(ต่อ1) สรุปผลการสัมมนาระดับชาติ เรื่อง "อนาคตทุนทางสังคมไทยในระยะแผนพัฒนาฯฉบับที่ 10"

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 18, 2006 14:12 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

           การที่จะดำเนินการเรื่องทุนทางสังคมให้ได้ผลสำเร็จเป็นที่น่าเชื่อถือขึ้นอยู่กับ 3 มุม ได้แก่ มุมมอง (วิธีคิด หลักการ)  มุมทำ  (การปฏิบัติ) และมุมเพิ่ม (ใช้ 2 มุมเสริมแรงกัน อย่างมีพลวัต เพิ่มทั้งคุณภาพและปริมาณ) ดังนี้ 
1. มุมมอง ที่สำคัญคือ ต้องทำความเข้าใจว่าทุนทางสังคมคืออะไร เพื่อใคร เป็นของใครและขับเคลื่อนไปทำไม (แต่การพิจารณาว่า "เพื่อใคร" ยังพูดกันน้อย ทำให้มีการนำทุนทางสังคมของชาวบ้านมาใช้ประโยชน์เพื่อคนอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง) จึงควรตั้งคำถามให้ครบถ้วน ทั้งนี้ ทุนมีหลายรูปแบบทั้งทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคมและทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยที่ทุนทางเศรษฐกิจอาจเป็นทุนทางสังคมได้ และทุนทางสังคมก็อาจเป็นทุนทางเศรษฐกิจได้เช่นเดียวกัน
ทุนทางสังคมที่ใหญ่ที่สุด คือ ทุนที่มองไม่เห็น (Invisible) ไม่มีตัวตน ทุนทางสังคมไม่ได้อยู่ในตัวคนหรืออยู่ในองค์กร แต่อยู่ในความสัมพันธ์ โดยที่ความสัมพันธ์นี้อาจเป็นทุนทางบวกหรือลบก็ได้ การทำให้เป็นทุนทางสังคมจึงเป็นการสร้างคุณค่าและมูลค่าจากความว่างเปล่าที่ไม่ว่างเปล่า อย่างไรก็ตาม ถ้าศึกษาไม่ถูกต้องหรือไม่รู้วิธีการจัดการจะไม่เกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าสามารถจัดการได้จะเกิดคุณค่ามหาศาลมากกว่าที่เห็น
ทุนทางสังคมเป็นสิ่งที่ต้องสะสม ต้องใช้เวลาพิสูจน์ในหลากหลายบริบทและเหตุการณ์ แม้กระทั่งในเชิงปัจเจกก็ต้องมีการตีความว่าเป็นทุนทางสังคมหรือไม่อย่างไร ขณะเดียวกัน ทุนทางสังคมเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Assets) แต่ก็สามารถ ทำให้จับต้องได้ ขึ้นอยู่กับการตีความให้คุณค่าและความหมายแก่ทุนนั้นๆ โดยวิธีการให้คุณค่าคือ การเข้าไปกระตุ้นให้เกิดขึ้นมา บางองค์กรไม่ทราบว่ามีทุนทางสังคม แต่ถ้ามีบรรยากาศที่เอื้ออำนวย ก็จะเกิดทุนทางสังคมขึ้นได้ เพราะทุนทางสังคมอยู่ในตัวคน เมื่อมาอยู่ร่วมกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน ก็จะเกิดทุนทางสังคมขึ้นมาได้
สุดยอดของทุนทางสังคม คือ การเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย การเรียนรู้จึงเป็นทุนทวีคูณที่จะทำให้เกิดทุนทางสังคม
การขับเคลื่อนทุนทางสังคมต้องนำไปสู่สังคมที่มีความรู้เป็นฐาน มีการเรียนรู้เป็นวิถีชีวิต สามารถใช้สิ่งดีๆ ที่มีอยู่ของตนเองและผู้อื่นให้เกิดประโยชน์ และทำให้เกิดการสั่งสมสืบต่อให้ลูกหลาน ทุนทางสังคมจึงเป็นการใช้ปัจจุบันเพื่ออนาคต นอกจากนี้ ทุนทางสังคมยังช่วยลดความหยาบกระด้างและการแข่งขันอย่างรุนแรงลง ทำให้คนมีความอ่อนโยน ละมุนละไมและเห็นคุณค่าของกันและกันมากขึ้น
2. มุมทำ โดยที่
1) ชาวบ้าน ต้องรวมตัวเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นอยู่มากมาย เช่น โรงเรียนชาวนาที่จังหวัดสุพรรณบุรี ดำเนินการโดยมูลนิธิข้าวขวัญ เป็นแบบอย่างของการสร้างความรู้ขึ้นมาใช้เอง โดยนำเอาภูมิปัญญาดั้งเดิมและความรู้ใหม่มาใช้ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน
2) ราชการ ต้องเป็นคุณอำนวยมากกว่าเป็นคุณอำนาจ โดยจัดนักพัฒนา แนวใหม่ที่อยู่ในพื้นที่และใกล้ชิดกับชาวบ้านทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ แต่ไม่ควรแยกหรือแย่งกันลงพื้นที่ โดยจะต้องมี One Stop Service ที่จะลงไปพบกับชาวบ้านในทุกๆ เรื่องไปพร้อมๆ กัน และต้องปรับวิธีคิดว่า สิ่งดีๆ มีอยู่แล้วในพื้นที่ ให้ลงไปหาชาวบ้านได้เลยและช่วยเสริมหนุนให้เข้มแข็ง
3) วิชาการ ต้องมีความเชื่อว่าชาวบ้านมีความรู้ และต้องเข้าไปให้ความรู้ชาวบ้าน โดยอยู่ในบริบทของชาวบ้านและผ่านการปฏิบัติ ขณะเดียวกัน ต้องทำวิจัยต่อยอดความรู้ของชาวบ้านขึ้นมา ยกตัวอย่างการวิจัยและพัฒนาจุลินทรีย์ของชาวนา เป็นการเชื่อมโยงความรู้ของท้องถิ่นกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการสร้างภูมิปัญญาและความรู้ให้แก่ชาวบ้าน
ทุนทางสังคมเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ คือ เอาความรู้มาใช้ปฏิบัติแล้วให้คนที่อยู่ต่างบทบาทมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้เกิดการยกระดับความรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป
4. นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สรุปได้ดังนี้
1) ทุนทางสังคมคืออะไร Francis Fukuyama ได้ทำการศึกษาพบว่าปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ประเทศในกลุ่มประเทศตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฯลฯ เจริญก้าวหน้า ขณะที่ประเทศในกลุ่มประเทศตะวันตกไม่มีสิ่งนี้ นั่นคือความไว้วางใจ (Trust) เพราะช่วยลดต้นทุนที่เป็น Transaction cost ในกรณีชุมชนของไทย ทุนทางสังคมมีบทบาท ต่อการเติบโตและทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ตัวอย่างกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ของคุณอัมพร ด้วงปาน ที่นำความไว้เนื้อเชื่อใจและการช่วยเหลือพึ่งพากันมากำหนดเป็นกติกาสำคัญของกองทุน อย่างไรก็ตาม ต้องไม่มองว่าทุนทางสังคมมีประโยชน์เฉพาะในการพัฒนาเศรษฐกิจหรือเป็นเพียงปัจจัยหลักปัจจัยหนึ่งของการผลิตทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ควรเป็นการพัฒนาเพื่อสร้างความสุขแก่สังคมโดยรวมด้วย
ดังนั้น หัวใจสำคัญของการพัฒนาทุนทางสังคม คือการพัฒนาปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาทุนทางสังคมในเชิงบวก เช่น ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความรัก ความเมตตาต่อกัน และความไว้วางใจ
2) ตัวชี้วัดทุนทางสังคมที่ดี ได้แก่ การกระจายรายได้ การทำร้ายร่างกายปล้นลักทรัพย์ การทำงานอาสาสมัคร การจัดการกับความขัดแย้ง (การฟ้องร้อง การใช้ความรุนแรง) อัตราการครอบครองหรือพกพาอาวุธ การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การติดสารเสพติด การหย่าร้าง ซึ่งตัวชี้วัดเหล่านี้สามารถสะท้อนทุนทางสังคมมากกว่าการรวมกลุ่มที่เป็นการวิเคราะห์ในเชิง Output เท่านั้น
3) การพัฒนาทุนทางสังคมต้องทำที่ระบบและโครงสร้างของสังคม ไม่มุ่งเฉพาะการเพิ่มคุณภาพคนในแง่ปัจเจกที่เน้นด้านเทคนิค แต่ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพทางจริยธรรมและความสามารถในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งระบบและโครงสร้างสำคัญในสังคมที่มีผลต่อการพัฒนาทุนทางสังคม ประกอบด้วย 1) ระบบเศรษฐกิจ (ระบบธุรกิจ ระบบการเงิน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ) 2) ระบบความยุติธรรมในสังคม 3) ระบบการบริการสาธารณะ ทั้งการศึกษา สาธารณสุข ที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม 4) ระบบสื่อสารมวลชน และ 5) ระบบวิจัยที่สร้างปัญญา ไม่มุ่งสร้างเงินเพียงอย่างเดียว
4) จุดคานงัดสำคัญในการพัฒนาทุนทางสังคม ประกอบด้วย 1) ระบบสังคมที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในทุกระดับ โดยอยู่บนฐานของความรู้จริง 2) ระบบเศรษฐกิจที่เอื้อให้เกื้อกูลกันมากกว่าแก่งแย่งเอาเปรียบกัน และ 3) สถาบันศาสนาที่อยู่บนแก่นคำสอนที่แท้จริง ภายใต้ระบบ/กลไกที่สำคัญ 2 ระบบ คือ
ระบบ/กลไกที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ ได้แก่ กลไกการพัฒนานโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วมบนฐานความรู้จริง กลไกการวิจัยเชิงระบบและสังคม กลไกระดับพื้นที่ซึ่งมีอำนาจและความสามารถในการตัดสินใจใช้ทรัพยากรทั้งจากงบประมาณภาครัฐและทรัพยากรธรรมชาติ กติกาที่ส่งเสริมการก่อตั้งและดำเนินกิจกรรมของภาคประชาสังคม กติกาที่ให้เสรีภาพแก่สื่อมวลชน โดยมีการกำกับอย่างเหมาะสม และกลไกการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างเป็นธรรมเพื่อส่งเสริมการสื่อสารสาธารณะ
ระบบเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการพัฒนาทุนทางสังคม ได้แก่ เศรษฐกิจพอเพียงที่ไม่เน้นการผลิตเพื่อส่งออก กลไกและระบบการเงินการธนาคารที่เอื้อต่อการพัฒนาในระดับพื้นที่ และระบบภาษีที่สร้างความเป็นธรรมและลดการกระจุกของรายได้ "ทุนทางสังคมมีประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ถ้ามุ่งใช้เพื่อผลทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว จะหมดพลังในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจ ทุนทางสังคมจะสะสมเพิ่มพูนด้วยการจัดระบบพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างได้ดุล"
สรุปการอภิปรายทั่วไป สรุปได้ดังนี้
1. การพัฒนาทุนทางสังคม ต้องใช้แรงของมนุษย์ทั้งแรงกาย ใจและสมอง ต้องกำจัดอาชญากรรมทางสังคมให้หมดไป และให้มรรคผลกับคนส่วนใหญ่ เช่น เกษตรกร กรรมาชน คนยากจน ฯลฯ อีกทั้งภาครัฐควรใช้งบประมาณในการสร้างสาธารณะพื้นฐานไปในทิศทางที่เป็นรัฐสวัสดิการ และต้องสร้างมรรคผลทั้งเศรษฐกิจพอเพียง การเมืองเที่ยงคุณธรรม ทุนนิยมภายใต้รัฐแห่งธรรมมานิติ
2. ปัจจัยการขับเคลื่อนทุนทางสังคม ประกอบด้วยความต้องการ 5 ประการคือ
1) ความรู้ด้านอาชีพที่พอเพียงแก่สังคมที่จะนำไปใช้ประโยชน์ ต้องเป็นเลิศ
2) เศรษฐกิจพอเพียงของทุกหมู่บ้านหรือชุมชน ต้องไม่ขาดทุน ต้องมีรายได้เหลือและมีกำไร
3) พลังงานพอเพียง ต้องเหลือใช้ ควรสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 100 กิโลวัตต์ทุกชุมชน เพื่อให้คนในหมู่บ้านมีส่วนร่วมในการที่จะเก็บวัตถุดิบมาเป็นเชื้อเพลิงและมีส่วนใช้ไฟฟ้าในราคาถูก
4) สุขภาพและสาธารณสุขชุมชนต้องมีความพอเพียง ต้องแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยและมีภูมิคุ้มกันโรคทั้งภายในและภายนอก
5) สิ่งแวดล้อมธรรมชาติที่พอเพียง เหมาะสมและไม่ทรุดโทรมลง ต้องพัฒนาให้พอใช้ในชุมชนและทวีมากขึ้น ต้องสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานให้เหมาะสม โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์มีสาระประโยชน์ แต่พี่น้อง เกษตรกร ชุมชนใน 60 ล้านคน มีประมาณ 10 % ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในทางที่เป็นประโยชน์ ดังนั้น กิจกรรมของสื่อต่างๆ ควรเป็นไปในทางที่สนุกสนาน น่าฟัง น่าดู เพื่อสร้างทุนทางสังคมที่มีคุณค่าต่อประเทศและชาวโลก
3. ควรศึกษาปัจจัยบวกและลบที่ทำให้ชุมชนเกิดความล้มเหลวและมีปัญหา โดยจากการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่ทำให้ชุมชนล้มเหลว คือ 1) ทุนภายนอก ควรจัดการกับประเด็นร่วมคิด ร่วมทำที่มีผลประโยชน์แอบแฝง 2) การเมืองส่วนท้องถิ่น เป็นปัจจัยที่ทำให้ทุนทางสังคมและพลังในชุมชนไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้
4. การศึกษาชุมชนควรมองแบบแยกส่วน คือ ชุมชนที่ประสบความสำเร็จ กับชุมชนที่ถูกทำลาย ไม่มีศักยภาพ ไม่มีอะไรเข้าไปช่วย ซึ่งมีประมาณ 50-60% ชุมชนเหล่านี้จะดำเนินการอย่างไร เช่น การเข้าไปช่วยด้านการบริหารจัดการ การวิจัย การจัดการทุนที่รัฐให้ ฯลฯ เนื่องจากเป็นชุมชนที่ถูกระบบทุนนิยมทำลายไปค่อนข้างมาก การเข้าไปจัดการหรือ ต่อยอดเพื่อให้ชุมชนเกิดการรวมกลุ่มแบบค่อยเป็นค่อยไปนั้นค่อนข้างยาก ดังนั้น ชุมชนนี้จึงเป็นชุมชนที่ท้าทายและควรทำการศึกษา โดยต้องดำเนินการให้เป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งทั้งประเทศก่อนประกาศเป็นวาระแห่งชาติ
5. จุดคานงัดควรมาจากคนหลายกลุ่ม เช่น นักการเมือง นักการศึกษา นักวิชาการ สื่อ ฯ เพื่อเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เกิดคานงัดที่มีประสิทธิภาพ
6. ทุนทางสังคมที่ชาวบ้านสะสมควรได้รับการปกป้องจากกลุ่มนายทุน อีกทั้งควรขับเคลื่อนทุนทางสังคมและเศรษฐกิจพอเพียงไปพร้อมกัน
7. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นทุนทางสังคมทุนหนึ่งที่สำคัญในระดับโลก โดยการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable development) มีตัวชี้วัด 3 ตัว ได้แก่ 1) ความเจริญทางวัตถุ 2) ความเจริญทางจิตใจ คือ คุณธรรม จริยธรรม ที่เน้นความเอื้ออาทรต่อกัน 3) ความสมบูรณ์และสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันเกิดวิกฤตทั่วโลกทั้งดิน น้ำ แร่ธาตุ อากาศ และคลื่นความถี่ จึงควรให้ความสำคัญเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างระหว่างกลุ่มคน
8. ควรให้ความสำคัญกับปัญหาสังคมที่เกิดกับเด็ก เพราะเด็กคือทุนทางสังคมที่สำคัญต่อไปในอนาคต
4. การอภิปรายเรื่อง การพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ดำเนินการอภิปรายโดย นายกิติศักดิ์ สินธุวนิช รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีผู้อภิปรายนำ 3 ท่าน ได้แก่ คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม สรุปได้ดังนี้
1. วัฒนธรรมเป็นรากฐานของการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ทุกคน เป็นวิถีชีวิตของกลุ่มคนที่รวมตัวกันและสร้างแบบแผนของการดำรงชีวิต ว ฒนธรรมมีทั้งในเชิงที่เป็นนามธรรม เช่น ความเชื่อ และในเชิงรูปธรรม เช่น ศิลปะ วัตถุต่าง ๆ
2. ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยคอการละเลยการมองการพัฒนาทุกส่วนด้วยความเชื่อมโยงปัญหาของประเทศเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมคอปญหาจากกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งถูกถ่ายทอดอย่างรวดเร็วทั้งดีและไม่ดี ทำอย่างไรจะสกัดสิ่งที่ไม่ดีไม่ให้ไหลเข้าสู่ประเทศได้ ขณะที่เรื่องการค้าการลงทุนของประเทศส่งผลต่อวัฒนธรรมและภูมิปัญญา เพราะทำให้ทุนทางวัฒนธรรมกำลังถูกฉกฉวยโดยกลุ่มทุนที่มีเงินมาก รวมไปถึงการเอารัดเอาเปรียบของผู้ที่มีความรู้มากกว่า
3. ปัญหาของวัฒนธรรมที่สังคมไทยกำลังเผชิญ ประกอบด้วย
1) ค่านิยม จริยธรรมและพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลงไปการห่างเหินจากความเชื่อทางศาสนา ซึ่งถือเป็นจุดอ่อน เพราะศาสนาเป็นบ่อเกิดของการสร้างศรัทธาที่ดีงามในชีวิตหรือสร้างคุณค่าต่อการดำรงชีวิต
2) การขาดระเบียบวินัย ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของการเป็นพลเมืองที่ดี ถ้าคนไม่มีระเบียบวินัยจะส่งผลกระทบและสร้างปัญหาต่อส่วนรวมได้
3) ปัญหาการแพร่กระจายของลัทธิ คำสอนและความเชื่อที่ไม่เหมาะสมที่เกิดขึ้นกับบุคคลบางกลุ่ม เช่น ลัทธิความรุนแรง
4. การพัฒนาทุนทางสังคมด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในระยะแผนพัฒนาฯฉบับที่ 10 จะต องให้ความสำคัญว่า วัฒนธรรมและภ มิปัญญาเป็นสิ่งที่สามารถเพิ่มพูนรายได้ สร้างอาชีพและสามารถช่วยในเรื่องของการทำมาหากิน โดยต้องได้รับการขยาย พัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่องให้กลายเป็นทุนทางเศรษฐกิจได้ เช่น ด้านหัตถกรรม การนวดแผนไทย ฯลฯ ดังนั้น แนวทางการพัฒนาวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ที่สามารถเชื่อมโยงกับข้อเสนอเชิงกลยุทธ์ ประกอบด้วย
1) การเชื่อมโยงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาให้เป็นเส้นตรง สร้างมูลค่าโดยสามารถบอกได้ว่า อาชีพนั้น ๆ นำไปสู่รายได้ด้วยวิธีไหนอย่างไร หากสามารถทำให้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาในพื้นที่มีมูลค่าสามารถบอกถึงรายได้ ชุมชนก็จะสนใจมากขึ้น
2) การใช้สื่อทุกรูปแบบที่จะสร้างคุณค่าให้กับสังคมไทยในทางบวก เพราะสื่อ เป็นองค์ประกอบที่ทรงพลังมากที่สุด โดยการตั้งกองทุนขึ้นมาและใช้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนสร้างประโยชน์ให้กับการพัฒนาทุนทางสังคม
3) การถ่ายทอดและฟื้นฟูการพัฒนาทุนทางสังคม เป็นการสร้างเอกลักษณ์ที่มีความหลากหลาย โดยที่การสร้างเอกลักษณ์ให้กับชุมชนจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและประวัติศาสตร์ของชุมชน
4) การที่จะให้คนตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาจะต้องเริ่มต้นจากการให้คนในชุมชนเข้าใจและภาคภ มิใจในวัฒนธรรมของตนเอง รวมทั้งต้องยอมรับมิติความหลากหลายของชุมชนที่มีความแตกต่างด้วย
5) การนำทุนทางสังคมมาใช้ประโยชน์ นอกจากจะเชื่อมโยงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นเส้นตรง สามารถบอกถึงคุณค่าและม ลค่าในแต่ละขั้นตอนการพัฒนาแล้ว จะต้องโยงไปถึงคุณค่าของความเป็นคน คุณภาพชีวิต ศีลธรรมจรรยาบรรณต่างๆด้วย
6) เรื่องการบริหารจัดการนับเป็นจุดอ่อนที่สุดในการทำงานของภาครัฐ เพราะปัจจุบันเป็นการทำงานที่แยกส่วน แข่งกับเวลา ภาคราชการมักจะเป็นศิลปินเดี่ยว ดังนั้น ต้องนำวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ คือ การทำงานแบบบูรณาการหรือการทำงานร่วมกันมาใช้ในการทำงานของภาคราชการ
7) การพัฒนาทุนทางสังคมด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญา จะต้องสร้างจิตสำนึก ทำให้ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย เมื่อทุกคนมีความรู้สึกของการเป็นเจ้าของก็จะเห็นถึงคุณค่าและร่วมกันรักษาวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของไทยสืบไป ดร. เสรี พงศ์พิศ ประธานมูลนิธิหมู่บ้าน สรุปได้ดังนี้
1. ปัญหาสังคมและการแก้ปัญหา
1) ปัจจุบันปัญหาสังคมที่พบคือ ครอบครัวอ่อนแอ ชุมชนล่มสลาย คนในสังคมสูญเสียความเชื่อมั่นจากการพัฒนาในยุคใหม่ที่สังคมเป็นผู้กำหนดอนาคตคน คนถูกกำหนดว่าจะต้องมีพฤติกรรมอย่างไรจากสื่อและจากทุกอย่างในสังคม จึงจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในแต่ละคน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นภายในครอบครัว และบริหารจัดการความสัมพันธ์ภายในสังคมให้เกิดความลงตัว เพื่อให้คนเกิดการเรียนรู้และนำไปสู่การพึ่งตนเอง ดังนั้น แผนพัฒนาฯฉบับที่ 10 จำเป็นต้องสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ต้องให้รู้จักทุนหรือรากเหง้าตนเอง เพื่อให้คนสามารถกำหนดชีวิตตนเองและพึ่งตนเองได้
2) การจะอยู่รอดภายใต้สังคมยุคปัจจุบันต้องมีการสนับสนุนให้คนคืนสู่รากเหง้าและสามารถที่จะเชื่อมโยงอดีตและปัจจุบันเพื่อสืบสานไปสู่อนาคตได้ เพราะอดีตก่อให้เกิดคุณค่าแก่ชีวิตมาจนถึงปัจจุบัน และที่ผ่านมาบรรพบุรุษสามารถอยู่รอดได้เพราะมี ทุนทางสังคมและมีความสัมพันธ์กัน ซึ่งการสืบทอดคุณค่าอดีตสามารถทำให้เป็นระบบได้ เช่น ที่คลองเปี๊ยะ นับว่าเป็นตัวอย่างของการสืบทอดอดีตที่กลมกลืนกันและสัมพันธ์กันระหว่างเศรษฐกิจและสังคมโดยใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง อย่างไรก็ตาม ควรมีการสร้างนวัตกรรมทางสังคมขึ้น โดยต้องหาแนวทางในการสร้างระบบชุมชนที่มีความสัมพันธ์กันทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดการสืบทอดวัฒนธรรมทางสังคมภายใต้ยุคใหม่นี้
2. ทุนภายในชุมชนและการสร้างชุมชนเข็มแข็ง
1) ทุนของชุมชน คือ สินทรัพย์ทางปัญญา ประกอบด้วย ทุนทรัพยากร ทุนความรู้และปัญญา และทุนทางสังคม โดยที่ผ่านมาสังคมไทยอยู่ได้เพราะมีความหลากหลายของทรัพยากร มีความรู้ ภูมิปัญญาและเครือข่ายทางสังคมวัฒนธรรม ดังนั้น การพัฒนาในชุมชนจึงต้องคำนึงถึงภูมิปัญญาของชาติหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น ต้องฟื้นฟูความสัมพันธ์ของผู้คนกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โดยใช้ทรัพยากรอย่างรู้คิด เพื่อฟื้นอดีตและการสร้างความสมดุลบนรากฐานแห่งวิถีชุมชน ไม่เช่นนั้นการพัฒนาอาจทำให้เสียสมดุลในชีวิตและสังคม
2) ตัวชี้วัดความเข้มแข็งของชุมชนคือการรวมตัวของชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งชุมชนจะเข้มแข็งได้ ต้องเข้มแข็งทางความคิด ร่วมกันคิดแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนได้ เนื่องจากปัจจุบันสังคมถูกกระทบจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงมากมายที่ทำให้สังคมเกิดความอ่อนแอขึ้น โดยเฉพาะความอ่อนแอทางความคิดของผู้คนในสังคม ดังนั้น การกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาจึงมีความสำคัญ ทำอย่างไรชุมชนจะมียุทธศาสตร์ของตนเองในการแก้ปัญหา ดังคำกล่าวที่ว่า "ชุมชนต้องสู้ด้วยยุทธศาสตร์ รบด้วยปัญญา และชนะด้วยความรู้" ซึ่งยุทธศาสตร์ต้องไม่ใช่กิจกรรม เพราะกิจกรรมเป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น
3) การทำงานร่วมกันกับชุมชนควรมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากการเป็นพันธมิตร (Partnership) ระหว่างผู้ให้และผู้รับ มาเป็นแบบเครือข่าย (Networking) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมองค์กรของสังคมยุคใหม่ที่ต้องทำงานร่วมกันบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันและเคารพศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน
3. การสร้างทุนทางสังคม
1) ทุนทางสังคมมีความหมายใน 2 ส่วน คือ
คุณค่าและระบบคุณค่าทางสังคม หมายถึง กฎเกณฑ์ทางสังคม จารีตประเพณี วิถีปฏิบัติในชุมชน ระบบการจัดการชีวิตและทรัพยากร ความเป็นพี่น้อง ความไว้ใจกัน ความรัก ความซื่อสัตย์ การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน คุณค่าซึ่งร้อยรัดผู้คนให้อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว เป็นชุมชนให้พึ่งพาอาศัยกัน
สถาบันทางสังคม หมายถึง ครอบครัว ชุมชน ศาสนา สถาบันต่างๆ การเมืองการปกครอง กฎหมาย องค์กร ชมรม สมาคม ประชาคม ประชาสังคม และเครือข่าย (สะท้อนทุนทางสังคมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะสมาคมชาวจีน)
2) การสร้างเนื้อในของทุนทางสังคม ต้องประกอบด้วยความรู้ ปัญญา และความเข้าใจเชิงลึกเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งความรู้ในสังคมไทยปัจจุบันยังมีน้อยอยู่ เนื่องจากสาเหตุสำคัญคือ (1) ถูกครอบงำจากความคิดแบบกลไกแยกส่วน (2) ไม่มีเครื่องมือที่เหมาะสมเพื่อถอดรหัสภูมิปัญญา และ (3) ไม่มีความสามารถในการสังเคราะห์ความรู้ใหม่และไม่รู้เท่าทันโลกาภิวัตน์
4. ทิศทางการพัฒนาในแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 10
การพัฒนาในแผนฯ 10 ควรมีการกำหนดวิสัยทัศน์คือ "สังคมอยู่เย็นเป็นสุข" และเป้าหมายคือ "การอยู่เย็นเป็นสุข" โดยแนวทางการพัฒนาต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และการมีระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ ดังที่ บ้านน้ำหิน อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน เป็นตัวอย่างในเรื่องการพึ่งตนเองระดับชุมชนและการสร้างสมการเรียนรู้ หรือที่ไม้เรียงเป็นตัวอย่างในเรื่องการจัดระเบียบชีวิตตนเองและการพึ่งตนเอง ซึ่งเป็นแบบจำลองหนึ่งที่นำเรื่องความรู้และการจัดการมาใช้เพื่อนำไปสู่การพึ่งตนเอง
นายสมคิด สิริวัฒนกุล ผู้แทนคณะประสานงานเครือข่ายแผนแม่บทชุมชน
4 ภาค สรุปได้ดังนี้
1. ทุนทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป ในอดีต สังคมวัฒนธรรมของคนในหมู่บ้าน ความเป็นอยู่หรือภูมิปัญญาต่างๆนั้นต้องยอมรับว่าน่าประทับใจ ต่างกับทุกวันนี้มาก ในอดีตความสัมพันธ์ในครอบครัวอบอุ่น ทุกคนรู้ว่าใครจะไปไหน ทำอะไร อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา คนในหมู่บ้านเปรียบเสมือนเครือญาติกัน มีการช่วยเหลือเกื้อกูลโดยไม่รับผลตอบแทน เช่น การช่วยนวดข้าวโดยไม่บอกเจ้าของ และเจ้าของก็ตอบแทนเป็นข้าวปลาอาหาร มีการร่วมแรงร่วมใจช่วยกันพัฒนาชุมชน ทั้งงานวัด งานปรับปรุงถนน หากินได้ปลามาก็แบ่งปันกันเป็นเรื่องที่มีคุณค่า ชุมชนมีความอบอุ่น แต่ปัจจุบันบทบาทครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปเป็นวัฒนธรรมชุมชนใหม่ พ่อแม่ลูกไม่ได้อยู่ด้วยกัน สังคมไม่มีการช่วยเหลือกัน หรือการขอความช่วยเหลือก็ต้องมีสิ่งตอบแทน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่เกิดจากตัวบุคคลเอง แต่เกิดจากการเข้ามาสู่โลกยุคใหม่ ยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการสื่อสาร มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากระบบสื่อที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศจะต้องให้ความสำคัญกับบทบาทของชุมชนเป็นหลัก เพราะเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ประเทศจะพัฒนาก้าวหน้าไปได้ต้องให้ชุมชนได้มีบทบาทส่วนร่วมอย่างแท้จริง ภาครัฐฝ่ายเดียวหรือภาคอื่นใดไม่สามารถผลักดันให้ประเทศก้าวหน้าได้ รัฐบาลไม่สามารถทำให้ชาวบ้านอยู่ดีมีสุขถ้าชาวบ้านไม่เข้มแข็ง การที่ชาวบ้านจะเข้มแข็ง ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศต้องมีกระบวนการชุมชนเป็นหลักในการพัฒนาให้ได้ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม รวมตัว ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจอย่างแท้จริง
3. การเรียนรู้โดยผ่านกระบวนการแผนชุมชนจะเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ดี เพราะฝึกวิธีคิดของคนที่กำลังล้มเหลวให้คิดย้อนไปถึงอดีตเพื่อนำไปใช้ในปัจจุบัน นำวัฒนธรรม ภูมิปัญญาการเรียนรู้จากข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนมาเป็นฐานคิด
4. ความรุนแรงทางกฎหมายอาจเกิดขึ้นถ้าชุมชนไม่เข้มแข็ง เช่น พรบ.ข้าว เนื่องจากคนที่เกี่ยวข้องจริงเป็นเสียงส่วนน้อยในกลไกที่มีสิทธิ์ตัดสินใจ พรบ.การจัดการน้ำที่การตัดสินใจไม่ได้อยู่ที่ชุมชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นต้น
5. ยุทธศาสตร์ทางการศึกษา ต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาที่หลากหลาย สังคมการเรียนรู้ต้องมีทางเลือก การจัดการศึกษาโดยชุมชนต้องให้ภูมิปัญญาชาวบ้านนำไปสู่การพัฒนา หากปล่อยให้ดำเนินการอย่างที่เป็นอยู่ เด็กและเยาวชนแม้จะจบปริญญาตรีแต่ขาดทักษะชีวิต เด็กชนบทหุงข้าวก่อไฟไม่เป็น
การอภิปรายทั่วไป สรุปได้ดังนี้
1. แผนพัฒนาต้องแยกเรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมออกมาให้ชัดเจน และต้องทำความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ
2. กรอบแนวคิดในเรื่องทุนนิยม เศรษฐกิจพอเพียง และทุนทางสังคมนั้น มีกระบวนทรรศน์ที่แตกต่างกัน ไม่ใช่อยู่บนกรอบความคิดเดียวกัน ดังนั้น จึงไม่ควรที่จะนำเอา ภูมิปัญญาและทุนทางสังคมมาแปลงเป็นทุนเศรษฐกิจ แต่ควรนำเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นเครื่องมือในการสร้างทุนทางสังคม และนำทุนทางสังคมไปใช้ในเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทั้ง 2 เรื่องจะเป็นปัจจัยสำคัญในการรับมือกับโลกาภิวัตน์และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
3. ควรมีการศึกษาถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดผลลบต่อทุนทางสังคมว่ามีปัจจัยอะไรบ้าง เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เกิดผลลบขึ้น เพราะในส่วนที่เป็นผลบวกนั้น ชาวบ้านสามารถเริ่มทำเองได้
4. ทิศทางการพัฒนาของแผนฯ 10 ที่เน้นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมได้แสดงความเชื่อมโยงใน 4 ประเด็นหลัก กล่าวคือ ฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืน การเพิ่มมูลค่าผลผลิตด้วยฐานความรู้ การเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกและภูมิภาค และนโยบายสังคมเชิงรุกนั้น มีประเด็นทางด้านสังคมเพียงส่วนเดียวเท่านั้น ยังขาดประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ
* "เศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญในการนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้สมดุล
* "วัฒนธรรม" แต่ต้องเป็นวัฒนธรรมในความหมายของการพึ่งตนเอง ที่เริ่มจากความอยู่รอด แล้วค่อยนำไปต่อยอดกับทุนทางเศรษฐกิจ ไม่ควรเป็นวัฒนธรรมในเชิงของการแข่งขันหรือวัฒนธรรมในเชิงมูลค่าที่เป็นเครื่องมือของระบบเศรษฐกิจ เพราะอาจนำไปสู่ความหายนะได้
5 สรุปความเห็นที่ได้จากแบบสอบถาม
ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้ตอบแบบสอบถามและเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จำนวน 114 คน โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาทุนทางสังคมไทย
1) ควรมีการกำหนดความหมายใหม่ให้ชัดเจน โดย "ทุนของสังคม (Society Capital)" จะประกอบด้วย ทุนมนุษย์ ทุนทางสังคม ทุนทางเศรษฐกิจ และทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา
2) การเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันในระบบเศรษฐกิจและสังคมจะต้องดำเนินไปบนพื้นฐานของจริยธรรมและความถูกต้องชอบธรรม เพื่อไม่ให้เกิดการเติบโตของระบบอุปถัมภ์ที่นำไปสู่ความอยุติธรรมในสังคมและทำให้ทุนทางสังคมอ่อนแอลง
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ