(ต่อ1)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสสาม และแนวโน้มปี 2549 - 2550

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 8, 2006 14:34 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          - การผลิตในช่วง 9 เดือนแรก ขยายตัวดีทั้งภาคเกษตร และนอกภาคเกษตร 
- ผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.2 แต่เป็นการขยายตัวที่ชะลอตัวตั้งแต่ต้นปี ผลผลิตอุตสาหกรรมที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ก่อสร้าง และกระดาษ เป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตว่ามีผลผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นมาก แต่การเปลี่ยนแปลงการใช้กำลังการผลิตไม่มากนัก ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะสะท้อนว่ามีการใช้เครื่องจักรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากมีการเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรในปีที่แล้ว ซึ่งทำให้การนำเข้าสินค้าทุนประเภทเครื่องจักรกลที่ใช้ในอุตสาหกรรม และเครื่องจักรไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากในปีที่แล้ว
- ผลผลิตเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 6.7 เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 4.4 ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยผลผลิตพืชผลสำคัญที่เพิ่มขึ้นประกอบด้วย ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และปาล์มน้ำมัน แต่ผลผลิตเกษตรได้รับผลกระทบน้ำท่วมในไตรมาสที่สาม
- ด้านบริการโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวสูงร้อยละ 11.3 ส่วนหนึ่งเนื่องจากในปี 2548 เป็นช่วงของการเริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบจากธรณีพิบัติภัยในปลายธันวาคม 2547 และส่งผลกระทบต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2548
- เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แม้จะมีแรงกดดันจากเงินเฟ้อในช่วงครึ่งแรกของปีแต่อ่อนตัวลงในไตรมาสที่สาม และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
- แรงกดดันต่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้นมากในช่วงครึ่งแรกของปี แต่ลดลงมากในไตรมาสที่สาม ในไตรมาสที่สามอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 3.6 ชะลอตัวลงจากครึ่งแรกของปี เนื่องจากในครึ่งหลังปีที่แล้วมีการปรับราคาสินค้าขึ้นมาก ประกอบกับราคาน้ำมันที่ลดลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงลดลงต่อเนื่องในเดือนตุลาคม มาอยู่ที่ร้อยละ 2.8 แต่ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในเดือนพฤศจิกายน เป็นร้อยละ 3.5 เนื่องจากผลกระทบน้ำท่วมทำใหราคาพืชผักสูงขึ้น สำหรับเงิน เฟ้อพื้นฐานในไตรมาสที่สามเท่ากับร้อยละ 1.9 ชะลอลงจากไตรมาสแรกและไตรมาสที่สอง และชะลอต่อเนื่องเป็นร้อยละ 1.8 และ 1.7 ในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ตามลำดับ โดยเฉลี่ยในช่วง 11 เดือนแรกของปี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 4.8 และเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 2.4
- การจ้างงานรวมเพิ่มขึ้น และอัตราการว่างงานทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกันกับปีที่แล้ว ผู้มีงานทำในไตรมาสที่สามปี 2549 มีจำนวน 36.68 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 จาก 36.48 ล้านคน ในไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว โดยผู้มีงานทำภาคเกษตรกรรมลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.6 เนื่องจากเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ของจังหวัดภาคเหนือ ขณะที่ผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว การจ้างงานในสาขาการก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.27 สำหรับสาขาอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.4 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.36 ทรงตัวในระดับเดียวกับปีที่แล้ว และรวม 9 เดือนอัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.6 ต่ำกว่าร้อยละ 2.2 ในช่วงเดียวกันปี 2548 อย่างไรก็ตาม สัดส่วนจำนวนตำแหน่งงานว่างต่อจำนวนผู้สมัครสูงขึ้นเล็กน้อยจาก 1.3 ในไตรมาสที่สอง เป็น 1.5 ในไตรมาสที่สาม ซึ่งแสดงว่าตลาดแรงงานตึง ตัวน้อยลง
- การใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมลดลงในช่วง 9 เดือนแรก ร้อยละ 2.0 แม้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 5.3 เป็นการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปริมาณการใช้ที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.7 และ 0.4 ในปี 2547 และ 2548 ตามลำดับ สะท้อนถึงการปรับตัวในการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของผู้บริโภคที่มีการประหยัด และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้มากขึ้น
- หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2549 มีจำนวน 3.23 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41.28 ของ GDP ชะลอลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 41.69 ณ สิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และยังคงต่ำกว่าร้อยละ 46.4 ณ สิ้นเดือนธันวาคมปี 2548
- เสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2549 เท่ากับ 61.59 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งคิดเป็น 3.0 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และเท่ากับการนำเข้า 5.88 เดือน ซึ่งนับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่มีเสถียรภาพ และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังคงเพิ่มต่อเนื่องโดย เท่ากับ 62.3 พันล้านดอลลาร์ ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อลดแรงกดดันไม่ให้ค่าเงินบาทเพิ่มขึ้นเร็วเกินไป และผันผวน
- ฐานะการคลังมีการเกินดุลเงินสด 35,614 ล้านบาท ใน ไตรมาสที่สี่ของปีงบประมาณ 2549 (ก.ค.-ก.ย. 2549) ฐานะการคลังดีขึ้นเมื่อเทียบกับการเกินดุลเงินสด 16,099 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 4 ปีงบประมาณ 2548 ซึ่งเป็นการเกินดุลนอกงบประมาณ 55,240 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการออกตั๋วเงินคลังเพื่อเสริมสภาพคล่อง อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาเฉพาะดุลงบประมาณ ในไตรมาสที่สี่ของปีงบประมาณ 2549 ดุลงบประมาณขาดดุล 18,826 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากรายได้นำส่งคลังลดลงโดยเฉพาะรายได้ภาษีอากรขาเข้า ภาษีสุราและรถยนต์ และการเบิกจ่ายเงินงบประมาณโดยเฉพาะรายจ่ายประจำที่เร่งตัวขึ้นมาก
โดยรวมทั้งปีงบประมาณ 2549 ( ต.ค.48 - ก.ย.49) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิรวม 1,339.4 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 ชะลอตัวจากที่ขยายตัวร้อยละ 12.2 ในปีงบประมาณ 2548 เนื่องจากจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน รถยนต์ และยาสูบ ลดลง ตามการปรับลดการใช้น้ำมันต่อราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นและมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลในช่วงต้นปีงบประมาณ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ลดลง และการบริโภคยาสูบลดลงจากการปรับเพิ่มอัตราภาษียาสูบ และการจัดเก็บภาษีอากรขาเข้าลดลง เนื่องจากการปรับลดอัตราภาษีตามกรอบความตกลงระหว่างประเทศและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาก สำหรับรายจ่ายรัฐบาล มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรวม 1,394.6 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 93.4 ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เบิกจ่ายได้ร้อยละ 91.1 รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นมากกว่ารายรับ ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ 55.2 พันล้านบาท แต่เมื่อรวมกับการเกินดุลนอกงบประมาณ 92.7 พันล้านบาท จากการที่รัฐบาลได้ ออกตั๋วเงินคลังเพื่อเสริมสภาพคล่องจำนวน 80 พันล้านบาท ทำให้รัฐบาลเกินดุลเงินสด 37.5 พันล้านบาท
- ภาวะการเงินไตรมาสสามปี 2549 : อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวแต่อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ยังสูงขึ้น ทำให้เงินฝากประจำเพิ่มขึ้นมากและสินเชื่อชะลอตัวต่อเนื่อง สภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินจึงเพิ่มขึ้น ส่วนค่าเงินบาทและดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริงมีแนวโน้มแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวแต่อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์สูงขึ้นเล็กน้อย คณะกรรมการ นโยบายการเงิน ธปท. ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งล่าสุดในเดือนมิถุนายน และได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 5.0 ต่อปีตลอดไตรมาสสามจนถึงเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัว และแรงกดดันต่อเงินเฟ้อลดลง เช่นเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่คง Fed Fund Rate ไว้ที่ร้อยละ 5.25 ต่อปี ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศอุตสาหกรรมอื่น ๆ มีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งญี่ปุ่น กลุ่มยูโร และอังกฤษ
แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนสิงหาคม อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของ 5 ธนาคารใหญ่สูงขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 7.63 และ 4.38 ณ สิ้นไตรมาสสอง มาอยู่ที่ร้อยละ 7.75 และ 4.5 ต่อปีในเดือนพฤศจิกายน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงเป็นลำดับ ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงเริ่มกลับเป็นบวกตั้งแต่เดือนสิงหาคม ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจริงของธนาคารพาณิชย์ (Effective spread) ในไตรมาสสามอยู่ที่ร้อยละ 3.48 ลดลงจากไตรมาสสองเล็กน้อย เนื่องจากภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่าดอกเบี้ยรับ ซึ่งทำให้รายได้ของธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวลง
- การปรับอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ทำให้เงินฝากขยายตัวต่อเนื่องขณะที่สินเชื่อมีแนวโน้มชะลอตัว เงินฝาก ณ สิ้นไตรมาสสามที่ไม่รวมผลจากการควบรวมกิจการและการตั้งธนาคารใหม่ขยายตัวจาก ระยะเดียวกันของปี 2548 ร้อยละ 5.6 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 7.3 ในไตรมาสสองเนื่องจากฐานที่สูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 เมื่อธนาคารเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก โดยเงินฝากประจำขยายตัวสูงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สามในอัตราร้อยละ 31.6 ขณะที่เงินฝากออมทรัพย์ลดลงจากระยะเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 14.1 สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนขยายตัวเพียงร้อยละ 2 ชะลอตัวลงอย่างชัดเจนติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สอง โดยสินเชื่อภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นสัดส่วนมากที่สุดขยายตัวเพียงร้อยละ 0.6 ต่ำสุดในรอบ 3 ปี สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลชะลอลงจากร้อยละ 9.7 ในไตรมาสสองเป็นร้อยละ 7.7 ในไตรมาสนี้
ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตยังคงขยายตัวร้อยละ 16.6 แต่มีการยกเลิกบัตรเครดิตของผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคารเป็นจำนวนมาก คาดว่าจะเป็นกลุ่มของลูกค้าที่ใช้บัตรเพื่อวัตถุประสงค์ด้านสินเชื่อและประสบปัญหาในการชำระหนี้
- สภาพคล่องมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการขยายตัวของเงินฝากที่มากกว่าสินเชื่อ สัดส่วนสินเชื่อ (รวมเงินลงทุนในหลักทรัพย์เอกชน) ต่อเงินฝาก ณ สิ้นไตรมาสสามอยู่ที่ร้อยละ 92.1 ลดลงจากร้อยละ 94.4 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว และสัดส่วนลดต่ำลงเป็นร้อยละ 91.6 ในเดือนตุลาคม สภาพคล่องส่วนเกินของระบบธนาคารพาณิชย์ที่คำนวณเป็นสัดส่วนของสภาพคล่องที่พร้อมนำไปใช้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นประมาณ 750 พันล้านบาทในไตรมาสสาม หรือเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 53.6
- ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งขึ้น มีค่าเฉลี่ยในไตรมาสสามเท่ากับ 37.64 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากระยะเดียวกันของปี 2548 ร้อยละ 8.8 และค่าเฉลี่ยในช่วง 9 เดือนอยู่ที่ 38.35 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งขึ้นร้อยละ 4.1 และยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในไตรมาสสี่ โดยมีค่าเฉลี่ย 37.3 และ 36.5 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ตามลำดับ เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วกว่าค่าเงินสกุลหลักและเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่ ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (Nominal Effective Exchange Rate ; NEER) เฉลี่ยในไตรมาสสามสูงขึ้น จากระยะเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ8.1 และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (Real EffectiveExchange Rate ; REER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 9.4 แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้าแทรกแซงเพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเร็วเกินไป สาเหตุหลักของการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา คือ ( i ) ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนลงในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว และ ( ii ) นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยมากขึ้น จึงมีเงินทุนไหลเข้าในตลาดการเงินไทยเพิ่มขึ้นมาก
- ตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ ในขณะที่สินเชื่อชะลอตัว ภาคเอกชนระดมทุนผ่านตลาดทุนเพิ่มขึ้นทั้งหุ้นทุนและหุ้นกู้ ธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินระดมทุนรวม 65.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 42.5 ทั้งนี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มนิ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีการออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้นมาก ด้านการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาสสาม มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงแต่ดัชนีราคาปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ และมีแนวโน้มดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ดัชนีราคาปิดตลาดสิ้นเดือนพฤศจิกายนที่ 739.06จุด มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมเท่ากับ 5.3 ล้านล้านบาท ขณะที่การซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่าเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากไตรมาสสามปี 2548 เป็น30.7 พันล้านบาท และดัชนีผลตอบแทนจากการลงทุนปรับเพิ่มขึ้น
(ยังมีต่อ).../1.2 ไตรมาสที่..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ