บทสรุปผู้บริหาร
เศรษฐกิจเกาหลีใต้ฟื้นตัวจากวิกฤตทางเศรษฐกิจและการเงินในปี 2540-2541 มากขึ้นตามลำดับตั้งแต่ปี 2542 และนับว่าเป็นการฟื้นตัวที่เร็วกว่าเศรษฐกิจไทยเนื่องจากเหตุผลที่สำคัญ 2 ประการ คือ (1) การจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์กลางของรัฐบาลตั้งแต่ช่วงแรกของการแก้ปํญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทำให้สามารถแก้ปํญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ได้ประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น และ (2) ประเทศเกาหลีได้รับผลประโยชน์จากวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกในช่วงปี 2542-2543 และเช่นกันในช่วงปี 2545-2546 นอกจากนี้ทั้งประเทศเกาหลีใต้และประเทศไทยได้ใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยที่ประเทศเกาหลีใต้ได้เข้าสู่ช่วงอัตราดอกเบี้ยต่ำและการขยายสินเชื่ออย่างร้อนแรงก่อนหน้าประเทศไทยตั้งแต่ปี 2542-2543 แต่อย่างไรก็ตามหนี้สินครัวเรือนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหนี้สินบัตรเครดิตจากการที่รัฐบาลได้ผ่อนผันกฎเกณฑ์การออกบัตรอย่างมาก รวมทั้งการลดข้อจำกัดในการเบิกเงนสดล่วงหน้า ทำให้หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 41 ต่อ GDP ในปี 2541 เป็นร้อยละ 74 ต่อ GDP ในปี 2545 และสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ที่จับจ่ายใช้สอยได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 64 ในปี 2541 เป็นร้อยละ 117 ในปี 2545 และประชาชนประมาณร้อยละ 10 ของกำลังแรงงานทั้งหมดไม่สามารถชำระหนี้ได้ ประกอบกับการที่โครงสร้างการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินประเทศเกาหลีที่เปลี่ยนแปลงไปช่วงการฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจเนื่องจากสินเชื่อที่ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ประสบปัญหาการชำระคืนหนี้เงินในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ สถาบันการเงินจึงหันมามุ่งเน้นที่จะขยายสินเชื่อให้กับภาคครัวเรือนแทน โดยมีการแข่งขันการให้สินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนกันมากขึ้น นับว่าปัญหาหนี้สินครัวเรือนของประเทศเกาหลีใต้ได้เป็นกรณีตัวอย่างที่ทำให้ประเทศไทยเพิ่มความระมัดระวังในเรื่องหนี้บัตรเครดิตและหนี้สินครัวเรือนในภาพรวม และออกมาตรการที่เข้มงวดขึ้นสำหรับการออกบัตรเครดิต
อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจเกาหลีได้กลับมาฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2547 โดยมีการขยายตัวร้อยละ 4.6 สูงกว่าร้อยละ 3.1 ในปี 2546 แต่ก็เป็นการฟื้นตัวเนื่องจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่การใช้จ่ายครัวเรือนยังหดตัวและการลงทุนมีการขยายตัวน้อยมาก แต่ในปี 2548 การใช้จ่ายครัวเรือนกลับมาขยายตัวภายหลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง สำหรับความท้าทายที่สำคัญ 5 ประการที่ประเทศเกาหลีใต้จะต้องเผชิญประกอบด้วย
1) การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและฐานะการคลังที่แข็งแกร่งภายใต้แรงกดดันที่การใช้จ่ายรัฐบาลเพิ่มขึ้นซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งทำให้จำเป็นต้องเร่งการปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญสำหรับผู้เกษียณอายุ
2) การปรับปรุงระบบงบประมาณ fiscal federalism framework ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมการและสนับสนุนให้รัฐบาลมีความเป็นอิสระมากขึ้น
3) การปรับปรุงกรอบแนวทางในการพัฒนานวัตกรรมโดยการพัฒนาระบบ R&D การสร้างบรรยากาศในการแข่งขันในตลาดสินค้าและบริการโดยเฉพาะในสาขาบริการ และการปรับโครงสร้างภาคการศึกษาโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา
4) การปรับปรุงกลไกการทำงานของตลาดแรงงาน การสนับสนุนให้มีอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น รวมทั้งการสนับสนุนแรงงานสตรี
5) การปรับโครงสร้างภาค SMEs การยกระดับบรรษัทภิบาล และการพัฒนาตลาดทุนให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น
ดังนั้นแนวโน้มในระยะต่อไปกรอบแนวนโยบายนโยบายของรัฐบาลจึงมุ่งเน้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างงานไปพร้อม ๆ กับการเพิ่มสร้างคุณภาพของแรงงาน สนับสนุนให้เกิดการเติบโตที่มีลักษณะฐานกว้าง และยั่งยืน โดยการดำเนินนโยบายเชิงรุกที่มุ่งไปสู่
1) การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการใหม่ และ SMEs และการเพิ่มขีดความสามารถสาขาบริการ ได้แก่ บริการดูแลเด็ก บริการทางการศึกษา และบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข
2) การพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยี โดยรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับรายจ่ายในการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการพัฒนาระบบฐานข้อมูลต่าง ๆ
3) การปฏิรูปกฎหมายโดยการยกเลิกกฎหมาย และระเบียบที่ไม่จำเป็น มีความชัดเจนไม่ซับซ้อนและสอดคล้องกับรูปแบบและลักษณะของเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป
4) การสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันอย่างโปร่งใส ป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากการผูกขาด (rent seeking) ในแต่ละสาขาการผลิต พร้อม ๆ ไปกับ การเปิดตลาดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขัน และสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี
5) ทิศทางนโยบายในอนาคตมุ่งเน้นในการสร้างความมั่นคงปลอดภัยในการดำรงชีวิต และสนับสนุนกลุ่มคนด้อยโอกาส เช่น การสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบคุ้มครองและการประกันทางสังคม (social safety net) โดยการขยายโอกาสทางศึกษา การปฏิรูปทางการศึกษา การเพิ่มการคุ้มครองกลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการ พร้อม ๆ กับการรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมภายใต้ข้อจำกัดด้านพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ
นอกจากนี้จากการหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศเกาหลีใต้ซึ่งประกอบด้วย (1) Ministry of Finance and Economy (MOFE) (2) Bank of Korea (BOK) (3) Korea Institute for Industrial, Trade and Economy (KIET) (4) Korea Federation of Small and Medium Business (KFSB) และ (5) Korea Center for International Finance (KCIF) มีข้อสังเกตสำคัญ ดังนี้
1) ในขณะนี้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในทิศทางเดียวกันบนพื้นฐานการพิจารณาแนวโน้มของโลกในลักษณะที่คล้ายคลึงกันจึงสะท้อนว่า การแข่งขันจะรุนแรงขึ้น และเป็นการแข่งขันบนฐานความรู้ การเพิ่มคุณภาพสินค้าและการสร้างมูลค่าของสินค้าโดยอาศัยความคิดสร้างสรรค์
และองค์ความรู้ และการเพิ่มทักษะและคุณภาพแรงงาน ในขณะที่แต่ละประเทศให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานทางสังคมให้เข้มแข็งมากขึ้น มีสวัสดิการสังคมที่ดี การกระตุ้นให้ภาคธุรกิจเอกชนและครัวเรือนมีพฤติกรรมของการรักษาสภาพแวดล้อมมากขึ้น โดยที่ภาครัฐเองก็ดำเนินนโยบายในการพัฒนาพลังงานทางเลือกในเชิงรุกมากขึ้น ภายใต้ภาวะโลกดังกล่าวประเทศที่จะอยู่ ahead of the game คือประเทศที่สามารถนำกรอบแนวโนยายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว และแต่ละประเทศจะต้อง capitalize จากลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศเพื่อ differentiate ผลิตภัณฑ์และสร้าง niche market
2) จะเห็นว่าประเทศเกาหลีใต้ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสาขาบริการ ทั้งบริการท่องเที่ยว การศึกษา และบริการด้านแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีคู่แข่งทางด้านบริการ 3 ด้านนี้ในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวนั้นนับว่าสิงค์โปร์ ฮ่องกง และเกาหลีใต้ เป็นคู่แข่งที่มีศักยภาพ แม้ว่าประเทศไทยจะมีความได้เปรียบในด้านภูมิประเทศ แต่ประเทศไทยยังเสียเปรียบในด้านแหล่งท่องเที่ยวที่เป็น man-made โดยที่สิงค์โปร์ได้สร้างคาสิโนขนาดใหญ่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ฮ่องกงได้สร้างและเปิดดิสนีแลนด์ไปแล้ว ในขณะที่เกาหลีใต้เองก็มีนโยบายในการสนับสนุนให้สร้างแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ในเขตเมืองหลวงได้
3) การพัฒนาเทคโนโลยีและเทคโนโลยีสารสนเทศ การเพิ่มคุณภาพและการศึกษาของแรงงาน และมาตรการจูงใจภาษี เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศเกาหลีใต้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้มาก จะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่าง ๆ ของประเทศเกาหลีใต้มีทักษะภาษาอังกฤษที่ดี ทั้งการพูด ฟัง อ่านและเขียน
4) แม้ว่าโดยภาพรวมทิศทางการพัฒนา SMEs ของประเทศเกาหลีใต้จะคล้ายคลึงกับของประเทศไทย แต่ในทางปฏิบัติมีมาตรการที่ชัดเจนและเป็นระบบมากกว่า ทั้งในเรื่องการสนับสนุนด้าน know how และด้านการเงิน รวมทั้งการสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างกิจการขนาดใหญ่กับกิจการที่เป็น SMEs ในรูปของการ outsource หรือ contract out โดยที่สนับสนุนให้บริษัทขนาดใหญ่ที่ไปลงทุนในต่างประเทศพ่วงติดการดำเนินกิจการของ SMEs ไปด้วย และที่สำคัญการมีสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทำให้เกิดการรวมตัวและสามารถสะท้อนปัญหาที่เป็นลักษณะของ SMEs ได้มากกว่าการที่มีเฉพาะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศเช่นในกรณีของประเทศไทยที่มักจะถูกชี้นำโดยกิจการขนาดใหญ่ นอกจากนี้จะเห็นว่าสภา SMEs ของประเทศเกาหลีใต้ (Korea Federation of Small and Medium Business: KFSB) มีลักษณะที่ทำให้การพัฒนา SMEs เป็นระบบครบวงจรมากกว่าในกรณีของประเทศไทย คือ (1) เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐบาล ทำให้มีความเข้าใจในกลยุทธ์ทางธุรกิจดีกว่าการจัดตั้งเป็นองค์กรอิสระโดยภาครัฐ (2) การสร้างความร่วมมือของเครือข่าย SMEs ที่ครอบคลุมกว้างขวางทั่วประเทศ และ (3) การให้บริการแก่สมาชิกใน 4 รวมทั้งการสนับสนุนด้านสินเชื่อ/สภาพคล่อง (Mutual Assistance Fund)
5) ในขณะนี้นักธุรกิจเกาหลีใต้มีความสนใจที่จะไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศเกาหลีเหนือมากขึ้นตามลำดับ โดยพิจารณาว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในประเทศจีนแล้วการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของเกาหลีเหนือมีความได้เปรียบในเรื่อง ระยะทาง และความคล้ายคลึงด้านภาษาและวัฒนธรรม
6) ประเทศเกาหลีใต้มีการจัดทำระบบเตือนภัยทางเศรษฐกิจและการเงินอย่างเต็มรูปแบบ และมีปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญ 3 เรื่อง ที่คาดว่าจะทำให้ระบบเตือนภัยทางเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้มีประโยชน์ในการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจของประเทศได้มากในภาวะที่มีความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก ปัจจัยดังกล่าวประกอบด้วย
6.1) การลงทุนเพื่อพัฒนา data warehouse ที่มีความสมบูรณ์และเกิดการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลของกระทรวงต่าง ๆ อย่างจริงจัง รวมทั้งการลงทุนในการซื้อข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศ และเมื่อประกอบกับการทำงานอย่างเต็มเวลาของเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจ การตลาด การเงินภายในและระหว่างประเทศ รวมทั้งทักษะในการวิเคราะห์ (Technical skills) อย่างแท้จริงในการติดตามและวิเคราะห์ประเด็นทางเศรษฐกิจและการเงิน รวมทั้งการจัดเจ้าหน้าที่สำหรับติดตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการเมือง ภายในและระหว่างประเทศตลอด 24 ชั่วโมงประจำวันละ 2 คน และในการจัดทำเครื่องชี้ Early Warning นั้นให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ทั้งในเชิง
ปริมาณและในเชิงคุณภาพ (Quantitative and Qualitative Analysis) ลักษณะดังกล่าวทำให้ Korea Center of International Finance (KCIF) มีลักษณะเป็น Intelligence Unit ของประเทศได้อย่างแท้จริง
6.2) คณะกรรมการบริหาร KCIF ประกอบด้วยผู้บริหารของธนาคารกลาง ตลาดหลักทรัพย์ สถาบันการเงิน และผู้กำหนดนโยบายจากกระทรวงต่าง ๆ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงและระดมข้อมูลเชิงลึกได้อย่างแท้จริง
6.3) การรายงานบทวิเคราะห์ และ Early Warning Index ต่อกระทรวงการคลังโดยตรงและเป็นรายงานลับ (Classified document) โดยไม่มีการเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนหรือสาธารณชน จึงทำให้สามารถนำระบบเตือนภัยทางเศรษฐกิจมาใช้ได้ตรงตามจุดประสงค์ของการสร้างระบบสัญญาณเตือนภัยโดยไม่ต้องกังวลว่าจะสร้างความกังวลหรือความตระหนกให้กับตลาดและนักลงทุนที่มีลักษณะเป็น Self-defeating
1. ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้1
1.1 กรอบนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ
1) การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้ ประเทศเกาหลีใต้ได้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปีตั้งแต่ปี 1962 จนถึงปี 1996 โดยแผนพัฒนาฉบับแรกเริ่มต้นเมื่อปี 1962 -1966 จนกระทั่งถึงแผนพัฒนาฉบับที่ 7 (1992 - 1996) เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฉบับที่ 7 รัฐบาลเกาหลีได้ตระหนักว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของประเทศและต้องมีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นหลังจากสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 จึงไม่มีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลอีก แต่การพัฒนาเศรษฐกิจจะดำเนินตามแผนประจำปี (Annual Plan หรือ Economic Management Plan) และแผนงบประมาณ ภายใต้การดูแลของ
Ministry of Planning and Budget สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลเกาหลีใช้วิธีกำหนดเป้าหมายการพัฒนาในระยะยาว เป็นกรอบใหญ่เพื่อการกำหนดและดำเนินมาตรการในระยะ 1-2 ปี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายระยะยาวที่ตั้งไว้ และเนื่องจากประเทศเกาหลีไม่มีการจัดทำแผนพัฒนาฯ ในระดับประเทศ และแต่ละกระทรวงมีการกำหนดแผนงานของตนเอง ซึ่งบางครั้งอาจจะมีความซ้ำซ้อนและขัดแย้งกัน ดังนั้นจึงมี Office of Government Policy Coordination ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี ในการเป็นผู้ชี้แนะ ประสาน และกำกับการดำเนินนโยบายระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ให้มีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยที่ Office of Government Policy Coordination มีภารกิจ
หน้าที่ 5 ประการคือ
(1) การวางแผนและประสานงานในนโยบายสาธารณะในเรื่องการบริหารภาครัฐ การรักษาความยุติธรรม และการป้องกันประเทศ กำกับดูแลโดย Vice Minister for Public Policy Coordination
(2) การกำกับและประสานงานในนโยบายด้านสังคม เช่น สุขภาพและสวัสดิการ แรงงาน สตรี ความมั่นคงทางสังคม การศึกษา วัฒนธรรมและท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม และการป้องกันภัยพิบัติ ภายใต้การกำกับดูแลของ Vice Mister for Social Policy Coordination
(3) การกำกับและประสานงานในนโยบายด้านเศรษฐกิจ เช่น การเงินและเศรษฐกิจ รวมทั้งงบประมาณ อุตสาหกรรมและพลังงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกษตรและป่าไม้ ประมง ก่อสร้าง และขนส่ง ภายใต้การกำกับดูแลของ Assistant Minister for Economic Policy Coordination
(4) การกำหนดแนวทางการประเมินผลนโยบายโดย Assistant Minister for Policy Analysis and Evaluation
(5) การปฏิรูประบบกำกับดูแล และการกำกับดูแลและประสานงานกับสถาบันวิจัยที่
ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ (government funded research institutes) โดย Assistant Minister for
Regulatory Reform
2) แผนพัฒนาเศรษฐกิจในอดีต แผนพัฒนาเศรษฐกิจในอดีตที่ผ่านมาของประเทศเกาหลีใต้ได้ให้ลำดับความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นอุตสาหกรรม high-technology และอุตสาหกรรมฐานความรู้เพิ่มขึ้นตามลำดับ และจัดเป็นประเทศอุตสาหกรรมในลำดับต้น ๆ ของโลก
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเกาหลีใต้
แผนพัฒนาฯ ปี สาขาการผลิตที่ให้ความสำคัญ
ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2505-2509 กำลังไฟฟ้า, การผลิตปุ๋ย, โรงกลั่นปิโตรเลียม,ซีเมนต์, เส้นใย
สังเคราะห์
ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2510-2514 เหล็ก, เครื่องจักร, เคมีภัณฑ์ และอุตสาหกรรมสมัยใหม่
ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2515-2519 เหล็กและเหล็กกล้า, อุปกรณ์ขนส่ง, เครื่องจักร, เรือ,ปิโตรเคมี
และอิเล็กทรอนิกส์
ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2520-2524 เหล็กและเหล็กกล้า, เครื่องจักร, เรือ, ปิโตรเคมี,
อิเล็กทรอนิกส์ และโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก
ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2525-2529 Precision Machinery, อิเล็กทรอนิกส์ และ อุตสาหกรรมที่ใช้
เทคโนโลยีสูง
ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2530-2534 เทคโนโลยีระดับสูง, การวิจัยและพัฒนา, และการอบรม
กำลังคน
ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2535-2539 Microelectronics, Bioengineering, Aerospace และ Fine
Chemicals
3) เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศเกาหลีใต้ ในปัจจุบัน
ประเทศเกาหลีใต้ได้กำหนดเป้าหมายระยะยาว ใน 3 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย
(1) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม
(2) การกระจายความเท่าเทียมของการพัฒนาไปพร้อม ๆ กับการสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ
(3) การเปิดประตูสู่ความเป็นนานาชาติ และการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ
1.2) กรอบแนวนโยบายเศรษฐกิจในช่วงปี 2548-2549
ในการกำหนดกรอบนโยบายในระยะสั้น รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ทบทวนทั้งเงื่อนไขภายนอกและภายในประเทศว่า สำหรับเงื่อนไขภายนอกประเทศนั้นที่สำคัญคือ (1) ราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงเนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันของโลกยังเพิ่มขึ้น มีข้อจำกัดด้านการผลิต และมีความผันผวนตามฤดูกาลค่อนข้างมาก (2) เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวช้าลงในปี 2548-2549 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่สูง และ (3) ความแตกต่างหรือความไม่เท่าเทียมของการขยายตัวระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ จะยังดำเนินต่อไป โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนจะยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดีแต่ เศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวเพียงช้า ๆ และไม่มีความชัดเจน
สำหรับเงื่อนไขภายในประเทศ นั้นคาดว่า ความต้องการภายในประเทศจะปรับตัวดีขึ้นภายหลังจากมีการปรับโครงสร้างหนี้ภาคครัวเรือน แต่การส่งออกจะชะลอตัวเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและเป็นการชะลอตัวจากฐานการส่งออกที่สูงมากในปี 2545-2546 และประเทศยังจะมีความเสี่ยงจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ เป็นเรื่องที่รัฐบาลยังต้องใช้มาตรการในการเพิ่มคุณภาพของเงินทุนเคลื่อนย้ายและสภาพคล่องให้ถูกนำไปใช้ในภาคการผลิตที่มีประสิทธิภาพ
ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ตั้งเป้าหมายการดำเนินนโยบายในการเพิ่มคุณภาพและปริมาณของแรงส่งทางเศรษฐกิจ (economic momentum) โดยผ่านการส่งเสริมการลงทุน ในขณะที่ระมัดระวังไม่ให้นโยบายการคลังเข้มงวดเร็วเกินไป ทั้งนี้เป็นให้นโยบยการคลังยังสามารถเป็นแรงเสริมในการสร้างแรงส่งทางเศรษฐกิจเพื่อเข้าสู่การพัฒนาในระยะปานกลางได้อย่างราบรื่นมากขึ้น
1.2.1) เป้าหมายการดำเนินนโยบายในปี 2548-2549 (Economic Policy Framework) ประกอบด้วย
(1) มุ่งเน้นการดำเนินนโยบายเพื่อเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการสร้างแรงส่งทางเศรษฐกิจให้กลับคืนมา โดยการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจานกว่าเศรษฐกิจจะมีการฟื้นตัวอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน และใช้นโยบายการส่งเสริมการลงทุนให้เป็นกลไกในการสร้างแรงส่งทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการจะมุ่งเน้นในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสาขาบริการเพื่อให้เป็นกลไกขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการสร้างงาน
(2) เร่งดำเนินการเพื่อปูทางและเตรียมการเพื่อการสร้างเศรษฐกิจให้มีความก้าวหน้าและขยายตัวอย่างสมดุล ทั้งนี้โดยที่ระบบการเงิน ระบบภาษี ภาครัฐและตลาดแรงงาน จะได้รับการพัฒนาให้ได้ระดับมาตรฐานโลก รวมทั้งจะส่งเสริมการเปิดตลาด ส่งเสริมการลงทุน และการเข้าสู่ตลาดโลก เพื่อเอื้ออำนวยให้เกาหลีใต้เป็นประเทศผู้ค้าชั้นแนวหน้าของโลก นอกจากนี้นโยบายที่สำคัญอื่น ๆ ยังรวมถึงการปรับโครงสร้างภาคเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอ เช่น วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การสร้างความแข็งแก่งและเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างนวัตกรรม และสนับสนุนขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองผ่านกระบวนการด้านสวัสดิการด้านการทำงานและสวัสดิการสังคมที่มีประสิทธิภาพ
(3) การสร้างรากฐานที่มั่นคงสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ไปพร้อม ๆ กับการเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงด้านการจ้างงานและอาชีพ
1.2.2) กรอบนโยบายเศรษฐกิจในปี 2548-2549 ประกอบด้วย
(1) การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (Achieving Economic Recovery and Macroeconomic Stability) ในปี 2548-2549 เกาหลีใต้ให้ลำดับความสำคัญกับนโยบายกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้เร็วขึ้นและทำให้แรงส่งหรือแรงเหวี่ยงของเศรษฐกิจแข็งแกร่งมากขึ้น (growth momentum) ดังนั้นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคจึงเป็นนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Accommodative macroeconomic policy) รวมทั้งการสนับสนุนการลงทุน และที่สำคัญรัฐบาลจะดำเนินมาตรการในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคบริการเพื่อให้เป็นกลไกสนับสนุนเศรษฐกิจและสร้างงาน และดำเนินการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐบาลตั้งแต่ช่วงต้นปีงบประมาณ (fiscal fronting loading) โดยที่การใช้จ่ายของรัฐบาลจะให้ลำดับความสำคัญในเรื่องการสร้างงาน การส่งเสริม SMEs และการสนับสนุนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยที่ภายใต้กรอบการใช้จ่ายนั้นรัฐบาลนั้นประกอบด้วยมาตรการการส่งเสริมการลงทุนอย่างเต็มรูปแบบ (Comprehensive Investment Initiative: CII) ทั้งนี้ในครึ่งหลังของปี 2548 ทั้งการลงทุนภายใต้ CII ซึ่งรวมทั้ง BTL (Build-Transfer-Lease) และ BTO (Build-Transfer-Operate) และการลงทุนภาคเอกชนในการสร้างถนน ทางรถไฟ และท่าเรือ เป็นต้น จะทำให้มีเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวน 3.3 ล้านล้านวอน
(2) การสร้างแรงส่งทางเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวกลับมาโดยการนำของภาคธุรกิจเอกชน (Revitalizing Growth Momentum Led by Private Sector)
(2.1) รัฐบาลจะให้ความสำคัญในการปฏิรูปกฎ ระเบียบ และกฎหมายต่าง ๆ ให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ และลดอุสรรคต่อการลงทุน เช่น
* การปรับปรุงกฎระเบียบเรื่องการลงทุนในอุตสาหกรรม hi-tech ในเขตเมืองหลวง (metropolitan) ซึ่งมีกำหนดที่ประกาศใช้พร้อมกันแผนพัฒนา
เมือง (Second Comprehensive Metropolitan) ในเดือนธันวาคม 2548 นี้
* รัฐบาลจะสนับสนุนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่ยังมีความล่าช้าอันเนื่องมาจากอุปสรรคหลายประการ และเพื่อลดปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ รัฐบาลได้จัดตั้ง Private-Public Investment Council ขึ้นมาในเดือนมิถุนายน 2548 ที่ผ่านมา เพื่อที่คณะกรรมการชุดนี้จะได้พิจารณาหาทางออกในกรณีที่มีอุปสรรคต่อการลงทุน
* ปรับปรุงกฎ ระเบียบในเรื่องการใช้ที่ดินเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยสำหรับการลงทุน โดยที่มีจุดประสงค์เพื่อให้กฎ ระเบียบต่าง ๆ มีความชัดเจนและไม่ซ้ำซ้อน โดยได้ลดการกำหนดพื้นที่พิเศษต่าง ๆ ลง และจะทำการทบทวนผลการดำเนินงานจากการกำหนดพื้นที่พิเศษต่าง ๆ ทุก 5 ปี นอกจากนี้จะต้องมีการทำประชาพิจารณ์ทุกครั้งที่มีการกำหนดเขตพิเศษในการใช้พื้นที่ และมีข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบถึงการกำหนดพื้นที่เฉพาะหรือพิเศษอย่างโปร่งใส
* เร่งพัฒนาวิสาหกิจขนาดกกลางและขนาดย่อมและการเริ่มต้นกิจการใหม่ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น และการเพิ่มขีดความสามารถในด้านนวัตกรรม รวมทั้งการลดภาษี capital gain ให้กับ SMEs เมื่อ SMEs ต้องมีการขายสินทรัพย์เพื่อเปลี่ยนประเภทกิจการ ในขณะที่มีการลดเกณฑ์ที่ใช้สำหรับการให้แรงจูงใจทางภาษีในการควบรวมกิจการของ SMEs ลง และลดความเข้มงวดของกฎระเบียบเกี่ยวกับการลงทุนของบริษัทร่วมทุน (Venture Capital Firms) ลงเพื่อส่งเสริมการร่วมทุน
(2.2) สนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และการพัฒนาเทคโนโลยีและการพัฒนาการค้าพาณิชย์ของคนรุ่นต่อๆไปเพื่อให้เป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การวิจัยและพัฒนาที่ประสบผลสำเร็จจะได้รับการแปลงสู่แผนปฏิบัติและให้เกิดผลใน
เชิงพาณิชย์ต่อโครงการขนาดใหญ่ เช่น Korean-style high-speed train นอกจากนี้ในปี 2549 รัฐบาลจะเริ่มดำเนินโครงการ The Connect Korea Project ซึ่งเป็นโครงการเชื่อมโยงข้อมูลและการประสานความร่วมมือทางวิชาการด้านอุตสาหกรรมของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้าด้วยกัน รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยในการเป็นหุ้นส่วนในการวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้เพื่อให้การวิจัย
และพัฒนามีผลในเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง นอกจากนี้ได้นำกลไกทางภาษีมาช่วยในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้วยโดยที่การนำเข้าเทคโนโลยีอุตสาหกรรมหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการทำการวิจัยและพัฒนาจะได้รับยกเว้นภาษีนำเข้า
(3) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสาขาบริการ(Boosting Service Sector Competitiveness)
(3.1) การตอบสนองต่อรูปแบบการจ่ายที่เปลี่ยนแปลงไปรัฐบาลมุ่งเน้นที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคบริการโดยการเปิดตลาดและการพัฒนานวัตกรรม ทั้งนี้เพื่อให้ภาคบริการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างงาน โดยที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญ
กับรูปแบบหรือพฤติกรรมการบริโภคหรือการใช้จ่ายที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปซึ่งมีลักษณะของการเปิดตลาด การใช้จ่ายในสินค้ากลุ่ม IT ที่เพิ่มขึ้น สังคมผู้สูงอายุ และกลุ่มชนชั้นกลางที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันรัฐบาลจะพยายามพัฒนาภาคบริการเพื่อให้สามารถดูดซับหรือรองรับความต้องการของชาว
เกาหลีที่ใช้จ่ายในต่างประเทศได้มากขึ้น
(3.2) พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวให้มีมากขึ้น การอนุญาตให้สามารถสร้างแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่สามารถดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองหลวงได้ ส่งเสริมการสร้าง theme parks ในเขตเศรษฐกิจเสรี (Free Economic Zones: FEZ)
(ยังมีต่อ)