(ต่อ5)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่และทั้งปี 2551 และแนวโน้มปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 25, 2009 15:53 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

2. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2552

2.1 แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2552: คาดว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ (-0.5) — (0.5) ต่ำสุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมและประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกสูงจะอยู่ในภาวะหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศสำคัญอื่น ๆ มีแนวโน้มชะลอตัวรุนแรงต่อเนื่องตามการลดลงของการผลิตภาคอุตสาหกรรมปริมาณการค้าโลกและราคาสินค้าในตลาดโลก ในขณะที่มาตรการการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ที่เริ่มประกาศในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 และต้นปี 2552 คาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในช่วงปลายปีภายใต้เงื่อนไขที่ปัญหาภาคการเงินได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วและความเชื่อมั่นเริ่มปรับตัวดีขึ้น

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ

 % yoy        2549   2550    2551      2552f          2553f
 โลก           5.3      5     2.8   (-0.5) — (0.5)      3.0
 สหรัฐอเมริกา    2.9      2     1.3   (-2.3) - (-1.6)     1.6
 กลุ่มยูโรโซน     2.8      3     0.7   (-2.5) - (-2.0)     0.2
 อังกฤษ         2.9    3.1     0.7   (-3.2) - (-2.8)     0.2
 ญี่ปุ่น           2.4    2.1    -0.7   (-3.0) - (-2.6)     0.6
 จีน           11.6   13.0     9.1      5.0 - 6.5        8.0
 อินเดีย         9.4    9.3     7.3      4.8 — 5.2        6.5
 เกาหลีใต้       5.1      5     2.5           -3.5        3.6
 ไต้หวัน         4.8    5.7     0.1           -3.0        3.1
 ฮ่องกง         7.0    6.4     2.6           -3.8        3.0
 สิงคโปร์        9.4    7.7     1.2           -3.8        3.5
 มาเลเซีย       5.9    6.3     5.0            1.5        4.3
 ฟิลิปปินส์        5.4    7.2     4.6            2.1        4.2
 เวียดนาม       7.9    8.2     6.3            4.8        5.6

ที่มา CEIC และรวบรวมจากหลายที่

  • เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะหดตัวประมาณร้อยละ 2.0 - 2.8 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 และในเดือนมกราคม 2552 แสดงให้เห็นว่าการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจจริงมีความรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ การว่างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมีแนวโน้มที่จะสร้างพลวัตรทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะล่าช้าออกไป แม้ว่าสหรัฐอเมริกาและประเทศอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาวิกฤติการเงินโดยตรงจะได้ดำเนินแก้ไขปัญหาในภาคการเงินโดยการอัดฉีดสภาพคล่องและการค้ำประกันสินเชื่อ มาตรการดังกล่าวแม้จะช่วยลดความเสี่ยงของภาคการเงินในระยะสั้นแต่บรรยากาศความเชื่อมั่นในตลาดเงินและตลาดทุนยังไม่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Spreads) สำคัญ ๆ ยังคงอยู่ในระดับสูง การรับรู้หนี้เสียในภาคการเงินยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะที่ปัญหาประสิทธิภาพและความมั่นคงของสถาบันการเงินซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของความเชื่อมั่นและกลไกของระบบการเงินและภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ยังไม่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นดังนั้นปัญหาในภาคการเงินจึงยังเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจนอกจากนั้นการชะลอตัวอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้างของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ จะเป็นข้อจำกัดของการขยายตัวของภาคส่งออกที่คาดว่าจะเป็นกลไกสำคัญของการปรับตัวของเศรษฐกิจต่อภาวะความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นมากส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและมีแนวโน้มที่จะส่งผลซ้ำเติมต่อสถานการณ์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์และการขยายสินเชื่อ อำนาจซื้อที่แท้จริงของระบบเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากการลดลงของราคาทรัพย์สินในขณะที่ภาระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ภายใต้แนวโน้มดังกล่าวคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐ กลุ่มประเทศยูโร และสหราชอาณาจักร ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจจะร้อยละ (-2.3 ถึง-1.6), (-2.5 ถึง -2.0) และ (-3.2 ถึง -2.8) ตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นอยู่ในช่วง (-3.0 ถึง -2.6)

แนวโน้มอัตราการว่างงานปี 2552 (%)

 ภูมิภาค                           2550  2551           ----------- 2552 -------------

Pessimistic Baseline Optimistic

 World                            5.7   6.0           6.5           6.1           7.1
 Developed Economies and EU       5.7   6.4           7.1           6.6           7.9
 Non-EU & CIS                     8.5   8.8           9.2           9.1           9.8
 East Asia                        3.5   3.8           4.5           4.0           5.5
 South-East Asia and the Pacific  5.5   5.7           6.1           6.0           6.4
 South Asia                       5.3   5.4           5.7           5.4           6.2
 Latin America and the Caribbean  7.2   7.3           8.1           7.6           8.3
 Middle East                      9.4   9.4           6.3           9.3          11.0
 North Africa                    10.4  10.3          10.4          10.2          11.2
 Sub-Saharan Africa               7.9   7.9           8.1           7.9           8.5
ที่มา ILO

การส่งออกของแต่ละประเทศ (%YoY)

------ 2551------ 2552

 ประเทศ     ต.ค.   พ.ย.   ธ.ค.    ม.ค.
 สหรัฐฯ      5.1   -5.3   -11.4    n.a.
 ญี่ปุ่น       -7.8  -26.7   -35.0    n.a.
สหภาพยุโรป  3.3  -10.7     n.a.   n.a.
 จีน        19.1   -2.2    -2.8  -17.5
 อินเดีย    -12.1   -9.9    -1.1    n.a.
เกาหลีใต้   10.3  -15.0   -21.6  -32.1
 ฮ่องกง      9.4   -5.3   -11.4    n.a.
ไต้หวัน     -9.8  -21.6   -40.1  -42.9
 สิงคโปร์    -4.3  -11.9   -20.4    n.a.
มาเลเซีย   -2.6   -4.9   -14.9    n.a.
เวียดนาม   16.7   14.1   -10.2  -24.2
อินโดนีเซีย   4.7   -2.4   -20.6    n.a.
ฟิลิปปินส์   -14.8  -11.4   -40.4    n.a.

ที่มา CEIC

  • ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวรุนแรง โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกันของโลก (Global production/supply chain) และต้องพึ่งพิงการส่งออกและเงินทุนจากต่างประเทศสูง มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับภาวะหดตัวทางเศรษฐกิจหรือการชะลอตัวอย่างรุนแรงและความท้าทายในการบริหารเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาในภาคการเงินและการหดตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมคาดว่าจะส่งผลกระทบสำคัญ ๆ ต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ 4 ประการคือ (i) ปริมาณการค้าโลกในปี 2552 คาดว่าจะหดตัวประมาณร้อยละ 2.8 เนื่องจากการหดตัวของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 50 ของ GDP โลก ซึ่งจะเห็นได้จากการหดตัวอย่างรุนแรงของการค้าโลกในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 (ii) การลดลงของราคาสินค้าน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่เกิดจากภาวะการหดตัวอย่างรุนแรงของอุปสงค์ในประเทศอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโลก โดยภาพรวมคาดว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกขั้นปฐมและน้ำมัน (iii) ความต้องการเงินทุนเพื่อชดเชยความสูญเสียในตลาดการเงินของประเทศอุตสาหกรรมและความต้องการเงินทุนเพื่อ Finance การขาดดุลทางการคลังและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การให้ความสำคัญต่อการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ(Safe assets) ของนักลงทุนและการขาดความมั่นใจในแนวโน้มเศรษฐกิจคาดว่าจะทำให้การไหลของเงินทุนไปยังประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทั้งในด้านการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และการลงทุนโดยตรง (Foreign direct investment) และ (iv) ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. มีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ เนื่องจากความตกต่ำทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ยกเว้นค่าเงินเยนซึ่งการปิดสัญญาของ Yen carry trade จะทำให้เงินทุนไหลกลับประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น รวมทั้งเป็นผลจากการชะลอการลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นในต่างประเทศ

ภายใต้แนวโน้มดังกล่าวคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน อินเดียและบราซิลจะชะลอตัวเป็นร้อยละ 5.0 ถึง 6.5, 4.8 ถึง 5.2 และร้อยละ 1.8 ในปี 2552 เทียบกับร้อยละ 9.1, 7.3 และร้อยละ 5.8 ในปี 2551 เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวันฮ่องกงและสิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะหดตัวประมาณร้อยละ 3.5, 3.0, 3.8 และ 3.8 ตามลำดับ เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวรุนแรง โดยคาดว่าเศรษฐกิจของมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามจะชะลอตัวจากร้อยละ 5.0, 6.0, 4.6 และ 6.3 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 1.5, 3.5, 2.1 และ 4.8 ในปี 2552 ในขณะที่เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตะวันออกกลางโดยรวมคาดว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 4.0 เทียบกับร้อยละ 6.1 ในปี 2551 เนื่องจากการลดลงอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมัน เช่นเดียวกับเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศแอฟริกาใต้ที่มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.4 เทียบกับร้อยละ 5.2 ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากการลดลงของราคาสินค้าขั้นปฐมและการเคลื่อนย้ายเงินทุน

  • เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ก่อนที่จะเริ่มขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 2.0 — 3.0 ในปี 2553 การหดตัวทางเศรษฐกิจที่รุนแรงและการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นมากภายใต้การปรับตัวอย่างเชื่องช้าของตลาดสินเชื่อมีแนวโน้มที่จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและประเทศอุตสาหกรรมสำ คัญ ๆ ล่าช้าออกไป นอกจากนั้นการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างเป็นวงกว้างนั้น จะส่งผลให้การว่างงานเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคและเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจโลกในปี 2552 มากขึ้นภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (i) อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำ (ii) แม้ว่ากลไกตลาดสินเชื่อจะยังไม่ปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติและประสิทธิภาพของนโยบายดอกเบี้ยจะลดลงจากการลดลงของอัตราเงินเฟ้อ แต่ธนาคารกลางประเทศสำคัญ ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยูโร ญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักร มีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายการเงินในลักษณะของการปล่อยกู้ทางตรง (Credit expansion) มากขึ้นโดยลำดับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนของสินเชื่อและเพิ่มขีดความสามารถของภาคครัวเรือนและธุรกิจในการเข้าถึงสินเชื่อ รวมทั้งเพื่อลดความเสี่ยงด้านความมั่นคงของสถาบันการเงินและการให้กู้แก่รัฐบาลเพื่อสนับสนุนนโยบายขาดดุลทางการคลังและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (iii) ความร่วมมือในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังของประเทศต่าง ๆ อย่างเป็นวงกว้างซึ่งในปัจจุบันมูลค่าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประกาศโดยประเทศต่างๆ คิดเป็นประมาณร้อยละ 3 ของ GDP โลก โดยเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในช่วงครึ่งหลังของปี นอกจากจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยต่ำและการขยายสินเชื่อทางตรงจากธนาคารกลางแล้วยังจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบการเงิน (Troubled Asset Relief Program: TARP) ระยะที่ 2 มูลค่า 350 พันล้านเหรียญสหรัฐ และแผนการกอบกู้และฟื้นฟูเศรษฐกิจมูลค่า 787 พันล้านเหรียญสหรัฐ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโร และญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าธนาคารกลางให้ความสำคัญกับการปล่อยกู้ทางตรงมากขึ้น รวมทั้งการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังมูลค่า 250 และ 87 พันล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ ในขณะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังมากขึ้นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะจีน ที่ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าสูงถึง 586 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดียและเวียดนามที่ได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 13.2, 1.9, 14.3 และ 0.8 พันล้านเหรียญ สรอ. ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ต่าง ๆ เริ่มแสดงความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ช้า และอยู่ในภาวะหดตัวตลอดปี 2552 และจะเริ่มฟื้นตัวในปี 2553 ทั้งนี้เนื่องจากมีประเด็น/ปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

(ยังมีต่อ).../- ทุกประเทศประสบ..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ