(ต่อ6)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก และแนวโน้มปี 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 30, 2008 15:55 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

                    2.2.5 การประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจในกรณีสูงและกรณีต่ำ
(1) การขยายตัวทางเศรษฐกิจในกรณีสูงอย่างน้อยร้อยละ 5.0 เศรษฐกิจทั้งปี 2551 จะสามารถขยายตัวในอัตราสูงอย่างน้อยร้อยละ 5.0 ได้ภายใต้เงื่อนไข (i) เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.8 และการส่งออกของไทยสามารถปรับตัวและแข่งขันได้ภายใต้ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 13.0-15.0 และรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8-9 (ii)การเบิกจ่ายภาครัฐเฉลี่ยรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 85 ของวงเงินงบประมาณรัฐบาลและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ โดยให้ความสำคัญในการเร่งรัดการเบิกจ่ายสำหรับการดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนประชาชนผู้มีรายได้น้อยในการพัฒนาอาชีพ และโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขและการแก้ปัญหาสังคม (iii) ความเชื่อมั่นประชาชนและภาคธุรกิจฟื้นกลับมาหลังจากที่เริ่มลดลงในเดือนเมษายน และ (iv) ราคาน้ำมันดิบลดลงในครึ่งหลังของปีเนื่องจากมีการปรับเพิ่มปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปก และเป็นการปรับตัวลดลงจากราคาที่สูงเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานในช่วงครึ่งแรกของปี โดยที่ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีไม่เกินบาร์เรลละ110-115 ดอลลาร์ สรอ.
(2) การขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าร้อยละ 5.0 ในกรณีที่ (i) เศรษฐกิจโลกชะลอตัวแรงกว่าที่คาดและขยายตัวได้ต่ำกว่าร้อยละ 3.5 จากปัญหาราคาน้ำมันและปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพที่รุนแรงและยืดเยื้อ ซึ่งจะทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยขยายตัวได้น้อย (ii) การเบิกจ่ายงบประมาณรัฐบาลและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจต่ำกว่าร้อยละ 80 และ (iii) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่า 120 ดอลลาร์ สรอ.
" ...จากการประเมินปัจจัยสนับสนุน ปัจจัยเสี่ยงและการขยายตัวในระดับสูงในไตรมาสแรกที่ผ่านมาคาดว่าโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปี 2551 จะขยายตัวได้ร้อยละ 5 — 5.5 เป็นประมาณร้อยละ 80..."
2.3 แนวโน้มภาคการผลิต
การผลิตภาคเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าในปี 2550 สำหรับภาคการเงินคาดว่าสินเชื่อจะขยายตัวได้มากขึ้นอย่างไรก็ตามสถาบันการเงินต่าง ๆ จะอยู่ในช่วงของการรับตัวภายใต้บริบทใหม่ของภาคการเงิน ทั้งการนำ BASEL II มาใช้ และการใช้พระราชบัญญัติสถาบันประกันเงินฝาก เป็นต้น สถานการณ์ด้านการผลิตมีแนวโน้ม ดังนี้
(1) สาขาเกษตรกรรม มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่สำคัญ เช่น
(1.1) ข้าว การผลิตข้าวของไทยมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากปริมาณน้ำมีเพียงพอ และราคามีแนวโน้มดีขึ้นตามราคาส่งออกที่เพิ่มขึ้น จากอุปสงค์ในตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับประเทศคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญ เช่น เวียดนาม อินเดีย ได้ลดเป้าส่งออกเพื่อความมั่นคงด้านอาหารของประเทศรวมทั้งปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐที่อนุมัติยุทธศาสตร์ข้าวไทย ในปีงบประมาณปี 2551 โดยกำหนดให้ไทยเป็น ”ผู้นำ คุณภาพข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวเป็นที่หนึ่งของโลก” เพื่อเกษตรกรมีรายได้มั่นคง และผู้บริโภคมั่นใจ ประกอบกับผลผลิตข้าวนาปรังเริ่มทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้นคาดว่าผลผลิตข้าวนาปรังปีการผลิต 2551 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 จากปีที่แล้ว
(1.2) มันสำปะหลัง คาดว่าผลผลิตในปี 2551 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะแก๊สโซฮอล 91 และ 95 ทางกระทรวงพลังงานได้กำหนดเป้าหมายการผลิตเอทานอลในปี 2551 จำนวน 1.3 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 0.5 ล้านลิตรต่อวัน ในปี 2550 ส่งผลให้อุปสงค์ของมันสำปะหลังสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นด้วย ประกอบกับอุปสงค์มันสำปะหลังจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะประเทศจีน และเกาหลีใต้ ที่ต้องการมันเส้นและมันอัดเม็ดจากประเทศไทยเพิ่มขึ้น จึงคาดว่าราคามันสำปะหลังจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป
(1.3) ยางพารา ทิศทางปริมาณการผลิตและระดับราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณความต้องการการใช้ยางของโลก และการเก็งกำ ไรในตลาดล่วงหน้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคายางสังเคราะห์มีแนวโน้มสูงตามราคาน้ำมัน ดังนั้นผู้ประกอบการได้หันมาใช้ยางธรรมชาติมากขึ้นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยาง ยางยืดรัดของ การผลิตยางล้อรถยนต์ ซึ่งมีความสอดคล้องกับการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
(1.4) ประมง สถานการณ์การผลิตในปี 2551 มีแนวโน้มลดลงตามการการผลิตกุ้งที่มีขนาดใหญ่ หรือประมาณร้อยละ 20 ของการผลิตกุ้งทั้งหมดเนื่องจากราคาปัจจัยการผลิตเช่น อาหารสัตว์ราคาน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออกไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาการกีดกันทางการค้าของประเทศผู้นำเข้า เช่น สหรัฐอเมริกา แต่ปัจจัยบวกในปี 2551 คือ ไทยมีโอกาสทางการค้ากับประเทศคู่ค้า เช่น การตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น(JTEPA) ทำให้ภาษีการนำเข้ากุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและกุ้งแปรรูปของไทยลดลงจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 0 การได้รับคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) จากสหภาพยุโรป จึงคาดว่าการส่งออกกุ้งไทยในปี 2551 จะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
(2) ภาคอุตสาหกรรม การผลิตเพื่อการส่งออกจะมีแนวโน้มชะลอตัวตามภาวะการส่งออกเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญมีแนวโน้มชะลอตัวแต่การผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นตามการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัวดี เช่นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ และยานยนต์โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ กลุ่มรถยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือก สำหรับในปี 2551 ปัจจัยที่ต้องดูแล คือ ราคาน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น การปรับตัวของวิสาหกิจขนาดเล็กขนาดย่อมในเรื่องมาตรฐานคุณภาพสินค้าและการปรับตัวภายใต้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตของโลกอย่างต่อเนื่องที่ทำให้มีการแข่งขันจากผู้ผลิตที่ต้นทุนต่ำ เช่น จีน อินเดีย และเวียดนาม เป็นต้น รวมทั้งจะต้องดำเนินการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงาน และการเพิ่มผลิต ภาพการผลิตของแรงงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปสู่การผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
(3) สาขาการก่อสร้าง แนวโน้มปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะการก่อสร้างที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเนื่องจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคต่อการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ทำให้อุปสงค์ต่อโครงการที่อยู่อาศัยใกล้ ๆ แนวเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และการก่อสร้างอาคารสำ นักงานและอาคารโรงงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวอยู่และความชัดเจนของโครงการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รวมทั้งปัจจัยทางด้านอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยให้สิทธิลดหย่อยภาษีธุรกิจเฉพาะอสังหาริมทรัพย์เหลือร้อยละ 0.1 จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ส่วนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการโอน การจำนองอสังหาริมทรัพย์ทั้งบ้านเดี่ยวบ้านแฝด ทาวเฮาส์ อาคารพาณิชย์ ห้องชุด อาคารสำนักงานจากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2551 มาตรการดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธุรกิจการก่อสร้างและธุรกิจที่ต่อเนื่องให้ฟื้นตัวได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา
(4) สาขาบริการท่องเที่ยวในปี 2551 ได้กำ หนดเป้าหมายนักท่องเที่ยว 15.7 ล้านคน จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทย 14.3 ล้านคนในปี 2550 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 มีการคาดการณ์รายได้ 600,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 506,435 ล้านบาทในปี 2550 โดยในปี 2551 — 2552 รัฐบาลได้ประกาศให้เป็น“ปีแห่งการท่องเที่ยวไทย” ซึ่งแนวทางการดำเนินงานคือ การฟื้นฟูพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวการสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในเชิงพื้นที่ที่มีศักยภาพ เช่น การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชายฝั่งอ่าวไทย The Royal Coast หรือ Thailand Riviera ส่งเสริมตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มดูแลสุขภาพ กลุ่มประชุมและแสดงสินค้า และกลุ่มท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม เป็นต้น รวมทั้งการยกระดับให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก (World Class Destination) เพื่อสร้างมูลค่ามาตรฐานการบริการเพื่อการแข่งขันกับประเทศต่างๆ และมีการยกระดับมาตรฐานการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว
3. การบริหารจัดการเศรษฐกิจในปี 2551
ในช่วงที่เหลือของปี 2551 รัฐบาลจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการที่จะบริหารความเสี่ยงและลดผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้เดิมมาก ซึ่งได้ส่งผลกระทบให้ต้นทุนการผลิตและการประกอบการของภาคธุรกิจและผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนให้สูงขึ้นมาก รวมทั้งผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวต่อภาคการส่งออก โดยในระยะสั้นนั้นควรมุ่งบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และรณรงค์ให้เกิดการประหยัดพลังงานและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเร่งรัดการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ตามเป้าหมาย ในขณะเดียวกัน ต้องเร่งรัดมาตรการระยะยาวให้เริ่มดำเนินการได้ตามกำหนดเวลาโดยเฉพาะโครงการภาครัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการขนส่งและการกระจายสินค้า และระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพและปริมณฑลให้เป็นไปตามเป้าหมาย รวมทั้งการติดตามให้การดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารจัดการของวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมให้มีความคืบหน้าและมีผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม การยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัยและการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตร รวมทั้งการเร่งรัดส่งเสริมการท่องเที่ยว และการลงทุน โดยมีแนวทางการบริหารจัดการดังนี้
3.1 การรณรงค์ให้เกิดการประหยัดพลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง และการเร่งรัดให้แผนการใช้ NGV ของภาคการขนส่งดำเนินไปตามเป้าหมายทั้งการขยายจำนวนสถานีบริการ NGV และการเพิ่มจำนวนรถยนต์ที่ใช้ NGV รวมทั้งการรณรงค์การใช้พลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (เช่น แผนการใช้ E10/95 E10/91 E20/95 B2 และ B5 เป็นต้น)
3.2 การดูแลผู้ด้อยโอกาส/คนชรา/ผู้เกษียณอายุเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบค่าครองชีพเฉพาะกลุ่ม ในปัจจุบันนั้นผู้สูงอายุที่ได้รับจัดสรรเบี้ยยังชีพมีจำนวนประมาณ 1.755 ล้านคน จากจำนวนทั้งหมด 6.33 ล้านคน สำหรับคนพิการนั้นได้รับจัดสรรจำนวน 229,985 คน จากจำนวนรวม 1.098 ล้านคน เป็นต้น
3.3 การดูแลราคาสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยมุ่งเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพ การผลิตและคุณภาพผลผลิต และสร้างกลไกให้เกิดการส่งผ่านราคาสินค้าที่สูงขึ้นไปยังเกษตรกรได้อย่างยุติธรรม
3.4 การเร่งรัดและประเมินผลการดำเนินงานภายใต้กรอบการขยายสินเชื่อ SMEs ให้มีความคืบหน้าตามเป้าหมายที่กำหนดเพื่อที่ SMEs จะสามารถฟื้นตัวและสามารถปรับเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อย่างแท้จริง ทั้งในกรอบของเงินกองทุนช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท (วงเงิน 5,000 ล้านบาท) และการให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อแก่SMEs เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การปรับปรุงเทคโนโลยี หรือพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าและบริการ (วงเงิน 40,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโดยธนาคารแห่งประเทศไทย 20,000 ล้านบาท และสถาบันการเงิน 20,000 ล้านบาท)
3.5 การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2551 ของภาครัฐให้สามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 94 สำหรับงบประมาณรัฐบาล โดยเฉพาะการดำเนินงานโครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งการแก้ปัญหาความยากจน และการสนับสนุนกิจการขนาดเล็กขนาดย่อม สำหรับงบลงทุนรัฐวิสาหกิจนั้นกำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายร้อยละ 90 ทั้งนี้โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนแผนพัฒนาและงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
3.6 การทบทวนและดูแลราคากลางโครงการภาครัฐให้มีความเหมาะสมตามอัตราเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้เพื่อป้องกันความล่าช้าในการดำเนินโครงการร่วมกับภาคเอกชน และเป็นการสนับสนุนให้การลงทุนฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง (ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันราคาวัสดุก่อสร้างเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 15-20)
3.7 การสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยการสานต่อนโยบายด้านการลงทุนภาครัฐทางด้านโครงสร้างพื้นฐานให้มีความต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดเตรียมการลงทุนโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครอย่างเป็นรูปธรรม และผลักดันให้โครงการที่ได้รับอนุมัติแล้วเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2551 เพื่อสร้างพื้นฐานการขยายตัวและการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว ตลอดจนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ เร่งรัดการแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ และปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของการลงทุนของภาคเอกชน และผลักดันการดำเนินการ“ปีแห่งการลงทุน 2551/2552”
3.8 การส่งเสริมการท่องเที่ยวและการลงทุนให้ฟื้นตัวจากภาวะการชะลอตัวในปี 2550 และเร่งดำเนินการ “ปีแห่งการลงทุนไทย 2551 / 2552” และ “ปีแห่งการท่องเที่ยวไทย 2551/2552”
(ยังมีต่อ).../ประมาณการเศรษฐกิจ..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ