ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่และทั้งปี 2551 และแนวโน้มปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 24, 2009 15:54 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

# เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปี 2551 หดตัวร้อยละ 4.3 ภายหลังจากมีการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.0 ใน 3 ไตรมาสแรก การหดตัวของเศรษฐกิจเป็นผลจากทั้งการส่งออกสินค้าและบริการ และความต้องการสินค้าภายในประเทศลดลงจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ปัญหาการเมืองภายในประเทศ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจลดลง รวมทั้งความล่าช้าของการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลายครั้ง

# รวมทั้งปี 2551 เศรษฐกิจขยายตัวเพียงร้อยละ 2.6 นับว่าเป็นการชะลอตัวลงมากเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.9 ในปี 2550 และเป็นแรงส่ง (economic momentum) ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ลดลงมาก แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจนับว่ายังมีเสถียรภาพ โดยที่แรงกดดันเงินเฟ้อไตรมาสที่สี่ลดลงเป็นร้อยละ 2.1 ตามภาวะราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงและเฉลี่ยทั้งปีอัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 5.5 แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดรวมทั้งปี 2551 อยู่ในฐานะขาดดุลเล็กน้อยประมาณ 178 ล้านดอลลาร์ สรอ.

# อัตราดอกเบี้ยปรับลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงเร็วกว่าจึงมีผลให้อัตราดอกเบี้ยแท้จริงกลับมาเป็นบวกและเพิ่มขึ้นและยังไม่เป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจโดยเฉพาะในช่วงของเศรษฐกิจขาลง สินเชื่อชะลอตัวและเงินฝากเร่งตัวขึ้นทำให้สภาพคล่องส่วนเกินกลับมาเพิ่มขึ้น ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงต่อเนื่องเช่นเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยลดลงมากและมีความผันผวนเป็นช่วง ๆ ตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าและออกของนักลงทุนต่างชาติในภาวะที่ผลกระทบจากปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพได้นำไปสู่วิกฤตทางการเงินที่เป็นวงกว้างมากขึ้น และตามปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลง

# ฐานะการคลังขาดดุลงบประมาณและขาดดุลเงินสดเป็นจำนวนสูงถึง 129,003 ล้านบาท และ 208,134 ล้านบาท ในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2551 เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ลดลงและต่ำกว่าเป้าหมายมากจึงไม่เพียงพอกับการเบิกจ่ายในด้านรายจ่าย หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2551 มีจำนวน 3,415,565 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 37 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.92 ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน

# ในปี 2552 คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะหดตัว โดยมีแนวโน้มที่จะหดตัวชัดเจนในช่วงครึ่งปีแรก แต่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีอันเนื่องจากปัจจัยสนับสนุน คือ (i) การผลักดันการดำเนินมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลให้มีความต่อเนื่องและเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง (ii) การเร่งรัดการเบิกจ่ายและการดำเนินโครงการภายใต้กรอบงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2552 และการเตรียมความพร้อมให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2553 ได้ทันทีในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม (iii) การเร่งดำเนินโครงการลงทุนสำคัญของภาครัฐภายใต้แผนการลงทุนระยะปานกลางและระยะยาวให้สามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในปลายปีนี้ และ (iv) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจการเงินโลกที่จะทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายปี

# คาดว่าโดยรวมเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวติดลบร้อยละ (-1.0)-(0.0) อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ(-0.5) — (0.5) อัตราการว่างงานอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5-3.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0.0-1.0 ของ GDP

# การบริหารเศรษฐกิจในปี 2552 เน้นการกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและแผนการลงทุนระยะปานกลางและระยะยาวโดยการใช้งบประมาณรายจ่ายรัฐบาลและการดำเนินโครงการภาครัฐเป็นปัจจัยนำ และดำเนินมาตรการเพื่อดูแลผลกระทบต่อภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ การดูแลแรงงานผู้ถูกเลิกจ้างงาน ให้มีสวัสดิการรองรับที่เหมาะสมและได้รับการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะและจัดหางานใหม่ การดูแลสาขาการผลิตและบริการที่อาจได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น การท่องเที่ยว การส่งออก อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น และวางกลไกช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งเผชิญราคาผลผลิตลดลงให้สามารถวางแผนการผลิตและได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม

1. ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาสที่สี่ และทั้งปี 2551

1.1 เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ปี 2551 หดตัวร้อยละ 4.3 ต่อเนื่องจากที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงตามลำดับจากร้อยละ 6.0 ในไตรมาสแรก ร้อยละ 5.3 ในไตรมาสสอง และร้อยละ 3.9 ในไตรมาสสาม รวมทั้งปี 2551 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.6 ชะลอตัวลงมากจากที่ขยายตัวร้อยละ 4.9 ในปี 2550 และร้อยละ 5.2 ในปี 2549

ประเด็นหลัก

(1) มูลค่าและปริมาณการส่งออกหดตัวลงอย่างชัดเจนและการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐหดตัวในขณะที่การใช้จ่ายของครัวเรือนชะลอตัวเล็กน้อยจึงส่งผลให้ภาคการผลิตหดตัวทั้งภาคอุตสาหกรรมการขนส่ง การก่อสร้าง และภาคบริการ ปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบในไตรมาสที่สี่ ประกอบด้วย

  • ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกหดตัวซึ่งทำให้การส่งออกสินค้าและบริการท่องเที่ยวของไทยหดตัวในไตรมาส 4
  • วิกฤตการทางการเงินของโลกได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคเศรษฐกิจจริงและทำให้การใช้จ่าย การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศของหลายประเทศลดลง ในไตรมาสสี่เศรษฐกิจโลกโดยรวมจึงเข้าสู่ภาวะหดตัวเศรษฐกิจหลักที่หดตัว ได้แก่เศรษฐกิจสหรัฐฯ (-0.2%) อังกฤษ (-1.0%) ญี่ปุ่น (-4.6%) กลุ่มยูโรโซน(-1.6%) สิงคโปร์ (-3.7%) เกาหลีใต้ (-3.4%) และไต้หวัน(-8.4%) เป็นต้น ในขณะที่เศรษฐกิจจีน อินเดีย และเวียดนามก็ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงมากโดยมีการขยายตัวร้อยละ 6.8, 4.9 และ 5.6 ตามลำดับ
  • เศรษฐกิจโลกหดตัวจึงส่งผลกระทบให้การส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวของประเทศไทยหดตัวลงมากในไตรมาสสุดท้ายของปี เช่นเดียวกับการหดตัวของการส่งออกของประเทศเศรษฐกิจสำคัญในเอเชีย โดยที่ปริมาณการส่งออกของไทยลดลงร้อยละ 8.9 และมูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 9.4 หรือคิดเป็นมูลค่าที่ลดลงประมาณ 100,000 ล้านบาท สำหรับปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นมีจำนวนลดลงร้อยละ 19.4 หรือคิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงจำนวนประมาณ 700,000 คน และคิดเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวที่หายไปประมาณ 25,000 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปี 2550
  • ปัจจัยภายในประเทศทั้งความไม่สงบและปัญหาด้านเมือง และการปิดสนามบินนานาชาติ 2 แห่งได้ส่งผลกระทบซ้ำเติมต่อการท่องเที่ยวและเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งได้ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจเอกชนลดลง ซึ่งได้มีผลกระทบต่อเนื่องต่อการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชน ในไตรมาสที่สี่การใช้จ่ายครัวเรือนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.2 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนนั้นลดลงร้อยละ 1.3 และในเดือนธันวาคมซึ่งเป็นช่วงที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดนั้นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงประมาณ 4 แสนคนซึ่งเป็นผลกระทบจากทั้งปัญหาเศรษฐกิจโลกถดถอยและผลกระทบต่อเนื่องจากการปิดสนามบิน
  • การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลายครั้งทำ ให้การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐมีความล่าช้าและต่ำกว่าเป้าหมายและการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐมีความล่าช้า ในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2551 มีการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2552 จำนวน 363,711.7 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 19.82 ต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 22.50 โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบลงทุนนั้นมีเพียง 28,241.7 ล้านบาทเทียบกับที่เบิกจ่ายได้ 54,751.5 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2550 รวมทั้งการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ต่ำกว่าเป้าหมายและลดลงกว่าในช่วงของปี 2550 รวมทั้งการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่รวมบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)มีการเบิกจ่ายงบลงทุน 76,208.6 ล้านบาท ต่ำกว่าการเบิกจ่ายจำนวน 105,109.9 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปี 2550 ดังนั้นในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 การลงทุนภาครัฐ ณ ราคาแท้จริงจึงลดลงถึงร้อยละ 10.2 ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของรัฐบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4
  • ผลจากการเปรียบเทียบกับฐานทางเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวสูงร้อยละ 5.7 ในไตรมาสสี่ปี 2550 (high base effect) โดยที่ในปี 2550 นั้นเศรษฐกิจมีการขยายตัว (YOY growth) ร้อยละ 4.4, 4.4, 5.1 และ 5.7 ในช่วง 4 ไตรมาส ตามลำดับ
  • การผลิตของประเทศจึงหดตัวในหลายสาขา ได้แก่ การผลิตสาขาอุตสาหกรรม สาขาก่อสร้าง สาขาการขนส่งและสื่อสาร และกลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร แต่อย่างไรก็ตามภาคการเงิน การค้าส่งและค้าปลีก สาขาไฟฟ้าประปา และการผลิตสาขาเกษตร นั้นยังมีการขยายตัว แต่เป็นการขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวตามภาวะการใช้จ่ายและการลงลงทุนในประเทศที่ชะลอตัวลงมาก
  • ภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 6.8 หลังจากที่ส่งสัญญาณการชะลอตัวมาตั้งแต่ไตรมาส 2 โดยที่เป็นการหดตัวของทั้งอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้ภายในประเทศและอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ซึ่งในไตรมาส 4 นั้นการผลิตสินค้าอุตสาหกรมในกลุ่มที่เป็นการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของปริมาณผลผลิตรวม และกลุ่มที่ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นสัดส่วนร้อยละ 30-60 ของปริมาณผลผลิตรวมนั้นลดลงมากถึงร้อยละ 11.5 และร้อยละ 9.9 ตามลำดับ แต่การผลิตในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรมที่จำหน่ายภายในประเทศเป็นหลักนั้นลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.5 เนื่องจากในกลุ่มนี้ได้ปรับชะลอการผลิตลงมาอย่างต่อเนื่องแล้วในช่วงที่การใช้จ่ายในประเทศเข้าสู่ภาวะการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง
  • ภาคการก่อสร้างหดตัวลงร้อยละ 12.8 ในไตรมาส 4 หดตัวต่อเนื่องจากที่หดตัวลงแล้วร้อยละ 5.2 และ 4.5 ในไตรมาส 2 และ 3 ตามลำดับ เป็นผลจากการที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงและการขยายสินเชื่อมีความเข้มงวดมากขึ้น และในขณะเดียวกันก็ยังมีผลกระทบต่อเนื่องมาจากการที่ต้นทุนราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาตามราคาน้ำมันและต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันที่ลดลงในไตรมาส 4 มีผลให้ราคาวัสดุก่อสร้างเริ่มชะลอตัวลง และโดยเฉพาะราคาเหล็กนั้นราคาเฉลี่ยลดลงร้อยละ 3.1
  • การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติส่งผลให้ภาคโรงแรมและภัตตาคารหดตัวมากถึงร้อยละ 8.3 ตามลำดับ และเมื่อประกอบกับการลดลงของการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามภาวะการส่งออกและการนำเข้า จึงมีผลทำให้สาขาคมนาคมขนส่งและการสื่อสารหดตัวลงมากถึงร้อยละ 10.6 หลังจากที่ได้ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี

(2) เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดีแต่ต้องเฝ้าระวังเรื่องปัญหาการว่างงาน

(2.1) เสถียรภาพในประเทศยังอยู่อยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามปัญหาการว่างงานอย่างใกล้ชิด

  • อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในไตรมาสสี่เท่ากับร้อยละ 2.1 ลดลงมากจากอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 5.0 7.5 และ 7.2 ใน 3ไตรมาสแรก สำหรับทั้งปี 2551 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 5.5 และอัตราเงินเฟ้อได้ลดลงเป็นร้อยละ -0.5 ในเดือนมกราคม หลังจากที่ได้ลดลงเป็นร้อยละ - 0.4 ในเดือนธันวาคม

แต่มีข้อสังเกตว่าราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม(ก) ยังเพิ่มขึ้นมากในทุกรายการอาหาร โดยที่ในไตรมาส 4 นั้นดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 14.4 และเฉลี่ยทั้งปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 จึงส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในหมวดอาหารซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นสำหรับประชาชน จะเห็นว่าในปี 2551 นั้นปริมาณการจับจ่ายใช้สอยครัวเรือนในหมวดนี้เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.4 แต่รายจ่ายในหมวดนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20.4 ซึ่งเป็นรายจ่ายที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากราคาที่สูงขึ้นเป็นหลักล่าสุดในเดือนมกราคม 2552 ราคาอาหารและเครื่องเริ่มชะลอตัวลงโดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 จากการที่ราคาผักและผลไม้ และราคานมและผลิตภัณฑ์นมเริ่มชะลอลง แต่อย่างไรก็ตามยังมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องดูแลเรื่องราคาอาหารซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นให้มีการปรับราคาขึ้นและลงอย่างเป็นธรรมต่อผู้บริโภค

  • อัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยนั้นยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.3 และเฉลี่ยทั้งปีเท่ากับร้อยละ 1.4 แต่อย่างไรก็ตามมีสัญญาณว่าอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากการผลิตและการลงทุนที่หดตัว

(2.2) เสถียรภาพด้านต่างประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี

  • เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ(ข) ณ สิ้นเดือนธันวาคมเท่ากับ 110.247 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี Net forward Position อีก 6.920 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) ซึ่งคิดเป็นประมาณ 4.0 — 4.4 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และเท่ากับการนำเข้าประมาณ 7.6 เดือน
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 1,971.5 ล้านดอลลาร์ สรอ.(หรือเท่ากับ 68,338 ล้านบาท) ซึ่งเป็นการขาดดุลต่อเนื่องจากที่ขาดดุล 1,346 ล้านดอลลาร์สรอ. ในไตรมาส 3 อย่างไรก็ตามการเกินดุลในช่วงครึ่งแรกของปีช่วยให้ทั้งปี 2551 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเพียง 178 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 10,393 ล้านบาท) ซึ่งประกอบด้วยดุลการค้าที่เกินดุล 217 ล้านดอลลาร์สรอ. และดุลบริการที่ขาดดุล 416 ล้านดอลลาร์ สรอ.
  • อัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาสที่สี่(ค) เฉลี่ยเท่ากับ 34.8 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเฉลี่ย 32.38 32.28 และ 33.84 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในช่วงไตรมาสแรก — ไตรมาสที่สาม โดยในไตรมาสที่สี่นั้นค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 33.70 — 35.68 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. และเป็นความเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค
หมายเหตุ   (ก) หมวดอาหารและเครื่องดื่มมีน้ำหนักใน consumption basket เท่ากับร้อยละ 33.01
          (ข) ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2552 เงินทุนสำรองระหว่าประเทศเท่ากับ 112.284 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี Net Forward Position อีก 5.528 พันล้านดอลลาร์ สรอ.)
          (ค) อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยในเดือนมกราคม 2552 เท่ากับ 34.87 บาท/ดอลลาร์ สรอ. และล่าสุด ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552 เฉลี่ยเท่ากับ35.41 ดอลลาร์ สรอ.

(ยังมีต่อ).../ภาวะเศรษฐกิจใน..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ