(ต่อ1)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2548 และแนวโน้มปี 2549

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 7, 2006 16:01 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          1. ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาสที่สี่ และทั้งปี 2548 
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ขยายตัวร้อยละ 4.7 และ ทั้งปีเศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 4.5
ประเด็นหลัก
- เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ขยายตัวร้อยละ 4.7 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 5.4 ในไตรมาสที่สาม เนื่องจากการใช้จ่ายครัวเรือนชะลอตัวลงอย่างชัดเจนจากผลกระทบราคาสินค้าและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น และที่สำคัญเป็นผลจากการชะลอตัวลงมากของการส่งออกจากผลกระทบค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เช่นเดียวกับประเทศผู้ส่งออกในภูมิภาคเอเชียที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินที่สูงขึ้น
ในขณะที่การลงทุนชะลอตัวกว่าในไตรมาสที่ผ่านมา และการชะลอตัวของการใช้จ่ายและการส่งออกทำให้การผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และสาขาไฟฟ้าและประปาชะลอลง และผลผลิตสาขาเกษตรลดลง
- อุปสงค์ที่ชลอตัวทำให้ภาคการผลิตชลอตัว โดยเฉพาะการผลิตสาขาอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเพื่อการอุปโภคบริโภคในประเทศมีผลผลิตลดลง ขณะที่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั้งการผลิตหัวอ่านข้อมูล และแผงวงจรรวม การผลิตสาขาไฟฟ้าและประปาชะลอตัวเช่นกันจากปริมาณการใช้ที่ชะลอตัว สำหรับภาคเกษตรผลผลิตลดลง โดยในหมวดพืชผลมีเพียงข้าวนาปีที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น สำหรับพืชสำคัญอื่น ๆ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และยางพารา มีผลผลิตลดลง เนื่องจากเกิดภาวะแห้งแล้งต่อเนื่องหลายปี ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ตลอดปี 2548 การผลิตภาคเกษตรหดตัวลงร้อยละ 2.4 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 โดยที่หลายอุตสาหกรรมมีการใช้กำลังการผลิตเกือบเต็มที่ อาทิ กระดาษและผลิตภัณฑ์ ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ถุงมือยาง และคอมเพรสเซอร์
- ตลอดทั้งปี 2548 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 4.5 ชะลอลงจากร้อยละ 6.2 ในปี 2547 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ผลกระทบภัยแล้ง ไข้หวัดนก และความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้
ในครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงจากการขาดดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง แต่ในช่วงครึ่งหลังของปีการส่งออกสุทธิของสินค้าและบริการที่ปรับตัวดีขึ้น อันเป็นผลจากการเร่งรัดการส่งออกและการบริหารจัดการการนำเข้าตลอดช่วงครึ่งหลังของปี ประกอบกับภาวะท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ หลังจากที่หดตัวในช่วงครึ่งแรกของปี
- ด้านอุปสงค์ภายในประเทศ ในไตรมาสสุดท้ายการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.0 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.6 ในสามไตรมาสแรก โดยกำลังซื้อของประชาชนลดลงเนื่องจากราคาสินค้าทั่วไปและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมาก และจากการปรับอัตราดอกเบี้ย ขณะที่การลงทุนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ชะลอตัวเล็กน้อยจากร้อยละ 8.4 ในไตรมาสที่สาม
ตลอดปี 2548 มีการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 และร้อยละ 11.2 ตามลำดับ โดยที่การลงทุนในการก่อสร้างชะลอตัวตามความต้องการที่อยู่อาศัยที่เริ่มชลอลงแต่การลงทุนด้นเครื่องมือเครื่องจักรยังเพิ่มขึ้นในอัตราสูงร้อยละ 12.1 เนื่องจากอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงขึ้น และเต็มกำลังการผลิตในหลายอุตสาหกรรม สำหรับภาครัฐตลอดปีมีการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 และการใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0
อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมระดับสูง
2547 2548
หน่วย : ร้อยละ ทั้งปี Q1 Q2 Q3 Q4p
ปิโตรเคมีขั้นกลาง 98.2 96.6 99.1 105.2 104.0
รถยนต์พาณิชย์ 78.8 76.6 82.8 90.8 97.8
เส้นใยสังเคราะห์ 102.3 94.6 88.2 94.6 92.8
แผงวงจรรวม 72.4 73.2 75.6 82.9 90.9
เครื่องรับโทรทัศน์ 57.6 71.0 76.5 89.6 88.0
ที่มา : ธปท.
- การส่งออกชะลอตัวลงมากในไตรมาสที่สี่ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกของภูมิภาคที่ชะลอตัวลง ในไตรมาสที่สี่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 ต่ำกว่าร้อยละ 22.7 ในไตรมาสที่สามที่ผ่านมา ทั้งปริมาณและราคาชะลอตัวลงมาก ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการส่งออกของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ชลอตัวลงได้แก่ จีน เกาหลีใต้ สิงค์โปร์และ ฟิลิปปินส์ ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากค่าเงินในภูมิภาคที่สูงขึ้น นอกจากนั้นการแข่งขันกับประเทศที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า อาทิ จีน เวียดนาม และประเทศในภูมิภาคอเมริกาใต้และอเมริกากลาง ทำให้ราคาส่งออกชะลอตัวลงตามลำดับ
สินค้าส่งออกรายการสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ คอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก รถยนต์และอุปกรณ์ส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และไก่ โดยการส่งออกไป
ยังตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐ และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น ตลาดอาเ ซียนชะลอตั วลงมากจากการที่การส่งออกไปยังประเทศอินโดนีเซียลดลง และตลาดสหภาพยุโรปลดลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
รวมทั้งปี 2548 การส่งออกมีมูลค่า 109,211 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 โดยการส่งออกสินค้าหลายชนิดปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี และทำให้การส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีเพิ่มขึ้นสูงกว่าในช่วงครึ่งแรก อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของการค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก การส่งออกกุ้งที่มีความชัดเจนของมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐ และการคืนสิทธิพิเศษของสหภาพยุโรป การส่งออกยางพาราซึ่งได้รับผลดีจากราคาที่เพิ่มขึ้นชัดเจน และอัญมณีและเครื่องประดับที่ยังได้รับผลบวกจากการที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง เป็นต้น อย่างไรก็ตามการส่งออก เครื่องใช้ไฟฟ้า ข้าว ลดลง และการส่งออกสิ่งทอชะลอตัวลง เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับประเทศจีน เวียดนาม และอินเดียได้
(ยังมีต่อ).../- มูลค่าการนำเข้า..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ