* บรรยากาศทางการเมืองที่นำไปสู่การยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 และกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน 2549 คาดว่าจะมีผลกระทบบ้างต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจลงทุนในระยะสั้น อย่างไรก็ดีโครงการลงทุนภาครัฐที่ได้มีการอนุมัติงบประมาณไปแล้วและการลงทุนภาคเอกชนที่ได้เริ่มดำเนินการแล้วจะยังคงดำเนินการต่อไปได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจส่วนรวม เนื่องจาก (1) พื้นฐานทางเศรษฐกิจไม่ได้รับผลกระทบ (2) ทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจจะยังคงให้ความสำคัญในการเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็งและแข่งขันได้ รักษาวินัยทางการเงินและการคลังเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตของประเทศ และ (3) นักลงทุนพิจารณาโอกาสทางการตลาดในอนาคตมากกว่าในระยะสั้น ๆ
(2) ปัจจัยสนับสนุน/ปัจจัยบวก: การขยายตัวของการส่งออก ท่องเที่ยว การลงทุน และการบริหารจัดการด้านพลังงานและการค้าต่างประเทศ
(2.1) การดำเนินนโยบายด้านประหยัดพลังงานและส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก มีผลต่อเนื่องเช่นเดียวกับปี 2548 ซึ่งเริ่มเห็นผลได้จากปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ชะลอตัวชัดเจนในปี 2548 โดยปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมรวมเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.4 เปรียบเทียบกับการเพิ่มร้อยละ 9.7 ในปี 2547 โดยที่ปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลรวมลดลงร้อยละ 1.4 จากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 ในปี 2547
สำหรับในปี 2549 นี้ ถ้าสามารถดำเนินการให้มีการใช้ NGV แก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซลได้ตามเป้าหมายที่กำหนด จะช่วยประหยัดมูลค่าการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้ประมาณ 31,000 ล้านบาทหรือ 775 ล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด
(2.2) การส่งเสริมการส่งออกและบริหารจัดการการนำเข้า การส่งออกสินค้าเกษตรจะได้รับประโยชน์จากการที่ผลผลิตเกษตรโลกลดลง ซึ่งคาดว่าจะลดลงร้อยละ 4-5 จากปัญหาภัยธรรมชาติ โดยสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะมีแนวโน้มการส่งออกดี ได้แก่ มัน
สำปะหลัง ยางพารา และ ข้าวโพด รวมทั้งสินค้าเกษตรแปรรูป สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมคาดว่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และหมวดรถยนต์และชิ้นส่วนยังมีแนวโน้มที่ดีตามภาวะการขยายตัวของตลาดโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้
(2.3) การท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องจากปลายปี 2548 ในปี 2549 มีมาตรการในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยเน้นการเพิ่มมูลค่ามากกว่าปริมาณ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้การท่องเที่ยวให้สูงกว่าในปี 2548 ไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาท จากรายรับประมาณ 383,000 ล้านบาทในปี 2548
(2.4) ภาคเกษตรเริ่มฟื้นตัวโดยปริมาณการผลิตเริ่มขยายตัว ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร และดำเนินโครงการพลังงานทางเลือก (Bio fuel) ให้เป็นไปตามเป้าหมายซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าของพืชผลเกษตรทั้ง อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน นอกจากนี้คาดว่าราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะในกลุ่มพืชผล ยังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และอ้อย ในปี 2548 ราคาพืชผลเกษตรโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24.1 โดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 28.9 ในครึ่งหลังของปี
(2.5) การลงทุนของรัฐวิสาหกิจและการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐเป็นไปตามแผนงาน รวมทั้งการเบิกจ่ายตามโครงการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า เป็นไปตามกรอบของงบประมาณที่ได้ตั้งไว้ โดยในปีงบประมาณ 2549 กำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายร้อยละ 93 ของวงเงินงบประมาณ และคาดว่ารัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุนประมาณ 279,000 ล้านบาท
(2.6) อัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นยังนับเป็นปัจจัยบวกสำหรับการลงทุนภาคเอกชนในปี 2548 อัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 72.6 เพิ่มขึ้นจากอัตราเฉลี่ยร้อยละ 70.4 ในปี 2547 โดยที่มีการใช้กำลังการผลิตในระดับเต็มกำลังหรือเกือบเต็มกำลังในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น หมวดอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตปิโตรเลียม ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์กระดาษ และเครื่องรับโทรทัศน์ เป็นต้น
(ยังมีต่อ).../2.2 สมมุติฐาน..