(ต่อ1)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม และแนวโน้มปี 2551 - 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 1, 2008 16:00 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่สามปี 2551 ด้านต่าง ๆ เป็นดังนี้

  • การใช้จ่ายครัวเรือน: ขยายตัวได้เท่ากับครึ่งแรกของปีในไตรมาสที่สามของปี 2551 การใช้จ่ายครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เท่ากับครึ่งแรกของปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนการใช้จ่ายครัวเรือน ได้แก่ รายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.0 ตามปริมาณและราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2551 เป็นต้นมา ประกอบกับมีมาตรการ “6มาตรการ 6 เดือน” ที่ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน และช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อลง ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น นอกจากนั้นในภาวะที่ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงทำให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไปสู่รูปแบบที่ช่วยประหยัดพลังงาน จึงส่งผลจูงใจให้ผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดพลังงานและรถยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้นอย่างไรก็ตามความกังวลของผู้บริโภคเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ รายได้ในอนาคต และสถานการณ์ทางการเมืองได้สะท้อนให้เห็นจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงต่อเนื่อง

รายการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าคงทน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 จากการใช้จ่ายซื้อสินค้าประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน (อาทิ เครื่องซักผ้า ตู้เย็นเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น) การใช้จ่ายซื้อสินค้ากึ่งคงทนและสินค้าบริการ ขยายตัวร้อยละ 3.4 และ 5.2 ตามลำดับ ในขณะที่การใช้จ่ายซื้อสินค้าอาหารลดลงร้อยละ 0.3 ซึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าในหมวดอาหารยังสูงขึ้นต่อเนื่อง

รวม 9 เดือนแรกของปี การใช้จ่ายภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เป็นการใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทน สินค้ากึ่งคงทน อาหารและบริการเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.2 3.5 1.0 และ 1.9 ตามลำดับ

  • การลงทุนภาคเอกชน: ชะลอตัวลงในภาวะที่ต้นทุนยังสูง ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และมีความไม่แน่นอนของสถานการณ์ภายในประเทศ ที่ได้มีผลให้ความเชื่อมั่นนักธุรกิจลดลงและเลื่อนการตัดสินใจลงทุนใหม่ออกไป การลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสที่สามขยายตัวร้อยละ 3.5 ชะลอตัวลงต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 และ 4.3 ในใตรมาสแรกและไตรมาสที่สองตามลำดับ ทั้งนี้แม้ว่าแรงกดดันทางด้านต้นทุนน้ำมันได้ผ่อนคลายลงอันเนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา แต่นับว่าต้นทุนยังสูงกว่าแนวโน้มปกติ ประกอบกับภาวะทางการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอนและมีแนวโน้มยืดเยื้อ รวมทั้งปัญหาวิกฤติการเงินในสหรัฐฯที่มีความรุนแรงมากขึ้นและลุกลามไปยังประเทศญี่ปุ่นและประเทศในยุโรป ทำ ให้ผู้ประกอบการมีความกังวลว่าเศรษฐกิจภายในประเทศจะได้รับผลกระทบทั้งจากปัญหาภายในประเทศเองและจากการชะลอลงของเศรษฐกิจโลกไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะเห็นได้ว่า รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสะท้อนว่าภาคธุรกิจจะชะลอการลงทุนต่อไปอีกระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสนี้ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่ติดลบ มาตรการสนับสนุนการลงทุนวิสาหกิจชุมชนและSMEs และมาตรการด้านภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุน และมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน(ข)

ในองค์ประกอบของการลงทุนนั้นการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ขยายตัวร้อยละ 5.4 โดยมีการนำเข้าสินค้าทุน(ณ ราคาปี 2543) เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนประเภทเครื่องจักรกลไฟฟ้า เครื่องจักรกลอุตสาหกรรม และอุปกรณ์ทำจากโลหะ ยังคงเพิ่มขึ้น การจำหน่ายเครื่องจักรภายในประเทศ (ณ ราคาปี 2543)ในช่วงเดือนกรกฎาคม — สิงหาคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 สำหรับการซื้อรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ลดลงร้อยละ 25.9

สำหรับการลงทุนก่อสร้างลดลงร้อยละ 1.9 จากที่ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 0.9 ในช่วงครึ่งแรกของปี จากการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ และที่อยู่อาศัยชะลอตัวลง โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 และ 3.1 ตามลำดับ เทียบกับเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 และ 6.4 ตามลำดับ ในไตรมาสที่สอง ประกอบกับก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้างประเภทอื่น ๆ ลดลงมากร้อยละ 14.4 และ 17.8 ตามลำดับ

รวม 9 เดือนแรกของปี 2551 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.8 โดยการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 แต่การลงทุนก่อสร้างลดลงร้อยละ 0.1 จำแนกเป็นการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ที่อยู่อาศัย และโรงงานอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 1.4 และ 0.8 ตามลำดับ ส่วนการก่อสร้างประเภทอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 7.8

  • การส่งออก: มูลค่าการส่งออกยังขยายตัวสูงแต่มีสัญญาณการชะลอลงในปริมาณการส่งออก ในไตรมาสที่สามของปี 2551 การส่งออกยังขยายตัวได้ดีทั้งด้านปริมาณและราคา จึงมีผลให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวสูงร้อยละ 25.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากด้านความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ยังเพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรยังเพิ่มขึ้นสูง และการส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศตลาดใหม่ และเอเชียที่เป็นผลจากการสั่งซื้อล่วงหน้าในช่วงปลายไตรมาสสอง ในไตรมาสสามราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 และปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 เมื่อคิดในรูปเงินบาท มูลค่าส่งออกในไตรมาสที่สามขยายตัวร้อยละ 24.8

หมายเหตุ (ข)

มาตรการวันที่ 4 มีนาคม 2551 โดยมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน และ SMEs ประกอบด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แก่ห้างหุ้นส่วนที่มิใช่นิติบุคคลตาม พรบ. ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน และมีเงินได้ไม่เกิน 1,200,000 บาทต่อปี ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคล สำหรับกำไรสุทธิในส่วน 150,000 แรก (เดิมต้องเสีย 15%)แก่บริษัทหรือห้าง นิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท(SME ที่เข้าเกณฑ์ประหยัดรายจ่าย รายละ 22,500 บาท) และมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุน/เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ การให้บริษัทหรือห้างนิติบุคคลสามารถหักค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรได้มากขึ้น การยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้ที่จ่ายเพื่อติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน การที่บริษัทหรือห้างนิติบุคคลสามารถหักค่าเสื่อมราคา Software ได้ภายใน 3 รอบระยะเวลาบัญชีการลดภาษีธุรกิจเฉพาะจากร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 0.1 สำหรับกิจการขายอสังหาริมทรัพย์ และการลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการโอนและการจดทะเบียนจำนอง อสังหาริมทรัพย์จากร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 0.01

การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ

 การส่งออก                --------2550-------       ----------- 2551 ------------
(%YOY)                   ทั้งปี      Q3      Q4      Q1        Q2       Q3       9M
ข้าว           มูลค่า      34.2    16.9    59.4   108.1     156.0     134.2    134.5
              ราคา       9.5     7.3     4.2    13.6      90.9      88.4     64.1
              ปริมาณ     22.7     7.7    53.1    82.7      35.3      23.4     44.7
ยางพารา       มูลค่า       4.5    -6.4    17.8    33.6      30.5      47.1     37.6
              ราคา       7.1    -7.2    27.0    33.8      26.9      43.8     34.7
              ปริมาณ     -3.0     0.6    -7.4     0.0       2.9       2.4      1.7
มันสำปะหลัง     มูลค่า      23.1    -1.1    13.0    13.5      20.0      23.3     18.3
              ราคา      24.5    40.5    55.4    58.9      61.9      39.3     51.8
              ปริมาณ      3.8   -29.7   -27.2   -29.3     -25.5     -11.8    -24.3
ข้าวโพด        มูลค่า      48.6   296.4    -9.7   229.6      -6.6     201.4    150.9
              ราคา      -7.0   -41.4    37.9    15.0     186.3      27.2     85.3
              ปริมาณ     22.7   395.3   -34.4   181.1     -43.5     136.6    107.4

ที่มา: กระทรวงพาณิชย์

  • อย่างไรก็ตาม เริ่มมีสัญญาณการส่งออกที่ชะลอตัวชัดเจนมากขึ้น เห็นได้จากปริมาณส่งออกชะลอลงมากในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงร้อยละ 2.6 ชะลอตัวลงมากเมื่อเทียบกับที่ปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 14.1 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี
  • สินค้าเกษตร: ราคาส่งออกยังเพิ่มขึ้นมากมีผลให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นสูง ในไตรมาสที่สามมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 66.1 โดยราคาเร่งตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 56.8 จากราคาสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญที่ยังเพิ่มขึ้นสูง ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง และยางพารา แต่ปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรโดยรวมชะลอตัวลง โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 ชะลอตัวลงต่อเนื่องจากครึ่งแรกของปี ทั้งนี้ปริมาณส่งออกมันสำปะหลังลดลงในภาวะที่ปริมาณการผลิตภายในประเทศลดลง สำหรับปริมาณการส่งออกข้าวและยางพาราชะลอตัวลง โดยความต้องการยางพาราจากจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ชะลอลงเนื่องจากอุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ภายในประเทศชะลอตัวลงมากและมีการระบายสต็อกออกสู่ตลาด
  • สินค้าอุตสาหกรรม: มูลค่าการส่งออกยังขยายตัวได้ดี โดยราคาส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 10.7 และปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไตรมาสที่สามเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.7 สินค้าอุตสาหกรรมที่ยังคงมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ สำหรับสินค้าที่ชะลอตัวลง ได้แก่ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบอัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับสินค้าส่งออกที่ลดลง ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนการส่งออกสูง แต่อย่างไรก็ตามการส่งออกในไตรมาสสามเป็นผลของการสั่งซื้อในช่วงก่อนหน้าซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ได้เข้าสู่ช่วงวิกฤตและผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงยังไม่ชัดเจน

ตลาดส่งออกที่สำคัญ

(%YOY)         ---------- 2550 ---------          ---------  2551  ----------
               ทั้งปี      H1     Q3     Q4           Q1     Q2      Q3     สัดส่วน
ตลาดหลัก       10.9    12.2    2.4    17.3        12.2    20.7    20.1    50.4
สหรัฐอเมริกา    -1.3    -0.1   -9.3     5.2         7.2     6.2    12.0    11.2
   ญี่ปุ่น         9.7    12.9    1.9    11.9         6.3    19.8    23.6    11.1
   EU (15)     15.5   23.0   10.4     7.6        11.7     8.3     9.9    10.9
   อาเซียน (5)  19.6   14.7    8.5    41.3        21.8    42.9    31.7    17.1
อื่นๆ            25.6    7.1   22.2    30.8        31.7    30.6    30.9    49.6
   ฮ่องกง       19.7   12.2   23.6    39.3        46.3    34.0     9.4    5.4
   ไต้หวัน       -1.5   13.8  -22.4    -5.4       -26.7   -13.3    -4.2    1.4
   เกาหลีใต้     11.1   16.7    5.1    12.1        13.9    12.2    60.4    2.4
   ตะวันออกกลาง 29.0   25.6   31.7    32.2        23.9    31.3    46.5    5.9
   อินเดีย       47.1   62.7   56.7    17.0        24.4    31.6    24.8    2.0
   จีน          26.4   27.4   25.8    25.4        34.2    21.5    13.9    9.2
ที่มา: กระทรวงพาณิชย์
  • สินค้าอิเล็กทรอนิกส์: ชะลอตัวชัดเจนขึ้น มูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่สามเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.5 ชะลอตัวลงต่อเนื่องจากร้อยละ 5.6 และ7.4 ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความต้องการนำเข้าเพื่อกิจกรรมโอลิมปิกของจีนได้ผ่านพ้นไป และภาวะการค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ชะลอตัวลงตั้งแต่ไตรมาสที่สองปีที่แล้วและต่อเนื่องถึงปีนี้ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยชะลอตัวลงมาก ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มหลายรายการลดลง ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า วงจรพิมพ์ ตลับลูกปืน เป็นต้น สำหรับการส่งออกคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบซึ่งเป็นสินค้าส่งออกรายการหลักในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (สัดส่วนร้อยละ 10.3 ของการส่งออกรวม) ชะลอตัวลงมาก โดยเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ6.8 เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 และ 18.2 ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา
  • ตลาดส่งออก: ตลาดหลักยังคงมีการขยายตัว และตลาดอื่น ๆ ยังขยายตัวดี ในไตรมาสสาม การส่งออกไปยังตลาดหลักกลับมาขยายตัวได้ดี โดยที่มูลค่าการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น และตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 และ 12.0 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการขยายตัวจากฐานการส่งออกที่ต่ำกว่าแนวโน้มปกติในช่วงไตรมาสสามปีที่แล้ว (low base effect) ทั้งนี้สินค้าหลายรายการที่กลับมาขยายตัวดีในตลาดสหรัฐฯ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋อง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ เหล็กและเหล็กกล้า เป็นต้น และสินค้าที่กลับมาขยายตัวดีในตลาดญี่ปุ่น ได้แก่ ยางพารา ไก่แปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ รถยนต์และอุปกรณ์ประกอบ เป็นต้น สำหรับตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.7 และตลาดสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 สำหรับการส่งออกไปตลาดอื่น ๆ ยังคงขยายตัวได้ดีอาทิ อินเดีย และตะวันออกกลาง เป็นต้น ในขณะที่การส่งออกไปจีนและฮ่องกงเริ่มชะลอตัวลง อันเนื่องมาจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนและเป็นการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยางพารารวม 9 เดือนแรกของปี มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.0 ราคาและปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 และ 11.0 ตามลำดับ เมื่อคิดเป็นเงินบาทมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 และราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 ทั้งนี้มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 58.9 และ 22.6 ตามลำดับ
(ยังมีต่อ).../การนำเข้า..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ