(ต่อ11)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกและแนวโน้มปี 2549

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 15, 2006 16:14 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          (3) ราคาส่งออกและนำเข้าสินค้า คาดว่าในปี 2549 ราคาสินค้าในตลาดโลกยังมีแนวโน้มสูงขึ้น  เนื่องจากต้นทุนการผลิตจากราคาน้ำมันและวัตถุดิบที่สูงขึ้น และเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี ซึ่งทำให้ความต้องการสินค้ายังเพิ่มขึ้นในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตในประเทศต่าง ๆ เพิ่ มขึ้นแลทำให้กำลังการผลิตส่วนเกินของโลกลดลงกว่าในปี 2548 แต่อย่างไรก็ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์รวมทั้งราคาเหล็กและน้ำมันดิบได้ปรับเพิ่มขึ้นมากแล้วในปี 2548  จึงเป็นฐานราคาที่สูง  ประกอบกับมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวในครึ่งหลังของปีนี้ซึ่งจะทำให้ความต้องการสินค้าในตลาดโลกโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้า และราคาสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ได้ผ่านระดับสูงสุดไปแล้ว ซึ่งจะเห็นว่าราคาส่งออกได้ชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ครึ่งหลังปีที่แล้วต่อเนื่องตลอดช่วง 4 เดือนแรกในทุกหมวดสินค้ายกเว้นราคาสินค้า เกษตรส่งออก โดยที่ใน 4 เดือนแรกราคาส่งออกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1  เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 และ 7.7 ในครึ่งแรกและครึ่งหลังของปี 2548 
ดังนั้นในการปริมาณการครั้งนี้จึงคาดว่าราคาส่งออกสินค้าโดยเฉลี่ยในรูปเงินดอลลร์สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 ปรับลดลงจากร้อยละ 8.5 ในการประมาณการครั้งก่อน สำหรับราคาสินค้านำเข้าปรับลดจากร้อยละ 9 เป็นร้อยละ7.6 ตามภาวะราคาในช่วง 4 เดือนแรก ซึ่งชะลอลงชัดเจนโดยเฉพาะในหมวดสินค้าทุนและวัตถุดิบ ยกเว้นราคาน้ำมันดิบนำเข้าที่ยังเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก
2.3 ประมาณการเศรษฐกิจปี 2549: เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 4.2 -4.9 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 4.5-4.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 0.5 ของ GDP
ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 4.2-4.9 ต่ำกว่าร้อยละ 4.5-5.5 ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2549 เล็กน้อย อัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ 4.5-4.7 สูงกว่าที่ประมาณการเดิมร้อยละ 3.5-4.5 เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงกว่าที่คาดไว้เดิม คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 0.5 ของ GDP และอัตราการว่างงานคาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.8-2.0 ใกล้เคียงกับปี 2548
ในภาพรวมเป็นการปรับประมาณการลงจากการประมาณการในครั้งก่อนเล็กน้อย เนื่องจากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิที่สูงกว่าที่ประมาณการไว้เดิม ช่วยชดเชยการปรับลดการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ดังนั้นการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2549 จึงมีลักษณะที่มาจากการสนับสนุนของการส่งออกสุทธิมากขึ้นกว่าที่คาดไว้เมื่อครั้งที่ผ่านมา ในขณะที่แรงขับเคลื่อนของอุปสงค์ภายในประเทศมีน้อยลง การปรับลดประมาณลงเล็กน้อยในครั้งนี้มีเหตุผลหลัก ๆ ดังนี้
* ปรับลดการประมาณการการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชน เนื่องจากข้อมูลเครื่องชี้เศรษฐกิจใน 4 เดือนแรกแสดงว่าอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการใช้จ่ายครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องและมากกว่าที่คาดไว้เดิม อันเนื่องจากราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และการปรับดอกเบี้ยสูงขึ้นของสถาบันการเงิน โดยที่ปัจจัยดังกล่าวยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในครึ่งหลัง รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจเอกชนที่ลดลงในช่วง 4 เดือนทีผ่านมา
* ปรับเพิ่มปริมาณการส่งออกและปรับลดปริมาณการนำเข้าทั้งสินค้าและบริการทำให้ปริมาณการส่งออกสุทธิรวมทั้งสินค้าและบริการสูงกว่าในการประมาณการครั้งก่อน ในการประมาณการครั้งนี้ได้ปรับประมาณการปริมาณการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มล่าสุดซึ่งแสดงว่าปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาด โดยในช่วง 4 เดือนแรกเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 ภายใต้สถานการณ์ที่คาดว่าปริมาณการค้าโลกจะขยายตัวประมาณร้อยละ 8.0 สูงกว่าร้อยละ 7.5 ที่คาดไว้เดิม และร้อยละ 7.3 ในปี 2548 และการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกสูงกว่าในปี 2548 เล็กน้อยรวมทั้งได้ปรับลดปริมาณการนำเข้าสินค้าเนื่องจากคาดว่าจะมีการใช้วัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปจากสินค้าคงคลังมากขึ้น และทำให้การสะสมสต็อกลดลง รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวมากกว่าที่คาดไว้เดิมทำให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนชะลอตัวลงมาก ทั้งนี้คาดว่าปริมาณการส่งออกจะขยายตัวช้าลงในครึ่งหลังตามทิศทางเศรษฐกิจโลกและภาวะการค้าอิเล็กทรอนิกส์ แต่ปริมาณการนำเข้าจะขยายตัวมากกว่าในครั้งแรก นอกจากนี้ได้ปรับเพิ่มรายจ่ายด้านบริการสูงขึ้นตามสถานการณ์ในไตรมาสแรกที่แสดงว่าจำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 สูงกว่าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 ในปี 2548
(1) กรณีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในกรณีสูงร้อยละ 4.9
เศรษฐกิจทั้งปี 2549 จะขยายตัวได้ร้อยละ 4.9 ภายใต้เงื่อนไข (1) เร่งรัดการส่งออกทั้งปีให้ขยายตัวร้อยละ 15 จากแนวโน้มการขยายตัวปกติร้อยละ 13-14 โดยต้องเร่งขยายการส่งออกสินค้าเกษตร ในกลุ่มยางพารา กุ้ง ไก่ และอาหารทะเลกระป๋อง รวมทั้งการส่งออกในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์และชิ้นส่วน (2) เร่งรัดส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ได้รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 50,000 ล้านบาท จากฐานรายรับในปี 2548 (3) เร่งรัดการเบิกจ่ายงบรัฐบาลและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งรวมถึงการเบิกจ่ายของกองทุนเพื่อการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน และงบเพื่อดำเนินโครงการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด และ (4) การดำเนินมาตรการทางการเงินและการคลัง ที่เหมาะสมกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่มีแรงกดดันจากต้นทุนแรงงานและราคาพลังงานที่สูงขึ้น
(ยังมีต่อ).../(2) กรณีการ..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ