ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก และแนวโน้มปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 25, 2009 15:31 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

-เศรษฐกิจไทยหดตัวร้อยละ 7.1 ในไตรมาสแรกปี 2552 รุนแรงกว่าที่หดตัวร้อยละ 4.2 ในไตรมาสสุดท้ายปี 2551 การหดตัวที่รุนแรงกว่าที่คาดเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยรุนแรงมากขึ้นและทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยหดตัวลงมาก และมีผลกระทบต่อเนื่องที่ทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนลดลงและสาขาเศรษฐกิจต่าง ๆ ของไทยได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง

-ภาคธุรกิจเอกชนลดการลงทุนลงอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมซึ่งความต้องการสินค้าและการผลิตเพื่อการส่งออกลดลงมาก จึงได้ส่งผลให้มีกำลังการผลิตส่วนเกินเพิ่มขึ้นมากและมีการเลิกจ้างงานในอุตสาหกรรมสำคัญ และอัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น

-แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในไตรมาสแรกปีนี้กับไตรมาสก่อนหน้าพบว่าลดลงร้อยละ 1.9 จากที่ลดลงถึงร้อยละ 6.1 ในไตรมาสก่อนหน้าชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ช่วงต่ำสุดซึ่งจะเป็นการปรับตัวเข้าสู่ภาวะที่มีเสถียรภาพก่อนที่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในครึ่งหลังของปีโดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากอัตราการขยายตัวไตรมาสต่อไตรมาสที่มีโอกาสจะเป็นบวกในครึ่งหลัง

-ปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลัง ประกอบด้วย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการดำเนินมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ซึ่งเป็นระยะที่มุ่งเน้นการขยายการลงทุนภาครัฐในระยะปานกลาง รวมทั้งการปรับเพิ่มปริมาณการผลิตภายหลังจากที่ได้ใช้สินค้าคงคลังไปมากแล้ว ทั้งนี้โดยมีปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ ได้แก่ ราคาสินค้าที่ลดลง และอัตราดอกเบี้ยต่ำ

-คาดว่าทั้งปี 2552 เศรษฐกิจไทยจะหดตัวประมาณร้อยละ (-3.5)-(-2.5) โดยที่เฉลี่ยในครึ่งแรกของปีเศรษฐกิจหดตัวมากแต่จะฟื้นตัวดีขึ้นและมีโอกาสกลับมาขยายตัวในครึ่งหลัง ทั้งนี้การขยายตัวเป็นบวกในครึ่งหลังนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญคือ การดำเนินมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และการฟื้นตัวที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจโลก โดยที่ประสิทธิผลของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจนั้นจะขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของประชาชนและเสถียรภาพทางการเมืองเป็นสำคัญ

-คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2552 จะอยู่ในระดับร้อยละ (-0.5)-(0.5) เป็นผลจากการที่ราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ลดลง ในขณะที่ความต้องการสินค้าและบริการชะลอตัวลงมาก ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลสูงถึง 9.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 3.7 ของ GDP จากการเกินดุลการค้าในระดับสูงและการปรับตัวดีขึ้นของดุลบริการที่เกิดจากรายได้จากการท่องเที่ยว

-การบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีจะต้องมุ่งเน้นในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐอย่างต่อเนื่องและเร่งรัดเตรียมความพร้อมให้โครงการภาครัฐสามารถที่จะดำเนินการได้อย่างจริงจังและให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินโครงการภาครัฐ

1. ภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2552

1.1ในไตรมาสแรกปี 2552 เศรษฐกิจไทยเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรงที่ฉุดให้การส่งออกและการท่องเที่ยวลดลงมากและส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศให้หดตัวลงตาม และทำ ให้เศรษฐกิจโดยรวมหดตัวรุนแรงกว่าที่คาด

ประเด็นหลัก

  • ภาวะเศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรกปี 2552 ถดถอยเป็นวงกว้างและรุนแรงมากกว่าในไตรมาสสุดท้ายปี 2551 โดยหดตัวประมาณร้อยละ 4.0 แต่ในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนได้เริ่มมีสัญญาณบวกเกิดขึ้นบ้างในหลายประเทศเช่น ความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวในอัตราที่รุนแรงน้อยลง และสต็อกสินค้าลดลง รวมทั้งสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรปมีความจำเป็นในการเพิ่มทุนเป็นจำนวนที่น้อยลงและลดแรงกดดันต่อภาวะตลาดการเงินโลก

ในไตรมาสแรกวิกฤตทางการเงินโลกที่ส่งผลให้เกิดภาวะเครดิตตึงตัวและขาดสภาพคล่องในภาคสถาบันการเงิน ความมั่งคั่งของประชาชนลดลงและขาดความเชื่อมั่น ได้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยทำให้มีการใช้จ่ายและการลงทุนลดลงรวมทั้งปรับลดการผลิตลงมาก จึงทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินในระดับสูง และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ในหลายประเทศ ความต้องการสินค้าและบริการที่ลดลงในประเทศเศรษฐกิจหลัก ๆ ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องให้ปริมาณการค้าระหว่างประเทศลดลงมากและต่อเนื่องถึงกันเป็นลูกโซ่โดยเฉพาะประเทศผู้ส่งออกสำคัญในเอเชียนั้นได้รับผลกระทบที่ทำให้การส่งออกลดลงมากและต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน การดำเนินมาตรการเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ได้แก่ (i) การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างรวดเร็วจนกระทั่งในหลายประเทศ (เช่น สหรัฐฯ และญี่ปุ่น) อัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าใกล้ระดับร้อยละ 0 (ii) การอัดฉีดสภาพคล่องโดยการให้สินเชื่อโดยตรงเพื่อเพิ่มปริมาณเงินในระบบ (Quantitative easing) และการเข้าไปเพิ่มทุนหรือการให้กู้แก่สถาบันการเงินโดยตรงโดยภาครัฐ และ (iii) การดำเนินนโยบายการคลังผ่อนคลายทั้งการปรับลดภาษีการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายรัฐบาลทั้งรายจ่ายประจำและลงทุน โดยที่ประเทศต่าง ๆ ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนภาครัฐเพื่อยกระดับคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานของประเทศควบคู่ไปด้วยเพื่อการเพิ่มผลิตภาพและการแข่งขันในระยะยาว ซึ่งเป็นที่คาดว่าผลของการดำเนินมาตรการการเงินและการคลังผ่อนคลายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจะมีประสิทธิผลเป็นรูปธรรมมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีและผลที่เกิดขึ้นจะเป็นการสนับสนุนซึ่งกันและกันของประเทศต่าง ๆ โดยผ่านทางการค้าระหว่างประเทศและทำให้เกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็งมากขึ้น

-เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2552 หดตัวร้อยละ 7.1 ต่อเนื่องจากการหดตัวร้อยละ 4.2 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 การหดตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกนั้นรุนแรงกว่าที่คาดไว้เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยที่รุนแรงมากขึ้นและล่าสุดในเดือนเมษายนองค์กรการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ได้ปรับลดการประมาณการเศรษฐกิจโลกลงจากที่คาดไว้ในเดือนมกราคมว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.5 มาเป็นการหดตัวร้อยละ 1.3 ในปี 2552 ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยได้ส่งผลกระทบให้ปริมาณการค้าโลกหดตัวมากโดยที่ทั้งมูลค่าและปริมาณการส่งออกและการนำเข้าหดตัวลงมากในหลายประเทศต่อเนื่องจากที่เริ่มหดตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ในขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนนั้นชะลอลงมากและถึงขนาดหดตัวในหลายประเทศ ดังนั้นในไตรมาสแรกของปีนี้การส่งออกของไทยจึงลดลงมากทั้งปริมาณและมูลค่า โดยที่การส่งออกในทุกตลาดสำคัญลดลง และสินค้าออกสำคัญหลายรายการลดลง การส่งออกและการผลิตที่หดตัวรุนแรงมากกว่าที่คาดไว้ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องให้ต้องมีการลดชั่วโมงการทำงานและเลิกจ้างงาน รายได้และกำลังซื้อของประชาชนจึงลดลง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจลดลงและอยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะเมื่อถูกซ้ำเติมโดยปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในประเทศ ดังนั้นในไตรมาสแรกการใช้จ่ายครัวเรือนและการลงทุนของภาคธุรกิจเอกชนจึงลดลงมากกว่าที่คาดไว้ ในไตรมาสแรกนี้การหดตัวลงอย่างรวดเร็วของการส่งออกและผลกระทบต่อเนื่องที่ทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนของภาคธุรกิจเอกชนลดลงจึงเป็นองค์ประกอบหลักที่ทำให้เศรษฐกิจหดตัวรุนแรงกว่าที่คาดไว้เดิม

อย่างไรก็ตามหากปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้วปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2552 โดยเปรียบกับในไตรมาสก่อนหน้านั้นลดลงร้อยละ 1.9 ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 6.1ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ซึ่งนับว่าเป็นการถดถอยทางเทคนิค(technical recession) แต่อย่างไรก็ตามการหดตัวในอัตราที่ช้าลงนั้นชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังปรับตัวเข้าสู่ภาวะที่มีเสถียรภาพมากขึ้นและมีโอกาสที่จะผ่านพ้นจุดต่ำสุดได้ในไตรมาสสองของปีนี้ก่อนที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในครึ่งหลังของปี (QoQ)

  • ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวมากในไตรมาสแรกปี 2552

(1) ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรงทำให้การส่งออกสินค้าและบริการท่องเที่ยวของไทยหดตัวมากกว่าในไตรมาสที่ 4/51

  • ผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินของโลกต่อภาคเศรษฐกิจจริงของประเทศต่าง ๆ มีความรุนแรงมากขึ้นกว่าในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว โดยที่เศรษฐกิจโลกโดยรวมหดตัวร้อยละ 4.0 ต่อเนื่องจากที่เริ่มเข้าสู่ภาวะการหดตัวเพียงร้อยละ 0.2 ในไตรมาส 4/51 ทั้งนี้เนื่องจากความเชื่อมั่นและความมั่งคั่งที่ลดลง และตลาดสินเชื่อตึงตัวมากขึ้นจึงทำให้การใช้จ่าย การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศของหลายประเทศลดลงมากและมีผลกระทบต่อเนื่องกับประเทศต่าง ๆ เป็นวงกว้างมากขึ้น เศรษฐกิจหลักที่หดตัวรุนแรงในไตรมาสแรก ได้แก่เศรษฐกิจสหรัฐฯ (-2.6%) อังกฤษ (-4.1%)ญี่ปุ่น (-9.7%) กลุ่มยูโรโซน (-4.6%) สิงคโปร์ (-10.1%)เกาหลีใต้ (-4.3%) และไต้หวัน (-10.2%) เป็นต้น ในขณะที่เศรษฐกิจจีน อินเดีย และเวียตนามก็ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงมากต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้วโดยมีการขยายตัวร้อยละ 6.1, 3.7 และ 3.1 ตามลำดับ ผลกระทบปัญหาเศรษฐกิจการเงินโลกต่อการค้าโลกนั้นรุนแรงมากขึ้น โดยที่ในไตรมาสแรกการค้าระหว่างประเทศลดลงมากอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในเดือนมีนาคม มูลค่าการส่งออกของหลายประเทศยังลดลงมาก เช่น ญี่ปุ่น (-46.2%) จีน (-17.1% และ -22.6% ในเดือนเมษายน) เกาหลีใต้ (-22% และ -19% ในเดือนเมษายน)ไต้หวัน(-36.1%) สิงคโปร์ (-28.1%) และมาเลเซีย (-26%) ซึ่งมีผลต่อเนื่องให้ประเทศต่าง ๆ ต้องลดการผลิตลง และมีกำลังการผลิตส่วนเกินในระดับสูงรวมทั้งมีการเลิกจ้างแรงงานมากขึ้นอัตราการว่างงานในหลายประเทศจึงเพิ่มสูงขึ้น เช่นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยูโรโซนมีอัตราการว่างงานร้อยละ 8.51, 4.8และร้อยละ 8.9 ตามลำดับ
  • เศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรงได้ส่งผลกระทบให้การส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวของประเทศไทยหดตัวลงมากในไตรมาสแรกของปีนี้ต่อเนื่องจากที่มีการหดตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว โดยที่ปริมาณการส่งออกของไทยลดลงร้อยละ 17.9 (จากที่หดตัวร้อยละ 8.9 ในไตรมาส 4/51) และมูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 19.3 รุนแรงมากขึ้นเมื่อเทียบกับที่ลดลงร้อยละ 9.4 ในไตรมาส 4/51 สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงไตรมาสแรกนั้น มีจำนวน 3.7 ล้านคนลดลงร้อยละ 15.2 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเมื่อเทียบกับที่ลดลงร้อยละ 19.4 ในไตรมาส 4/51 ก็นับว่าผลกระทบต่อเนื่องจากการปิดสนามบินนั้นได้บรรเทาลงและเป็นผลกระทบที่น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม นอกจากนี้ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และความต้องการบริโภคที่ลดลง รวมทั้งราคาน้ำมันดิบที่ลดลงมากได้ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรสำคัญของไทยลดลงอย่างชัดเจน ได้แก่ ราคาข้าวโพด มันสำปะหลังยางพารา และปาล์มน้ำมัน (ราคาที่เกษตรกรขายได้ลดลงร้อยละ 18.4, 44.1, 45 และ 37 ตามลำดับ) ในไตรมาสแรกของปีนี้รายได้เกษตรกรโดยเฉลี่ยจึงเพิ่มขึ้นน้อยมากเพียงร้อยละ 0.9 ซึ่งนับว่าชะลอลงมากเมื่อเทียบกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 19.7 และ 59.3 ในไตรมาสสามและสี่ของปีที่แล้ว (เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 33 ในปี 2551)

(2) การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 2.6 และ 17.7 ตามลำดับ จากที่มีการขยายตัวร้อยละ 2.1 และหดตัวเพียงร้อยละ 1.3 ในไตรมาสสี่ปี 2551 ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกถดถอยที่ทำให้การส่งออกและการผลิตหดตัว จึงทำให้มีกำลังการผลิตส่วนเกินสูงและมีการยกเลิกจ้างงานจำนวนมาก อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น และราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ลดลงมาก ประกอบกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงทำให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง สำหรับภาคธุรกิจเอกชนนั้นโดยรวมยังลดการลงทุนลง เนื่องจากยังขาดความเชื่อมั่นในภาวะที่เศรษฐกิจโลกและความต้องการสินค้าในตลาดโลกยังถดถอย รวมทั้งยังมีผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งด้านการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมไทย ประกอบกับสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อและบรรยากาศการระดมทุนในตลาดทุนยังไม่จูงใจ

(ยังมีต่อ).../-การผลิตของประเทศ ..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ