แนวคิดและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 7, 2006 14:31 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          1   บทนำ   
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีภารกิจหลักรับผิดชอบในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นกรอบกำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาประเทศ โดยปัจจุบันสำนักงานฯ อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554) ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 ที่ได้มอบหมายให้สำนักงานฯ เตรียมการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 เพื่อให้เป็นแผนฯ ที่ดี สมบูรณ์ และครบถ้วนทุกมิติ ทั้งข้อมูลในระดับหน่วยงาน และข้อมูลเชิงลึกในระดับรากหญ้า โดยสำนักงานฯ ได้เริ่มกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ที่นำเอาหลักการวางแผนยุทธศาสตร์มาปรับใช้นับตั้งแต่ปลายปี 2547 เป็นต้นมา
การจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 เป็นกระบวนการที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม ในการร่วมคิด ร่วมจัดทำ และร่วมผลักดันแผนไปสู่การปฏิบัติ สำนักงานฯ จึงได้วางขั้นตอนกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 โดยเปิดโอกาสให้มีการระดมความคิดอย่างกว้างขวางในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชน ระดับภาค และระดับประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลัก คือ
1.1 ขั้นกำหนดวิสัยทัศน์และทิศทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งเน้นกระบวนการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในสังคมทุกระดับ โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม 2548
1.2 ขั้นยกร่างรายละเอียดยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 โดยจัดตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างแผนในแต่ละยุทธศาสตร์ และระดมความคิดเห็นกับกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อประมวลผลยกร่างเป็น "ร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10" เสนอในการประชุมประจำปี 2549 ของสำนักงานฯ ในเดือนมิถุนายน 2549
1.3 ขั้นอนุมัติและประกาศใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ภายในเดือนตุลาคม 2549
การดำเนินงานในขั้นกำหนดวิสัยทัศน์และทิศทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ขณะนี้มีความก้าวหน้าไปมากแล้ว โดยล่าสุดสำนักงานฯ ได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นเพิ่มเติมในระดับภาคทั้ง 4 ภาค ในช่วงเดือนธันวาคม 2548 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นที่จะนำไปสู่การกำหนดกรอบแนวคิดและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 พร้อมทั้งวางบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนาต่างๆ ในการพัฒนาประเทศอย่างเหมาะสมต่อไป
2 สถานการณ์การพัฒนาประเทศ
2.1 ผลการพัฒนาประเทศ
การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1-9 ที่ผ่านมา พบว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่บนพื้นฐานของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสิ้นเปลือง ยังขาดความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการใช้ทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคม และทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เน้นทางด้านปริมาณมากกว่าคุณภาพ ส่งผลให้ทุนต่างๆ ได้สูญหายหรือลดน้อยลงไปเป็นจำนวนมาก อีกทั้งทุนที่มีอยู่ก็ไม่ได้รับการเสริมสร้างให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศเท่าที่ควร ที่สำคัญคือ
(1) ด้านเศรษฐกิจ การเร่งขยายตัวเชิงปริมาณ ทำให้เกิดความไม่สมดุลและเป็นความเสี่ยง เศรษฐกิจไทยยังคงพึ่งพาปัจจัยภายนอก ขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศขาดความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในกระแสโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เกิดการสะสมทุนอย่างต่อเนื่องในประเทศเท่าที่ควร ทุนการเงินของประเทศจากการออมยังไม่สามารถเพิ่มขึ้นทันต่อความต้องการเงินเพื่อการลงทุน และทุนด้านแรงงานยังมีปัญหาการปรับตัวให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ทำให้ผลตอบแทนสุทธิจากการลงทุนอยู่ในระดับต่ำ
(2) ด้านสังคม ปัจจุบันภูมิคุ้มกันของคนและสังคมไทยลดลง ยังใช้ทุนทางสังคมที่มีอยู่มาเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งตนเองน้อย ถึงแม้ว่าในภาพรวมคนไทยมีการศึกษาสูงขึ้น แต่การพัฒนาคุณภาพคนยังไม่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งองค์ความรู้ของคนไทยยังไม่พร้อมที่จะเข้าสู่สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ได้อย่างเหมาะสม ส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
(3) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้อย่างสิ้นเปลือง ขาดความสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ฟื้นฟู ขณะที่คุณภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม โดยเฉพาะคุณภาพอากาศ แหล่งน้ำในเมืองใหญ่ และปริมาณกากของเสียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนความไม่สมดุลของการพัฒนาที่จะนำไปสู่ความไม่ยั่งยืนในอนาคต
2.2 บริบทการเปลี่ยนแปลงต่อทิศทางการพัฒนาประเทศ
การพัฒนาในระยะต่อไป ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับบริบทการเปลี่ยนแปลงในหลายด้านที่สำคัญ และจะมีผลกระทบทั้งที่เป็นโอกาสและข้อจำกัดต่อการพัฒนาทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคม และทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ซึ่งจะต้องมีการเตรียมความพร้อมและรู้จักนำศักยภาพที่มีอยู่มาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน แนวโน้มบริบทการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว พิจารณาได้ดังนี้
(1) การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและการเงินของโลก จะส่งผลให้การแข่งขันทางการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยการก่อตัวของศตวรรษแห่งเอเชีย (Asian Century) ที่มีจีนและอินเดียวเป็นตัวจักรใหม่ที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก จะเป็นโอกาสให้ประเทศไทยดำเนินนโยบายการค้าและการลงทุนที่สร้างเครือข่ายกับทั้งสองประเทศ ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งสร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่คล่องตัว และมีเสถียรภาพ ขณะที่การขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การผลิตสินค้าและบริการ จะนำไปสู่ความต้องการใช้ทรัพยากรมากขึ้น เกิดการขัดแย้งแย่งชิงทรัพยากรระหว่างภาคการผลิต และระหว่างเมืองกับชนบท ส่งผลกระทบต่อทุนทรัพยากรที่จะขาดแคลนมากขึ้นในอนาคต เช่นเดียวกันกับการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งลงทุนของอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองและก่อมลพิษสูง ซึ่งจะกลายเป็นมลพิษที่สะสมและทวีความรุนแรงจนเป็นภาระในการกำจัดต่อไป
(2) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะกระทบต่อการปรับตัวของประเทศไทยที่มีรากฐานด้านเทคโนโลยีที่อ่อนแอ หากไม่มีการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างจริงจัง จะทำให้ต้องพึ่งพาต่างประเทศมากขึ้น ขณะที่ความก้าวหน้าของนาโนเทคโนโลยีและเทคโนโลยีชีวภาพ จะมีส่วนช่วยในการประหยัดการใช้ทรัพยากร และเป็นโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ ที่สร้างความเชื่อมโยงเทคโนโลยีและนวัตกรรมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ และอาจเป็นข้อจำกัดจากปัญหาสิทธิบัตรและการแข่งขันผลประโยชน์ ทำให้ประเทศต้องสูญเสียผลประโยชน์อย่างมหาศาลได้
(3) การเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและโครงสร้างประชากร โครงสร้างประชากรที่กำลังเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมผู้สูงอายุ สร้างโอกาสให้ผู้สูงอายุเป็นทุนทางสังคมในการถ่ายทอดประสบการณ์ และปลูกฝังค่านิยมที่ดีงามแก่คนรุ่นหลัง รวมทั้งเป็นช่องทางการขยายตัวของตลาดอาหารสุขภาพ สมุนไพร และการแพทย์พื้นบ้าน โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ขณะเดียวกันจะส่งผลให้ภาระพึ่งพิงของประชากรสูงอายุอยู่ในระดับสูง ซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมให้คนไทยทุกช่วงอายุสามารถเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุได้อย่างเหมาะสม
(4) การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ในขณะที่อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น เกิดการปรวนแปรของสภาพภูมิอากาศ อาจส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ปรากฏการณ์เอลนิโญ ลานิญา เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งจะส่งผลต่อการเสียสมดุลของระบบนิเวศ และทำให้อัตราการสูญพันธ์ของสิ่งมีชีวิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้พลังงานในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จะส่งผลในทางลบต่อสภาวะแวดล้อม จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาพลังงานทางเลือกที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงของพลังงานของประเทศ
(5) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค กระแสการรักษาสุขภาพและความนิยมธรรมชาติช่วยให้เกิดความตระหนักในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเป็นโอกาสในการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นในการผลิตสินค้าสุขภาพ และการดูแลสุขภาพของคนไทย ซึ่งจะเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ โดยมีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญ
ทั้งนี้ ในการเตรียมพร้อมรองรับบริบทการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ประเทศไทยจำเป็นต้องกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่เหมาะสม โดยนำจุดแข็งและโอกาสของทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคม และทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในประเทศ มาเป็นภูมิคุ้มกันและพัฒนาให้เป็นประโยชน์ เพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้อย่างรู้เท่าทัน
3 กรอบแนวคิดการพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10
การประเมินผลการพัฒนาประเทศ และการวิเคราะห์บริบทการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต ได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงศักยภาพและโอกาสของทุนที่มีอยู่ในประเทศ ทั้งทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคม และทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาและเสริมสร้างให้เป็นประโยชน์กับการพัฒนาประเทศได้ โดยการพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 จำเป็นต้องสร้าง "ความสมดุล และภูมิคุ้มกัน" ให้เกิดขึ้นกับคน สังคม ระบบเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยมุ่งรักษาสมดุลระหว่างความพอเพียงและการแข่งขัน ภายใต้การคำนึงถึงสภาวะการเปลี่ยนแปลงของบริบทการพัฒนาทุกด้านอย่างครบถ้วน บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมในทุกระดับ เพื่อให้สังคมไทยดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
3.1 จุดมุ่งหมาย
การพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 จะมุ่งพัฒนาสู่ "สังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน (Green Society)" โดยให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลของการพัฒนาให้เกิดขึ้นในทุกมิติ ทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุขของคนไทย และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนตลอดไป
3.2 แนวคิดพื้นฐาน
แนวคิดพื้นฐานของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ยังคงยึด "คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา" และน้อมนำ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" มาเป็นแนวปฏิบัติในการบริหารและพัฒนาประเทศต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 โดยมีการขับเคลื่อนให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติในแต่ละยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
(1) การดำเนินการในทางสายกลาง ที่อยู่บนพื้นฐานความพอดี เน้นการพึ่งตนเองเป็นหลัก มีการเตรียมพร้อมทั้งคนและระบบที่ดีเพื่อก้าวทันในยุคโลกาภิวัตน์
(2) ความสมดุลและความยั่งยืน เน้นการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม มีความหลากหลายและกระจายความเสี่ยง มีการใช้ทุนที่มีอยู่ในสังคม ทั้งทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทุนทางสังคม และทุนทางเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตที่ดีงาม
(3) ความพอประมาณอย่างมีเหตุผล เป็นการใช้ชีวิต การผลิต และการบริโภคอยู่บนความพอประมาณ มีเหตุผล ไม่มากไม่น้อยเกินไป
(4) การมีภูมิคุ้มกันและรู้เท่าทันโลก เป็นการเตรียมความพร้อมของคนและสังคมให้สามารถรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศ ให้รู้เขา รู้เรา เพื่อป้องกันหรือลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น มีความยืดหยุ่นในการปรับตัว รวมทั้งเลือกสิ่งที่ดีมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์
(5) การเสริมสร้างคุณภาพคน ให้เป็นคนดี มีคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เอื้อเฟ้อเผื่อแผ่ มีความอดทน มีความเพียร มีวินัย มีสติ ตั้งอยู่ความไม่ประมาท มีการพัฒนาปัญญาและความรู้อย่างต่อเนื่อง
3.3 หลักการของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10
แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ให้ความสำคัญกับ การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม (Collaborative Effort) ในทุกระดับ ภายใต้หลักการที่สำคัญ คือ การร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมผลักดัน ตามบทบาทและความรับผิดชอบของแต่ละภาคส่วนที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างบูรณาการ
ทั้งนี้ แนวคิด ทิศทาง และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 จะมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนการบริหารราชการแผ่นดิน (พ.ศ.2548-2551) ซึ่งเป็นทิศทางการปฏิบัติงานของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐในระยะเวลา 4 ปี โดยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 จะมีกรอบระยะเวลายาวกว่าและเพิ่มเติมยุทธศาสตร์การพัฒนา กระบวนการ รวมทั้งบทบาทภาคีการพัฒนาต่างๆ ให้ครอบคลุมกว้างขวางยิ่งขึ้น
4 ทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10
การกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 จำเป็นต้องวางยุทธศาสตร์ให้คนและสังคมไทยสามารถปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างรู้เท่าทัน ภายใต้หลัก "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" โดยให้ความสำคัญกับการพึ่งตนเอง การมีภูมิคุ้มกัน และการสร้างสมดุลของการพัฒนาให้เกิดขึ้นในทุกมิติ ควบคู่ไปกับการนำทุนที่มีอยู่แล้วในสังคมไทยทั้งทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคม และทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และเสริมสร้างให้เข้มแข็ง โดยวางแนวทางการพัฒนา และเสริมสร้างทุนทั้ง 3 ลักษณะดังกล่าว ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคม รวมทั้งระดับประเทศ เพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนต่อไป ดังนี้
4.1 ทุนทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วยทุนทางกายภาพ (Physical capital) ทุนหรือสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Capital/assets) สินทรัพย์ที่ไม่สามารถจับต้องได้ทางกายภาพ แต่สามารถอ้างสิทธิประโยชน์ได้ในอนาคต (Intangible Capital) และแรงงาน/ทรัพยากรมนุษย์
(1) แนวทางการเสริมสร้างทุนทางเศรษฐกิจ การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพ มีเสถียรภาพ จะต้องเป็นการเติบโตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนได้ในระยะยาว มีการกระจายการพัฒนาอย่างทั่วถึงและอำนวยประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ รวมถึงมีแบบแผนการผลิตและบริโภคที่เหมาะสม อยู่บนพื้นฐานของการอนุรักษ์ฟื้นฟูและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีข้อเสนอแนะแนวทางการเสริมสร้างทุนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ดังนี้
(1.1) การเสริมสร้างทุนทางกายภาพ ประกอบด้วย
การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและแข่งขันได้ โดยปรับโครงสร้างภาคเกษตร ที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีเกษตร การลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการรวมกลุ่มและสร้างความร่วมมือในลักษณะคลัสเตอร์ การปรับโครงสร้างการท่องเที่ยว การบริการ และการค้า รวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนการผลิต
ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงรุก ส่งเสริมความสัมพันธ์กับนานาประเทศ และส่งเสริมความร่วมมือภายใต้กรอบพหุภาคีและการสร้างบทบาทไทยในเวทีโลก
การพัฒนากฎหมายและส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยปรับปรุงกฎหมาย ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม ป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาลในภาคเอกชนและสังคม
(1.2) การเสริมสร้างทุนทางการเงิน ประกอบด้วย
การรักษาเสถียรภาพภายนอกด้านดุลบัญชีเดินสะพัด และเงินสำรองระหว่างประเทศ โดยดูแลการบริโภค การลงทุน และการนำเข้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และมีการบริหารจัดการเงินสำรองระหว่างประเทศให้เกิดผลตอบแทนที่ดีในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
การติดตามและกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุน โดยเฉพาะเงินทุนระยะสั้น ให้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ
เปิดโอกาสให้สถาบันการเงินไทยทำธุรกรรมการเงินใหม่ๆ เพื่อให้มีเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย โดยมีการกำกับดูแลให้มีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
ส่งเสริมการออมในประเทศ โดยมีมาตรการขยายการออมเพื่อการเกษียณอายุ มีระบบการค้ำประกันเงินฝากแบบจำกัดจำนวน และมีกลไกกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ให้บริการประชาชนครบทั้งระบบ
การระดมทุนและจัดสรรทุนให้ภาคการผลิต โดยใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นกลไกสนับสนุน SMEs สร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรการเงินระดับฐานราก เพื่อการพัฒนาชุมชนในระยะยาว
(1.3) การเสริมสร้างทุนที่เป็น Intangibles (สินทรัพย์ที่ไม่สามารถจับต้องได้) โดยพัฒนาหลักสูตรหรือเร่งผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นฐานรองรับการพัฒนาและวิจัย รวมทั้งการพัฒนาครู-อาจารย์ที่มีคุณภาพ ส่งเสริมภาคเอกชนให้มีการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพิ่มขึ้น โดยจัดกลไกหรือแหล่งเงินทุนสนับสนุนอย่างเพียงพอในทุกขั้นตอนของการพัฒนานวัตกรรม วางแนวทางในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้เหมาะสมกับการพัฒนาประเทศ และส่งเสริมการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ โดยการจัดสรรทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการดัดแปลง ปรับปรุงและพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีที่มีอยู่ในสาขาการผลิตที่สำคัญ
(1.4) การพัฒนาแรงงาน/ทรัพยากรมนุษย์ โดยการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาฝีมือแรงงานทั้งแรงงานภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร ให้รองรับต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และให้แรงงานไทยไปแข่งขันในตลาดแรงงานต่างประเทศได้ รวมทั้งอนุรักษ์ สืบทอดประเพณี วัฒนธรรมที่ดีงาม และพัฒนาภูมิปัญญาให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
(2) บทบาทการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนา
ภาครัฐ สร้างความรู้ ความเข้าใจและให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล แนวปฏิบัติ และบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องชัดเจน รวมทั้งตัดสินใจในทางเลือกของผลประโยชน์ส่วนรวมระหว่างการเพิ่มรายได้จากการผลิต กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สถาบันการศึกษา เป็นแกนนำชุมชนในการนำทุนและการวิจัยที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาศึกษาวิจัยต่อยอด เพื่อรองรับการผลิตและสร้างภูมิคุ้มกันในท้องถิ่น
ภาคธุรกิจเอกชน สนับสนุนการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในสถานประกอบการให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น
ภาคประชาชน มีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนาเพื่อสะท้อนความต้องการของชุมชน รวมทั้งมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดสรรงบประมาณและติดตามการทำงานของรัฐ
สื่อมวลชน สร้างระบบการสื่อสารนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการจากภาครัฐสู่ชุมชนในแต่ละระดับอย่างต่อเนื่องและตรงกับข้อเท็จจริง
(3) ประเด็นที่ต้องทำความชัดเจนเพิ่มเติม
การออมเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจในการรองรับต่อการรวมกลุ่มทางการค้าและทางการเงิน
แนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มและการเพิ่มผลิตภาพการผลิตให้ภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการที่ชัดเจน
แนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
4.2 ทุนทางสังคม เกิดจาก การรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ บนฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจสายใยความผูกพัน และวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมไทยผ่านระบบความสัมพันธ์ในองค์ประกอบหลัก ได้แก่ คน สถาบัน วัฒนธรรม และองค์ความรู้ ซึ่งจะเกิดเป็นพลังชุมชนและสังคม โดยองค์ประกอบหลักทั้ง 4 ด้านมีบทบาทและยึดโยงให้เกิดทุนทางสังคม
(1) แนวทางการเสริมสร้างทุนทางสังคม โดยพิจารณาบทบาทของทุกภาคส่วนทั้งในระดับครอบครัว ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพสมาชิกในครอบครัวให้มีความพร้อมทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ชุมชน ซึ่งมีบทบาทในการสร้างความมั่นคงในชีวิตให้คนในประเทศ โดยมีข้อเสนอแนะแนวทางในการเสริมสร้างทุนทางสังคมที่สำคัญ ดังนี้
การเพิ่มคุณภาพและศักยภาพคน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนในทุกมิติ ทั้งจิตใจ สติปัญญา และสุขภาพอนามัย โดยสร้างคนดีด้านคุณธรรม จริยธรรมในทุกระดับ เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน และสังคม และเชิดชูผู้ที่เป็นแบบอย่างที่ดี การสร้างทัศนคติที่ดีในการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาประเทศ การสร้างภูมิคุ้มกันผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งสร้างความตระหนักถึงคุณค่าแห่งตนและจิตสำนึกในการดำรงชีวิตบนพื้นฐานของศีลธรรมอันดีงาม รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาคนให้มีพัฒนาการด้านสุขภาพที่เหมาะสมตามช่วงวัย
การส่งเสริมบทบาทสถาบันหลักทางสังคม โดยเสริมสร้างความเข้มแข็งสถาบันทางสังคม และเชื่อมโยงบทบาทให้สถาบันทางสังคมในการพัฒนาสังคม ส่งเสริมการปฏิบัติตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ ต้องปลูกฝังความรักชาติ ยอมรับความคิด วัฒนธรรมที่แตกต่างและเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างภาคีการพัฒนาในทุกระดับ
การอนุรักษ์ ฟื้นฟูวัฒนธรรมที่ดีงามของไทย เพิ่มเติมกระบวนการถ่ายทอดความรู้/ภูมิปัญญาท้องถิ่นของปราชญ์/ผู้รู้สู่คนรุ่นใหม่ผ่านศูนย์การเรียนรู้และการจัดการความรู้ในชุมชน เชื่อมโยงกับการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา ให้มีการสนับสนุนเด็กที่มีแววอัจฉริยะด้านศิลปวัฒนธรรมควบคู่กับการถ่ายทอดวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่ดีงามให้แก่เด็กและเยาวชน เพิ่มบทบาทภาคีการพัฒนาในการรณรงค์ รักษา เฝ้าระวัง ฟื้นฟูคุณค่าทางวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ความเป็นไทย
การพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และภูมิปัญญา จัดการองค์ความรู้ในชุมชนให้เป็นระบบที่ชุมชนเป็นเจ้าของ และต้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งในการดำรงชีวิต การพัฒนาศักยภาพชุมชน และสร้างสรรค์มูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสนับสนุนงานวิจัยพื้นบ้าน การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมโดยมีนักวิจัยท้องถิ่นเข้าร่วม นำไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งนำผลงานวิจัยไปสู่การพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่น
สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเพิ่มทุนทางสังคม เสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการพัฒนาบุคลากรให้มีวินัย รับผิดชอบ ซื่อสัตย์สุจริต เสริมสร้างสุขภาวะของประชาชนที่เน้นความร่วมมือระหว่างปัจเจกและชุมชน ให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีทั้งกายและจิตใจในทุกกลุ่มอายุ
(2) บทบาทการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนา
ภาคประชาชน ร่วมพัฒนาคนในชุมชนให้มีคุณภาพพร้อมเป็นทุนทางสังคม ร่วมเสริมสร้างความเข้มแข็งให้บ้าน วัด โรงเรียน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นสถาบันทางสังคมที่มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนา และร่วมจัดการองค์ความรู้ สืบค้นเอกลักษณ์และทุนทางสังคมของแต่ละชุมชน
ภาครัฐ ต้องมีบทบาทในการเชื่อมโยงการพัฒนาทุนทางสังคม ทุนเศรษฐกิจ และทุนทรัพยากรธรรมชาติให้เกื้อหนุนการพัฒนาประเทศ
ภาคเอกชน จัดทำบรรษัทภิบาลในองค์กร และควรมีบทบาทในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
สื่อ ใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ เป็นแกนรับฟังความคิดและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน บุคลากรสื่อควรมีจิตสำนึกและความรับผิดชอบในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคม
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการพัฒนาคน องค์ความรู้ วัฒนธรรม และสถาบันต่างๆ สนับสนุนกระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับชุมชน รวมทั้งพัฒนาศักยภาพและทัศนคติของผู้บริหารและบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
นักวิชาการ/สถาบันการศึกษาทำการวิจัยร่วมกับชุมชน เป็นแหล่งข้อมูลของชุมชนและที่ปรึกษาทางวิชาการ สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ชุมชน และสนับสนุนให้ชุมชนมีศักยภาพในการจัดการความรู้ รวมทั้งสร้างหลักสูตรการเรียนการสอน โดยนำวิถีชีวิตในแต่ละท้องถิ่นมาใช้เป็นสื่อในการเรียนรู้
(3) ประเด็นที่ต้องทำความชัดเจนเพิ่มเติม
การสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อเตรียมรับสังคมผู้สูงอายุ
การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างทุนทางสังคมกับทุนทางเศรษฐกิจ และทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้วัฒนธรรมเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ การสร้างพลังร่วมเพื่อการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
แนวทางการปฏิบัติตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในระดับครอบครัว ชุมชน และประเทศ
บทบาทของภาคีการพัฒนาในการขับเคลื่อนทุนทางสังคม เช่น สื่อ ธุรกิจเอกชน
4.3 ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพจะเป็นประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ความหลากหลายทางชีวภาพ หมายถึง ความหลากหลายของชนิดพันธุ์ พันธุกรรม และระบบนิเวศ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับทุนทางสังคม เพราะเป็นที่มาของภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิธีการดำรงชีวิตของชุมชน เป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตทั้งเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ รวมทั้งเป็นปัจจัยพื้นฐานการผลิตและการดำรงชีวิตที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์การแข่งขันและการค้าระหว่างประเทศ
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ