(ต่อ4)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม และแนวโน้มปี 2551 - 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 3, 2008 15:44 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

  • การระดมทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน แต่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา (ไม่นับรวมตราสารระยะสั้น) ในไตรมาสที่สาม การระดมทุนของภาคเอกชนมีมูลค่ารวม 28.64 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 15.4 พันล้านบาท ในไตรมาสที่สาม ปี 2550 แต่ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับไตรมาสที่สอง ปี 2551 ซึ่งมีมูลค่ารวมที่ 56.3 พันล้านบาท โดยการออกหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมด 1.19 พันล้านบาท มาจากภาคธุรกิจนอกภาคการเงิน ทั้งนี้การทำธุรกรรมตราสารทุนตลอดไตรมาสสามเป็นการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ทั้งหมด โดยรวมในช่วง 9 เดือน มีการระดมทุนรวม 186.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 107.6 พันล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนลดลงมาก บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีกำไรสุทธิรวม 78.4 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 22.5 จากงวดเดียวกันของปี 2550 เนื่องจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลงและต้นทุนขายเพิ่มสูงขึ้น โดยรวมบริษัทจดทะเบียนมีผลกำไรสุทธิลดลง ยกเว้นกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ที่มีกำ ไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 58.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่ผลกำไรของกลุ่มบริการด้านขนส่งและโลจิสติกส์มีการปรับตัวลงมากถึงกว่าร้อยละ 346.8 เนื่องจากต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าและค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น ด้านผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ลดลงเล็กน้อยแต่นับว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดีโดยมีกำ ไรสุทธิรวม 2.4 หมื่นล้านบาท ลดลง 2.3 พันล้านบาท จากไตรมาสก่อน เนื่องจากมีการกันสำรองและมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้น แต่เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของระบบธนาคารพาณิชย์ สูงขึ้นเป็นร้อยละ 15.7 จากร้อยละ 15.2 ในไตรมาสก่อน โดยมาจากผลกำไรและการเพิ่มทุนของธนาคาร แต่ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้การกันสำรองจากความเสียหายที่เกิดจากสินทรัพย์ต่างประเทศที่มีคุณภาพต่ำและผลกระทบจากปัญหา sub-prime จะมีการรับรู้เพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ

ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมัน

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ในไตรมาสที่สามของปี 2551 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และ WTI) อยู่ที่ 115.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 58.7 จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว แต่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 82.4 ในไตรมาสที่สองที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวของราคามีความผันผวนมาก โดยราคาน้ำมันได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากครึ่งแรกของปี ซึ่งเป็นผลมาจากการสะสมสต็อกน้ำมันของประเทศจีนสำหรับใช้ในช่วงโอลิมปิก และความต้องการของประเทศเอเชียอื่น ๆ นอกกลุ่ม OECD ประกอบกับกำลังการผลิตส่วนเกินที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ราคาน้ำ มันดิบตลาดโลกสูงสุดเป็นประวัติการณ์โดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคม 2551 ราคาน้ำมันเฉลี่ย(ดูไบ เบรนท์ โอมาน และ WTI) อยู่ที่ 133.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล การที่ภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอจากผลกระทบของวิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริกาและขยายวงกว้างสู่ภูมิภาคอื่นๆ ประกอบกับกิจกรรมกีฬาโอลิมปิกในประเทศจีนได้สิ้นสุดลง ทำให้อุปสงค์น้ำมันดิบลดลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวลงนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา โดยราคาน้ำมันดิบเดือนสิงหาคมเฉลี่ย 114.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในและลดลงต่อเนื่องเป็น 98.7 และ 71.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในเดือนกันยายน และตุลาคม ตามลำดับ และยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง(จ)

ราคาน้ำมันดิบ (US$/Barrel)

                             OMAN    DUBAI    BRENT      WTI    เฉลี่ย
          2550    ทั้งปี       68.75    68.83    72.60    72.64    70.70
          2551     Q1       92.34    91.50    96.72    98.03    94.65

Q2 117.75 117.02 112.21 124.02 120.25

Q3 114.16 113.32 116.24 117.85 115.39

9 เดือน 108.08 107.28 111.72 113.30 110.10

                  ต.ค.      67.92    67.45    72.91    76.66    71.24

10 เดือน 104.07 103.30 107.84 109.63 106.21

               1-19 พ.ย.    52.57    52.42    55.90    59.83    55.15

ที่มา: รอยเตอร์

หมายเหตุ

(จ) โดย ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเฉลี่ยเท่ากับ 49.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ (บาท/ลิตร)

                  ULG95   UGR91    --------Gasohol--------     HSD    HSD B5
                                   95E10    95E20    91E10
2550   ทั้งปี        29.18   28.32    26.17      -      25.62    25.66    24.95
2551   Q1         33.39   32.22    29.38    27.47    28.57    29.78    29.04
       Q2         38.43   37.26    34.12    32.22    33.29    36.35    35.47
       Q3         39.72   37.87    31.37    30.05    30.56    36.21    35.52
       9 เดือน     37.18   35.78    31.62    29.92    30.81    34.12    33.34
       ต.ค.       34.90   31.90    25.39    24.25    24.59    26.22    25.45
       10 เดือน    36.95   35.40    31.00    29.35    30.18    33.33    32.55
       1-21 พ.ย.  30.24   26.61    21.53    20.23    20.73    22.64    21.57

ที่มา: EPPO

สถานการณ์ราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศ : เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ในไตรมาสที่สาม ราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศเคลื่อนไหวผันผวนตามราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยขายปลีกน้ำมันเบนซิน 91 และ 95 เพิ่มขึ้นสูงสุดในเดือนกรกฎาคมเฉลี่ย 42.7 และ 40.9 บาทต่อลิตรตามลำดับ ราคาก๊าซโซฮอล์ 91 และ 95 (E10) เฉลี่ย 35.6 และ 36.4 บาทต่อลิตรตามลำดับ ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และ B5 เฉลี่ย 42.6 และ 41.9 บาทต่อลิตร ตามลำดับ อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันภายในประเทศได้ปรับตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง

ไตรมาสที่สาม ราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศ ดังนี้ น้ำมันเบนซิน 91 และ 95 เฉลี่ย 39.7 และ 37.9 บาทต่อลิตร ตามลำดับ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.8 และ 33.1 ตามลำดับ ก๊าซโซฮอล์ 91 และ 95 (E10) เฉลี่ย 30.6 และ 31.4 บาทต่อลิตร ตามลำดับ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.1 และ 21.7 ตามลำดับ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และ B5 เฉลี่ย 36.2 และ 35.5 บาทต่อลิตรตามลำดับ เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.9 และ 41.1 ตามลำดับ

  • ทั้งนี้การที่ราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศที่ลดลงต่อเนื่องในเดือนตุลาคม ทำให้ 10 เดือนแรกของปี ราคาน้ำมันเบนซิน 91 และ 95 เฉลี่ย 37.0 และ 35.4 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ราคาก๊าซโซฮอล์ 91 และ 95 (E10)เฉลี่ย 30.2 และ 31.0 บาทต่อลิตรตามลำดับ ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และ B5 เฉลี่ย 33.3 และ 32.6 บาทต่อลิตรตามลำดับ

1.2 ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่สามปี 2551

  • ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพในตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐอเมริกาได้ลุกลามเป็นวิกฤตของระบบธนาคารและระบบการเงินโลกที่ขยายขอบเขตครอบคลุมกลุ่มประเทศยูโรโซน ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ราคาหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวลดลง สภาพคล่องในตลาดเงินและตลาดทุนในประเทศสำคัญ ๆ เข้าสู่ภาวะตึงตัวอย่างรุนแรงและในที่สุดได้ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในตลาดเงิน ตลาดทุนและภาคเศรษฐกิจจริงของประเทศต่าง ๆ อย่างเป็นวงกว้าง
  • เมื่อรวมกับผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีแรก ปัญหาระบบการเงินโลกได้ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ชะลอตัวลงมากข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศสำคัญ ๆ ได้แก่สหรัฐอเมริกากลุ่มประเทศยูโรโซน สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่ภาวะการณ์ถดถอยทางเทคนิค (Technical recession)(ฉ) ในขณะที่ประเทศในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ และประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ เช่น จีน อินเดีย และรัสเซีย ส่งสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ อย่างชัดเจนขึ้น
  • ประเทศที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากวิกฤติการณ์ภาคการธนาคาร ทำให้ธนาคารกลางได้อัดฉีดเม็ดเงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง และเข้าควบคุมกิจการสถาบันการเงิน รวมถึงการดำเนินมาตรการอื่นๆ เพื่อกอบกู้สถาบันการเงิน เพื่อป้องกันการลุกลามของวิกฤติการณ์ในภาคการธนาคาร และเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับภาคเศรษฐกิจจริง อย่างไรก็ตามปัญหายังคงลุกลามต่อเนื่องจนถึงต้นไตรมาสที่ 4 สภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจตึงตัวมากขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี
  • การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกทำให้ราคาสินค้าสำคัญ ๆ และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลง ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร่งรีบ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูความเชื่อมั่นในตลาดการเงิน โดยในเดือนตุลาคม ธนาคารกลางสหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และนอร์เวย์ ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 1.0 กลุ่มประเทศยูโร สวิสเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.5 ญี่ปุ่นประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.2 และแคนาดาประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.75 และล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน ธนาคารกลางกลุ่มประเทศยูโรและสหราชอาณาจักรปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.50 และ 1.50 ตามลำดับ ในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ แคนาดา และนิวซีแลนด์ มีแนวโน้มที่จะลดอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 0.25 และ 0.50 ตามลำดับ ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่ดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น

หมายเหตุ

(ฉ) Technical recession หมายถึงการลดลงของ GDP จากไตรมาสก่อนหน้าติดต่อกัน 2 ไตรมาส

  • โดยภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 4 มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวมากขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยูโรโซน ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ที่มีแนวโน้มที่จะหดตัวมากขึ้น ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของประเทศพัฒนาแล้วมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกสูงในเอเชีย การชะลอตัวของภาวะการค้าโลกดังกล่าวเมื่อรวมกับการปรับตัวของตลาดเงินโลกและภาวะความตกต่ำของตลาดหลักทรัพย์ เริ่มส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจที่มีฐานะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและหนี้สินต่างประเทศสูงอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาวิกฤติการณ์ดุลการชำระเงินและเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่ในยุโรปตะวันออก
  • คาดว่าเศรษฐกิจโลกทั้งปี 2551 จะขยายตัวร้อยละ 3.7 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 5.0 ในปี 2550 โดยการชะลอตัวของประเทศสหรัฐอเมริกากลุ่มประเทศยูโรโซนสหราชอาณาจักร และญี่ปุ่นซึ่งคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.3 1.2 0.8 และ 0.5 ตามลำดับ เทียบกับขยายตัวร้อยละ 2.0 3.0 3.1 และ 2.1 ตามลำดับ ในปี 2550 ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และฮ่องกง คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2551 ร้อยละ 3.8 2.3 3.8 และ 4.1 ตามลำดับ เทียบกับขยายตัวร้อยละ 5.7 7.7 5.0 และ 6.3 ตามลำดับ ในปี 2550 ในขณะที่กลุ่มประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ จีน อินเดีย และรัสเซีย คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงจากร้อยละ 11.9 9.2 และ 9.5 ตามลำดับ ในปี 2550 เป็นร้อย ละ 9.7 7.8 และ 6.8 ตามลำดับ ในปี 2551 โดยมีความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจสำคัญ ๆ สรุปได้ดังนี้
  • สหรัฐอเมริกา ในไตรมาสที่ 3 ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพได้ขยายตัวลุกลามขึ้นเป็นปัญหาวิกฤติการณ์การเงิน ส่งผลให้สถาบันการเงินประสบปัญหาทางด้านสภาพคล่องและส่งผลต่อความมั่นคงของสถาบันการเงินจำนวนมาก ปัญหาดังกล่าวซ้ำเติมภาคเศรษฐกิจจริงของสหรัฐฯ ที่อยู่ในภาวะชะลอตัวในครึ่งปีแรก โดยในไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 0.3 (yoy) แต่ลดลงร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (qoq)และเป็นการเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical recession) การหดตัวของเศรษฐกิจมีสาเหตุมาจากการหดตัวของการบริโภคเอกชนร้อยละ 3.1 (qoq) โดยการบริโภคสินค้าคงทนลดลงถึงร้อยละ 14.1 (qoq) เนื่องจากความมั่งคั่งของภาคครัวเรือนลดลงจากการปรับตัวของราคาหลักทรัพย์ ราคาที่อยู่อาศัย การจ้างงานและภาวะสินเชื่อที่ตึงตัวมากขึ้น การลงทุนลดลงร้อยละ 1.9 (qoq) จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและการชะลอตัวของสินเชื่อ การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 ชะลอตัวจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 12.3 ดุลบัญชีเดินสะพัดปรับตัวดีขึ้นและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการหดตัวของเศรษฐกิจในประเทศซึ่งนำโดยภาวะซบเซาของการบริโภค ทำให้การนำเข้าปรับตัวลดลงร้อยละ 1.9 (qoq) รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีมาตรการที่สำคัญ ๆ ได้แก่การอัดฉีดสภาพคล่องและการเข้าถือหุ้นในสถาบันการเงินที่มีปัญหาความมั่นคง การร่วมมือกับธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ในการดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันการลุกลามของปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเงิน รวมทั้งการประกาศมาตรการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจมูลค่า 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงต้นไตรมาส 4 ยังไม่ปรับตัวดีขึ้น และมีแนวโน้มที่จะหดตัวมากขึ้น ล่าสุดดัชนี ISM ในเดือนตุลาคมลดลงสู่ระดับ 38.9 และยอดขายรถยนต์ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 25 ปี แสดงให้เห็นแนวโน้มการหดตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจ นอกจากนั้น ปัญหาความไม่มั่นคงของสถาบันการเงินส่งผลให้สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจตึงตัวอย่างรุนแรงเนื่องจากความไม่มั่นใจความเสี่ยงของคู่สัญญา เมื่อรวมกับการลดลงของราคาหลักทรัพย์คาดว่าจะทำให้ภาคธุรกิจประสบปัญหาในการระดมทุนมากขึ้นและเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคธุรกิจความตกต่ำของตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังไม่เข้าสู่จุดต่ำสุดยอดขายและราคาที่อยู่อาศัยยังลดลงต่อเนื่องเช่นเดียวกับการจ้างงานและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังลดลงต่อเนื่อง เมื่อรวมกับราคาหลักทรัพย์ที่ลดลงและความตึงตัวของสภาพคล่องคาดว่าจะส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวมากขึ้นในไตรมาส 4 ภายใต้แนวโน้มดังกล่าว ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในเดือนตุลาคม ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดจากร้อยละ 2.0 ในปลายไตรมาส 2 เป็นร้อยละ 1.0 ในเดือนตุลาคม โดยภาพรวมคาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 จะลดจากร้อยละ 3.8 ในไตรมาส 3 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 1.3
  • กลุ่มประเทศยูโรโซน ในไตรมาส 3 เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 0.7 (yoy) ชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.1 และ 1.4 ในไตรมาส 1 และ 2 ตามลำดับ แต่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ร้อยละ 0.2 สองไตรมาสติดต่อกัน หรือเป็นภาวะถดถอยทางเทคนิค โดยการส่งออกชะลอตัวลงเนื่องจากการถดถอยของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญและค่าเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้น เช่นเดียวกับการลงทุนที่ชะลอตัวลงเนื่องจากสถานการณ์วิกฤติทางการเงินรุนแรงขึ้น ได้ส่งผลซ้ำเติมปัญหาความตึงตัวของสภาพคล่องและเพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรงดัชนี PMI ภาคตสาหกรรมเดือนกันยายนลดลงสู่ระดับ 44.1 ต่ำสุดนับจากปลายปี 2544 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากการลดลงของอุปสงค์ในประเทศและการส่งออก ทั้งนี้ ในบรรดาประเทศสมาชิกมีเพียงกรีซและเนเธอร์แลนด์ที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยังคงเพิ่มขึ้น ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของ ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี และเยอรมนีลดลงโดยอิตาลีลดลงมากที่สุดเป็นลำดับที่ 2 นับจากมีการสำรวจ และเยอรมนีเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ 6 ปี ดัชนี PMI ภาคบริการลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับจากกลางปี 2547 ปริมาณการค้าปลีกเดือนกรกฎาคมลดลงร้อยละ 0.1 แสดงถึงการหดตัวของการบริโภคเอกชน ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนตุลาคมลดลงถึงร้อยละ 23 และอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์เนื่องจากวิกฤติการณ์ภาคการธนาคารที่รุนแรงมากขึ้นส่งผลให้การว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.5 ในเดือนสิงหาคม ในขณะที่การชะลอตัวของการส่งออกทำ ให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าที่ลดลงช่วยลดแรงกดดันทางด้านภาวะเงินเฟ้อโดยลำดับ

ภายใต้ปัญหาวิกฤติการณ์ธนาคารและแนวโน้มการถดถอยทางเศรษฐกิจ ธนาคารกลางได้อัดฉีดสภาพคล่องโดยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 4.25 ณ สิ้นไตรมาส 3 เป็นร้อยละ 3.75 ในเดือนตุลาคม และ 3.25 ในเดือนพฤศจิกายน ในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวมากขึ้นจากปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเงินที่ทวีความรุนแรงและเศรษฐกิจสหรัฐที่มีแนวโน้มหดตัวมากขึ้น ล่าสุดดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือนตุลาคมปรับลดลงสู่ระดับ 39.8 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุด นับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีดังกล่าวขึ้นในปี 2540 ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว คาดว่าเศรษฐกิจทั้งปีจะขยายตัวร้อยละ 1.2 เทียบกับขยายตัวร้อยละ 2.6 ในปี 2550

  • สหราชอาณาจักร ในไตรมาส 3 เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 0.3 (yoy) ลดลงจากไตรมาส 2 ร้อยละ 0.5 (qoq) การผลิตนอกภาคเกษตรลดลงร้อยละ 1.0 (qoq) ภาคอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งเป็นภาคการผลิตที่มีสัดส่วนสูงสุดหดตัวร้อยละ 1.0 โดยเป็นการหดตัวทุกภาคส่วนอุตสาหกรรม ภาคการก่อสร้างลดลงร้อยละ 0.8 อุตสาหกรรมเหมืองแร่ลดลงร้อยละ 0.7 การผลิตไฟฟ้าก๊าซและน้ำ ลดลงร้อยละ 1.0 ภาคบริการลดลงร้อยละ 0.4 เนื่องจากการหดตัวของภาคโรงแรมและภัตตาคาร และบริการภาคการเงิน ในด้านอุปสงค์ มีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐบาลเท่านั้นที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 (qoq) อย่างไรก็ตาม ดุลการค้าขาดดุลน้อยลง เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและรายได้ที่แท้จริงในประเทศ
  • ญี่ปุ่น ในไตรมาส 3 ปี 2551 เศรษฐกิจหดตัวร้อยละ 0.1 (yoy) นับเป็นการหดตัวทางเศรษฐกิจครั้งแรกนับจาก ไตรมาส 2 ปี 2545 เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศอ่อนตัวลงมาก โดยเฉพาะการลงทุนที่หดตัวร้อยละ 3.6 และเป็นการหดตัว 6 ไตรมาสติดต่อกัน การบริโภคภาคเอกขยายตัวในระดับต่ำร้อยละ 0.4 ชะลอตัวลงจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.5 เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ภาคการค้าต่างประเทศซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชะลอตัวลงโดยการส่งออกเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4.2 เทียบกับเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 และ 6.1 ในไตรมาสที่ 1 และ 2 ตามลำดับเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและค่าเงินเยนที่แข็งตัวต่อเนื่อง ในด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.15 สูงสุดในรอบ 10 ปี อัตราการว่างงานร้อยละ 4.1 สูงสุดในรอบ 2 ปี ดัชนีสำคัญ ๆ ส่งสัญญาณการอ่อนตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนกันยายน 2551 อัตราการปิดกิจการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 34 สูงสุดในรอบ 8 ปี ยอดขายปลีกหดตัวร้อยละ 0.3 ต่ำ สุดนับจากเดือนกรกฎาคม 2550 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 2.4 ยอดสั่งซื้อสินค้าหดตัว 3 เดือนติดต่อกัน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนตุลาคม อยู่ที่ 29.4 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แนวโน้มการหดตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยูโรคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 4 ได้รับผลกระทบรุนแรงมากขึ้น โดยคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 4 ลดลงร้อยละ 0.4 (yoy) ซึ่งจะทำให้อัตราการขยายตัวทั้งปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 เทียบกับร้อยละ 2.1 ในปี 2550
(ยังมีต่อ).../จีน ในไตรมาส 3..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ