(ต่อ12)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกและแนวโน้มปี 2549

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 15, 2006 16:23 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          (2) กรณีการขยายตัวในกรณีต่ำร้อยละ 4.2 
ในกรณีที่เกิดผลกระทบทางด้านการผลิตน้ำมันจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านที่อาจจะรุนแรงขึ้นหรือปัญหาทางการเมืองภายในประเทศไนจีเรียมีความยืดเยื้อ และอุณหภูมิในช่วงฤดูหนาวของซีกโลกตะวันตกต่ำมาก จะมีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในช่วงที่เหลือของปีอยู่ที่ระดับ 68-70 ดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้ราคาเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่า 65 ดอลลาร์ สรอ. ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากกว่าที่คาดซึ่งจะกระทบการส่งออกของไทยให้ต่ำกว่าเป้าหมาย ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าจะสูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ระบบเศรษฐกิจขาดดุลมากกว่าในกรณีแนวโน้มปกติ และราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปีที่สูงกว่าระดับ 65 ดอลลาร์ต่อบาเรล จะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าร้อยละ 4.5 และทำให้การใช้จ่ายครัวเรือนชะลอตัวมากกว่าที่คาด ซึ่งในที่สุดจะส่งผลต่อเนื่องต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าโอกาสที่ราคาน้ำมันดิบดูไบจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับนั้นมีความเป็นไปได้น้อย เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวในครึ่งหลังของปีและการปรับพฤติกรรมการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพในประเทศต่าง ๆ จะช่วยลดแรงกดดันด้านราคาได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามยังมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่อาจจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่ำกว่าค่ากลางของช่วงประมาณการร้อยละ 4.2-4.9 เช่น ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนต่อเนื่อง และทำให้การเบิกจ่ายงบรัฐบาลไม่เป็นไปตามเป้าหมาย รวมทั้งภัยธรรมชาติ เป็นต้น
3. ความน่าจะเป็นของภาวะเศรษฐกิจปี 2549 ในกรณีต่าง ๆ
โอกาสที่ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปีจะต่ำหรือสูงกว่า 63 ดอลลาร์ต่อบาเรลนั้นมีความเป็นไปได้ใกล้เคียงกัน เนื่องจากปัจจัยเชิงเทคนิคและจิตวิทยาทำให้ราคาน้ำมันตอบสนองต่อข่าวสารสถานการณ์น้ำมันทั้งทางด้านความต้องการใช้และเงื่อนไขด้านการผลิตทั้งที่เป็นข่าวบวกหรือลบอย่างรวดเร็ว และจากความเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีทั้งข่าวที่เป็นบวกและลบ เช่น ข้อมูลความต้องการน้ำมันที่ชะลอตัว หรือข้อมูลการสะสมสต็อกที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น สำหรับภาวะเศรษฐกิจโลกนั้นโอกาสที่จะขยายตัวได้ต่ำกว่าหรือสูงกว่าร้อยละ 4.4 นั้นมีพอ ๆ กัน ซึ่งจะส่งผลให้มีโอกาสไม่แตกต่างกันที่การส่งออกของไทยจะต่ำกว่าหรือสูงกว่าค่าการประมาณการ และเนื่องจากปัจจัยจากสถานการณ์ทางการเมือง แนวโน้มชะลอตัวตามวัฏจักรของการลงทุน และราคาน้ำมันที่สูง รวมทั้งการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยได้ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายและการลงทุนไประดับหนึ่งแล้วในช่วง 5 เดือนแรก ทำให้คาดว่าโอกาสที่การใช้จ่ายและการลงทุนจะชะลอตัวมากกว่าหรือน้อยกว่าค่าแนวโน้มนั้นมีความเป็นไปได้ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้นจึงคาดว่าโอกาสความน่าจะเป็นที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2549 จะมีค่าต่ำกว่าหรือสูงกว่าค่ากลางร้อยละ 4.6 จะไม่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นการกระจายของความน่าจะเป็นของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สมมาตร (Symmetric probability distribution) โดยที่ค่าความน่าจะเป็นที่การขยายตัวของเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยทั้งปี 2549 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 4.2-4.9 เป็นร้อยละ 86.0
4. การบริหารนโยบายเศรษฐกิจปี 2549
ในปี 2549 การใช้จ่ายครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัวชัดเจน และยังมีความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่าที่ประเมินไว้ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงของการปรับตัวจากภาวะไม่สมดุลระหว่างประเทศ ปี 2549 จึงยังมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและประกอบกับแนวโน้มการชะลอตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่จะกระทบการส่งออก นอกจากนี้ราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจจะเป็นข้อจำกัดต่อการปรับตัวของการใช้จ่ายและการลงทุนอย่างมีเสถียรภาพ ดังนั้นการบริหารเศรษฐกิจควรเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่ได้รับอนุมัติแล้วให้เป็นไปตามเป้าหมาย ส่งเสริมการสร้างรายได้จากการส่งออกโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารและการท่องเที่ยว และเร่งรัดการดำเนินมาตรการพลังงานทดแทน เพื่อดูแลการฐานะดุลบัญชีเดินสะพัด ในขณะเดียวกันควรสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมจึงเห็นสมควรให้เร่งรัดมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจในครึ่งหลังชะงักงัน ดังนี้
* เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งงบประมาณเหลื่อมจ่ายเพิ่มขึ้นกว่าในปี 2548 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10-12 ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดและจังหวัด และค่าใช้จ่ายในการพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านและชุมชน ซึ่งจะช่วยให้การปรับตัวในระดับรากหญ้าในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ
* การรักษาระดับการขยายตัวของภาคเกษตร ทั้งในด้านเสถียรภาพราคา และปริมาณผลผลิต รวมทั้งการขยายตัวของการส่งออกสินค้าเกษตรในหมวดสินค้าแปรรูป ไก่ กุ้ง ยางพารา และข้าว ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าเกษตรสำคัญ และเป็นสินค้าที่ใช้ปัจจัยการผลิตภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์เต็มที่จากรายได้การส่งออกที่เพิ่มขึ้น
* การเสริมฐานรายได้ของประเทศ ทั้งในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว การส่งออก และการสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยและต่างชาติในปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ
* การเร่งรัดการดำเนินมาตรการด้านพลังงานทั้งในเรื่องการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก การประหยัดและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตรวมทั้งเป็นการเพิ่มมูลค่าของพืชพลังงานและรายได้ของเกษตรกร
* การบริหารเศรษฐกิจมหภาคที่สอดประสานระหว่างนโยบายการเงินและการคลัง รักษาวินัยทางการเงินและการคลัง โดยดำเนินนโยบายการคลังสมดุล และการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างสอดคล้องกับเงื่อนไขด้านเงินเฟ้อโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจต้องปรับตัวรุนแรงมากเกินไปจนเกิดเป็นภาวะชะงักงัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ภาวะที่มีแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากต้นทุนแรงงาน วัตถุดิบ และต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น
(ยังมีต่อ).../ประมาณการ..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ