(ต่อ2)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2548 และแนวโน้มปี 2549

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 7, 2006 16:18 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          - มูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่สี่ยังชะลอตัวลงต่อเนื่อง แต่ช้ากว่าการชะลอตัวของการส่งออก ทำให้ดุลการค้ากลับมาขาดดุล แต่เมื่อรวมกับการเกินดุลบริการและเงินโอนที่สูงทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเล็กน้อย ในไตรมาสที่สี่มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 ชะลอตัวลงต่อเนื่อง จากการที่มูลค่าการนำเข้าหมวดน้ำมันชะลอตัวลงตามปริมาณการนำเข้าที่ชะลอลงมาก และสินค้าที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการการนำเข้าทั้ง น้ำมัน และทองคำ ชะลอตัวลงมาก ในขณะที่การนำเข้าเหล็กลดลง อย่างไรก็ตามการนำเข้าหมวดสินค้าทุน และหมวดวัตถุดิบยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราสูง เนื่องจากกิจกรรมด้านการผลิตและการลงทุนยังเพิ่มขึ้น ดุลการค้าขาดดุล 749 ล้านดอลลาร์ สรอ.และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 911 ล้านดอลลาร์ สรอ. 
- ตลอดปี 2548 ดุลการค้าขาดดุล 8,578 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2548 การนำเข้ามีมูลค่า 117,788 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.0 การนำเข้าสินค้าในกลุ่มน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมากร้อยละ 58.4 สินค้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 เพื่อใช้ในการผลิตสินค้าส่งออกและเพื่อการใช้ภายในประเทศ และสินค้าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.5 จากการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ดุลการค้า ขาดดุล 8,118 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในครึ่งแรกของปี แต่เกินดุลเล็กน้อยในครึ่งหลังของปี และดุลการค้าทั้งปีขาดดุล 8,578 ล้านดอลลาร์ สรอ.
- ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 3,714 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2548 ดุลบริการ รายได้และเงินโอนเกินดุล 4,864 ล้านดอลลาร์ สรอ. แต่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยการขาดดุลการค้า ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 3,714 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือเท่ากับร้อยละ 2.0 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และนับว่าเป็นการขาดดุลที่เกิดขึ้นจากราคาน้ำมัน และวัตถุดิบประเภทเหล็กและทองคำที่นำเข้าเพิ่มขึ้นมากเป็นสำคัญ
- ในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจมีแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมาก และจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
-การจ้างงานเพิ่มขึ้นและอัตราการว่างงานลดลงผู้มีงานทำในไตรมาสที่สี่ปี 2548 มีจำนวน 36.18 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 35.81 ล้านคน ในไตรมาสที่สี่ปี 2547 ร้อยละ 1.0 โดยผู้มีงานทำสาขาเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.62 ส่วน ผู้มีงานทำสาขาอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.45 จากช่วงเดียวกันปี 2547 และอัตราการว่างงานในไตรมาสที่สี่เท่ากับร้อยละ 1.22
-โดยรวมปี 2548 มีผู้มีงานทำเฉลี่ย 35.34 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 และอัตราการว่างงานเฉลี่ยลดลงเหลือเพียงร้อยละ 1.8
-แรงกดดันราคาสินค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในไตรมาสที่สี่อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 6.0 และทั้งปีอัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 4.5 โดยแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันดีเซลและสินค้าวัตถุดิบได้ถูกส่งผ่านไปยังผู้บริโภคมากขึ้นในครึ่งหลังของปี จะเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.3 ในครึ่งแรกของปี เป็นร้อยละ 5.8 ในครึ่งหลังของปี เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นตามลำดับจากร้อยละ 0.9 ในครึ่งแรกเป็นร้อยละ 2.3 ในครึ่งหลัง นอกจากนี้ดัชนีราคาผู้ผลิตที่เพิ่มเร็วกว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทำให้แรงกดดันของต้นทุนที่จะถูกผลักภาระไปยังผู้บริโภคยังมีอยู่มาก และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 จะอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 5.5-6.0 และชะลอลงในครึ่งหลังของปี 2549 ซึ่งเป็นช่วงที่ฐานราคาเปรียบเทียบทั้งราคาน้ำมันและราคาสินค้าในปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูง
-เสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2548 เท่ากับ 52.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือคิดเป็นร้อยละ 3.1 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และเท่ากับการนำเข้า 5.3 เดือน ซึ่งนับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่มีเสถียรภาพ
-ฐานะการคลังมีการขาดดุลเงินสด 79 พันล้านบาท ในไตรมาส 4 ของปี 2548 หรือไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2549 รัฐบาลจัดเก็บรายได้รวม 270.6 พันล้านบาทขณะที่มีรายจ่ายเงินรวม 454.3 พันล้านบาท ส่งผลให้ขาดดุลงบประมาณ 183.7 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับการเกินดุลเงินนอกงบประมาณ 104.4 พันล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดตามระบบกระแสเงินสด 79.3 พันล้านบาท
-หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2548 มีจำนวน 3.30 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.41 ต่อ GDP เปรียบเทียบกับร้อยละ 47.5 ณ สิ้นปี 2547
-ภาคการเงิน : ดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นตามลำดับ การขยายตัวของสินเชื่อเริ่มมีสัญญาณชะลอตัว และสภาพคล่องของตลาดเงินยังอยู่ในระดับสูง
-เงินฝากธนาคารพาณิชย์ที่ไม่รวมผลจากการตั้งธนาคารแห่งใหม่ขยายตัวร้อยละ 4.8 สูงขึ้นกว่าอัตราการขยายตัวในช่วงครึ่งแรกของปี โดยเงินฝากประจำขยายตัวอย่างเห็นได้ชัดหลังจากมีการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ขณะที่สินเชื่อภาคเอกชนที่ไม่รวมผลจากการตั้งธนาคารใหม่ขยายตัวร้อยละ 4.0 แม้จะสูงกว่าไตรมาสสาม แต่โดยภาพรวม สินเชื่อภาคเอกชนในปี 2548 ยังคงมีทิศทางชลอตัว อย่างไรก็ตาม
การขยายตัวของสินเชื่อดังกล่าว ทำให้สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์เริ่มลดลงอีกครั้งสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากสูงขึ้นจากร้อยละ 94.3 เมื่อสิ้น ไตรมาสสามเป็นร้อยละ 95.9 เมื่อสิ้นไตรมาสสี่ แต่อย่างไรก็ตามยังต่ำกว่าสิ้นปี 2547 เล็กน้อย แสดงว่าโดยภาพรวมสภาพคล่องยังอยู่ในระดับสูงและ เปลี่ยนแปลงไม่มากนัก
2548
Q1 Q2 Q3 Q4 Q3 Q4
(หักผล) (หักผล)
เงินฝาก 2.9 2.6 6.4 8.4 4.8 4.8
สินเชื่อ 5.7 4.2 4.1 8.1 2.3 4.0
หมายเหตุ หักผลกระทบจากการรวมกิจการของบริษัทเงินทุน
(ยังมีต่อ).../-สินเชื่อธนาคาร..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ