2. ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2549: มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.2 -4.7 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 4.5-4.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกิน ดุลร้อยละ 0.6 ของ GDP
2.1 ปัจจัย/เงื่อนไขเศรษฐกิจปี 2549
(1) ปัจจัยเสี่ยง/ข้อจำกัด ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจในครึ่งหลังปี 2549 ชะลอตัว ได้แก่
(1.1) ปัจจัยเสี่ยง/ข้อจำกัดจากภายนอก : ราคาน้ำมันสูงและผันผวน และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวในครึ่งหลังของปีจากผลกระทบราคาน้ำมันและผลจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศ และยังมีความเสี่ยงจากการ ปรับตัวจากปัญหาความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก
* ราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง เนื่องจาก (1) ความต้องการน้ำมันดิบยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย International Energy Agency คาดการณ์ความ ต้องการใช้น้ำมันดิบโลกในปี 2549 วันละ 84.78 ล้านบาเรล เพิ่มขึ้นวันละ 1.19 ล้านบาเรล หรือร้อยละ 1.4 จากปี 2548
โดยเป็นผลจากความต้องการของประเทศจีนและสหรัฐอเมริกาที่ยังเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ (2) กำลังการผลิตยังตึงตัวทั้งกำลังการผลิตน้ำมันดิบและกำลังการผลิตของโรงกลั่น ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2549 กำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปคที่สามารถทำการผลิตได้ทันทีในเวลา 3 เดือนมีอยู่วันละ 1.3-1.8 ล้านบาเรล จึงคาดว่ากำลังการผลิตตึงตัวจะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันส่งออกมีความผันผวนได้ง่ายต่อผลกระทบด้านการผลิตหรือแม้แต่ข่าวสารในทางลบที่เกี่ยวกับสถานการณ์การผลิต ความต้องการใช้และการสะสมสต็อก (3) สถานการณ์ความไม่แน่นอนและความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง ที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำมัน และปัญหาการก่อการร้าย เช่น ความตึงเครียดระหว่างชาติตะวันตกและอิหร่านเรื่องนโยบายนิวเคลียร์และความไม่สงบเป็นครั้งคราวในอิรักและไนจีเรีย รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างเลบานอนและอิสราเอล ซึ่งมีผลกระทบทางอ้อมในเรื่องความเชื่อมั่นในการเมืองระหว่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตามมีปัจจัยที่ชี้ว่าราคาน้ำมันจะไม่เพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันมาก ดังนี้ (1) ภาวะเศรษฐกิจจีน สหรัฐฯ และเอเชีย มีแนวโน้มชะลอตัวในครึ่งหลัง ในขณะราคาน้ำมันได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและทรงตัวในระดับสูงมากแล้ว (2) การปรับตัวของประเทศต่าง ๆ ในเรื่องการประหยัดพลังงานและการพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือกจะช่วยลดแรงกดดันลงได้บ้าง (3) ปริมาณสำรอง Crude, Middle Distillate และ Gasoline ของสหรัฐฯ ประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกยังคงอยู่สูงกว่าระดับเฉลี่ย 5 ปี และปริมาณสำรองรวมของ OECD เพิ่มขึ้นในครึ่งแรกปี 2549 และ (4) ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงตั้งแต่ต้นปี 2549 และอยู่ในระดับสูงมากแล้ว จึงคาดว่ากลุ่ม OPEC จะไม่ลดเพดานการผลิต ประกอบกับกำลังการผลิตที่พร้อมที่ทำการผลิตได้ (Surplus capacity) ของกลุ่มประเทศโอเปคที่เพิ่มขึ้นจาก วันละ 0.9-1.4 ล้านบาเรลเป็นวันละ 1.3-1.8 ล้านบาเรล ดังนั้นจากเงื่อนไขต่าง ๆ ดังกล่าวจึงประเมินว่าราคาน้ำมัน จะเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันไม่มาก
* เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวในครึ่งหลังของปี และยังมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวมากกว่าที่คาดไว้หากราคาน้ำมันยังสูงขึ้นต่อเนื่อง และการปรับตัวของสหรัฐฯในการแก้ปัญหาความไม่สมดุลซึ่งทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนได้ง่าย รวมทั้งผลจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในช่วงปีที่ผ่านมาได้ชะลอเศรษฐกิจมากขึ้นตามลำดับ จะเห็นได้ว่าอสังหาริมทรัพย์ในหลายประเทศอาทิ สหรัฐฯ จีน ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร เริ่มชะลอตัว อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้สูงในครึ่งแรก ทำให้ทั้งปี 2549 เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้สูงกว่าในปี 2548 จากการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้นมาก เศรษฐกิจเกาหลีใต้และสหภาพยุโรปฟื้นตัวได้ดีขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจจีน และสหรัฐอเมริกายังขยายตัวได้ดี ซึ่งชดเชยการชะลอตัวของเศรษฐกิจในเอเชีย
แต่อย่างไรก็ตามในครึ่งหลังปี 2549 เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงบางประการ ได้แก่ (1) ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวต่อเนื่อง และการขาดดุลการค้าและดุลการคลังของสหรัฐยังคงมีต่อไป ซึ่งส่งผลกระทบให้ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. มีแนวโน้มอ่อนค่าลง โดย คาดว่าโดยเฉลี่ยเงินดอลลาร์ สรอ. ปี 2549 จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินยูโรและเงินเยน จาก 1.19 ดอลลาร์ต่อยูโร ในปี 2548 เป็น 1.32 ดอลลาร์ สรอ. ในปี 2549 และเงินเยนแข็งค่าจาก 118 เยนต่อดอลลาร์ สรอ. ในปี 2548 เป็น 105 เยน ในปี 25491 (2) การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากการดำเนินนโยบายที่เข้มงวดขึ้นของจีนเพื่อลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรและอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับการเกินดุลการค้าที่สูงของจีนสร้างแรงกดดันให้ค่าเงินหยวนแข็งค่ามากขึ้น (3) การฟื้นตัวเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปยังช้า เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังไม่แข็งแกร่ง (4) อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ โดยคาดว่า ณ สิ้นปี 2549 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกา จะปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.502 (จากร้อยละ 5.25 ในปัจจุบัน) อัตราดอกเบี้ยทางการของสหภาพยุโรปจะอยู่ในระดับร้อยละ 3.0 (จากระดับปัจจุบัน 2.75) และอัตราดอกเบี้ยทางการของญี่ปุ่นปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 0.50 (จากร้อยละ 0 ในปัจจุบัน) (5) เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งจากการได้รับผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและจีนชะลอตัว และวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มชะลอตัว
* สัญญาณการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลัง จะเริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยเฉพาะในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการขยายตัวอย่างสูงในครึ่งปีแรก จะเห็นว่าสัดส่วนคำสั่งซื้อต่อการส่งมอบสินค้าเซมิคอนดัก-เตอร์ของสหรัฐอเมริกาเริ่มลดลงในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา(จากสัดส่วน 1.12 ในไตรมาสที่สอง) ประกอบกับในช่วงครึ่งหลังประเทศอาจจะได้รับผลกระทบจากมาตรการนำเข้าของต่างประเทศ อาทิ การตัดสิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับการส่งออก สินค้าธัญพืช และลิ้นจี่/ลำไยกระป๋องไปตลาดสหรัฐฯ การกำหนดใบรับรองมาตรฐานสินค้ากุ้งในตลาดยุโรป และระเบียบว่าด้วยการจำกัดการใช้สารอันตรายในเครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในตลาดยุโรป เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การส่งออกขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 14-15 ต่ำกว่าเป้าหมายการส่งออกที่ร้อยละ 17.5
(1.2) ปัจจัยเสี่ยง/ข้อจำกัดภายในประเทศ: อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ภายในประเทศ ซึ่งกระทบความเชื่อมั่น
* อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายและการลงทุนมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2549 โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR เฉลี่ยที่ร้อยละ 7.75 ณ สิ้นเดือนสิงหาคม โดยเฉพาะในสินเชื่อสำหรับรายย่อย มีผลทำให้อัตราการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการบริโภคมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงจากปี 2548 ที่ร้อยละ 14.6 ลงเหลือร้อยละ 11.2 ในไตรมาสแรก และร้อยละ 9.7 ในไตรมาสที่สอง แต่สินเชื่อที่อยู่อาศัยกลับมาขยายตัวร้อยละ 14.1 จากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 ในไตรมาสแรก อย่างไรก็ตามโดยเฉลี่ยยังเป็นแนวโน้มชะลอตัวจากปี 2548 และคาดว่าในช่วงปลายปี 2549 อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาหลายครั้ง ซึ่งตลาดเงินยังไม่ได้ปรับตัวตามอย่างเต็มที่ และธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันกันมากขึ้นในการระดมเงินฝากเพื่อสร้างฐานเงินฝากและมีความพร้อมด้านสภาพคล่อง ซึ่งจะทำให้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการระดมเงินฝาก และอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะชะลอตัวในครึ่งหลังของปีจะทำให้อัตราดอกเบี้ยแท้จริงเพิ่มขึ้นชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี
* ค่าเงินบาท (ที่แท้จริง)ที่แข็งขึ้นจกระทบความสามารถในการแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่กำลังเข้าสู่ช่วงชะลอตัว เช่น อิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มที่กำลังสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันต่อประเทศที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำอยู่แล้ว อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าสิ่งทอ เครื่องหนัง และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าค่าเงินบาทจะไม่แข็งค่าจากระดับปัจจุบันมากนัก
* สถานการณ์ภายในประเทศ รวมถึงการก่อความไม่สงบในภาคใต้ส่งผลให้ความมั่นใจของผู้บริโภคและเอกชนลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี และกระทบต่อการตัดสินใจใช้จ่ายและการลงทุน และผลกระทบจากการที่ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2550 ไม่สามารถเริ่มใช้จ่ายได้ตามกำหนดการปกติซึ่งจะมีผลต่อการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลในสองไตรมาสแรกของปีงบประมาณ
(2) ปัจจัยบวก/โอกาสของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง: การขยายตัวของการส่งออก ท่องเที่ยว ราคาและผลผลิตสินค้าเกษตรสูงขึ้น และการปรับตัวด้านการใช้จ่ายของประชาชนและการบริหารจัดการด้านพลังงานโดยรัฐบาล
(2.1) ภาคเกษตรฟื้นตัวโดยปริมาณการผลิตขยายตัว ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร และการดำเนินโครงการพลังงานทางเลือก (Bio fuel) ให้เป็นไปตามเป้าหมายซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าของพืชผลเกษตรทั้ง อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน นอกจากนี้คาดว่าปริมาณผลผลิตพืชผลสำคัญจะยังเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีเนื่องจากปริมาณน้ำมีเพียงพอ และราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะในกลุ่มพืชผลจะยังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยางพารา ข้าว ปาล์มน้ำมันและอ้อย ใน 7 เดือนแรกปี 2549 ราคาพืชผลเกษตรโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 28.1 โดยที่ปริมาณผลผลิตพืชผลเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 ซึ่งทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.7 และมูลค่าเพิ่มของการผลิตภาคการเกษตรรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 ในครึ่งแรกปี 2549 การส่งออกสินค้าเกษตรจะได้รับประโยชน์จากการที่ผลผลิตเกษตรโลกลดลง ซึ่งคาดว่าจะลดลงร้อยละ 4-5 จากปัญหาภัยธรรมชาติโดยสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะมีแนวโน้มการส่งออกดี ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา และข้าวโพด รวมทั้งสินค้าเกษตรแปรรูป
(2.2) การท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง ในครึ่งแรกของปีมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 6.3 ล้านคนและเพิ่มเป็น 7.4 ล้านคนใน 7 เดือนแรก เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 และเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้ดุลบริการเกินดุลและทำให้ฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดรวม 7 เดือนเกินดุล และสำหรับในระยะต่อไปคาดว่าสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวจะยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะเศรษฐกิจเอเชียและกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ เช่น จีน อินเดีย ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประเทศมากขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้การพัฒนาคุณภาพการบริการและการทำการตลาดในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ สูงตามเป้าหมาย 13.8 ล้านคนในปี 2549 นี้
(2.3) การดำเนินนโยบายด้านประหยัดพลังงานและส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกทำให้ปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมลดลงแม้ว่าเศรษฐกิจยังขยายตัว จึงช่วยในการประหยัดเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าน้ำมันและลดแรงกดดันต่อฐานะดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งเห็นผลได้จากปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ลดลง โดยปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมรวมในครึ่งปีแรกลดลงร้อยละ 1.9 เทียบกับที่เพิ่มร้อยละ 11.7 และ 3.7 ในครึ่งแรกปี 2547 และครึ่งแรกปี 2548 โดยที่ปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลลดลงร้อยละ 2.8 และ 9.4 เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นทำให้มีการปรับพฤติกรรมการใช้ให้มีประสิทธิภาพและประหยัดมากขึ้น แม้ว่าในครึ่งแรกของปี 2549 เศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 5.5 สูงกว่าที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 ในครึ่งแรกของปี 2548 และเมื่อพิจารณาปริมาณการใช้น้ำมันต่อ GDP จะพบว่ามีทิศทางลดลงตามลำดับ ปริมาณการใช้ที่ลดลงทำให้ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบในช่วงครึ่งปีแรกลดลงร้อยละ 2.0 และการเร่งรัดมาตรการใช้พลังงานทดแทนในช่วง 6 เดือนต่อไป ทั้งด้านความพร้อมของภาคเอกชนในการผลิตเอทานอล การใช้ NGV ในรถแท็กซี่และรถขนส่งมวลชน จะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบและเพิ่มความสามารถและความชัดเจนในการพึ่งพลังงานทางเลือกมากขึ้น
(2.4) แรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อลดลงในครึ่งหลังของปีในเดือนกรกฎาคมอัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 4.4 และลดลง เป็นร้อยละ 3.8 ในเดือนสิงหาคม เทียบกับร้อยละ 5.9 ในครึ่งแรกของปี และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงตามลำดับเนื่องจากผลของอัตราดอกเบี้ยได้ทำให้การใช้จ่ายชะลอตัวลงมาก ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นก็ช่วยลดแรงกดดันต้นทุนจากสินค้านำเข้า และฐานราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นมากในครึ่งหลังของปีที่แล้ว แรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลงจะสร้างมั่นใจให้กับผู้บริโภคมากขึ้น และลดแรงกดดันที่จะต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีก ซึ่งจะทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นในปี 2550 โดยเฉพาะภายหลังจากการ จัดตั้งรัฐบาลและมีการแถลงนโยบายของรัฐบา และการจัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดิน 4 ปี ซึ่งจะทำให้มีความชัดเจนทางการเมืองและแนวนโยบายเศรษฐกิจ ที่จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและนักลงทุนกลับคืนมา
(ยังมีต่อ).../2.2 สมมุติฐาน