(ต่อ3)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสสาม และแนวโน้มปี 2549-2550

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 12, 2006 14:41 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          3.  ประมาณการเศรษฐกิจปี 2550 
สถานการณ์เศรษฐกิจในช่วง 3 ไตรมาสแรกปี 2549 ที่ผ่านมาชี้ว่า เศรษฐกิจยังมีการขยายตัวได้ดี พื้นฐานของเศรษฐกิจไทยมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ เมื่อพิจารณาจากเครื่องชี้ต่าง ๆ อาทิ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศลดลง แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อลดลงมากซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาทำให้สินเชื่อชะลอตัวและราคาน้ำมันที่ลดลงตั้งแต่เดือนสิงหาคม อัตราดอกเบี้ยเริ่มทรงตัว ความเชื่อมั่นต่อพื้นฐานเศรษฐกิจไทยทำให้เงินทุนไหลเข้าตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้น รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน ปัจจัยบวกเหล่านี้จะสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2550
อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงและประเด็นที่ต้องระมัดระวังในปี 2550 ทั้งปัจจัยภายนอกและข้อจำกัดภายในประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาการขาดดุลแฝดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจจะรุนแรงมากขึ้นและเป็นแรงกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนลง และราคาน้ำมันที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นและมีความผันผวนเนื่องจากยังมีข้อจำกัดด้านการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมปิโตรเลียม
3.1 สัญญาณ/ปัจจัยบวกสำหรับเศรษฐกิจปี 2550 ประกอบด้วย
(1) ราคาน้ำมันโดยเฉลี่ยมีแนวโน้มทรงตัวในปี 2550
ในปี 2549 ราคาน้ำมันดิบดูไบลดลงมากตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนและต่อเนื่องถึงเดือนพฤศจิกายนเนื่องจากกองทุนบริหารความเสี่ยงได้ขายน้ำมันในตลาดล่วงหน้าเพื่อทำกำไรเป็นปริมาณมาก ปริมาณน้ำมันในสินค้าคงคลังของกลุ่มประเทศ OECD เพิ่มขึ้นและท่อส่งน้ำมัน BP ที่รัฐ Alaska สามารถดำเนินงานต่อไปได้ รวมทั้งอีกส่วนหนึ่งเป็นการลดลงตามฤดูกาลอย่างไรก็ตามราคาน้ำมันที่สูงในช่วง 8 เดือนแรก ทำให้โดยเฉลี่ยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2549 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเท่ากับบาเรลละ 61.70 ดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.96 จากบาเรลละ 48.98ดอลลาร์ สรอ. ในช่วงเดียวกันของปี 2548 สำหรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95 ภายในประเทศลดลงจากลิตรละ 28.49 บาท ในวันที่ 1 กันยายน 2549 เป็นลิตรละ 25.69 ณ วันที่ 1 ธันวาคม และราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วลดลงจากลิตรละ 27.54 บาท เป็นลิตรละ 23.84 บาทในช่วงเวลาเดียวกัน
(2) อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงซึ่งจะทำให้กำลังซื้อที่แท้จริงและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากร้อยละ 5.9 ในครึ่งแรกปี 2549 เป็นร้อยละ 3.6 ในไตรมาสที่สาม และร้อยละ 2.8 ในเดือนตุลาคม เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงและฐานราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นมากในครึ่งหลังปี 2548 อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤศจิกายนอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.5 เนื่องจากผลกระทบน้ำท่วมทำให้ราคาพืชผักสูงขึ้น นอกจากนี้จะเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากร้อยละ 2.7 ในครึ่งแรกเป็นร้อยละ 1.9 ในไตรมาสที่สาม และลดลงต่อเนื่องเป็นร้อยละ 1.8 ในเดือนตุลาคม และร้อยละ 1.7 ในเดือนพฤศจิกายน คาดว่าแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อจะลดลงต่อเนื่องในปี 2550 เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ชะลอตัวลงชัดเจนโดยเฉพาะในกลุ่มเหล็กและราคาสินค้าเกษตร ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นช่วยลดต้นทุนสินค้านำเข้า และยังมีผลจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในช่วงปี 2548-2549 ที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงขึ้นและมีผลให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากสินเชื่อส่วนบุคคลของสถาบันการเงินที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2549 โดยขยายตัวร้อยละ 11.7 9.7 และ 7.7 ณ สิ้นไตรมาสหนึ่ง ไตรมาสสอง และไตรมาสที่สามเทียบกับที่มีการขยายสินเชื่อร้อยละ 16.1 11.0 และ14.9 ณ เวลาเดียวกันของปี 2548 ในขณะที่เงินฝากประจำเพิ่มขึ้น
(3) อัตราดอกเบี้ยเริ่มทรงตัวและมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจและประชาชนประเมินต้นทุนทางการเงินจากการกู้ยืมได้ง่ายขึ้นในช่วงครึ่งแรกปี 2549 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (R/P 14 วัน) 4 ครั้งจากร้อยละ 4.0 เมื่อสิ้นปี 2548 เป็นร้อยละ 5.0 ในเดือนมิถุนายน และคงอัตราดอกเบี้ยไว้หลังจากนั้น ซึ่งทำให้ตลาดเงินปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยตาม โดยที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนปรับเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยร้อยละ 3.0 เป็นร้อยละ 4.38 ในไตรมาสที่สาม และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดีแบบมีระยะเวลา (MLR) สูงขึ้นจากเฉลี่ยร้อยละ 6.63 เป็นร้อยละ 7.63 ในช่วง ครึ่งแรกของปี และเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยเป็นร้อยละ 7.75 ในไตรมาสที่สาม สำหรับในปี 2550 นั้นคาดว่าจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเศรษฐกิจยังมีการขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับศักยภาพการผลิตของประเทศ โดยที่ไม่มีสัญญาณความเสี่ยงในเรื่องปัญหาการว่างงาน นอกจากนี้การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน แนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลง และการดำเนินนโยบายการคลังขาดดุลจะทำให้สภาพคล่องส่วนเกินในภาคการเงินลดลงในปี 2550 และในขณะเดียวกันยังมีความเสี่ยงจากการที่ราคาน้ำมันจะสูงขึ้นและเป็นแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อดังนั้นโดยภาพรวมอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่ค่อนข้างทรงตัว ถ้าหากมีการปรับลดก็จะเป็นการปรับลดเพียงเล็กน้อย
(4) ความเชื่อมั่นของประชาชนดีขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การใช้จ่ายประชาชนปรับตัวอย่างมีเสถียรภาพ การสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยแสดงว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน โดยที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับขึ้นจาก 79.1 ในเดือนกรกฎาคม เป็น 82.1 และ 83.5 ในเดือนกันยายนและตุลาคม ตามลำดับ
3.2 เงื่อนไข/ปัจจัยเสี่ยง
3.2.1 เศรษฐกิจโลกและปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นข้อจำกัดสำหรับการเจริญเติบโตและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในปี 2550 ประกอบด้วย การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2550 จะเป็นข้อจำกัดสำหรับการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยในปี 2550 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2549 เริ่มจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งดำเนินโยบายการเงินเข้มงวดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาโดยการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จึงทำให้การใช้จ่ายครัวเรือนชะลอลงในขณะที่การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ลดลง โดยที่ยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจจีนก็เริ่มชะลอลงในปี 2549 อันเนื่องจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย และการจำกัดการขยายสินเชื่อเพื่อลดความร้อนแรงของการลงทุน
แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจรายประเทศที่สำคัญ ประกอบด้วย เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.7 ชะลอตัวจากร้อยละ 3.3 ในปี 2549 ตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ เศรษฐกิจกลุ่มยูโรขยายตัวร้อยละ 1.9 ชะลอตัวจากร้อยละ 2.6 เป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อลดการขาดดุลการคลัง รวมถึงการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศเยอรมนีร้อยละ 0.3 ในเดือนมกราคม 2550 เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่ำกว่าร้อยละ 2.8 ในปี 2549 ตามวัฏจักรการลงทุนที่เริ่มชะลอตัวและการส่งออกที่จะขยายตัวช้าลง สำหรับเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 9.6 ชะลอตัวจากร้อยละ 10.4 ในปี 2549 ตามการชะลอตัวของการส่งออกซึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ค่าเงินหยวนที่แข็งขึ้น และมาตรการเรียกเก็บภาษีส่งออก และการชะลอตัวของการลงทุน เศรษฐกิจกลุ่มเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่นและจีน) มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากผลกระทบของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีนที่ชะลอตัวและทำให้การส่งออกชะลอตัวโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการดำเนินมาตรการทางการค้าที่เข้มงวดมากขึ้นของสหรัฐฯ และยุโรป
อย่างไรก็ตามในกลุ่มประเทศเอเชียนั้น เศรษฐกิจอินโดนีเซียมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงมาก และเศรษฐกิจฟิลิปปินส์มีแนวโน้มดีขึ้นจากการที่ฐานะการคลังและภาคการเงินปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการลงทุน รวมทั้งมีรายได้จากแรงงานฟิลิปปินส์ที่ทำงานในต่างประเทศยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคได้ดีขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะทำให้เศรษฐกิจโลกในปี 2550 ชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ได้แก่
* ราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและมีความผันผวนได้ง่ายเนื่องจากความต้องการในตลาดโลกเพิ่มขึ้น แต่มีข้อจำกัดด้านกำลังการผลิต รวมทั้งมีความเสี่ยงจากพายุเฮอร์ริเคนตามฤดูกาล และความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ เช่น การทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ และการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ในอิหร่าน
* ปัญหาการขาดดุลแฝดของสหรัฐฯ (ดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการคลัง) ที่ยังขาดดุลในระดับสูง และเริ่มส่งผลให้นักลงทุนขาดความ
เชื่อมั่นในค่าเงินดอลลาร์ และชะลอการถือครองตราสารสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งกดดันค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ให้อ่อนลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2549(B) ซึ่งเป็นความเสี่ยงว่าประเทศที่ถือครอง ตราสาร หุ้น และเงินฝากสกุลเงินดอลลาร์ในสัดส่วนสูง ซึ่งประกอบด้วย ประเทศจีน ญี่ปุ่น และประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (รวมทั้งรัสเซียและนอร์เวย์) จะขาดความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งจะ ทำให้เงินทุนไหลออกจากสหรัฐฯ หรือมีการขายตราสารทางการเงินที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์ สรอ.(C) เพื่อไปถือครองตราสารสกุลเงินอื่นแทน และกดดันค่าเงินดอลลาร์ให้อ่อนลงได้อย่างรวดเร็ว ใน ภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวต่อเนื่อง : New house start ชะลอตัวขณะเดียวกันราคาสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ที่ ต่อเนื่อง Stock บ้านยังคงมีสูง และราคาอสังหาริมทรัพย์ฯ ชะลอตัวลดลงก็จะส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งของประเทศเหล่านี้ได้มาก(D) และจะส่งผลต่อเนื่องให้ตลาดเงินของโลกและค่าเงินของประเทศเหล่านี้ผันผวน และเป็นที่คาดกันว่าในปี 2550 เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินยูโร เงินเยน (จาก 115 เยนต่อดอลลาร์ ในปี 2549 เป็น 100 เยนในปี 2550 และจาก 1.27 ดอลลาร์ต่อ 1 ยูโรเป็น 1.30 ดอลลาร์ในปี 2550)
* การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ อาจจะชะลอตัวอย่างรวดเร็ว และทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวมาก การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยชะลอตัว และมีที่อยู่อาศัยที่ค้างสต็อกในปริมาณที่เพิ่มขึ้นและสามารถสนองความต้องการที่อยู่อาศัยไปได้อีกประมาณ 7-8 เดือน และทำให้ราคาที่อยู่อาศัยลดลง ซึ่งทำให้มูลค่าทรัพย์สินและความมั่งคั่งของครัวเรือนลดลงและส่งผลต่อเนื่องต่อการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคแลบริโภค และคุณภาพสินเชื่อ ของสถาบันการเงินลดลงจากการที่ราคาสินทรัพย์ค้ำประกันลดลง รวมทั้งผลกระทบต่อเนื่องต่อการจ้างงานที่เกิดจากการลงทุนในการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม ราคาบ้านที่ปรับลดลงอย่างช้า ๆ ทำให้นักวิเคราะห์คาดว่าการปรับตัวชะลอลงของภาคอสังหาริมทรัพย์จะค่อยเป็นค่อยไป
* เงื่อนไขอื่น ๆ ที่อาจซ้ำเติมให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวเร็ว ได้แก่ (i) การดำเนินนโยบายการคลังที่เข้มงวดมากขึ้นในประเทศสหภาพยุโรปและอาเซียน (ii) การชะลอตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปยังประเทศต่าง ๆ ที่เป็นผู้ส่งออกที่พึ่งพิงการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นสำคัญได้อย่างรวดเร็ว เช่น ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย เป็นต้น (iii) การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหภาพยุโรป อังกฤษและธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 ในปี 2550 และ (iv) ความไม่แน่นอนทางการเมือง เช่น สถานการณ์ในประเทศไต้หวัน และสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ เช่น ความขัดแย้งระหว่างประเทศสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือ
********************************************************************************************************
(B) George Magnus, Senior Economic Adviser ของ UBS Limited ประมาณว่าในปัจจุบันการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากเอเชียและกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันซึ่งเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงไปยังตลาดการเงินสหรัฐฯ เพื่อลงทุนในตราสารทางการเงินสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. นั้นยังอยู่ในระดับสูง รวมทั้งตราสารทางการเงินสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. ที่ออกในตลาดอื่น จึงทำให้สหรัฐฯ ยังสามารถอยู่ในฐานะที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้ต่อไป โดยที่ประมาณว่าในปี 2006 การเคลื่อนย้ายเงินทุนออกสุทธิจากประเทศในเอเชียและประเทศผู้ส่งออกน้ำมันมีรวมทั้งสิ้น 650 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดยเป็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจำนวนประมาณ 760 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งประกอบด้วย การเคลื่อนย้ายเงินทุนจำนวน 260 พันล้านดอลลาร์ จากเอเชียที่ไม่รวมญี่ปุ่น (ร้อยละ 70 มาจากประเทศจีน) และอีกประมาณ 500 พันล้านดอลลาร์จากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (ประมาณร้อยละ 80 มาจากตะวันออกกลางและ รัสเซีย) ซึ่งหมายความ ว่าเงินทุนไหลออกจากประเทศจีน ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในตะวันออก กลาง และ รัสเซียรวมกัน คิดเป็นประมาณร้อยละ 70 ของความต้องการ เงินทุนจากภายนอกเพื่อชดเชยการขาดดุลของสหรัฐฯ โดยที่ประมาณร้อย ละ 65 ของเงินทุนทั้งหมดไหลเข้าตลาดสหรัฐฯ โดยมีแหล่งที่มาจากญี่ปุ่น จีน และประเทศผู้ส่งออกน้ำมันซึ่งรวมทั้งรัสเซีย และนอร์เวย์
(C) ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางรัสเซีย ยูไนเต็ดอาหรับอะมิเรท และสวิสเซอร์แลนด์ เริ่มปรับเปลี่ยนมาถือครองสินทรัพย์สกุลเงินเยนมากขึ้น และ ECB ได้ขายดอลลาร์ สรอ. และซื้อเงินเยนทดแทน
(D) Francis E. Warnock ประมาณการว่าค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนลงร้อยละ 10 ราคาหุ้นและราคาตราสารหนี้ที่ลดลงร้อยละ 10 จะทำให้ความมั่งคั่งของประเทศผู้ถือสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ สรอ. ลดลงประมาณร้อยละ 4 ของ GDP ศึกษารายละเอียดได้จาก "How Might a Disorderly Resolution of Global Imbalances Affect Global Wealth?", IMF Working Paper No. 06/170
*************************************************************************************************************
(ยังมีต่อ).../ 3.2.2 ประเด็นภาย..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ