1 ความเป็นมา
1. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดให้การพัฒนาทุนทางสังคมเป็นวาระแห่งชาติ โดยในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อร่วมกันพัฒนายุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาทุนทางสังคม ขณะเดียวกัน มีการศึกษาวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทุนทางสังคมหลายเรื่อง อาทิ การพัฒนากรอบตัวชี้วัดทุนทางสังคมไทย การศึกษาความสัมพันธ์ของทุนทางสังคมกับการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เป็นต้น รวมทั้งมีการประสานความร่วมมือกับภาครัฐ เอกชนและชุมชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาทุนทางสังคมสู่การปฏิบัติ โดยในปี 2548 สศช. ได้ดำเนินโครงการนำร่องที่สำคัญ 2 โครงการ คือ โครงการจัดทำแผนที่ทุนทางสังคมที่จังหวัดกาญจนบุรีและพะเยา โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ และโครงการศึกษาและรวบรวมภูมิปัญญาช่างเครื่องเงินชาวเขาเพื่อการอนุรักษ์ ต่อยอดและพัฒนาให้เป็นระบบสู่สากล โดยได้รับความร่วมมือจากกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
2. การสัมมนาระดับชาติ เรื่อง "อนาคตทุนทางสังคมไทยในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10" มีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานผลการดำเนินงานและเผยแพร่บทเรียนเกี่ยวกับประสบการณ์การพัฒนาทุนทางสังคมให้แก่สาธารณชนรับทราบอย่างกว้างขวาง รวมทั้งระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การกำหนดทิศทางการดำเนินงานส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนา ทุนทางสังคมในระยะต่อไปเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความต้องการของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง โดยการสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ เป็น ผู้อภิปรายนำและมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากทุกภาคส่วนประมาณ 400 คน
2 พิธีเปิดการสัมมนาและบรรยายพิเศษ
นางสาวภารณี วัฒนา รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต สศช.ได้กล่าวรายงานถึงความเป็นมาและผลการดำเนินงานที่สำคัญในการพัฒนาทุนทางสังคมของ สศช. วัตถุประสงค์ กำหนดการและองค์ประกอบของผู้เข้าร่วมการสัมมนาระดับชาติเรื่อง "อนาคตทุนทางสังคมไทยในระยะแผนพัฒนาฯฉบับที่ 10"
นายกิติศักดิ์ สินธุวนิช รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานในการสัมมนาได้กล่าวเปิดการสัมมนาและบรรยายพิเศษเรื่อง "รัฐบาลกับการพัฒนาทุนทางสังคม" ว่า สศช.ได้ดำเนินการเรื่องทุนทางสังคมมาตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งเป็นช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 เนื่องจากได้มีการทบทวนถึงทิศทางการพัฒนาประเทศและผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงแผนพัฒนาฯฉบับที่ 8 และพบว่า "เศรษฐกิจดี สังคมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน" โดยเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 เศรษฐกิจฟองสบู่ส่งผลกระทบมากที่สุดกับกลุ่มนักธุรกิจ ขณะที่ผู้ที่อยู่ในชนบทได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย เพราะในชนบทยังมีการรวมกลุ่ม มีความเอื้ออาทร ช่วยเหลือกันแก้ปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของกันและกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือทุนทางสังคมที่อยู่ในสังคมไทยมาช้านาน แต่ระยะหลังเริ่มลดน้อยถอยลง ในช่วงการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 จึงได้รื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมาให้เป็นพลังในการพัฒนาชุมชนและประเทศต่อไป
สศช.จึงได้เสนอเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติที่จะให้ทุกฝ่ายให้ความสนใจและเข้าร่วมผลักดันการพัฒนาทุนทางสังคมเพื่อที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความยากจน การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคนในสังคม ดังนั้น การรวมตัวร่วมคิดร่วมทำบนฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเอื้ออาทรและวัฒนธรรมที่ดีงาม โดยผ่าน 3 องค์ประกอบ คือ ทุนมนุษย์ ศักยภาพของคน ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ผู้มีประสบการณ์ ทุนทางสถาบัน เช่น สถาบันศาสนา สถาบันครอบครัว ชุมชน และทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา จึงเป็นทุนทางสังคมที่ก่อให้เกิดพลังสร้างสรรค์สังคมไทย
สศช. ได้ร่วมมือกับภาคีต่างๆทำหลายเรื่องอย่างเป็นขั้นเป็นตอนต่อเนื่อง และพบว่า ในการขับเคลื่อนการพัฒนาทุนทางสังคมให้เป็นไปอย่างยั่งยืนจะต้องให้ความสำคัญกับ ประการแรก การปลุกคนในสังคมให้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของทุนทางสังคมและร่วมกันขยายผลขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไปด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแหล่งเรียนรู้ให้เกิดการเรียนรู้ใน สิ่งดีๆ เหล่านี้ การใช้สื่อเพื่อเผยแพร่ข้อมูลในวงกว้าง ประการที่ 2 การร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา ต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาต่างๆ อย่างเป็นระบบ เช่น การวิจัย การจัดการองค์ความรู้ทั้งในกระบวนการศึกษาและเรียนรู้ผ่านสถาบันการศึกษา หน่วยงานต่างๆ และภาคประชาสังคม ประการที่ 3 การนำทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ในเชิงของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยพิจารณาทั้งการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าควบคู่กันไป เช่น สมุนไพรไทย สปา ฯลฯ โดยให้ความสำคัญของการบริหารจัดการข้อมูล การสร้างองค์ความรู้และการจัดการองค์ความรู้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องสนับสนุนให้เป็นกลไกในการบริหารจัดการให้มีการขับเคลื่อนทุนทางสังคมไปในทิศทางที่ต้องการ
นอกจากการกำหนดกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาทุนทางสังคมในภาพรวมที่ทุกฝ่ายใช้เป็นทิศทางในการดำเนินการแล้ว สศช.ยังได้ระดมความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคมขับเคลื่อนการพัฒนาทุนทางสังคมให้เห็นผลเป็นรูปธรรมอีกด้วย เช่น การจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันครอบครัวแบบบูรณาการ ซึ่งเป็นมิติหนึ่งในเชิง ทุนทางสถาบัน โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปแล้ว หรือการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคธุรกิจเอกชนเพื่อเป็นทุนทางสังคม ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคธุรกิจเอกชนในการช่วยผลักดันเรื่องนี้ นอกจากนี้ สศช.ยังได้ร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์จัดทำโครงการนำร่องแผนที่ทุนทางสังคม โดยมีการสำรวจว่าในแต่ละพื้นที่มีอะไรบ้างที่เป็นพลังของสังคม ไม่ว่าจะเป็นบุคคล ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำ สถาบันต่างๆ ภูมิปัญญา วัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเริ่มนำร่องในปี 2548 ที่จังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดพะเยา ขณะเดียวกัน ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาดำเนินโครงการต่อยอด ภูมิปัญญาเครื่องเงินชาวเขา ซึ่งถือเป็นตัวอย่างรูปธรรมเล็กๆ ที่พยายามทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดผล เพื่อนำไปขยายผลต่อไป
การดำเนินงานต่างๆเหล่านี้ได้มีการเชื่อมโยงไปสู่กระบวนการทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐใน 3 ระดับ กล่าวคือ ระดับนโยบาย มีการกำหนดให้การพัฒนาทุนทางสังคมอยู่ในแผนการบริหารราชการแผ่นดิน 4 ปีเรียบร้อยแล้ว โดยปรากฏอยู่ในยุทธศาสตร์ว่าด้วยการแก้ปัญหาความยากจนและยุทธศาสตร์การพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาศักยภาพคน การพัฒนาความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนและสถาบันต่างๆ หรือการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งจะใช้เป็นกรอบสำหรับหน่วยงานภาครัฐจะต้องแปลงไปเป็นแผนงาน/โครงการต่อไป ระดับพื้นที่ โดยกลไกของผู้ว่า CEO จะต้องเชื่อมโยงกับแผนการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อให้มีการแปลงไปสู่การปฏิบัติของพื้นที่เช่นเดียวกัน และเมื่อพิจารณานโยบายต่างๆของรัฐบาล จะเห็นว่าจุดเน้นสำคัญอยู่ที่การสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน กระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และการบริหารจัดการของคนในพื้นที่ ยกตัวอย่างกองทุนหมู่บ้านที่ลงไป เป็นรูปแบบที่ให้คนในชุมชนได้มีการบริหารจัดการกันเอง ใช้ความผูกพัน ความรู้จักของคนในพื้นที่ร่วมกันเป็นกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรที่อยู่ในมือของเขาเอง หรือโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่มีการดึงเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ไปขายถึงต่างประเทศ หรือนโยบาย SML เป็นความพยายามให้องค์กรชุมชนมีการรวมตัวและพยายามคิดค้นหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาท้องถิ่น ทั้งนี้ ทรัพยากรที่จัดสรรลงไปเป็นการช่วยสนับสนุนให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง มีการพัฒนาศักยภาพของคน เกิดการเรียนรู้ของคนในระดับล่าง ซึ่งจะเป็นการสั่งสมทุนทางสังคมเช่นเดียวกัน ระดับที่มองไปข้างหน้า ขณะนี้ สศช. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล 2 เรื่อง คือ 1) การปรับโครงสร้างทางสังคม โดยต้องฟื้นฟูความหลากหลายทางสังคมให้เกิดขึ้น ฟื้นฟูความเข้มแข็งของสถาบันต่างๆ ที่จะเป็นองค์ประกอบในการปรับโครงสร้างทางสังคม เช่น สถาบันครอบครัว ชุมชน สถาบันศาสนา และ 2) การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 โดยจะต้องพัฒนาประเทศให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนในมิติต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม เมือง ชนบท โดยจะมีการลงไประดมความเห็นจากประชาชน 108 หมู่บ้านว่าเข้าใจผลกระทบการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นใน 5 -10 ปีข้างหน้าอย่างไร รวมทั้งระดมความคิดจากกลุ่ม นักธุรกิจและข้าราชการ เพื่อนำมาสังเคราะห์จัดทำเป็นแผนพัฒนาฯฉบับที่ 10 ต่อไป
3 การอภิปรายเรื่อง "การดำเนินงานเรื่องทุนทางสังคมและทิศทางในปี 2549 :
ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการขับเคลื่อนทุนทางสังคม"
การนำเสนอ โดย นางสุวรรณี คำมั่น รักษาการที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. สรุปได้ดังนี้
การวางแผนพัฒนาประเทศหรือการจัดทำแผนงานโครงการต่างๆ จะต้องพิจารณาทุนที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทุนทางสังคมมาประกอบกันเพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างยั่งยืน แต่การพัฒนาในอดีตยังมิได้นำทุนทั้ง 3 มาเชื่อมโยงให้เกิดความสมดุลเท่าที่ควร โดยมักจะละเลยทุนทางสังคมซึ่งเป็นทุนที่มีค่าที่สุด ทำให้เกิดปัญหาสังคมทั้งในเชิงโครงสร้าง ปัญหาที่สั่งสมมา และปัญหาที่เกิดจากผลกระทบของกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีผลกว้างขวาง มากมายและรุนแรงต่อทุกประเทศ ซึ่งจะต้องพิจารณาหาทางเผชิญกับสิ่งเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม โดยจะต้องมีกระบวนการเกาะเกี่ยวทุนทั้ง 3 ให้เป็นกระบวนการเดียวกันและพึ่งพาซึ่งกันและกัน จึงจะเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
สศช.ได้ศึกษาความหมายของทุนทางสังคมทั้งในและต่างประเทศ โดยไม่ต้องการให้เกิดข้อถกเถียงว่าอะไรคือทุนทางสังคม แต่ต้องการให้เป็นตัวแบบในการศึกษาและการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนา โดยได้ข้อสรุปจากหลายๆเวทีว่า ทุนทางสังคมหมายถึง การรวมตัวร่วมคิดร่วมทำของคนในสังคม ที่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์ คำนึงถึงอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย และมีความเป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ทุนทางสังคมจึงเป็นกระบวนการหรือเป็นนามธรรม โดยมีองค์ประกอบสำคัญที่จะนำมาเชื่อมโยงกระบวนการและนำไปสู่กิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างทุนทางสังคมใน 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนสถาบัน ตั้งแต่สถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสถาบันที่เป็นที่เทิดทูนและเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ สถาบันศาสนา ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชนต่างๆ หรือแม้แต่ภาคธุรกิจ และทุนทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ที่เป็นทุนที่มีค่าสั่งสมมาในสังคมไทยและไม่มีใครเปรียบได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตปัจจุบัน เช่น การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มีตัวอย่างการนำร่องทำโครงการต่อยอดภูมิปัญญาเพื่อสร้างสินค้าไปสู่ตลาดโลก ทำให้เกิดความแปลกใหม่และถูกใจสังคมโลก ซึ่งเวลานี้ให้ความสนใจกับสินค้าของประเทศตะวันออกมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ถ้ารู้จักความพอมีพอกิน การประคองตัวและรู้ศักยภาพตนเอง พึ่งพาตนเองก่อนที่จะพึ่งพาผู้อื่น โดยอาศัยทุนธรรมชาติและทุนความรู้ในชุมชนก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนที่ยั่งยืน มากกว่าการมีรายได้-รายจ่ายที่วูบวาบ ถือเป็นมิติของการใช้ทุนทางสังคมในการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งถ้าสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้ สร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมก็จะเป็นการช่วยกันเฝ้าระวังภาวะสังคมในท้องถิ่นและชุมชน หรือสิ่งต่างๆที่มาพร้อมกับความทันสมัยและเทคโนโลยีต่างๆที่ทำให้เยาวชนเบี่ยงเบนพฤติกรรมไปได้ ท้ายที่สุด ทุนทางสังคมจะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น การรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ โดยคำนึงถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ภายใต้วัฒนธรรมที่หลากหลายผ่านองค์ประกอบ 3 ด้านสามารถทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมมหาศาลในทุกมิติ ไม่ใช่เฉพาะด้านสังคมเท่านั้น
หลักการพื้นฐานในการพัฒนาทุนทางสังคม คือ ทุนทางสังคมเป็นปัจจัยหลักเชื่อมโยงสนับสนุนวาระแห่งชาติอื่นๆ ทั้งมิติเศรษฐกิจ มิติทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร เช่น ในระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัดจะต้องมีการนำวาระแห่งชาติทั้งการแก้ไขปัญหาความยากจน การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาที่ยั่งยืนไปเป็นกรอบในการจัดทำยุทธศาสตร์หรือแผนกลยุทธ์ของหน่วยงาน ในขณะที่ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมหรือทุนความรู้ของสถาบันต่างๆ มีความหลากหลาย ถ้าสามารถเชื่อมโยงให้สอดคล้องกับทุนธรรมชาติและสถานการณ์ในพื้นที่ จะทำให้ทุนทางสังคมเกิดประโยชน์มาก สามารถต่อยอดได้ รวมทั้งยังต้องอาศัยการมีส่วนร่วมในการสร้างสำนึกให้เห็นคุณค่าร่วมกันอย่างเป็นเครือข่าย และการพัฒนาอย่างสมดุลและครบวงจร เช่น การอนุรักษ์ ต่อยอดและสร้างภูมิคุ้มกันและนำไปสู่สากล ทั้งหมดนี้เป็นหลักการสำคัญของการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาทุนทางสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ยุทธศาสตร์การพัฒนาและนำทุนทั้ง 3 ประเภทไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นภาพรวม ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) การสนับสนุนให้เกิดกระบวนการทุนทางสังคมอย่างต่อเนื่อง 2) การพัฒนาและต่อยอดทุนทางสังคม เช่น การจัดการความรู้ให้ทุนภูมิปัญญาต่อยอดเป็นสินค้าแปลกใหม่ที่มีนวัตกรรมบนฐานของวัฒนธรรมไทย 3) การจัดการและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทุนทางสังคม ซึ่งเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกพื้นที่ ทุกมิติอย่างต่อเนื่อง 4) การสร้างภูมิคุ้มกันให้ทุนทางสังคม โดยเฉพาะการปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลกาภิวัตน์และสังคมทุนนิยม และ 5) การพัฒนากลไกการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง
สศช.ในฐานะหน่วยงานกลางได้พิจารณาเลือกเรื่องสำคัญโดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากภาคีต่างๆในการดำเนินโครงการนำร่อง เพื่อเรียนรู้และนำบทเรียนมาขยายผล และมีการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการสื่อสารกับสาธารณะ เพื่อให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ไปสู่การปฏิบัติ
นอกจากการสร้างองค์ความรู้ การสร้างภาคีความร่วมมือและสร้างความเข้าใจในวงกว้างแล้ว สศช.ยังได้จัดทำยุทธศาสตร์เฉพาะเรื่อง ได้แก่
1. กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันครอบครัวแบบบูรณาการ โดยมียุทธศาสตร์สำคัญคือ การพัฒนาศักยภาพสมาชิกในครอบครัวเป็นองค์รวม การสร้างหลักประกันทางสังคมให้แก่สมาชิกในครอบครัวในหลายระดับ รวมทั้งการสร้างกลไกที่เอื้อต่อ
การสร้างครอบครัวเข้มแข็งและการสนับสนุนให้ครอบครัวเป็นทุนทางสังคม โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อ 20 เมษายน 2547 และมอบให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นำไปจัดทำแผนปฏิบัติการต่อไป
2. ยุทธศาสตร์การส่งเสริมภาคธุรกิจเอกชนเป็นทุนทางสังคม ซึ่งมีภาคธุรกิจเอกชนเป็นจำนวนมากที่ตระหนักถึงคุณค่าและมีกิจกรรมตอบแทนสังคม เช่น การต่อยอดภูมิปัญญา การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชนรอบๆ สถานประกอบการ ซึ่ง สศช.คาดหวังให้ภาคธุรกิจเอกชนขยายผลการทำกิจกรรมมากกว่าการบริจาคเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้เกิดพลังและเกิดภาคีการพัฒนา ยกตัวอย่าง ถ้าภาคธุรกิจเอกชนนำธุรกิจไปตั้งในชุมชนจะทำให้เกิดการสร้างงาน คนไม่ทิ้งครอบครัวและถิ่นฐาน ทำให้วัฒนธรรมประเพณีต่างๆยังดำรงอยู่ ซึ่งมีการเสนอยุทธศาสตร์ในการสนับสนุนบทบาทของภาคธุรกิจเอกชน ได้แก่ การกระตุ้นสร้างจิตสำนึก การมีมาตรการจูงใจทางภาษีและการลงทุน และการพัฒนาองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ
ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการประสานกับเครือข่ายเพื่อแปลงยุทธศาสตร์ดังกล่าวสู่การปฏิบัติและได้นำประเด็นต่างๆในยุทธศาสตร์ฯ ไปบรรจุไว้ในแผนและกระบวนการต่างๆ เช่น แผนการบริหารราชการแผ่นดินระยะ 4 ปี ยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมเชิงรุกในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 10 เป็นต้น
นอกจากนี้ สศช.ยังได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการประเมินทุนทางสังคมซึ่งมีอยู่มากมาย โดยได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดทำกรอบตัวชี้วัดทุนทางสังคมสำหรับบริบทสังคมไทย ซึ่งจะนำไปพัฒนาในรายละเอียดต่อไป และ การหารูปแบบในการเสริมสร้างทุนทางสังคมเพื่อชุมชนเข้มแข็ง โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ โดยผลการศึกษาได้ทราบว่าความรู้ของชุมชนมีอยู่อย่างไรและนำมาเชื่อมโยงผ่านตัวแบบการก่อรูปทุนทางสังคมเชื่อมโยงกับแบบแผนความร่วมมือและจิตสำนึกร่วมกันที่ถือเป็นระบบความสัมพันธ์ภายในชุมชนและเป็นปัจจัยที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มชุมชน สหกรณ์ ฯลฯ โดยจะต้องมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งจะได้นำไปเป็นประเด็นในการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ต่อไป
ขณะเดียวกัน โดย สศช.ได้ร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และภาคีเครือข่ายจัดทำโครงการนำร่องการจัดทำแผนที่ทุนทางสังคมในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีและพะเยา โดยแผนที่ทุนทางสังคมเป็นเสมือนเครื่องมือในการสำรวจ รวบรวมและจัดทำทำเนียบทุนทางสังคมที่มีอยู่ในพื้นที่เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือกันพัฒนาท้องถิ่น ผลของการดำเนินโครงการได้ทั้งแผนที่ทุนทางสังคมในเชิงกายภาพและเชิงกระบวนการ ทำให้คนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของทุนทางสังคมและร่วมกันนำไปใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ ยังได้จัดทำโครงการรวบรวมภูมิปัญญาช่างเครื่องเงินชาวเขา โดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาโดยกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อดึงภูมิปัญญาที่อยู่ในตัวคนให้ออกมาเป็นความรู้ที่เปิดเผย มีการถ่ายทอดและจัดการองค์ความรู้เพื่อพัฒนาสู่สากล โดยได้รวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาการผลิตเครื่องประดับเงินดั้งเดิมของชาวเขา 6 เผ่า ใน 6 จังหวัด พัฒนาให้มีคุณภาพมาตรฐานสากล จัดทำเป็นหลักสูตรวิชาชีพและผลิตออกจำหน่าย โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีในการพัฒนาต่อยอดการออกแบบเพื่อการส่งออก ซึ่งได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดีและมีการขอรับความช่วยเหลือต่อเนื่องให้ไปดำเนินการที่จังหวัดนครศรีธรรมราชต่อไป
ในการสรุปถอดบทเรียนเพื่อค้นหาปัจจัยแห่งความสำเร็จ พบว่า การดำเนินงานจะต้องมีการร่วมมือกันเป็นเครือข่าย โดยที่ทุนทางสังคมเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา แต่ต้องเข้าใจตรงกันและมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน การทำงานเรื่องทุนทางสังคมจะต้องเชื่อมโยงเป็นองค์รวมและอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ต้องมีผู้นำในกระบวนการพัฒนาและขับเคลื่อนกระแสสังคม โดยเฉพาะผู้นำตามธรรมชาติที่เกิดจากความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเอื้ออาทรและมีการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องทุนทางสังคม ต้องมีการสร้างเครือข่ายสื่อ ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากในการถ่ายทอดสิ่งดีๆในสังคมที่เป็นอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมในทุกระดับ โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่ทุนมนุษย์ องค์กร สถาบันสนับสนุนที่ดี และกระบวนการจัดการความรู้ที่เหมาะสม
ขณะนี้เป็นช่วงของการจัดทำแผนพัฒนาฯฉบับที่ 10 ซึ่งต้องนำความหลากหลายทางวัฒนธรรมของสังคมไทยมาเชื่อมโยงสร้างความสมดุลทั้งระหว่างมิติทางเศรษฐกิจกับสังคม และภายในมิติสังคมเองทั้งในระดับปัจเจก ครอบครัว สังคมและประเทศชาติ
การอภิปรายนำ โดย
1. นางกานดา วัชราภัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้นำเสนอประสบการณ์ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ได้ดำเนินการเกี่ยวกับทุนทางสังคม และข้อคิดเห็นในการพัฒนาทุนทางสังคมในระยะของแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 10 ดังนี้
1) การจัดทำดัชนีทุนทางสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ร่วมมือกับคณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ศึกษาและจัดทำดัชนีทุนทางสังคม ได้ข้อสรุปว่า ดัชนีทุนทางสังคมประกอบด้วย 5 มิติ ได้แก่ มิติกลุ่มและเครือข่าย มิติความไว้วางใจและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มิติด้านกิจกรรมและความร่วมมือ มิติด้านความสมานฉันท์การอยู่ร่วมกันในสังคม และ/หรือความขัดแย้งและความรุนแรง มิติด้านอำนาจหน้าที่และกิจกรรมทางการเมือง โดยมีตัวชี้วัดทั้งสิ้น 40 ตัวชี้วัด จากประสบการณ์ที่ได้จากการศึกษาเพื่อจัดทำดัชนีทุนทางสังคม มีข้อค้นพบที่น่าสนใจ 2 ประเด็นคือ
(1) ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการพัฒนาทุนทางสังคม พบว่า หากชุมชนใดมีทุนทางสังคมสูง ก็จะมีความพร้อมในเรื่องของการจัดตั้งกลุ่มและเครือข่าย มีความไว้วางใจ มีบรรทัดฐานในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความใกล้ชิดผูกพันกัน มีความมุ่งมั่นที่จะเข้าร่วมกิจกรรมและพร้อมที่จะร่วมมือร่วมใจเข้าถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองภายในชุมชน
ทั้งนี้ ความสำเร็จในการจัดตั้งกลุ่มและเครือข่ายจะต้องแนะนำให้สมาชิกเห็นความสำคัญและเข้าถึงการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างแท้จริง ส่วนการสร้างความไว้วางใจและการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความสมานฉันท์ ตลอดจนการสร้างกิจกรรมต่างๆ ขึ้นมานั้น จะต้องสร้างสถาบันสื่อมวลชนและครอบครัวให้เป็นกลไกสำคัญในการปลูกฝังจิตสำนึกสาธารณะ มีการปรับทัศนคติ ค่านิยมและความเชื่อว่า ความแตกต่างไม่ใช่สาเหตุของความขัดแย้ง รวมทั้งต้องหาเจ้าภาพในการริเริ่มโครงการต่างๆ โดยรัฐจะต้องไม่เข้าไปชี้นำ แต่จะเป็นผู้สนับสนุนทรัพยากรตามความจำเป็น จึงจะนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดในชุมชนได้
(2) ข้อเสนอแนะงานด้านพัฒนาชุมชนในสังคมไทยให้บังเกิดผล ควรให้ความสำคัญใน 3 ขั้นตอน คือ ประเมินนโยบายเพื่อกระตุ้น ส่งเสริมและสนับสนุนทุนทางสังคมในเชิงบวก โดยใช้ดัชนีชี้วัดต่างๆ เป็นเครื่องมือในการประเมินระดับทุนทางสังคมทุกๆ 2 ปี ตลอดจนกำหนดนโยบายเชิงบูรณาการทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ และปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อให้ทุนทางสังคมที่มีอยู่เพิ่มพูนขึ้น
2) การจัดทำแผนที่ทุนทางสังคม จากการที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ร่วมมือกับ สศช. ในการดำเนินการจัดทำโครงการแผนที่ทุนทางสังคมที่จังหวัดกาญจนบุรีและพะเยา พบว่า หัวใจของการจัดทำอยู่ที่กระบวนการมีส่วนร่วมและการเห็นความสำคัญของ แผนที่ทุนทางสังคมว่าจะเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนทางสังคม
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ จะต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการสื่อสารในการสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้ภาคีทุกภาคส่วนพร้อมที่จะเข้ามาเป็นกลไกในการทำงานและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม นอกจากนี้ ยังต้องใช้วิทยากรกระบวนการและมีการจัดเวทีสำหรับเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและเกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรต่างๆ ภายในจังหวัด ขณะที่แกนนำและผู้แทนองค์กรเครือข่ายที่เข้าร่วมในการจัดทำแผนที่ ทุนทางสังคมจะต้องเตรียมข้อมูลในการสร้างกระบวนการขับเคลื่อนของกลุ่มองค์กรเพื่อแลกเปลี่ยนกันภายในเวที โดยมีการดำเนินการแบบบูรณางานภายใต้การสนับสนุนของจังหวัดและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัด
2. นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานกรรมการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาแผ่นดินเชิงคุณธรรม สรุปได้ดังนี้
หัวใจสำคัญของการดำเนินงานเรื่องทุนทางสังคมอยู่ที่การร่วมคิดร่วมทำ เป็นกระบวนการให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่ เรียกว่า ใช้พลังเงินมาสร้างทุนทางเศรษฐกิจ ใช้ทุนทางสังคมมาสร้างพลังสังคมต่างๆ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แต่การดำเนินงานเรื่องทุนทางสังคมที่ผ่านมายังไม่ได้เน้นที่กระบวนการร่วมคิดร่วมทำ ดังนั้น ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 จึงควรเน้นการร่วมคิดร่วมทำให้เป็นประเด็นหลักให้มากขึ้นเพราะยังไม่มีใครทำ สศช.จึงควรเป็นเจ้าภาพหลักดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ทุนอื่นๆ ก็ยังต้องทำต่อไป ซึ่งมีหน่วยงานต่างๆ ทำอยู่แล้ว
ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินงานพัฒนาทุนทางสังคมที่สำคัญมี 5 ยุทธศาสตร์ คือ
1) ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ การจัดการความรู้ในเรื่องการพัฒนา ทุนทางสังคมเป็นเรื่องสำคัญเทียบเท่ากับกลุ่มงานเศรษฐกิจพอเพียง จำเป็นต้องมีกลุ่มคนที่ เอาจริงเอาจังสามารถทำงานได้เต็มเวลา ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จำนวนไม่มาก เพราะฉะนั้น ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการต้องมีคนมาทำงานได้เต็มเวลา และมีคณะกรรมการประชุมอย่างต่อเนื่อง
2) ยุทธศาสตร์การเชื่อมประสาน เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาทุนทางสังคม โดยจะต้องประสานเชื่อมโยงกับกลุ่ม เครือข่ายและภาคีต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ
3) ยุทธศาสตร์การจัดการความรู้ เป็นการอาศัยสิ่งที่มีอยู่แล้วภายในชุมชนทั้งในเรื่องประสบการณ์ ปฏิสัมพันธ์ที่ต้องนำมาต่อเติมและยกระดับให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
4) ยุทธศาสตร์การสื่อสารและรณรงค์ การสื่อสารจะต้องเป็นการสื่อสารสองทาง ขณะที่การรณรงค์เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดความเข้าใจและร่วมมือร่วมใจกันของคนในชุมชน
5) ยุทธศาสตร์การสนับสนุนด้านนโยบาย เป็นการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำและให้กำลังใจในการนำนโยบายทุนทางสังคมไปใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกคน ตั้งแต่ระดับชาวบ้าน ชุมชน จังหวัด ประเทศ และโลก นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีกฎหมาย ข้อบังคับที่เอื้อและส่งเสริมต่อการทำงานของมูลนิธิ สมาคมทั้งในระดับท้องถิ่น จังหวัด กลุ่มจังหวัดและประเทศ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทุนทางสังคม เช่น ระบบการเงิน ภาษี เป็นต้น
ซึ่งทั้ง 5 ยุทธศาสตร์ต้องนำไปใช้ใน 3 พื้นที่ (บริบท) ดังนี้
1) ระดับท้องถิ่น ตั้งแต่หมู่บ้าน ตำบล เทศบาล ซึ่งชุมชนท้องถิ่นต้องร่วมกันจัดทำแผนชุมชน ขณะนี้มีอยู่แล้ว เพียงแต่รัฐบาลควรเข้าไปรับรู้ สนับสนุนและชื่นชม หลักการทำงานควรเข้าไปดูก่อนว่ามีอะไรเป็นทุนทางสังคมอยู่ในท้องถิ่นบ้าง แล้วจึงค่อยเข้าไปเรียนรู้ร่วมกับชุมชน
2) ระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัด กลุ่มเครือข่าย องค์กรสาธารณประโยชน์ควรดำเนินการภายใต้นโยบายของรัฐบาล เช่น โครงการเมืองไทยแข็งแรง ควรนำมาเชื่อมต่อในระดับต่างๆ เพื่อให้ประชาชนรับรู้และเสริมต่อให้เกิดความยั่งยืน
3) ระดับประเทศ ต้องนำทั้ง 5 ยุทธศาสตร์มาใช้ประกอบการดำเนินงานร่วมกัน โดยไม่ต้องเน้นหลักวิชาการมากเกินไปแต่ให้ใช้หัวใจของการขับเคลื่อนทุนทางสังคมคือ กลุ่มคน โดยที่ สศช. ต้องเป็นตัวกลางในการประสานความร่วมมือเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป
3. ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม สรุปได้ดังนี้
(ยังมีต่อ)