- สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงเพิ่มขึ้นสินเชื่อที่ขยายตัวขึ้นทำให้สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากปรับตัวสูงขึ้นจากร้อยละ 94.8 ณ สิ้นปี 2550 มาอยู่ที่ร้อยละ 96.5 ณ สิ้นเดือนมีนาคม แต่นับว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก นอกจากนี้สภาพคล่องส่วนเกินของระบบธนาคารพาณิชย์ที่คำนวณเป็นสัดส่วนของสภาพคล่องที่พร้อมนำไปใช้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยมีมูลค่าประมาณ 1,035 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2551 เทียบกับ 822.2 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550 เนื่องจากสถาบันการเงินเพิ่มการลงทุนในตลาดซื้อคืนพันธบัตร และมีฐานะเป็นผู้ให้กู้สุทธิ ณ สิ้นไตรมาส
- NPLs ลดลง NPLs ในระบบสถาบันการเงินที่ไม่รวมสำนักงานวิเทศธนกิจและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ณ สิ้นไตรมาสหนึ่งปี 2551 มีมูลค่ารวม 249.4 พันล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 3.76 ของสินเชื่อรวม ลดลงจากร้อยละ 3.95 ในไตรมาสก่อนหน้า
- ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนสูงขึ้นมาก บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีกำไรสุทธิรวม 152.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปี 2550 ร้อยละ 33 เนื่องจากยอดขายรวมที่เพิ่มขึ้น และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทที่มีผลกำไรสุทธิมี 384 บริษัทขาดทุน 71 บริษัท กลุ่มบริษัทที่มีผลกำไรสูงได้แก่ กลุ่มพลังงาน และธุรกิจการเงิน ธนาคารพาณิชย์มีผลการดำเนินงานอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีกำไรสุทธิ 3.1 หมื่นล้าน บาท เพิ่มขึ้นจากการขาดทุนสุทธิ 7.5 พันล้านบาท ในไตรมาสสี่ปี 2550 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาระการกันสำรองตามเกณฑ์ IAS 39 ลดลงมากหลังจากได้กันสำรองครบในปลายปี 2550 ประกอบกับมีกำไรจากเงินลงทุนและจากการปริวรรตเงินตราเพิ่มขึ้น
- ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นแต่ดัชนีค่าเงินบาทอ่อนค่าลงค่าเงินบาทในไตรมาสที่หนึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 32.38 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นร้อยละ 4.45 และ 8.88 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและระยะเดียวกันของปี 2550 ตามลำดับ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือน มีนาคม เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ที่อ่อนตัวลง จากปัญหาวิกฤติ Sub-prime ในสหรัฐฯ ที่ขยายวงกว้างขึ้นและส่งผลกระทบเชิงลบโดยตรงต่อผลกำไรของสถาบันการเงินใหญ่ๆ ทั่วโลก ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของการเกินดุลบัญชีชำระเงิน ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและค่าเงินสกุลอื่นๆ ในไตรมาสหนึ่งมีความผันผวนมากขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่สี่ ปี 2550 เมื่อพิจารณาค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินสกุลต่าง ๆ พบว่าค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักและสกุลภูมิภาค แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบค่าเงินเยน และค่าเงินเปโซ ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (Nominal Effective Exchange Rate)และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (Real Effective ExchangeRate) เฉลี่ยในไตรมาสที่หนึ่งแข็งค่าขึ้นจากไตรมาสที่สี่ที่ร้อยละ 0.88 และ ร้อยละ 1.96 ตามลำดับ ในเดือนเมษายน 2551 ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 31.53 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. หรืออ่อนค่าลงร้อยละ 0.39 จากค่าเฉลี่ยเดือนมีนาคม จากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ จนสิ้นไตรมาสที่สอง ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สรอ. แข็งค่าขึ้น และปริมาณการนำเข้าของไทยที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีความต้องการเงินดอลลาร์ สรอ. เพิ่มมากขึ้นไปด้วย
- ดัชนีตลาดหลักทรัพย์และมูลค่าการซื้อขายปรับตัวลดลง มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเท่ากับ 18.8 พันล้านบาท ลดลงจาก 19.4 พันล้านบาทในไตรมาสก่อน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงโดยปิดที่ 817.03 จุด ณ สิ้นไตรมาส เทียบกับ 858.1 จุด ณ สิ้นไตรมาสสี่ ปี 2550 โดยนักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิรวม 13.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์มีความผันผวนมากตลอดไตรมาสที่หนึ่ง โดยปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงมาอยู่ที่ 728.58 จุด ณ สิ้นเดือนมกราคมเนื่องมาจากการลดอัตราดอกเบี้ย fed fund rate ของธนาคารกลางสหรัฐอย่างกะทันหัน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน จากนั้นดัชนีได้ค่อยๆปรับตัวเพิ่มขึ้นจนแตะระดับสูงสุดที่ 845.76 จุดจากการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเป็นผลมาจากการยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นการใช้นโยบายมาตรการภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจ และระดับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น
- มูลค่าซื้อขายตราสารหนี้เพิ่มขึ้น มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรม outright เฉลี่ยต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 47.3 พันล้านบาทในไตรมาสสี่ ปี 2550 เป็น 62.8 พันล้านบาท ในไตรมาสที่หนึ่ง ปี 2551 โดยนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิ 29 พันล้านบาท ดัชนีราคาปรับตัวขึ้นเล็กน้อยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Yield) ปรับตัวลดลงโดยเฉพาะตราสารระยะกลาง เดือนเมษายนการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเท่ากับ 84.2 พันล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิที่ 6.7 พันล้านบาท
- การระดมทุนภาคเอกชน (ไม่รวมตราสารระยะสั้น) ในไตรมาสที่หนึ่ง มีมูลค่ารวม 72.7 พันล้านบาท เทียบกับ 66.3 พันล้านบาทในไตรมาสที่สี่ ปี 2550 และ 42.5 พันล้านบาทในไตรมาสที่หนึ่ง ปี 2550 ซึ่งเป็นการออกหุ้นเพิ่มทุนของภาคการเงิน 18.8 พันล้านบาท และภาคธุรกิจอื่น 26 พันล้านบาท ทั้งนี้ในไตรมาสที่หนึ่งมีการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) คิดเป็นร้อยละ 58 ของมูลค่าการทำธุรกรรมตราสารทุนตลอดไตรมาสหนึ่ง
1.2 ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรกปี 2551
เศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรก ปี 2551 ชะลอตัวลง โดยที่เศรษฐกิจหลักเกือบทุกประเทศชะลอตัว โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้จะทรงตัวจากไตรมาสก่อน แต่นับว่ายังอยู่ในช่วงของการชะลอตัวเนื่องจากการลงทุนในที่อยู่อาศัยที่หดตัวต่อเนื่อง จากปัญหาวิกฤต Sub-prime ที่ยังคงยืดเยื้อ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังตลาดการเงินในสหภาพยุโรป และทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจลดลง เช่นเดียวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตามการลงทุนในที่อยู่อาศัยที่ยังคงหดตัว ในขณะที่เศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัวตามการส่งออกแต่การนำเข้าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในประเทศภูมิภาคเอเชียยังคงขยายตัวดีโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการค้าในภูมิภาคที่ยังขยายตัวในเกณฑ์สูง และอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวได้ดี
- เศรษฐกิจสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.5 ทรงตัวจากไตรมาสก่อน (หรือร้อยละ 0.6, qoq) โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสนี้ขยายตัวดี ได้แก่ การส่งออกการบริโภคภาคครัวเรือนในหมวดสินค้าบริการ และการสะสมสินค้าคงคลังที่เพิ่มสูงขึ้น และช่วยชดเชยการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดที่อยู่อาศัยหดตัวมากขึ้นภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวนั้นเห็นได้จากเครื่องชี้สำคัญ ๆ ได้แก่ ยอดสร้างบ้านใหม่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องนับจากไตรมาสที่สองของปี 2549 เนื่องจากผู้ประกอบการจำเป็นต้องลดการสะสมสต็อกบ้านที่อยู่ในระดับสูง ในภาวะที่ยอดขายบ้านยังลดลงถึงร้อยละ 21.8 ต่อเนื่องจากที่ลดลงร้อยละ 19.9 ในไตรมาสก่อน และได้กดดันให้ราคาขายบ้านโดยเฉลี่ยลดลงต่อเนื่อง ราคาบ้านที่ลดลงได้ส่งผลกระทบต่อมูลค่าของหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อนอกจากนี้การบริโภคภาคครัวเรือนทั้งในหมวดสินค้าคงทนและไม่คงทนชะลอตัวอย่างชัดเจน โดยยอดค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 0.1 ลดลงจากร้อยละ 10.2 ในไตรมาสก่อน ตามภาวะความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงอยู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2546 การชะลอตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศได้ส่งผลให้ภาคการผลิตชะลอลงเช่นเดียวกัน โดยดัชนีการผลิตของสถาบันจัดการการผลิต ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 48.6 ในเดือนมีนาคม 2551 เช่นเดียวกับยอดคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงในไตรมาสนี้ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจนั้นยังคงมีแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสแรก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 4.1 จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันและค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนลง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 2.4 ใกล้เคียงกับร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอตัว
- เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ขยายตัวร้อยละ 2.2 เทียบกับร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อน (หรือร้อยละ 0.7,qoq) โดยการขยายตัวในไตรมาสนี้มีลักษณะที่ทั่วถึงเป็นวงกว้างมากขึ้น คือ ประเทศเยอรมนี และฝรั่งเศสสามารถขยายตัวได้ดีขึ้นมากกว่าที่คาดไว้และสูงขึ้นจาก
ไตรมาสก่อน โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศสเปนและเนเธอร์แลนด์ชะลอตัวลงตามอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหา Sub-prime ในสหรัฐฯ ที่ได้ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินและส่งผลให้ธนาคารเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้ามากขึ้น ขณะเดียวกันการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและค่าเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้น ส่วนแรงกดดันต่อเงินเฟ้อนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเงินเฟ้อเฉลี่ยของกลุ่มประเทศยูโรในไตรมาสแรกอยู่ที่ร้อยละ 3.4 สูงขึ้นจากร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อน (สูงกว่าระดับเป้าหมายของธนาคารกลางที่ร้อยละ 2.0) ธนาคารกลางยุโรปจึงคงรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 4.0 นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2550 แม้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะชะลอตัว
- เศรษฐกิจญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 1.0 ชะลอลงจากร้อยละ 1.7 ในไตรมาสก่อน เป็นการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2550 โดยการลงทุนในที่อยู่อาศัยยังคงหดตัวต่อเนื่อง แม้ว่าจะเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นจากปริมาณการเริ่มก่อสร้างบ้านที่สูงขึ้นในไตรมาสนี้ แต่การลงทุนโดยรวมยังคงอ่อนตัว ซึ่งจะเห็นได้จากการลงทุนที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบห้าปี เนื่องจากผลประกอบการธุรกิจลดลงสอดคล้องกับความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ยอดคำ สั่งซื้อล่วงหน้าสินค้าอุตสาหกรรมประเภทเครื่องมือเครื่องจักรหดตัว ส่วนการบริโภคภาคเอกชนยังคงเปราะบางภายใต้สถานการณ์ที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้น
สำหรับการส่งออกสินค้าและบริการยังคงขยายตัวสูงและเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเป็นผลจากการส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียนและจีนที่ยังขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ดี การนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้การส่งออกสุทธิสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสนี้ได้น้อยลง สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 1.0 เร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนว่าความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องมานานได้เริ่มลดลง ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2550 แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ในระดับต่ำเฉลี่ยประมาณร้อยละ 0.0 ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไปหากพิจารณาว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวชัดเจน
- เศรษฐกิจกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย ส่วนใหญ่ขยายตัวได้ดีจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นอีกส่วนหนึ่งเป็นผลของการดำเนินนโยบายทางการเงินผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้าการลงทุนที่เพิ่มขึ้นสูง ช่วยชดเชยผลกระทบของการส่งออกสินค้าและบริการที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักที่ชะลอลง โดยส่วนใหญ่การส่งออกไปยังตลาดในภูมิภาคยังคงขยายตัวได้ดีขณะเดียวกันการนำเข้าเพิ่มขึ้นสูงสอดคล้องกับแนวโน้มอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้น แต่แรงกดดันทางด้านราคาเพิ่มขึ้นจากต้นทุนราคาน้ำมันและราคาอาหาร ซึ่งส่วนหนึ่งถูกชดเชยโดยการแข็งตัวของค่าเงินในภูมิภาค แต่อย่างไรก็ตามปัญหาเงินเฟ้อที่เป็นปัญหาสำคัญที่หลายประเทศในภูมิภาคกำ ลังเผชิญ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ โดยสาเหตุหลักที่ส่งผลให้เกิดปัญหาดังกล่าว คือ การเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากของราคาน้ำมัน ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนสินค้าหลายชนิดเพิ่มขึ้น รวมทั้งการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าเกษตรและอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าว
- เศรษฐกิจจีน ชะลอลงเล็กน้อย โดยในไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 10.6 ชะลอจากร้อยละ 11.2 ในไตรมาสก่อน ตามการชะลอตัวของการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 16.4 ในไตรมาสแรก ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 18.3 ในด้านการใช้จ่ายพบว่าการส่งออกยังขยายตัวได้สูง ในไตรมาสแรกขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 21.4 (เดือนมีนาคม เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 30.6 เร่งขึ้นจากร้อยละ 6.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ ตามการส่งออกเครื่องมือเครื่องจักรที่สูงขึ้น และเริ่มชะลอในเดือนเมษายน โดยขยายตัวร้อยละ 21.8) ในขณะที่การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงกว่าการส่งออก ทำให้การส่งออกสุทธิสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้น้อยลงในไตรมาสนี้ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจยังคงสามารถขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งโดยมีแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่กลับมาฟื้นตัวได้ช่วยชดเชยการส่งออกสุทธิที่ชะลอลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นชัดเจน โดยยอดค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 20.6 เร่งขึ้นจากร้อยละ 20.2 ในไตรมาสก่อน ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรยังคงขยายตัวได้สูงร้อยละ 24.0 (และในเดือนเมษายนยังขยายตัวดีร้อยละ 25.7)
ในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นสูงต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 8.0 เร่งขึ้นจากร้อยละ 6.3 ในไตรมาสก่อน(เดือนเมษายน อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 8.5) เป็นผลจากราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากได้รับผลกระทบจากพายุหิมะในช่วงต้นปี และตามภาวะอาหารในตลาดโลกที่สูงขึ้น
- เกาหลีใต้ ขยายตัวร้อยละ 5.7 เท่ากับในไตรมาสก่อน(และร้อยละ 0.7 qoq ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบสามปี) การบริโภคขยายตัวร้อยละ 3.5 เทียบกับร้อยละ 4.1 ในไตรมาสแรกของปี 2550 ผู้ประกอบการเริ่มชะลอการลงทุน ทำให้การลงทุนหดตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การส่งออกยังคงขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจร้อยละ 12.1 แต่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับร้อยละ 17 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2550 ในขณะที่การนำเข้าชะลอตัวลงจากร้อยละ 14.4 เป็นร้อยละ 9.5 ทำให้การส่งออกสุทธิสนับสนุนการส่งออกมากขึ้น อย่างไรก็ตามการชะลอตัวลงการนำเข้ามีสาเหตุมาจากการลดลงของการนำเข้าสินค้าบริการเป็นสำคัญ อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.1 ในเดือนมีนาคม อันเป็นผลมาจากการปลดคนงานของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ที่มีการขยายตัวยาวนานต่อเนื่องถึง 9 ปีหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อในเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.9 ซึ่งเป็นค่าที่สูงที่สุดในรอบสามปีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและความเชื่อมั่นของผลิตลดลง อย่างไรก็ตามธนาคารกลางเกาหลีใต้ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 5
(ยังมีต่อ).../2.ประมาณการ..