สรุปผลการดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้โครงการ Planning Agencies Networking and Macroeconomic Surveillance

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 20, 2006 16:09 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

                                              บทสรุปผู้บริหาร 
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รับการอนุมัติดำเนินโครงการเชื่อมโยงเครือข่ายหน่วยงานวางแผนชาติระดับภูมิภาค และการเตือนภัยทางเศรษฐกิจมหภาค (Planning Agencies Networking and Macroeconomic Surveillance) ประจำปีงบประมาณ 2548 มีสาระสำคัญของการเดินทางดูงาน ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม - 2 กันยายน 2548 สรุปได้ ดังนี้
1. ความเป็นมาและวัตถุประสงค์
นายธานินทร์ ผะเอม (ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน) ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น ตามโครงการเชื่อมโยงเครือข่ายหน่วยงานวางแผนชาติระดับภูมิภาคและการเตือนภัยทางเศรษฐกิจมหภาคประจำปีงบประมาณ 2548 ในระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม - 2 กันยายน 2548 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วยนางสาววรรณดา โฆสิตชัยวัฒน์ (สำนักวางแผนเศรษฐกิจมหภาค) นางสาวสุทธิรัตน์ วรรณศรีสวัสดิ์ (กลุ่มงานยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ) นางสาวชลฎา เศวตนันทน์ (กลุ่มงานยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ) และนางสาวอภิรดา ชินประทีป (สำนักวางแผนเศรษฐกิจมหภาค) เพื่อเข้าร่วมหารือและดูงานกับหน่วยงานวางแผนในด้านต่างๆ ของประเทศญี่ปุ่น รวม 4 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียนรู้และเชื่อมโยงกระบวนการวางแผนยุทธศาสตร์ การเฝ้าติดตามระบบเศรษฐกิจเพื่อการเตือนภัยทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานวางแผนของประเทศญี่ปุ่น
2. สรุปผลการเข้าหารือและดูงาน
2.1 Japan External Trade Organization (JETRO)
2.1.1 บทบาทภารกิจ : JETRO เป็นองค์กรที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆทั่วโลก รวมทั้งสนับสนุนเศรษฐกิจภายในประเทศ และระหว่างภูมิภาคทั่วโลกด้วย
2.1.2 เครือข่าย : JETRO มีสำนักงานเครือข่ายตั้งอยู่ในต่างประเทศทั่วโลกรวม56 ประเทศ จำนวน 74 แห่ง และตั้งอยู่ในประเทศจำนวน 38 แห่ง ซึ่งทำหน้าที่สนับสนุนการทำธุรกิจการค้าและการลงทุนภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งให้ความร่วมมือในเรื่อง EPA จัดเตรียมข้อมูลข่าวสารด้านเศรษฐกิจต่างประเทศให้กับประเทศญี่ปุ่น และจัดทำ White Paper ด้านการค้าการลงทุนเป็นรายปี นอกจากนี้ JETRO ยังได้ให้บริการด้านการลงทุนในประเทศญี่ปุ่นแก่นักธุรกิจต่างประเทศโดยผ่านศูนย์ IBSC ซึ่งให้บริการแบบครบวงจรอีกด้วย
2.1.3 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย
1) JETRO ได้จัดตั้งสำนักงาน เจโทร กรุงเทพฯ ขึ้นเพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทยและสำรวจสภาพตลาดในเรื่องดังกล่าวรวมทั้งให้ความร่วมมือในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นและไทย
2) มูลค่าการค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่นมีแนวโน้มอยู่ในระดับที่สูง โดยมูลค่าสินค้าออกที่ส่งไปยังไทยมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าการนำเข้า ส่งผลให้ญี่ปุ่นได้เปรียบดุลการค้าไทยมาตลอดและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
3) การลงทุนโดยตรงระหว่างไทยและญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงทั้งในด้านจำนวนผู้ลงทุนและมูลค่าการลงทุนตั้งแต่ปี 2540 โดยเฉพาะในสาขาที่มิใช่อุตสาหกรรม
2.1.4 ข้อสังเกตและข้อคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับ JETRO
1) ญี่ปุ่นได้วางนโยบายและกลยุทธ์ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ปี 2005 ในสาขาสำคัญๆ เช่น Fuel Cells ; IT ; Robots ; Health / Welfare และ Environment / Energy เป็นต้น รวมทั้งวางนโยบายสำหรับอุตสาหกรรมก้าวหน้า อุตสาหกรรมพื้นฐาน (อุตสาหกรรมสนับสนุน) ซึ่งนำไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ดังกล่าว และให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยี การบริหารจัดการซึ่งเน้นสินทรัพย์ทางปัญญา
2) ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเป็นอันมาก โดยมีการให้บริการแบบครบวงจร จัดตั้งศูนย์ IBSC เพื่อทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารและคำปรึกษาแก่นักธุรกิจต่างประเทศในทุกๆ เรื่องที่จำเป็นต่อการเริ่มต้นลงทุนในประเทศญี่ปุ่น
3) ญี่ปุ่นมีการลงทุนในเรื่อง R&D ค่อนข้างสูง และมากกว่าประเทศที่ก้าวหน้าทางเศรษฐกิจหลายประเทศ
4) ปัจจุบันจีนเป็นประเทศแรกที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญทางด้านการค้า และการลงทุนมากกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจของจีนมีขนาดใหญ่ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
5) จาก JETRO WHITE PAPER ปี 2004 ญี่ปุ่นให้ความสำคัญในประเด็นต่างๆ ดังนี้ (1) ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ (2) บทบาทญี่ปุ่นในเอเชียตะวันออก (3) สิ่งที่ญี่ปุ่นจำเป็นจะต้องทำ ได้แก่ การทำข้อตกลงการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจกับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต และการพัฒนา content industry
2.2 Matsushita Electric Industrial Company Limited (Panasonic)
2.2.1 ยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจ: เพื่อรองรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีแนวโน้มต้องเผชิญกับประเด็นท้าทายต่างๆของโลกมากขึ้นในอนาคต กลุ่มบริษัทมัตสุชิตะ จึงเร่งดำเนินยุทธศาสตร์แห่งการเติบโต และเสริมสร้างโครงสร้างการบริหารจัดการที่เข้มแข็ง รวมถึงส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางการติดต่อสื่อสารของโลกแบบรวมกลุ่ม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ยากต่อการลอกเลียนแบบ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีรูปลักษณ์การออกแบบอย่างสากล
2.2.2 ผลการดำเนินการและพัฒนาการในภูมิภาคเอเชียและประเทศไทย: กลุ่มบริษัทมัตสุชิตะ มียอดขายรวมส่วนใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น มียอดขายในเอเชียร้อยละ 12 โดยส่วนใหญ่คือในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ สำหรับในประเทศไทย มียอดขายไม่มากนัก และมีการลงทุนส่วนใหญ่ในบริษัทเพื่อผลิตส่งออกขายต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตกลุ่มบริษัทมัตสุชิตะ มีความคาดหวังส่งเสริมไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากไทยเป็นประเทศศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์ของกลุ่มความร่วมมือทางภูมิภาคที่สำคัญ ทั้ง AFTA BIMSTEC และกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งจะเป็นตลาดสำคัญต่อไป
2.3 Ministry of Economy, Trade and Industry (METI)
2.3.1 บทบาทภารกิจ : METI รับผิดชอบในการวางแผนและดำเนินนโยบายที่ครอบคลุมในเรื่องเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม อาทิ การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การพัฒนากลยุทธ์ การสนับสนุนการคิดค้น สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน และการดูแลเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ทางด้านเทคนิคในการบริหาร และความคิดเห็นที่มาจากหลากหลายสาขาของคนญี่ปุ่นและนำเสนอแก่รัฐมนตรี เพื่อใช้ในการกำหนดมาตรการและนโยบายที่นำไปสู่การปฏิบัติ
2.3.2 การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ : โดยทั่วไปทุกกระทรวงจะต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์ รวมทั้ง METI ด้วย โดยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์นี้ ไม่มีการกำหนดระยะเวลาจัดทำที่แน่นอน แต่จะขึ้นอยู่กับตามความต้องการ ความเหมาะสม และการเปลี่ยนแปลงในปัจจัยที่สำคัญต่างๆ ในขณะนั้น แผนยุทธศาสตร์จะประกาศใช้โดยรัฐมนตรีที่รับผิดชอบกระทรวงนั้นๆ ในที่นี้ก็คือ METI และไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ (ซึ่งต่างจาก White Paper ที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี) ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ที่ประกาศใช้นี้ METI จะทำหน้าที่ประสานและผลักดันให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมตามแผนที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างแผนยุทธศาสตร์สนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ (New Industry Promotion Strategy 2005) ซึ่งได้จัดทำขึ้นในเดือนมิถุนายน 2005
2.3.3 แผนยุทธศาสตร์สนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ 2005 : สาระสำคัญ ได้แก่
1) สาขาที่มีโอกาสใน 7 สาขา ได้แก่ 1) การพัฒนาปฏิกิริยาการใช้เซลล์พลังงานในยานพาหนะ 2) พัฒนา IT สำหรับฐานทางธุรกิจ 3) พัฒนาการนำหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการผลิตและการสร้างตลาดสำหรับหุ่นยนต์เพื่อการบริการ 4) จัดทำศูนย์กลางการผลิตและการกระจายสินค้าในเอเชีย 5) พัฒนาธุรกิจเพื่อสร้างอุตสาหกรรมสุขภาพที่แข็งขันใหม่ 6) พัฒนากฎระเบียบในการใช้เทคโนโลยีสำหรับสิ่งของหมุนเวียน 7) สร้างการเป็นผู้นำในการสนับสนุนการบริการจ้างงานจากภายนอก
2) การฟื้นฟูความร่วมมือในภูมิภาค โดยการสนับสนุนให้เกิดการสร้างความเข็มแข็งพื้นฐานและการสร้างชุมชนที่มีความเชื่อใจ
3) ให้ความสำคัญกับนโยบายข้ามสาขา ได้แก่ การสร้างผู้เชี่ยวชาญระดับปริญญาตรีในสาขาการวางยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมและธุรกิจ สนับสนุนการจ้างงานผู้ที่มีความเชี่ยวชาญระดับสูงจากต่างประเทศ จัดทำการวิจัยและพัฒนาที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การใช้เทคโนโลยี สนับสนุนการใช้ IT เพื่อการตลาด ให้แรงจูงใจทางด้านภาษีสำหรับการลงทุนเพื่อการพัฒนาบุคลากร การวิจัยและพัฒนา และ IT นอกจากนี้ยังสนับสนุนการบริหารจัดการที่เน้นทรัพย์สินทางปัญญา
2.4 Economic and Social Research Institute (ESRI)
2.4.1 การปฏิรูปโครงสร้างระบบเศรษฐกิจและมุมมองทางเศรษฐกิจระยะปานกลางและมุมมองทางการคลัง ฉบับปรับปรุงประจำปีงบประมาณ 2004
2) สถานการณ์ปัจจุบัน : การปรับปรุงประจำปีงบประมาณ 2004 อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลการปรับตัวของภาคธุรกิจญี่ปุ่นที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง เห็นได้จากผลกำไรของภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เชื่อว่าการจ้างงานและอุปสงค์ภาคธุรกิจกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ นโยบายของรัฐบาลและธนาคารกลางญี่ปุ่น มุ่งไปที่การจัดการกับปัญหาภาวะเงินฝืด (deflation) และ การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจที่นำโดยอุปสงค์ภาคเอกชนอย่างยั่งยืน
2.4.2 การประมาณการผลกระทบจากการปฏิรูปโครงสร้างระบบเศรษฐกิจโดยแบบจำลอง
1) ลักษณะของแบบจำลอง : เป็นการเปรียบเทียบระหว่างกรณีมีการปฏิรูป (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) และความเปลี่ยนแปลงหากไม่มีการปฏิรูป
2) วิธีการประมาณการ
วิธีการ : ใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติที่ชื่อว่า Economic and Fiscal Model: 1st revised edition โดยรวมการปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรใน 3 สาขาเศรษฐกิจ ได้แก่ ตัวแปรทางเศรษฐกิจมหภาค เช่น GDP ราคาสินค้า และอื่นๆ ตัวแปรทางภาครัฐบาล และตัวแปรด้านสวัสดิการสังคม และให้ตัวแปรหลักๆ เช่น อัตราการเติบโต ระดับราคา และอัตราดอกเบี้ย เป็นการกำหนดจากในแบบจำลอง (endogenously determined)
สมมติฐาน :
* คณะรัฐมนตรีกำหนดส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐบาลและภาษี
* ใช้นโยบายปัจจุบันเป็นพื้นฐาน เนื่องจากยังไม่ได้กำหนดนโยบาย
ปีงบประมาณ 2007
* รวมปัจจัยระยะสั้น
* ตัวแปรหลักๆ ที่ตั้งสมมติฐานเริ่มต้นไว้ ได้แก่ ประชากร/กำลังแรงงาน ระดับประสิทธิภาพการผลิต ระดับการเติบโตเศรษฐกิจโลก ระดับการใช้จ่ายทางสวัสดิการสังคม การใช้จ่ายเพื่อลงทุน/การบริโภค อัตราภาษี
3) ผลการศึกษา (simulation result) : สรุปแล้ว การปฏิรูปฯ เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น ได้แก่ อัตราการเติบโตที่แท้จริงเพิ่มขึ้น งบประมาณเกินดุลลดลง จำนวนพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้น และมีการประมาณการตัวแปรเศรษฐกิจรายปี ได้แก่ GDP ตามราคาปัจจุบันและที่แท้จริงรายได้ประชาชาติ ระดับราคา ดุลการออมของภาครัฐ เอกชน และภาคต่างประเทศ
3. ข้อสังเกตเพิ่มเติม
3.1 ภาครัฐญี่ปุ่นค่อนข้างระมัดระวังในการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ FTA ซึ่งภาคเอกชนจะมีบทบาทในการกำหนด position สูง (Keidanren) ทำให้การหาข้อสรุปร่วมกันในการตกลงคงต้องให้เวลาระยะหนึ่ง
3.2 ภาคเอกชนของญี่ปุ่นยังคงให้ความสำคัญและความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจไทยค่อนข้างสูง โดยสังเกตได้จากการให้การต้อนรับคณะผู้บริหารระดับสูงและการศึกษากลยุทธ์ทางธุรกิจ แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยยังมีส่วนแบ่งในการลงทุนไม่มากเท่าที่ควร เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งขันที่ใกล้เคียง เช่น มาเลเซีย โดยในกรณีศึกษา Panasonic ประเทศไทยยังไม่มีกิจกรรมด้าน R&D เลย จึงควรที่จะให้ความสำคัญ
3.3 ภาคเอกชนของญี่ปุ่น มองประเทศไทยในฐานะเป็น Key member ของอาเซียน การวางกลยุทธ์ธุรกิจ จึงออกมาในลักษณะ 3 ประสาน ญี่ปุ่น-จีน-อาเซียน ดังนั้น การมือเพื่อให้เกิดการบูรณาการทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนจะทำให้ประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือมากไปด้วย
3.4 การทำธุรกิจของญี่ปุ่นในต่างประเทศ ภาครัฐได้ให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน เช่น ในกรณี JETRO โดยภาคเอกชนได้มีการรวมตัวกันอย่างเป็นระบบและเข็มแข็งในการทำธุรกิจร่วมกัน และประสานงานกับภาครัฐ ซึ่งเป็นกรณีตัวอย่างในการที่รัฐบาลไทยพยายามสนับสนุนให้ภาคเอกชนไทยไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งภาคเอกชนควรมีการรวมตัวเพื่อทำงานร่วมกันและกับภาครัฐด้วย
สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นและความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น
1. สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น
* ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) 4,800.56 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2547)
* อัตราการเติบโตของ GDP ร้อยละ 2.7 (ปี 2547) และร้อยละ 1.94 (ไตรมาสที่ 1 ปี 2548)
* เงินตรา สกุลเงินเยน (YEN: Y )
* รายได้ประชาชาติ 37,655 ดอลลาร์สหรัฐ /คน/ ปี (ปี 2547)
* อัตราการว่างงาน ร้อยละ 4.5 (มกราคม 2548)
* อัตราแลกเปลี่ยน ประมาณ 105 เยน/ 1 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 36.5 บาท/ 100 เยน (29 พฤศจิกายน 2547)
* อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ - 0.3 (ปี 2546)
* สินค้าส่งออก เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ต่างๆ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จากโลหะเหล็กและเหล็กกล้า สิ่งทอ และเครื่องบริโภค
* สินค้านำเข้า เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์อาหาร วัตถุดิบต่าง ๆ และสิ่งทอ
* ตลาดนำเข้าที่สำคัญ จีน สหรัฐฯ สาธารณรัฐเกาหลี อินโดนีเซีย ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐ อาหรับเอมิเรตส์ ไต้หวัน เยอรมนี ฮ่องกง และไทย (อันดับที่ 10)
* ตลาดส่งออกที่สำคัญ สหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ ได้หวัน ฮ่องกง เยอรมนี และไทย (อันดับที่ 6)
* การค้าไทยกับญี่ปุ่น
ในปี 2547 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 35,958 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากมูลค่าการค้าสองฝ่ายในปี 2546 ร้อยละ 18.1 ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นมูลค่า 13,543 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 นำเข้าจากญี่ปุ่นมูลค่า 22,415 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24
* สินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น แผงวงจรไฟฟ้า ส่วนประกอบรถยนต์ เหล็กแผ่นรีดร้อน ไดโอดทรานซิสเตอร์ ส่วนประกอบเครื่องยนต์ เครื่องจักรที่ทำงานเป็นเอกเทศ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ เหล็กแผ่นชุบ รถบรรทุก แบบหล่อสำหรับโลหะและวัสดุ และอื่น ๆ
* สินค้าส่งออกจากไทย เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ยางธรรมชาติ แผงวงจรไฟฟ้า ส่วนประกอบเครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคม ไก่สดแช่เย็น เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง อาหารทะเลแปรรูป ไดโอด ทรานซิสเตอร์ เครื่องรับโทรศัพท์และส่วนประกอบ เนื้อปลาสดแช่เย็น แช่แข็ง และอื่น ๆ
2. ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น
2.1 ความสัมพันธ์ในภาพรวม
ที่ผ่านมาไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและราบรื่น ความร่วมมือระหว่างกันของทั้งสองประเทศครอบคลุมทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ ไทยได้มุ่งกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับญี่ปุ่นให้พัฒนาไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และเศรษกิจ (strategic and economic partnership) ทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ
2.2 ด้านนโยบายต่างประเทศ
ญี่ปุ่นต้องการเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในประชาคมระหว่างประเทศอย่างสร้างสรรค์ อาทิ ความประสงค์ที่จะเป็นสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ การผลักดันให้มีการเจรจาการค้ารอบใหม่ของ WTO เป็นต้น โดยยังคงเน้นความสำคัญกับการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ และพยายามส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ จีน รัสเซีย เกาหลีใต้ และอาเซียนไทยสนับสนุนบทบาทดังกล่าวโดยเห็นว่าจะช่วยส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค และโลก แต่กระนั้น ในช่วงที่ผ่านมาญี่ปุ่นได้เริ่มดำเนินนโยบายการต่างประเทศเชิงรุกมายิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดมีกรณีพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ จีน และสาธารณรัฐเกาหลีเพิ่มมากขึ้น
ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ที่จัดขึ้นที่กรุงโตเกียวระหว่าง 11-12 ธ.ค. 2546 ญี่ปุ่นได้ประกาศจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยแบ่งครึ่งกันระหว่างอาเซียนกับการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงผู้นำอาเซียนและญี่ปุ่นได้ลงนามปฏิญญาโตเกียวว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนที่มีพลวัตและยั่งยืนระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่นในสหัสวรรษใหม่
ญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือแก่ฝ่ายไทยต่อกรณีธรณีพิบัติเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 โดยญี่ปุ่นได้ประกาศให้ความช่วยเหลือจำนวน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ประเทศที่ประสพภัย สำหรับประเทศไทยนั้นญี่ปุ่นได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือและกู้ภัยทีมชันสูตรศพ และเครื่องอุปโภคและเวชภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือฝ่ายไทย โดยความช่วยเหลือดังกล่าวมาจากทั้งทางภาครัฐบาลและภาคเอกชน
2.3 กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจสำคัญ
กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ การประชุมหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 9 ที่กรุงโตเกียว เมื่อ 12 ก.ค. 2545 โดยการประชุมในปีนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษเนื่องจากนายกรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบในการส่งเสริมหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิด (Closer/Comprehensive Economic Partnership: CEP) ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น โดยให้ทั้งสองฝ่ายจัดตั้งคณะทำงานขึ้นหารือเพื่อจัดทำความตกลง CEP โดยเร็ว ที่ประชุมจึงได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership: JTEP) ซึ่งรวมถึงการจัดทำเขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) ระหว่างทั้งสองประเทศด้วย
2.4 การจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA)
รัฐบาลไทยและญี่ปุ่นเจรจาจัดทำเอฟทีเอ หรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ มาแล้ว 6 ครั้ง นับตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2547 โดยมีรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศเป็นหัวหน้าคณะเจรจา และมีคณะเจรจาประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนหน้าการเปิดเจรจาอย่างเป็นทางการ ทั้งสองฝ่ายได้หารือและศึกษาร่วมกันในระดับคณะทำงานโดยมีผู้แทนภาคเอกชนและนักวิชาการเข้าร่วมด้วย เกือบ 2 ปี การเจรจารอบล่าสุด คือ ครั้งที่ 6 จัดที่กรุงโตเกียว เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม 2548
ความตกลง JTEP มีสาระครอบคลุม 21 บท ทั้งในด้านการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนที่ของบุคคล และด้านความร่วมมือในสาขาต่างๆ อาทิ การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การท่องเที่ยว การส่งเสริมการค้าและการลงทุน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และการเกษตร ซึ่งนับเป็นจุดเด่นของความตกลง JTEP และจะเป็นประโยชน์กับไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความร่วมมือด้านเกษตร ประกอบด้วยความปลอดภัยด้านอาหารหรือ SPS และความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยและทำให้สินค้าเกษตรของไทยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นได้มากขึ้น อันจะช่วยเพิ่มพูนรายได้ให้แก่เกษตรกรโดยตรง
ประเด็นสำคัญที่ไทยได้ผลักดันในการเจรจา ได้แก่ การเปิดเสรีสินค้าเกษตร ซึ่งที่ผ่านมา ฝ่ายญี่ปุ่นมีท่าทียืดหยุ่นมากขึ้น แต่ยังมีเรื่องที่ไทยต้องผลักดันต่อไป อาทิ ไก่ปรุงสุก น้ำตาลและสับปะรดกระป๋อง เช่นเดียวกับด้านการค้าบริการและการเคลื่อนที่ของบุคคล ที่ญี่ปุ่นยังยอมเปิดให้เพียงเฉพาะสาขาคนครัวไทย และสาขาผู้ดูแลผู้สูงอายุ แต่ก็มีท่าทีเชิงบวกต่อข้อเสนอของไทยที่จะให้จัดตั้งกลไกถาวรเพื่อพิจารณาการจัดส่งแรงงานทักษะในสาขาที่ญี่ปุ่นต้องการและไทยมีศักยภาพ ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่น ยังคงยืนยันเรียกร้องเปิดเสรีเหล็ก ยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ และการค้าบริการ
สาขาต่างๆ อาทิ สาขาที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิต โดยเฉพาะการบำรุงรักษาและซ่อมแซม การเช่า/เช่าซื้อ การค้าส่งและค้าปลีก ตลอดจนสาขาการก่อสร้างและการขนส่ง
การจัดทำหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น น่าจะมีผลบวกทางด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทยอย่างมาก โดยในมิติยุทธศาสตร์จะทำให้ไทยเป็นหุ้นส่วนที่มีความเท่าเทียมใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับญี่ปุ่น ขณะที่ในมิติเศรษฐกิจ จะส่งผลในการขยายตลาดและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทยในญี่ปุ่น ตอกย้ำการเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในไทย สนับสนุนการปรับโครงสร้างเพื่อความสามารถในการแข่งขันในอนาคต และขยายโอกาสทางด้านตลาดแรงงานฝีมือของไทยในญี่ปุ่น และในมิติการพัฒนา จะช่วยยกระดับเทคโนโลยีและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
2.5 ด้านการท่องเที่ยว
ปี 2547 ระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม มีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเยือนไทยจำนวน 995,363 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.96 คิดเป็นร้อยละ 10.49 ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในไทย คิดเป็นลำดับที่ 2 รองจากมาเลเซีย และมีชาวไทยเดินทางเยือนญี่ปุ่นจำนวน 122,546 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.94 คิดเป็นร้อยละ5.43 ของขาวไทยที่เดินทางเยือนต่างประเทศ คิดเป็นลำดับที่ 7
2.6 ความช่วยเหลือด้านเงินกู้และวิชาการ
นับตั้งแต่ปี 2539 ถึงปัจจุบัน การดำเนินงานความร่วมมือทางวิชาการไทย-ญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญกับผลสำเร็จเชิงคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเปลี่ยนจากการดำเนินงานในลักษณะเอกเทศเป็นรายโครงการมาใช้กลยุทธ์ที่เน้นเอกภาพในการดำเนินงานความร่วมมือร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาในภาพรวม โดยคำนึงถึงความชัดเจนของวัตถุประสงค์ แผนงาน และการติดตามและประเมินผลในลักษณะ Program Approach ภายใต้ 5 สาขาความร่วมมือที่มีลำดับสำคัญ ได้แก่ (1) การพัฒนาชนบท (2) การพัฒนาสังคม (3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (4) การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (5) ความร่วมมือในระดับภูมิภาค
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาภาคทางการ (Official Development Assistance: ODA) สูงสุด โดยปีงบประมาณ 2545 ไทยได้รับ ODA จากญี่ปุ่นเป็นมูลค่า 211 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 32.6 ของมูลค่าความช่วยเหลือด้านเงินกู้และวิชาการจากต่างประเทศทั้งหมด หน่วยงานไทยที่ได้รับ ODA จากญี่ปุ่นสูงสุดในปีงบประมาณ 2545 คือ กระทรวงสาธารณสุข
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ญี่ปุ่นต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้เริ่มมีแรงกดดันจากภายในประเทศที่ต้องการให้รัฐบาลญี่ปุ่นปรับลดงบประมาณ ODA ลง โดยอ้างปัญหาความไม่โปร่งใสของการใช้ ODA ในประเทศผู้รับ และผลประโยชน์ตอบแทนที่ญี่ปุ่นจะได้รับจาก ODA ที่ให้กับประเทศต่าง ๆ โดยในปีงบประมาณญี่ปุ่น 2545 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศลดงบประมาณ ODA ลงร้อยละ 10 โดยในส่วนของประเทศไทยลดลงร้อยละ 8.9
สรุปสาระสำคัญหน่วยงานที่เข้าเยี่ยม
I Japan External Trade Organization (JETRO)
II Matsushita Electric Industrial Company Limited (Panasonic)
III Ministry of Economy, Trade and Industry (METI)
IV Economic and Social Research Institute (ESRI)
Japan External Trade Organization (JETRO)
1. วัตถุประสงค์
JETRO เป็นองค์กรที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆทั่วโลก ซึ่งวัตถุประสงค์เดิมของการจัดตั้ง JETRO ก็เพื่อส่งเสริมสินค้าออกของญี่ปุ่นในต่างประเทศ แต่ภายหลังได้ขยายวัตถุประสงค์รวมการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในญี่ปุ่น และสนับสนุนเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคทั่วโลกด้วย
2. โครงสร้างองค์กร (The Structure of the organization)
ประกอบด้วยส่วนสำคัญๆ 5 ส่วนคือ สำนักงานใหญ่ที่โตเกียว สำนักงานที่โอซาก้า สถาบันพัฒนาเศรษฐกิจ (Institute of Developing Economies: IDE) สำนักงาน JETRO ภายในประเทศ (Domestic Offices) และสำนักงาน JETRO ต่างประเทศ (Overseas Offices) โดยที่แต่ละส่วนได้แบ่งเป็นแผนกย่อยๆ ทำหน้าที่ส่งเสริมการค้า การลงทุน และการศึกษาวิจัยด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับการค้าและการลงทุน
3. เครือข่าย (NETWORK)
JETRO มีสำนักงานตั้งอยู่ในต่างประเทศทั่วโลกรวม 56 ประเทศ จำนวน 74 แห่ง และตั้งอยู่ภายในประเทศรวม 38 แห่ง โดยรวมทั้งสำนักงานใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ที่โตเกียว และโอซาก้า ซึ่ง JETRO ได้ใช้สำนักงานเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วประเทศและทั่วโลกเพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศต่างๆกับประเทศญี่ปุ่น
4. สรุปกิจกรรม (Activities) สำคัญๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ
4.1 ส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในประเทศญี่ปุ่น (Foreign Direct Investment : FDI) โดยการจัดหาข้อมูลข่าวสารต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญสำหรับให้คำปรึกษาด้วย
4.2 ช่วยเหลือบริษัท/ธุรกิจต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในตลาดญี่ปุ่น โดยการให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับสภาพตลาดญี่ปุ่น ทั้งในด้านโครงสร้างเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และโอกาสในการลงทุน ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือแนะนำด้านผลผลิต บริการ และเทคโนโลยีที่เหมาะกับตลาดญี่ปุ่น
4.3 สนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน โดยช่วยเหลือประเทศเหล่านี้ให้สามารถปรับปรุงระบบธุรกิจของตนให้ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีในการปรับปรุงคุณภาพและการออกแบบ และการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญไปช่วยปรับปรุงระบบธุรกิจให้ได้มาตรฐาน
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ