(ต่อ2)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสสาม และแนวโน้มปี 2549 - 2550

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 8, 2006 15:15 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          1.2 ไตรมาสที่สามเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่โดยรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปีเศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี และเป็นไปในลักษณะฐานกว้าง แต่อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยยังสูง 
เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่สองที่ผ่านมา โดยแรงกดดันเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะเริ่มลดลงในไตรมาสที่สาม และปัญหาความไม่สมดุลเศรษฐกิจโลกยังคงเพิ่มขึ้น
- เศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่สามปี 2549 ชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่สอง จากการที่เศรษฐกิจหลักได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียได้แก่ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ชะลอตัวลง แม้ว่าเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรและญี่ปุ่นจะยังขยายตัวต่อเนื่องใกล้เคียงกับไตรมาสที่แล้ว และเศรษฐกิจฮ่องกง ไต้หวัน อินโดนีเซียขยายตัวเร่งขึ้น
- เศรษฐกิจสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.0 ชะลอตัวต่อเนื่อง เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนหดตัว โดยเฉพาะการลงทุนในที่อยู่อาศัยซึ่งได้รับผลกระทบจากการที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังมีสต็อกส่วนเกินและความต้องการชะลอลง รวมทั้งราคาลดลง และการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีน ขยายตัวร้อยละ 10.4 ชะลอตัวหลังจากมาตรการลดความร้อนแรง เช่น การเพิ่มอัตราดอกเบี้ย การเพิ่มสัดส่วนเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ การควบคุมสินเชื่อและโครงการลงทุนใหม่ การป้องกันการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ เริ่มส่งผลให้การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์ถาวรชะลอตัว เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยุโรปมีแนวโน้มชะลอตัวจากการลงทุนรวมที่ชะลอตัวหลังจากที่ขยายตัวได้สูงในไตรมาสที่สอง และการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัว เศรษฐกิจญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 2.7 ใกล้เคียงไตรมาสที่แล้ว เป็นผลจากการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิที่เพิ่มขึ้นมาก และการลงทุนที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวได้ดี แต่การบริโภคภาคเอกชนยังคงมีความเปราะบาง สำหรับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียการส่งออกสินค้าและบริการเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สำคัญ อย่างไรก็ตามการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ NIEs ที่ชะลอตัวตามอุปสงค์อิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลก และอุปสงค์ในประเทศของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียชะลอตัวลงส่วนหนึ่งจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา การลงทุนโดยรวมชะลอตัวลงในประเทศมาเลเซียและหด ตัวในประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวมากในประเทศไต้หวันจากปัญหาบัตรเครดิต
- โดยรวมในช่วง 9 เดือนแรก เศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี และเป็นไปในลักษณะฐานกว้างกล่าวคือเศรษฐกิจสหรัฐ กลุ่มยูโร ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียขยายตัวได้ในอัตราที่สูงกว่าในปี 2548 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกและการลงทุนเป็นสำคัญ โดยการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียที่รวมญี่ปุ่น ซึ่งได้รับประโยชน์จากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวได้ในเกณฑ์ดีตามความต้องการในตลาดโลก และการลงทุนที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยขยายตัวได้ดีในประเทศจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และฟื้นตัวดีขึ้นในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป
- อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ กลุ่มยูโร และกลุ่มประเทศอาเซียน แม้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อเริ่มลดลงในไตรมาสที่สามจากการปรับลดลงของราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากไตรมาสที่สองแต่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ทั้งนี้ธนาคารกลางของประเทศส่วนใหญ่ ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาสที่หนึ่งและสองอย่างต่อเนื่อง แต่ในไตรมาสที่สามแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลง ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ มาเลเซีย คงดอกเบี้ยอยู่ที่ ร้อยละ 5.25 และ 3.5 ตามลำดับ ในขณะที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง เหลือร้อยละ 10.25 ในเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาสที่สามธนาคารกลางสหภาพยุโรป ธนาคารกลางอังกฤษ และญี่ปุ่นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อยู่ที่ร้อยละ 3.0, 0.25 และ 4.75 ตามลำดับ และธนาคารกลางสหภาพยุโรปได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 ในเดือนตุลาคม สำหรับธนาคารกลางจีนยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด โดยปรับเพิ่มอัตราส่วนเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์อีกร้อยละ 0.5 เป็นร้อยละ 9.0 ในเดือนพฤศจิกายนเพื่อลดสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ และชะลอการขยายตัวของปริมาณเงินและสินเชื่อ
- ปัญหาความไม่สมดุลเศรษฐกิจโลกยังคงมีมากขึ้น จากการที่หลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่นมีการเกินดุลการค้ามากขึ้นในขณะที่สหรัฐฯ ยังขาดดุลมากขึ้น โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 จีนและญี่ปุ่นเกินดุลการค้าอยู่ที่ 109.8 และ 47.2 พันล้านดอลลาร์ ตามลำดับ ในขณะที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าอยู่ที่ 633.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
2 ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2549: มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 5.0 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 4.6 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 0.2 ของ GDP และอัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.8
ใน 3 ไตรมาสแรก เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 5.3 โดยมีแรงสนับสนุนจากปริมาณการส่งออกซึ่งขยายตัวสูงในครึ่งแรกของปีและช่วยชดเชยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวช้าลงกว่าในปี 2548 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และราคาน้ำมันที่สูง และความเชื่อมั่นประชาชนและภาคธุรกิจลดลงเนื่องจากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ อย่างไรก็ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจรายไตรมาสแสดงว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง จากการที่การใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชนชะลอตัว ในขณะที่ปริมาณการส่งออกสุทธิสินค้าและบริการเริ่มชะลอตัวในไตรมาสที่สาม ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นเป็นผลจากการที่ฐานการส่งออกในครึ่งหลังปี 2548 สูงขึ้นมากตามการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ฐานการนำเข้าในครึ่งหลังปี 2548 ชะลอลงจากการที่ภาครัฐร่วมมือกับภาคเอกชนบริหารการนำเข้าเหล็ก ทองคำ และน้ำมัน ให้มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยรวม 3 ไตรมาสแรกสาขาการผลิตและบริการที่เชื่อมโยงกับการส่งออกได้รับประโยชน์จากสถานการณ์เศรษฐกิจมากกว่าผู้มีรายได้ประจำและสาขาเศรษฐกิจในประเทศ
เครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุดในเดือนตุลาคม 2549 แสดงว่าเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มชะลอตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีโดยที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนยังคงชะลอตัวแม้ว่าความเชื่อมั่นประชาชนเริ่มปรับตัวดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อลดลง และอัตราดอกเบี้ยมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น แต่คาดว่านักลงทุนจะยังชะลอการลงทุนไปจนกว่าจะเห็นความชัดเจนของรัฐธรรมนูญและรัฐบาลชุดต่อไป รวมทั้งความชัดเจนในเรื่องการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ประกอบกับประชาชนส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่ทำ ให้ผลผลิตพืชผลเสียหายและราคาอาหารและพืชผักสูงขึ้นและมีผลกระทบต่อรายได้ นอกจากนั้นราคายางพาราซึ่ง เป็นปัจจัยเพิ่มรายได้ที่สำคัญของเกษตรกรในช่วงครึ่งแรกของปีก็ชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว สำหรับแรงกระตุ้นการใช้จ่ายของครัวเรือนในไตรมาสสุดท้ายส่วนหนึ่งจะมาจากการใช้จ่ายในการเยี่ยมชมมหกรรมพืชสวนโลก ซึ่งจะช่วยชดเชยผลกระทบน้ำท่วมได้บางส่วน สำหรับการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐนั้นจะชะลอตัวเนื่องจากยังเป็นการใช้จ่ายตามกรอบงบประมาณปี 2549 และภาคราชการต้องบริหารเงินสดด้วยความระมัดระวังในช่วงที่รอการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2550
ในด้านการส่งออกนั้น โดยเฉลี่ยจะยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดีแต่คาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อยเนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้นในช่วงปลายปี การนำเข้ามีแนวโน้มเร่งตัวมากขึ้นภายหลังจากที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบลดลงใน 3 ไตรมาสแรกและมีการลดการสะสมสินค้าคงคลังลง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น
โดยรวมทั้งปี 2549 สศช. คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 5.0 สูงกว่าการขยายตัวร้อยละ 4.5 ในปี 2548 และเป็นการปรับการประมาณการขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้เดิมร้อยละ4.2-4.7 ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2549 เนื่องจากเศรษฐกิจใน 3 ไตรมาสแรกขยายตัวได้สูงกว่าที่ คาดไว้เดิม โดยองค์ประกอบการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ปรับประมาณการเพิ่มขึ้นนั้นประกอบด้วย
(1) ปรับเพิ่มประมาณการใช้จ่ายภาครัฐบาลที่เบิกจ่ายได้เร็วขึ้นในช่วง 3 ไตรมาสแรก และช่วยชดเชยการบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอตัวเร็วกว่าที่คาดเล็กน้อย โดยคาดว่าทั้งปี 2549 การใช้จ่ายรัฐบาล ณ ราคาคงที่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 สูงกว่าที่คาดการณ์เดิมร้อยละ 0.8
(2) ปรับเพิ่มการประมาณการมูลค่าการส่งออกจากร้อยละ 14.0 ขึ้นเป็นร้อยละ 16.8 โดย เป็นการปรับเพิ่มปริมาณการส่งออกขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 8.8 เป็นร้อยละ 9.1 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้สูงกว่าที่คาดไว้เดิม ใน 10 เดือนแรกของปี มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.1 ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9
(3) ปรับลดการประมาณการมูลค่าการนำเข้าลงเล็กน้อย จากร้อยละ 8.8 เป็นร้อยละ 8.3 ในการประมาณการครั้งนี้ โดยปรับลดปริมาณการนำเข้าลงจากร้อยละ 1.2 เป็นร้อยละ 0.3 ใน 10 เดือนแรกปริมาณการนำเข้าสินค้าลดลงร้อยละ 0.7 แต่ราคาสินค้านำเข้าที่ เ พิ่ ม ขึ้ น ต มราคาน้ำมันและราคาสินค้าทุนและวัตถุดิบทำให้มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1
(4) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2549 เท่ากับร้อยละ 4.6 ซึ่งอยู่ในช่วงของการประมาณการเดิมร้อยละ 4.5-4.7 ใน 11 เดือนแรกอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 4.8 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 2.4
(5) ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0.2 ของ GDP
การปรับสมมุติฐานการประมาณการที่สำคัญในครั้งนี้ ประกอบด้วย
(1) ปรับเพิ่มการประมาณการเศรษฐกิจโลกเล็กน้อย จากร้อยละ 4.7 เป็นร้อยละ 4.8 จากการปรับประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐลงจากร้อยละ 3.4 เป็นร้อยละ 3.3 ตามการชะลอตัวในไตรมาสที่สามและปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจกลุ่มยูโร จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย จากการที่เศรษฐกิจ 3 ไตรมาสแรก ขยายตัวดีกว่าที่คาดการณ์
(2) ปรับลดข้อสมมุติฐานราคาน้ำมันจากที่คาดการณ์ไว้เดิมบาเรลละ 65-68 ดอลลาร์ สรอ. เป็นบาเรลละ 61.30 ดอลลาร์ สรอ.
(3) ปรับเพิ่มข้อสมมุติฐานการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าออก ขึ้นจากร้อยละ 5.2 เป็นร้อยละ 7.7 และปรับราคาสินค้านำเข้าโดยเฉลี่ยขึ้นจากร้อยละ 7.6 เป็นร้อยละ 8.0 ตามข้อมูลล่าสุดถึงเดือนตุลาคมที่แสดงว่าราคาเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดไว้เดิม
(ยังมีต่อ.../3.ประมาณการ..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ