ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสสาม และแนวโน้มปี 2549 - 2550

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 8, 2006 13:53 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          *  เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสามขยายตัวร้อยละ 4.7 ชะลอลงจากร้อยละ 6.1 ในไตรมาสแรก และร้อยละ 5.0 ในไตรมาสสอง แต่รวม 3 ไตรมาสเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 5.3 นับว่าขยายตัวได้ดี โดยมีการส่งออกสินค้าและบริการเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญ และชดเชยการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ 
* เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อลดลงตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 3.6 ในไตรมาสสาม ลดลงจากร้อยละ 5.9 ในครึ่งปีแรก อัตราการว่างงานต่ำร้อยละ 1.4 และ 1.6 ในไตรมาสสาม และเฉลี่ย 3 ไตรมาสแรก ตามลำดับ ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเล็กน้อยประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ สรอ. ใน 3 ไตรมาสแรก
* การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้เงินฝากประจำเพิ่มขึ้น สินเชื่อชะลอตัว ทั้งสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลและสินเชื่อภาคธุรกิจ และสภาพคล่องทางการเงินอยู่ในระดับสูง
* ใน 3 ไตรมาสแรกปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในประเทศลดลงร้อยละ 2.0 แม้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 5.3 เป็นการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปริมาณการใช้ที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.7 และ 0.4 ในปี 2547 และ 2548 ตามลำดับ
* คาดว่าทั้งปี 2549 เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 5.0 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 4.6 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0.2 ของ GDP โดยคาดว่าเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มชะลอตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี เนื่องจากปริมาณการส่งออกชะลอตัวแต่ปริมาณการนำเข้าเร่งตัวมากขึ้น และการลงทุนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
* คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2550 จะขยายตัวร้อยละ 4.0-5.0 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 3.0-3.5 ลดลงจากปี 2549 เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลง ค่าเงินบาทแข็ง และผลของการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 0.1-0.5 ของ GDP โดยในปี 2550 มีข้อจำกัดด้านการส่งออกและการลงทุนที่จะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่อัตราการว่างงานจะยังต่ำ
1. ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาสสามปี 2549
1.1 เศรษฐกิจไทยไตรมาสสามปี 2549 ขยายตัวร้อยละ 4.7 ชะลอลงจากครึ่งแรกของปี แต่รวม 9 เดือนแรกของปี เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 5.3 นับว่าอยู่ในเกณฑ์ดี
ประเด็นหลัก
- เศรษฐกิจไตรมาสที่สามขยายตัวร้อยละ 4.7 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 5.0 ในไตรมาสที่สอง และร้อยละ 6.1 ในไตรมาสแรก โดยเป็นการชะลอตัวของการลงทุนและการบริโภคทั้งของภาคเอกชนและรัฐบาล ปริมาณการส่งออกขยายตัวในอัตราชะลอลง แต่ปริมาณการนำเข้าขยายตัวมากขึ้น ดังนั้นแรงกระตุ้นจากการค้าระหว่างประเทศจึงชะลอลงเช่นกัน
- ภาคการผลิต ภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 5.2 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 7.4 ในครึ่งแรกของปี เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลให้พืชหลักบางชนิดออกสู่ตลาดน้อยลง เช่น ข้าวโพด และยางพารา เป็นต้น และการผลิตไก่เนื้อชะลอลงจากการระบาดของไข้หวัดนกในเดือน กรกฎาคม การผลิตนอกภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 4.7 โดยการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและบริการเกือบทุกสาขาขยายตัวในอัตราชะลอลง ยกเว้นสาขาการขนส่งและสื่อสาร และสาขาไฟฟ้าและน้ำประปา กลุ่มสินค้าที่มีการผลิตชะลอลงมากได้แก่ สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และยานยนต์ เป็นต้น
- โดยรวมในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2549 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 5.3 โดยมีแรงสนับสนุนจากการปริมาณส่งออกซึ่งขยายตัวสูงร้อยละ 9.1 ชดเชยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.4 และ 4.4 ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และความกังวลต่อสถานการณ์การเมือง ดังนั้นภาคการผลิตและบริการที่เชื่อมโยงกับการส่งออกจะได้ประโยชน์จากสถานการณ์เศรษฐกิจในปีนี้มากกว่าผู้มีรายได้ประจำ หรือภาคธุรกิจที่พึ่งพิงความต้องการของตลาดในประเทศ
- อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัวลงชัดเจน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.0 ต่ำกว่าร้อยละ 7.5 ในช่วงเดียวกันของปี 2548
1 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.4 ชะลอลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 4.5 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และ ร้อยละ 3.6 ในครึ่งแรกของปี เนื่องจากกำลังซื้อของ ประชาชนที่ลดลงจากผลกระทบของราคาน้ำมันและราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วง ต้นปี
- การใช้จ่ายรัฐบาลชะลอลงเช่นเดียวกัน โดยใน 9 เดือน ขยายตัวเพียงร้อยละ 5.7 เทียบกับที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 14.7 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
- การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 4.4 ชะลอลงจากร้อยละ 12.0 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการชะลอลงทั้งการลงทุนด้านเครื่องมือเครื่องจักรและการลงทุนก่อสร้าง เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูง และอัตราดอกเบี้ยสูง ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ประกอบกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง ทำให้ชะลอการตัดสินใจลงทุนออกไป สำหรับการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ชะลอลงจากร้อยละ 13.2 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ล่าช้า
- การส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญในปี 2549 โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับประโยชน์จากวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังขยายตัว และการส่งออกยางพาราที่มีความต้องการจำนวนมากจากประเทศจีน และอินเดีย การส่งออกไปยังตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่น อาเซียน และยุโรป ขยายตัวได้ดีตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเหล่านี้ การส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ อาทิ จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก มีการขยายตัวสูงเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง จากการขยายตัวร้อยละ 13.9 ในไตรมาสแรก เป็นร้อยละ 9.2 และร้อยละ 4.9 ในไตรมาสที่สองและไตรมาสที่สาม ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะการค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เริ่มเข้าสู่วัฎจักรขาลงโดยเริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวลงตั้งแต่ไตรมาสที่สองเป็นต้นมา ประกอบกับฐานปริมาณการส่งออกที่สูงมากในไตรมาสที่สามปี 2548
นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จากเฉลี่ย 41.03 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในเดือนธันวาคม ปี 2548 เป็น 37.30 ในเดือนตุลาคมปี 2549 แม้ว่าจะยังไม่ปรากฏผลกระทบชัดเจน แต่ผู้ส่งออกสินค้าที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ และ ใช้แรงงานในการผลิตเข้มข้น อาทิ สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น รองเท้า เป็นต้น จะได้รับผลกระทบต่อผลประกอบการมากกว่าอุตสาหกรรมที่เทคโนโลยีสูงที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า เนื่องจากไม่สามารถปรับเพิ่มราคา (ในรูปดอลลาร์ สรอ.) เนื่องจากการแข่งขันในตลาดที่สูง ในขณะที่ต้องรับภาระด้านต้นทุนค่าจ้างแรงงาน อัตราดอกเบี้ย และราคาน้ำมัน ในรูปเงินบาทที่เพิ่มขึ้น
- ใน 9 เดือนแรก การนำเข้าขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงชัดเจน แต่เริ่มเร่งตัวในไตรมาสสามภายหลังจากที่ชะลอตัวในช่วงครึ่งแรกของปี ซึ่งส่วนหนึ่งเนื่องจากในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว มีการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ อาทิ เหล็ก ทองคำ เพิ่มขึ้นมากกว่าแนวโน้มปกติ ทั้งเพื่อใช้ในการผลิตและการเก็งกำไร และการนำเข้าน้ำมันในปริมาณที่สูงมาก เนื่องจากมีการคาดว่าราคาจะปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง ในช่วง 9 เดือนแรกของปี และโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิได้เสร็จสิ้นลง จึงทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าทุนชะลอตัวลงมาก รวมทั้งมาตรการบริหารจัดการการนำเข้าสินค้าที่มีปริมาณสูงและมีความผันผวนในปีที่แล้ว ได้แก่ น้ำมัน เหล็ก และทองคำ ทำให้ปริมาณนำเข้าเหล็กและน้ำมันลดลงอย่างชัดเจน
- รวม 9 เดือนแรกของปี ดุลการค้าขาดดุล 479 ล้านดอลลาร์ สรอ. และดุลบัญชีเดินสะพัด(A) ขาดดุล 342.0 ล้านดอลลาร์ สรอ. ทั้งนี้ในไตรมาสที่สาม ดุลการค้าเกินดุล 1,450 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยที่ดุลน้ำมันขาดดุล 5,341.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. แต่ดุลสินค้าที่มิใช่น้ำมันเกินดุล 6,791.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล จำนวน 1,250 ล้านดอลลาร์ สรอ.
**********************************************************************************************************
(A) ในเดือนพฤศจิกายน ธปท. ได้เปลี่ยนวิธีการลงบันทึก Reinvested Earnings ใหม่ ตามมาตรฐานการบันทึกบัญชีตามคู่มือการจัดสถิติดุลการชำระเงินฉบับที่ 5 (BPM5) โดยจะมีการลงบัญชีเสมือนกับมีการส่งกำไรกลับออกไปก่อนในกรณีของบริษัทต่างชาติ แล้วนำมาลงทุนใหม่ในไทย และลงบัญชีเสมือนได้รับผลตอบแทนการลงทุนในต่างประเทศเข้ามาในกรณีของบริษัทไทยไปลงทุนในต่างประเทศ แล้วมีการส่งกลับไปลงทุนใหม่ ทำให้การบันทึก ซึ่งต้องบันทึกในบัญชีดุลบริการ รายได้และเงินโอน ด้านจ่ายและรับด้วย จึงทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง (เพิ่มขึ้น) เท่ากับจำนวน FDI ที่เพิ่มขึ้น (ลดลง)
***********************************************************************************************************
(ยังมีต่อ).../การผลิตในช่วง..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ