ภาพรวม
สต็อกทุน (Gross Capital Stock) ปี 2551 ณ ราคาทุนทดแทน (Replacement cost) มีมูลค่า 39,880.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 35,873.2 พันล้านบาท ในปี 2550 โดยมีอัตราขยายตัว ณ ราคาคงที่ ร้อยละ 3.1 ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 3.2 และหลังจากหักค่าเสื่อมราคาแล้ว สต็อกทุนสุทธิ ณ ราคาทุนทดแทน ปี 2551 มีมูลค่า 28,923.6 พันล้านบาท มีอัตราขยายตัว ณ ราคาคงที่ ร้อยละ 3.0 เทียบกับปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 โดยมีการลงทุนรวม (Investment) เพิ่มขึ้นในปี 2551 เพียงร้อยละ 1.1 จากการเพิ่มขึ้นของการลงทุนของภาคเอกชนร้อยละ 3.2 โดยเฉพาะการลงทุนในเครื่องจักรเครื่องมือที่ยังคงขยายตัวดีจากการนำเข้าเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ในขณะที่การลงทุนของภาครัฐหดตัวถึงร้อยละ 4.8 เนื่องจากไม่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega Project)
1. สต็อกทุนสุทธิ (Net Capital Stock) จำแนกตามสถาบัน
สต็อกทุนสุทธิของประเทศ ณ ราคาทุนทดแทน (Replacement cost) ปี 2551 มีมูลค่า 28,923.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 25,769.6 พันล้านบาท ในปี 2550 อัตราขยายตัว ณ ราคาคงที่ ร้อยละ 3.0 หากพิจารณาการถือครองสินทรัพย์จำแนกตามสถาบันแล้วพบว่า
1) ภาครัฐ มีสัดส่วนการถือครองสต็อกทุนสุทธิร้อยละ 30.2 ของสต็อกทุนรวมสุทธิทั้งประเทศ โดยสต็อกทุนสุทธิภาครัฐมีมูลค่า 9,054.6 พันล้านบาท อัตราขยายตัว ณ ราคาคงที่ ร้อยละ 2.8 ชะลอลงจากปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของการลงทุนในปี 2551 ที่ภาครัฐมีการลงทุนด้านการก่อสร้างลดลงร้อยละ 9.5 โดยเฉพาะการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและงานโยธา เป็นต้น
2) ภาคเอกชน มีสัดส่วนการถือครองสต็อกทุนสุทธิร้อยละ 69.8 ของสต็อกทุนรวมสุทธิทั้งหมด โดยสต็อกทุนสุทธิภาคเอกชน มีมูลค่า 19,869.0 พันล้านบาท อัตราขยายตัว ณ ราคาคงที่ ร้อยละ 3.1 ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการชะลอการลงทุนของภาคเอกชนทางด้านการก่อสร้าง ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหา Sub- prime ของสหรัฐและวิกฤตการเงินโลกที่ยืดเยื้อทำให้ผู้ประกอบการไทยที่เคยได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 2540 -2541 มีความระมัดระวังในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น
2. สต็อกทุนสุทธิ(Net Capital Stoc k) จำแนกตามประเภทของสินทรัพย์
1)สต็อกทุนสุทธิประเภทสิ่งก่อสร้าง
ในปี 2551 สต็อกทุนสุทธิของประเทศไทย ประเภทสิ่งก่อสร้างมีสัดส่วนร้อยละ 57.9 ของสต็อกทุนสุทธิรวมทั้งประเทศ หากแบ่งเป็นการก่อสร้างระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน พบว่า สต็อกทุนสุทธิประเภทสิ่งก่อสร้างของหน่วยงานภาครัฐบาลกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่เป็นโครงการพัฒนาและปรับปรุงงานโยธา เช่น ถนน สะพาน ฝาย เขื่อน ทางระบายน้ำ เป็นต้น สำหรับรัฐวิสาหกิจ สต็อกทุนสุทธิที่เพิ่มขึ้นในปี 2551 คือ ระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมต่อสถานีสุวรรณภูมิ (Airport link) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ระบบท่อส่งก๊าซ ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยบ้านเอื้ออาทร ของการเคหะแห่งชาติ โครงการขยายบริการโทรศัพท์ของบริษัท ทีโอทีจำกัด (มหาชน) โครงการก่อสร้างศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร ของบริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด เป็นต้น ส่วนภาคเอกชน สต็อกทุนสุทธิส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นเป็นอาคารที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์และอาคารโรงงานเป็นหลัก
2) สต็อกทุนสุทธิประเภทเครื่องจักรเครื่องมือ
ในปี 2551 สต็อกทุนสุทธิประเภทเครื่องจักรและเครื่องมือมีสัดส่วนร้อยละ 42.1 ของสต็อกทุนสุทธิรวมทั้งประเทศ โดยสต็อกทุนที่เพิ่มขึ้นในปี 2551 ประกอบด้วย สต็อกทุนสุทธิของรัฐวิสาหกิจ ที่มีการนำเข้าหัวรถจักรไฟฟ้า ของการรถไฟแห่งประเทศไทย การนำเข้าเครื่องบินเพื่อการพาณิชย์ของบริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) จำนวน 4 ลำ มูลค่า 9,984 ล้านบาท เทียบกับปี 2550 ที่มีการนำเข้าเครื่องบินจำนวน 3 ลำมูลค่า 15,472 ล้านบาท รัฐบาลกลางมีการปล่อยดาวเทียมธีออส ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อใช้สำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของประเทศไทย มูลค่า 6,581 บาท ส่วนสต็อกทุนสุทธิของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นในปี 2551 ส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักรเครื่องมือใหม่เพื่อทดแทนเครื่องจักรเก่าที่ล้าสมัย รวมทั้งขยายกำลังการผลิตเพื่อตอบสนองอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ และการเพิ่มขึ้นในหมวดเครื่องใช้สำนักงานและหมวดยานพาหนะ โดยส่วนใหญ่เป็นรถโดยสารทั้งที่ประจำทางและไม่ประจำทาง รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ รถตู้ เรือ และรถบรรทุก เป็นต้น
3. สต็อกทุนสุทธิ(Net Capital Stoc k) จำแนกตามรายสาขาการผลิต
สต็อกทุนสุทธิรายสาขา สามารถจำแนกออกเป็น 11 สาขาการผลิตประกอบด้วย สาขาเกษตรกรรม สาขาเหมืองแร่และย่อยหิน สาขาอุตสาหกรรม สาขาก่อสร้าง สาขาไฟฟ้าประปา สาขาคมนาคมขนส่งและสื่อสาร สาขาค้าส่งค้าปลีก สาขาธนาคาร ประกันภัยและอสังหาริมทรัพย์ สาขาที่อยู่อาศัย สาขาบริหารราชการแผ่นดินและสาขาบริการ
หากพิจารณารายสาขาการผลิตหลักๆ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มสาขา ประกอบด้วย สาขาเกษตรกรรม สาขาอุตสาหกรรม และสาขาบริการและอื่นๆ พบว่า
-สาขาเกษตรกรรม สต็อกทุนสุทธิ ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 4.1 ชะลอลงจากร้อยละ ฅ4.7 ในปี 2550
-สาขาอุตสาหกรรม สต็อกทุนสุทธิ ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 4.6 ชะลอลงจากร้อยฅละ 4.7 ในปี 2550
-สาขาบริการและอื่นๆ สต็อกทุนสุทธิ ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 2.6 ชะลอลงจากฅร้อยละ 3.0 ในปี 2550
4. การวิเคราะห์ปัจจัยทุน
4.1 อัตราส่วนการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทุนต่อการเปลี่ยนแปลงของผลผลิต (Incremental Capital Output Ratio: ICOR)
ภาพรวม
ICOR ในปี 2551 มีค่า 3.01 มากกว่าปี 2550 ที่มีค่า ICOR 1.77 แสดงให้เห็นว่ามูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ 1 หน่วย มีการใช้ปัจจัยทุนเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2550
สาขาเกษตรกรรม ในปี 2551 มีค่า ICOR เท่ากับ 1.65 น้อยกว่าปี 2550 ที่มีค่า ICOR เท่ากับ 5.14 แสดงให้เห็นว่าสาขาเกษตรกรรมมีการใช้ปัจจัยทุนที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น
สาขาอุตสาหกรรม ในปี 2551 ค่า ICOR มีค่าเท่ากับ 1.35 เมื่อเทียบกับ 0.88 ในปี 2550 แสดงให้เห็นว่า การเพิ่มขึ้นของ GDP 1 หน่วยในปี 2551 ต้องใช้ปัจจัยทุนมากขึ้น
สาขาบริการและอื่น ๆ ในปี 2551 มีค่า ICOR เท่ากับ 8.64 เทียบกับ 2.49 ในปี 2550 แสดงให้เห็นว่า ประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยทุนในปี 2551 ลดต่ำลง
4.2 ผลิตภาพทุน (Capital Productivity: CP)
ภาพรวม
ผลิตภาพทุน ในปี 2551 มีค่าเท่ากับ 0.39 อยู่ในระดับเดียวกับปี 2550 แสดงให้เห็นว่าปี 2551 ทุน 1 หน่วย ก่อให้เกิด GDP 0.39 หน่วย
สาขาเกษตรกรรม ในปี 2551 ผลิตภาพทุน มีค่า 0.50 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2550 ที่มีค่า 0.49 แสดงให้เห็นว่า การใช้ปัจจัยทุนของสาขาเกษตรกรรมมีประสิทธิภาพดีขึ้นเล็กน้อย
สาขาอุตสาหกรรม ในปี 2551 มีค่าผลิตภาพทุน 0.87 ลดลงเมื่อเทียบกับในปี 2550 ที่มีค่าเท่ากับ 0.88 แสดงให้เห็นว่า ปี 2551 การใช้ปัจจัยทุนในสาขาอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพลดลงเล็กน้อย
เมื่อมีการปรับค่าปัจจัยทุนด้วยอัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity utilization) ในสาขาอุตสาหกรรม พบว่าหลังปรับด้วยอัตราการใช้กำลังผลิตแล้วค่าผลิตภาพทุนของสาขาอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพดีขึ้นโดยเฉพาะในปี 2551 ผลิตภาพทุนมีค่าเท่ากับ 1.29 เทียบกับ 0.87 ในกรณีไม่ได้ปรับค่าอัตราการใช้กำลังผลิต แสดงให้เห็นว่าการใช้ปัจจัยทุนที่แท้จริงของสาขาอุตสาหกรรมยังมีประสิทธิภาพดี
สาขาบริการและอื่น ๆ ในปี 2551 มีค่าผลิตภาพทุน 0.27 อยู่ในระดับเดียวกับปี 2550 ที่มีค่า 0.27
4.3 ผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity: TFP)
ภาพรวม
ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 2.58 ชะลอตัวจากที่ขยายตัวร้อยละ 4.93 ในปี 2550 เมื่อพิจารณาจากแหล่งที่มาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Source of growth) ในปี 2551 พบว่าการที่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวร้อยละ 2.58 เป็นผลมาจากการขยายตัวของปัจจัยทุนร้อยละ 2.04 รองลงมาคือปัจจัยแรงงาน และปัจจัยที่ดิน ร้อยละ 0.68 และ 0.04 ตามลำดับ ส่วนปัจจัยทางด้าน TFP ลดลงร้อยละ 0.18 แสดงให้เห็นว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นผลมาจากการขยายตัวของปัจจัยพื้นฐานคือปัจจัยทุน แรงงาน และที่ดิน ส่วนปัจจัยทางด้าน TFP ในปี 2551 ไม่ได้มีส่วนผลักดันให้เกิดมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากระบบเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก
GPD ภาคเกษตรกรรม ในปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 5.10 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 1.80 เป็นผลมาจากการขยายตัวของทั้งปริมาณผลผลิตและราคาพืชผลหลัก โดยเฉพาะพืชพลังงาน เช่น มันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น เมื่อพิจารณาจากแหล่งที่มาของอัตราการเจริญเติบโตของภาคเกษตร พบว่าปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวภาคเกษตร มาจากปัจจัยทุนที่ขยายตัวร้อยละ 3.64 ปัจจัยแรงงาน และปัจจัยที่ดิน ขยายตัวร้อยละ 0.20 และ 0.26 ตามลำดับ เนื่องจากในปี 2551 ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ได้มีการเลิกจ้างงานทำให้แรงงานส่วนหนึ่งเคลื่อนย้ายไปสู่ภาคเกษตรในชนบท ซึ่งแรงงานส่วนนี้ได้นำความรู้ความสามารถมาประยุกต์ใช้ในการผลิตของภาคเกษตร ส่วนปัจจัย TFP มีส่วนสนับสนุนการขยายตัวของภาคเกษตรร้อยละ 1.00 ปรับตัวดีขึ้นจากที่ลดลงร้อยละ 2.62 ในปีที่ผ่านมา เป็นผลจากการที่ระดับราคาสินค้าเกษตรหลักๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสภาพดินฟ้าอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตในภาคเกษตร จึงส่งผลให้ TFP สูงขึ้นดังกล่าว
ภาคนอกเกษตรกรรม
GDP ภาคนอกเกษตรกรรมปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 2.30 ชะลอลงจากร้อยละ 5.20 เป็นผลมาจากภาคการผลิตและภาคบริการที่เริ่มชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตเพื่อการส่งออก เช่น อุตสาหกรรมสินค้าทุนและเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังส่งผลต่อภาคบริการโดยเฉพาะสาขาการค้า สาขาคมนาคมขนส่ง สาขาโรงแรม ภัตตาคาร สาขาสุขภาพ เป็นต้น ที่ชะลอลงตามภาวะการส่งออกสินค้าและบริการที่ซบเซา หากพิจารณาแหล่งที่มาของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในปี 2551 พบว่าปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวของภาคนอกเกษตรกรรมเป็นผลมาจากการขยายตัวของปัจจัยทุนมากที่สุดคือ ร้อยละ 3.04 รองลงมาคือ ปัจจัยแรงงาน ขยายตัวร้อยละ 1.70 ในขณะที่ปัจจัยอื่นๆ ที่เหลือหรือ TFP ลดลงร้อยละ 2.45 ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะวิกฤตการเงินโลก ที่ทำให้การส่งออกสินค้าชะลอตัวลงรวมทั้งภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากอำนาจซื้อที่ลดลง จึงทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้กำลังการผลิตได้อย่างเต็มที่ ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ จึงส่งผลต่อ TFP ปรับตัวลดลงดังกล่าว
สาขาอุตสาหกรรม ในปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 3.90 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 6.20 ในปี 2550 เป็นผลมาจากจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลงมากตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงประกอบกับภาวะความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ โดยการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ชะลอลงคือ อุตสาหกรรมเบา เช่น หมวดอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง เฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ อุตสาหกรรมสินค้าทุนและเทคโนโลยีที่ชะลอตัวลงตามภาวการณ์ส่งออกที่ลดลง เมื่อพิจารณาจากแหล่งที่มาของอัตราการเจริญเติบโตของสาขาอุตสาหกรรม พบว่าปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวของสาขาอุตสาหกรรม มาจากปัจจัยทุนที่ขยายตัวร้อยละ 2.66 และปัจจัย TFP ร้อยละ 2.48 ในขณะที่ปัจจัยแรงงานลดลงร้อยละ 1.24 เนื่องจากแรงงานประสบปัญหาการเลิกจ้างหรือลดเวลาการทำงานลง ดังนั้นกำลังแรงงานที่เหลืออยู่จึงก่อให้เกิดประสิทธิภาพการผลิตมากยิ่งขึ้น
สาขาบริการและอื่นๆ (Services and Other sectors )
GDP สาขาบริการและอื่นๆ ในปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 1.10 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 4.50 ในปี 2550 เป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก รวมทั้งบรรยากาศการท่องเที่ยวที่ซบเซา ส่งผลทำให้โรงแรม ภัตตาคาร และการขนส่งทั้งสินค้าและผู้โดยสารลดลง เมื่อพิจารณาจากแหล่งที่มาของอัตราการเจริญเติบโตของสาขาบริการและอื่นๆ พบว่าปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวของสาขาบริการและอื่นๆ มาจากปัจจัยทุนที่ขยายตัวร้อยละ 1.59 ปัจจัยแรงงาน ร้อยละ 1.25 ในขณะที่ปัจจัย TFP ลดลงร้อยละ 1.74
--สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--