(ต่อ1)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสสองและแนวโน้มปี 2549

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 6, 2006 16:16 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          - ภาคการเงินในไตรมาสสองปี 2549 :  อัตราดอกเบี้ยและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับสูงขึ้นตามลำดับ และสินเชื่อชะลอตัวอย่างชัดเจน  และสภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง
- อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น คณะกรรมการนโยบายการเงินปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง ๆ ละ 25 bps. และคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 5.0 ต่อปีในการประชุมเดือนกรกฎาคม ขณะที่ Fed Fund Rate คงอยู่ที่ร้อยละ5.25 ต่อปี และธนาคารพาณิชย์ปรับอัตราดอกเบี้ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนของ 5 ธนาคารใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 4.63 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR อยู่ที่ร้อยละ 7.75 ต่อปี สูงขึ้นจากไตรมาสแรกร้อยละ 0.75 และ 0.38 ตามลำดับ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเพิ่มขึ้น 25-51 basis points ในไตรมาสสอง
- ดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ที่ปรับสูงขึ้นทำให้เงินฝากเร่งตัวขึ้นและสินเชื่อชะลอตัว เงินฝาก ณ สิ้นไตรมาสสองที่ไม่รวมผลจากการจัดตั้งธนาคารใหม่ขยายตัวร้อยละ 7.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 ก่อนเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยโดยเฉพาะเงินฝากประจำเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 27.3 ในไตรมาสแรก เป็นร้อยละ 35.4 ในไตรมาสนี้ และส่วนหนึ่งมีการโยกย้ายเงินฝากมาจากบัญชีออมทรัพย์ ส่งผลให้เงินฝากออมทรัพย์ลดลงจากระยะเดียวกันของปี 2548 ร้อยละ 12.9 ขณะที่สินเชื่อธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนมีแนวโน้มชะลอตัวโดยขยายตัวร้อยละ 4.4 จากระยะเดียวกันของปีที่แล้วสินเชื่อภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนมากที่สุดขยายตัวร้อยละ 5.2 เทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2548 ที่ขยายตัวร้อยละ 13.3 และสินเชื่อเพื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เริ่มหดตัว สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลชะลอตัวต่อเนื่องจากร้อยละ 11.7 ในไตรมาสที่แล้วเป็นร้อยละ 9.7 ในไตรมาสนี้
- สภาพคล่องมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากเงินฝากขยายตัวมากกว่าสินเชื่อ สัดส่วนสินเชื่อ (รวมเงินลงทุนในหลักทรัพย์เอกชน) ต่อเงินฝากในไตรมาสสองอยู่ที่ร้อยละ 93.0 ลดลงจากร้อยละ 95.5 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว และสภาพคล่องส่วนเกินในระบบธนาคารพาณิชย์มีมูลค่าประมาณ 682 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.2
- การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและเบิกเงินสดล่วงหน้าชะลอตัวลง แต่สินเชื่อคงค้างขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 21.3 สะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนที่เริ่มลดลงเนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น
- เสถียรภาพทางการเงินยังอยู่ในเกณฑ์ดี NPLs ของสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในไตรมาสสอง มีสัดส่วนร้อยละ 8.22 ของสินเชื่อรวม แต่ยังไม่มีสัญญาณการเพิ่มขึ้นของหนี้ NPLs จากการที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เงินบาทมีค่าเฉลี่ยในไตรมาสสองที่ 38.07 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 3.4 และยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม เนื่องจากมีเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก รวมทั้งมี การคาดการณ์ถึงแนวโน้มการปรับค่าเงินหยวน แต่การแข็งค่าของเงินบาทในอัตราที่มากกว่าค่าเงินในภูมิภาคส่วนใหญ่ ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เฉลี่ยในไตรมาสสองสูงขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 5.2. ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้ดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 8.6
- ตลาดหลักทรัพย์และตราสารหนี้ภาวะตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาสสอง จากการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ 29 พันล้านบาท ก่อนจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ปิดตลาดสิ้นเดือนสิงหาคม 690.90 จุด มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมเท่ากับ 5.0 ล้านล้านบาท ขณะที่การซื้อขายตราสารหนี้เฉลี่ยต่อวันในไตรมาสสองเท่ากับ 26.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เนื่องจากมีการย้ายเงินลงทุนบางส่วนจากตลาดหลักทรัพย์ ดัชนีผลตอบแทนจากการลงทุนปรับตัวเพิ่มขึ้น ภาคธุรกิจปรับรูปแบบการระดมทุนในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยกำลังปรับตัวโดยการออกหุ้นกู้และมีการระดมทุนด้วยตั๋วเงินระยะสั้นเพิ่มขึ้นมีมูลค่าสุทธิ 51.1 พันล้านบาท อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย และลดลงในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสสาม เนื่องจากมีความต้องการลงทุนจำนวนมาก สะท้อนการคาดการณ์ของตลาดต่ออัตราดอกเบี้ยระยะยาวจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้เส้นอัตราผลตอบแทนปรับราบลง
1.2 เศรษฐกิจโลกในไตรมาสสองปี 2549 : ชะลอตัวจากไตรมาสที่หนึ่ง จากเศรษฐกิจ สหรัฐ กลุ่มประเทศ NIEs และญี่ปุ่นที่ชะลอตัวลง ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง และหลายประเทศได้มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย และจีนมีการดำเนินนโยบายแบบเข้มงวดมากขึ้นเพื่อลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ
- เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง โดยมีสาเหตุหลักจากการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่หดตัว และการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวต่อเนื่อง แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และการขาดดุลการค้ายังคงอยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวลงตามการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิที่ชะลอตัวลง และการลงทุนในที่อยู่อาศัยการใช้จ่ายภาครัฐ และการสะสมสินค้าคงคลังที่ลดลงอย่างไรก็ตามการใช้จ่ายในประเทศทั้งการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยปรับตัวดีขึ้น ดัชนีราคาผู้บริโภค สินเชื่อภาคเอกชนและการจ้างงานขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งหลังของปี เศรษฐกิจ NIEs ชะลอตัวลง เศรษฐกิจสิงคโปร์ และฮ่องกง ชะลอตัวจากการส่งออกโดยเฉพาะการส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ชะลอตัวลง เศรษฐกิจไต้หวันชะลอตัวจากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนที่ลดลงมาก เศรษฐกิจเกาหลีใต้ชะลอตัวจากการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนในสาขาก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนขยายตัวเร่งขึ้นตามการผลิตในสาขาอุตสาหกรรมและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่ขยายตัวได้เร่งขึ้น ปริมาณเงินและสินเชื่อยังคงขยายตัวในอัตราสูง เศรษฐกิจกลุ่มยูโรขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจเยอรมันและฝรั่งเศสจากการสะสมสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ทั้งนี้อัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่อง เศรษฐกิจอินโดนีเซียและมาเลเซียเร่งตัวขึ้น จากการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นมากในอินโดนีเซีย และการลงทุนรวมที่ปรับตัวดีขึ้นมากในมาเลเซีย
- ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อในไตรมาสที่สองยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป โดยธนาคารกลางสหรัฐปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 4.75 ในเดือนมีนาคม เป็นร้อยละ 5 ในเดือนพฤษภาคม และร้อยละ 5.25 ในเดือนมิถุนายน ธนาคารกลางสหภาพยุโรปปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.5 ในเดือนมีนาคม เป็นร้อยละ 2.75 ในเดือนมิถุนายน
- แรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เริ่มชะลอตัวลง
- ปัญหาความไม่สมดุลเศรษฐกิจโลกยังคงมีมากขึ้น จะเห็นว่าหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งญี่ปุ่น และจีน มีการเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้น ในขณะที่สหรัฐอเมริกายังคงขาดดุลเพิ่มขึ้น
(ยังมีต่อ).../2.ประมาณการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ