(ต่อ1)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก และแนวโน้มปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 25, 2009 15:55 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

  • การผลิตของประเทศจึงหดตัวลงมากในหลายสาขาได้แก่ การผลิตสาขาอุตสาหกรรม สาขาก่อสร้าง สาขาการขนส่งและสื่อสาร สาขาการค้าปลีกและค้าส่ง และกลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร สำหรับก็ตามภาคการเงินนั้นยังมีการขยายตัวแต่เป็นการขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงตามการชะลอตัวของการขยายสินเชื่อและรายได้ดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ที่ลดลง ดังจะเห็นว่าอัตราส่วนรายได้สุทธิจากดอกเบี้ยและเงินปันผลต่อสินทรัพย์สุทธิเฉลี่ย (NIM) ลดลงจากร้อยละ 3.46 ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนมาเป็นร้อยละ 2.95 ต่อปี

(1) ภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 14.9 รุนแรงกว่าที่หดตัวร้อยละ 6.8 ในไตรมาส 4/51 โดยที่การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้ภายในประเทศและอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกลดลงมาก โดยในไตรมาสแรกนี้การผลิตสินค้าอุตสาหกรมในกลุ่มที่เป็นการผลิตเพื่อการส่งออกเป็น สัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของปริมาณผลผลิตรวม และกลุ่มที่ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นสัดส่วนร้อยละ 30-60 ของปริมาณผลผลิตรวมนั้นลดลงมากถึงร้อยละ 22.3 และ 15.9 ตามลำดับ หดตัวรุนแรงขึ้นเมื่อเทียบกับการหดตัวร้อยละ 11.5 และร้อยละ 10 ในไตรมาสสี่ปี 2551 อุตสาหกรรมสำคัญที่การผลิตลดลงมาก ได้แก่ การผลิตแผงวงจรรวม หัวอ่านข้อมูล โทรทัศน์สี และเครื่องปรับอากาศและการผลิตยานยนต์และส่วนประกอบอัตราการใช้กำลังการผลิตโดยเฉลี่ยของภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสนี้จึงลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 57.8 เทียบกับร้อยละ 73.5 ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนว่ามีกำลังการผลิตเหลือในระบบมากขึ้นและจะเป็นอุปสรรคต่อการขยายการลงทุนในระยะต่อไป กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญที่อัตราการใช้กำ ลังการผลิตอยู่ในระดับต่ำ กว่าร้อยละ 50 นั้น ได้แก่ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ (45.6%) เครื่องใช้ไฟฟ้า (42.9%)ยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง (43.6%) เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (35.6%) ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง (26.1%) รองเท้า(39.6%) และเครื่องเรือน (26.5%) เป็นต้น

(2) ภาคการก่อสร้างยังหดตัวมากร้อยละ 7.9 และเป็นการหดตัวต่อเนื่อง 4 ไตรมาส แต่อย่างไรก็ตามนับว่าการหดตัวได้ลดความรุนแรงลงบ้างเมื่อเทียบกับที่หดตัวถึงร้อยละ12.8 ในไตรมาส 4/51 การหดตัวในภาคการก่อสร้างยังเป็นผลจากการที่ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงและการขยายสินเชื่อของสถาบันการเงินมีความเข้มงวดมากขึ้น ทั้งนี้ในไตรมาสแรกนี้การลงทุนในการก่อสร้างของภาคเอกชนลดลง ร้อยละ 8.2 ในขณะที่การลงทุนในการก่อสร้างของภาครัฐนั้นลดลงร้อยละ 9.4 แต่อย่างไรก็ตามเริ่มมีปัจจัยบวกสำหรับการก่อสร้าง นั่นคือราคาวัสดุก่อสร้างที่ลดลงร้อยละ 9.1 นับเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 11 ไตรมาส ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์คอนกรีตที่ลดลงร้อยละ 28.1 และ 0.1 ตามลำดับ และคาดว่าในครึ่งหลังของปีสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นจากผลการดำเนินมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของ ภาครัฐทั้งในเรื่องการลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านที่อยู่อาศัยและการลดภาษีธรรมเนียมการโอน รวมทั้งมีความคืบหน้าของการดำเนินโครงก รระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

(3) การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติส่งผลให้ภาคโรงแรมและภัตตาคารหดตัวร้อยละ 5.5 ลดความรุนแรงลงเมื่อเทียบกับที่หดตัวมากร้อยละ 7.7 ในไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้ว และเมื่อประกอบกับการลดลงของการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามภาวะการส่งออกและการนำเข้า จึงมีผลทำให้สาขาคมนาคมขนส่งและการสื่อสารหดตัวลงร้อยละ 6.5 ต่อเนื่องจากที่หดตัวถึงร้อยละ 10.6 ในไตรมาสสุดท้ายปี 2551 แต่ก็นับว่า ลดความรุนแรงลงเช่นกันเนื่องจากในไตรมาสสุดท้ายนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากการปิดสนามบินที่ทำให้การขนส่งทางอากาศหยุดชะงัก

  • เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องระวังเรื่องปัญหาการว่างงาน

(1) เสถียรภาพในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดีแต่ต้องเฝ้าระวังติดตามปัญหาการว่างงานอย่างใกล้ชิด

  • อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในไตรมาสแรกของปีเท่ากับร้อยละ -0.3 จากร้อยละ 2.1 ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมาและในเดือนเมษายน 2552 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ-0.9 ทำให้เฉลี่ย 4 เดือนแรกเงินเฟ้อเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ-0.4

แต่อย่างไรก็ตามราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มยังเพิ่มขึ้นมากในทุกรายการ โดยในไตรมาสนี้ ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10.0 ในขณะที่ดัชนีราคาหมวดที่ไม่ใช่อาหารลดลงร้อยละ 6.9 เป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการ 5 มาตรการ 6 เดือน ของรัฐบาลประกอบกับราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง ส่งผลทำให้ดัชนีราคาในหมวดพาหนะการขนส่ง น้ำมันเชื้อเพลิง และค่าน้ำ ค่าไฟ ลดลงมาก

  • อัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.1 สูงขึ้นจากอัตราการว่างงานเฉลี่ยร้อยละ 1.4 ของทั้งปี 2551 ซึ่งชี้ถึงแนวโน้มการว่างงานที่เพิ่มขึ้นในภาวะที่การผลิตและการลงทุนหดตัว

(2) เสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี : ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง

  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาสแรกปี 2552 เกินดุล 9,112 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 32,580 ล้านบาท) ซึ่งเป็นการเกินดุลการค้า 7,800 ล้านดอลลาร์ สรอ. และดุลบริการเกินดุล 1,312 ล้านดอลลาร์ สรอ. การเกินดุลในระดับสูงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมูลค่าการนำเข้าหดตัวรุนแรงกว่าการส่งออกในภาวะที่เศรษฐกิจหดตัวประกอบกับในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซานั้นรายจ่ายด้านการท่องเที่ยวและค่าเดินทางของคนไทยไปต่างประเทศลดลงมาก ในขณะที่รายรับจากการท่องเที่ยวและค่าเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลท่องเที่ยว
  • เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนเมษายนเท่ากับ 116.83 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี Net Forward Position อีก 3.58 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) ซึ่งคิดเป็นประมาณ 4.9 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และเท่ากับการนำเข้าประมาณ 12.6 เดือน
  • อัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาสแรกเฉลี่ยเท่ากับ 35.31 บาท ต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงร้อยละ 1.54 จากไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา และอ่อนค่าลงร้อยละ 8.09 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ซึ่งค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาคที่โดย

เฉลี่ยอ่อนค่าลง

  • แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2552

(1) ในปี 2552 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวต่อเนื่องในครึ่งแรกแต่จะมีโอกาสกลับมาขยายตัวเป็นบวกในครึ่งหลังคาดว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ในช่วงประมาณร้อยละ (-3.5) ถึง (-2.5) ซึ่งเป็นการปรับลดการประมาณการลงจากการขยายตัวร้อยละ (-1) ถึง (0) ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งเป็นการปรับลดการประมาณการตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยมากกว่าที่คาดไว้และได้ส่งผลกระทบให้การส่งออกของไทยหดตัวมากและเร็วกว่าที่คาดไว้เดิมโดยเฉพาะในครึ่งแรกของปี และได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องให้การใช้จ่ายและการลงทุนของภาคธุรกิจเอกชนชนหดตัวชัดเจนมากขึ้น ภาคธุรกิจได้ลดการผลิตและการจ้างงานลงมากและกระทบรายได้และกำ ลังซื้อของประชาชน กำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ในระดับสูง และเมื่อประกอบกับสถาบันการเงินมีความเข้มงวดมากขึ้นในการขยายสินเชื่อรวมทั้งความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจก็ยังอยู่ในระดับต่ำภายใต้บรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ซบเซาทำให้คาดได้ว่าการลงทุนภาคเอกชนจะยังหดตัวต่อเนื่องตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรม สาขาการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ สาขาการค้าปลีกค้าส่ง และสาขาการขนส่งทั้งนี้โดยมีประเด็นการประมาณการและความเคลื่อนไหวทาง เศรษฐกิจ ดังนี้

(1.1) เศรษฐกิจไทยหดตัวในไตรมาสแรกของปีจากแรงฉุดของการส่งออกสินค้าและบริการที่หดตัวลงมากเป็นสำคัญ จากผลกระทบภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรงที่ฉุดให้การส่งออกและการท่องเที่ยวลดลงมากและส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศให้หดตัวลงตาม และทำให้เศรษฐกิจโดยรวมหดตัวมาก

(1.2) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสองจะยังอยู่ในภาวะหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรกเนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มถดถอยต่อเนื่องและจะส่งผลให้การส่งออกและการผลิตในหลายสาขาของไทยหดตัวต่อเนื่อง กำลังการผลิตส่วนเกินจะยังสูงอยู่และไม่จูงใจให้ภาคธุรกิจเอกชนขยายการลงทุน แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสองนั้นจะลดความรุนแรงลงกว่าในไตรมาสแรกและหากเปรียบเทียบไตรมาสต่อไตรมาส (Quarter on Quarter หรือ QoQ growth) แล้วมีโอกาสที่ขยายตัวเป็นบวก เนื่องจาก

  • ในไตรมาสสองจะมีแรงสนับสนุนจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ช่วยพยุงไม่ให้การใช้จ่ายของประชาชนลดลงมากในขณะที่มีการเร่งรัดของใช้จ่ายในส่วนของกิจกรรมและโครงการของภาครัฐเองตามเป้าหมายที่วางไว้
  • เริ่มมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกนั้นอยู่ในช่วงที่เริ่มปรับตัวเข้าสู่เสถียรภาพมากขึ้นในไตรมาสสอง(Stabilization process) โดยที่คาดว่าการหดตัวของการค้าระหว่างประเทศจะลดความรุนแรงลงในช่วงปลายไตรมาสหลังจากที่หดตัวรุนแรงสุดในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน
  • อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสองของปีที่แล้วไม่สูงมาก ดังนั้นในทางเทคนิคก็จะช่วยให้อัตราการหดตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสสองของปีนี้ไม่รุนแรงมากเช่นในไตรมาสแรก

(1.3) แต่คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในครึ่งหลังของปี 2552 และช่วยให้การหดตัวของทั้งปีไม่รุนแรงมากอันเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มเติม 116,700 ล้านบาท การดำเนินมาตรการภายใต้แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนการดำเนินโครงการภายใต้กรอบแผนการลงทุนภาครัฐในระยะปานกลางระยะยาว การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย และการดูแลสภาพคล่องในภาคการเงินและการขยายสินเชื่อแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเปราะบาง

(1.4) การเพิ่มการผลิตตามวัฏจักรสินค้าคงคลัง การลดการนำเข้าและการผลิตในปริมาณที่มากกว่าการลดลงของการใช้จ่ายและการส่งออกชี้ว่าภาคธุรกิจเอกชนได้ใช้สินค้าและวัตถุดิบที่สะสมไว้ในสินค้าคงคลังทดแทนการผลิตใหม่หรือการนำเข้า โดยที่ในไตรมาสแรกมีการลดการสะสมสต็อกลงเป็นมูลค่ามากถึง 156,209 ล้านบาท ซึ่งชี้ว่าภาคธุรกิจเอกชนจะมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการผลิตในครึ่งหลังของปีและบริหารสต็อกสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จึงคาดว่าวัฏจักรการผลิตจะฟื้นตัวดีขึ้นโดยเฉพาะภายใต้การคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามโดยรวมทั้งปี 2552 การสะสมสต็อกจะต่ำ กว่าในปีที่ผ่านมามาก ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของการสะสมสต็อกจะเป็นปัจจัยฉุดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลง ในขณะที่ปริมาณการส่งออกสุทธิสินค้าจะเป็นองค์ประกอบที่สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาวะที่ปริมาณการนำเข้าลดลงมากกว่าการลดลงของการส่งออก

(1.5) แนวโน้มการปรับตัวทางเศรษฐกิจในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับนั้นคาดว่าจะสะท้อนให้เห็นในอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงไตรมาสต่อไตรมาสโดยหักลบปัจจัยทางฤดูกาลออกแล้ว (Quarter on Quarter Growth หรือ QoQ growth) เศรษฐกิจมีโอกาสที่ขยายตัวเป็นบวกได้ตั้งแต่ไตรมาสสอง และปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจ(Real GDP Level) นั้นอยู่ในระดับต่ำสุดแล้วในไตรมาส แรกของปี 2552

(1.6) แต่อย่างไรก็ตามในด้านการผลิตและการลงทุนนั้นจะต้องอาศัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความแน่นอนและชัดเจนมากขึ้นมาเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันให้เกิดการขยายการผลิตและการลงทุนได้อย่างแท้จริง โดยที่การฟื้นตัวของการผลิตและการลงทุนจะช่วยสร้างงานและสนับสนุนให้การใช้จ่ายครัวเรือนยั่งยืนต่อไปได้ ดังนั้นในภาวะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังเปราะบางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะยังมีความเปราะบางอยู่เช่นกัน

(ยังมีต่อ).../ภาวะเศรษฐกิจใน..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ