2.2 แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2551: การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดีขึ้น แต่การส่งออกชะลอตัว และแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น
2.2.1 ประเด็นหลัก
- ในปี 2551 เศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะขยายตัวได้สูงกว่าในปี 2550 และมีความสมดุลมากขึ้นจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชน การเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณรัฐบาลภายใต้กรอบนโยบายการคลังขาดดุลที่ขาดดุลสูงกว่าในปี 2550 และการดำเนินนโยบายรัฐบาลในการฟื้นความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและการส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้งการเร่งรัดการลงทุนที่สำคัญของประเทศโดยเฉพาะการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนอกจากนี้การส่งออกที่ยังขยายตัวสูงในช่วงปลายปี 2550 และในเดือนมกราคม 2551 แสดงว่าผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวต่อการส่งออกของไทยมีน้อยกว่าที่คาดไว้เดิม
- ปัจจัยพื้นฐานภายในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ทั้งสถานการณ์ด้านการเมือง ความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจ อัตราดอกเบี้ยจะมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำฐานรายได้ของประชาชนปรับตัวดีขึ้นในทุกกลุ่มทั้งรายได้เกษตรกรที่จะได้รับประโยชน์จากราคาสินค้าเกษตรหลัก
(ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน) ที่สูงขึ้น การปรับเพิ่มเงินเดือนภาคราชการและรัฐวิสาหกิจที่มีผลเต็มที่ในปี 2551 และรายได้แรงงานที่ได้รับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 1-7 บาทตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมเป็นต้นไป อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานของภาคธุรกิจเอกชนจะอยู่ในช่วงที่ได้รับ
ผลกระทบจากต้นทุนราคาน้ำมันที่สูงขึ้น แต่ผลกระทบจากค่าเงินบาทนั้นจะมีน้อยกว่าในปี 2550 เนื่องจากคาดว่าค่าเงินจะมีเสถียรภาพมากขึ้นและแข็งค่าขึ้นอีกไม่มาก
- ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในปี 2551 สำหรับเศรษฐกิจไทย คือปัญหาราคาน้ำมัน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจจะชะลอตัวมากกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากเงื่อนไขสำคัญคือ (i) ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและผันผวนได้ง่ายจากผลกระทบด้านการผลิต เนื่องจากพื้นฐานตลาดมีความตึงตัวอยู่แล้ว และ(ii) ปัญหาหนี้อสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพในสหรัฐฯ ที่ยังยืดเยื้อไปในปี 2551 รวมทั้งผลกระทบต่อเนื่องถึงตลาดเงินและตลาดสินค้าของประเทศในเอเชียและยุโรป ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้จะกระทบทั้งความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจได้ โดยจะส่งผลกระทบแท้จริงผ่านทางต้นทุนการผลิตและแรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและความต้องการสินค้าและบริการที่ชะลอลง ในกรณีที่ความเสี่ยงดังกล่าวสูงกว่าที่คาดไว้ การใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชนจะไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่การส่งออกก็มีโอกาสที่จะชะลอตัวมากกว่าที่คาด
- ดังนั้นในปี 2551 รัฐบาลจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการที่จะบริหารความเสี่ยงและลดผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวโดยจะต้องผลักดันการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องทั้งการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
และยกระดับมาตรฐานสินค้า การยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัย และส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตร รวมทั้งการสร้างความพร้อมของปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน และรวมถึงการสร้างความชัดเจนด้านกฎระเบียบที่จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน นอกจากนี้รัฐบาลจะต้องเร่งรัดในการการดำเนินนโยบายด้านพลังงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ในขณะเดียวกันจะต้องดูแลและส่งเสริมการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศทั้งเงินทุนระยะสั้นและการลงทุนโดยตรงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อประเทศ
- ในช่วงที่ผ่านมาการส่งออกของไทยมีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศอุตสาหกรรมหลักและภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวมน้อยลง เนื่องจาก (i) โครงสร้างตลาดส่งออกของประเทศไทยมีการกระจายตัวมากขึ้น โดยที่การพึ่งพิงตลาดส่งออกใหม่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในขณะที่การพึ่งพิง
ตลาดหลัก ทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่นมีสัดส่วนลดลง (ii) ประเทศที่กลายเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญมากขึ้นสำหรับประเทศไทยซึ่งได้แก่ ประเทศจีน เอเชียในภาพรวม และยุโรปตะวันออก นั้นมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เร็วขึ้นกว่ากลุ่มประเทศอื่น จึงทำให้ประเทศเหล่านี้โดยเฉพาะเอเชียกลายเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก (growth engine) ที่สำคัญมากขึ้นโดยมีสัดส่วนขนาดเศรษฐกิจในระบบเศรษฐกิจโลกที่สูงขึ้น(iii) ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มยานยนต์และส่วนประกอบมากขึ้นจากการขยายฐานการผลิตของบรรษัทข้ามชาติ โดยที่
สินค้าอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีวงจรชีวิตสั้นลง (product life cycle)อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจึงทำให้มีการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์เร็วขึ้น ประกอบกับได้รับประโยชน์จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบของดิจิตอลมากขึ้น(digital content) สำหรับรถยนต์นั้นมีการส่งออกไปยังตลาด
ออสเตรเลียเพิ่มขึ้นภายหลังข้อตกลงการค้าเสรี และการส่งออกไปยังตะวันออกกลางเพิ่มขึ้นตามรายได้จากการส่งออกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมาก และ (iv) ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการที่ราคาส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ(ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด และยางพารา) สูงขึ้นมากตาม
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ และราคาน้ำมัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะความต้องการพืชพลังงานที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก ซึ่งคาดว่าในปี 2551 ราคาสินค้าเกษตรกลุ่มนี้จะสูงขึ้นตามภาวะราคาน้ำมัน โดยที่การส่งออกข้าวนั้นราคาจะเพิ่มขึ้นตามราคาข้าวสาลี ซึ่งผลผลิตในประเทศจีนได้รับความเสียหายจาก
ผลกระทบภัยธรรมชาติในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา และเวียดนามได้ลดเป้าหมายการส่งออกข้าวในปี 2551
(ยังมีต่อ).../2.2.2 ปัจจัยบวก..