(ต่อ5)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2548 และแนวโน้มปี 2549

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 10, 2006 14:03 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          (1.2) ปัจจัยเสี่ยง/ข้อจำกัดภายในประเทศ: เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ดุลการค้าขาดดุล และมีความไม่แน่นอนของสถานการณ์ด้านการเมือง 
* แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นมากตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2548 เป็นต้นมาและต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2549 จะยังเป็นข้อจำกัดสำหรับการใช้จ่ายครัวเรือน และมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจเอกชน ภายใต้สถานการณ์ที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังมีแนวโน้มสูงต้นทุนการผลิตจะยังเพิ่มสูงขึ้น แต่คาดว่าในครึ่งหลังของปีแรงกดดันเงินเฟ้อจะลดลงบ้าง เนื่องจากการส่งผ่านต้นทุนราคาน้ำมันจะเริ่มบรรเทาลงจากการที่ฐานราคาน้ำมันและราคาสินค้าได้ปรับเพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2548 ประกอบกับคาดว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ และได้ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเริ่มสูงขึ้นจะมีผลให้การใช้จ่ายครัวเรือนปรับตัวชะลอลง ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากด้านความต้องการสินค้าและบริการ
* แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นตามทิศทางนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจซึ่งจะทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายและการลงทุนมากขึ้น คาดว่าในปี 2549 อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูงอยู่ และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่สูงขึ้นจะทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย นโยบาย และสถาบันการเงินปรับอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ขึ้นตาม ในปี 2548 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(B)สูงขึ้นตามลำดับจากร้อยละ 0.9 ในครึ่งแรกเป็นร้อยละ 2.3 ในครึ่งหลัง และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.6 ใน 2 เดือนแรกปี 2549 ซึ่งแสดงว่าผลกระทบจากราคาน้ำมันต่อต้นทุนการผลิตถูกส่งผ่านไปยังผู้บริโภคมากขึ้นตามลำดับ และเป็นเหตุผลสำคัญของการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าจะเป็นการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับปัจจุบันอีกไม่เกิน 75 จุด เนื่องจาก (1) สภาพคล่องส่วนเกินยังอยู่ในระดับสูง โดย ณ สิ้นปี 2549 อยู่ที่ระดับประมาณ 464,000 ล้านบาท สูงกว่า 451,181 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2548 และสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 92.6 ณ สิ้นเดือนมกราคม ซึ่งต่ำกว่าร้อยละ 96.1 ณ ช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว และ (2) ค่าเงินบาทมีแนวโน้มค่าแข็งขึ้นตามค่าเงินเยน และการคาดการณ์ค่าเงินหยวนของจีนสูงขึ้น ซึ่งทำให้ต้องคำนึงถึงผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยต่อค่าเงินบาท เพื่อไม่ให้กระทบความสามารถในการแข่งขันของการส่งออก ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2547 ถึงวันที่ 18 มกราคม 2549 คณะกรรมการนโยบายการเงินได้ปรับอัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรซื้อคืน 14 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 10 ครั้ง จากอัตราร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 4.25 ในการปรับครั้งล่าสุด
* ดุลการค้ายังมีแนวโน้มขาดดุลสูงอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันดิบที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงเป็นสำคัญ ซึ่งทำให้ยังจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการการนำเข้าอย่างเหมาะสม ในปี 2548 ราคาน้ำมับดิบดูไบเฉลี่ยเท่ากับบาเรลละ 49.33 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.2 จากเฉลี่ยบาเรลละ 33.52 ในปี 2547 ซึ่งราคาน้ำมันที่สูงขึ้นนี้มีส่วนทำให้ดุลการค้าขาดดุลประมาณ 4,800 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือ 193,000 ล้านบาท ในปี 2548แม้ว่าปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจะลดลงร้อยละ 5.1 สำหรับในปี 2549 คาดว่าปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจะมีแนวโน้มลดลง เห็นได้จากความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ ปิโตรเลียมที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทางเลือก ในปี 2548 ปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมชะลอตัวลงมากโดยเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.4 เทียบกับที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9.7 ในปี 2547 โดยคาดว่าในปี 2549 ราคาที่สูงขึ้นประมาณบาเรลละ 6-7 ดอลลาร์ จะทำให้มูลค่าการนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ สรอ.
********************************************************************************************************
(B)เป็นอัตราเงินเฟ้อที่ไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงาน ซึ่งราคามีความผันผวนตามความผันผวนของภาวะการผลิตได้ง่าย
********************************************************************************************************
(ยังมีต่อ).../บรรยากาศ..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ