ประมาณการเศรษฐกิจปี 2551
ข้อมูลจริง ประมาณการปี 2551
2548 2549 2550 25 ก.พ._f 26 พ.ค._f
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านบาท) 7,095.6 7,830.30 8,485.2 9,231.9 9,418.6
รายได้ต่อหัว (บาทต่อคนต่อปี) 109,440.9 120,763.40 128,563.6 139,877 142,705.6
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านดอลลาร์ สรอ.) 176.2 206.6 245.5 286.7 292.5
รายได้ต่อหัว (ดอลลาร์ สรอ. ต่อหัวต่อปี) 2,715 3,186.40 3,720.0 4,344 4,431.9
อัตราการขยายตัวของ GDP (ณ ราคาคงที่, %) 4.5 5.1 4.8 4.5-5.5 4.5-5.5
การลงทุนรวม (ณ ราคาคงที่, %) 10.6 3.8 1.4 6.7 8.5
ภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่, %) 10.6 3.7 0.5 7.0 9.3
ภาครัฐ (ณ ราคาคงที่, %) 10.8 3.9 4.0 6.0 6.0
การบริโภครวม (ณ ราคาคงที่, %) 5.3 3.0 2.7 4.7 4.7
ภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่, %) 4.5 3.2 1.4 3.8 3.8
ภาครัฐบาล (ณ ราคาคงที่, %) 10.8 2.3 10.8 10.0 10.0
ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %) 3.9 8.5 7.1 5.9 7.3
มูลค่าการส่งออกสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.) 109.4 127.9 151.2 169.3 171.3
อัตราการขยายตัว (%) 15.2 17.0 18.1 12.0 13.3
อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %) 4.3 8.3 7.2 6.0 6.3
ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %) 8.7 2.6 3.5 6.6 10.0
มูลค่าการนำเข้าสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.) 117.6 126.9 139.2 161.1 169.8
อัตราการขยายตัว (%) 25.8 7.9 9.6 15.4 22.0
อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %) 8.9 0.2 1.5 6.9 11.0
ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.) -8.3 1.0 12.0 8.1 1.5
ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ สรอ.) (1/) -7.6 2.2 14.9 11.6 6.0
ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP (%) -4.3 1.0 6.1 4.1 2.0
เงินเฟ้อ (%)
ดัชนีราคาผู้บริโภค 4.5 4.7 2.3 3.2-3.7 5.3-5.8
GDP Deflator 4.5 5.0 2.7 3.2-3.7 5.5-6.0
อัตราการว่างงาน 1.8 1.5 1.4 1.5 1.5
ที่มา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 26 พฤษภาคม 2551
หมายเหตุ (1/) Reinvested earnings has been recorded as part of FDI in Financial account, and its contra entry recorded as income on equity in current account.
แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2551
สหรัฐ: เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจในเดือนเมษายนแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังอยู่ในภาวะอ่อนตัว แม้ว่า GDP ในไตรมาสแรกจะขยายตัวสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แต่การขยายตัวดังกล่าวมาจากการเพิ่มขึ้นของการลงทุนในสินค้าคงคลังเป็นสำคัญ นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นว่าภาคเศรษฐกิจยังอยู่ระหว่างการแก้ปัญหาในภาคการเงินและการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้คาดได้ว่าพลวัตรของการเข้าสู่ภาวะความถดถอยของภาคเศรษฐกิจจริงยังไม่สิ้นสุดโดยพิจารณาจากเงื่อนไขและการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ (1) ภาคการเงินยังคงผันผวนและความเชื่อมั่นในภาคการเงินยังต่ำเมื่อพิจารณาจากความแตกต่างของอัตราผลตอบแทนของตราสารทางการเงินประเภทต่าง ๆ กับพันธบัตรและตั๋วเงินคลังรัฐบาล (Spread) ที่ยังเพิ่มสูงขึ้น (2) ภาวะความตกต่ำในตลาดที่อยู่อาศัยยังไม่ผ่านพ้นจุดต่ำสุด โดยดัชนี Case — Shiller index แสดงว่าราคาที่อยู่อาศัยยังคงลดลงต่อเนื่องและเป็นการลดลงในอัตราที่เร็วขึ้น (3) ภาคการผลิตยังคงอ่อนตัว โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงร้อยละ 0.7 เกินกว่าการคาดการณ์ของตลาด และเป็นการปรับลดที่รุนแรงที่สุดในรอบ 2.5 ปี (4) การบริโภคภาคเอกชนยังอ่อนตัวซึ่งเป็นผลมาจากการว่างงานที่เพิ่มขึ้น เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และความเข้มงวดด้านมาตรฐานสินเชื่อ โดยการค้าปลีกในเดือนเมษายนปรับตัวลดลงร้อยละ 0.2
แต่ทางการสหรัฐได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาสภาพคล่องตึงตัวอย่างต่อเนื่องโดยมีมาตรการสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้วได้แก่ (1) การลดอัตราดอกเบี้ย Fed fund rate ล่าสุด Fed ลดอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 ในเดือนเมษายน ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงเป็นร้อยละ 2.0 รวมทั้งปรับลด Spread ของ Discount rate ลงร้อยละ 0.75 ในเดือนมีนาคม (2) การเพิ่มสภาพคล่องภายใต้ Term Securities Lending Facility (TSLF) แก่สถาบันการเงินในวงเงินสูงสุดถึง 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยใช้ตราสารที่หนุนหลังโดยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (Mortgage-backed securities: MBS) เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในเดือนมีนาคมและล่าสุดในเดือน พฤษภาคมได้ยินยอมให้สถาบันการเงินใช้ตราสารที่หนุนหลังโดยทรัพย์สินระดับ AAA (AAA-rated Asset Backed Securities: ABS) เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน (3) การขยายวงเงินสินเชื่อภายใต้ Term Auction Facility (TAF)เป็น 100,000 ล้านดอลลาร์ในเดือนมีนาคม และล่าสุดในเดือน พ.ค ได้ขยายเป็น 150,000 ล้านดอลลาร์ (3) การขยายวงเงินสินเชื่อภายใต้ Swap agreements กับธนาคารกลางสหภาพยุโรปและสวิสเซอร์แลนด์เป็นวงเงิน 50,000 และ12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ (4) มาตรการคืนภาษีในวงเงิน 150,000 ล้านดอลลาร์ (5) อนุมัติให้ Federal Housing Administration เพิ่มขอบเขตการค้ำประกันสินเชื่อรวมทั้งขยายสินเชื่อของ Federal Home Loan Mortgage Corporation และ Federal National Mortgage Association เป็นวงเงิน 200,000 ล้านดอลลาร์ สรอ.
การตอบสนองทางนโยบายทำให้บรรยากาศด้านการลงทุนและตลาดสินเชื่อเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยที่ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุดประมาณร้อยละ 11 ขนาดของความสูญเสียในสถาบันการเงินเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นซึ่งจะเห็นได้จากการเพิ่มทุนเพื่อแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงิน การขยายวงเงินสินเชื่อให้แก่ Dealers ที่ประสบปัญหาทางการเงินและการขยายวงเงินสินเชื่อให้แก่ Federal Home Loan Mortgage Corporation และ Federal National Mortgage Association ช่วยลดปัญหาความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ นอกจากนั้นการยินยอมให้ Dealers สามารถกู้ยืมโดยใช้ตราสารที่หนุนหลังโดยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถระดมทุนเพื่อปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น โดยภาพรวมมาตรการด้านการขยายสินเชื่อของทางการสหรัฐส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย Mortgage rate ปรับตัวลดลงเล็กน้อย Spread ของพันธบัตรคุณภาพดีปรับตัวลดลงจากระดับสูงสุดร้อยละ 3.05 ในเดือนมีนาคมเป็นร้อยละ 2.68 ในเดือนเมษายน ในขณะที่ Spread ของตราสารหนี้คุณภาพต่ำ (Junk bond) ลดลงจากระดับสูงสุดร้อยละ 8.62 เป็นร้อยละ 6.92 ในช่วงเวลาเดียวกัน การปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นในภาคการเงินเมื่อรวมกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นและมาตรการในการแก้ไขปัญหาที่ได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐเริ่มลดบทบาทความสำคัญของการใช้การลดดอกเบี้ยอย่างรุนแรงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
แม้ว่าสถานการณ์ในตลาดสินเชื่อและบรรยากาศการลงทุนจะเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ ยังแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังปรับตัวลดลงและอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี คำสั่งซื้อล่วงหน้ายังคงปรับตัวลดลง นอกจากนั้น การที่ราคาที่อยู่อาศัยยังปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งของครัวเรือนและความมั่นคงของระบบการเงินซึ่งจะเป็นข้อจำกัดของของการฟื้นตัวในภาคเศรษฐกิจจริงในระยะต่อไป แม้ว่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการคืนภาษีและนโยบายการลดอัตราดอกเบี้ยตลอดช่วงที่ผ่านมาจะมีประสิทธิผลมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ยังขึ้นอยู่กับความเข้มงวดของมาตรฐานสินเชื่อที่กำหนดโดยสถาบันการเงิน ดังนั้นโดยภาพรวมจึงคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มจะเป็นไปอย่างช้าๆ และรวมทั้ง 2551 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 0.8 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.2 ในปีที่ผ่านมาและต่ำกว่าร้อยละ 1.2 ที่คาดการณ์ไว้ในเดือนกุมภาพันธ์
ผลกระทบของภาวะความผันผวนในภาคการเงินและการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐต่อเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมอื่น ๆ มีแนวโน้มสูงกว่าที่ได้ประมาณการไว้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง โดย
- กลุ่มประเทศยูโรโซน เริ่มมีความแตกต่างของการขยายตัวทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกมากขึ้น เศรษฐกิจของประเทศเยอรมันเริ่มปรับตัวต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ในขณะที่ สเปนและอิตาลีมีแนวโน้มของการปรับตัวทางเศรษฐกิจที่รุนแรงมากขึ้น ในเดือนเมษายน ดัชนี Purchasing Managers' Index อ่อนตัวลงมาก โดยดัชนีด้านคำสั่งซื้อ (New orders) ลดลงเป็นครั้งแรกนับจากเดือนสิงหาคม ปี 2548 ดัชนี PMI ภาคบริการชะลอตัวลง แต่ดัชนีดังกล่าวของประเทศเยอรมนีขยายตัวสูงขึ้นในขณะที่ดัชนีของประเทศสมาชิกอื่น ๆ ปรับตัวลดลง ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในตลาดโลกและค่าเงิน Euro ที่แข็งตัว ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจปรับตัวลดลงจาก 99.6 ในเดือนมีนาคม เป็น 97.1 ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับจากเดือนสิงหาคมปี 2548
โดยภาพรวม เครื่องชี้เศรษฐกิจแสดงให้เห็นถึงการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในขณะที่ภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจะเป็นข้อจำกัดที่สำคัญของการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ และการแข็งตัวของค่าเงินเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของภาคการส่งออก ECB ได้อัดฉีดสภาพคล่องแก่ภาคการเงินและดำเนินมาตรการเพื่อลดปัญหาความตึงตัวของภาคการเงินอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดนับจากการก่อตั้ง Eurozone ในปี 2542 ทำให้ ECB ประสบปัญหาในการรักษาความสมดุลระหว่างการขยายตัวทางเศรษฐกิจกับการสร้างเสถียรภาพด้านราคา
อย่างไรก็ตาม จากการที่อัตราดอกเบี้ยดอกเบี้ยนโยบายยังอยู่ในระดับร้อยละ 4 อย่างต่อเนื่องนับจากเดือน สิงหาคม 2540 ทำให้ความวิตกกังวลด้านแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นคาดว่า ECB จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงประมาณร้อยละ 0.25-0.5 ในช่วงครึ่งหลังของปีซึ่งแรงกดดันด้านการชะลอตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มผ่อนคลายลง แนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าวคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนในปี 2551 ขยายตัวประมาณร้อยละ 1.4 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.0 ในปี 2550 ในขณะที่เงินเฟ้อคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 2.1 เป็นร้อยละ 2.8
เศรษฐกิจญี่ปุ่น: ยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงมากซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของประเทศสหรัฐและกลุ่มประเทศยุโรป รวมทั้งผลกระทบจากค่าเงินเยนที่แข็งตัว ในขณะเดียวกันอุปสงค์ภายในประเทศยังคงอยู่ในภาวะอ่อนตัว ในเดือนเมษายน ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มการอ่อนตัวของเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น แม้ว่าการชะลอตัวของการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาในไตรมาสแรกจะถูกชดเชยโดยการขยายตัวของการส่งออกไปยังประเทศจีนและเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวในเกณฑ์สูงก็ตาม ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่า การส่งออกไปยังตลาดจีนขยายตัวเพียงร้อยละ 1.9 ในเดือนมีนาคมซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดนับจากเดือนพฤษภาคม ปี 2548 แนวโน้มภาวะการชะลอตัวดังกล่าวนอกจากจะทำให้ธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่นตัดสินใจเลื่อนการประกาศขึ้นดอกเบี้ยแล้ว การปรับประมาณการเศรษฐกิจครั้งล่าสุดยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของการดำเนินนโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจหากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงมาก
เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเอเชีย: ยังมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจาการชะลอตัวของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมมากขึ้น ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ปริมาณการส่งออกของประเทศในกลุ่ม ASEAN-5 Asian NIEs และอินเดียเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยเฉพาะการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ดังนั้นการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศและการค้าในภูมิภาคจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นของภาวะเงินเฟ้อเริ่มเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศจากการประเมินสถานการณ์ล่าสุด คาดว่าเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเซียมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวนำโดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและอินเดียซึ่งคาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 9.3 และร้อยละ 9.7 ตามลำดับ ชะลอตัวลงจากร้อยละ 11.4 และร้อยละ 9.2 ในปี 2550 ในขณะที่เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ Asian NIEs และ ASEAN-5 โดยภาพรวมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0 และร้อยละ 5.8 เทียบกับร้อยละ 5.6 และร้อยละ 6.3 ในปี 2550
(ยังมีต่อ).../แนวโน้มราคา..