ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม และแนวโน้มปี 2551 - 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 1, 2008 15:36 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสามปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 4.0 ชะลอลงต่อเนื่องจากร้อยละ 6.0 ในไตรมาสแรกและร้อยละ 5.3 ในไตรมาสสอง จากอุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออกชะลอลง รวมสามไตรมาสเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 5.1 ซึ่งนับว่าภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดีและจะช่วยรองรับแรงกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซาในระยะต่อไป
  • ภาพรวมเศรษฐกิจยังมีเสถียรภาพโดยที่แรงกดดันเงินเฟ้อลดลงตามภาวะราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง แต่ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล ในไตรมาสสามอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 7.3 โดยที่เงินเฟ้อรายเดือนลดลงจากร้อยละ 9.2 ในเดือนกรกฎาคมเป็นร้อยละ 6.4 และ 6.0 ในเดือนสิงหาคมและกันยายน และในเดือนตุลาคมเงินเฟ้อลดลงเป็นร้อยละ 3.9 แต่ทั้งดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล ซึ่งเป็นผลจากที่การส่งออกชะลอตัวแต่การนำเข้ายังเร่งตัวขึ้น และรายได้จากการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบในประเทศและปัญหาเศรษฐกิจโลก ประกอบกับไตรมาสสามอยู่นอกฤดูกาลท่องเที่ยว สำหรับอัตราการว่างงานเฉลี่ยยังต่ำเท่ากับร้อยละ 1.2
  • อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวสูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงในช่วงปลายไตรมาสมีผลให้อัตราดอกเบี้ยแท้จริงเพิ่มขึ้นแม้จะยังเป็นอัตราที่เป็นลบ สินเชื่อเร่งตัวมากขึ้น ในขณะที่เงินฝากยังลดลงต่อเนื่อง ทำให้สภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินเริ่มมีสัญญาณตึงตัว ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงต่อเนื่องตั้งแต่กลางเดือนเมษายน ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยลดลงมากและมีความผันผวนเป็นช่วง ๆ ตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในภาวะที่ผลกระทบจากปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพได้นำไปสู่วิกฤตทางการเงินที่แผ่เป็นวงกว้างมากขึ้น
  • ฐานะการคลังขาดดุลงบประมาณแต่เกินดุลเงินสดต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้วของปีงบประมาณ 2551 โดยที่มีรายได้นำส่งคลังเพิ่มขึ้นมากแต่รายจ่ายเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 มีจำนวน 3.41 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับยอดหนี้คงค้าง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551
  • คาดว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มชะลอตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 เนื่องจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากจะมีผลให้การส่งออกชะลอลงชัดเจน รวมทั้งปี 2551 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.5 เทียบกับร้อยละ 4.8 ในปี 2550 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 5.6 อัตราการว่างงานเฉลี่ยทรงตัวที่ร้อยละ 1.4 และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ สรอ.เทียบกับที่เกินดุล 14,049 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2550
  • ในปี 2552 คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจการเงินโลกชะลอตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น และทำให้การส่งออกชะลอตัวมาก ในขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศยังขยายตัวต่ำ จึงคาดว่าโดยรวมเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.0-4.0 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 2.5-3.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 1.2 ของ GDP
  • การบริหารเศรษฐกิจในปี 2552 เน้นการกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศนำ โดยใช้งบประมาณรายจ่ายรัฐบาลและการดำเนินโครงการภาครัฐ และดำเนินมาตรการเพื่อดูแลผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ การดูแลแรงงานผู้ถูกเลิกจ้างงาน ให้มีสวัสดิการรองรับที่เหมาะสมและได้รับการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะและจัดหางานใหม่ การดูแลสาขาการผลิตและบริการที่อาจได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น การท่องเที่ยว การส่งออกอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น และวางกลไกช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งเผชิญราคาผลผลิตลดลงให้สามารถวางแผนการผลิตและได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม รวมทั้งการดูแลด้านสภาพคล่องให้มีเพียงพอ
1. ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาสที่สาม

1.1 เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม ปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 4.0 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 6.0 และ 5.3 ในไตรมาสที่ 1 และ 2 ตามลำดับ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลก ราคาวัตถุดิบ การลงทุนหดตัวในขณะที่การส่งออกสุทธิลดลงจากปริมาณการนำ เข้าที่เร่งตัวขึ้น รวม 9 เดือนแรกของปีเศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 5.1

ประเด็นหลัก

(1) สถานการณ์ในไตรมาสสาม ด้านการใช้จ่ายของครัวเรือนขยายตัวได้ต่อเนื่อง เท่ากับครึ่งแรกของปี 2551 แต่การใช้จ่ายลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงมากมูลค่าการส่งออกยังขยายตัวสูงแต่มีสัญญาณชะลอตัวลงในปริมาณการส่งออก ส่วนด้านการผลิตชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัดเจน ทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ อย่างไรก็ตามภาคเกษตรกรรมยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

  • ในไตรมาสสามปริมาณการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 ชะลอจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัวร้อยละ 9.8 ในขณะที่รายรับบริการชะลอตัวลงจากการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว ปัจจัยที่ทำให้มูลค่าการส่งออกยังขยายตัวได้ดี คือ อุปสงค์ในสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญยังเพิ่มขึ้นสูง (ข้าว มันสำปะหลัง และยางพารา) ในขณะที่ปริมาณและราคาส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.5 เร่งตัวขึ้นจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6 ในไตรมาสสอง

กลุ่มสินค้าที่มูลค่าการส่งออกยังขยายตัวสูงในไตรมาสสาม ประกอบด้วย สินค้าเกษตร เช่น ข้าว (เพิ่มขึ้นร้อยละ 129.3) ยางพารา (เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.4) มันสำปะหลัง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.6) สินค้าประมง เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 จากที่หดตัวร้อยละ 1.4 ในไตรมาสที่สองเป็นการเพิ่มขึ้นของการส่งออกกุ้งสดและแช่แข็ง( เพิ่ม ขึ้นร้อยละ 10.3) ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.4 เร่งตัวขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 13.0 ในไตรมาสที่ผ่านมา เป็นการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า (เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 จากที่หดตัวร้อยละ 0.4 ในไตรมาสสอง) อาหารกระป๋อง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.8 เร่งตัวขึ้นจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.1 ในไตรมาสที่สอง) ผลิตภัณฑ์ยาง(เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.4 เร่งตัวขึ้นจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ14.8 ในไตรมาสที่สอง) ยานพาหนะและชิ้นส่วน(เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.3 เร่งตัวขึ้นจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 ในไตรมาสที่สอง) ขณะเดียวกันมูลค่าการส่งออกที่มีสัญญาณการหดตัวต่อเนื่อง คือ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน(หดตัวร้อยละ 5.0 จากที่หดตัวร้อยละ 12.8 ในไตรมาสที่สอง)

การส่งออก ไปยังตลาดหลักมีการขยายตัวได้ดี ในไตรมาสที่สามการส่งออกไปยังตลาดหลัก ทั้งสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 และ 23.6 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการขยายตัวจากฐานการส่งออกที่ต่ำกว่าแนวโน้มปกติในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตลาดอาเซียน (5) และสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.7 และ9.9 ตามลำดับ การส่งออกไปตลาดอื่นๆ ที่ยังขยายตัวได้ดี คือ เกาหลีใต้ อินเดีย และตะวันออกกลาง ในขณะที่การส่งออกไปจีน และฮ่องกงเริ่มชะลอตัวลง เนื่องจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน

สัดส่วนการส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่าง ๆ

             2538     2540      2545      2549      2550                2551
                                                               Q1        Q2        Q3
สหรัฐฯ        17.8     19.4      19.8      15.0      12.6      11.7      11.0      11.2
ญี่ปุ่น          16.8     15.1      14.6      12.6      11.8      11.3      11.4      11.1
EU 15        15.1     15.9      15.0      13.0      12.8      12.8      11.6      10.9
อาเซียน (9)   21.7     21.8      19.9      20.8      21.4      21.6      24.8      22.7
ตะวันออกกลาง   4.5      3.3       3.6       4.4       4.9       4.8       5.1       5.9
ออสเตรเลีย     1.4      1.6       2.4       3.4       3.8       4.0       4.0       4.7
จีน            2.9      3.0       5.2       9.0       9.7       9.9       9.3       9.2
อินเดีย         0.5      0.5       0.6       1.4       1.8       1.7       1.9       2.0
ฮ่องกง         5.2      5.9       5.4       5.5       5.6       6.1       5.6       5.4
เกาหลีใต้       1.4      1.8       2.1       2.1       1.9       1.9       1.7       2.4
ไต้หวัน         2.4      2.7       2.9       2.6       2.2       1.7       1.6       1.4
อาฟริกาใต้      0.4      0.4       0.5       0.8       0.9       0.9       1.0       1.0
อื่น ๆ          9.9      8.3       8.0       9.3      10.4      11.6      11.0      11.9
รวม         100.0    100.0     100.0     100.0     100.0     100.0     100.0     100.0
ที่มา ธปท.
  • การผลิตภาคเกษตร ขยายตัวร้อยละ 9.9 เร่งตัวขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 และ 8.6 ในไตรมาสแรกและสองที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นซึ่งเกิดจากแรงจูงใจที่ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มสูงในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้จากปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง ได้แก่ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และมันสำปะหลัง การที่ระดับราคาสินค้าเกษตรและปริมาณผลผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ของเกษตรในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.0 เมื่อรวม 9 เดือนแรกของปีรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.4 และมูลค่าเพิ่มสาขาเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 6.9
  • สาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 6.1 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 9.5 และ 7.7 ในไตรมาสแรกและสองตามลำดับ เป็นการชะลอตัวลงของทั้งอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้ภายในประเทศ และการผลิตเพื่อการส่งออกที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพในภาคอสังหาริมทรัพย์ (Sub-prime loan) ในสหรัฐฯ ทำให้อุปสงค์ในสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น หัวอ่านข้อมูล อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชะลอตัว ในขณะที่การผลิตเครื่องเรือนไม้และผลิตภัณฑ์เครื่องหนังในไตรมาสนี้หดตัวมาก
  • จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัวร้อยละ 1.7 ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 3 ปี โดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงถึงร้อยละ 16.5 เป็นผลมาจากสถานการณ์ทางด้านการเมืองภายในประเทศที่ยังยืดเยื้อ และทวีความรุนแรงขึ้น มีการปิดสนามบิน การประกาศการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ส่งผลทำให้ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวลดลง เห็นได้จากอัตราการเข้าพักในไตรมาสนี้อยู่ในระดับร้อยละ 53.7 ลดลงจากร้อยละ 57.7 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว การที่จำนวนนักท่องเที่ยวหดตัวได้ส่งผลให้สาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาคมนาคมขนส่ง ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 และ 1.5 ตามลำดับ ซึ่งชะลอลงจากไตรมาสสอง ที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 และ 3.6 ตามลำดับ
  • สาขาการเงิน ขยายตัวร้อยละ 9.1 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากสินเชื่อขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจ ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่สูงขึ้น ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก
(2) สถานการณ์ที่ยังต้องระมัดระวัง: อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัวลง
  • ในไตรมาสสาม การใช้จ่ายครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 2.6 ปรับตัวเล็กน้อยจากที่ขยายตัว 2.5 ในไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลมาจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรหลักๆ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และมาตรการ “6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน”(ก) ของรัฐบาล มีส่วนในการบรรเทาแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อ ส่งผลให้ผู้บริโภคมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายในไตรมาสนี้ยังกระจุกตัวในกลุ่มสินค้าคงทน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 จากการใช้จ่ายซื้อสินค้าหมวดยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เป็นต้น ส่วนการใช้จ่ายในสินค้ากึ่งคงทน และบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 และ 5.2 ตามลำดับ ในขณะที่การใช้จ่ายซื้ออาหารลดลงร้อยละ 0.3
  • การลงทุนภาคเอกชนชะลอลงอย่างต่อเนื่อง โดยขยายตัวร้อยละ 3.5 จากที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 และ 4.3 ในไตรมาสแรกและไตรมาสสองของปี ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การลงทุนชะลอตัว คือ ต้นทุนการก่อสร้างที่สูงขึ้น การชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศบรรยากาศการเมืองภายในประเทศไม่เอื้อต่อการลงทุนภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจลดลงและมีการเลื่อนการตัดสินใจในการลงทุนใหม่เมื่อรวม 9 เดือนแรกของปีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.8
  • การใช้จ่ายภาครัฐบาล ณ ราคาที่แท้จริง ลดลงร้อยละ 2.9 และการลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 5.5 การเบิกจ่ายรัฐบาลภาพรวมเพิ่มขึ้น โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของงบรายจ่ายประจำ ในขณะที่งบรายจ่ายเพื่อการลงทุนลดลง กรอปกับระดับราคาที่สูงขึ้นทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ณ ราคาที่แท้จริงลดลงโดยที่การลงทุนในการก่อสร้างของภาครัฐหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน เนื่องจากผลกระทบด้านราคาค่าก่อสร้างที่สูงขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงที่จัดเตรียมงบประมาณตามภาวะต้นทุนราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.6 ในไตรมาสสาม ต่อเนื่องจากที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.6 ในไตรมาสสอง ในไตรมาสสามนี้การลงทุนก่อสร้างของภาครัฐทั้งส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลดลงร้อยละ 7.3

การเบิกจ่ายภาครัฐในไตรมาสที่ 4 ปีงบประมาณ 2551 มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 397,706 ล้านบาท เมื่อรวมทั้งปีงบประมาณ 2551 (ตุลาคม 2550 — กันยายน 2551) มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 1,532,446 ล้านบาท อัตราเบิกจ่ายเท่ากับร้อยละ 92.3 ของกรอบวงเงินงบประมาณ 1,660,000 ล้านบาท (ต่ำกว่าเป้าหมายเบิกจ่ายร้อยละ 94) โดยเป็นการเบิกจ่ายงบประจำ 348,267 ล้านบาทและงบลงทุน 49,440 ล้านบาท การเบิกจ่ายเหลื่อมปี 14,829.3 ล้านบาท รวมทั้งการลงทุนรัฐวิสาหกิจซึ่งรวมการลงทุนของ ปตท. ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนปีนี้มีการเบิกจ่าย 70,974.3 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากการเบิกจ่าย 50,071.0 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน)

  • การสะสมสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น การที่สะสมสต็อกสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 3 ไตรมาสติดต่อ ซึ่งแตกต่างไปจากแนวโน้มปกติ เนื่องจากในไตรมาสที่สามเป็นช่วงที่มีการระบายสต็อกสินค้าออกไป เป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก ทำให้อุปสงค์ในสินค้าลดลง กลุ่มสินค้าที่สะสมสต็อกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม สิ่งทอเฟอร์นิเจอร์ เครื่องรับโทรทัศน์ แสดงให้เห็นว่าภาคการผลิตมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องในช่วงต่อไป

หมายเหตุ (ก)

มาตรการ “6 มาตรการ 6 เดือน” ประกอบด้วย

1) การลดอัตราภาษีสรรพสามิตแก๊สโซฮอล์ 91, 95 , E10, E20 และ E85 ลงลิตรละ 3.30 บาท เหลือลิตรละ 0.0165 บาท จากปัจจุบันที่จัดเก็บลิตรละ 3.3165 บาทต่อลิตร ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลบี 2 ลงลิตรละ 2.30 บาท เหลือลิตรละ 0.005 บาท และลดภาษีสรรพสามิตไบโอดีเซล บี 5 ลงลิตรละ 2.19 บาท เหลือลิตรละ 0.0048 บาท โดยให้มีผลบังคับใช้ได้ในวันที่ 25 ก.ค. 51 เป็นต้นไป

2) ชะลอการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน (LPG) ไปอีก 6 เดือน

3) งดเก็บค่าน้ำประปาครัวเรือนที่ใช้ต่ำกว่า 50 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน ครอบคลุมผู้ใช้น้ำทั้งประเทศ

4) งดเก็บค่าไฟ สำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 80 หน่วยต่อเดือน โดยภาครัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ส่วนครอบครัวที่ใช้ไฟฟ้าเกินกว่า 80 หน่วยต่อเดือน แต่ไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ภาครัฐจะรับภาระค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่งของค่าไฟฟ้าทั้งหมด

5) จัดรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ที่เป็นรถโดยสารธรรมดา เพื่อให้บริการในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

6) ใช้บริการโดยรถไฟชั้น 3 ไม่ปรับอากาศ ฟรีทั่วประเทศ

(3) ภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาสสาม ปี 2551 ยังมีเสถียรภาพ แรงกดดันเงินเฟ้อได้เริ่มลดลง แต่เริ่มมีสัญญาณความเสี่ยงจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
  • ในไตรมาสที่สาม อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.2 การจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8
  • แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อเริ่มลดลงตั้งแต่เดือนสิงหาคม ในไตรมาสที่สามเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 7.3 ชะลอเล็กน้อยจากร้อยละ 7.5 ในไตรมาสที่สอง โดยเงินเฟ้อได้ปรับตัวลงมากในเดือนสิงหาคม และกันยายนอยู่ที่ร้อยละ 6.4 และ 6.0 ตามลำดับ จากที่สูงถึงร้อยละ 9.2 ในเดือนกรกฎาคม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการ “6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน” ส่งผลให้เงินเฟ้อในหมวดไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปา ลดลงถึงร้อยละ 26.1 ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงตามราคาน้ำมันตลาดโลก ทำให้เงินเฟ้อหมวดพาหนะ การขนส่ง สื่อสาร ชะลอลง แต่เงินเฟ้อในหมวดอาหารยังสูงขึ้นต่อเนื่อง เฉลี่ย 10 เดือนแรกของปีเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 6.3 และเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 2.4
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้นในไตรมาสสาม ดุลการค้าขาดดุล 1,296 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากที่เกินดุล 425 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสสอง และขาดดุล 109 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสแรก รวม 9 เดือนแรกของปี ดุลการค้าขาดดุล 979 ล้านดอลลาร์สรอ. หรือเท่ากับ 31,757 ล้านบาท สำหรับดุลบริการรายได้ และเงินโอนสุทธิขาดดุล 1,166 ล้านดอลลาร์สรอ. เนื่องจากเป็นการส่งกลับของผลตอบแทนจากการลงทุน และเงินปันผลของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นประกอบกับรายได้จากการท่องเที่ยวที่ชะลอลงมากทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2,461 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือ 83,189 ล้านบาท ซึ่งขาดดุลมากขึ้นจากไตรมาสที่สองที่ขาดดุล 1,016 ล้านดอลลาร์ สรอ. การที่ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าและบริการของไทย ดังนั้นดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลจึงเป็นปัจจัยที่ต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านต่างประเทศด้วย นอกจากนั้นการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำ ให้ค่าเงินบาทอยู่ในทิศทางที่อ่อนค่าลง โดยในไตรมาสที่สาม ค่าเงินบาทเท่ากับ 33.84 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับ 32.28 และ 32.38 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสที่ 2 และ 1 ตามลำดับ ล่าสุด ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน ค่าเงินบาทเท่ากับ 35.07 บาทต่อดอลลาร์สรอ.
  • สินค้าเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น: มูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 60.0 เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสที่สองที่ขยายตัวร้อยละ 51.2 (จากราคาที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.5 และปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8) สำหรับในไตรมาสสามนี้ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบลดลงร้อยละ 10.2 แต่ราคาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 78.6
(ยังมีต่อ).../ภาวะเศรษฐกิจใน..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ