สรุปผลการดูงาน ณ ประเทศจีน ภายใต้โครงการ Planning Agencies Networking and Macroeconomic Surveillance

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 22, 2006 14:43 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

                                             บทนำ 
หลังจากการเปิดประเทศและปฏิรูประบบเศรษฐกิจเป็นแบบทุนนิยมในปี 2522 เศรษฐกิจจีนมีการขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในเชิงยุทธศาสตร์ โดยเน้นการพัฒนาด้านเทคโนโลยีแก่วิสาหกิจจีน ยกระดับมาตรฐานเทคโนโลยีการผลิต และพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพบุคคล แนวทางการพัฒนาดังกล่าวมีการกำหนดเป้าหมายและการดำเนินงานอย่างชัดเจนไว้ในแผนพัฒนาระยะ 5 ปี ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะปานกลางของประเทศ พร้อมกันนี้ รัฐบาลได้มีการดำเนินนโยบายการคลังในเชิงรุก ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของระดับราคาและอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินหยวน ตลอดจนมีการเร่งพัฒนาตลาดทุนทั้งตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรเพื่อใช้เป็นแหล่งในการระดมทุนของนักลงทุนภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การเข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก (WTO) ของจีนในปี 2544 ยังเป็นการสร้างโอกาสและเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจจีนอย่างต่อเนื่องผ่านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ประเทศจีนมีความสัมพันธ์อันดีกับไทยมาเป็นระยะเวลานานทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนระหว่างประเทศ โดยมีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปี 2518 หลังจากนั้นไทยและจีนได้พัฒนาความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือในหลายด้านโดยเฉพาะความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยได้มีการลงนามร่วมกันในข้อตกลงหลายฉบับ อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด ระหว่างสองประเทศ ประกอบกับศักยภาพในการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศจีน ส่งผลให้การดำเนินนโยบายของจีนมีผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สศช. ในฐานะหน่วยงานวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยจึงเห็นควรศึกษาวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศ พร้อมทั้งศึกษาแนวทางการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จของจีนและนำมาประยุกต์ใช้ ควบคู่ไปกับการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศและหน่วยงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสองประเทศต่อไป
การเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 25 - 28 กรกฎาคม 2548 เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการเชื่อมโยงเครือข่ายหน่วยงานวางแผนระดับภูมิภาคและการเตือนภัยทางเศรษฐกิจ (Asian Planning Agency Networking and Macroeconomic Surveillance) เพื่อเพิ่มบทบาทเชิงรุกในกลุ่มนักวางแผน และเพิ่มโอกาสในการวางแผนเพื่อเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น การศึกษาดูงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาถึงภาพรวมของการพัฒนาเศรษฐกิจ แนวทางการดำเนินนโยบายด้านการเงินและการคลัง ตลอดจนการส่งเสริมการลงทุนและยกระดับมาตรฐานเทคโนโลยีการผลิตแก่ผู้ผลิตภายในประเทศของจีน ซึ่งคณะดูงานได้มีโอกาสเดินทางเข้าศึกษาดูงาน ณ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หน่วยงานวางแผนทางเศรษฐกิจและสังคมของจีน (National Development and Reforming Commission of PRC) The People's Bank of China หรือธนาคารกลางของจีน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์แห่งประเทศจีน กระทรวงการคลัง และอุทยานวิทยาศาสตร์ (Zhongguancum Haidian Science Park) โดยมีประเด็นการหารือที่สำคัญ พร้อมทั้งบทวิเคราะห์และความเห็นจากคณะศึกษาดูงานดังแสดงไว้ในส่วนสรุปสาระสำคัญหน่วยงานที่เข้าเยี่ยมชม
ผลการเยือน
National Development and Reforming Commission of PRC (NDRC)
1. ข้อมูลเบื้องต้น
NDRC เป็นหน่วยงานวางแผนทางเศรษฐกิจและสังคมของจีน ในอดีต NDRC จะเป็นหน่วยงานวางแผนแบบเบ็ดเสร็จของจีนที่หลายๆ คนกล่าวว่าเป็นหน่วยงานซึ่งมีอำนาจมากแห่งหนึ่งของจีน แต่หลังจากการปฏิรูปของจีนในปี 1978 กลไกทั้งหมดในการวางแผนได้เปลี่ยนแปลงไป NDRC
ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานประสานทางด้านเศรษฐกิจมหภาค แต่ก็ยังคงเป็นหน่วยงานหลักในการวางแผนทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งจะเห็นว่า NDRC มีภารกิจลักษณะเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภารกิจด้านการวางแผนพัฒนาประเทศ และเป็นที่น่าสังเกตว่าแผนพัฒนาฯ ของจีนมีระยะเวลา 5 ปี เช่นเดียวกับแผนพัฒนาฯ ของไทย
2. ประเด็นการหารือ
คณะเจ้าหน้าที่ของ สศช. ได้เข้าหารือกับ Mr.XU Lin ตำแหน่ง Deputy Director General Department of Development Planning และ MS. Pan Huimin เจ้าหน้าที่จาก Department of Foreign Affairs โดยเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงถึงการดำเนินงานของ NDRC ที่ผ่านมาว่าได้จัดทำแผนพัฒนาประเทศมาแล้ว 10 ฉบับ และในปัจจุบัน กำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 11
2.1 ผลสำเร็จของแผนพัฒนาฉบับที่ 10
จากการหารือ พบว่า โดยภาพรวมของการพัฒนาฯ ที่ผ่านมาบรรลุเป้าหมายหลักของแผนพัฒนาฯในระดับที่น่าพอใจ ซึ่ง NDRC ได้ประเมินผลการพัฒนาที่ผ่านมา ดังนี้
- รายได้ประชากรต่อปีในเขตเมืองเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 9 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของแผนที่กำหนดไว้ร้อยละ 5 ต่อปี ขณะที่รายได้ของประชากรต่อปีในเขตชนบทเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 ต่อปี เป็นไปตามเป้าหมายของแผน
- ค่าเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อปีอยู่ในอัตราร้อยละ 3 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของแผนซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 4 ต่อปี
- อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 8.8 ต่อปีซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของแผนที่กำหนดไว้ร้อยละ 7 ต่อปี
- มูลค่าการค้าโดยรวมคิดเป็น 14 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. หรือขยายตัวร้อยละ 25 ต่อปี ในขณะที่เป้าหมายตามแผนกำหนดไว้เพียง 6.8 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ.
- จำนวนผู้มีงานทำในเขตเมืองเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 42 ล้านคน โดยที่แผนฯกำหนดเป้าหมายไว้ที่ 40 ล้านคน
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมด้านการพัฒนาในส่วนอื่นๆ ในภาพรวมมีความก้าวหน้ามากขึ้นตามแผนฯ ได้แก่ การปรับเปลี่ยนสู่ความเป็นชุมชนเมือง การพัฒนาสู่สังคมอุตสาหกรรม การพัฒนาแบบตะวันตก การปรับระดับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมให้สูงขึ้น การปฏิรูปและแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การสร้างระบบการศึกษาและความมั่นคงทางสังคม และการปฏิรูปสถาบัน
2.2 การพัฒนาที่ยังไม่บรรลุผลตามแผน
จากการหารือ พบว่า ปัญหาความไม่เป็นเอกภาพด้านพัฒนาระหว่างมณฑลชายฝั่งทะเลและมณฑลด้านในของประเทศที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นได้ ปัญหาความแตกต่างของการเพิ่มขึ้นด้านรายได้ระหว่างคนในเมืองและชนบทที่ยังคงมีอยู่ ปัญหาความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ และปัญหาอันเกิดจากการดำเนินการตามแผนปฏิรูปสถาบันที่ยังไม่มีความคืบหน้าตามระยะเวลาที่กำหนด
2.3 ข้อได้เปรียบและโอกาสสำหรับแผนพัฒนาฉบับที่ 11
การหารือ แสดงให้เห็นว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนยังมีข้อได้เปรียบและโอกาสสำหรับการพัฒนาในประเด็นต่างๆ คือ
1. จีนยังคงรักษาระดับอุปทานด้านแรงงานที่มีอย่างเพียงพอและมีการออมที่อยู่ในระดับสูง
2. ความก้าวหน้าในการพัฒนาสู่ความเป็นชุมชนเมืองที่จะทำให้เกิดความต้องการด้านการบริโภคและการลงทุนมากขึ้น
3. สถาบันต่างๆ ได้รับการปฏิรูป และมีจำนวนมากขึ้น จึงทำให้เกิดธุรกิจในตลาดที่มีความเสรีมากขึ้น มีความโปร่งใส และคาดการณ์ได้มากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดประสิทธิภาพของการสรรจัดทรัพยากรในที่สุด
4. มีการปรับระดับและจำแนกความหลากหลายการบริโภคในประเทศ ซึ่งจะทำให้อุปสงค์ภายในประเทศมีมากขึ้น
5. มีการปรับระดับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมให้สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจโดยรวม
6. มีการเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจภายในและตลาดระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยขยายตลาดให้กว้างขึ้น และนำไปสู่การเกิดอุปสงค์และอุปทานที่เพิ่มขึ้นต่อไป
2.4 ข้อเสียเปรียบและอุปสรรคของแผนพัฒนาฉบับที่ 11
จากการหารือ พบว่า อุปทานด้านทรัพยากรธรรมชาติหลักของประเทศยังคงมีการกระจุกตัวในลักษณะคอขวด เนื่องจากมีแรงกดดันจากกระแสการปกป้องสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังคงมีความขัดแย้งทางสังคมเพิ่มขึ้น มีความขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะการทำงานมากกว่าที่ผ่านมา รวมทั้งในระยะอันใกล้จะเกิดสังคมผู้สูงอายุซึ่งจะเป็นปัจจัยทางลบสำหรับภาคการผลิต รวมทั้งในสังคมยังมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งในเรื่องการค้าเสรีและโลกาภิวัตน์
2.5 การจัดลำดับความสำคัญของประเด็นหลักในแผนพัฒนา ฉบับที่ 11
(1) หลักทั่วไป และแนวทางการปฏิบัติ เน้นการดำเนินการตามแนวความคิดในเชิงเหตุผลโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่เน้นคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา และการพัฒนาที่สมดุลมากขึ้น
(2) เป้าหมายทั่วไป เน้นการสร้างสังคมที่เรียกว่า Xiaokang Society ที่หมายถึง การจัดสรรสวัสดิการสู่ทุกคนในสังคมอย่างทั่วถึง
(3) แนวคิดหลักของการพัฒนา เน้นการสร้างความเจริญเติบโตที่รวดเร็วและเหมาะสม (rapid and sound development) ซึ่งคำว่า ความเจริญเติบโตที่รวดเร็ว (rapid development) หมายถึง การพัฒนาที่นำไปสู่การจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้นอันเนื่องมากจากประเทศจีนมีประชากรจำนวนมาก ส่วนความเจริญเติบโตที่เหมาะสม (sound development) หมายถึง การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเน้นการสร้างความสมดุลระหว่างความเจริญทางเศรษฐกิจกับโครงสร้างทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
(4) ภารกิจหลัก ได้แก่ การปรับปรุงรูปแบบความเจริญเติบโต การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การเพิ่มการพัฒนาด้านสังคม การเปิดประเทศให้มากขึ้น การปฏิรูปสถาบันและการปรับปรุงเทคโนโลยีให้ก้าวหน้า และการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
3. บทวิเคราะห์และความเห็น
3.1 ภารกิจของ NDRC และ สศช. มีความคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างช่วงการพัฒนาตามแผนพัฒนาฉบับที่ 9 และกำลังจัดทำแผนพัฒนาฉบับที่ 10 โดยประเด็นหลักด้านการพัฒนาประเทศยังคงเน้นความสมดุลระหว่างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางสังคมเช่นเดียวกับจุดเน้นจีน
3.2. นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 สศช. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของไทย โดยดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2548-2551) ทั้งนี้ ทางฝ่าย NRDC ของจีน ได้เน้น
ถึงภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมเช่นกัน โดยระบุว่า การปรับโครงสร้างดังกล่าว ได้รวมถึงการปรับโครงสร้างทางสถาบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันของรัฐที่ต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานให้สนับสนุนนโยบายการเปิดประเทศ
3.3. ในส่วนของภารกิจส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อพัฒนาประเทศนั้น สศช. ได้กำหนดให้ R&D เป็นภารกิจสำคัญประการหนึ่งซึ่งต้องดำเนินการโดยจัดให้อยู่ในภายใต้ยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ของกรอบยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์เพิ่มมูลค่าภาคการเกษตรและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และยุทธศาสตร์เพิ่มมูลค่าภาคอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ ส่วน NRDC ของจีนได้เน้นว่า ปัจจุบันรัฐบาลเน้นส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ และการสร้างพลังงานทดแทน ทั้งนี้ สศช. ได้ให้ข้อสังเกตว่า ในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานั้น ควรเพิ่มสาขาทางการแพทย์ การสาธารณสุข และการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับภาคบริการด้วย ซึ่งทาง NRDC ของจีนได้ให้ความสนใจกับข้อสังเกตดังกล่าว
ผลการเยือน
The People's Bank of China (PBC)
1. ข้อมูลเบื้องต้น
The People's Bank of China เกิดจากการรวมตัวกันระหว่าง Huabei Bank Beihai Bank และ Xibei Farmer Bank ในปี พ.ศ. 2491 และได้รับการแต่งตั้งจาก State Council เป็นธนาคารกลางของประเทศจีนในปี พ.ศ. 2526 มีหน้าที่หลักในการกำหนดนโยบายการเงิน รวมถึงป้องกันความเสี่ยงและรักษาเสถียรภาพทางการเงิน โดย PBC มีการบริหารงานที่เป็นอิสระไม่ขึ้นกับการเมือง แต่จะต้องรายงานการดำเนินนโยบายการเงิน โดยเฉพาะการตัดสินใจเกี่ยวกับปริมาณเงิน อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และประเด็นทางการเงินที่สำคัญแก่ State Council
2. ประเด็นการหารือ
คณะเจ้าหน้าที่ของ สศช. ได้เข้าหารือกับ Mr. Zhang Bei ตำแหน่ง Monetary Policy Committee Secretariat โดยเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจจีนในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา การดำเนินนโยบายทางการเงินของ PBC เพื่อชะลอการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แนวโน้มเศรษฐกิจจีนในระยะต่อไป และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินหยวน สามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้
2.1 การขยายตัวอย่างร้อนแรงของเศรษฐกิจจีน เศรษฐกิจจีนมีการขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องหลังจากมีการปฏิรูประบบเศรษฐกิจเป็นแบบทุนนิยมในปี 2522 ในช่วงปี 2522 - 2547 GDP ที่แท้จริงมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดเฉลี่ยร้อยละ 9.3 ต่อปี ในปี 2546 เศรษฐกิจจีนมีการขยายตัวอย่างร้อนแรง โดย GDP มีการขยายตัวถึงร้อยละ 11.5 ส่งผลให้ภาวะการลงทุนในธุรกิจหลายประเภท เช่น ยานยนต์ เหล็ก อสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวในระดับสูง การขยายตัวของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรส่งผลให้ราคาสินค้าที่อยู่ในระดับต่ำตั้งแต่ปี 2540 เริ่มปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะราคาสินค้าในหมวดอาหาร วัตถุดิบ และพลังงาน อัตราเงินเฟ้อในช่วงปี 2546 - 2547 ปรับสูงขึ้นมาก ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนกำลังเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวมได้ในระยะต่อไป
2.2 การดำเนินนโยบายการเงินของ PBC การขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนอย่างร้อนแรงและไร้สมดุลในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ทางการจีนเริ่มดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลมีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจและลดความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ ในการนี้ PBC มีการดำเนินนโยบายการเงินโดยการออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมสภาพคล่อง เช่น มาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อในภาคการผลิตสำคัญ โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคอุตสาหกรรมที่มีกำลังผลิตส่วนเกินเป็นจำนวนมาก มาตรการเพิ่มเงินสำรองสำหรับเงินฝากของธนาคารพาณิชย์จากร้อยละ 6 เป็นร้อยละ 7 ในเดือน ส.ค. 2547 มาตรการเพิ่มเงินสำรองสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีทุนไม่เพียงพอ มาตรการยกเลิกเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และการทำ Open-market Operation โดยการออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินออกจากระบบ โดยเฉพาะหลังจากการแทรกแซงค่าเงินหยวนให้อยู่ในระดับคงที่ นอกจากนี้ PBC ยังมีการดำเนินนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ย โดยมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี ในเดือน ต.ค. 2547 จากระดับร้อยละ 5.31 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 5.58 ต่อปี
2.3 เศรษฐกิจจีนในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต การดำเนินมาตรการต่างๆ ของทางการจีน รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินของ PBC ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของจีนเริ่มปรับตัวลดลงเป็นลำดับ โดยภาวะเงินเฟ้อเริ่มผ่อนคลายลง การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงอย่างชัดเจนในช่วงปลายปี 2547 และคาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะเข้าสู่สมดุลมากขึ้นในระยะต่อไป นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าเงินหยวนในวันที่ 21 ก.ค. 2548 ยังเป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจจีนปรับตัวเข้าสู่ภาวะสมดุลเร็วขึ้นในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอน โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงและนักเศรษฐศาสตร์ยังคงเกรงว่าเศรษฐกิจจีนอาจชะลอตัวลงเพียงเล็กน้อยแล้วมีการขยายตัวอย่างร้อนแรงในช่วงต่อไปอีกได้ ทางการจีนจึงควรดำเนินมาตรการเพื่อชะลอการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
2.4 การเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินหยวน ในวันที่ 21 ก.ค. 2548 ก่อนการเดินทางเยือนประเทศจีนของคณะเพียง 4 วัน PBC ได้ประกาศปรับขึ้นค่าเงินหยวนเป็นครั้งแรกหลังจากค่าเงินหยวนถูกผูกติดกับเงินดอลลาร์ สรอ. มาเป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษ จากระดับ 8.28 หยวนต่อดอลลาร์ สรอ. มาอยู่ที่ 8.11 หยวนต่อดอลลาร์ สรอ. คิดเป็นการปรับขึ้นร้อยละ 2 และหลังจากนั้นจีนจะเปลี่ยนไปใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบตระกร้าเทียบกับเงินสกุลหลักสำคัญ โดยเจ้าหน้าที่ของ PBC ชี้แจงว่าการตัดสินใจปรับขึ้นค่าเงินหยวนในครั้งนี้เป็นมาตรการหนึ่งในการปฏิรูประบบอัตราแลกเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการปฏิรูปจะต้องดำเนินตามหลักการที่ต้องมีความยืดหยุ่น (flexible) สามารถควบคุมได้ (controllable) และมีการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปทีละขั้นตอน (gradual change) ทั้งนี้ PBC คาดว่าการปรับขึ้นค่าหยวนครั้งนี้จะทำให้เงินหยวนอยู่ในระดับที่เป็นจริงมากขึ้น และคาดว่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะสามารถลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนได้ ส่วนหนึ่งจากการปรับลดลงของภาคการส่งออก แม้ว่าจะไม่มากนัก นอกจากนี้ ยังเป็นการลดการเก็งกำไรค่าเงินของนักลงทุนและลดแรงกดดันจากนานาชาติได้อย่างน้อยระยะหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่านักลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์หลายฝ่ายจะให้ความเห็นว่าการปรับขึ้นค่าเงินหยวนในครั้งนี้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น แต่จีนยังไม่มีความชัดเจนในการปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนอีกครั้งแต่อย่างใด
3. บทวิเคราะห์และความเห็น
3.1 การดำเนินนโยบายการเงินของ PBC เพื่อควบคุมสภาพคล่องและป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อไม่สามารถลดปริมาณเงินและลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจได้มากนัก ซึ่งนอกจากจะเกิดจากการบังคับใช้มาตรการที่ค่อนข้างหละหลวม ยังเกิดจากการผูกติดค่าเงินหยวนไว้กับค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ในระดับที่ต่ำเกินจริง ซึ่งดึงดูดให้มีเงินทุนไหลเข้าประเทศเป็นจำนวนมากจากการเกินดุลการค้าในระดับสูงและการเก็งกำไรค่าเงิน การเพิ่มขึ้นของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของทางการจีนส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินและปริมาณเงินขยายตัวอย่างรวดเร็ว เป็นปัจจัยที่อาจส่งผลให้จีนไม่สามารถบรรลุจุดประสงค์ของการชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจได้ แม้ว่าทางการจีนจะตัดสินปรับขึ้นค่าเงินหยวนในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม แต่ระดับการปรับขึ้นในครั้งนี้ยังต่ำกว่าระดับที่ค่าเงินหยวนต่ำเกินจริงอยู่มาก จึงคาดว่าจะยังมีเงินทุนไหลเข้าเพื่อเก็งกำไรค่าเงินหยวนต่อไปอีกจนกระทั่งค่าเงินหยวนอยู่ในระดับที่แท้จริง อันจะทำให้เศรษฐกิจจีนไม่ชะลอตัวลงมากนัก ทางการจีนจึงควรมีท่าทีที่ชัดเจนเกี่ยวกับระบบอัตราแลกเปลี่ยนในระยะต่อไป ทั้งนี้ เพื่อลดการเก็งกำไรและทำให้นโยบายชะลอการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนได้ผลอย่างแท้จริง
3.2 จากการหารือพบว่า PBC ยังไม่มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงิน โดยเฉพาะนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนมากนัก โดยการตัดสินใจส่วนใหญ่จะมาจากรัฐบาล หรือ State Council เป็นสำคัญ ซึ่งแตกต่างกับธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีอิสระในการตัดสินดำเนินนโยบายการเงินค่อนข้างมาก นอกจากนี้ อำนาจหน้าที่ของ PBC และธนาคารแห่งประเทศไทยยังแตกต่างกันในด้านการบริหารจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบการบริหารจัดการทุนสำรองในประเทศจีนได้แก่ State Administration of Foreign Exchange ไม่ใช่ธนาคารกลาง ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางและบริหารจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศรวมอยู่ในหน่วยงานเดียวกัน
ผลการเยือน
The China Securities Regulatory Commission (CSRC)
1. ข้อมูลเบื้องต้น
China Securities Regulatory Commission (CSRC) หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์แห่งประเทศจีน ก่อตั้งขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2535 มีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎเกณฑ์และกำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อกำกับดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนทั่วประเทศจีนแบบรวมศูนย์ (Centralized market regulatory body) ในปัจจุบัน CSRC มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ขึ้นตรงกับ State Council โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่มณฑลปักกิ่ง รวมถึงสำนักงานย่อยรวม 36 แห่งทั่วประเทศจีน และสำนักงานกำกับดูแลอีก 2 แห่งในมณฑลเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้น หน้าที่ความรับผิดชอบของ CSRC เพิ่มขึ้นเป็นลำดับตามธุรกรรมทางการเงินหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดทุน เช่น การกำกับและดูแลตลาดหลักทรัพย์ในมณฑลเซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น ที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2533 หรือการออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ล่วงหน้า (Future market) ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2536
2. ประเด็นการหารือ
คณะเจ้าหน้าที่ของ สศช. ได้เข้าหารือกับ Ms. Qiumei Yang เจ้าหน้าที่จาก International Department และ Mr. Wei Jianbo เจ้าหน้าที่จาก Department of Fund Supervision โดยเจ้าหน้าที่ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับลักษณะโดยทั่วไปของตลาดทุน พัฒนาการของตลาดทุน ตลอดจนโอกาสและความท้าทายของตลาดทุนในประเทศจีนในอนาคต สามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้
2.1. ลักษณะโดยทั่วไป
2.1.1. ตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศจีนประกอบด้วยตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และตลาดทรัพย์เซินเจิ้น โดยมีหลักทรัพย์ที่ทำการซื้อขายรวม 3 ประเภท ได้แก่ (1) A Shares หมายถึง หลักทรัพย์สกุลเงินหยวนของบริษัทเอกชนจีนที่จดทะเบียนภายในประเทศ ทำการซื้อขายโดยนักลงทุนภายในประเทศ (2) B Shares หมายถึง หลักทรัพย์ของบริษัทเอกชนจีนที่จดทะเบียนภายในประเทศ ทำการซื้อขายโดยนักลงทุนต่างประเทศ รวมทั้งนักลงทุนจากฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน ตลอดจนนักลงทุนภายในประเทศที่มีเงินฝากเป็นสกุลเงินต่างประเทศ โดยหลักทรัพย์จะอยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. ในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ และสกุลเงินดอลลาร์ฮ่องกงในตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น (3) H Shares หมายถึง หลักทรัพย์ของบริษัทเอกชนจีนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง และ/หรือตลาดทรัพย์นิวยอร์ก ลอนดอน และสิงคโปร์
2.1.2. ตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ล่วงหน้า (Future Market) ประกอบด้วยตลาดซื้อขายล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้ และตลาดซื้อขายสินค้า Dalian และ Zhengzhou ทำการซื้อขายตราสารล่วงหน้าในสินค้าเกษตร สินค้าโลหะ และสินค้าอื่นๆ เช่น น้ำมัน และยางพารา
2.1.3. ตลาดพันธบัตร ทำการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรเอกชน และตราสารที่เปลี่ยนมือได้ (convertible bonds)
2.2. พัฒนาการของตลาด
2.2.1. ตลาดหลักทรัพย์ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ของจีนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่ทำการเปิดตลาดในปี 2535 โดยมีมูลค่าสูงสุดในปี 2543 ที่ 4.8 พันล้านหยวน และ ณ สิ้นปี 2547 ตลาดหลักทรัพย์จีนมีมูลค่าตลาดรวม 3.7 พันล้านหยวน อย่างไรก็ตาม มูลค่าหลักทรัพย์ที่ทำการซื้อขายได้ (floating stocks) คิดเป็นมูลค่าเพียง 1.2 พันล้านหยวน หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 30 ของหลักทรัพย์ทั้งหมด สำหรับบริษัทจดทะเบียนมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่ปี 2532 โดยบริษัทจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์ A shares และ B Shares มีทั้งหมด 1,377 และ 110 บริษัท ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2548
2.2.2. ตลาดพันธบัตร ตลาดพันธบัตรจีนมีการซื้อขายไม่มากนัก เนื่องจากภาคธุรกิจจีนระดมทุนด้วยการกู้ยืมจากสถาบันการเงินเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการซื้อขายในตลาดเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยปรับสูงขึ้นมากในปี 2546
2.2.3. การเปิดเสรีตลาดทุน ตั้งแต่ปี 2535 จีนมีการเปิดเสรีภาคการเงินและตลาดทุนตามข้อตกลงเพื่อเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรการค้าโลก (WTO) เช่น การอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศทำธุรกรรมเกี่ยวกับหลักทรัพย์ B Shares ได้โดยไม่ต้องผ่านตัวแทนในประเทศ หรือการอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศลงทุนในธุรกิจร่วมลงทุน (Venture capital) ได้ไม่เกินร้อยละ 33 รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาและจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ A Shares B Shares และ H Shares และทำการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ภาคเอกชนได้ นอกจากการปฏิบัติตามข้อบังคับของ WTO ในปี 2545 จีนยังดำเนินการเปิดเสรีตลาดการเงินโดยการอนุญาตให้นักลงทุนต่างประเทศจัดตั้งกองทุน QFII หรือ Qualified Foreign Institutional Investor เพื่อลงทุนในหลักทรัพย์ A Shares พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน และเครื่องมือทางการอื่นๆ ในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้น โดย ณ สิ้นปี 2547 มีกองทุน QFII รวม 27 กองทุน มูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 3 พันล้านดอลลาร์ สรอ.
2.3. ความท้าทายและโอกาสของตลาดทุนจีน
2.3.1. อุปสรรคและความท้าทายของตลาดทุนจีน ในปัจจุบันตลาดทุนจีนเผชิญกับอุปสรรคและความท้าทายหลายประการ เช่น การระดมทุนในตลาดทุนจีนที่ยังไม่แพร่หลายมากนัก โดยคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 11 ของการระดมทุนในประเทศทั้งหมด และคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 27.1 ของ GDP ในปี 2547 ประกอบกับมูลค่าของหลักทรัพย์ที่มีการทำธุรกรรมจริงในตลาดหลักทรัพย์ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1 ใน 3 ของหลักทรัพย์จดทะเบียนทั้งหมดเท่านั้น นอกจากนี้ ตลาดพันธบัตรในประเทศยังมีการพัฒนาในระดับต่ำ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ในประเทศมีผลการดำเนินงานที่ไม่ดีนัก และบริษัทจดทะเบียนยังไม่มีบรรษัทภิบาลที่ดีพอ ซึ่งถือเป็นอุปสรรค/ความท้าทายที่สำคัญของตลาดทุนจีนในระยะต่อไป
2.3.2. โอกาสของตลาดทุนจีน แม้ว่าจะเผชิญกับอุปสรรคและความท้าทายมากมาย แต่ตลาดทุนจีนยังมีโอกาสในการขยายตัวได้อีกมาก เนื่องจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะรัฐบาลจีนรับรู้ถึงความสำคัญของตลาดทุนต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ประกอบกับการขยายตัวของการออมภายในประเทศส่งผลให้เกิดความต้องการลงทุนที่หลากหลาย เช่นเดียวกับบริษัทประกันภัยและกองทุนต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีความต้องการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนสูง นอกจากนี้ ปัจจัยด้านกฎระเบียบข้อบังคับของตลาดที่มีการแก้ไขปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่มีประสบการณ์สูง พัฒนาการของโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรทางการเงิน ตลอดจนปัจจัยด้านการเมืองภายในประเทศ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจที่ดี เป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญต่อการขยายตัวและประสิทธิภาพของตลาดทุนของประเทศจีนในอนาคต
3. บทวิเคราะห์และความเห็น
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ