(ต่อ1)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 และแนวโน้มปี 2549

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 6, 2006 15:57 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          - ภาคการเงินในไตรมาสสองปี 2549 :  อัตราดอกเบี้ยและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับสูงขึ้นตามลำดับ และสินเชื่อชะลอตัวอย่างชัดเจน และสภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง
- อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น คณะกรรมการนโยบายการเงินปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง ๆ ละ 25 bps. และคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 5.0 ต่อปีในการประชุมเดือนกรกฎาคม ขณะที่ Fed Fund Rate คงอยู่ที่ร้อยละ5.25 ต่อปี และธนาคารพาณิชย์ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนของ 5 ธนาคารใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 4.63 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR อยู่ที่ร้อยละ 7.75 ต่อปี สูงขึ้นจากไตรมาสแรกร้อยละ0.75 และ 0.38 ตามลำดับ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเพิ่มขึ้น 25-51 basis points ในไตรมาสสอง
- ดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ที่ปรับสูงขึ้นทำให้เงินฝากเร่งตัวขึ้นและสินเชื่อชะลอตัว เงินฝาก ณ สิ้นไตรมาสสองที่ไม่รวมผลจากการจัดตั้งธนาคารใหม่ขยายตัวร้อยละ 7.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.6ในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 ก่อนเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยโดยเฉพาะเงินฝากประจำเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 27.3 ในไตรมาสแรก เป็นร้อยละ 35.4 ในไตรมาสนี้ และส่วนหนึ่งมีการโยกย้ายเงินฝากมาจากบัญชีออมทรัพย์ ส่งผลให้เงินฝากออมทรัพย์ลดลงจากระยะเดียวกันของปี 2548 ร้อยละ 12.9 ขณะที่สินเชื่อธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนมีแนวโน้มชะลอตัวโดยขยายตัวร้อยละ 4.4 จากระยะเดียวกันของปีที่แล้วสินเชื่อภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนมากที่สุดขยายตัวร้อยละ 5.2 เทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2548 ที่ขยายตัวร้อยละ 13.3 และสินเชื่อเพื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เริ่มหดตัว สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลชะลอตัวต่อเนื่องจากร้อยละ 11.7 ในไตรมาสที่แล้วเป็นร้อยละ 9.7 ในไตรมาสนี้
- สภาพคล่องมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากเงินฝากขยายตัวมากกว่าสินเชื่อ สัดส่วนสินเชื่อ (รวมเงินลงทุนในหลักทรัพย์เอกชน) ต่อเงินฝากในไตรมาสสองอยู่ที่ร้อยละ 93.0 ลดลงจากร้อยละ 95.5 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว และสภาพคล่องส่วนเกินในระบบธนาคารพาณิชย์มีมูลค่าประมาณ 682 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.2
- การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและเบิกเงินสดล่วงหน้าชะลอตัวลง แต่สินเชื่อคงค้างขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 21.3 สะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนที่เริ่มลดลงเนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น
- เสถียรภาพทางการเงินยังอยู่ในเกณฑ์ดี NPLs ของสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในไตรมาสสอง มีสัดส่วนร้อยละ 8.22 ของสินเชื่อรวม แต่ยังไม่มีสัญญาณการเพิ่มขึ้นของหนี้ NPLs จากการที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เงินบาทมีค่าเฉลี่ยในไตรมาสสองที่ 38.07 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 3.4 และยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม เนื่องจากมีเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก รวมทั้งมี การคาดการณ์ถึงแนวโน้มการปรับค่าเงินหยวน แต่การแข็งค่าของเงินบาทในอัตราที่มากกว่าค่าเงินในภูมิภาคส่วนใหญ่ ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เฉลี่ยในไตรมาสสองสูงขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 5.2. ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้ดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 8.6
- ตลาดหลักทรัพย์และตราสารหนี้ภาวะตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาสสอง จากการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ 29 พันล้านบาท ก่อนจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ปิดตลาดสิ้นเดือนสิงหาคม 690.90 จุด มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมเท่ากับ 5.0 ล้านล้านบาท ขณะที่การซื้อขายตราสารหนี้เฉลี่ยต่อวันในไตรมาสสองเท่ากับ 26.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เนื่องจากมีการย้ายเงินลงทุนบางส่วนจากตลาดหลักทรัพย์ ดัชนีผลตอบแทนจากการลงทุนปรับตัวเพิ่มขึ้น ภาคธุรกิจปรับรูปแบบการระดมทุนในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยกำลังปรับตัวโดยการออกหุ้นกู้และมีการระดมทุนด้วยตั๋วเงินระยะสั้นเพิ่มขึ้นมีมูลค่าสุทธิ 51.1 พันล้านบาท อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย และลดลงในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสสาม เนื่องจากมีความต้องการลงทุนจำนวนมาก สะท้อนการคาดการณ์ของตลาดต่ออัตราดอกเบี้ยระยะยาวจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้เส้นอัตราผลตอบแทนปรับราบลง
1.2 เศรษฐกิจโลกในไตรมาสสองปี 2549 : ชะลอตัวจากไตรมาสที่หนึ่งจากเศรษฐกิจสหรัฐกลุ่มประเทศ NIEs และญี่ปุ่นที่ชะลอตัวลง ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง และหลายประเทศได้มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย และจีนมีการดำเนินนโยบายแบบเข้มงวดมากขึ้นเพื่อลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ
- เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง โดยมีสาเหตุหลักจากการ ลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่หดตัว และการบริโภค ภาคเอกชนซึ่งได้รับผลกระทบจากภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวต่อเนื่อง แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และการขาดดุลการค้ายังคงอยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวลงตามการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิที่ชะลอตัวลง และการลงทุนในที่อยู่าศัยการใช้จ่ายภาครัฐ และการสะสมสินค้าคงคลังที่ลดลงอย่างไรก็ตามการใช้จ่ายในประเทศทั้งการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยปรับตัวดีขึ้น ดัชนีราคาผู้บริโภค สินเชื่อภาคเอกชนและการจ้างงานขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจะฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งหลังของปี เศรษฐกิจ NIEs ชะลอตัวลง เศรษฐกิจสิงคโปร์ และฮ่องกง ชะลอตัวจากการส่งออกโดยเฉพาะการส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ชะลอตัวลง เศรษฐกิจไต้หวันชะลอตัวจากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนที่ลดลงมาก เศรษฐกิจเกาหลีใต้ชะลอตัวจากการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนในสาขาก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนขยายตัวเร่งขึ้นตามการผลิตในสาขาอุตสาหกรรมและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่ขยายตัวได้เร่งขึ้น ปริมาณเงินและสินเชื่อยังคงขยายตัวในอัตราสูง เศรษฐกิจกลุ่มยูโรขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจเยอรมันและฝรั่งเศสจากการสะสมสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ทั้งนี้อัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่อง เศรษฐกิจอินโดนีเซียและมาเลเซียเร่งตัวขึ้น จากการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นมากในอินโดนีเซีย และการลงทุนรวมที่ปรับตัวดีขึ้นมากในมาเลเซีย
- ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อในไตรมาสที่สองยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป โดยธนาคารกลางสหรัฐปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 4.75 ในเดือนมีนาคม เป็นร้อยละ 5 ในเดือนพฤษภาคม และ ร้อยละ 5.25 ในเดือนมิถุนายน ธนาคารกลางสหภาพยุโรปปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.5 ในเดือนมีนาคม เป็นร้อยละ 2.75 ในเดือนมิถุนายน
- แรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เริ่มชะลอตัวลง
- ปัญหาความไม่สมดุลเศรษฐกิจโลกยังคงมีมากขึ้น จะเห็นว่าหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งญี่ปุ่น และจีน มีการเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้น ในขณะที่สหรัฐอเมริกายังคงขาดดุลเพิ่มขึ้น
2. ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2549: มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.2 -4.7 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 4.5-4.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกิน ดุลร้อยละ 0.6 ของ GDP
2.1 ปัจจัย/เงื่อนไขเศรษฐกิจปี 2549
(1) ปัจจัยเสี่ยง/ข้อจำกัด ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจในครึ่งหลังปี 2549 ชะลอตัว ได้แก่
(1.1) ปัจจัยเสี่ยง/ข้อจำกัดจากภายนอก: ราคาน้ำมันสูงและผันผวน และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวในครึ่งหลังของปีจากผลกระทบราคาน้ำมันและผลจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศ และยังมีความเสี่ยงจากการปรับตัวจากปัญหาความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก
- ราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง เนื่องจาก (1) ความต้องการน้ำมันดิบยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย International Energy Agency คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกในปี 2549 วันละ 84.78 ล้านบาเรล เพิ่มขึ้นวันละ 1.19 ล้านบาเรล หรือร้อยละ 1.4 จากปี 2548 โดยเป็นผลจากความต้องการของประเทศจีนและสหรัฐอเมริกาที่ยังเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ (2) กำลังการผลิตยังตึงตัวทั้งกำลังการผลิตน้ำมันดิบและกำลังการผลิตของโรงกลั่น ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2549 กำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปคที่สามารถทำการผลิตได้ทันทีในเวลา 3 เดือนมีอยู่วันละ 1.3-1.8 ล้านบาเรล จึงคาดว่ากำลังการผลิตตึงตัวจะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันส่งออกมีความผันผวนได้ง่ายต่อผลกระทบด้านการผลิตหรือแม้แต่ข่าวสารในทางลบที่เกี่ยวกับสถานการณ์การผลิต ความต้องการใช้และการสะสมสต็อก (3) สถานการณ์ความไม่แน่นอนและความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง ที่ส่งผลต่อการผลิตน้ำมัน และปัญหาการก่อการร้าย เช่น ความตึงเครียดระหว่างชาติตะวันตกและอิหร่านเรื่องนโยบายนิวเคลียร์และความไม่สงบเป็นครั้งคราวในอิรักและไนจีเรีย รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างเลบานอนและอิสราเอล ซึ่งมีผลกระทบทางอ้อมในเรื่องความเชื่อมั่นในการเมืองระหว่างประเทศแต่อย่างไรก็ตามมีปัจจัยที่ชี้ว่าราคาน้ำมันจะไม่เพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันมาก ดังนี้ (1) ภาวะเศรษฐกิจจีน สหรัฐฯ และเอเชีย มีแนวโน้มชะลอตัวในครึ่งหลัง ในขณะราคาน้ำมันได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและทรงตัวในระดับสูงมากแล้ว (2) การปรับตัวของประเทศต่าง ๆ ในเรื่องการประหยัดพลังงานและการพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือกจะช่วยลดแรงกดดันลงได้บ้าง (3) ปริมาณสำรอง Crude, Middle Distillate และ Gasoline ของสหรัฐฯ ประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกยังคงอยู่สูงกว่าระดับเฉลี่ย 5 ปี และปริมาณสำรองรวมของ OECD เพิ่มขึ้นในครึ่งแรกปี 2549 และ (4)ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงตั้งแต่ต้นปี 2549 และอยู่ในระดับสูงมากแล้ว จึงคาดว่ากลุ่ม OPEC จะไม่ลดเพดานการผลิต ประกอบกับกำลังการผลิตที่พร้อมที่ทำการผลิตได้(Surplus capacity) ของกลุ่มประเทศโอเปคที่เพิ่มขึ้นจากวันละ 0.9-1.4 ล้านบาเรลเป็นวันละ 1.3-1.8 ล้านบาเรลดังนั้นจากเงื่อนไขต่าง ๆ ดังกล่าวจึงประเมินว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันไม่มาก
-เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวในครึ่งหลังของปี และยังมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวมากกว่าที่คาดไว้หากราคาน้ำมันยังสูงขึ้นต่อเนื่อง และการปรับตัวของสหรัฐฯในการแก้ปัญหาความไม่สมดุลซึ่งทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนได้ง่าย รวมทั้งผลจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในช่วงปีที่ผ่านมาได้ชะลอเศรษฐกิจมากขึ้นตามลำดับ จะเห็นได้ว่าอสังหาริมทรัพย์ในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐฯ จีน ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร เริ่มชะลอตัว อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้สูงในครึ่งแรก ทำให้ทั้งปี 2549 เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้สูงกว่าในปี 2548 จากการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้นมาก เศรษฐกิจเกาหลีใต้และสหภาพยุโรปฟื้นตัวได้ดีขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจจีน และสหรัฐอเมริกายังขยายตัวได้ดี ซึ่งชดเชยการชะลอตัวของเศรษฐกิจในเอเชีย แต่อย่างไรก็ตามในครึ่งหลังปี 2549 เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงบางประการ ได้แก่ (1) ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวต่อเนื่อง และการขาดดุลการค้าและดุลการคลังของสหรัฐยังคงมีต่อไป ซึ่งส่งผลกระทบให้ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. มีแนวโน้มอ่อนค่าลง โดย คาดว่าโดยเฉลี่ยเงินดอลลาร์ สรอ. ปี 2549 จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินยูโรและเงินเยน จาก 1.19 ดอลลาร์ต่อยูโร ในปี 2548 เป็น 1.32 ดอลลาร์ สรอ. ในปี 2549 และเงินเยนแข็งค่าจาก 118 เยนต่อดอลลาร์ สรอ. ในปี 2548 เป็น 105 เยน ในปี 2549(A) (2) การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากการดำเนินนโยบายที่เข้มงวดขึ้นของจีนเพื่อลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรและอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับการเกินดุลการค้าที่สูงของจีนสร้างแรงกดดันให้ค่าเงินหยวนแข็งค่ามากขึ้น (3) การฟื้นตัวเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปยังช้า เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังไม่แข็งแกร่ง (4) อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ โดยคาดว่า ณ สิ้นปี 2549 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกา จะปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.50(B) (จากร้อยละ 5.25 ในปัจจุบัน) อัตราดอกเบี้ยทางการของสหภาพยุโรปจะอยู่ในระดับร้อยละ 3.0 (จากระดับปัจจุบัน 2.75) และอัตราดอกเบี้ยทางการของญี่ปุ่นปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 0.50 (จากร้อยละ 0 ในปัจจุบัน) (5) เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งจากการได้รับผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและจีนชะลอตัว และวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มชะลอตัว
- สัญญาณการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลัง จะเริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยเฉพาะในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการขยายตัวอย่างสูงในครึ่งปีแรก จะเห็นว่าสัดส่วนคำสั่งซื้อต่อการส่งมอบสินค้าเซมิคอนดัก-เตอร์ของสหรัฐอเมริกาเริ่มลดลงในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา (จากสัดส่วน 1.12 ในไตรมาสที่สอง) ประกอบกับในช่วงครึ่งหลังประเทศอาจจะได้รับผลกระทบจากมาตรการนำเข้าของต่างประเทศ อาทิ การตัดสิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับการส่งออก สินค้าธัญพืช และลิ้นจี่/ลำไยกระป๋องไปตลาดสหรัฐฯ การกำหนดใบรับรองมาตรฐานสินค้ากุ้งในตลาดยุโรป และระเบียบว่าด้วยการจำกัดการใช้สารอันตรายในเครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในตลาดยุโรป เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การส่งออกขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 14-15 ต่ำกว่าเป้าหมายการส่งออกที่ร้อย
ละ 17.5
********************************************************************************************************
(A)(B) , จากการคาดการณ์ล่าสุดของ Lehman Brothers อ้างอิงจาก "Global Weekly Monitor" ฉบับวันที่ 25 สิงหาคม 2549
********************************************************************************************************
(1.2) ปัจจัยเสี่ยง/ข้อจำกัดภายในประเทศ: อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ภายในประเทศ ซึ่งกระทบความเชื่อมั่น
- อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายและการลงทุนมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2549 โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR เฉลี่ยที่ร้อยละ 7.75 ณ สิ้นเดือนสิงหาคม โดยเฉพาะในสินเชื่อสำหรับรายย่อย มีผลทำให้อัตราการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการบริโภคมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงจากปี 2548 ที่ร้อยละ 14.6 ลงเหลือร้อยละ 11.2 ในไตรมาสแรก และร้อยละ 9.7 ในไตรมาสที่สอง แต่สินเชื่อที่อยู่อาศัยกลับมาขยายตัวร้อยละ 14.1 จากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 ในไตรมาสแรก อย่างไรก็ตามโดยเฉลี่ยยังเป็นแนวโน้มชะลอตัวจากปี 2548 และคาดว่าในช่วงปลายปี 2549 อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาหลายครั้ง ซึ่งตลาดเงินยังไม่ได้ปรับตัวตามอย่างเต็มที่ และธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันกันมากขึ้นในการระดมเงินฝากเพื่อสร้างฐานเงินฝากและมีความพร้อมด้านสภาพคล่อง ซึ่งจะทำให้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการระดมเงินฝาก และอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะชะลอตัวในครึ่งหลังของปีจะทำให้อัตราดอกเบี้ยแท้จริงเพิ่มขึ้นชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี
- ค่าเงินบาท (ที่แท้จริง) ที่แข็งขึ้นจากระทบความสามารถในการแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่กำลังเข้าสู่ช่วงชะลอตัว เช่น อิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มที่กำลังสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันต่อประเทศที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำอยู่แล้ว อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ เครื่องหนัง และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าค่าเงินบาทจะไม่แข็งค่าจากระดับปัจจุบันมากนัก
- สถานการณ์ภายในประเทศ รวมถึงการก่อความไม่สงบในภาคใต้ส่งผลให้ความมั่นใจของผู้บริโภคและเอกชนลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี และกระทบต่อการตัดสินใจใช้จ่ายและการลงทุน และผลกระทบจากการที่ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2550 ไม่สามารถเริ่มใช้จ่ายได้ตามกำหนดการปกติซึ่งจะมีผลต่อการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลในสองไตรมาสแรกของปีงบประมาณ
(ยังมีต่อ).../(2) ปัจจัยบวก..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ