(ต่อ3)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม และแนวโน้มปี 2551 - 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 3, 2008 14:53 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

เสถียรภาพเศรษฐกิจ: อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงแต่แรงกดดันต่อเงินเฟ้อได้เริ่มลดลงตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา และอัตราการว่างงานต่ำ แต่เริ่มมีสัญญาณความเสี่ยงจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

เสถียรภาพด้านในประเทศ

  • อัตราเงินเฟ้อ: แรงกดดันเงินเฟ้อเริ่มลดลงตั้งแต่เดือนสิงหาคม ในไตรมาสที่สามเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 7.3 ชะลอตัวเล็กน้อยจากร้อยละ 7.5 ในไตรมาสที่สองที่ผ่านมา โดยเงินเฟ้อได้ปรับตัวลงมากในเดือนสิงหาคม และกันยายนเป็นร้อยละ 6.4 และ 6.0 ตามลำดับ จากที่สูงถึงร้อยละ 9.2 ในเดือนกรกฎาคมซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการ “6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน” ของรัฐบาล ในการงดเก็บค่าน้ำ ค่าไฟตามอัตราที่กำหนด ทำให้ราคาในหมวดไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปา และแสงสว่างในไตรมาสนี้ลดลงมากถึงร้อยละ 26.1 นอกจากนี้การลด

อัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ส่งผลให้เงินเฟ้อในหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารในไตรมาสนี้ชะลอลงเป็นเท่ากับร้อยละ 11.5 อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อหมวดอาหารในไตรมาสที่สามยังสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 13.9 จากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าประเภทน้ำมันและไขมัน ข้าว แป้ง เนื้อสัตว์สด ไข่ และเครื่องปรุงอาหารเป็นต้น และในช่วง 10 เดือนแรกของปีเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 6.3(ค) เงินเฟ้อพื้นฐานเริ่มลดลงในเดือนสิงหาคมเช่นเดียวกัน แต่โดยเฉลี่ยทั้งไตรมาสสามเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 สูงกว่าในช่วงสองไตรมาสแรก สะท้อนถึงราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง ได้แก่ สินค้าประเภทอาหารสำเร็จรูป วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้เบ็ดเตล็ดในบ้าน ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลค่าใช้จ่ายระดับอุดมศึกษา เป็นต้น และในช่วง 10 เดือนแรกของปีเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 2.4

หมายเหตุ

(ค) อัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคมเท่ากับร้อยละ 3.9 ซึ่งเป็นแรงกดดันด้านราคาที่ลดลงมาก

ตารางภาวะการณ์จ้างงาน

 ภาวะการจ้างงาน       ----------- 2550 ------------     -----2551-------
 (อัตราเพิ่ม %)        เฉลี่ย     Q1    Q2    Q3     Q4     Q1     Q2     Q3
 การจ้างงาน           1.6    1.8   0.7    2.1    1.7    1.6   3.1    1.9
 ภาคเกษตร            1.0    2.8  -0.5    1.2    0.6    0.4   3.6    3.7
 ภาคนอกเกษตร         2.0    1.2   1.5    2.9    2.5    2.3   2.8    0.6
 อุตสาหกรรม           2.1    0.2   1.3    5.4    1.7    0.4  -2.2   -6.5
 การก่อสร้างโรงแรงและ -0.1    1.6   1.5   -4.9    1.0    0.5   2.0    3.7
 ภัตตาคาร             3.0    4.3   2.0    4.0    1.8    1.2   2.5    2.1
 อัตราการว่างงาน       1.4    1.6   1.6    1.2    1.1    1.7   1.4    1.2
ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ
  • การจ้างงานเฉลี่ยในไตรมาสที่ 3 เฉลี่ย 37.84 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำแนกเป็นการจ้างงานในภาคเกษตร 16.07 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 และผู้มีงานทำนอกภาคเกษตร 21.77 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาก่อสร้าง สาขาการค้า และสาขาโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 1.9 และ 2.1 ตามลำดับ ส่วนสาขาอุตสาหกรรมลดลงถึงร้อยละ 6.5 ตามภาวะการชะลอตัวของการผลิต เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ในระดับร้อยละ 1.2 ณ สิ้นไตรมาส 3 มีสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม 381,608 แห่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 และมีผู้ประกันตน 8.89 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว วิกฤตการเงินโลกและบรรยากาศทางการเมืองในประเทศที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน ทำให้โอกาสในการหางานทำยากขึ้น สังเกตจากสัดส่วนตำแหน่งงานว่างต่อจำนวนผู้สมัครงานใหม่อยู่ในระดับ 0.71 เท่า ลดลงจากระดับ 0.82 และ 0.79 เท่า ณ สิ้นเดือนมีนาคมและมิถุนายน2551 ตามลำดับ
  • เสถียรภาพด้านต่างประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายนเท่ากับ 102.421 พันล้านดอลลาร์ สรอ.(ง) (และมี Net Forward Position อีก 13.390 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งคิดเป็นประมาณ 3.8 — 4.2 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้นและเท่ากับการนำเข้าประมาณ 6.7 เดือน เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงต่อเนื่องในไตรมาสนี้จากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกของนักลงทุนต่างชาติเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดจากปัญหา sub-prime ที่ลุกลามและมีความรุนแรง ประกอบกับใช้เงินทุนสำรองเพื่อแทรกแซงไม่ให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเร็วเกินไปและลดความผันผวนของค่าเงินที่เกิดจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกอย่างรวดเร็ว ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2,461 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือเท่ากับ 83,189 ล้านบาท) ขาดดุลมากขึ้นจากที่ขาดดุล จำนวน 1,016 ล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสสอง และในภาวะที่การส่งออกชะลอตัวลงจากผลกระทบเศรษฐกิจโลกชะลอตัวที่คาดว่าจะรุนแรง การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจึงเป็นประเด็นด้านเสถียรภาพที่ควรระมัดระวังและมีการบริหารจัดการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป อัตราแลกเปลี่ยน ในไตรมาสสามอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเท่ากับ 33.84 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเฉลี่ย 32.28 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสสอง และ 32.38 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสแรก โดยที่ในไตรมาสสามนั้นค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 33.26 - 34.69 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.(จ)
  • ฐานะการคลังเกินดุลเงินสดต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้วของปีงบประมาณ 2551 ในไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 2551 (ก.ค.-ก.ย.51) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง 408,563 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อนร้อยละ 9.1 โดยมีรายได้หลักจากภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมและรายได้นำส่งจากรัฐวิสาหกิจ ในส่วนของรายจ่ายมีการเบิกจ่ายงบประมาณ 413,322 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อนร้อยละ 1.6 ส่งผลให้ขาดดุลงบประมาณ 4,759 ล้านบาท เทียบกับขาดดุล 45,578 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อน และเมื่อรวมดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 31,818 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลเกินดุลเงินสดก่อนกู้ 27,059 ล้านบาท เช่นเดียวกับเกินดุล 31,015 ล้านบาท ในไตรมาสเดียวกันของปีงบประมาณก่อน และมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 13,109 ล้านบาท ส่งผลให้เกินดุลเงินสดหลังกู้ 40,167 ล้านบาท ภาพรวมของปีงบประมาณ 2551 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 1,549,605 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 7.3 โดยภาษีหลักที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่มอากรขาเข้า และรายได้นำส่งจากรัฐวิสาหกิจ สำหรับด้านรายจ่าย รัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 1,633,404 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 3.7 เป็นผลให้ขาดดุลงบประมาณ 83,799 ล้านบาทขาดดุลลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 35.7 และเมื่อรวมดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 5,053 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลมีดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล 78,746 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 50.4 ทั้งนี้รัฐบาลได้ชดเชยการขาดดุลด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาลและตั๋วสัญญาใช้เงินรวมจำนวน 165,000 ล้านบาท เต็มวงเงินการชดเชยการขาดดุลที่ตั้งไว้

หมายเหตุ

(ง) ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2551 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเท่ากับ 100.804 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และ Net Forward Position ลดลง ต่อเนื่องเป็น 8.970 พันล้านดอลลาร์)

(จ) ล่าสุด ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเท่ากับ 35.07 ดอลลาร์ สรอ.

  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 มีจำนวน 3.41 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับยอดหนี้คงค้าง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของหนี้ต่างประเทศที่ภาครัฐกู้โดยตรง และหนี้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างเมื่อเทียบกับ GDP อยู่ที่ร้อยละ 36.22 ของ GDP เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับร้อยละ 35.88 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551

ภาวะการเงิน: อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.75 จากความกังวลด้านเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินเพิ่มขึ้นจากสภาพคล่องทางการเงินที่ตึงตัวขึ้นในภาวะที่เงินทุนดำเนินการสูงขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและสินเชื่อภาคครัวเรือนยังคงขยายตัวตามความต้องการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและการเช่าซื้อรถยนต์ ในขณะที่เงินฝากลดลงต่อเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำและมีการปรับเปลี่ยนไปสู่ตั๋วแลกเงินและตราสารหนี้มากขึ้น ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ตลาดหลักทรัพย์ลดลงทั้งราคาและปริมาณซื้อขายและมีความผันผวนสูง โดยที่นักลงทุนต่างชาติย้ายการลงทุนจากตลาดหลักทรัพย์มาที่ตลาดตราสารหนี้มากขึ้น

  • อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นไตรมาสสามอยู่ที่ร้อยละ 3.75 ต่อปีปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.25 ณ สิ้นไตรมาสสอง เนื่องจากเป็นช่วงที่มีความกังวลเรื่องภาวะเงินเฟ้อสำหรับตลาดการเงินในต่างประเทศนั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 2 ส่วนธนาคารกลางในประเทศยุโรปได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ร้อยละ 4.25 ต่อปี ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี ส่วนฅธนาคารจีนลดดอกเบี้ยครั้งแรกหลังจากดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวมาตั้งแต่ปี 2545 โดยปรับลดมาอยู่ที่ร้อยละ 7.2 แต่จากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะส่งผลกระทบทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มชะลอตัว ประกอบกับการอ่อนค่าลงของราคาพลังงานโลกและมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ ส่งผลต่อแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต
  • อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ทรงตัว และอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนมีผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเพิ่มขึ้นในช่วงปลายไตรมาส โดยที่ ณ สิ้นไตรมาสสามของปี 2551 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน และ 12 เดือน เฉลี่ยของ 5 ธนาคารใหญ่ ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.50 และ 2.88 ตามลำ ดับ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ชั้นดีแบบมีระยะเวลา (MLR) ทรงตัวที่ร้อยละ 7.38 แต่อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนที่แท้จริงเป็นอัตราติดลบร้อยละ 3.13 จากอัตราที่ติดลบร้อยละ 6.03 ณ สิ้นไตรมาสสองและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แท้จริงเท่ากับร้อยละ 1.4 เพิ่มขึ้นจากอัตราที่ติดลบที่ร้อยละ 1.5 ณ สิ้นไตรมาสสอง
  • เงินฝากธนาคารพาณิชย์ยังคงลดลง สิ้นไตรมาสสามเงินฝากหดตัวร้อยละ 0.2 ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 1.0 ในไตรมาสสอง โดยปริมาณเงินฝากประเภทออมทรัพย์ลดลง และเป็นการลดลงของบัญชีเงินฝากขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าของบัญชีเกินกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการปรับตัวก่อนที่จะมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองเงินฝากในเดือนสิงหาคมประกอบกับผลตอบแทนการฝากเงินลดลงจึงทำ ให้แรงจูงใจในการฝากเงินลดลงและปรับเปลี่ยนเป็นการออมในรูปของตั๋วแลกเงิน (B/E) และตราสารหนี้ระยะสั้นเพิ่มขึ้น
  • สินเชื่อยังคงขยายตัวต่อเนื่องทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อครัวเรือน สินเชื่อธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3 ณ สิ้นไตรมาสสาม เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากที่มีการขยายตัวร้อยละ 12.1 ณ สิ้นไตรมาสสอง และในภาพรวมของสถาบันรับฝากเงินทั้งหมดสินเชื่อยังคงขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น จากร้อยละ 8.6 ณ สิ้นไตรมาสสอง เป็นร้อยละ 10.4 ซึ่งเป็นการขยายตัวของสินเชื่อภาคธุรกิจ ร้อยละ 13.2 และสินเชื่อภาคครัวเรือนร้อยละ 8.7 เมื่อพิจารณารายสาขาธุรกิจ พบว่าสินเชื่ออุตสาหกรรมการผลิต ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องร้อยละ 12.3 จากร้อยละ 7.4 ของไตรมาสสอง ส่วนสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ และสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลทรงตัวจากไตรมาสสอง จากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่สินเชื่อที่ให้กับภาคธนาคารและสถาบันการเงินและสินเชื่อเพื่ออสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัว ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเงินของสหรัฐ ที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนในขณะที่สินเชื่อเพื่อการก่อสร้างยังคงหดตัวต่อเนื่องปริมาณการใช้จ่ายบัตรเครดิตลดลงเล็กน้อย จากความกังวลต่อระดับรายได้ในอนาคตจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง แต่การเบิกเงินสดล่วงหน้าเพิ่มขึ้นและยอดคงค้างบัตรเครดิตขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.4 จากความสามารถในการชำระหนี้ลดลง
  • สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ลดลง สินเชื่อที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในขณะที่เงินฝากลดลง ทำให้สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากปรับตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 103.2 สะท้อนถึงแนวโน้มภาวะการเงินตึงตัว อย่างไรก็ตามในปัจจุบันสภาพคล่องส่วนเกินของระบบธนาคารพาณิชย์ที่พร้อมนำไปใช้มีมูลค่าประมาณ 924.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่คาดว่าสถาบันการเงินจะเพิ่มความระมัดระวัง ในการขยายสินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากการบริหารความเสี่ยงสินเชื่อและการดูแลคุณภาพสินทรัพย์มีความยากลำบากมากขึ้น
  • สัดส่วน NPLs ต่อยอดคงค้างสินเชื่อในระบบลดลงเล็กน้อย NPLs ในระบบสถาบันการเงินที่ไม่รวมสำนักงานวิเทศธนกิจและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ณ สิ้นไตรมาสสามปี 2551 มีมูลค่ารวม 229.98 พันล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 3.59 ของสินเชื่อรวม สัดส่วนลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 3.77 ในไตรมาสที่สอง
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ค่าเงินบาทในไตรมาสที่สามมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 33.84 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงร้อยละ 4.83 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่โดยเฉลี่ยยังแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.49 เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2550 ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นไตรมาสและลดลงมาแตะระดับต่ำสุดที่ 34.73 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในช่วงกลางเดือนกันยายน ทั้งนี้เป็นเพราะการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากตลาดหลักทรัพย์ของไทยเพื่อชดเชยความเสียหายจากวิกฤติด้านสินเชื่อในตลาดสหรัฐฯ ที่มีความรุนแรงขึ้น ประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนอกจากนี้การคาดการณ์ว่าค่าเงินบาทและเงินในภูมิภาคมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อไปจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนกลับของนักลงทุนต่างชาติในภาวะที่มีการชดเชยความเสียหายและมีความจำเป็นในการระดมสภาพคล่องในตลาดสหรัฐฯ และยุโรป รวมทั้งเป็นการปรับกลยุทธ์การลงทุนที่ต้องลดความเสี่ยงจากการเก็งกำไรลง ส่งผลให้ความต้องการเงินดอลลาร์ สรอ. ของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มสูงขึ้น ค่าเงินบาทในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน (จนถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551) อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 34.38 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. และ 34.95 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.

เมื่อพิจารณาค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินสกุลต่าง ๆ พบว่าค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักและสกุลเงินในภูมิภาค ยกเว้นค่าเงินเปโซ และค่าเงินรูปีทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (Nominal Effective Exchange Rate) และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (Real Effective Exchange Rate) เฉลี่ยในไตรมาสที่สามอ่อนค่าลงร้อยละ 2.69 และ 3.81 ตามลำดับ

  • ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์และมูลค่าการซื้อขายลดลงอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันเท่ากับ 12.2 พันล้านบาท ลดลงจาก 20.0 พันล้านบาทในไตรมาสสอง ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปิด ณ สิ้นไตรมาสอยู่ที่ 596.54 จุด ลดลงจาก 768.59 จุด ณ สิ้นไตรมาสสอง หรือลดลงร้อยละ 22.39 นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิ 74.78 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 107.3 จากไตรมาสก่อนหน้า ตลอดทั้งไตรมาสที่สาม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงต้นไตรมาสดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ก่อนที่จะปรับตัวลงอย่างรุนแรง ในช่วงเดือนกันยายน จากการที่นักลงทุนต่างชาติเทขายหลักทรัพย์และส่งเงินทุนกลับเพื่อรองรับจากผลกระทบความเสียหายของวิกฤติสินเชื่อที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวลงน้อยกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาค และล่าสุดในเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ในภาวะที่ผันผวนมากขึ้นแต่มีทิศทางปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีที่ 387.43 จุด ในช่วงต้นเดือนตุลาคม ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากมาตรการแก้ไขวิกฤติทางการเงินของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐฯ ที่เริ่มทยอยออกมาในช่วงเดือนตุลาคมโดยรวมในช่วง 9 เดือน มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเท่ากับ 16.68 พันล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิรวม142.17 พันล้านบาท
  • มูลค่าซื้อขายตราสารหนี้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน แต่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาด(Outright) ในไตรมาสที่สามอยู่ที่ 74.9 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นจาก 44.6 พันล้านบาท ในไตรมาสที่สาม ปี 2550 แต่ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสสอง ปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ 78.2 พันล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิที่ 8.78 พันล้านบาท ลดลงจาก 26.5 พันล้านบาท ในไตรมาสสอง หรือลดลงกว่าร้อยละ 66.86 ซึ่งเป็นผลจากปัญหาวิกฤติภาคการเงิน ดัชนีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นและอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Yield) ปรับตัวลดลง 32 — 154 bps ในทุกช่วงอายุยกเว้นตราสารระยะสั้นอายุ 1 เดือน — 6 เดือน ในเดือนตุลาคมมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงจากเดือนกันยายนร้อยละ 9.77 มาอยู่ที่ 63.87 พันล้านบาท โดยที่นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิ 28 ล้านบาท

ปริมาณเงินทุนเคลื่อนย้าย และปริมาณการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ

(พันล้านบาท )ณ วันสิ้นงวด                         2549     ----------2550---------     -------- 2551 ----------
                                              ทั้งปี     Q1     Q2     Q3     Q4     Q1     Q2      Q3     ต.ต.
เงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิ                              5.7    -2.7    0.7   0.4   -1.4    13.0   -2.0     na     na
มูลค่าการซื้อขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ  55.0    30.6   66.9  -2.2  -40.3   -13.9  -36.1  -74.8   -15.6
มูลค่าการซื้อขายตราสารหนี้สุทธิของนักลงทุนต่างชาติ       35.5   -34.2  -18.7   8.0    4.6    29.1   26.5    8.8   -0.03
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย


(ยังมีต่อ).../การระดมทุนของ..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ