2.3 แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2552
ในปี 2552 เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่จะฉุดให้การส่งออกและการท่องเที่ยวลดลงและส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศและทำให้เศรษฐกิจโดยรวมมีความเสี่ยงที่จะหดตัวลงโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี แต่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีโอกาสฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินนโยบายภายในประเทศได้แก่การใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มเติม 116,700 ล้านบาท การดำเนินมาตรการภายใต้แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนการดำเนินโครงการภายใต้กรอบแผนการลงทุนภาครัฐในระยะปานกลางระยะยาว การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายและการดูแลสภาพคล่องในภาคการเงินและการขยายสินเชื่อแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเป็นที่คาดว่าการดำเนินมาตรการดังกล่าวจะเป็นปัจจัยที่ช่วยชดเชยผลกระทบจากการส่งออกหดตัวและพยุงไม่ให้เศรษฐกิจหดตัวรุนแรงรวมทั้งราคาน้ำมันที่ลดลงมากก็จะเป็นปัจจัยบวกสำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2552
(1) ข้อสมมุติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2552
(1.1) เศรษฐกิจโลกในปี 2552 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ(-0.5) ถึงร้อยละ 0.5 ปรับลดลงจากสมมุติฐานการขยายตัวร้อยละ 2.0 -2.5 ในการประมาณการครั้งวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 ชะลอตัวลงมากจากที่ขยายตัวร้อยละ 5.0 ในปี 2550 และร้อยละ 2.8 ในปี 2551
(1.2) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2552 เท่ากับ 45-55 ดอลลาร์ สรอ. ปรับลดลงจากสมมุติฐาน 55 — 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยที่ราคาน้ำมันดิบในปี 2552 นั้นลดลงจากราคาเฉลี่ย 68.83 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 2550 และราคาบาร์เรลละ 93.65 ดอลลาร์ สรอ. ในปี 2551 มาก เนื่องจากความต้องการน้ำมันในตลาดโลกที่ชะลอลงมากภายใต้เงื่อนไขเศรษฐกิจโลกชะลอตัวรุนแรง
(1.3) ราคาสินค้าส่งออกและราคาสินค้านำเข้าโดยเฉลี่ยลดลงอย่างชัดเจน ตามภาวะราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง ประกอบกับความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่ลดลงจึงคาดว่าจะส่งผลให้มีการปรับลดราคาเพื่อการแข่งขันกันมากขึ้น โดยคาดว่าราคาสินค้าส่งออกและราคาสินค้านำเข้าโดยเฉลี่ยจะลดลงร้อยละ 6.0 และ 7.0 ตามลำดับ
(2) ในปี 2552 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มชะลอลงมากและมีความเสี่ยงที่จะหดตัว โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ในช่วงประมาณร้อยละ (-1) ถึง (0) ซึ่งเป็นการปรับลดการประมาณการลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.0-4.0 ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 ทั้งนี้เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยมากกว่าที่คาดไว้และได้ส่งผลกระทบให้การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยหดตัวมากและเร็วกว่าที่คาดไว้เดิมโดยเฉพาะในครึ่งแรกของปี และเมื่อประกอบกับสถาบันการเงินมีความเข้มงวดมากขึ้นในการขยายสินเชื่อรวมทั้งความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจก็ยังอยู่ในระดับต่ำภายใต้บรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้คาดได้ว่าภาคธุรกิจจะลดการผลิตและการจ้างงานลงโดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรม สาขาการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์สาขาการค้าปลีกค้าส่ง และสาขาการขนส่ง รวมทั้งสาขาการเงิน ทั้งนี้โดยมีประเด็นการประมาณการเศรษฐกิจดังนี้
(2.1) เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะหดตัวในครึ่งแรกของปีจากแรงฉุดของการส่งออกสินค้าและบริการที่หดตัวเป็นสำคัญ คาดว่าภายใต้เงื่อนไขเศรษฐกิจโลกหดตัวในครึ่งแรกของปีนั้นจะทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวยังหดตัวโดยเฉพาะในครึ่งแรกของปีที่มีแนวโน้มจะหดตัวมาก ล่าสุดในเดือนมกราคม 2552 มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 26.5 ซึ่งเป็นการหดตัวที่ใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ ที่เป็นผู้ส่งออกสำคัญเช่น จีน (-17.5%) เกาหลีใต้ (-32.1%) ไต้หวัน(-42.9%) สิงคโปร์ (-34.8%) และเวียดนาม(-24.2%) เป็นต้น นอกจากนี้ภาวะการใช้จ่ายและการลงทุนที่หดตัวในหลายประเทศรวมทั้งการหดตัวของการนำเข้าในหลายตลาดหลักเป็นดัชนีชี้นำว่าการส่งออกของไทยจะยังลดลงไปอีกระยะหนึ่ง ในด้านการท่องเที่ยวนั้นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2552 จำนวน 14 ล้านคน ลดลงร้อยละ 3.7 จากปี 2551
% yoy 2551 2552f โลก 2.8 (-0.5) — (0.5) สหรัฐอเมริกา 1.3 (-2.3) - (-1.6) กลุ่มยูโรโซน 0.7 (-2.5) - (-2.0) อังกฤษ 0.7 (-3.2) - (-2.8) ญี่ปุ่น -0.7 (-3.0) - (-2.6) เกาหลีใต้ 2.5 -3.5 ไต้หวัน 0.1 -3.0 ฮ่องกง 2.6 -3.8 สิงคโปร์ 1.2 -3.8 ไทย 2.6 (-1) — (0) ที่มา CEIC และรวบรวมจากหลายแหล่ง
(2.2) แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในครึ่งหลังของปี 2552 และช่วยให้การหดตัวของทั้งปีไม่รุนแรงมากอันเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มเติม 116,700 ล้านบาท การดำเนินมาตรการภายใต้แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน การดำเนินโครงการภายใต้กรอบแผนการลงทุนภาครัฐในระยะปานกลางระยะยาว การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย และการดูแลสภาพคล่องในภาคการเงินและการขยายสินเชื่อแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในครึ่งหลังของปีภายใต้เงื่อนไขดังนี้
(2.2.1) เศรษฐกิจโลกผ่านจุดต่ำสุดในครึ่งแรกของปี 2552 โดยประเทศต่าง ๆ เริ่มได้รับผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งจากการลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และการดำเนินมาตรการการคลังเพื่อดูแลปัญหาการว่างงานและกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุน ทั้งโดยการใช้มาตรการภาษี การโอนเงินไปสู่ภาคประชาชน และการใช้จ่ายโดยตรงโดยภาครัฐเอง นอกจากนี้คาดว่าปัญหาภาคการเงินของสหรัฐฯ จะเริ่มคลี่คลายลง สำหรับความเสี่ยงในภาคเศรษฐกิจและการเงินของยุโรปตะวันออกรวมทั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นนั้นคาดว่าขนาดจะไม่รุนแรงเท่ากับในกรณีของสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตก ภายใต้เงื่อนไขเศรษฐกิจเศรษฐกิจโลกดังกล่าวจึงคาดว่าการส่งออกและการท่องเที่ยวจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นบ้างในครึ่งหลัง โดยจะไม่หดตัวมากเช่นในครึ่งแรกของปี
(2.2.2) การดำเนินมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้กรอบงบประมาณเพิ่มเติมกลางปีจำนวน 116,700 ล้านบาทเริ่มมีการเบิกจ่ายได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมและมีการดำเนินโครงการและการเบิกจ่ายที่คืบหน้ามากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงมีการดูแลผู้ว่างงาน ซึ่งจะช่วยรักษาอัตราการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและส่งผลต่อเนื่องในการกระตุ้นการใช้จ่ายของครัวเรือนได้ดีขึ้นในครึ่งหลังของปี
(2.2.3) การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2552 ให้สามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายร้อยละ 94 ของงบประมาณรวม และมีการเตรียมความพร้อมของโครงการภายใต้กรอบงบประมาณประจำปี 2553 ให้สามารถดำเนินการและเบิกจ่ายได้ทันทีในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคมถึงธันวาคม 2552)
(2.2.4) การเร่งรัดการดำเนินการโครงการลงทุนสำคัญของภาครัฐภายใต้แผนการลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สามารถเริ่มดำเนินการได้อย่างช้าที่สุดในไตรมาสสุดท้ายของปี
(2.2.5) การพยุงราคาสินค้าเกษตรไม่ให้ตกต่ำจนเกินไป โดยการประกันราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด ซึ่งจะช่วยรักษารายได้ของเกษตรกรและการจ้างงานในภาคเกษตร
(2.2.6) มาตรการค้ำประกันสินเชื่อและการขยายสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจและการดำเนินนโยบายการเงินอย่างผ่อนคลายจะช่วยให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินธุรกิจและปรับตัวในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยได้ รวมทั้งผู้ประกอบการยังมีฐานะการเงินดีสามารถใช้โอกาสในการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจเพื่อเตรียมรับเมื่อเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น
(2.2.7) ราคาน้ำ มันดิบดูไบโดยเฉลี่ยไม่เกินบาเรลละ 60 ดอลลาร์ สรอ. เนื่องจากความต้องการน้ำมันดิบในตลาดโลกจะชะลอลงโดยที่คาดว่าจะไม่มีภาวะชะงักงันด้านการผลิต
(3) การประมาณการเศรษฐกิจปี 2552 มีองค์ประกอบ ดังนี้
(3.1) การใช้จ่ายครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวประมาณร้อยละ 2.2 เป็นอัตราที่ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.5 ในปี 2551 โดยมีแรงกระตุ้นจากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งในส่วนของการลดภาระค่าครองชีพ การเพิ่มการลดหย่อนด้านภาษี การได้รับเงินช่วยเหลือโดยตรงจากรัฐบาลสำ หรับประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งคาดว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในโครงการภาครัฐภายใต้แผนฟื้นฟูฯ และยังมีรายได้จากการชดเชยการว่างงานและมีการช่วยเหลือแรงงานที่ตกงานรวมไปถึงกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะตกงาน
(3.2) เศรษฐกิจโลกที่หดตัวจะทำให้ปริมาณและมูลค่าของสินค้าส่งออกลดลงประมาณร้อยละ 6.5 และร้อยละ 13.1 ตามลำดับ จึงมีผลให้มูลค่าการส่งออกลดลงจากในปี 2551 ประมาณ 380,000 ล้านบาท ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าจะหดตัวแรงกว่าการหดตัวของปริมาณการส่งออกตามการหดตัวของปริมาณการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชน ประกอบกับจะเป็นช่วงที่ลดการสะสมสต็อกสินค้าที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจในระดับสูงลง ทั้งนี้คาดว่าปริมาณการนำเข้าในปี 2552 จะลดลงร้อยละ 7.0 และมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 14.0 จึงคาดว่าในปี 2552 ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลเล็กน้อยประมาณ 1.8 และ 2.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดคิดเป็นร้อยละ 0.9 ของ GDP
(3.3) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะลดลงประมาณร้อยละ 3.7 (จากจำนวน 14.5 ล้านคนในปี 2551 เป็น 14 ล้านคนในปี 2552) ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงประมาณ 20,000 ล้านบาท
(3.4) การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 3.0 เนื่องจากการส่งออกที่ลดลงและการใช้จ่ายภายในประเทศที่ยังชะลอตัวจะส่งผลให้การผลิตและการจ้างงานลดลง ซึ่งในที่สุดจะทำให้มีกำลังการผลิตส่วนเกินในระบบเพิ่มขึ้น นอกจากนี้เงื่อนไขการขยายสินเชื่อของสถาบันการเงินที่มีความเข้มงวดมากขึ้นและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจเอกชนที่ยังอยู่ในระดับต่ำจะทำให้มีการเลื่อนการตัดสินใจการลงทุนออกไป
(3.5) การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ณ ราคาแท้จริงจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 และร้อยละ 8.0ตามลำดับ
(4) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจจะมีความเสี่ยงมากขึ้นจากปัญหาการว่างงาน แต่โดยภาพรวมนั้นจะยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้
(4.1) อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงเป็นร้อยละ (-0.5) — (0.5) ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 5.5 ในปี 2551 มาก โดยเป็นผลจากการลดลงของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นต้นทุนส่วนสำคัญในการผลิต และความต้องการสินค้าและบริการรวมของทั้งตลาดภายในและการส่งออกลดลง
(4.2) อัตราการว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.5-3.5 หรือเป็นการว่างงานจำนวนประมาณ 9 แสน ถึง 1.3 ล้านคน (จากประมาณการกำลังแรงงานประมาณ 36.942 ล้านคน) ทั้งนี้ในรอบปี2551 ที่ผ่านมาจำนวนผู้ที่ขึ้นทะเบียนประกันตนกรณีว่างงานมีจำนวน 387,629 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.3 จากปี 2550 และในเดือนมกราคม 2552 มีผู้ขึ้นทะเบียนประกันตนกรณีว่างงาน จำนวน 66,776 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 140.8 จากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา
(5) แนวโน้มการผลิตในปี 2552 โดยภาพรวมมีแนวโน้มชะลอตัวจากปี 2551 สำหรับสถานการณ์การผลิตรายสาขามีแนวโน้มดังนี้
(1) สาขาเกษตรกรรม
ในปี 2552 คาดว่าผลผลิตสินค้าเกษตรจะมีแนวโน้มชะลอลงจากปี 2551 ในขณะเดียวกันระดับราคาสินค้าเกษตรโดยเฉลี่ยมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าส่วนใหญ่ได้เพิ่มปริมาณผลผลิตเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศ และราคาน้ำมันดิบที่ลดลง ประกอบกับการแข่งขันในตลาดโลกมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ทำให้บทบาทของประเทศผู้ซื้อมีอำนาจต่อรองราคามากกว่าประเทศผู้ขาย ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ระดับราคาในตลาดโลกมีแนวโน้มที่ลดลงกว่าปี 2551 การที่ผลผลิตสินค้าเกษตรและราคาสินค้าเกษตรชะลอตัวส่งผลทำรายได้เกษตรกรมีแนวโน้มชะลอตัวลงในปี 2552 ทั้งนี้ในปี 2552 มีปัจจัยเสี่ยงสำหรับภาวะการเกษตร คือ ด้านราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง และภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกจึงทำให้ความต้องการบริโภคของประชากรชะลอตัว ประกอบกับปริมาณและราคาการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยหลายชนิดมีแนวโน้มลดลง แต่ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลงและค่าเงินบาทที่ค่อนข้างเสถียรภาพนับว่าเป็นปัจจัยบวก แนวโน้มการผลิตสาขาเกษตรกรรมที่สำคัญ ได้แก่
(1.1) ข้าว คาดว่าการผลิตข้าวนาปี และนาปรัง ในปี2552 จะลดลงจากปี 2551 ทั้งพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตรวม ซึ่งเป็นผลกระทบจากสภาพอากาศที่มีโอกาสการเกิดภัยแล้ง สำหรับระดับราคาข้าวเปลือกนั้นมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้ออกมาตรการโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ฤดูการผลิต2551/2552 โดยเริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2551 และสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2552 เพื่อช่วยพยุงราคาข้าวในประเทศจะช่วยชะลอการอ่อนตัวของราคาข้าวเปลือกได้ระดับหนึ่ง
(1.2) ยางพารา คาดว่าปริมาณผลผลิตมีแนวโน้มชะลอลงจากปี 2551 เนื่องจากความต้องการของตลาดโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญที่ลดลงเช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ซึ่งความต้องการลดลงในภาวะที่การจับจ่ายใช้สอยและการลงทุนลดลง โดยเฉพาะความต้องการรถยนต์ที่ลดลง ในขณะที่ระดับราคายางพาราโดยเฉลี่ยจะต่ำกว่าปี 2551 ตามแนวโน้มการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับเป็นการปรับฐานราคาลงมาสู่ภาวะปกติ จากที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าแนวโน้มปกติใน ปี 2551
(1.3) มันสำปะหลัง คาดว่าในปี 2552 ปริมาณผลผลิตรวมขยายตัวถึงร้อยละ 15.9 เนื่องจากเกษตรกรมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นจากแรงจูงใจด้านราคาในช่วงที่ผ่านมา การที่ผลิตภัณฑ์มันสำ ปะหลังเป็นสินค้าที่พึ่งพาตลาดส่งออกเป็นหลักถึงร้อยละ 70 จึงคาดว่าอุปสงค์ของผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในตลาดส่งออกจะมีแนวโน้มลดลง จะเห็นได้จากยังไม่มีคำสั่งซื้อล่วงหน้าจากไทย สำหรับตลาดในประเทศคาดว่าอุปสงค์จะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ยกเว้นสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล หากมีการปรับราคาเอทานอลให้สูงขึ้นจะส่งผลให้มีการใช้มันสำปะหลังในการผลิตเอทานอลมากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการขายเอทานอลได้ผลตอบแทนคุ้มค่าจากการลงทุนและคาดว่าราคามันสำปะหลังปี 2552 จะอยู่ที่ระดับ 1.70 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าราคาเฉลี่ยในปี 2551 ซึ่งเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
(1.4) สาขาปศุสัตว์ ภาวะการผลิตสาขาปศุสัตว์ปี 2552 มีแนวโน้มทรงตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของความต้องการในตลาดโลก จึงส่งให้ความต้องการสินค้าอาหารชะลอลง และจะทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ของไทยชะลอตัวด้วย อย่างไรก็ตามผู้ผลิตสินค้าปศุสัตว์แปรรูปเพื่อการส่งออกจะต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานการผลิตและการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ภาครัฐควรดำเนินมาตรการลดต้นทุนการผลิต โดยการจัดหาแหล่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ การจัดหาวัคซีนป้องกันโรคในสัตว์ราคาถูก รวมทั้งการหาตลาดส่งออกใหม่ๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางที่มีกำลังซื้อสูงต่อไป
(1.5) สาขาประมง คาดว่าผลผลิตสัตว์น้ำจืดมีทิศทางลดลง เป็นผลกระทบจากการทำเขตการค้าเสรีไทย - จีน และเขตการค้าเสรีอาเซียน ทำให้ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจืดที่มีต้นทุนการผลิตต่ำทะลักเข้าไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงส่วนใหญ่ ส่วนผลผลิตกุ้งคาดว่าจะใกล้เคียงกับปี2551 จากการที่เกษตรกรส่วนใหญ่ชะลอการเพาะเลี้ยงออกไป เนื่องจากความความไม่มั่นใจในสถานการณ์ของตลาดและราคาสำหรับปัจจัยลบที่มีผลต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยในปี 2552 ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้ประชาชนชะลอการบริโภคลง การใช้มาตรการกีดกัน ทางการค้าต่างๆ โดยเฉพาะการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping: AD) น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในปี 2552
(2) ภาคอุตสาหกรรม การผลิตภาคอุตสาหกรรมในปี 2552 คาดว่าจะหดตัวจากปี 2551 ซึ่งในไตรมาสที่ 1 และ 2 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มหดตัวตามภาวะการหดตัวของการส่งออกและการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งมีผลจากฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน (high base effect) และจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ตามภาวะการใช้จ่ายของภาครัฐและการใช้จ่ายงบประมาณกลางปี 2552 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การที่ประเทศต่างๆ ได้ใช้มาตรการทางการคลังในการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลก คาดว่าจะส่งผลทำให้การส่งออกไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552
ในปี 2552 กลุ่มประเทศคู่ค้าหลักๆ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น กลุ่มยูโรโซน คาดว่าภาวะเศรษฐกิจจะหดตัวร้อยละ 2.6 1.6 และ 2.0 ตามลำดับ ดังนั้นคาดว่าในปี 2552 อุตสาหกรรมที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากภาวะ
เศรษฐกิจโลกหดตัว โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อัญมณีและเครื่องประดับยางและผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมเครื่องเรือนไม้ส่วนอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัว คืออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลดีจากราคาพลังงานปรับตัวลง ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทั้งนี้ในปี 2552 ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตของโลกที่มีการแข่งขันจากผู้ผลิตต้นทุนต่ำ เช่น จีน อินเดีย และเวียดนาม เป็นต้น
ปัจจัยสนับสนุนต่อการขยายตัวในสาขาอุตสาหกรรมคือ (1) แนวโน้มราคาน้ำมันที่ลดลง ส่งผลทำให้ต้นทุนในการผลิตลดลง (2) ภาวะเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ จากการที่ระดับราคาน้ำมันลดลง จึงผลทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น (3) การตั้งงบประมาณกลางปี 2552 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐจะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้บางส่วน อย่างไรก็ตามจะยังไม่ส่งผลได้มากนักในครึ่งปีแรก แต่จะเริ่มส่งผลในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2552 (4) การเร่งก่อสร้างโครงการลงทุนขนาดใหญ่ จะส่งผลทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องปรับตัวดีขึ้น
ส่วนปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่อการผลิตสาขาอุตสาหกรรม ในปี 2552คือ การชะลอหรือหดตัวตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกของไทย และการเลิกจ้างงานในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ทำให้แรงงานสูญเสียรายได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ
(3) สาขาการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าในปี 2552 จะชะลอตัวจากปี 2551 เนื่องจากผู้ประกอบการและผู้บริโภคได้ประสบกับปัจจัยเสี่ยงและความไม่มั่นใจต่อเนื่องจากปี 2551 ทั้งในเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก แต่อย่างไรก็ตามเริ่มมีสัญญาณปัจจัยบวกบ้าง โดยเฉพาะปัจจัยทางด้านต้นทุนการผลิตจากราคาวัสดุก่อสร้าง ราคาน้ำมันที่ถูกลง การลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของเอกชน รวมถึงนโยบายรัฐบาลที่เพิ่มค่าลดหย่อนจากค่าดอกเบี้ยที่ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์จากอัตราเดิมที่ 100,000 บาทต่อปี เป็น400,000 บาทต่อปี แต่อย่างไรก็ตามอุปทานของบ้านใหม่คงเหลือ ในปี 2551 ที่มีอยู่ ยังเป็นภาระของผู้ประกอบการที่จำเป็นต้องหาวิธีระบายต่อไป โดยปัญหาหลักที่ยังต้องเผชิญของผู้ประกอบการและผู้บริโภค คือ การเข็มงวดของการอนุมัติสินเชื่อของธนาคาร ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของผู้ประกอบการโดยเฉพาะระดับกลางและระดับย่อย และกำลังซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค ส่วนระดับราคาในปี2552 คาดว่ามีแนวโน้มลดลงเนื่องจากต้นทุนที่ถูกลงทั้งราคาวัสดุก่อสร้างและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลงรวมทั้งเป็นการส่งเสริมการขายในช่วงที่ความต้องการที่อยู่อาศัยชะลอตัวลงมาก
(4) สาขาบริการท่องเที่ยว การที่รัฐบาลได้ดำเนินการตลาดเชิงรุกมากขึ้นเพื่อกระตุ้นตลาดและฟื้นฟูภาพลักษณ์ทางด้านการท่องเที่ยว ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬาได้ตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2552 จำนวน 14.0 ล้านคน ซึ่งลดลงร้อยละ 3.7 จากปี 2551 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 14.5 ล้านคน และคาดการณ์รายได้จากการท่องเที่ยว 505,000 ล้านบาท ในส่วนของตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยทั้งปี ตั้งเป้าไว้ที่ 87.06 ล้านคนครั้ง โดยสามารถสร้างรายได้ 407,600 ล้านบาท การที่จะบรรลุเป้าหมายได้โดยมีเงื่อนไขภายใต้ความร่วมมืออย่างเข้มแข็งจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งการสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาล เพื่อนำ ไปส่งเสริมมาตรการด้านการตลาด เร่งแก้ไขภาพลักษณ์และสร้างแรงจูงใจในกลุ่มลูกค้าทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ เช่น การลดค่าใช้จ่ายอำนวยความสะดวกด้านการบินในช่วงไตรมาสแรก ยกเว้นค่าธรรมเนียมตรวจลงตรา การกำหนดนโยบายให้หน่วยราชการจัดประชุมสัมมนานอกพื้นที่เป็นการสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวในประเทศ นอกจากนี้ยังช่วยแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่อง โดยการลดภาษีและค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการใน ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในป?2552
การที่ภาคการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากครึ่งหลังของปี 2551 โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 นี้ซึ่งเป็นช่วงต่อเนื่องของฤดูกาลท่องเที่ยวจะส่งผลกระทบต่อบริษัทดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็กที่อาจจะต้องปิดกิจการ และบางบริษัทจำเป็นจะต้องมีการปรับตัวด้วยการลดต้นทุน เช่น ลดเงินเดือนผู้บริหาร และลดการจ้างมัคคุเทศก์ ซึ่งผลกระทบต่อการจ้างงาน แต่คาดว่าภาคการท่องเที่ยวน่าจะปรับตัวได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 เป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง และสามารถเรียกความมั่นใจของนักท่องเที่ยวให้กลับเข้ามาประเทศไทยได้อีกครั้งหนึ่ง จะเห็นได้ว่าหลายประเทศได้ยกเลิกการเตือนการเดินทางมาประเทศไทยเช่นประเทศจีนเยอรมนีฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ สวีเดน เบลเยียม และ แคนาดา รวมทั้งหน่วยงานราชการและหน่วยงานเอกชนมีการออกนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวรวมถึงการประกาศให้ปี 2552 เป็นปีท่องเที่ยวไทย 2552 (Visit Amazing Thailand 2009) เพื่อเป็นการจูงใจให้นักท่องเที่ยว รวมทั้งการส่งเสริมการตลาดต่างประเทศเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวโดยการส่งเสริมการทำ Road Show โดยให้ความสำคัญกับการรุกตลาดดาวรุ่ง (Rising Star) เช่น รัสเซีย อินเดีย ตะวันออกกลาง สเปน พร้อมทั้งมีการรักษาฐานตลาดเดิม โดยเฉพาะกลุ่มยุโรปตะวันตก กลุ่มตลาดหลักในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี ฮ่องกง และขยายฐานตลาดระยะใกล้ที่มีศักยภาพ เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย