ผลการประชุม UNCTAD Trade and Development Board ครั้งที่ 55

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 30, 2008 13:58 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

การประชุม UNCTAD Trade and Development Board ครั้งที่ 55 ระหว่างวันที่ 15-26 กันยายน 2551 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ได้เน้นให้ความสำคัญกับประเด็นการเพิ่มขีดความสามารถด้านการค้าและการผลิตเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาระหว่างประเทศ รวมทั้งเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) และการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการพัฒนาให้แก่ประเทศยากจน นอกจากนี้ มีการหารือกันถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตอาหารและพลังงาน ที่ทั่วโลกเผชิญอยู่ในปัจจุบันและส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศยากจน ซึ่งที่ประชุมมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวอย่างมาก

การประชุมครั้งนี้ประกอบด้วยผู้เข้าร่วมจากประเทศสมาชิก 69 ประเทศ องค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาล องค์การชำนัญพิเศษเฉพาะเรื่อง และ NGOs ในส่วนของประเทศไทยมีนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวร ณ นครเจนีวา เป็นหัวหน้าทีม เจ้าหน้าที่การทูตและเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศจำนวน 4 ท่าน รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อีก 2 ท่าน

1. สรุปสาระสำคัญการประชุม

1.1 การเพิ่มขีดความสามารถด้านการค้าและการผลิตเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals; MDGs)

1.1.1 ความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมาย MDGs ของประเทศกำลังพัฒนาและ ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) ยังคงมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะประเทศในแอฟริกาและ LDCs ยังคงอยู่ห่างไกลจากเป้าหมาย ทั้งนี้ ภาวะวิกฤตทั้งด้านอาหาร พลังงาน และการเงินในปัจจุบัน ยิ่งทำให้แนวโน้มการบรรลุเป้าหมาย MDGs ภายในปี 2558 ลดน้อยลง

1.1.2 การจะบรรลุเป้าหมาย MDGs ควรเน้นเป้าหมายในภาพรวม โดยเน้นการพัฒนาทุกมิติทั้งการเพิ่มศักยภาพการผลิตในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ตลอดจนการเพิ่มการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานทั้งด้านการศึกษาและสาธารณสุข การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ประเทศมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น ควรมีการสร้างความร่วมมือในลักษณะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาทั้งระหว่างรัฐกับรัฐ และรัฐกับเอกชน โดยภาครัฐต้องปรับบทบาทเป็นผู้สนับสนุนหรืออำนวยความสะดวกในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนเพื่อการพัฒนา รวมทั้งมีการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมและมีหลักธรรมาภิบาลในทุกระดับ ตลอดจนการสนับสนุนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน

1.1.3 ความช่วยเหลือเพื่อการค้า (Aids for Trade) จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถทางการค้าและการผลิตแก่ประเทศกำลังพัฒนา ทั้งการลดอุปสรรคทางด้านภาษีและมิใช่ภาษี การสนับสนุนการส่งออก การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านอุปทานในภาคการผลิตต่างๆ

1.2 ทิศทางการพัฒนาของกลุ่มประเทศ LDCs

1.2.1 รายงานของกลุ่มประเทศยากจนที่สุด (LDCs) ปี 2551 กล่าวว่า ปัจจุบันมีการลงทุนในด้านการศึกษาของประเทศกลุ่มนี้ถึงร้อยละ 70-80 แต่การลงทุนด้านเศรษฐกิจมีเพียงร้อยละ 20-30 ซึ่งสัดส่วนการลงทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมควรจะอยู่ที่ร้อยละ 40-60 หรือประมาณร้อยละ 50 ตัวอย่างโครงการของ UNCTAD ที่ดำเนินการในแอฟริกาจึงให้ความสำคัญกับโครงการ SMEs โดยการให้เงินสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค เนื่องจาก SMEs เป็นกลุ่มที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้มากกว่าการผลิตในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งจะเป็นการลงทุนที่ก่อให้เกิดรายได้และช่วยลดปัญหาความยากจน

1.2.2 LDCs ควรมีนโยบายการพัฒนาที่เสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างโอกาสให้เกิดการเคลื่อนย้ายทรัพยากรเพื่อการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การนำเข้าเทคโนโลยีและเครื่องมือต่างๆ สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้ประโยชน์จาก FDI แล้วยังเป็นการลดการพึ่งพา ODA และเพิ่มศักยภาพในการพึ่งพาตนเองในอนาคต

1.3 ยุทธศาสตร์การพัฒนาภายใต้โลกาภิวัตน์

1.3.1 แนวทางการพัฒนาภายใต้การเปิดการค้าเสรี

  • ประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนากำลังเผชิญกับความท้าทายและโอกาสจากการเปิดการค้าเสรีและโลกาภิวัฒน์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อประเทศที่มีการเปิดเสรีที่เร็วเกินไป อย่างไรก็ตาม การเปิดการค้าเสรีเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องเปิดอย่างมีแบบแผนและมีหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม ทั้งนี้ วิธีการเปิดการค้าเสรีที่ดีที่สุดคือ ความร่วมมือกันของสมาชิก WTO รองลงมาคือ ความร่วมมือในระดับภูมิภาค เช่น อาเซียน และการร่วมมือกันระหว่างประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา
  • แนวทางการพัฒนาของประเทศยากจนเพื่อรองรับการเปิดการค้าเสรีจึงควรเพิ่มความหลากหลายในการผลิตสินค้า การเพิ่มมูลค่าสินค้า และการเพิ่มขีดความสามารถทางการผลิตสำหรับประเทศพัฒนาแล้วควรเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดแก่ประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น และควรเร่งให้การเจรจาการค้าของ WTO รอบ Doha ประสบความสำเร็จโดยเร็ว รวมทั้งการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประเทศกำลังพัฒนา เช่น การจำแนกมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยที่เหมาะสมไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการเปิดการค้าเสรี ตลอดจนการให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่ประเทศยากจนเพราะส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีทรัพยากรจำกัด และมีขีดความสามารถที่จะแข่งขันในเวทีโลกต่ำ

1.3.2 แนวทางการลดผลกระทบจากภาวะวิกฤตทางการเงิน

  • วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นผลมาจากการเก็งกำไร ซึ่งยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าวิกฤตการเงินครั้งนี้จะรุนแรงมากเพียงใด ผู้กำหนดนโยบายจึงควรให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังไม่ให้วิกฤตการเงินกลายเป็นการถดถอยทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม วิกฤตการเงินครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อประเทศยากจนในหลายด้าน กล่าวคือ (1) การลดลงของอำนาจซื้อของประเทศพัฒนาแล้ว (2)การปกป้องตลาดมีมากขึ้น (3) การลดลงของ ODA ที่ให้แก่ประเทศยากจน และ (4) การส่งรายได้กลับประเทศของแรงงานที่ทำงานอยู่ในประเทศพัฒนาแล้วจะลดลง เป็นต้น
  • วิกฤตการเงินครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เดิมๆ อาจไม่สามารถอธิบายระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ ดังนั้น จึงไม่มีหลักประกันว่าเครื่องมือต่างๆ ที่รัฐบาลเคยใช้ในการแก้ไขปัญหาจะสามารถใช้ได้ผลเหมือนเดิม โดยจากผลการศึกษาในรายงานการค้าและการพัฒนาประจำปี2551 พบว่า ประเทศกำลังพัฒนาที่มีเงินทุนไหลออกกลับมีการลงทุนและการเติบโตมาก เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “capital flow paradox” อีกทั้งยังพบว่าการออมในครัวเรือนไม่จำเป็นสำหรับการกระตุ้นการลงทุนตามที่ปรากฏในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์
  • การลดผลกระทบและป้องกันภาวะวิกฤตการเงินนั้น ในระดับนานาชาติได้มีการเสนอให้มีการกำหนดกรอบหรือการสร้างกฎระเบียบทางการเงินที่ชัดเจนเช่นเดียวกับกฏระเบียบขององค์การการค้าโลก สำหรับระดับรัฐบาลควรมีการเพิ่มบทบาทในการกำหนดมาตรการควบคุมตลาด การลงทุน และตั้งกฎเกณฑ์ควบคุมการเก็งกำไร ตลอดจนต้องมีความมั่นใจที่จะเข้าแทรกแซง เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาที่เกิดอยู่ในปัจจุบันส่งผลกระทบออกไปในวงกว้าง และป้องกันการเกิดวิกฤตการเงินในอนาคต
  • รัฐบาลควรควบคุมต้นทุนและทิศทางของเงินที่ใช้สำหรับการลงทุนในภาคที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ เช่น การกำหนดให้มีการอุดหนุนดอกเบี้ยสำหรับโครงการลงทุนบางประเภทการสนับสนุนการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการเพื่อการพัฒนา นอกจากนี้ รัฐควรให้ความสำคัญกับระบบการเงินรายย่อย (Micro finance) และการดึงให้ธุรกิจที่อยู่นอกระบบเข้ามาในระบบมากขึ้น เพื่อให้รายได้ส่วนนี้เข้าไปในระบบธนาคารเพื่อสร้างการหมุนเวียนของปริมาณเงินในระบบ

1.3.3 แนวทางการแก้ปัญหาภาวะวิกฤตอาหารและพลังงาน

  • การเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงแบบเดิมไม่เพียงพอ จึงส่งเสริมให้มีการนำเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuels) มาใช้ ส่งผลให้อาจเกิดปัญหาการขาดแคลนอาหารในอนาคต ซึ่งปัญหาวิกฤตอาหารที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากหลายปัจจัย เช่น (1) การเพิ่มขึ้นของประชากรโลกส่งผลให้แหล่งผลิตอาหารมีน้อยลง (2) การเกิดภาวะแห้งแล้งในแหล่งผลิตการเกษตร (3) การเก็งกำไรของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และ (4) การเสียพื้นที่การเกษตรเพื่อนำไปผลิตพลังงานทดแทน UNCTAD จึงมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ มีการวางแผนในการใช้พลังงานทดแทนที่เหมาะสม
  • แนวทางการแก้ปัญหาในระยะสั้น UNCTAD จะให้ความช่วยเหลือในเรื่องข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลของแหล่งผู้ผลิตกับแหล่งผู้บริโภค การประสานความร่วมมือทางด้านการค้าและการผลิตที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ส่วนในระยะกลางและระยะยาว UNCTAD จะส่งเสริมการให้ ODA เพิ่มขึ้นเพื่อนำไปพัฒนาภาคการเกษตรทั้งระบบ รวมทั้งการสนับสนุนการเปิดตลาดทางการเกษตรที่ไม่มีมาตรการกีดกันทางการค้า เพื่อให้สินค้าเกษตรมีราคาที่เหมาะสมและมีการผลิตเพิ่มขึ้น

1.4 บทบาทของ UNCTAD ในอนาคต ข้อเสนอของที่ประชุม สรุปได้ดังนี้

1.4.1 UNCTAD ควรทำการศึกษาวิจัยในหลายประเด็น เช่น (1) แนวทางการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อที่เหมาะสมและเป็นรูปธรรม (2) การผลักดันบทบาทของภาคเอกชนให้มีส่วนช่วยในการพัฒนา (3)การกำหนดแนวทางการให้เงินทุนที่คำนึงถึงคุณภาพมากกว่าปริมาณ (4) การผลักดันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งสาธารณูปโภค การสาธารณสุข และการศึกษา (5) การเสริมสร้างความเข็มแข็งของการสร้างหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (6) การพัฒนาศักยภาพภาคการการผลิต และ (7) การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงตลาด เป็นต้น เพราะปัจจัยเหล่านี้เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

1.4.2 UNCTAD ควรมีบทบาทในการให้คำแนะนำด้านนโยบายต่อสถาบันการเงินระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการเงิน และให้การประชุมต่างๆ ของ UNCTAD เน้นผลเพื่อการพัฒนาที่มุ่งเน้นการปฏิบัติ มีเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานที่ชัดเจน รวมทั้งมีกลไกในการติดตามตรวจสอบและประเมินผลความช่วยเหลือด้านวิชาการอย่างเป็นรูปธรรม

1.4.3 UNCTAD ควรเพิ่มบทบาทในการเจรจาการค้าโลกภายใต้ WTO พร้อมทั้งผลักดันให้การเจรจาการค้ามีมุมมองด้านการพัฒนาด้วย โดยเน้นการทำการค้าอย่างยุติธรรม นอกจากนี้ UNCTAD ควรมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือกับรัฐบาลของแต่ละประเทศ และสร้างเครือข่ายกับภาคประชาสังคมให้มากขึ้น(รายละเอียดตามเอกสารแนบ)

2. ความเห็นและข้อสังเกตของ สศช.

2.1 การหารือส่วนใหญ่อยู่ในกรอบประเด็นในรายงานการค้าและการพัฒนา ปี 2551 เป็นหลักส่วนใหญ่กล่าวถึงปัญหาของ LDCs เช่น มีแนวโน้มว่า LDCs จะไม่สามารถบรรลุ MDGs ได้ รวมทั้งประเด็นที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งปัญหาน่าจะอยู่ที่การกระจายผลประโยชน์จากการพัฒนาที่ทุกฝ่ายควรหาแนวทางแก้ไข

2.2 บทบาทของประเทศพัฒนาแล้ว (สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น) รวมทั้งจีน ในเวทีการประชุมส่วนใหญ่เป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความช่วยเหลือที่ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาและ LDCs พร้อมทั้งแสดงเจตนารมณ์ที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องต่อไป อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาแสดงความคิดเห็นในเวทีนี้น้อยมาก แต่ก็ยืนยันว่าจะสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาและการเปิดเสรีการค้าโลกต่อไป

2.3 การแสดงความคิดเห็นของผู้แทนจากประเทศในแอฟริกาส่วนใหญ่สะท้อนให้เห็นว่า แอฟริกายังต้องการความช่วยเหลือจากต่างประเทศอีกมาก และยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพึ่งพาตนเอง บางส่วนเห็นว่าประเทศร่ำรวยให้ความสำคัญกับประเทศในเอเชียมากกว่า และไม่ให้ความช่วยเหลือแอฟริกามากพอ

2.4 ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับประเด็นวิกฤตด้านการเงินและอาหาร และเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วเลิกใช้นโยบายสนับสนุนด้านสินค้าเกษตร และควรมุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมในทุกมิติ อันจะนำมาซึ่งการจ้างงานและการลดปัญหาความยากจน นอกจากนี้ เสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุม ทั้งภาครัฐ และองค์กรต่างๆ มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ควรมีมาตรการควบคุมตลาดมากขึ้นเพื่อป้องกันผลกระทบจากการเก็งกำไร ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของวิกฤตการเงินในปัจจุบัน

2.5 กระทรวงการต่างประเทศ มีความประสงค์ให้ สศช. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามามีบทบาทในเวทีของ UNCTAD เพื่อร่วมกันให้มีการใช้ประโยชน์จาก UNCTAD ในลักษณะของความร่วมมือทางวิชาการมากขึ้น ซึ่ง UNCTAD มีผู้เชี่ยวชาญ งานศึกษาวิจัย และฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับการพัฒนา ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยปัจจุบันกระทรวงการต่างประเทศกำลังผลักดันเรื่อง Creative economy ที่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการร่วมกัน

เอกสารแนบ

I. ความก้าวหน้าในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs)
  • ความก้าวหน้าในการบรรลุ MDGs ของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาทั่วโลกดำเนินไปอย่างไม่เท่าเทียมกัน หลายประเทศในเอเชียตะวันออกสามารถบรรลุเป้าหมายไปแล้วหลายเป้าหมายก่อนเวลาที่กำหนด (ปี 2558) ขณะที่หลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอฟริกาไม่มีแนวโน้มว่าจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ภายในเวลาที่กำหนด สาเหตุสำคัญ คือวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายๆ ด้านในปัจจุบันทั้งวิกฤตการเงิน อาหาร และพลังงาน ส่งผลกระทบให้สถานการณ์ในหลายประเทศที่กำลังดีขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมากลับเลวร้ายลงไปอีก ซึ่งทำให้ความหวังของประเทศด้อยพัฒนาที่จะบรรลุ MDGs ให้ได้ทุกเป้าหมายภายในปี 2558 ยิ่งลดน้อยลง โดยเป้าหมายที่มีความคืบหน้าน้อยสุดคือ ด้านหุ้นส่วนการพัฒนา (Global Partnership for Development) ซึ่งอยู่ภายใต้เป้าหมายที่ 8
  • ประเทศด้อยพัฒนาหลายประเทศประสบปัญหาในการดึงดูดการลงทุน เพราะได้รับผลกระทบจากการถูกจัดให้อยู่อันดับต่ำจากหน่วยงานจัดอันดับระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศเหล่านี้เห็นว่าการจัดอันดับขาดการพิจารณาอย่างรอบคอบ และไม่น่าเชื่อถือ โดยยกตัวอย่างว่าบริษัทขนาดใหญ่ที่เผชิญวิกฤตการเงินได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ดี
  • การพัฒนาเศรษฐกิจโดยมุ่งเน้นที่การลดระดับความยากจนในประเทศเหล่านี้มีความสำคัญต่อการบรรลุ MDGs โดยเน้นให้ความสำคัญครอบคลุมในด้านการเพิ่มศักยภาพการผลิตการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และการสร้างงาน ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงประเด็นท้าทายใหม่ๆ ซึ่งกำลังคุกคามโลกอยู่ในปัจจุบัน และพลิกสถานการณ์ที่ดีขึ้นให้เลวลง เช่น ภาวะโลกร้อน และภัยธรรมชาติข้อเสนอแนะในการช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาบรรลุเป้าหมาย MDGs
  • ให้เน้นการบรรลุเป้าหมาย MDGs แบบเป็นองค์รวม กล่าวคือ ไม่เน้นเป้าหมายใดเป็นการเฉพาะ แต่เน้นการพัฒนาในภาพรวม โดยการเพิ่มศักยภาพในการผลิตทั้งภาคเกษตรอุตสาหกรรม และการบริการ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มรายได้และการจ้างงานตลอดจนการเพิ่มช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐานมากขึ้น เช่น ด้านการศึกษาและสาธารณสุข
  • ผลักดันแนวคิดเรื่อง Global Partnership for Development ทั้งหุ้นส่วนระหว่างรัฐกับรัฐ และรัฐกับเอกชน ปรับบทบาทของรัฐเพื่อให้เป็นฝ่ายขับเคลื่อน สนับสนุน หรืออำนวยความสะดวก(enabling state หรือ facilitating state) แทนที่จะนิ่งเฉย หรือขัดขวาง (inert state หรือ interfering state) โดยเน้นหน้าที่ในการสร้างบรรยากาศที่ดี ภายใต้การควบคุมที่เหมาะสมเพื่อให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนเพื่อการพัฒนามากขึ้น ซึ่งจะเป็นการดึงให้ภาคเอกชนมีส่วนรับผิดชอบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเป็นความร่วมมือในลักษณะหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชน (public-private partnership) นอกจากนี้ ควรมีการหาแนวทางใหม่ๆ ในการจัดการรูปแบบของหุ้นส่วนดังกล่าว เช่น การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างนักธุรกิจในทุกระดับและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนา
II. สถานการณ์ของประเทศยากจน
  • แอฟริกาเป็นภูมิภาคที่ประสบปัญหาด้านการพัฒนามากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศยากจนในภูมิภาคอื่น แม้ว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้น และเป็นภูมิภาคที่มีทรัพยากรมากที่สุดในโลก แต่ยังมีปัญหาเรื่องการใช้ประโยชน์จากโอกาสทางการค้าที่ประเทศร่ำรวยเปิดให้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการจัดสรรทรัพยากรและการกระจายรายได้
  • การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมในแอฟริกามีน้อยแม้ว่ามีผลตอบแทนสูง สาเหตุเป็นเพราะไม่มีการสร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับการลงทุน อีกทั้งมีต้นทุนทางอ้อม (indirect costs) สูง เช่นคอร์รัปชั่น ขาดระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็น ขาดโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม และมีขั้นตอนในการทำธุรกิจมาก ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้ามองว่า ในอนาคตเอเชียจะเป็นที่ลงทุนที่แพงขึ้น และเมื่อนั้นอาจมีการย้ายฐานไปแอฟริกา แต่อยู่บนเงื่อนไขว่าแอฟริกาต้องทำให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • อย่างไรก็ดี แอฟริกายังมีปัจจัยบวกอีกหลายประการที่จะทำให้การพัฒนามีความเป็นไปได้ แต่ต้องมีการแทรกแซงของรัฐ เพื่อทำให้การลงทุนส่งผลต่อการลดความยากจน เช่น แอฟริกาจะต้องผลิตเพื่อตลาดภายในก่อน ทั้งในส่วนของเมืองและชนบท ต้องช่วย SMEs เพราะเป็นกลุ่มที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้มากกว่าผู้ผลิตขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ประเทศในแอฟริกาเองต้องบูรณาการความร่วมมือในระดับประเทศและระดับภูมิภาคมากขึ้น
  • สิ่งที่ปรากฏให้เห็นมาต่อเนื่อง คือ ประเทศยากจนถูกตั้งโปรแกรมมาเพื่อรับความช่วยเหลือและต้องพึ่งพาภายนอกมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเป้าหมายว่าจะบรรลุ MDGs ยิ่งต้องเกิดการพึ่งพา เพราะ MDGs เป็นวิถีการพัฒนาที่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือ (aid dependent development path) หรืออาจกล่าวได้ว่าบางกรณีเป็นวิถีการพัฒนาที่ทำให้เกิดการเสพติดความช่วยเหลือ (aid addiction development path)
  • นักวิชาการเสนอให้ข้อคิดที่น่าสนใจแก่ประเทศยากจนว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่สามารถบรรลุ MDGs ได้หรือไม่ แต่อยู่ที่การบรรลุนั้นมีความยั่งยืนหรือไม่ ทั้งในแง่ของสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ดังนั้น จึงเสนอให้ประเทศยากจนมุ่งเน้นเป้าหมายใหม่ ที่การยุติการพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศ (aid dependency) และต้องมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจาก aid dependency หรือ aid dependent development ไปสู่การพัฒนาที่มีความหลากหลาย มีนวัตกรรม และครอบคลุมในทุกๆ ด้าน
  • อย่างไรก็ดี นักวิชาการเห็นว่า แม้การปฏิเสธความช่วยเหลือไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สามารถทำได้หากประเทศยากจนมีความพยายามร่วมกัน สิ่งสำคัญที่ควรตระหนักคือ ถ้าเมื่อใดก็ตามที่ต้อง“พึ่งพา” เมื่อนั้นก็ไม่ใช่ ”หุ้นส่วน” เพื่อการพัฒนาอีกต่อไป เพราะหุ้นส่วนคือ “ความร่วมมือ”
  • รัฐบาลส่วนใหญ่ไม่ต้องการตัดสินใจที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง เพราะฉะนั้นจึงเกิดสถานการณ์ที่ทำให้ตัดสินใจว่าขอให้ความช่วยเหลือมาถึงเงื่อนไขใดๆ ก็รับได้ ยกตัวอย่างกรณีของประเทศโมซัมบิกที่ได้รับเงินช่วยเหลือจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในการก่อสร้างสาธารณูปโภคประเภทถนน ไฟฟ้า น้ำประปา ฯลฯ ซึ่งสาธารณูปโภคเหล่านี้ไม่ได้เชื่อมโยงกับการเพิ่มศักยภาพภาคการผลิตของประเทศ ไม่เพิ่มคุณภาพของการศึกษาที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและไม่เพิ่มศักยภาพของคน ความช่วยเหลือดังกล่าวจึงไม่ช่วยลดการพึ่งพา
  • นอกจากนี้ นักวิชาการเสนอว่าเมื่อประเทศยากจนเห็นว่า ODA มีเงื่อนไขที่รับได้ยาก หรือไม่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ก็ต้องสร้างอำนาจต่อรอง กล่าวคือ ต้องกล้าที่จะยืนหยัดในความเป็นตัวของตัวเอง ถ้าไม่ได้ตามเงื่อนไขที่ต้องการก็ปฏิเสธ ต้องยึดมั่นในอธิปไตยแห่งชาติ (sovereignty) ต้องยืนหยัดและมีความแน่วแน่ในสิ่งที่ต้องการจะทำ ถ้าผู้ให้ความช่วยเหลือ (donors) ไม่ต้องการจะให้ก็ไม่ต้องรับ เพราะยังมีผู้ต้องการให้อีกมาก

สถานการณ์ความช่วยเหลือและการลงทุนจากต่างประเทศ

  • เหตุผลสำคัญที่ประเทศด้อยพัฒนายังคงอาศัย ODA อยู่ และต้องการเพิ่มขึ้น เพราะต้องใช้ในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และใช้ในการนำเข้าเทคโนโลยีและเครื่องมือต่างๆ เพื่อใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งหากไม่มีเงินช่วยเหลือก็ต้องใช้ภาษี หรือการสะสมทุนภายในประเทศ ซึ่งต้องใช้เวลามาก หากไม่มี ODA ประเทศด้อยพัฒนาก็จะหลุดพ้นจากวงเวียนของความด้อยพัฒนาได้ช้าประเทศพัฒนาแล้วให้ ODA ในปริมาณที่มากขึ้น แต่ยังไม่ถึงเป้าหมายตามที่ให้คำมั่นไว้ ทั้งนี้คาดกันว่าวิกฤตการเงินจะทำให้ปริมาณของ ODA ลดลง ซึ่งทำให้ประเทศยากจนวิตก ส่วนที่ยังต้องการ ODA อีกมาก คือ ด้านเกษตร การบริการ และเทคนิค
  • ODA ส่วนใหญ่ถูกตั้งข้อจำกัด/เงื่อนไขมาก เพราะต้องการให้ประเทศยากจนใช้เงินช่วยเหลืออย่างถูกต้อง แต่ยากที่ประเทศด้อยพัฒนาซึ่งปกติมีปัญหาในทุกๆ ด้านอยู่แล้ว (อาทิ ขาดการปกครองที่ดี มีปัญหาสิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น) จะปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวได้
  • ที่ประชุมเสนอว่าควรเพิ่มคุณภาพและปริมาณของความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ (ODA)ขณะเดียวกันให้ประเทศยากจนใช้ประโยชน์จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งมีผลเท่ากับ ODA หากใช้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การให้ ODA ควรให้โดยมุ่งเป้าว่าต้องลดการพึ่งพา ODA ในอนาคตด้วย กล่าวคือ ควรให้ในส่วนที่ช่วยให้ประเทศยากจนเพิ่มศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง

ข้อเสนอแนะต่อประเทศกำลังพัฒนาและ LDCs

  • สร้างการมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติ เพื่อให้ประเทศยากจนใช้ประโยชน์จากความช่วยเหลือด้านการพัฒนาที่ได้รับจากประเทศร่ำรวยอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ในช่วงวิกฤตการณ์รัฐจำเป็นต้องรักษาเสถียรภาพและความยั่งยืนของโครงสร้างทางการตลาดโดยส่งเสริมการบริหารจัดการที่ดีในทุกระดับ
  • ในส่วนข้อเสนอต่อประชาคมโลก มีการเสนอให้องค์การระหว่างประเทศปรับปรุงการทำงานให้มีการประสานงานกันมากขึ้น ทั้งนี้เพราะกระแสโลกาภิวัตน์เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสของการพัฒนาการแสวงประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัตน์จะต้องเพิ่มความร่วมมือในระดับพหุภาคี
  • การให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศด้อยพัฒนาควรเน้นที่ความต้องการเฉพาะเจาะจงของแต่ละประเทศ และควรให้ความสำคัญกับบทบาททางเศรษฐกิจของแรงงานที่ย้ายถิ่นฐานไปทำงานในต่างประเทศแล้วส่งเงินกลับบ้าน
III. แนวโน้มการค้าโลก
  • ความล้มเหลวของการเจรจาการค้ารอบ Doha เมื่อกรกฎาคม 2551 ทำให้ประเทศส่วนใหญ่ขาดความเชื่อมั่นในระบบการค้าเสรี หลายประเทศมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า แม้ทั่วโลกมีการเปิดเสรีทางการค้าในระดับทวิภาคีหรือระดับภูมิภาคกันมากขึ้น และส่งผลให้มาตรการทางการค้าที่เป็นภาษีลดลง ขณะเดียวกันอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษียังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น
  • อย่างไรก็ดี นาย Pascal Lamy ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งเข้าร่วมอภิปรายในการประชุมด้วย ได้กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า การค้ารอบ Doha มีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จหากนานาชาติผลักดันมากพอ และระบุว่าขณะนี้มีสัญญาณที่ดีเกิดขึ้นเพราะทุกฝ่ายกลับไปที่โต๊ะเจรจาอีกครั้ง พร้อมยืนยันว่า การค้ามีประโยชน์ต่อการพัฒนา
  • ที่ประชุมมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า ต้องการเห็นการเจรจาการค้ารอบ Doha ประสบความสำเร็จ เพราะการเปิดเสรีทางการค้าในระดับพหุภาคียังมีความสำคัญ และมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ก็ต้องการเห็น WTO เป็นมิตรกับการพัฒนา (development friendly) มากขึ้น
  • ในส่วนของทัศนะจากประเทศกำลังพัฒนา เห็นว่าประเทศยากจนกำลังเผชิญกับการกระแสเปิดเสรีและโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ซึ่งเป็นทั้งความท้าทายและโอกาส แต่การเร่งให้ประเทศกำลังพัฒนาเปิดเสรีเร็วเกินไปจะทำให้แย่ลง

แนวทางช่วยเหลือประเทศยากจนในระบบการค้าเสรี

  • ประเทศยากจนควรเพิ่มความหลากหลายด้านการผลิตสินค้า เพิ่มมูลค่าของสินค้า เพิ่มขีดความสามารถทางการผลิต และไม่ควรพึ่งพากิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป
  • สำหรับข้อเสนอต่อประเทศพัฒนาแล้ว ควรเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดให้กับประเทศด้อยพัฒนาให้มากขึ้น และเร่งให้การเจรจาการค้าของ WTO รอบ Doha ประสบความสำเร็จโดยเร็วการเรียกร้องให้เปิดเสรีต้องทำอย่างเหมาะสมและไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อประเทศยากจน และต้องจำแนกมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยให้ออกว่ามาตรการใดมีความถูกต้องเหมาะสม มิฉะนั้นจะเป็นอุปสรรคต่อการค้าเสรีอย่างมาก นอกจากนี้ การให้สิทธิพิเศษทางการค้ายังคงสิ่งสำคัญต่อประเทศยากจน เพราะส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก มีทรัพยากรน้อย มีเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาการค้ากับการท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ และยังมีขีดความสามารถที่จะแข่งขันในเวทีโลกต่ำ
IV. แนวโน้มเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์การพัฒนาในกระแสโลกาภิวัตน์

สถานการณ์ภาวะวิกฤตทางการเงิน

  • ที่ประชุมส่วนใหญ่มีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่าวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นผลมาจากการเก็งกำไร ซึ่งเป็นพฤติกรรมกลุ่ม (herding behavior) ที่ต่างคนต่างตามกระแสของราคาทั้งนี้ ยังไม่อาจคาดเดาได้ว่าวิกฤตการเงินครั้งนี้จะรุนแรงมากเพียงใด แต่ผู้กำหนดนโยบายควรให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังไม่ให้วิกฤตการเงินกลายเป็นการถดถอยทางเศรษฐกิจขณะเดียวกัน มีนักวิชาการแสดงความเห็นว่า วิกฤตรอบที่ผ่านมาเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ประเทศเหล่านี้มีการเตรียมพร้อมสำหรับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจดีขึ้น
  • อย่างไรก็ตาม วิกฤตการเงินในประเทศร่ำรวยจะส่งผลกระทบต่อประเทศยากจนในหลายๆ ด้านอาทิ 1) อำนาจการซื้อลดลงทำให้สินค้าส่งออกไปยังประเทศร่ำรวยได้น้อยลง 2) มีการปกป้องตลาดมากขึ้น 3) ความช่วยเหลือด้านการพัฒนา (ODA) ที่ประเทศร่ำรวยให้แก่ประเทศยากจนจะลดลง และ 4) แรงงานที่ทำงานอยู่ในประเทศร่ำรวย เช่น แรงงานจากละติน อเมริกาที่ไปทำงานในสหรัฐอเมริกา ส่งเงินกลับบ้านน้อยลง หรือตกงาน
  • สิ่งที่หลายฝ่ายวิตกกันมากคือ ปัจจุบันมีการเร่งหากำไรมากไปจนลืมนึกถึงการพัฒนาระยะยาวทำให้ผลประโยชน์ของประเทศยากจนถูกมองข้าม ผลกำไรที่เกิดขึ้นจากาการลงทุนภาคเอกชนในประเทศยากจนส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในการลงทุนนอกประเทศ ทำให้ทุนส่วนที่เหลือเพื่อการลงทุนและการพัฒนาในประเทศยากจนมีน้อย
  • ทั้งนี้ แม้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศด้อยพัฒนามีแนวโน้มดีขึ้นในรอบทศวรรษที่ผ่านมา แต่ไม่มีผลต่อการลดระดับความยากจนมากเท่าที่คาดหวัง นอกจากนั้น วิกฤตเศรษฐกิจยิ่งจะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้น และจะยิ่งทำให้ความหวังที่จะแก้ไขปัญหาความยากจน หรือบรรลุ MDGs ลดลง
  • นักวิชาการชี้ว่าวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นพิสูจน์ให้เห็นว่า ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เดิมๆ ไม่สามารถอธิบายระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันได้อีกต่อไป ดังนั้น จึงไม่มีหลักประกันว่าเครื่องมือต่างๆ ที่รัฐบาลเคยใช้ในการแก้ไขปัญหาจะสามารถใช้ได้ผลเหมือนเดิม โดยอ้างผลการศึกษาในรายงานการค้าและการพัฒนาประจำปี 2552 เช่นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “capitol flow paradox” เนื่องจากพบว่าประเทศกำลังพัฒนามีเงินทุนไหลออกกลับมีการลงทุนและการเติบโตมากขึ้น อีกทั้งพบว่าการออมในครัวเรือนไม่จำเป็นสำหรับการกระตุ้นการลงทุนตามที่ปรากฏในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์

ข้อเสนอในการลดผลกระทบจากวิกฤตและการป้องกันวิกฤตการเงินในอนาคต

  • ระดับนานาชาติ มีการเสนอให้นานาชาติสร้างกรอบหรือแนวทางที่เป็นสากลขึ้นมาช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตการเงิน เนื่องจากพึ่งพาทฤษฎีเดิมๆ ได้น้อยลง
  • ระดับรัฐบาล ทั้งนักวิชาการและผู้แทนจากประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นว่า

1) รัฐควรเพิ่มบทบาทในการกำหนดมาตรการควบคุมตลาด การลงทุน และตั้งกฎเกณฑ์ควบคุมการเก็งกำไร เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาที่เกิดอยู่ในปัจจุบันส่งผลกระทบออกไปในวงกว้าง และป้องกันการเกิดวิกฤตการเงินในอนาคต โดยการตัดสินใจที่จะแทรกแซงควรเกิดก่อนที่สถานการณ์จะแย่ลง

2) รัฐบาลควรสังเกตความเป็นไปในตลาด วิเคราะห์ตลาด ไม่ควรเชื่อมั่นในภูมิปัญญาของตลาด (wisdom of the market) มากเกินไป และจะต้องมีนโยบายที่มองไปในอนาคตมากขึ้น ตลอดจนต้องมีความมั่นใจที่จะเข้าแทรกแซง

3) รัฐบาลควรควบคุมต้นทุนและทิศทางของเงินที่ใช้สำหรับการลงทุนในภาคที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ เช่น การกำหนดให้มีการอุดหนุนด้านดอกเบี้ยสำหรับโครงการลงทุนบางประเภท การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการเพื่อการพัฒนา (Public-Private Partnership) และต้องทำให้ภาคเอกชนเห็นความสำคัญของผลประโยชน์โดยรวมของสังคมอย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาหลายประเทศให้ความสำคัญมากกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมากเกินไปและให้ความสำคัญกับการเพิ่มความเข้มแข็งภาคเอกชนน้อย

4) รัฐควรให้ความสำคัญกับระบบการเงินรายย่อย (micro finance) และการดึงให้ธุรกิจที่อยู่นอกระบบ (informal sector) เข้ามาในระบบมากขึ้น เช่น รายได้ของแรงงานในต่างประเทศที่ส่งกลับบ้าน (remittance) และบางส่วนของ SMEs ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสำคัญของเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา โดยอาจทำให้รายได้ส่วนนี้เข้าไปในระบบธนาคารเพื่อให้ธนาคารปล่อยเงินกู้เข้าไปในระบบ

  • ระดับผู้ผลิต ช่วยพัฒนาในด้านการเพิ่มมูลค่าของสินค้าที่ผลิต สร้างศักยภาพและทักษะสร้างความหลากหลายให้แก่สินค้าเกษตร และเพิ่มมาตรฐานสินค้า ตลอดจนช่วยพัฒนาให้เกิดวัฒนธรรมในการเป็นเจ้าของกิจการ
  • หลายฝ่ายมีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจมิได้ช่วยลดความยากจนในประเทศกำลังพัฒนา และการลงทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ทำให้ความยากจนลดลงตามที่คาดกันไว้ ทั้งนี้เพราะการลงทุนบางอย่างไม่สร้างงาน โดยเฉพาะเงินลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่และน้ำมัน รวมทั้งเงินลงทุนที่ใช้เพื่อการบริโภคและการเก็งกำไร ดังนั้น การลงทุนควรมุ่งไปที่อุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดการจ้างงาน และการเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต

วิกฤตด้านอาหารและพลังงาน

  • แม้ว่าประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาส่วนใหญ่ผลิตอาหารบริโภคภายในประเทศได้ แต่บางส่วนยังต้องนำเข้าอาหารจากต่างประเทศ และส่วนใหญ่ต้องนำเข้าพลังงาน ขณะที่บางประเทศประสบภัยธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่อง เช่น พายุ และระดับน้ำทะเลสูง นอกจากนี้ หลายประเทศยังประสบปัญหาวิกฤตการเมือง และความขัดแย้งภายในประเทศ
  • วิกฤตด้านอาหารที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นความล้มเหลวด้านการพัฒนาระยะยาว มิใช่เพียงวิกฤตการณ์เร่งด่วนระยะสั้น ทั้งนี้ มี ODA ลงทุนในภาคเกษตรน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่ามีผลทำให้เกิดวิกฤตอาหารในปัจจุบัน
  • การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เป็นผลจากการเก็งกำไรมากกว่าเป็นผลมาจากความขาดแคลน อย่างไรก็ดี ในส่วนที่เกิดขึ้นจากความขาดแคลนได้ส่งผลเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา จึงถือได้ว่า วิกฤตอาหารเป็นวิกฤตด้านการพัฒนา เพราะส่งผลกระทบต่อคนยากจนที่เข้าถึงอาหารได้ยากอยู่แล้ว อีกทั้งเป็นสถานการณ์ที่กระตุ้นเตือนให้ประเทศด้อยพัฒนาให้ความสำคัญกับนโยบายการเกษตรมากขึ้น
  • NGOs ซึ่งมีบทบาทมากที่สุดในประเด็นวิกฤตอาหารและพลังงานได้แสดงทัศนะต่อที่ประชุมเกี่ยวกับแนวทางแก้ไข ดังนี้

1) ต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางสังคมโดยกว้าง ฟื้นฟูสังคมเกษตรกรที่พึ่งพาอาศัยกัน และตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาชาวบ้าน

2) เพิ่มความหลากหลายของผลิตผลทางการเกษตร อนุรักษ์แหล่งน้ำ และลดการทิ้งอาหาร

3) หาทางให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน เทคโนโลยี เพิ่มช่องทางกระจายสินค้า ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า และเชื่อมโยงกับตลาดโลกมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

4) สร้างระบบการจัดเก็บผลผลิตทางการเกษตรที่ดีให้เกษตรกรรายย่อยในประเทศกำลังพัฒนา

5) ต้องการให้เพิ่มมาตรการที่จะทำให้เกษตรกรเป็นเจ้าของที่ดินทำกิน และให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้หญิงในภาคเกษตรมากขึ้น

6) ลดอำนาจของบรรษัทข้ามชาติที่ทำธุรกิจอาหาร และบริษัทเหล่านี้เพิ่มความรับผิดชอบทางสังคมมากขึ้น

7) เรียกร้องให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างการเกษตรเพื่อพลังงานชีวภาพกับวิกฤตด้านอาหาร และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

V. บทบาทของ UNCTAD และข้อเสนอบทบาทในอนาคต
  • ภายใต้ Accra Accord ซึ่งที่ประชุม UNCTAD ครั้งที่ 12 ได้จัดทำขึ้นที่เมือง Accra ประเทศกานา เมื่อเมษายน 2551 มีการกำหนดภารกิจให้ UNCTAD ปฏิรูปการทำงาน พร้อมทั้งผลักดันให้การค้าส่งเสริมการพัฒนามากขึ้น ให้ทุกประเทศได้รับประโยชน์จากโลกาภิวัตน์อย่างเท่าเทียมกัน โดยจะมีการติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อให้นโยบายเศรษฐกิจและการทำงานของ UNCTAD ช่วยส่งเสริมการเติบโตแบบมีส่วนร่วม อันที่จะช่วยให้ประเทศต่างๆ สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนารอบสหัสวรรษ (MDGs) ได้ นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ UNCTAD มุ่งให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการผลิตแก่ประเทศกำลังพัฒนา และให้ความสำคัญกับปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ราคาอาหารและพลังงาน วิกฤตการณ์ด้านการเงิน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการพัฒนา
  • ที่ประชุมเสนอให้ UNCTAD ทำการศึกษามากขึ้นเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งเกิดจากปัจจัยที่ต่างกัน ทำข้อเสนอแนะที่เหมาะสมและเพื่อให้ประเทศต่างๆ สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ต้องการให้ UNCTAD ศึกษาแนวทางการช่วยเหลือทางเทคนิคอย่างต่อเนื่อง ผลักดันบทบาทของภาคเอกชนให้มีส่วนช่วยในการพัฒนา อีกทั้งทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นให้ตลาดการเงินมีความรับผิดชอบมากขึ้น ให้มีการชั่งน้ำหนักระหว่างการให้เงินทุนที่คำนึงถึงคุณภาพมากกว่าปริมาณ และเน้นผลักดันการลงทุนในส่วนต่างๆ อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณสุข และการศึกษา เพิ่มความแข็งแกร่งในด้านการสร้างหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา การพัฒนาด้านศักยภาพ ภาคการเกษตร เพิ่มช่องทางการเข้าถึงตลาด และสนับสนุน SMEs เป็นต้น เพราะประเด็นเหล่านี้สำคัญมากต่อประเทศกำลังพัฒนา
  • นอกจากนี้ UNCTAD ควรมีบทบาทในการเจรจาการค้าโลกภายใต้ WTO พร้อมทั้งผลักดันให้การเจรจาการค้ามีมุมมองด้านการพัฒนารวมอยู่ด้วย โดยเน้นการทำการค้าอย่างยุติธรรม ที่สำคัญ UNCTAD ควรมีความร่วมมือกับรัฐบาลของแต่ละประเทศ และฟังภาคประชาสังคมมากขึ้น
VI. ความร่วมมือระหว่าง สศช. หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง กับกระทรวงการต่างประเทศในการใช้ประโยชน์จาก UNCTAD ในอนาคต
  • กระทรวงการต่างประเทศ เห็นว่า หน่วยงานต่างๆ ของไทยยังไม่เข้าไปใช้ประโยชน์จาก UNCTAD มากเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เชี่ยวชาญ และฐานข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาที่ UNCTAD มีอยู่ ทั้งนี้ แม้ว่ามีหลายหน่วยงานมีความสนใจติดต่อ กระทรวงการต่างประเทศเพื่อขอทราบข้อมูลเพิ่มเติม แต่ไม่ค่อยพบว่ามีใครเสนอขอความช่วยเหลือ คาดว่าสาเหตุเป็นเพราะ UNCTAD ไม่มี สนง. หรือผู้แทนอยู่ในไทยเหมือนกับองค์กรอื่นเช่น WB หรือ ADB หรือ JICA ที่เข้าถึงหน่วยงานของไทยได้ง่ายและโดยตรง ที่สำคัญ UNCTAD ไม่มีงบประมาณ มีแต่เพียง framework และผู้เชี่ยวชาญ
  • กระทรวงการต่างประเทศ ยกตัวอย่างความช่วยเหลือที่ UNCTAD สามารถให้ได้ เช่น UNCTAD อาจเข้ามาทำการศึกษาวิจัยในไทยว่ามีหน่วยงานไหนที่จะต้องทำเรื่องอะไร และหากจำเป็นต้องมีการตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมา ควรจะเป็นหน่วยงานประเภทใด และมีหน้าที่ดูแลเรื่องใดบ้าง โดยรัฐบาลไทยเป็นผู้ออกงบประมาณ อย่างไรก็ตาม UNCTAD มีช่องทางที่จะช่วยให้ประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดย UNCTAD เปิดโอกาสให้ประเทศที่ต้องการให้ความช่วยเหลือเสนอโครงการพร้อมงบประมาณมาที่ UNCTAD และหากมีประเทศใดสนใจที่จะรับเงินทุนสำหรับโครงการที่ระบุไว้ ก็สามารถติดต่อ UNCTAD ได้
  • กระทรวงการต่างประเทศ มีความประสงค์ให้ สศช. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีบทบาทร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศในเวทีของ UNCTAD และกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น อีกทั้งต้องการให้ช่วยผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จาก UNCTAD ในลักษณะ technical cooperation ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ ยินดีที่จะเป็นผู้ประสานกับ UNCTAD ให้ ดังนั้น การเชิญ จนท.สศช. เข้าร่วมประชุม TDB ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ สศช. รู้จักกับ UNCTAD มากขึ้น

--สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--

-พห-

แท็ก UNCTAD   Trade  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ