยู่ที่ระดับ 110.5 เทียบกับระดับ 108.5 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยราคานำเข้าลดลงร้อยละ 3.0 และราคาส่งออกลดลงร้อยละ 1.2

ดุลการค้าเกินดุล ในไตรมาสที่สองของปี 2563 ดุลการค้าเกินดุล 8.04 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (257.1 พันล้านบาท) ต่ำกว่าการเกินดุล 8.05 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (253.6 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า แต่สูงกว่าการเกินดุล 6.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (189.3 พันล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

รวมครึ่งแรกของปี 2563 ดุลการค้าเกินดุล 16.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (510.7 พันล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 12.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (398.8 พันล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

สาขาเกษตรกรรม: ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศแห้งแล้ง ประกอบกับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีปริมาณน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ในไตรมาสที่สองของปี 2563 การผลิตสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมงลดลงร้อยละ 3.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 9.8 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรร้อยละ 4.7 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยผลผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลงแต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ (1) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลดลงร้อยละ 28.2 เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง ประกอบกับการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด และ (2) มันสำปะหลังลดลงร้อยละ 5.1 เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง และปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นมันสำปะหลัง ส่วนผลผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลงต่อเนื่องได้แก่ (1) ข้าวเปลือก ลดลงร้อยละ 43.7 เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง และปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน (2) อ้อย ลดลงร้อยละ 100.0 เนื่องจากอ้อยปีการผลิต 2562/63 ปิดหีบเร็วกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และ (3) กุ้งขาวแวนนาไม ลดลงร้อยละ 16.1 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ความต้องการบริโภคกุ้งจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศลดลง ส่งผลให้เกษตรกรชะลอการลงลูกกุ้ง ในขณะที่ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ ที่ขยายตัว ได้แก่ กลุ่มไม้ผล (ร้อยละ 10.9) ไก่เนื้อ (ร้อยละ 15.0) ปาล์มน้ำมัน (ร้อยละ 4.3) ยางพารา (ร้อยละ 0.9) และไข่ไก่ (ร้อยละ 1.0) ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 1.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 8.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ เช่น (1) ยางพารา ลดลงร้อยละ 27.0 ตามปริมาณผลผลิตยางพาราที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการใช้ยางธรรมชาติปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (2) สุกร ลดลงร้อยละ 5.2 ตามปริมาณความต้องการบริโภคเนื้อสุกรภายในประเทศที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (3) ไก่เนื้อลดลงร้อยละ 7.1 ตามปริมาณผลผลิตไก่เนื้อภายในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับราคาไก่เนื้อในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง (4) มันสำปะหลัง ลดลงร้อยละ 10.1 เป็นผลจากสถานการณ์ภัยแล้ง ส่งผลให้หัวมันสำปะหลังมีขนาดเล็กและเปอร์เซ็นต์เชื้อแป้งต่ำ และ (5) กุ้งขาวแวนนาไม ลดลงร้อยละ 3.5 เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้ความต้องการบริโภคกุ้งภายในประเทศและต่างประเทศปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ราคาข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 ราคาปาล์มน้ำมัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.5 ราคาอ้อย เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 ราคากลุ่มไม้ผล เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 และราคาไข่ไก่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เป็นต้น ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมลดลงร้อยละ 6.0 ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน

รวมครึ่งแรกของปี 2563 การผลิตสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมงลดลงร้อยละ 6.7 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 0.6 ในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 9.2 ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 และดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมลดลงร้อยละ 6.1

สาขาอุตสาหกรรม: ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจาก การลดลงของเศรษฐกิจโลก และการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมือง (Lockdown) เนื่องจากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในไตรมาสที่สองของปี 2563 การผลิตสาขาการผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 14.4 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมร้อยละ 20.0 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนส่งออกในช่วงร้อยละ 30 - 60 ลดลงร้อยละ 50.9 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 19.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของการผลิตสินค้าสำคัญ ๆ โดยเฉพาะยานยนต์ลดลงร้อยละ 68.8 ยางนอกและยางในลดลงร้อยละ 46.5 จักรยานยนต์ลดลงร้อยละ 57.5 การทอผ้าลดลงร้อยละ 40.1 เป็นต้น ส่วนน้ำตาลลดลงร้อยละ 36.5 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ลดลงร้อยละ 13.1 ปรับตัวลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการผลิตสินค้าสำคัญ ๆ ปรับตัวลดลง เช่น เครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป (เครื่องปรับอากาศ) (ลดลงร้อยละ 39.4) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ลดลงร้อยละ 7.2) ส่วนการผลิตสินค้าสำคัญ ๆ ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เช่น ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ (ลดลงร้อยละ 9.9) เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (ลดลง ร้อยละ 18.4) และเครื่องมือทางการแพทย์และทันตกรรม (ลดลงร้อยละ 39.6) ตามลำดับ และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ลดลงร้อยละ 7.6 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการผลิตสินค้าสำคัญ ๆ ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 15.5) เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน (ลดลงร้อยละ 19.4) มอลต์และสุราที่ทำจากข้าวมอลต์ (ลดลงร้อยละ 43.8) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมสำหรับยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 61.9) และของที่ทำจากลวด (ลดลงร้อยละ 21.9) ตามลำดับ อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 52.9 ลดลงจากร้อยละ 66.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และลดลงจากร้อยละ 65.0 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ลดลง เช่น ยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 68.8) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 15.5) เครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้งานทั่วไป (เครื่องปรับอากาศ) (ลดลงร้อยละ 39.4) น้ำตาล (ลดลงร้อยละ 36.5) ยางนอกและยางใน (ลดลงร้อยละ 46.5) เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน (ลดลงร้อยละ 19.4) จักรยานยนต์ (ลดลงร้อยละ 57.5) มอลต์และสุราที่ทำจากข้าวมอลต์ (ลดลงร้อยละ 43.8) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ลดลงร้อยละ 7.2) และการทอผ้า (ลดลงร้อยละ 40.1) เป็นต้น

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น สัตว์น้ำบรรจุกระป์อง (ร้อยละ 28.6) เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค (ร้อยละ 15.4) อาหารสัตว์สำเร็จรูป (ร้อยละ 7.0) ผลิตภัณฑ์คอนกรีต (ร้อยละ 5.2) ปุ์ยเคมีและสารประกอบไนโตรเจน (ร้อยละ 18.7) ผลิตภัณฑ์นม (ร้อยละ 5.6) กระป์องและภาชนะที่ทำจากโลหะ (ร้อยละ 7.0) การฆ่าสัตว์ปีกและเนื้อสัตว์ปีกสด แช่เย็นหรือแช่แข็ง (ร้อยละ 3.9) น้ำมันพืช (ยกเว้นน้ำมันปาล์ม) (ร้อยละ 18.3) และสายไฟและเคเบิลอื่น ๆ ชนิดใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า (ร้อยละ 4.8) เป็นต้น

รวมครึ่งแรกของปี 2563 การผลิตสาขาการผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 8.3 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 1.5 ในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 12.9 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 59.9

สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร: ปรับตัวลดลงมากเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศในไตรมาสนี้ ในไตรมาสที่สองของปี 2563 การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารลดลงร้อยละ 50.2 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 23.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 0 คน ลดลงร้อยละ 100.0 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 38.0 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังคงมีการระบาดในทุกภูมิภาคของโลก ส่งผลให้ประเทศไทยจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 รวมทั้งการออกคำสั่งให้ปิดด่านตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศ และประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ที่ห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็น การชั่วคราว (ฉบับที่ 1 - 5) ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ส่งผลให้ตลอดทั้งไตรมาส ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย รายรับรวมจากการท่องเที่ยว 0.019 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 97.1 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 38.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ลดลงทั้งหมดหรือลดลงร้อยละ 100.0 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 40.4 ในไตรมาสก่อนหน้า (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 0.019 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 92.7 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 33.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6.51 ลดลงจากร้อยละ 51.50 ในไตรมาสก่อนหน้า และลดลงจากร้อยละ 70.79 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

รวมครึ่งแรกของปี 2563 การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารลดลงร้อยละ 36.2 จากการขยายตัวร้อยละ 6.7 ในช่วงครึ่งปีหลังของปีที่ผ่านมา โดยรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 0.332 ล้านล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงร้อยละ 66.2 และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 29.01

สาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์: ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในไตรมาสที่สองของปี 2563 การผลิตสาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ลดลงร้อยละ 9.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.8 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีรวมการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ร้อยละ 24.3 ประกอบด้วย (1) ดัชนีการขายส่ง (ยกเว้นยานยนต์และจักรยานยนต์) ลดลงร้อยละ 21.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 10.4 ในไตรมาสก่อนหน้าโดยหมวดการขายส่งของใช้ในครัวเรือนลดลงร้อยละ 50.9 (โดยเฉพาะการขายส่งนาฬิกาและเครื่องประดับ) ในขณะที่หมวด การขายส่งอาหารเครื่องดื่มและยาสูบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 (2) ดัชนีการขายปลีก (ยกเว้น ยานยนต์และจักรยานยนต์) ลดลงร้อยละ 22.5 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยหมวดร้านขายปลีกสินค้าประเภทอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 33.9 (เช่น ร้านขายปลีกเครื่องประดับ และร้านขายปลีกสินค้าใหม่อื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น) และหมวดร้านขายปลีกในร้านค้าทั่วไปลดลงร้อยละ 10.5 และ (3) ดัชนีการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ ลดลงร้อยละ 37.1 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 12.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยหมวดการขายยานยนต์ ลดลงร้อยละ 38.5 และหมวดการขายชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมของยานยนต์ลดลงร้อยละ 36.3

รวมครึ่งแรกของปี 2563 สาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ลดลงร้อยละ 1.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.3 ในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา โดยดัชนีการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ลดลงร้อยละ 24.4 ดัชนีการขายส่ง (ยกเว้นยานยนต์และจักรยานยนต์) ลดลงร้อยละ 5.7 และดัชนีการขายปลีก (ยกเว้นยานยนต์และจักรยานยนต์) ลดลงร้อยละ 12.1

สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า: ปรับตัวลดลง ตามการลดลงของบริการขนส่ง โดยเฉพาะบริการขนส่งทางอากาศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในไตรมาสที่สองของปี 2563 การผลิตสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าลดลงร้อยละ 38.9 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 6.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยบริการขนส่งลดลงร้อยละ 41.4 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 6.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการลดลงของทั้งบริการขนส่งผู้โดยสารและบริการขนส่งสินค้า ประกอบด้วย (1) บริการขนส่งทางอากาศลดลงร้อยละ 89.6 (2) บริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียงลดลงร้อยละ 43.9 และ (3) บริการขนส่งทางน้ำลดลง ร้อยละ 2.2 ประกอบกับบริการสนับสนุนการขนส่งลดลงร้อยละ 26.1 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 2.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่บริการไปรษณีย์ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 22.9 สอดคล้องกับรายรับ ของผู้ประกอบการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

รวมครึ่งแรกของปี 2563 การผลิตสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าลดลงร้อยละ 21.7 เทียบกับ การขยายตัวร้อยละ 3.5 ในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา โดยบริการขนส่งลดลงร้อยละ 23.0 บริการสนับสนุนการขนส่งลดลงร้อยละ 14.0 ขณะที่บริการไปรษณีย์ขยายตัวร้อยละ 14.0

สาขากิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย: ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของกิจกรรมบริการทางการเงิน ในขณะที่กิจกรรมการประกันภัยปรับตัวลดลงในไตรมาสที่สองของปี 2563 การผลิตสาขากิจกรรมทางการเงินและการประกันภัยขยายตัวร้อยละ 1.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยกิจกรรมบริการทางการเงินขยายตัวในอัตราชะลอตัวลง เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากรายการสินเชื่อของบริษัทผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงินยังคงขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่ออุปโภคบริโภคอื่นของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลง ส่วนกิจกรรมการประกันภัยลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของทั้งบริการด้านธุรกิจการประกันชีวิตและบริการด้านธุรกิจการประกันวินาศภัย โดยเฉพาะการลดลงของธุรกิจการประกันรถยนต์ ซึ่งสอดคล้องกับการลดลงของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์

รวมครึ่งแรกของปี 2563 การผลิตสาขากิจกรรมทางการเงินและการประกันภัยขยายตัวร้อยละ 3.1 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.6 ในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา โดยกิจกรรมบริการทางการเงินขยายตัวร้อยละ 3.9 ในขณะที่กิจกรรมการประกันภัยลดลงร้อยละ 2.0

สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร: ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการลดลงของบริการการจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ฯ บริการการจัดพิมพ์ฯ และบริการการผลิตภาพยนตร์ วีดิทัศน์ฯ เป็นสำคัญ ในขณะที่บริการโทรคมนาคมและบริการสารสนเทศยังคงขยายตัวได้ ในไตรมาสที่สองของปี 2563 การผลิตสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า เกิดจาก การขยายตัวของบริการโทรคมนาคมในอัตราที่ชะลอตัว ตามการชะลอตัวของรายรับผู้ประกอบการรายการกิจกรรมการโทรคมนาคมแบบไร้สาย ขณะที่ รายการกิจกรรมการโทรคมนาคมแบบใช้สายขยายตัวเร่งขึ้น ประกอบกับการขยายตัวต่อเนื่องของบริการจัดผังรายการและการแพร่ภาพกระจายเสียง และบริการสารสนเทศ อย่างไรก็ดีบริการการจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องปรับตัวลดลง และกิจกรรมอื่น ๆ เช่น บริการการจัดพิมพ์จำหน่ายหรือเผยแพร่ และบริการการผลิตภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และรายการโทรทัศน์ การบันทึกเสียงลงบนสื่อ และการจัดพิมพ์จำหน่ายหรือเผยแพร่ดนตรี ปรับตัวลดลงมาก

รวมครึ่งแรกของปี 2563 การผลิตสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 ชะลอตัวลงจาก การขยายตัวร้อยละ 9.5 ในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา โดยบริการโทรคมนาคมขยายตัวร้อยละ 5.0 และบริการ การจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องลดลงร้อยละ 0.4

สาขาไฟฟ์า ก๊าซ และระบบปรับอากาศ: ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของกิจกรรมการผลิตไฟฟ์าและกิจกรรมโรงแยกก๊าซ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ในไตรมาสที่สองของปี 2563 การผลิตสาขาไฟฟ้า ก๊าซ และระบบปรับอากาศปรับตัวลดลงร้อยละ 13.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดย (1) กิจกรรมการผลิตไฟฟ้าปรับตัวลดลงร้อยละ 12.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ เนื่องจากกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยเฉพาะบริการโรงแรมและภัตตาคาร รวมถึงห้างสรรพสินค้าที่หยุดกิจการในช่วงมาตรการปิดเมือง อย่างไรก็ตาม การใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือนปรับตัวเพิ่มขึ้นจากมาตรการการปฏิบัติงาน ณ ที่พักอาศัย (Work from Home) และ (2) กิจกรรมโรงแยกก๊าซลดลงร้อยละ 16.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและภาคขนส่งปรับตัวลดลง

รวมครึ่งแรกของปี 2563 การผลิตสาขาไฟฟ้า ก๊าซ และระบบปรับอากาศลดลงร้อยละ 6.4 เทียบกับ การขยายตัวร้อยละ 1.1 ในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา โดยกิจกรรมการผลิตกระแสไฟฟ้าลดลงร้อยละ 6.3 และกิจกรรมโรงแยกก๊าซลดลงร้อยละ 7.4

สาขาก่อสร้าง:ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการก่อสร้างภาครัฐที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งการก่อสร้างของรัฐบาลและการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจ ส่วนการก่อสร้างภาคเอกชนปรับตัวลดลงต่อเนื่องแต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสที่สองของปี 2563 การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 7.4 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 9.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวร้อยละ 15.6 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 13.4 ในไตรมาสก่อนหน้า (การก่อสร้างของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 22.3 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 29.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 3.4) อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างภาคเอกชนลดลงร้อยละ 2.1 แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย และการก่อสร้างอาคารที่มิใช่ที่อยู่อาศัย (เช่น อาคารพาณิชย์ และอาคารโรงงาน) ปรับตัวลดลง ตามการลดลงของอุปสงค์ภายในประเทศ ในขณะที่สิ่งก่อสร้างอื่น ๆ กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างลดลงร้อยละ 3.6 และเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ตามการลดลงของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (ลดลงร้อยละ 14.0) หมวดคอนกรีต (ลดลงร้อยละ 2.6) และหมวดซีเมนต์ (ลดลงร้อยละ 1.1) เป็นสำคัญ

รวมครึ่งแรกของปี 2563 รวมครึ่งแรกของปี 2563 การผลิตสาขาก่อสร้างลดลงร้อยละ 1.3 เทียบกับ การขยายตัวร้อยละ 0.5 ในช่วงครึ่งหลังของปีผ่านมา โดยการก่อสร้างภาคเอกชนลดลงร้อยละ 3.2 อย่างไรก็ตามการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวร้อยละ 0.2

ผู้มีงานทำ: ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ตามการลดลงของทั้งผู้มีงานทำภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ในไตรมาสที่สองของปี 2563 ผู้มีงานทำรวมลดลงร้อยละ 1.9 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 0.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยผู้มีงานทำภาคเกษตร (สัดส่วนร้อยละ 30.96) ลดลงร้อยละ 0.3 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการที่ลดลงแต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง เป็นต้น และผู้มีงานทำนอกภาคเกษตร (สัดส่วนร้อยละ 69.04) ลดลงร้อยละ 2.5 ตามการปรับตัวลดลงของผู้มีงานทำในสาขาการผลิตอุตสาหกรรม สาขาก่อสร้าง สาขา ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมยานยนต์ฯ เป็นสำคัญ โดยการจ้างงานในภาคบริการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และ การดำเนินมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศในไตรมาสนี้ อัตราการว่างงาน ในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 2.0 สูงกว่าอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0 ในไตรมาสก่อนหน้าและในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีผู้ว่างงานจำนวน 7.5 แสนคน เทียบกับผู้ว่างงานจำนวน 3.8 แสนคนในช่วงเดียวกันในปีก่อน และเป็นไตรมาส ที่มีจำนวนผู้ว่างงานสูงที่สุดในรอบ 10 ปี (40 ไตรมาส)

เฉลี่ยครึ่งแรกของปี 2563 ผู้มีงานทำลดลงร้อยละ 1.3 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.5

ด้านการคลัง

ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 2562 - พฤษภาคม 2563) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,500,261 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 189,695 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.2 เป็นผลจากการปรับตัวลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและราคาสินค้าบางรายการ รวมทั้งการดำเนินมาตรการทางภาษีเพื่อบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนและเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยการขยายระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีต่าง ๆ และการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

การจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาลในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 ที่ต่ำกว่าการประมาณการในเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปี ได้แก่ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นผลจากการปรับตัวลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและราคาสินค้าบางรายการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการลดลงของเศรษฐกิจและการค้าโลก และ การประกาศใช้มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รวมทั้งผลกระทบจากการขยายระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีผ่านระบบอินเทอร์เน็ตออกไปจากในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2563 เป็นภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 (2) ภาษีเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากการขยายระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีสำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิของปี 2562 (ภ.ง.ด. 50) ออกไปเป็นภายในเดือนสิงหาคม 2563 สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลจากประมาณการกำไรสุทธิในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 (ภ.ง.ด. 51) ออกไปจนถึงเดือนกันยายน 2563 และการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่มีอัตราร้อยละ 3.0 เหลือ ร้อยละ 1.5 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึง 30 กันยายน 2563 สำหรับการจ่ายและนำส่งเงินได้พึงประเมินทุกวิธี และลดลงมาอยู่ในอัตราร้อยละ 2.0 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 เฉพาะการจ่ายและนำส่งด้วยวิธี E-withholding Tax (3) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นผลจากการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี พ.ศ. 2562 (ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91) ออกไปเป็นภายในเดือนสิงหาคม 2563 รวมทั้งการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินบางประเภทตามวิธีนำส่งที่กำหนด (4) ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ซึ่งมีการขยายระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีสำหรับภาษีที่ต้องชำระในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2563 ออกไปเป็นภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 (5) ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน เนื่องจากการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสินค้าน้ำมันฯ ที่ผลิตในประเทศในเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2563 และปริมาณการใช้น้ำมันที่ลดลงในช่วงที่มีการจำกัดการเดินทางในประเทศ และ (6) อากรขาเข้าและอากรขาออก ซึ่งลดลงตามมูลค่าการนำเข้าและการส่งออก

การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ในไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 1,027,275.1 ล้านบาท1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.3 (รายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นร้อยละ 54.2 และรายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8) ประกอบด้วย (1)การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จำนวน712,915.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีงบประมาณก่อนร้อยละ 20.8 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 22.3 สูงกว่าร้อยละ 19.7 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) จำแนกเป็น การเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 606,514.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.9 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 23.3 สูงกว่าร้อยละ 20.3 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) เป็นผลมาจากการเบิกจ่ายในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปเป็นสำคัญ การเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 106,401.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.7 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 17.9 สูงกว่าร้อยละ 16.8 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) เป็นผลมาจากการเบิกจ่ายในหมวดงบรายจ่ายอื่น และหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างเป็นสำคัญ

(2)การเบิกจ่ายงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 32,717.9 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 54.1 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 12.4 ต่ำกว่าร้อยละ 19.2 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) (3)การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวมบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)) จำนวน 49,789.0 ล้านบาท2ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 6.8 ตามการปรับลดแผนการลงทุนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นสำคัญ และ (4) การเบิกจ่ายเงินกู้นอกงบประมาณ จำนวน 234,663.2 ล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายในส่วนของเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan: DPL) 122.6 ล้านบาท และการเบิกจ่ายเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 จำนวน 234,540.6 ล้านบาท

รวม 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 มีการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐรวม 2,816,259.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.5 ประกอบด้วย (1) การเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จำนวน 2,253,485.2 ล้านบาท (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 70.4 ต่ำกว่าร้อยละ 71.7 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน) แบ่งเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 2,056,604.9 ล้านบาท (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 78.9 สูงกว่าร้อยละ 76.9 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน) และการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 196,880.3 ล้านบาท (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 33.1 ต่ำกว่าร้อยละ 48.7 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน) (2) การเบิกจ่ายงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปีจำนวน 176,190.9 ล้านบาท (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 66.9) (3) การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวมบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)) จำนวน 158,849.6 ล้านบาท3 และ (4) การเบิกจ่ายเงินกู้นอกงบประมาณรวมทั้งสิ้น 236,032.5 ล้านบาท

หมายเหตุ:

1 การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ประกอบด้วย (1) งบประมาณรายจ่ายประจำปี (2) งบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี (3) งบลงทุนรัฐวิสาหกิจของ สคร. ซึ่งไม่รวมบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และรายจ่ายลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี และ (4) เงินกู้นอกงบประมาณ

2 รวมรายจ่ายลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 2,810.5 ล้านบาท

3 รวมรายจ่ายลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 8,299.2 ล้านบาท

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 มีมูลค่าทั้งสิ้น 7,433,103.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44.8 ของ GDP ประกอบด้วย เงินกู้ภายในประเทศ 7,292,038.1 ล้านบาท (ร้อยละ 43.9 ของ GDP) และเงินกู้จากต่างประเทศ 141,065.0 ล้านบาท (ร้อยละ 0.8 ของ GDP) โดยแบ่งเป็นหนี้ของรัฐบาล 6,357,204.8 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 755,508.2 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 312,531.6 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 7,858.5 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 85.5 ร้อยละ 10.2 ร้อยละ 4.2 และร้อยละ 0.1 ของหนี้สาธารณะคงค้าง ตามลำดับ

ฐานะการคลัง: ในเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2563 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ 236,843 ล้านบาท เมื่อรวมกับการเกินดุลเงินนอกงบประมาณ 18,576 ล้านบาท และการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 292,420 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลเกินดุลเงินสดสุทธิ 74,153 ล้านบาท และเมื่อรวมกับเงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาสที่สองของปีงบประมาณ 2563 จำนวน 191,412 ล้านบาท ส่งผลให้ฐานะเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม มีจำนวนทั้งสิ้น 265,565 ล้านบาท

รวม 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลมีการขาดดุลงบประมาณ 738,384 ล้านบาท เกินดุลเงินนอกงบประมาณ 98,552 ล้านบาท และมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 392,442 ล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลยังคงขาดดุลเงินสดหลังกู้สุทธิ 247,390 ล้านบาท

ภาวะการเงิน

อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวลดลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ที่ประชุมมีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในประวัติการณ์ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มลดลงมากกว่าที่ประเมินไว้ เนื่องจากผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 ของประเทศต่าง ๆ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มลดลงมากกว่าที่คาด ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นและสอดประสานกับมาตรการการคลังของรัฐบาลและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้มีการดำเนินการไปในช่วงก่อนหน้า จะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับธนาคารกลางของประเทศในภูมิภาค อาทิ อินเดียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากร้อยละ 4.40 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.00 ต่อปี อินโดนีเซียปรับลดจากร้อยละ 4.50 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.25 ต่อปี มาเลเซียปรับลดจากร้อยละ 2.50 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี ฟิลิปปินส์ปรับลดจากร้อยละ 3.25 มาอยู่ที่ ร้อยละ 2.25 ต่อปี และเกาหลีใต้ปรับลดจากร้อยละ 0.75 มาอยู่ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี ขณะที่ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ สหรัฐ ฯ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.00 - 0.25 และจะคงอัตราดอกเบี้ย ไว้ที่ระดับดังกล่าวไปจนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งรักษาเสถียรภาพของราคาให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย เช่นเดียวกับธนาคารกลางของประเทศญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดา และนิวซีแลนด์ ที่ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2563 ธนาคารกลางของประเทศรัสเซีย อินโดนีเซีย และมาเลเซียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกร้อยละ 0.25 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 4.25 ร้อยละ 4.00 และร้อยละ 1.75 ต่อปี ตามลำดับ

ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสที่สองของปี 2563 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยปรับตัวลดลงจากร้อยละ 1.08 มาอยู่ที่ร้อยละ 0.64 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมแก่ลูกค้า รายใหญ่ชั้นดี (MLR) เฉลี่ย ปรับตัวลดลงจากร้อยละ 6.02 มาอยู่ที่ร้อยละ 5.53 ต่อปี ด้านธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ย มาอยู่ที่ร้อยละ 0.91 และ 6.25 จากระดับร้อยละ 1.20 และ 6.65 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ย มาอยู่ที่ร้อยละ 1.06 และ 6.19 ตามลำดับ ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงเฉลี่ยและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ที่แท้จริงเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้น ตามการลดลงของอัตราเงินเฟ้อ

ในเดือนกรกฎาคม 2563 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ คงอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ ส่วนธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการลดลงของอัตราเงินเฟ้อ

ยอดคงค้างสินเชื่อธุรกิจภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่สินเชื่อครัวเรือนเร่งตัวขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการการพักชำระเงินต้นและมาตรการสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนของภาครัฐณ สิ้นไตรมาสที่สองของปี 2563 ยอดคงค้างสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 3.5 เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อธุรกิจของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ขยายตัวร้อยละ 9.7 เทียบกับร้อยละ 0.7 ในไตรมาสก่อนหน้า และสินเชื่อธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 3.3 ชะลอตัวจากการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นภายหลังหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบของธนาคารพาณิชย์ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยสินเชื่อที่ให้กู้ยืมกับภาคการผลิตขยายตัวร้อยละ 1.6 ชะลอลงจากการขยายตัว ร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่เงินให้กู้ยืมด้านการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ด้านที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และด้านการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 15.7 ร้อยละ 14.3 และร้อยละ 8.2 เร่งขึ้นจาก การขยายตัวร้อยละ 11.1 ร้อยละ 1.0 และร้อยละ 6.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาเฉพาะสินเชื่อที่ให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในระบบของธนาคารพาณิชย์ (ไม่รวมกิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย) พบว่ายอดคงค้างปรับตัวลดลงร้อยละ 18.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นการปรับตัวลดลงในทุกสาขาที่มีวงเงินสินเชื่อคงค้างสูง ยกเว้นด้านที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ที่ขยายตัวร้อยละ 7.4 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 6.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่สินเชื่อครัวเรือน ในระบบของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 3.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อเพื่อการจัดหาที่อยู่อาศัย และการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลผ่านบัตรเครดิตปรับตัวลดลง

อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสที่สองของ ปี 2563 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 31.94 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงร้อยละ 2.11 จากค่าเฉลี่ยใน ไตรมาสก่อนหน้าตามสถานะการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย และเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินของประเทศในภูมิภาค อาทิ ค่าเงินของประเทศสิงคโปร์ อินเดีย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม อย่างไรก็ดี ค่าเงินของประเทศฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ไต้หวัน และญี่ปุ่น เคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าขึ้น สำหรับ การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงต้นไตรมาสมีปัจจัยสำคัญมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และมาตรการจำกัดการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง สู่ระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ในเดือนพฤษภาคม ขณะที่ช่วงปลายไตรมาสค่าเงินบาทกลับมาเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในสหรัฐฯ ที่ขยายตัวในวงกว้างและ มีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน สร้างความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งนี้ ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่น ๆ เคลื่อนไหวอ่อนค่าลง สะท้อนจากดัชนีค่าเงินบาท (NEER)4 ในไตรมาสที่สองอยู่ที่ 122.55 ลดลงจากค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 0.60

หมายเหตุ:

4 ธปท. เริ่มปรับใช้สกุลเงินพร้อมน้ำหนักใหม่ในการคำนวณดัชนีค่าเงินบาท (NEER) และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ในเดือนมีนาคม 2557 พร้อมปรับปีฐานของค่าดัชนีให้สอดคล้องกับปีที่ใช้คำนวณน้ำหนัก คือ ปี 2555 เพื่อให้สะท้อนถึงโครงสร้างทางการค้าตามความเป็นจริงได้ดียิ่งขึ้น

ในเดือนกรกฎาคม 2563 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 31.41 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากค่าเฉลี่ยในเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.8 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 หลังจากมีรายงานพบ ผู้ติดเชื้อไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่รัฐบาลกำหนดไว้ และความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ

ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2563 ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์เคลื่อนไหวผันผวนในทิศทางเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในต่างประเทศ เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีความรุนแรงมากขึ้นในหลายประเทศและเกิดการระบาดรอบใหม่ในบางประเทศ และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินมาตรการทางด้านการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบของประเทศต่าง ๆ และความก้าวหน้าของการพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรคโควิด 19 ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาสที่สอง ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ปิดที่ 1,339 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.92 จากไตรมาสก่อนหน้า โดยนักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิ 101.3 พันล้านบาท และนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยเป็นผู้ซื้อสุทธิ

ในเดือนกรกฎาคม 2563 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับลดลงจากเดือนมิถุนายน 2563 ร้อยละ 0.75 มาอยู่ที่ 1,329 จุด โดยมีปัจจัยกระทบสำคัญจาก(1) สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ (2) สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ - จีน (3) ความกังวลต่อการระบาดของโรคโควิด 19 รอบใหม่ในไทย และ (4) ความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายหลังการประกาศข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่สอง ซึ่งลดลงรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่อง

ตลาดตราสารหนี้โดยรวมมีเสถียรภาพมากขึ้นภายหลังจากการประกาศมาตรการเสริมสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ของภาครัฐ ได้แก่ การเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนรวมตราสารหนี้ การตั้งกองทุนรวมเสริมสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (Corporate Bond Stabilization Fund : BSF) และการซื้อคืนพันธบัตรในช่วงเดือนเมษายน โดยในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2563 มูลค่าซื้อขายธุรกรรมซื้อขาด (Outright Transaction) เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 78.9 พันล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด 19 ขณะเดียวกันการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติลดลงมาอยู่ที่ 6.8 พันล้านบาท เทียบกับสถานะขายสุทธิ 109.7 พันล้านบาท ในช่วงไตรมาสก่อนหน้า และเดือนมิถุนายนนักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิ 23.0 พันล้านบาท ด้านเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับตัวลดลงตาม ทิศทางการลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวนตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 รวมทั้งการดำเนินมาตรการทางด้านการเงินและการคลังภายในประเทศและต่างประเทศ และทิศทางการออกประมูลพันธบัตรรัฐบาล

ในเดือนกรกฎาคม 2563 นักลงทุนต่างชาติมีสถานะซื้อสุทธิต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยมียอดซื้อสุทธิ 17.9 พันล้านบาท โดยเป็นการขายในพันธบัตรระยะสั้นแต่ซื้อในพันธบัตรระยะยาว ทั้งนี้ การปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดตั้งกองทุนตราสารหนี้ที่เน้นการลงทุนในตราสารที่ต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ (High yield bond) เพื่อช่วยเหลือบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ (Bridge Financing) ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่อตลาดตราสารหนี้ไทยเพิ่มมากขึ้น

เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสุทธิ ในไตรมาสที่สองของปี 2563 (ข้อมูล 2 เดือน) นักลงทุนไทยนำเงินลงทุนกลับทั้งในรูปแบบการลงทุนโดยตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังคงนำเงินเข้ามาลงทุนโดยตรงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ดุลบัญชีเงินทุนเกินดุลหรือมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 8.79 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล ในไตรมาสที่สองของปี 2563 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 0.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (27.0 พันล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 5.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (170.5 พันล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อน และการเกินดุล 8.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (277.0 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจาก การเกินดุลการค้า 8.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (สูงกว่าการเกินดุล 6.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) และการขาดดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิ 8.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (สูงกว่าการขาดดุล 0.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)

รวมครึ่งแรกของปี 2563 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (250.0 พันล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 17.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (562.0 พันล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ 241.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี Net forward position อีก 24.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) คิดเป็นประมาณ 3.8 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ข้อมูลเบื้องต้น ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563) และเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 17.4 เดือน (ค่าเฉลี่ยมูลค่าการนำเข้า ในไตรมาสที่สองของปี 2563)

อัตราเงินเฟ์อทั่วไป ในไตรมาสที่สองของปี 2563 เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยลดลงร้อยละ 2.7 เทียบกับการเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนใหญ่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง เครื่องประกอบอาหาร เครื่องดื่มไม่มีแอลกฮอล์ร้อยละ 6.3 ร้อยละ 3.3 และร้อยละ 2.1 ตามลำดับ ในขณะที่ดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มปรับตัวลดลงร้อยละ 4.4 เทียบกับ การลดลงร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการปรับตัวลดลงของดัชนีราคาหมวดพลังงานร้อยละ 23.0 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 4.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 5

รวมครึ่งแรกของปี 2563 เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยลดลงร้อยละ 1.1 และเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3

ดัชนีราคาผู้ผลิต ในไตรมาสที่สองของปี 2563 ลดลงร้อยละ 4.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.4 ในไตรมาสแรกของปี 2563 เป็นผลจากการปรับตัวลดลงของราคาในหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองและหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นสำคัญ โดยราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองปรับตัวลดลงร้อยละ 19.8 ต่อเนื่องจากลดลงร้อยละ 3.7 ในไตรมาส ก่อนหน้า ตามการลดลงของราคาลิกไนต์ ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ ร้อยละ 23.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 3.8 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.0 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์เคมี ลดลงต่อเนื่อง และราคาผลผลิตเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 1.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการลดลงของราคาผลผลิตการเกษตร และสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ เป็นสำคัญ6

รวมครึ่งแรกของปี 2563 ดัชนีราคาผู้ผลิตเฉลี่ยลดลงร้อยละ 2.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.6 ในครึ่งหลังของ ปีก่อนหน้า

หมายเหตุ:

5 ในเดือนกรกฎาคม 2563 เงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 1.0 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เฉลี่ย 7 เดือนของปี 2563 เงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 1.1 และเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3

6 ในเดือนกรกฎาคม 2563 ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ 2.5 เฉลี่ย 7 เดือนแรก ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ 2.3

2. ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันไตรมาสที่สองของปี 2563

ราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสที่สองของปี 2563 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 30.57 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 53.4 จากค่าเฉลี่ย 65.58 ดอลลาร์ สรอ.ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 38.0 จากราคาเฉลี่ย 49.31 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในไตรมาสแรกของปี 2563

การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในไตรมาสนี้มีสาเหตุมาจาก (1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความวิตกกังวลของการแพร่ระบาดรอบสองของโรคโควิด 19 โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ ความต้องการน้ำมันดิบยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ (2) ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังเพิ่มขึ้น โดยการประกาศ คว่ำบาตรทางการเมืองและการค้าระหว่างประเทศ เพื่อตอบโต้การกระทำของทั้งสองฝ่าย

รวมครึ่งแรกของปี 2563 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 39.71 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 36.7 จากค่าเฉลี่ย 63.35 ดอลลาร์ สรอ.ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 34.4 จากราคาเฉลี่ย 60.55 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในครึ่งหลังของปี 2562

3. เศรษฐกิจโลกไตรมาสที่สองของปี 2563

ในไตรมาสที่สองของปี 2563 เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการลดลงอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจในหลายประเทศต่อเนื่องจากไตรมาสแรก และเป็นการลดลงต่ำสุดในประวัติการณ์ในเกือบทุกประเทศ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่รุนแรงมากขึ้นและครอบคลุมเป็นวงกว้างใน 213 ประเทศและ เขตการปกครองทั่วโลก ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดโดยจำกัดการเดินทางทั้งภายในและระหว่างประเทศ รวมทั้งการปิดสถานที่และระงับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของการแพร่เชื้ออย่างต่อเนื่อง แม้ว่าหลายประเทศจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศและส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ลดลง แต่มาตรการควบคุมดังกล่าวส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ทั้งภาคการผลิต การส่งออก การลงทุนและการบริโภค ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการจ้างงาน ดังจะเห็นได้จากอัตราว่างงานในหลายประเทศที่ปรับตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อาทิ สหรัฐฯ และฮ่องกง ในขณะที่เศรษฐกิจจีนกลับมาขยายตัวได้ในไตรมาสที่สองภายหลังจากรัฐบาลเริ่มผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาดตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ในบางพื้นที่ ส่งผลให้ภาคธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจและมีการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น

ท่ามกลางความไม่แน่นอนและความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รวมถึงการลดลงของเศรษฐกิจโลก ทำให้รัฐบาลในหลายประเทศต้องดำเนินมาตรการช่วยเหลือเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุข ประกอบด้วย (i) มาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากเศรษฐกิจประเทศหลักยังคงดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ อาทิ อินเดีย ไทย และฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ ธนาคารกลางของเศรษฐกิจหลักหลายประเทศยังดำเนินนโยบายการเงินที่ไม่ได้ใช้ในช่วงเวลาปกติ (Unconventional monetary policy) อย่างต่อเนื่อง อาทิ การเข้าซื้อสินทรัพย์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ระบบเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ขยายมาตรการการเข้าซื้อสินทรัพย์โดยไม่จำกัดวงเงิน ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้เพิ่มวงเงินเข้าซื้อสินทรัพย์ภายใต้ Pandemic Emergency Purchase Program ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังดำเนินมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลโดยไม่จำกัดวงเงิน และเพิ่มการซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้น รวมทั้งมาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจ SMEs ผ่านกองทุน New Fund-Provisioning Measure ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางหลายประเทศยังดำเนินมาตรการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งมาตรการค้ำประกันสินเชื่อภาคธุรกิจ และมาตรการพักชำระหนี้ชั่วคราว (ii) มาตรการทางการคลังเพื่อช่วยเหลือเพิ่มเติม อาทิ การเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐโดยตรง เงินโอนให้กับครัวเรือนและประชาชน มาตรการด้านภาษี เช่น การให้ขอคืนภาษีการจ้างงาน (Payroll tax) ของสหรัฐฯ การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนำเข้าของอุปกรณ์ทางการแพทย์ของยูโรโซน การลดเงินสมทบและค่าธรรมเนียม และการค้ำประกันสินเชื่อภาคธุรกิจ (iii) มาตรการลดผลกระทบด้านการจ้างงาน อาทิ การให้เงินอุดหนุนลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างหรือหยุดงาน การเพิ่มผลประโยชน์ให้แก่ผู้ว่างงาน การอุดหนุนนายจ้างเพื่อไม่ให้เลิกจ้าง และ (iv) มาตรการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพของประชาชนต่าง ๆ เป็นต้น

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่สอง (Advance Estimate) ลดลงร้อยละ 9.5 (%YoY) เทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วลดลงร้อยละ 32.9 (%QoQ saar) นับเป็นอัตรา การลดลงต่ำสุดในประวัติการณ์ ตามการลดลงของภาคการผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการ สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม ปรับลดมาอยู่ที่ 41.9 ต่ำสุดในรอบ 11 ปี และดัชนี PMI ภาคบริการอยู่ที่ 37.4 ต่ำสุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่ปี 2551 การลดลงของภาคการผลิตได้ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานอย่างชัดเจนมากขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรที่ลดลง 12.96 ล้านคน เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สองของปีก่อนหน้า ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 13.0 โดยในเดือนเมษายนอยู่ที่ร้อยละ 14.7 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสอดคล้องกับการชะลอตัวลงของการบริโภคภาคเอกชนที่ลดลงร้อยละ 10.7 ในขณะเดียวกัน การลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 17.8 ต่ำสุดในรอบ 43 ไตรมาส ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE Price Index) เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ลดลงจากร้อยละ 1.7 ในไตรมาสก่อน อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวร้อยละ 2.1 จากร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเนื่องจากการดำเนินมาตรการช่วยเหลือทางการคลังภายใต้ Cares Act มูลค่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. นอกจากนี้ ในส่วนของมาตรการทางการเงินคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.00-0.25 ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ภายหลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมด่วน (Unscheduled) เมื่อเดือนมีนาคม รวมถึงยังคงดำเนินมาตรการทางการเงินที่สำคัญอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือ สภาพคล่องภาคธุรกิจ อาทิ การขยายมาตรการการเข้าซื้อสินทรัพย์โดยไม่จำกัดวงเงิน มาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงิน (Money Market Mutual Fund Liquidity Facility: MMLF) มาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้กับครัวเรือนรวมถึงรัฐบาลท้องถิ่น (Municipal Liquidity Facility) มาตรการปล่อยสินเชื่อให้สถาบันการเงินที่เป็นคู่ค้าหลัก (Primary Dealer Credit Facility: PDCF) มาตรการการเข้าซื้อหรือขยายสินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (Main Street Lending Program) และครอบคลุมไปถึง Commercial Mortgagebacked Securities 7.

เศรษฐกิจยูโรโซน ในไตรมาสที่สอง ลดลงร้อยละ 15.0 (%YoY) นับเป็นอัตราการลดลงต่ำสุดในประวัติการณ์ และเมื่อปรับผลของฤดูกาลแล้ว เศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 2 ลดลงร้อยละ 12.1 (%QoQ sa.) โดยเศรษฐกิจประเทศสำคัญ ๆ ได้รับผลกระทบจากการระบาดอย่างรุนแรง ทั้งเศรษฐกิจเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ซึ่งลดลงร้อยละ 11.7 ร้อยละ 19.0 และร้อยละ 17.3 สอดคล้องกับการลดลงของดัชนี PMI Composite ที่ลดลงมาอยู่ที่ 31.3 จากระดับ 44.2 ในไตรมาสก่อนหน้า เช่นเดียวกับดัชนี PMI ภาคบริการลดลงมาอยู่ที่ 30.3 จาก 43.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนเมษายนที่ลดลงมาอยู่ที่ 12.0 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาสที่สองอยู่ที่ -18.5 8ในขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 7.67 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.27 ในไตรมาสก่อนหน้า และสูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 0.2 สำหรับการดำเนินมาตรการทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ขยายกรอบความช่วยเหลือชั่วคราวสำหรับเพิ่มเงินทุนและอุดหนุนภาระหนี้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งจะมีผลถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563 ขณะที่มาตรการเพิ่มเงินทุนจะสิ้นสุดเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ขณะเดียวกัน ในการประชุมธนาคารกลางยุโรปเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 มีมติยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปทั้งการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.0 การดำเนินมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ภายใต้ Pandemic Emergency Purchase Programme 9ทั้งนี้ ได้เพิ่มวงเงินเป็น 1.35 ล้านล้านยูโร โดยการเข้าซื้อหลักทรัพย์ของทั้งภาครัฐและเอกชน และขยายการดำเนินการต่อเนื่องจนถึงเดือนมิถุนายน 2564 นอกจากนี้ ยังได้ลดเกณฑ์ของประเภทสินทรัพย์ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น รวมถึงมาตรการ Targeted Longer-term Refinancing Operations ระยะที่ 3 (TLTRO-III) ที่มีการปรับมาตรฐานการให้สินเชื่อให้มีความผ่อนคลายมากขึ้นสำหรับ ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ถึงเดือนมิถุนายน 2564

เศรษฐกิจญี่ปุ่น มีแนวโน้มลดลงตามการลดลงของการผลิต การส่งออก และการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากเครื่องชี้ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 40.1 ต่ำสุดในรอบ 11 ปี และอยู่ในระดับต่ำกว่า 50.0 ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 6 ขณะที่การส่งออกลดลงร้อยละ 23.7 ต่ำสุดในรอบ 11 ปี ส่วนดัชนีค้าปลีกลดลงร้อยละ 9.3 เป็นการลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่น

หมายเหตุ:

7 มาตรการดังกล่าวประกาศเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นการประกาศขยายมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์เป็นครั้งที่ 2 หลังจากการขยายวงเงินมาแล้วในวันที่ 15 มีนาคม 2563

8 ระดับปกติดัชนีมีค่าเป็น 0 โดยระดับน้อยกว่าศูนย์จะสะท้อนความเชื่อมั่นที่ลดลง

9 เบื้องต้นในวันที่ 13 มีนาคม 2563 ธนาคารกลางยุโรปได้เพิ่มวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์เป็น 1.2 แสนล้านยูโร โดยดำเนินการถึงสิ้นปี 2563 แต่ต่อมาในวันที่ 18 มีนาคม 2563 ได้ทำการประกาศมาตรการ Pandemic Emergency Purchase Programme ดังกล่าว

ผู้บริโภคที่ลดลงสู่ระดับ 25.3 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน ส่วนอัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 2.8 สูงสุด ในรอบ 11 ไตรมาส และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 0.1 สำหรับการดำเนินมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบจากโรคโควิด 19 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศมาตรการเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 มูลค่า 117.1 ล้านล้านเยน โดยมีมาตรการที่สำคัญ ๆ อาทิ การสนับสนุนด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันการระบาด การช่วยเหลือภาคธุรกิจและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากการแพร่ระบาด และเตรียมความพร้อมสำหรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และในวันที่ 12 มิถุนายน 2563 รัฐบาลได้ผ่านร่างงบประมาณเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2563 ฉบับที่ 2 มูลค่า 117.1 ล้านล้านเยน (เท่ากันกับมาตรการเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 3) นอกจากนี้ ในด้านนโยบายการเงิน เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ประกาศเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลโดยไม่จำกัดวงเงิน และเพิ่มการซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้นและหุ้นกู้จำนวน 20 ล้านล้านเยน รวมถึงการเพิ่มวงเงินใน Special Funds-Supplying Operations จากที่ประกาศไว้ครั้งก่อน และเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ประกาศมาตรการเพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่ภาคธุรกิจ SMEs เพิ่มเติมภายใต้ New Fund-Provisioning Measure to Support Financing Mainly of SME Firms มูลค่าประมาณ 30 ล้านล้านเยน โดยสถาบันการเงินสามารถกู้เงินจาก ธนาคารกลางได้ที่อัตราร้อยละ 0.0 ตามมูลค่าสินเชื่อจริงที่ให้แก่ธุรกิจ SMEs แต่ไม่เกิน 1 แสนล้านเยนต่อสถาบันการเงิน โดยใช้หลักประกันตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ (Eligible pooled collateral) เป็นหลักประกัน

เศรษฐกิจจีน กลับมาขยายตัวร้อยละ 3.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 6.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการปรับตัวดีขึ้นในทุกสาขาการผลิตภายหลังจากรัฐบาลเริ่มผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาดตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ในบางพื้นที่ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Caixin Manufacturing PMI) เพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับเฉลี่ย 50.4 สูงกว่าระดับ 50 เทียบกับระดับ 47.2 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกสินค้าที่กลับมาขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 13.3 ในไตรมาสก่อนหน้า นอกจากนี้ ยอดค้าปลีกแม้จะลดลงแต่ในอัตราที่ช้าลงจากการลดลงร้อยละ 19.0 ในไตรมาสแรก เป็นการลดลงร้อยละ 11.4 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เช่นเดียวกับการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 16.1 ในไตรมาสก่อน เป็นการลดลงร้อยละ 3.1 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ลดลงจากร้อยละ 5.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของราคาหมวดอาหารและการลดลงของราคาหมวดการขนส่งและการสื่อสาร ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้ธนาคารกลางจีนผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 7 เมษายน ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินสำรองส่วนเกิน (Excess reserves) ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.35 ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งแรกตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา และเมื่อวันที่ 15 เมษายน ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระยะกลางอายุ 1 ปี (Medium-Term Lending Facility: MLF) สำหรับสถาบันการเงินลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.95 ควบคู่กับการลดสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ให้กับธนาคารขนาดกลางและขนาดย่อมลงร้อยละ 0.5 และปรับลดเพิ่มเติมอีกร้อยละ 0.5 มีผลเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม รวมทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Loan Prime Rate: LPR) ระยะ 1 ปี ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.85 เมื่อวันที่ 20 เมษายน และลดอัตราดอกเบี้ยตามข้อตกลงซื้อคืนพันธบัตร (Reverse repo) อายุ 14 วัน ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.35 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนได้ดำเนินมาตรการทางการคลังสำคัญ ๆ อาทิ การเพิ่มงบประมาณในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดและการผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ การเร่งเบิกจ่ายเงินประกันการว่างงานและขยายความครอบคลุมไปยังแรงงานข้ามชาติ การลดหย่อนภาษีและการยกเว้นการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นต้น

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) ส่วนใหญ่ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเศรษฐกิจเกาหลีใต้ลดลงร้อยละ 2.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ลดลงต่ำสุดในรอบ 86 ไตรมาส โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าและบริการลดลงร้อยละ 13.6 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เศรษฐกิจไต้หวันลดลงร้อยละ 0.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ต่ำสุดในรอบ 43 ไตรมาส โดยการบริโภคภาคเอกชนลดลงร้อยละ 2.7 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เศรษฐกิจสิงคโปร์ลดลงร้อยละ 13.2 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ตามการลดลงของการผลิตภาคอุตสาหกรรม ภาคการก่อสร้าง และภาคบริการ ขณะที่เศรษฐกิจฮ่องกงลดลงร้อยละ 9.0 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 9.1 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการลดลงต่อเนื่อง 4 ไตรมาสติดต่อกัน สำหรับอัตราเงินเฟ้อส่วนใหญ่ติดลบ เป็นครั้งแรกในรอบหลายไตรมาสตามกำลังซื้อที่อ่อนแอลง ยกเว้นฮ่องกงที่อัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นบวก แต่ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน ส่วนใหญ่ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ตามการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศ และการลดลงของการส่งออกสินค้า โดยเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ลดลงร้อยละ 5.3 เทียบกับ การขยายตัวร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการปรับตัวลดลงของการบริโภคภาคครัวเรือน การใช้จ่ายภาครัฐบาล การลงทุนรวม และการส่งออกสินค้าและบริการ ส่วนเศรษฐกิจมาเลเซีย ลดลงร้อยละ 17.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการบริโภคภาคเอกชน และการลดลงต่อเนื่องของการลงทุนรวม เช่นเดียวกับการส่งออกสินค้าและบริการ สำหรับเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ ลดลงร้อยละ 16.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.7 โดยเป็นผลมาจากการลดลงของการบริโภคภาคครัวเรือน การลงทุนรวม และการส่งออกสินค้าและบริการ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน ในขณะที่เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวร้อยละ 0.4 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 3.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากการปรับตัวลดลงของ ภาคบริการ และการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงร้อยละ 6.9 ซึ่งเป็น การลดลงครั้งแรกในรอบ 43 ไตรมาส สำหรับอัตราเงินเฟ้อส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงตามการชะลอตัวของราคาสินค้าในหมวดอาหาร และหมวดการขนส่งสอดคล้องกับการลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจชัดเจนมากขึ้นส่งผลให้ธนาคารกลางของกลุ่มประเทศอาเซียนปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราต่ำที่สุด ในประวัติการณ์10 ควบคู่กับการดำเนินนโยบายทางการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ อาทิ การจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยและการลดภาระค่าครองชีพแก่ประชาชน การเพิ่มการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 การจ่ายเงินประกันสังคมให้แก่แรงงานกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งการยกเว้นค่าธรรมเนียมและการลดภาษีให้แก่ภาคธุรกิจ

หมายเหตุ:

10 ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ธนาคารกลางอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4.25 ร้อยละ 2.00 ร้อยละ 2.25 และร้อยละ 3.00 ลดลงจากร้อยละ 4.50 ร้อยละ 2.50 ร้อยละ 3.25 และร้อยละ 3.50 ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2563 ตามลำดับ

4. แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2563

เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2563 มีแนวโน้มลดลงรุนแรงและเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ตามการลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ของหลายประเทศเศรษฐกิจหลักในไตรมาสที่สอง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในหลายประเทศที่ยังคงรุนแรงโดยเฉพาะสหรัฐฯ และการระบาดยังขยายขอบเขตครอบคลุมไปในหลายประเทศทั่วโลกมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศในอเมริกาใต้ ตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ นอกจากนี้ ในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ล่าช้ากว่าที่คาด เนื่องจากสถานการณ์การระบาดมีความยืดเยื้อรุนแรงมากกว่าที่คาดไว้ในกรณีฐานเดิมที่คาดการณ์ว่าประเทศต่าง ๆ จะสามารถควบคุม การระบาดให้อยู่ในวงจำกัดได้ภายในไตรมาสที่สาม แต่จากสถานการณ์ในปัจจุบันเห็นได้อย่างชัดเจนว่าสถานการณ์การระบาดยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในหลายประเทศยังคงเพิ่มสูงขึ้น อาทิ สหรัฐฯ บราซิล อินเดีย รัสเซีย และแอฟริกาใต้ ขณะที่หลายประเทศเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ (Second Wave) อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม ฝรั่งเศส สเปน และออสเตรเลีย ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศต้องกลับมาดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดโดยการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางอีกครั้งนับตั้งแต่ในช่วงเดือนกรกฎาคมภายหลังจากเพิ่งเริ่มผ่อนปรนมาตรการไปบ้างแล้วในช่วงปลายไตรมาสที่สอง อย่างไรก็ตาม ขนาดของการลดลงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่สูงเช่นเดียวกับการประมาณการครั้งก่อน โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ ๆ ประกอบด้วย (1) ขีดความสามารถและระยะเวลาที่แต่ละประเทศใช้ในการควบคุมการระบาดและป้องกันไม่ให้มีการระบาดในระลอกสองซึ่งจะนำไปสู่ การดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดอีกครั้งในระยะต่อไป (2) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคและรูปแบบการประกอบธุรกิจในประเทศต่าง ๆ (3) ขีดความสามารถในการดำเนินมาตรการทางการเงินการคลังเพื่อให้ภาคธุรกิจมีความพร้อมในการกลับมาประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อภาคแรงงาน รวมทั้งการควบคุมผลกระทบของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ให้ลุกลามจากภาคการผลิตไปสู่ภาคการเงินและการคลัง และ (4) ความก้าวหน้าของการผลิตยาและวัคซีนเพื่อใช้ในการป้องกันและรักษาโรค และการตอบสนองของไวรัสต่อสภาพอากาศ

ทั้งนี้ การประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในกรณีฐานตั้งอยู่บนสมมติฐานที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) ประเทศต่าง ๆ สามารถควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัดได้ภายในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 และสามารถผ่อนคลายให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้กลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศจีนในช่วงปัจจุบันได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2564 ภายใต้ระบบตรวจสอบ ติดตาม และกักตัว ที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งพฤติกรรมของประชาชนเรื่องสุขอนามัยเพื่อควบคุมและป้องกันโรคที่ยังคงเป็นไปอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง (2) มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ได้ในช่วงสิ้นปี 2563 โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตวัคซีนได้ในจำนวนจำกัดในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 แต่จะใช้เพียงบางประเทศ อาทิ สหรัฐฯ อังกฤษ ญี่ปุ่น และจีน และคาดว่าขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนจะมากขึ้นจนสามารถใช้ได้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 (3) ไวรัสจะไม่ตอบสนองและทวีความรุนแรงในช่วงฤดูหนาว จนทำให้มี การระบาดระลอกสองที่รุนแรงเป็นวงกว้างและยืดเยื้อมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดอีกครั้ง (4) การจำกัด การเดินทางระหว่างประเทศของประเทศสำคัญต่าง ๆ จะผ่อนคลายลงในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 และสิ้นสุดลงในไตรมาสที่สองของปี 2564 ส่งผลให้การเดินทางระหว่างประเทศจะเริ่มกลับมาเป็นปกติมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี (5) ไม่มีการลุกลามของวิกฤติการณ์จาก ภาคการผลิตไปสู่วิกฤติการณ์ทางการเงินในประเทศสำคัญ ๆ และการดำเนินมาตรการทางการเงินการคลังจะสามารถสนับสนุนให้กิจกรรมของภาคธุรกิจสามารถกลับสู่ระดับร้อยละ 80 ของขีดความสามารถปกติภายในไตรมาสแรกของปี 2564 และ (6) ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะไม่ทวีความรุนแรงขึ้นจนนำไปสู่มาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมที่ส่งผลกระทบรุนแรงซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปี ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวคาดว่าเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในช่วงที่เหลือของปีจะสามารถปรับตัวดีขึ้นได้อย่างช้า ๆ โดยมีแรงสนับสนุนจากการผ่อนปรนมาตรการควบคุมและการเริ่มทยอยกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจ และการดำเนินมาตรการการเงินและการคลังของประเทศสำคัญ ๆ ที่มีขนาดใหญ่เป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ ในกรณีฐานคาดว่าเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2563 จะลดลงร้อยละ 4.5 และร้อยละ 12.0 ตามลำดับ เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.8 และร้อยละ 10.0 ตามลำดับ ในการประมาณการครั้งก่อน โดยมีแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก ๆ ดังนี้

เศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะลดลงร้อยละ 9.0 นับเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 74 ปี นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองในปี 2489 เทียบกับ การขยายตัวร้อยละ 2.2 ในปี 2562 และปรับลดจากสมมติฐานประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะลดลงร้อยละ 6.0 เนื่องจากสถานการณ์ การระบาดภายในประเทศที่ยังคงรุนแรงดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสหรัฐฯ ที่เริ่มกลับมามีจำนวนเพิ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน และทำให้บางมลรัฐที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงขึ้นมาก อาทิ แคลิฟอร์เนีย โคโรลาโด ฟลอริด้า และเท็กซัส ต้องกลับมาดำเนินมาตรการ ปิดสถานที่และห้ามการรวมกลุ่มของประชาชนเป็นจำนวนมากอีกครั้ง ส่งผลให้คาดว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะล่าช้ากว่าที่คาดไว้เดิม อย่างไรก็ดี การเริ่มผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาดของโรคในหลายมลรัฐนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ส่งผลให้คาดว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่สามภายหลังจากการลดลงอย่างรุนแรงในไตรมาสที่สอง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 50.9 และ 50.0 เป็นระดับที่สูงกว่า 50 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์และมกราคม ตามลำดับ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ระดับ 92.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 90.0 ในไตรมาสที่สอง ในขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 10.5 ในเดือนกรกฎาคม ลดลงจากร้อยละ 14.4 ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ภายใต้สถานการณ์การระบาดที่ยังรุนแรงและแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างล่าช้าของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี ส่งผลให้รัฐบาลดำเนินมาตรการทางการคลังขนาดใหญ่เพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป็ ได้ลงนามเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2563 เพื่อออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งมีมาตรการสำคัญคือการขยายระยะเวลาการจ่ายเงินชดเชยการว่างงานและการลดภาษีเงินได้ส่วนบุคคล11 นอกจากนี้ ยังเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติมซึ่งกำลังอยู่ในช่วงพิจารณาของรัฐสภา ประกอบด้วย มาตรการเงินช่วยเหลือรายบุคคล เงินช่วยเหลือสำหรับผู้พึ่งพิง ผู้เยาว์ และเงินชดเชยการว่างงาน ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากการประชุมเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับร้อยละ 0.00 - 0.25 และส่งสัญญาณการคงดอกเบี้ยระดับต่ำจนกว่าเศรษฐกิจจะเข้าใกล้เป้าหมายด้านการจ้างงานและเสถียรภาพด้านราคา รวมทั้งการดำเนินมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องภาคธุรกิจซึ่งได้ประกาศไว้ในช่วงต้นปี นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังได้ขยายระยะเวลาสิ้นสุดของการเปิด Swap Line เป็นการชั่วคราวกับธนาคารกลางประเทศสำคัญ รวมถึงการเปิด Temporary Repurchase Agreement Facility (FIMA Repo Facility) ให้ธนาคารกลางและองค์กรระหว่างประเทศไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2564 จากกำหนดการเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2563 เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องของเงินดอลลาร์ สรอ. ในตลาดการเงินโลก

เศรษฐกิจยูโรโซน คาดว่าจะลดลงร้อยละ 10.5 นับเป็นการลดลงต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.3 ในปี 2562 และ ปรับลดจากที่คาดว่าจะลดลงร้อยละ 7.4 ในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการระบาดที่รุนแรงยืดเยื้อกว่าที่คาดและบางประเทศยังคงเผชิญกับสถานการณ์การระบาดระลอกสอง อาทิ สเปน และฝรั่งเศส ส่งผลให้คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ล่าช้ากว่า ที่คาด โดยความแตกต่างด้านปัจจัยพื้นฐานของประเทศในกลุ่มยูโรโซนจะทำให้ระดับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังการระบาดของโรคสิ้นสุดลงใช้ระยะเวลาต่างกัน โดยคาดว่าประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ มีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็วกว่าจากการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ประเทศที่มีสัดส่วนรายได้ภาคบริการสูงและยังเผชิญกับการระบาดระลอกสอง เช่น อิตาลี และสเปน จะฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด อย่างไรก็ดี การระบาดในหลายประเทศส่วนใหญ่เริ่มปรับตัวดีขึ้นส่งผลให้มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมมากขึ้นและทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่สาม สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการในเดือนกรกฎาคม ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 51.8 และ 54.7 ตามลำดับ สูงสุดในรอบ 21 เดือนและ 25 เดือนตามลำดับ และในช่วงที่เหลือของปีเศรษฐกิจจะได้รับ แรงสนับสนุนจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นทางการคลังขนาดใหญ่ ภายหลังสหภาพยุโรปได้ข้อตกลงร่วมกันเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ในการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.82 ล้านล้านยูโร ซึ่งประกอบด้วยงบประมาณรายจ่ายระยะยาวของสหภาพยุโรปในช่วงปี 2564 - 2570 วงเงิน 1.07 ล้านล้านยูโร และแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ Next Generation EU วงเงิน 0.75 ล้านล้านยูโร นอกจากนี้ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะยังคงดำเนินมาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายและคงดอกเบี้ยในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง ECB ยังได้จัดตั้ง Eurosystem Repo Facility (EUREP) เพื่อรักษาสภาพคล่องของเงินยูโรในตลาดการเงิน และการปรับมาตรฐานของสินทรัพย์ใช้มาเป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันเพื่อขอกู้เงินกับ ECB เพื่อรองรับการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือของสินทรัพย์ในยุโรปอีกด้วย

เศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่าจะลดลงร้อยละ 6.2 นับเป็นอัตราการลดลงต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.7 ในปี 2562 และ ปรับลดจากการลดลงร้อยละ 4.9 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการแพร่ระบาดมีความรุนแรงมากขึ้นและการระบาดระลอกสองซึ่งสะท้อนจากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินมาตรการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางเพิ่มเติมในเดือนสิงหาคม ทำให้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีให้ล่าช้ากว่าที่คาด ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 รัฐบาลได้ผ่านร่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก 117 ล้านล้านเยนหรือประมาณร้อยละ 21 ของ GDP เมื่อรวมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 3 ที่ประกาศในช่วงก่อนหน้าส่งผลให้วงเงินรวมของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอยู่ที่ 234 ล้านล้านเยน หรือประมาณร้อยละ 42 ของ GDP ถือเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ควบคู่ไปกับธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ได้ดำเนินมาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง โดยการขยายมาตรการการเข้าซื้อสินทรัพย์แบบไม่จำกัดวงเงินทั้งในส่วนของพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ภาคเอกชน

หมายเหตุ:

11 คำสั่งดังกล่าวอาจจะเผชิญกับความท้าทายด้านกฎหมายและไม่สามารถดำเนินมาตรการได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาให้อำนาจแก่สภาฯ ในการเปลี่ยนแปลงภาษีหรือการใช้จ่ายใด ๆ โดยประธานาธิบดีไม่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายนั้น

เศรษฐกิจจีน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.0 ถือเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 44 ปีนับตั้งแต่ปี 2519 และยังคงเท่ากับการประมาณการครั้งก่อน โดยเศรษฐกิจจีนในช่วงไตรมาสที่สองเริ่มกลับมาขยายตัวภายหลังมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมในบางพื้นที่นับตั้งแต่ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Caixin Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนเมษายนซึ่งอยู่ที่ระดับ 49.4 เป็นระดับ 50.7, 51.2 และ 52.8 ในเดือนพฤษภาคม มิถุนายน และกรกฎาคม ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าระดับ 50 เป็นเดือนที่สามติดต่อกัน สะท้อนการฟื้นตัวของภาคการผลิตที่ชัดเจนมากขึ้น และสอดคล้องกับการส่งออกที่ขยายตัวเป็นเดือนที่สองติดต่อกันที่ร้อยละ 7.2 ในเดือนกรกฎาคมและถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือน นอกจากนี้ เศรษฐกิจยังจะได้รับแรงสนับสนุนจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการคลังที่ประกาศ ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2563 วงเงินรวม 4.6 ล้านล้านหยวน (ร้อยละ 4.5 ของ GDP) และการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายของธนาคารกลางจีน (PBOC) โดยการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินผ่านการลดสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์และการดำเนินธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังดำเนินการแก้ปัญหาและลดข้อจำกัดด้านเงื่อนไขทางการเงินเพื่อช่วยเหลือภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจีนยังมีความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีความตึงเครียดและมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภายใต้เงื่อนไขการนำเข้าสินค้าของจีนจากสหรัฐฯ ที่ล่าสุดในช่วง 7 เดือนแรกของปีอยู่ที่เพียง 2.21 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายตามข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 ที่กำหนดให้จีนจะต้องนำเข้าสินค้าและบริการจากสหรัฐฯ เพิ่มเติมรวมกันอย่างน้อย 2 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. จากระดับการนำเข้าในปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 4.33 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. นับตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงสิ้นปี 2564

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) คาดว่าจะปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมเนื่องจากการแพร่ระบาดมีความรุนแรงมากขึ้นและการกลับมาระบาดระลอกสองในหลายประเทศ โดยคาดว่าในปี 2563 เศรษฐกิจเกาหลีใต้ ฮ่องกง และสิงคโปร์จะลดลงร้อยละ 2.0 ร้อยละ 7.2 และร้อยละ 5.8 ลดลงมากกว่าที่ประมาณการไว้เดิมที่ร้อยละ 1.2 ร้อยละ 5.0 และร้อยละ 3.5 ตามลำดับ ส่วนไต้หวันคาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 2.0 ลดลงน้อยกว่าที่คาดไว้เดิมที่ร้อยละ 4.0 เนื่องจากสามารถจำกัดการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ไม่มีการระบาดระลอกสอง และภาคการส่งออกฟื้นตัวได้เร็ว ทั้งนี้ แนวโน้มผลกระทบต่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันโดยขึ้นอยู่กับสัดส่วน การพึ่งพิงภาคการส่งออกสินค้าและบริการโดยเฉพาะบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ การระบาดและการถดถอยของเศรษฐกิจโลก รวมถึงความเข้มข้นของมาตรการในการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางในแต่ละประเทศ โดยข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าการระบาดในไต้หวันอยู่ในขอบเขตจำกัด แต่เริ่มเห็นการระบาดระลอกสองในเกาหลีใต้ ฮ่องกง และสิงคโปร์ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปีจะมีแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นทางการคลัง โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ ฮ่องกง และสิงคโปร์ได้ดำเนินมาตรการทางการคลังมูลค่าราวร้อยละ 14.6 ร้อยละ 10.2 และร้อยละ 24.5 ของ GDP ตามลำดับ รวมถึง การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน คาดว่าในปี 2563 เศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มจะลดลงร้อยละ 1.3 ร้อยละ 5.0 และร้อยละ 5.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.0 ร้อยละ 4.3 และร้อยละ 6.0 ตามลำดับ ในปี 2562 เป็นการปรับลดจากเดิมที่คาดว่าทั้งเศรษฐกิจอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์จะขยายตัวร้อยละ 0.5 และมาเลเซียซึ่งเดิมคาดว่าจะลดลงร้อยละ 1.7 ในปี 2563 โดยเป็นผลจากสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่สองลดลงมากกว่าที่คาด ในขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวร้อยละ 2.4 ยังคงเท่ากับการประมาณการเดิมอย่างไรก็ดี คาดว่าเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงครึ่งปีหลังจะได้รับแรงสนับสนุนจากการดำเนินมาตรการทางการเงินที่ยังมีแนวโน้มผ่อนคลายควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2563 รัฐบาลอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ได้ดำเนินมาตรการทางการคลัง คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณร้อยละ 4.2 ร้อยละ 4.2 ร้อยละ 3.1 และร้อยละ 3.7 ของ GDP ตามลำดับ นอกจากนี้ เศรษฐกิจอาเซียนยังมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าในช่วงครึ่งหลังของปี ดังจะเห็นได้จากสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นของ ภาคการส่งออกในเดือนมิถุนายนเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า โดยการส่งออกของอินโดนีเซียและมาเลเซียเริ่มกลับมาขยายตัว ประกอบกับแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตจากประเทศเศรษฐกิจหลักส่วนหนึ่งเป็นผลของแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานเนื่องจากผลกระทบของโรคโควิด 19

5. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563

ในกรณีที่ไม่มีการระบาดในประเทศระลอกที่สอง คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2563 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากจุดต่ำสุดในไตรมาส ที่สองอย่างช้า ๆ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมของภาครัฐซึ่งจะส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจในประเทศปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้า การเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณและมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ และแรงขับเคลื่อนจากการผลิตและการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้าและการระบาดของ โรคโควิด 19 อย่างไรก็ตาม ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและฐานรายได้ในช่วงครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ตามข้อจำกัดจากแนวโน้มความล่าช้าในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และการเพิ่มขึ้นของการว่างงานในระบบเศรษฐกิจ ในขณะที่ สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ทิศทางนโยบายของสหรัฐฯ ในช่วงก่อนและหลังเลือกตั้ง และปัญหาเสถียรภาพ ทางเศรษฐกิจในประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานอ่อนแอยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ปัจจัยสนับสนุน

1) ความสำเร็จในการควบคุมและป์องกันการระบาดของโรคในประเทศ และการผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางในประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น โดยนับจากวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ผ่อนคลายมาตรการ ปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ณ วันที่ 13 สิงหาคม 2563 ได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ แล้วทั้งหมด แม้ว่ายังคงต้องปฏิบัติตามแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการกลับมาแพร่ระบาดของโรคก็ตาม ในขณะเดียวกัน การติดเชื้อใหม่ในประเทศอยู่ในระดับ 0 มาอย่างต่อเนื่องนับจากวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ทำให้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ปัจจัยดังกล่าวทำให้การใช้จ่ายภายในประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัว ในขณะที่กิจกรรม ทางเศรษฐกิจในประเทศหลายสาขาสามารถกลับมาประกอบการตามปกติได้มากขึ้น รวมทั้งเป็นปัจจัยสนับสนุนการปรับตัวในทิศทาง ที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากผ่านพ้นจุดต่ำสุดในไตรมาสที่สอง

2) การเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณและมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ ประกอบด้วย (1) การเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งในกรณีฐานคาดว่าจะมีอัตราการเบิกจ่ายรวม 2,905,614 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 ร้อยละ 4.4 (2) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ซึ่งคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2564 จะอยู่ที่ 848,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.1 (3) การเบิกจ่ายภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายในปี 2563 ประมาณ 563,400 ล้านบาท และ (4) การดำเนินการตามมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญๆ เช่น พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เป็นต้น

3) การปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจาก แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของสถานการณ์การระบาดในหลายประเทศ โดยข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศคู่ค้าสำคัญ ๆ หลายประเทศอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง เช่น สหราชอาณาจักร เยอรมนี และไต้หวัน ซึ่งส่งผลให้ประเทศกลุ่มดังกล่าวเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางมากขึ้นและทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวสะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญ ๆ ในช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคมที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และแม้ว่าจะเริ่มมีการระบาดระลอกสองในประเทศสำคัญ ๆ หลายประเทศ แต่ในกรณีฐานคาดว่า การกลับมาระบาดในครึ่งปีหลังจะยังมีความรุนแรงน้อยกว่าในช่วงครึ่งปีแรก ในขณะที่คาดว่าประเทศที่ยังประสบปัญหาการระบาดรุนแรง เช่น สหรัฐฯ อินเดีย เป็นต้น จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีขึ้นตามลำดับ ปัจจัยดังกล่าวเมื่อรวมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงินการคลังของประเทศสำคัญที่อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ และเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในภาพรวมปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ

4) การผลิตและการส่งออกสินค้าสำคัญ ๆ ที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเปลี่ยนแปลงทิศทางการค้าและการย้ายฐานการผลิตในช่วงก่อนหน้า และปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ทำให้ความต้องการสินค้าในบางรายการเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จาก การส่งออกของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งการขยายตัวของสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งในกลุ่มสินค้าอาหาร อาทิ อาหารทะเลกระป์องและแปรรูป (ขยายตัวร้อยละ 13.4 ในไตรมาสที่สอง) ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง (ร้อยละ 27.1) สิ่งปรุงอาหาร (ร้อยละ 3.6) และซุปและอาหารปรุงแต่ง (ร้อยละ 15.0) กลุ่มการแพทย์ อาทิ เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ (ร้อยละ 7.3) และสินค้าในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ เครื่องส่งวิทยุ โทรเลข โทรศัพท์ โทรทัศน์ (ร้อยละ 6.3) และส่วนประกอบเครื่องโทรสาร และโทรศัพท์ (ร้อยละ 5.9) เป็นต้น ในไตรมาสที่สองที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมไม่ปรับตัวลดลงมากเกินไป

ข้อจำกัดการขยายตัว

แม้ว่าปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังปรับตัวลดลงในอัตราที่ช้าลงตามลำดับ แต่ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ ประกอบด้วย

1) การลดลงรุนแรงของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงครึ่งปีแรกและแนวโน้มความล่าช้าของการเปิดรับนักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งทำให้จำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวปรับตัวลดลงรุนแรงและมากกว่าสมมติฐาน การประมาณการครั้งที่ผ่านมาโดยข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าการระบาดในหลายประเทศที่เป็นต้นทางของนักท่องเที่ยวยังไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในวงจำกัด โดยเฉพาะการระบาดในสหรัฐฯ อินเดีย และรัสเซียยังมีความรุนแรง ในขณะที่ประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เริ่มเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว ในกรณีฐาน คาดว่าจะทำให้ประเทศไทยจะยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในช่วงที่เหลือของปี 2563 เช่นเดียวกับประเทศที่เป็นแหล่งต้นทางของนักท่องเที่ยวสำคัญ ๆ หลายประเทศที่คาดว่าจะยังคงดำเนินมาตรการควบคุมการเดินทางอย่างเข้มงวดต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี ปัจจัยดังกล่าวจะยังคงเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง

2) สถานการณ์ภัยแล้ง จากข้อมูลปริมาณน้ำใช้ได้จริงในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำรวมทั่วประเทศ ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2563 อยู่ที่ 6,761 ล้านลูกบาศก์เมตร (หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของความจุระดับน้ำเก็บกักรวม) ต่ำกว่า 10,374 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2562 (หรือสัดส่วนร้อยละ 15) และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2558 (สัดส่วนร้อยละ 13) ซึ่งเป็นปีที่สถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรงและส่งผลให้การผลิตภาคเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 6.5 ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวการผลิตภาคเกษตรกรรมในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 6.7 ในช่วงครึ่งปีแรก

3) การเพิ่มขึ้นของการว่างงานและข้อจำกัดด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ ซึ่งจะยังมีแนวโน้มที่จะเป็นข้อจำกัดต่อ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ในด้านการว่างาน จำนวนผู้ว่างงานในไตรมาสที่สองอยู่ที่ 7.5 แสนคน เพิ่มขึ้นจาก 3.9 แสนคนในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยอัตราการว่างงานในไตรมาสที่สองอยู่ที่ร้อยละ 1.95 สูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2552 สอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้สิทธิประกันตนตามมาตรา 38 ที่เพิ่มขึ้นจาก 1.7 แสนคนในเดือนมีนาคม เป็นประมาณ 4 แสนคนในเดือนมิถุนายน ในขณะที่สัดส่วนสินเชื่อครัวเรือนต่อ GDP ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งการเพิ่มขึ้นของการว่างงานท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของภาระหนี้สินดังกล่าว มีแนวโน้มที่จะเป็นข้อจำกัดต่อรายได้ การใช้จ่าย และขีดความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนในบางกลุ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับสภาพคล่องของภาคธุรกิจในบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงครึ่งปีแรก สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนสินเชื่อชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan: SML) แม้ว่าปัญหาดังกล่าวจะมีแนวโน้มผ่อนคลายลงตามการดำเนินมาตรการแก้ปัญหาของภาครัฐทั้งในด้านการปรับโครงสร้างหนี้ การขยายสินเชื่อ และการกลับมาดำเนินการตามปกติของธุรกิจในหลายสาขา แต่ปัญหาดังกล่าวยังมีแนวโน้มที่จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของธุรกิจในบางกลุ่ม โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่องที่ยังมีข้อจำกัดในการกลับมาประกอบธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง และกลุ่ม SMEs ที่มีปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงมาตรการของภาครัฐ

ปัจจัยเสี่ยง

การประมาณการเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2563 มีเงื่อนไขความไม่แน่นอนในหลายด้านที่จะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปี มีความแตกต่างจากการคาดการณ์ในกรณีฐาน โดยปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย

1) ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในสถานการณ์การระบาดของไวรัส และขีดความสามารถในการควบคุมการระบาดในประเทคู่ค้าและประเทศที่เป็นแหล่งต้นทางของนักท่องเที่ยวสำคัญๆ ที่อาจสิ้นสุดการระบาดเร็วหรือล่าช้ากว่าการคาดการณ์ในกรณีฐาน รวมทั้ง ความเสี่ยงจากการกลับมาระบาดของไวรัสในระลอกที่สองทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก รวมทั้งการขยายตัวทั้งปี 2563 ของเศรษฐกิจไทยแตกต่างไปจากการคาดการณ์ในกรณีฐาน

2) ความผันผวนของเศรษฐกิจและระบบการเงินโลก ซึ่งยังมีเงื่อนไขในเศรษฐกิจโลกที่จะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย (1) สถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในช่วงที่เหลือของปี 2563 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อาจทวีความรุนแรงมากและซ้ำเติมภาวะถดถอยของเศรษฐกิจและการค้าโลก (2) ทิศทางการนโยบายของสหรัฐฯ ในช่วงหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และนโยบายเศรษฐกิจที่มีต่อประเทศคู่ค้าสำคัญ ๆ (3) การคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงิน และสภาพแวดล้อมทางการเงินการคลังของประเทศสำคัญ ๆ และ (4) ความเสี่ยงต่อวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศสำคัญ ๆ ที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอซึ่งอาจขยายขอบเขตจากปัญหา ในภาคการผลิต ไปสู่ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงินการคลัง และวิกฤติทางการเมืองได้

ข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2563

1) เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 2563 คาดว่าจะลดลงร้อยละ 4.5 และร้อยละ 12.0 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการปรับลดจากการลดลง ร้อยละ 2.8 และร้อยละ 10.0 ในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน และเป็นการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ เกือบทุกประเทศ ตามการลดลงอย่างรุนแรงและมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่สอง สอดคล้องกับสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีความรุนแรงและขยายขอบเขตไปสู่ประเทศต่าง ๆ มากขึ้น นอกจากนี้ เศรษฐกิจสำคัญบางประเทศในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากความยืดเยื้อของการระบาดซึ่งยังไม่มีแนวโน้มที่จะสามารถควบคุมได้อย่างชัดเจนในไตรมาสที่สาม อาทิ สหรัฐฯ บราซิล อินเดีย รัสเซีย และแอฟริกาใต้ ขณะที่หลายประเทศเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ (Second Wave) อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม ฝรั่งเศส สเปน และออสเตรเลีย ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศ ต้องกลับมาดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดโดยการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางอีกครั้ง แม้กระนั้นก็ตาม ในกรณีฐานคาดว่าสถานการณ์การระบาดโดยรวมในช่วงครึ่งปีหลังจะมีความรุนแรงน้อยกว่าในช่วงครึ่งปีแรก และประเทศสำคัญ ๆ จะสามารถควบคุม การระบาดให้อยู่ในวงจำกัดได้ภายในไตรมาสสุดท้ายของปี

2) ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2563 อยู่ในช่วง 30.8 - 31.8 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากเฉลี่ย 31.0 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในปี 2562 แต่แข็งค่าขึ้นจาก 31.8 - 32.8 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในสมมติฐานประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการแข็งค่าของเงินบาทนับตั้งแต่ในเดือนพฤษภาคมภายหลังจากการเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมเนื่องจากประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดได้ดี เมื่อเทียบกับหลายประเทศเศรษฐกิจหลัก และการดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงินของประเทศสำคัญ ๆ อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทไม่แข็งค่ามากเกินไป โดยเฉพาะแนวโน้มการลดลงของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่ทำให้ความต้องการเงินบาทน้อยลง

3) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2563 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 38.0 - 48.0 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล ต่ำกว่าราคาเฉลี่ยที่ 63.3 ดอลลาร์

สรอ.ต่อบาร์เรล ในปี 2562 แต่เป็นการปรับเพิ่มจากช่วง 33.0 - 43.0 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล ในสมมติฐานประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบจากเฉลี่ย 29.8 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรลในเดือนพฤษภาคม เป็น 40.6 และ 43.4 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล ในเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม ตามลำดับ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) การขยายระยะเวลาปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตร (OPEC+) ที่ระดับ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ออกไป 1 เดือน จากเดิมที่จะสิ้นสุดเดือนมิถุนายน ไปเป็นเดือนกรกฎาคม ในขณะที่ความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิต (Compliance rate) ในเดือนมิถุนายนอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 108 (2) จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ณ สิ้นสุดเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 180 แท่น เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 16 ปี สอดคล้องกับปริมาณการผลิตที่ลดลงมาอยู่ที่ 11.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี และ (3) ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังทั่วโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ลดลงต่ำสุดในรอบ 4 เดือนที่ระดับ 518.6 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยกดดันที่คาดว่าจะทำให้ราคาในช่วงที่เหลือของปีไม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากนัก ได้แก่ (1) การปรับเพิ่มอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลก 2 ล้านบาร์เรล ตามข้อตกลงของกลุ่ม OPEC+ ที่จะปรับลดการผลิตลงเพียง 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่จะปรับลด 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา และ (2) สถานการณ์การระบาดที่ยังยืดเยื้อและการกลับมาระบาดระลอกสอง ในบางประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกฟื้นตัวช้ากว่าการคาดการณ์

4) ราคาสินค้าส่งออกและราคาสินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์ สรอ. คาดว่าในปี 2563 จะลดลงร้อยละ (-1.5) - (-0.5) และร้อยละ (-3.5) - (-2.5) เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 และร้อยละ 0.2 ตามลำดับ ในปี 2562 และเป็นการปรับเพิ่มจากสมมติฐานในการประมาณการครั้งก่อน ที่คาดว่าราคาสินค้าส่งออกและราคาสินค้านำเข้าจะลดลงอยู่ในช่วงร้อยละ (-2.5) - (-1.5) และร้อยละ (-4.0) - (-3.0) ตามลำดับ สอดคล้องกับราคาสินค้าส่งออกและราคาสินค้านำเข้าในช่วงครึ่งปีแรกที่ลดลงร้อยละ 1.2 และร้อยละ 3.0 ตามลำดับ สูงกว่า ที่คาดการณ์ไว้เดิม และสอดคล้องกับการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาน้ำมันดิบจากเดิม

5) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศปี 2563 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.31 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 83.6 จาก 1.88 ล้านล้านบาท ในปี 2562 และปรับลดจาก 0.59 ล้านล้านบาทในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการปรับลดสมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2563 จาก 12.7 ล้านคนในการประมาณการครั้งก่อน เป็น 6.7 ล้านคน เทียบกับ 39.8 ล้านคนในปี 2562 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในหลายประเทศที่ยังมีความรุนแรงและยืดเยื้อ รวมทั้งการเริ่มกลับมาระบาดระลอกใหม่ในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งทำให้คาดว่าประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทย จะสามารถผ่อนคลายการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติล่าช้าออกไปจากสมมติฐานเดิมที่คาดว่าจะสามารถเริ่มเปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มภายในช่วงปลายไตรมาสที่สามของปี 2563

6) การเบิกจ่ายงบประมาณ ประกอบด้วย (1) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ร้อยละ 91.8 ของวงเงินงบประมาณ เพิ่มจากร้อยละ 90.5 ในการประมาณการครั้งก่อน โดยอัตราการเบิกจ่ายงบประจำและงบลงทุนอยู่ที่ร้อยละ 99 และร้อยละ 60 ตามลำดับ เป็นการปรับเพิ่มการเบิกจ่ายงบลงทุนจากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 55 ตามข้อมูลการเบิกจ่ายสะสมในช่วงสิบเดือนแรกของปีงบประมาณอยู่ที่ร้อยละ 40.4 สูงกว่าที่คาดไว้เดิม และคาดว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณจะมีการเร่งรัดเบิกจ่ายมากขึ้น (2) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 94.2 ของวงเงินงบประมาณ โดยแบ่งเป็นอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำและอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนที่ร้อยละ 98 และร้อยละ 80 ตามลำดับ ทั้งนี้ อยู่ภายใต้สมมติฐานกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ไม่มีความล่าช้า (3) อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณเหลื่อมปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 88 (4) งบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 75 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อนและ (5)การใช้เงินภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท12 มีการเบิกจ่ายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปี 2563 ประมาณ 563,400 ล้านบาท เท่ากับสมมติฐานประมาณการครั้งก่อน

ประมาณการเศรษฐกิจปี 2563

เศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มลดลงร้อยละ (-7.8) - (-7.3) โดยมีค่ากลางการประมาณการอยู่ที่ร้อยละ -7.5 เทียบกับ การขยายตัวร้อยละ 2.4 ในปี 2562 สำหรับอัตราเงินเฟ์อคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ (-1.2) - (-0.7) และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ต่อ GDP

ในการแถลงข่าววันที่ 17 สิงหาคม 2563 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะลดลงในช่วงร้อยละ (-7.8) - (-7.3) โดยมีค่ากลางการประมาณการอยู่ที่ร้อยละ -7.5 ซึ่งเป็นการปรับลดประมาณการจากร้อยละ (-6.0) - (-5.0) (ค่ากลางการประมาณการอยู่ที่ร้อยละ -5.5) ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 รวมทั้งปรับเปลี่ยนองค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับเงื่อนไขและการปรับเปลี่ยนสมมติฐานประมาณการที่สำคัญ ๆ ดังนี้

1) การปรับลดสมมติฐานจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้สอดคล้องกับแนวโน้มความล่าช้าในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงที่เหลือของปี ตามข้อมูลสถานการณ์การระบาดในประเทศที่เป็นแหล่งต้นทางของนักท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ที่ยังมี ความรุนแรงของการระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐฯ อินเดีย และรัสเซีย รวมทั้งการเริ่มกลับมาระบาดของในระลอกที่สองในประเทศที่เป็นแหล่งต้นทางของนักท่องเที่ยวสำคัญ ๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ฝรั่งเศส สเปน และออสเตรเลีย เงื่อนไขดังกล่าวคาดว่าจะทำให้การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยปีความล่าช้าออกไปจากไตรมาสสุดท้ายของปี เช่นเดียวกับประเทศที่เป็นแหล่งต้นทางของนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีการกลับมาใช้มาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศที่เข้มงวดมากขึ้น รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะมีความระมัดระวังในการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น โดยในกรณีฐาน คาดว่าในปี 2563 จะมีจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 6.7 ล้านคน และ 0.31 ล้านล้านบาท ลดลงจาก 12.7 ล้านคน และ 0.59 ล้านล้านบาทในสมมุติฐานการประมาณการครั้งก่อน และลดลงจาก 39.8 ล้านคนและ 1.88 ล้านล้านบาทในปี 2562 ซึ่งทำให้แรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากการส่งออกบริการลดลงจากการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

2) การปรับลดสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2563 จากการลดลงร้อยละ 2.8 และร้อยละ 10.0 เป็นการลดลงร้อยละ 4.5 และร้อยละ 12.0 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการปรับลดสมมติฐานการให้สอดคล้องกับการหดตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นจริงในไตรมาสที่สอง ซึ่งการหดตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศมีความรุนแรงมากกว่า ในสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งเป็นการปรับลดสมมติฐานให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดในประเทศสำคัญ ๆ ที่ยังมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อในช่วงครึ่งปีหลังมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้งการเริ่มกลับมาระบาดของไวรัสระลอกที่สองในหลายประเทศ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสำคัญ ๆ ในช่วงครึ่งปีหลังมีความล่าช้ามากกว่า ที่คาดไว้ แม้กระนั้นก็ตาม สถานการณ์การระบาดในช่วงครึ่งปีหลังของประเทศสำคัญในภาพรวม ยังมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงน้อยกว่าการระบาดในช่วงครึ่งปีแรก

องค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

1) การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค (1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะลดลงร้อยละ 3.1 เทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 4.5 ในปี 2562 และการลดลงร้อยละ 1.7 ในการประมาณการครั้งก่อน ตามฐานรายได้จากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกที่อยู่ในระดับต่ำกว่าการประมาณการครั้งที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ในช่วงครึ่งปีหลัง ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค และการไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่จากการติดเชื้อภายในประเทศ อย่างต่อเนื่องซึ่งจะทำให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นท่ามกลางการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและฐานรายได้อย่างช้าๆ และ (2) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน และเร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในปี 2562 สอดคล้องกับการคงสมมติฐานการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำภายใต้กรอบงบประมาณสำคัญ ๆ ไว้เท่ากับการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

2) การลงทุนรวม คาดว่าจะลดลงร้อยละ 5.8 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.1 ในการประมาณการครั้งก่อน และการขยายตัวร้อยละ 2.1 ในปี 2562 โดยการลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.6 เทียบกับร้อยละ 5.6 ในการประมาณการครั้งก่อน และเร่งขึ้นจากร้อยละ 0.2 ในปี 2562 สอดคล้องกับการปรับเพิ่มสมมติฐานการเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายปี 2563 จากเดิมร้อยละ 55.0 ในการประมาณการครั้งก่อน เป็นร้อยละ 60.0 ในการประมาณการครั้งนี้ ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะลดลงร้อยละ 10.2 เทียบกับ การขยายตัวร้อยละ 2.8 ในปี 2562 และเป็นการปรับลดจากการลดลงร้อยละ 4.2 ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับ การปรับตัวลดลงของการส่งออก อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับต่ำ ข้อจำกัด ด้านการเดินทางของนักลงทุนระหว่างประเทศ และสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง

3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะลดลงร้อยละ 10.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.3 ในปี 2562 และเป็นการปรับลดจากการลดลงร้อยละ 8.0 ในการประมาณการครั้งก่อน โดยเป็นผลจากการปรับลดประมาณการปริมาณการส่งออกสินค้าจากเดิมที่คาดว่าจะลดลงร้อยละ 6.0 เป็นการลดลงร้อยละ 9.0 สอดคล้องกับการปรับลดสมมติฐานเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ขณะที่คาดว่าราคาสินค้าส่งออกจะลดลงร้อยละ 1.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.0 ในสมมติฐานประมาณการครั้งก่อน เมื่อรวมกับการปรับลดประมาณ การการส่งออกบริการตามการปรับลดสมมติฐานรายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 0.59 ล้านล้านบาท ในการประมาณการครั้งก่อนเป็น 0.31 ล้านล้านบาทในการประมาณการครั้งนี้ คาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการลดลงร้อยละ 20.9 เทียบกับ การลดลงร้อยละ 17.3 ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า และการลดลงร้อยละ 2.6 ในปี 2562

4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะลดลงร้อยละ 15.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.6 ในปี 2562 และเป็นการปรับลดจากการลดลงร้อยละ 13.2 ในการประมาณการครั้งก่อน ซึ่งเป็นผลจากการปรับลดปริมาณการนำเข้าสินค้าจากเดิมที่คาดว่าจะลดลง ร้อยละ 9.7 ในการประมาณการครั้งก่อน เป็นการลดลงร้อยละ 12.4 ในการประมาณการครั้งนี้สอดคล้องกับการปรับลดประมาณการ การส่งออก การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่คาดว่าราคาสินค้านำเข้าจะลดลงร้อยละ 3.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.5 ในสมมติฐานประมาณการครั้งก่อน เมื่อรวมกับการปรับลดการนำเข้าบริการที่คาดว่าจะลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางออกนอกประเทศ คาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการลดลงร้อยละ 16.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 13.3 ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า และการลดลงร้อยละ 4.4 ในปี 2562

5) ดุลการค้า คาดว่าจะเกินดุลประมาณ 35.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากการเกินดุล 26.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2562 และเท่ากับการประมาณการครั้งก่อน เมื่อรวมกับดุลบริการที่คาดว่าจะขาดดุลมากขึ้นตามการลดลงของรายได้นักท่องเที่ยวต่างประเทศ คาดว่าจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเกินดุลประมาณ 12.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือคิดเป็นร้อยละ 2.5 ของ GDP ต่ำกว่าร้อยละ 7.0 ในปี 2562 และลดลงจากร้อยละ 4.9 ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า

6) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 จะอยู่ในช่วงร้อยละ (-1.2) - (-0.7) เทียบกับเฉลี่ยร้อยละ 0.7 ในปี 2562

6. ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค

เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2563 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากจุดต่ำสุดในไตรมาสที่สองอย่างช้า ๆ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมของภาครัฐซึ่งจะส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจในประเทศปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า การเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณและมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ และแรงขับเคลื่อนจากการผลิตและ การส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้าและการระบาดของโรคโควิด 19 อย่างไรก็ตาม ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและฐานรายได้ในช่วงครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ตามข้อจำกัดจากแนวโน้มความล่าช้า ในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และการเพิ่มขึ้นของการว่างงานในระบบเศรษฐกิจ ขณะที่สถานการณ์ การระบาดของโรคโควิด 19 ทิศทางนโยบายของสหรัฐฯ ในช่วงก่อนและหลังเลือกตั้ง และปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานอ่อนแอยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว ในช่วงที่เหลือของปี จึงควรให้ความสำคัญกับการป้องกันการกลับมาระบาดของไวรัสในประเทศ ควบคู่ไปกับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในประเด็นสำคัญ ๆ ประกอบด้วย

1) การประสานนโยบายการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับ (1) การเร่งรัดติดตามมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดผลกระทบและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจมีความพร้อม ต่อการกลับมาประกอบธุรกิจในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยเฉพาะมาตรการด้านสินเชื่อที่ต้องมีการเร่งรัด ติดตาม ประเมินความเพียงพอ และแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น (2) การปรับมาตรการด้านการเงินให้มีความยืดหยุ่น และสอดคล้องกับเงื่อนไขในการฟื้นตัวของแต่ละภาคธุรกิจ (3) การดูแลควบคุม และป้องกันการลุกลามของปัญหาในบางภาคการผลิตที่อาจส่งผลกระทบเชื่อมโยงไปยังภาคการเงิน และ (4) การสร้างสภาพแวดล้อมทางการเงินเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านต้นทุนทางการเงิน การลดปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อ และการป้องกันความเสี่ยงจากการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวท่ามกลางการขยายปริมาณเงินของประเทศสำคัญ ๆ อย่างต่อเนื่อง

2) การพิจารณามาตรการเพิ่มเติมสำหรับธุรกิจและแรงงานในสาขาเศรษฐกิจที่ยังมีปัญหาอุปสรรคในการฟื้นตัว ให้ความสำคัญกับ (1) กลุ่มธุรกิจและแรงงานในภาคการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง ซึ่งการฟื้นตัวยังมีข้อจำกัดจากแนวโน้มความล่าช้าในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (2) กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังมีศักยภาพในการฟื้นตัวแต่มีปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงมาตรการภาครัฐ และ (3) กลุ่มธุรกิจและแรงงานที่อยู่ในช่วงของการปิดกิจการชั่วคราว ซึ่งต้องการมาตรการดูแลเป็นการเฉพาะทั้งในด้านมาตรการสินเชื่อ การปรับโครงสร้างหนี้ มาตรการสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจเพื่อรักษาการจ้างงาน และการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบอบรมสัมมนาของภาครัฐเพื่อลดผลกระทบในภาคการท่องเที่ยว รวมทั้ง การให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ว่างงานและแรงงานที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ โดยการให้ความสำคัญกับ (1) การบูรณาการข้อมูลและสร้างกลไกการจับคู่แรงงานให้เหมาะสมกับตำแหน่งงานว่างและทักษะฝีมือแรงงาน (2) การพัฒนาทักษะแรงงานผ่านการยกระดับและปรับศักยภาพเพื่อช่วยแรงงานที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะแรงงานในภาคการท่องเที่ยวซึ่งอาจต้องเปลี่ยนสายงานสายอาชีพใหม่ และ (3) การสร้างงานใหม่เพื่อรองรับ ผู้ว่างงานและบัณฑิตจบใหม่ ควบคู่ไปกับการดูแลปัญหาการขาดแคลนแรงงานในกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือและแรงงานทักษะต่ำจากประเทศเพื่อนบ้าน

3) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า เพื่อสร้างรายได้เงินตราต่างประเทศชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และสนับสนุนการฟื้นตัวของ

ภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญกับ (1) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทิศทาง ทางการค้าและการย้ายฐานการผลิตในช่วงก่อนหน้า รวมทั้งกลุ่มสินค้าที่ได้รับประโยชน์เพิ่มเติมจากการระบาดของโรคโควิด 19 และ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคและวิธีการประกอบการธุรกิจที่ทำให้ความต้องการสินค้าหลายรายการเพิ่มขึ้น (2) การประชาสัมพันธ์และใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของประเทศไทยในด้านขีดความสามารถในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค เพื่อสนับสนุนภาพลักษณ์ของสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศ (3) การส่งเสริมการตลาดเชิงรุกผ่านช่องทางออนไลน์(4) การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศภายในกลุ่มอาเซียน และ (5) การดูแลป้องกันปัญหาภัยแล้งที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ฐานการผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ของประเทศ

4) การดูแลภาคการเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งและการลดลงของราคาสินค้าส่งออก โดยให้ความสำคัญกับ (1) การจัดหาแหล่งน้ำ เพื่อภาคการเกษตรและการบริหารจัดการน้ำ (2) การเร่งรัดชดเชยเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง (3) การดำเนินมาตรการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิตในภาคเกษตร และ (4) การสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรออนไลน์ และบริการโลจิสติกส์ต้นทุนต่ำ เพื่อสนับสนุนการขายสินค้าจากเกษตรกรผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตให้กับเกษตรกรมากขึ้น

5) การขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐ ประกอบด้วยการเบิกจ่ายภายใต้กรอบสำคัญ ๆ ประกอบด้วย (1) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ให้มีอัตราการเบิกจ่ายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 91.8 ของกรอบงบประมาณ (2) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ในไตรมาสแรกให้มีอัตราการเบิกจ่ายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25.7 (3) งบประมาณรายจ่ายเหลื่อมปี 2563 ให้มีอัตราการเบิกจ่ายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 88.0 และ (4) การเบิกจ่ายภายใต้ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ไม่ต่ำกว่า 563,400 ล้านบาท ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนมาตรการ การสร้างศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวอย่างต่อเนื่องทั้งในด้าน (1) การขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชนภายใต้กรอบมาตรการ ที่สำคัญ ๆ (2) การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติให้ความเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจในประเทศ อย่างต่อเนื่อง (3) การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐทั้งในด้านการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง และ (4) การปรับโครงสร้างภาคการผลิตและภาคบริการที่สำคัญ ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและรองรับแนวโน้มการปรับตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี สนับสนุนการกระจายรายได้ รวมทั้งสอดคล้องกับ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคและรูปแบบในการประกอบธุรกิจ

6) การส่งเสริมไทยเที่ยวไทยและการรณรงค์ใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศ โดย (1) การรณรงค์ให้คนไทยที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวและใช้จ่าย ในต่างประเทศหันกลับมาเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ (2) การขอความร่วมมือจากภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และธุรกิจภาคเอกชนในการพิจารณาวันหยุดเพิ่มเติมโดยไม่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (3) การขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวของภาครัฐให้สามารถ สร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม และ (4) การรณรงค์และสนับสนุนการใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศทั้งในภาครัฐ ภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจเอกชน เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของกิจกรรมการผลิตในประเทศและลดการนำเข้าโดยเฉพาะภายใต้แนวโน้มการลดลงของ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและการขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่อง

7) การเตรียมการรองรับความเสี่ยงสำคัญ ๆ ทั้งในด้าน (1) ความยืดเยื้อของการระบาดในประเทศสำคัญ ๆ และการกลับมาระบาดของโรค ในระลอกที่สอง (2) ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่เกิดจากทิศทางนโยบายสหรัฐฯ ต่อประเทศคู่ค้าสำคัญๆ ในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้ง การปรับเปลี่ยนคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการคลังในประเทศสำคัญ ๆ และปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอ และ (3) เงื่อนไขความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกในระยะปานกลาง

8) การรักษาบรรยากาศทางการเมืองในประเทศ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ และเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวและ การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบางและมีความไม่แน่นอนอยู่สูงทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลาง

ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว

การลดลงของรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากผลกระทบของการระบาดของโรคโควิด 19 นับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2563 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวและภาคที่เกี่ยวเนื่อง ในปี 2562 ประเทศไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.88 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.1 ของ GDP ปี 2562 ในขณะที่รายได้จากผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านบาท รายได้จากผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติจึงเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 63.5 ของรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนทั้งหมด ดังนั้น ผลจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติทำให้เกิด ผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะต่อผู้ประกอบการในพื้นที่ที่มีสัดส่วนรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติสูง

ข้อมูลรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนรายจังหวัด โดยเรียงลำดับจากจังหวัดที่มีสัดส่วนการพึ่งพิงรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติสูงสุด 16 จังหวัดแรก จะเห็นได้ว่าจังหวัดที่มีสัดส่วนการพึ่งพิงสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ภูเก็ต พังงา และยะลา อยู่ที่ร้อยละ 89 ร้อยละ 88 และร้อยละ 84 ของรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนทั้งหมด ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน จังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มากที่สุด ได้แก่ ภูเก็ต พังงา และกระบี่ อยู่ที่ร้อยละ 65 ร้อยละ 49 และร้อยละ 38 ของ GDP ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าจังหวัดเหล่านี้ มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ดังนั้น ภายใต้แนวโน้มความล่าช้าของการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการกลับมาระบาดของไวรัสในประเทศที่เป็นแหล่งต้นทางของนักท่องเที่ยวสำคัญ ๆ จึงควรมีการพิจารณาดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากการลดลงของรายได้จากการท่องเที่ยว โดย (1) การพิจารณามาตรการทางการเงินการคลังเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือธุรกิจและแรงงาน ในภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีสัดส่วนการพึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวสูง (2) การรณรงค์ให้คนไทยที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวและใช้จ่ายในต่างประเทศหันกลับมาเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างรุนแรง (3) การขอความร่วมมือภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคธุรกิจเอกชน ในการพิจารณาวันหยุดเพิ่มเติม โดยไม่ส่งผลกระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศ (4) การขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวของภาครัฐ ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันให้สามารถสร้างกิจกรรมและช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวได้อย่างชัดเจนมากขึ้น และ (5) การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณอบรม สัมมนาของหน่วยงานภาครัฐในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2564

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ