1. ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาสแรกปี 2549
1.1 เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 6.0 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 โดยมีแรงสนับสนุนหลักจากการส่งออกสุทธิทั้งสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นมากในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัว โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนและการใช้จ่ายรัฐบาล นอกจากนี้ในไตรมาสแรกการผลิตขยายตัวช้ากว่าความต้องการสินค้าและบริการรวม จึงทำให้การสะสมสินค้าคงคลังลดลงมาก
ประเด็นหลัก
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 6.0 ปรับตัวดีขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 ในไตรมาสที่สี่ปี 2548 โดยมีแรงสนับสนุนหลักจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีในขณะที่การนำเข้าชลอตัวมากซึ่งทำให้ดุลการค้าขาดดุลเพียง 224 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากที่ขาดดุล 749 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสที่สี่ปีที่แล้ว แต่อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 7.2 การใช้จ่ายรัฐบาล ณ ราคาคงที่ ลดลงร้อยละ 0.7 และการลงทุนภาครัฐ ณ ราคาคงที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4.7 ดังนั้นอุปสงค์ภายในประเทศจึงสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้น้อยลง
การขยายตัวสูงในไตรมาสแรกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปรียบเทียบกับฐานเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าแนวโน้มปกติของไตรมาสแรกปี 2548(1) แต่อัตราการขยายตัวเมื่อเปรียบเทียกิจกรรมทางเศรษฐกิจไตรมาสต่อไตรมาสแสดงถึงสัญญาณการชะลอตัวต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจในไตรมาสแรกขยายตัวจากไตรมาสที่สี่ปี 2548 ร้อยละ 3.0 ต่อปี (annualized qoq growth)
ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับร้อยละ 3.1 ในไตรมาสที่ผ่านมา แต่เป็นแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวไตรมาสต่อไตรมาสตลอดช่วงปี 2548(2)
การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงชัดเจน โดยขยายตัวร้อยละ 7.2 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 11.3 ของทั้งปี 2548 และร้อยละ 9.3 ในไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับตัวชะลอลงทั้งการลงทุนในการก่อสร้างและการลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์
********************************************************************************************
หมายเหตุ (1) ไตรมาสแรกปี 2548 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียงร้อยละ 3.2 เนื่องจากได้รับผลกระทบทั้งจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมาก
ผลกระทบจากสึนามิ และปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งปัญหาการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และการส่งออกกุ้งซึ่งผลผลิตขาดแคลน
(2) annualized growth เท่ากับร้อยละ 8.6 9.7 และ 3.0 ในไตรมาสที่สอง สาม และสี่ปี 2548 ตามลำดับ
(ยังมีต่อ)../การลงทุน..