(ต่อ2)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม และแนวโน้มปี 2551 - 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 3, 2008 14:19 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

  • การนำเข้า: เร่งตัวขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ในไตรมาสที่สามของปี 2551 มูลค่าการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.1 เร่งตัวขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 29.3 ในไตรมาสที่สอง โดยการนำเข้าเร่งตัวขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปซึ่งเป็นการนำเข้าเพิ่มขึ้นตามการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี ประกอบกับมีการคาดการณ์ว่าค่าเงินบาทจะอ่อนลงและมีผลให้ราคานำเข้าสูง การนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในเดือนกรกฎาคมเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ปริมาณนำเข้าสินค้ารวมเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 19.8 เร่งตัวขึ้นมากจากที่ขยายตัวร้อยละ 9.9 ในไตรมาสที่สองที่ผ่านมาขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.0 ชะลอตัวลงเนื่องจากราคาน้ำมันที่ชะลอตัวลงมากในเดือนสิงหาคม-กันยายนเป็นสำคัญ และเมื่อคิดในรูปเงินบาท มูลค่านำเข้าขยายตัวร้อยละ 38.3 ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าการขยายตัวสูงของการนำเข้าในปี 2551 เป็นการนำเข้าเพิ่มขึ้นภายหลังจากที่ชะลอการนำเข้าในปี 2550 ที่ผ่านมา
  • สินค้าทุน: ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ในไตรมาสสามมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.1 เร่งตัวขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 17.3 ในไตรมาสที่สอง โดยสินค้าที่นำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องจักรกลและชิ้นส่วนที่ใช้ในภาคเกษตร และยานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง อย่างไรก็ตามการนำเข้าสินค้าทุนในช่วงไตรมาสนี้มีความผันผวนค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นผลจากฐานการนำเข้าที่ผันผวนมากในปี 2550 ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกมีความผันผวนและสถานการณ์ภายในประเทศมีความไม่แน่นอน ภาคธุรกิจจึงรอดูสถานการณ์และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ทั้งนี้ปริมาณการนำเข้าในไตรมาสที่สามขยายตัวร้อยละ 15.9 และราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5
  • สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป: มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 37.4 เร่งตัวขึ้นมากจากที่ขยายตัวร้อยละ 27.9 ในไตรมาสที่สอง โดยที่มูลค่าการนำเข้าเหล็กและทองคำเพิ่มขึ้นมาก จากราคาเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผู้นำเข้าคาดการณ์ว่าราคาจะสูงขึ้นอีก จึงนำเข้าเหล็กเพื่อสะสมสต็อก สำหรับการนำเข้าทองคำเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากราคาทองคำที่เริ่มอ่อนตัวลง ทำให้มีความต้องการซื้อทองคำเพื่อลงทุนและเก็งกำไรเป็นจำนวนมาก ในไตรมาสสามปริมาณการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัวร้อยละ 21.8 และราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8
  • สินค้าเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น: มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 60.0 เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสที่สองที่ขยายตัวร้อยละ 51.2 (จากราคาที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.5 และปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8) สำหรับในไตรมาสสามนี้ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบลดลงร้อยละ 10.2 แต่ราคาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 78.6
  • สินค้าอุปโภคบริโภค: มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 33.1 ทั้งนี้เนื่องจากค่าเงินบาทโดยเฉลี่ยที่แข็งค่าขึ้นกว่าในปีที่แล้ว ยังจูงใจให้ผู้บริโภคในกลุ่มที่มีอำนาจซื้อสูงจับจ่ายใช้สอยต่อเนื่อง โดยสินค้าที่นำเข้าเพิ่มขึ้นมากได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน นาฬิกาและส่วนประกอบนมและผลิตภัณฑ์นม เครื่องประดับอัญมณี เลนซ์แว่นตาและส่วนประกอบ ทั้งนี้ปริมาณขยายตัวร้อยละ 29.7 แลราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6

รวม 9 เดือนแรกของปี มูลค่าการนำ เข้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.5 จากปริมาณที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.5 และราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.4 เมื่อคิดในรูปเงินบาทมูลค่านำเข้าขยายตัวร้อยละ 27.4 และราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สินค้าเชื้อเพลิง และสินค้าอุปโภคบริโภค เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.3 30.6 59.4 และ 34.2 ตามลำดับ

  • อัตราการค้าปรับตัวดีขึ้นจากราคาส่งออกที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉลี่ยร้อยละ 15.0 ในขณะที่ราคานำเข้าเริ่มชะลอตัวลงโดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.0 จากเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 ทำให้อัตราการการค้าในไตรมาสที่สามเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยลดลงเพียงร้อยละ 0.8 จากที่ลดลงร้อยละ 4.9และลดลงร้อยละ 4.4 ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองที่ผ่านมา
  • ดุลการค้าขาดดุล ในไตรมาสที่สาม ดุลการค้าขาดดุล 1,296 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 43,465 ล้านบาท)หลังจากที่เกินดุล 425 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสสองและขาดดุล 109 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสแรก รวม 9 เดือนแรกของปีดุลการค้าอยู่ในฐานะขาดดุล 979 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือเท่ากับ 31,757 ล้านบาท
  • ดุลบัญชีเดินสะพัด : ขาดดุลมากขึ้นในไตรมาสสามในไตรมาสสามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนสุทธิขาดดุล 1,166 ล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นผลจากการส่งกลับผลตอบแทนจากการลงทุน และเงินปันผลของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้น ประกอบกับรายได้จากการท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลงมากตามฤดูกาล (นอกฤดูกาลท่องเที่ยว)ประกอบกับผลกระทบจากภาวะราคาน้ำมันสูงและความไม่สงบในประเทศ เมื่อรวมกับดุลการค้าที่ขาดดุล จึงทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2,461 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือเท่ากับ 83,189 ล้านบาท) ขาดดุลมากขึ้นจากที่ขาดดุลจำนวน 1,016 ล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสสอง และรวม 9 เดือนแรกของปี 2551 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 788 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือเท่ากับ 27,040 ล้านบาท

ด้านการผลิต

  • สาขาเกษตรกรรม ขยายตัวร้อยละ 9.9 ดีขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 และ 8.6 ในไตรมาสแรกและสองที่ผ่านมา การที่ภาคเกษตรยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นผลมาจากแรงจูงใจทางด้านราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นสูงในช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าในเดือนกันยายนที่ผ่านมาหลายพื้นที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วม แต่ไม่ได้สร้างความเสียหายแก่ผลผลิตเกษตรมากนัก จะเห็นได้จากปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญยังเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง ได้แก่ ข้าวมันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ส่วนราคาสินค้าเกษตรหลักๆ เช่น ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมันและมันสำปะหลัง เพิ่มขึ้นร้อยละ 84.4 46.3 8.1 และ 3.8 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 62.9 เร่งตัวขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 49.4 ในไตรมาสที่ผ่านมา โดยปริมาณการส่งออกข้าวไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.4 ในไตรมาสที่ 3 การที่ระดับราคาสินค้าเกษตรโดยรวมเพิ่มขึ้นและปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นทำให้รายได้ของเกษตรในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 57.0 เมื่อรวม 9 เดือนแรกของปีรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.4 และมูลค่าเพิ่มสาขาเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 6.9 ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.5
  • สาขาอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 6.1 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 9.5 และ 7.7 ในไตรมาสแรกและสองตามลำดับ ตามภาวะการผลิตอุตสาหกรรมเพื่อตลาดภายในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากบรรยากาศทางการเมืองในประเทศ และความล่าช้าของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ทำให้การผลิตเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้าง รถยนต์นั่ง และสุราชะลอตัว ขณะที่การผลิตเส้นใยประดิษฐ์ และซิเมนต์ลดลง ส่วนอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกที่ชะลอตัว ได้แก่ หัวอ่านข้อมูล อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ในขณะเดียวกันการผลิตเครื่องเรือนไม้และผลิตภัณฑ์เครื่องหนังในไตรมาสนี้หดตัวมาก เนื่องจากตลาดสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดหลักประสบปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพในภาคอสังหาริมทรัพย์ (Sub-prime loan) ทำให้อุปสงค์ในสินค้ากลุ่มนี้ลดลง การใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ร้อยละ 69.6 เทียบกับร้อยละ 75.6 และ 71.1 ในไตรมาสแรกและสอง ตามลำดับ และในช่วง 9 เดือนแรกของปี สาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 7.8
  • สาขาก่อสร้าง หดตัวร้อยละ 4.5 หดตัวต่อเนื่อง 2 ไตรมาส ทำให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีสาขาก่อสร้างหดตัวร้อยละ 2.5 สาเหตุการหดตัวสาขาก่อสร้างเป็นผลมาจากการหดตัวการก่อสร้างของภาคเอกชน โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 14.4 ขณะที่การก่อสร้างที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ชะลอตัว ในขณะเดียวกันก่อสร้างภาครัฐทั้ง รัฐบาลกลางรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการเบิกจ่ายงบลงทุนลดลงด้วยเช่นกัน ประกอบกับราคาวัสดุก่อสร้างยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.7
  • ธุรกิจตลาดอสังหาริมทรัพย์ ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัว และกำลังซื้อของผู้บริโภคประกอบกับมีการเลื่อนระยะเวลาการซื้อออกไป อย่างไรก็ตามผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยหันมาซื้อบ้านขนาดเล็กลง พบว่ามีการขยายตัวในตลาดบ้านระดับกลาง ราคา 3 - 5 ล้านบาท ทาวน์เฮาส์ระดับราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ในเขตชานเมืองกรุงเทพมหานครส่วนอุปสงค์ของคอนโดมิเนียมในเมืองยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้านอกจากนั้น ในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ มีการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมีเนียมมือสองมากกว่าคอนโดมีเนียมใหม่ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมีคนซื้อเก็งกำไรนำออกมาขายมากขึ้น ส่วนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยนั้น ทางธนาคารเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคมากขึ้น โดยมีผลต่อการเข้าหาแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายย่อย ซึ่งเป็นผลโดยตรงต่อการชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสนี้
  • สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 9.2 และ 5.9 ในไตรมาส 1 และ 2 ตามลำดับ เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทยในไตรมาสนี้หดตัวร้อยละ 1.7 ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 3 ปี โดยเฉพาะในเดือนกันยายน 2551 ลดลงถึงร้อยละ 16.5 เป็นผลมาจากสถานการณ์ทางด้านการเมืองภายในประเทศที่ยังยืดเยื้อ และทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีการปิดสนามบินการประกาศใช้พระราชกำหนดฉุกเฉินในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำให้อัตราการเข้าพักในไตรมาสนี้อยู่ในระดับร้อยละ 53.7 ลดลงจากร้อยละ 57.7 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว รวมถึงค่าเดินทางที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ประกอบกับที่ค่าที่พักเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27.7 จึงส่งผลต่อรายจ่ายและความมั่นใจของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ
  • สาขาการเงิน ไตรมาสที่ 3 ปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 9.1 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากสินเชื่อขยายตัวได้ดี คุณภาพสินทรัพย์โดยเฉลี่ยดีขึ้นจากการที่สัดส่วน NPL ลดลง สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 13.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 11 ในไตรมาสที่ 2 ปี 2551 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 โดยเฉพาะสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจขยายตัวร้อยละ 12.3 ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่สูงขึ้นส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก

ประสิทธิภาพการใช้น้ำมันโดยรวมดีขึ้นและโครงสร้างการใช้พลังงานมีความสมดุลและยืดหยุ่นมากขึ้น

  • สัดส่วนการใช้น้ำมันต่อ GDP มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าประสิทธิภาพการใช้น้ำมันโดยรวมปรับตัวดีขึ้น โดยไตรมาสที่สามของปี 2551 สัดส่วนการใช้น้ำมันต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 0.8566 ลดลงจากร้อยละ 0.9280 ในไตรมาสที่สอง และนับว่าลดลงมากเมื่อเทียบกับร้อยละ 0.9416 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว

การใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม

(%YoY)                                       2551
                      Q1              Q2              Q3              9 M
น้ำมันเบนซิน           -1.92           -5.22           -7.27           -4.82
  ออกเทน (91+95)   -26.42           -32.01           -40.14           -32.68
  แก๊สโซฮอล์         111.95           94.07           91.27           97.87
น้ำมันดีเซล            -0.37           -3.99           -14.40           -6.06
  หมุนเร็ว+หมุนช้า     -10.23           -20.44           -33.92           -21.12
  หมุนเร็ว บี5        787.29           645.00           498.98           599.92
ก๊าซแอลพีจี            17.59           20.82           27.13           22.04
NGV                190.52           220.18           268.89           232.30
ที่มา : กระทรวงพลังงาน

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี สัดส่วนการใช้น้ำมันต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 0.9017 ลดลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 0.9628 ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว การที่ผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคไปสู่พลังงานทางเลือกที่มีราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซินและดีเซลธรรมดา ส่งผลให้ต้นทุนการ ใช้น้ำมันต่อ GDP ลดลง ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงประสิทธิภาพการใช้น้ำมันที่ปรับตัวดีขึ้นในอีกด้านหนึ่งด้วย

  • สถานการณ์การใช้น้ำมันสำเร็จรูปภายในประเทศ: ปริมาณการใช้พลังงานทางเลือกยังคงเพิ่มในอัตราสูง ในไตรมาสที่สามของปี 2551 ปริมาณการใช้แก๊สโซฮอล์เฉลี่ยประมาณ 9.6 ล้านลิตรต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 91.27 (คิดเป็นร้อยละ 44 ของปริมาณการใช้เบนซินทั้งหมด) ขณะที่ปริมาณการใช้ไบโอดีเซล (บี 5) เฉลี่ย 10.8 ล้านลิตรต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 499 นอกจากนี้ปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้นร้อยละ
27.13 การที่ผู้บริโภคหันมาใช้พลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้นส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันเบนซิน 95 91 และดีเซลหมุนเร็ว ลดลงร้อยละ 81.0 30.5 และ 35.7 ตามลำดับ

นอกจากนี้ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นทำสถิติสูงสุด รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการ “6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน” โดยส่งเสริมให้มีการใช้แก๊สโซฮอล์ ด้วยการการลดภาษีสรรพาสามิตที่จัดเก็บจากแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 ลง 3.30 บาทต่อลิตรจัดเก็บจากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 5 ลง 2.30 บาทต่อลิตร และ 2.10 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ส่งผลให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือกเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามหลังจากสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวในเดือนมกราคม 2552 รัฐบาลยังคงต้องให้ความสำ คัญในการดูแลโครงสร้างการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่างๆ ให้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดรวม 9 เดือนแรกของปี ปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุน เร็วและหมุนช้า และน้ำมันเบนซิน (91 และ 95) ลดลงร้อยละ 21.1 และ 32.7 ตามลำดับ ขณะที่การใช้ไบโอดีเซล (บี 5) แก๊สโซฮอล์ ก๊าซแอพีจีและก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 599.9 97.9 22.0 และ 232.3 ตามลำดับ

(ยังมีต่อ).../เสถียรภาพเศรษฐกิจ..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ