ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสสอง และแนวโน้มปี 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 4, 2008 15:20 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          - เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 5.3 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 6.1 ในไตรมาสแรกจากการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ รวมครึ่งปีเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 5.7 โดยที่ปริมาณการส่งออกขยายตัวสูงกว่าที่คาดไว้และยังเป็นแรงสนับสนุนสำคัญ แต่อุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแอ โดยที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐณ ราคาแท้จริงหดตัว และการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว
- ภาพรวมเศรษฐกิจยังมีเสถียรภาพแต่แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากและดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล ในไตรมาสสองอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 7.5 และสูงถึงร้อยละ 9.2 ในเดือนกรกฎาคม ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 308 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากที่เกินดุล 3,068 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสแรก ซึ่งเป็นผลจากที่ราคาน้ำมันนำเข้าสูงขึ้นมากประกอบกับที่รายจ่ายด้านการท่องเที่ยวต่างประเทศของคนไทยสูงขึ้นและเป็นช่วงของการส่งกลับกำไรและผลตอบแทนของการลงทุนจากต่างประเทศ สำหรับอัตราการว่างงานเฉลี่ยยังต่ำเท่ากับร้อยละ 1.4
- อัตราดอกเบี้ย ณ ราคาตลาดปรับสูงขึ้นทั้งดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ แต่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมากมีผลให้อัตราดอกเบี้ยแท้จริงลดลงและเป็นลบ สินเชื่อเร่งตัวมากขึ้น ในขณะที่เงินฝากลดลง ทำให้สภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินลดลงต่อเนื่อง แต่โดยรวมสภาพคล่องยังสูง ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงต่อเนื่องตั้งแต่กลางเดือนเมษายน เช่นเดียวกับดัชนีค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยลดลงและมีความผันผวนเป็นช่วง ๆ ตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติในภาวะที่ตลาดการเงินโลกยังได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ ประกอบกับราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์มีความผันผวน
- ฐานะการคลังเกินดุลงบประมาณและดุลเงินสดภายหลังจากที่อยู่ในฐานะขาดดุลในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาโดยที่มีรายได้นำส่งคลังเพิ่มขึ้นมากแต่รายจ่ายเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนมิถุยายน 2551 เท่ากับร้อยละ 35.8 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 37.97 ณ สิ้นปี 2550
- ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในครึ่งหลังของปี ประกอบด้วย (i) มาตรการภาษีเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
(ii) การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณรัฐบาลจากไตรมาสสุดท้ายปีงบประมาณ 2551 และไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2552 (iii) รายได้เกษตรกรที่คาดว่าจะยังเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเพิ่มผลผลิตแม้ว่าราคาสินค้าเกษตรสำคัญจะชะลอลงกว่าในครึ่งแรก (iv) อัตราการว่างงานยังต่ำ (vi) อัตราดอกเบี้ยแท้จริงยังต่ำ และ (vii) การส่งออกจะยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีแม้ว่าจะในอัตราที่ชะลอลง
- ในปี 2551 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 5.2 — 5.7 โดยชะลอตัวลงในครึ่งหลัง เนื่องจากการส่งออกชะลอตัวลงกว่าในครึ่งแรก ในขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนเอกชนจะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ภายใต้ข้อจำกัดที่ราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ในเกณฑ์สูงแม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลง และความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักธุรกิจที่ยังต่ำเนื่องจากค่าครองชีพที่ยังสูงและบรรยากาศภายในประเทศ
- ประเด็นความเสี่ยงที่ต้องมีการบริหารจัดการ ประกอบด้วย (i) ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกต่อการส่งออก (ii) การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง ซึ่งคาดว่าจะเกินดุลร้อยละ 2.6 ของ GDP (iii) การดูแลผลกระทบจากปัญหาต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพที่ยังสูง (iv) ประสิทธิภาพการใช้พลังงานซึ่งต้องส่งเสริมให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (v) การดูแลเสถียรภาพสินค้าเกษตร และ (vi) การเร่งรัดโครงการลงทุนภาครัฐ
1. ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาสที่สอง
1.1 เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 5.3 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 6.1 ในไตรมาสแรก เนื่องจากได้รับผลกระทบราคาน้ำมัน ราคาวัตถุดิบ และภาวะเงินเฟ้อโดยรวมที่เพิ่มสูงขึ้นมากและทำให้ความต้องการสินค้าและบริการภายในประเทศชะลอลง แต่การส่งออกขยายตัวได้สูงกว่าที่คาดไว้เดิมทั้งการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมจึงช่วยชดเชยให้เศรษฐกิจยังขยายตัวในเกณฑ์ดี รวมครึ่งแรกของปีเศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 5.7
ประเด็นหลัก
(1) สถานการณ์ที่ดีในไตรมาสสองเป็นด้านการส่งออกที่ขยายตัวได้สูงกว่าที่คาดไว้เดิมทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม และในด้านการผลิตภาคเกษตรขยายตัวสูงขึ้น ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรม โรงแรมและภัตตาคาร และภาคการเงินยังขยายตัวในเกณฑ์ดี
-ในไตรมาสสองปริมาณการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 สูงกว่าที่ขยายตัวร้อยละ 6.9 ในไตรมาสแรก ในขณะที่รายรับบริการยังขยายตัวในเกณฑ์ดีประกอบกับราคาสินค้าส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ก็ยังเพิ่มขึ้นมากโดยที่ส่วนหนึ่งเป็นราคาสินค้าเกษตรหลายรายการที่เพิ่มขึ้นมาก (ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง และยางพารา) ในขณะที่ทั้งปริมาณและราคาส่งออกอุตสาหกรรมยังเพิ่มขึ้นในเกณฑ์ดี โดยรวมมูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงถึงร้อยละ 26.3 เร่งตัวขึ้นจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.9 ในไตรมาสแรก (และล่าสุดในเดือนกรกฎาคมมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 43.9 โดยที่รายการสินค้าเกษตรสำคัญยังขยายตัวสูง รวม 7 เดือนแรกของปีมูลค่าการส่งออกรวมขยายตัวร้อยละ 27.4(ก))
หมายเหตุ (ก) ข้อมูล 6 เดือนแรกจาก ธปท.และเดือนกรกฎาคมจากกระทรวงพาณิชย์
กลุ่มสินค้าที่มูลค่าการส่งออกยังขยายตัวสูงและเร่งตัวมากขึ้นในไตรมาสสอง ประกอบด้วย ข้าว (ปริมาณเพิ่มร้อยละ 35.3 และราคาเพิ่มร้อยละ 89.2) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (ปริมาณลดลงร้อยละ 25.5 ต่อเนื่องจากที่ลดลงร้อยละ 29.3 ในไตรมาสแรก แต่ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 20) ยางพารา (ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 และราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.8) และหมวดอาหาร (ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1 และราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9) ซึ่งในหมวดอาหารนี้ประกอบด้วยอาหารทะเลแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋อง ผัก ผลไม้สดแช่แข็งและกระป๋อง และไก่สดแช่แข็งและแปรรูป รวมทั้งอาหารอื่น ๆ
สำหรับเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบนั้นสัญญาณการชะลอตัวมีความชัดเจนมากขึ้น โดยที่มูลค่าการส่งออกเครื่องอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 (ร้อยละ 5.6 ในไตรมาสแรก และร้อยละ 12.8 ในปี 2550) เครื่องใช้ไฟฟ้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 (ทรงตัวจากร้อยละ 12.2 ในไตรมาสแรกแต่ในปี 2551 นี้นับว่ามีสัญญาณชะลอตัวลงเล็กน้อยจากร้อยละ 15.0 ในปี 2550 ซึ่งเป็นการชะลอตัวของการส่งออกเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ) สำหรับการส่งออกหมวดยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบนั้นมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 21.5 ในไตรมาสแรก อย่างไรก็ตามมีกลุ่มสินค้าออกอื่น ๆ ที่มีการขยายตัวได้ดี เช่น เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ ของเล่นนาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องสำ อาง สบู่และผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
การส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดีในปี 2551 เป็นผลมาจากการส่งออกไปตลาดใหม่และตลาดในภูมิภาคที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่การพึ่งพิงตลาดหลัก ทั้งสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นมีสัดส่วนลดลง ในครึ่งแรกของปี 2551 ที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกของไทยไปยังตลาดใหม่เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 31.1 (มูลค่าการส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.4 ตะวันออกกลางเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.8 ยุโรปตะวันออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.8) เช่นเดียวกับการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน (5) ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.9 ในขณะที่มูลค่าการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 (ชะลอลงจากร้อยละ 15 ในปี 2550)แต่อย่างไรก็ตามราคาส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สูงขึ้นส่งผลให้ในปีนี้มูลค่าการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ และญี่ปุ่นกลับมาขยายตัวได้ดีกว่าในปี 2550 (ร้อยละ 6.7 และ 13.0 เทียบกับร้อยละ -1.3 และ 9.7 ในปี 2550)
สัดส่วนการส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่าง ๆ
2538 2540 2545 2549 2550 2551
Q1 Q2 H1
สหรัฐฯ 17.8 19.4 19.8 15.0 12.6 11.7 11.0 11.3
ญี่ปุ่น 16.8 15.1 14.6 12.6 11.8 11.3 11.4 11.3
EU 15 15.1 15.9 15.0 13.0 12.8 12.8 11.6 12.1
อาเซียน (9) 21.7 21.8 19.9 20.8 21.4 21.6 24.8 23.3
ตะวันออกกลาง 4.5 3.3 3.6 4.4 4.9 4.8 5.1 5.0
ออสเตรเลีย 1.4 1.6 2.4 3.4 3.8 4.0 4.0 4.0
จีน 2.9 3.0 5.2 9.0 9.7 9.9 9.3 9.6
อินเดีย 0.5 0.5 0.6 1.4 1.8 1.7 1.9 1.8
ฮ่องกง 5.2 5.9 5.4 5.5 5.6 6.1 5.6 5.9
เกาหลีใต้ 1.4 1.8 2.1 2.1 1.9 1.9 1.7 1.8
ไต้หวัน 2.4 2.7 2.9 2.6 2.2 1.7 1.6 1.7
อาฟริกาใต้ 0.4 0.4 0.5 0.8 0.9 0.9 1.0 0.9
อื่น ๆ 9.9 8.3 8.0 9.3 10.4 11.6 11.0 11.3
ที่มา ธปท.
- การผลิตภาคเกษตรขยายตัวได้ดีขึ้น โดยขยายตัวร้อยละ 6.5 สูงกว่าร้อยละ 3.5 ในไตรมาสแรก และการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.9 ในทั้งปี 2550 พืชผลสำคัญที่มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นมากประกอบด้วย ข้าว อ้อยและปาล์มน้ำมัน รวมทั้งผลผลิตยางพาราก็ยังเพิ่มขึ้นในเกณฑ์ดี สำหรับพืชผลเกษตรที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นมากได้แก่ ข้าว มันสำ ปะหลัง ข้าวโพด และยางพาราโดยเฉพาะข้าวนั้นปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 61.43 ในไตรมาสสอง รวมครึ่งแรกของปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 56.1
- สาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 8.0 แต่อย่างไรก็ตามเป็นการขยายตัวที่ชะลอลงเล็กน้อยจากที่ขยายตัวร้อยละ 9.9 ในไตรมาสแรกตามภาวะการใช้จ่ายในประเทศและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมรายการหลักประเภทสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
- จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 13.3 ในไตรมาสแรกสนับสนุนให้สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวประมาณร้อยละ 5.0 แต่อย่างไรก็ตามเป็นการขยายตัวที่ชะลอตัวลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 8.3 ในไตรมาสแรก เนื่องจากราคาน้ำมัน ค่าเดินทาง และเงินเฟ้อโดยรวมที่เพิ่มขึ้นมากส่งผลกระทบต่อรายจ่ายนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ ประกอบกับค่าเงินบาทโดยเฉลี่ยที่แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้วทำให้คนไทยเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น
- สาขาการเงินยังขยายตัวร้อยละ 8.9 เนื่องจากสินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้น รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นรวมทั้งได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ยังเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามอัตราการขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 9.6 ในไตรมาสแรกซึ่งเป็นช่วงของการเจริญเติบโตจากฐานที่ต่ำมากในไตรมาสแรกปี 2550
(2) สถานการณ์ที่ยังต้องระมัดระวัง: อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัวลง
- ในไตรมาสสองการใช้จ่ายครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 2.4 ค่อนข้างทรงตัวจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสแรก แต่เป็นการฟื้นตัวที่ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมเนื่องจากปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากและความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง จะเห็นว่าในไตรมาสสองนี้รายจ่ายเพื่ออุปโภคและบริโภคของครัวเรือนในราคาปีปัจจุบันเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10.2 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 ในไตรมาสแรกแต่อย่างไรก็ตามราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นมากทำให้เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในชนบทมากขึ้นเมื่อพิจารณาจากปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2
- แต่การลงทุนภาคเอกชนนั้นชะลอลงชัดเจน โดยขยายตัวร้อยละ 4.3 จากที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 ในไตรมาสแรก อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การลงทุนชะลอตัวคือ ต้นทุนที่สูงขึ้น ภาวะการชะลอตัวของความต้องการสินค้าและบริการภายในประเทศ และการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความเชื่อมั่นภาคธุรกิจลดลง
- และการใช้จ่ายภาครัฐบาล ณ ราคาแท้จริง ลดลงร้อยละ 2.4 และการลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 5.2แม้ว่างบประมาณภาครัฐนั้นมีการเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายและเป็นจำนวนเงินสูงกว่าในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ราคาที่สูงขึ้นและการชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ณ ราคาแท้จริงลดลงโดยที่การลงทุนในการก่อสร้างของภาครัฐหดตัวเนื่องจากผลกระทบจากการที่ราคาค่าก่อสร้างสูงขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงที่จัดเตรียมงบประมาณจากภาวะต้นทุนราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้นมากถึงร้อยละ 24.6 ในไตรมาสสองต่อเนื่องจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 ในไตรมาสแรก ราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ เหล็ก ปูนซิเมนต์ และไม้ จึงทำให้มีความล่าช้าของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจรับงาน และการขอปรับราคากลางและค่า K ในไตรมาสสองนี้โครงการลงทุนก่อสร้างของภาครัฐทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลดลงร้อยละ 8.0
การเบิกจ่ายงบประมาณรัฐบาลนั้นมีการเบิกจ่ายได้สูงกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายเล็กน้อย (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 24.6 เทียบกับเป้าหมายร้อยละ 23.5) โดยในไตรมาสสอง (เมษายนถึงมิถุนายน ปี 2551) มีการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐบาลจำนวน 407,569.8 ล้านบาท(เทียบกับการเบิกจ่าย 400,256.5 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว) โดยเป็นการเบิกจ่ายงบประจำจำนวน 321,033.7 ล้านบาท (เพิ่มจากที่เบิกจ่ายจำนวน 313,614.9 ล้านบาท) และการเบิกจ่ายงบลงทุนอีกจำนวน 86,536.2 ล้านบาท (ต่ำกว่าการเบิกจ่ายจำนวน 86,641.6 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปี 2550) แต่มีการเบิกจ่ายเหลื่อมปีได้จำนวน 17,576.7 ล้านบาท (สูงกว่าที่เบิกจ่ายจำนวน 16,147.2 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน) โดยรวมนับว่าการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐบาลเป็นไปตามเป้าหมาย และคาดว่าทั้งปีจะเบิกจ่ายได้ร้อยละ 94 ของกรอบวงเงินงบประมาณตามที่กำหนดไว้เป็นเป้าหมาย สำหรับการลงทุนรัฐวิสาหกิจซึ่งรวมการลงทุนของ ปตท. นั้นในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายนปีนี้มีการเบิกจ่ายจำนวน 63,916.34 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากการเบิกจ่ายจำนวน 44,529.07 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน)
(3) ภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาสสองปี 2551 ยังมีเสถียรภาพแต่แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาก ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล และดุลการชำระเงินลดลงจึงกดดันค่าเงินบาทให้อ่อนลง
- ในไตรมาสที่สองอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.4 ต่ำกว่าร้อยละ 1.6 ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเล็กน้อย และร้อยละ 1.7 ในไตรมาสแรกเล็กน้อย โดยที่การจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8
- แต่แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากราคาน้ำมันและราคาอาหารที่สูงขึ้นมากส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.5 ในไตรมาสที่สองเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 5.0 ในไตรมาสแรก (และเท่ากับร้อยละ 9.2 ในเดือนกรกฎาคม และเฉลี่ย 7 เดือนเท่ากับร้อยละ 6.6) และจากต้นทุนราคาน้ำมันและราคาอาหารในกลุ่มแป้ง ผัก และไข่ที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ราคาในหมวดการเดินทางและค่าขนส่งและอาหารสำเร็จรูปเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ จึงทำให้แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้นเช่นกัน โดยที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 2.8 ในไตรมาสสอง สูงกว่าร้อยละ 1.5 ในไตรมาสแรกอย่างชัดเจน (อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 3.7 ในเดือนกรกฎาคมและเฉลี่ยในระยะ 7 เดือนแรกของปี 2551 นี้เท่ากับร้อยละ 2.4)
- ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเล็กน้อยแม้ว่าดุลการค้ากลับมาเกินดุล ในไตรมาสสองดุลการค้าเกินดุล 425 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากที่ขาดดุล 108.6 ล้านดอลลาร์สรอ. ในไตรมาสแรก รวมครึ่งแรกของปีดุลการค้ายังอยู่ในฐานะเกินดุลเล็กน้อย โดยที่เป็นการขาดดุลน้ำมันจำนวน 6.90 พันล้านดอลลาร์ สรอ. แต่มีการเกินดุลจากรายการสินค้าอื่น ๆ สำหรับดุลบริการนั้นขาดดุลประมาณ 700 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามฤดูกาลจ่ายเงินปันผลและส่งรายได้จากการลงทุนกลับของบริษัทต่างชาติและเป็นช่วงวันหยุดเทศกาลของประเทศไทยที่ทำ ให้มีการเดินทางออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น ดังนั้นในไตรมาสสองดุลบัญชีเดินสะพัดจึงขาดดุล 0.308 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จากที่เกินดุล 3.068 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสแรก
และเมื่อรวมกับเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิที่มีการขาดดุล 1.327 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จากการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากประเทศไทยของนักลงทุนต่างชาติเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดจากปัญหา sub-prime จึงทำให้โดยรวมดุลการชำระเงินของไทยอยู่ในฐานะขาดดุล 2.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสที่สอง ลดลงมาก เมื่อเทียบกับดุลการชำระเงินที่เกินดุลจำนวน 18.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสแรก จึงเป็นแรงกดดันให้เงินบาทอยู่ในทิศทางที่อ่อนค่าลง โดยในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนค่าเงินบาทอ่อนลงเป็น 32.11 และ 32.20 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. จากระดับเฉลี่ย 31.46 และ 31.59 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในเดือนมีนาคมและเมษายน และ 34.026 บาทต่อดอลลาร์สรอ.ณ วันที่ 21 สิงหาคม ที่ผ่านมา
- ราคาน้ำมันและราคาพลังงานสูงขึ้นมากและทำให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงในไตรมาสสองเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.24 แม้ว่าปริมาณโดยเฉลี่ยจะลดลงร้อยละ 1.2 และดุลการค้าน้ำ มันยังขาดดุลต่อเนื่องโดยในไตรมาสสองขาดดุลจำนวน 6.9 พันล้านดอลลาร์ และรวมในครึ่งแรกของปีมีการขาดดุลประมาณ 13.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ.
(ยังมีต่อ).../ภาวะเศรษฐกิจ..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ