สรุปผลการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออก เรื่องบรรยากาศการลงทุนและความสามารถในการแข่งขันในเอเชียตะวันออกณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2548

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 20, 2006 16:15 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

                                     สรุปผลการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออก 
เรื่องบรรยากาศการลงทุนและความสามารถในการแข่งขันในเอเชียตะวันออก
ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
ระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2548
สรุปผลการประชุมสัมมนาระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเรื่องบรรยากาศการลงทุนและความสามารถในการแข่งขันในเอเชียตะวันออก
1. ความเป็นมา
การประชุมระดับภูมิภาคเอเซียตะวันออก เรื่องบรรยากาศการลงทุนและความสามารถในการแข่งขันในเอเซียตะวันออก ดำเนินการโดยความร่วมมือของธนาคารโลกและ Bank Negara Malaysia ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2548 เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียได้เล็งเห็นว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของมาเลเซียมีการขยายตัวมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นปัจจัยหลักที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสู่ประเทศ และ FDI จะมีการขยายตัวต่อไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผลการวิเคราะห์ข้อมูลบรรยากาศการลงทุนของมาเลเซียและประเทศในเอเชียอื่นๆ ของธนาคารโลกจึงมีความสำคัญที่จะสามารถใช้ในการประเมินความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเอเชียได้ จึงเห็นควรจัดให้มีการประชุมร่วมกัน
ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศที่มีการเก็บข้อมูลบรรยากาศการลงทุนแล้ว 7 ประเทศได้แก่ มาเลเซีย จีน ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เวียดนามและกัมพูชา รวมทั้ง ยังมีผู้สังเกตการณ์จากประเทศบรูไน และภูฐานซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลบรรยากาศการลงทุนในระยะเวลาอันใกล้เข้า รวมทั้งสิ้นประมาณ 200 คน โดยเป็นผู้แทนจากประเทศไทย 9 คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 คน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 2 คน สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ 1 คน และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 1 คน ซึ่งได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจาก Bank Negara Malaysia และธนาคารโลก
วัตถุประสงค์ของการสัมมนาเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ข้อมูลบรรยากาศการลงทุนและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนนักวางแผนและผู้กำหนดนโยบาย ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนแนวคิดถึงปัญหาอุปสรรคของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและการสร้างบรรยากาศการลงทุนของประเทศ และศึกษาบทเรียนที่ดี (Best Practice) ถึงการลดข้อกำหนดหรือแก้ไขปัญหาต่างของประเทศอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
สำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีการจัดเก็บข้อมูล บรรยากาศการลงทุนและการเพิ่มผลผลิต โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ว่าจ้าง สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ดำเนินการสำรวจข้อมูลการเพิ่มผลผลิตและบรรยากาศการลงทุนของประเทศไทย ปี 2547 ซึ่งเป็นการสำรวจข้อมูล ผู้ประกอบการ 1,500 แห่ง ในอุตสาหกรรมและบริการ รวม 10 ประเภท ของปี 2543-2545 ตั้งแต่เดือน มีนาคม 2547 และได้ดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2548 โดยเป็นการจัดเก็บข้อมูล 2 ประเภทพร้อมกัน เนื่องจากเป็นข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กัน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้าง "เครื่องมือวัดระดับการเพิ่มผลผลิตในระดับองค์กร" ที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้ ซึ่งดำเนินการโดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และเพื่อวิเคราะห์บรรยากาศการลงทุนของประเทศไทยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ที่มีการเก็บข้อมูลในลักษณะเดียวกัน
2. ผลการสัมมนา
2.1 ลักษณะการสัมมนา แบ่งออกเป็น 7 เรื่อง ประกอบด้วย 1) ความสำคัญของบรรยากาศการลงทุน และการเปรียบเทียบภาพรวมของผลการสำรวจบรรยากาศการลงทุนของประเทศในเอเซีย 2) การมีธรรมาภิบาลและบรรยากาศการลงทุน 3) แรงงานทักษะและความสามารถในการแข่งขัน 4) ความเสี่ยงและนโยบาย 5) โครงสร้างพื้นฐาน 6) การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และ 7) กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน โดยในแต่ละเรื่องจะมีผู้แทนจากประเทศที่ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่ามีปัญหาดังกล่าวในระดับที่มากกว่าประเทศอื่นๆ นำเสนอผลการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูล และมีนักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับบทเรียนที่ดี (Best Practice) ที่เกิดจากปัญหาและการแก้ไขปัญหาของประเทศต่างๆ มานำเสนอผลการศึกษา มีผู้แทนภาคราชการและเอกชนจากประเทศนั้นๆ มาให้ความเห็นเกี่ยวกับผลการวิเคราะห์ข้อมูลและการแก้ไขปัญหา โดยในส่วนของประเทศไทย อยู่ในเรื่องที่ 7 คือกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน
2.2 สาระของการสัมมนา สรุปได้ดังนี้
2.2.1 เรื่องที่ 1 ความสำคัญของบรรยากาศการลงทุนและการเปรียบเทียบภาพรวมของผลการสำรวจบรรยากาศการลงทุนของประเทศในเอเซีย การศึกษาอัตราความเจริญเติบโตของทุนต่อการจ้างงานต่อปี ในช่วง 2533-2540 ของประเทศในเอเซียตะวันออก พบว่าประเทศจีนจะมีอัตราโดยเฉลี่ยสูงที่สุดคือประมาณร้อยละ 8 รองลงมาคือประเทศไทย เกาหลีและมาเลเซีย โดยมีอัตราเติบโดยเฉลี่ยร้อยละ 7 , 5 และ 4 ตามลำดับ สำหรับประเทศที่มีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่ำที่สุดคือประเทศฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย และหลังปี 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจแล้วพบว่าประเทศจีนเป็นประเทศเดียวที่ยังมีอัตราการเติบโตของทุนต่อการจ้างงานในอัตราสูงและสูงกว่าในช่วง ปี 2533-2540 สำหรับประเทศที่มีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยลดลงแต่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า ปี 2533-2540 ไม่มากนักได้แก่ประเทศเกาหลี นอกนั้นทุกประเทศจะมีอัตราการเจริญเติบโตโดยเฉลี่ยต่ำกว่าปี 2530-2540 รวมทั้งประเทศไทย แสดงว่าประเทศจีนมีการลงทุนที่เพิ่มขึ้นและเกาหลีมีการปรับตัวได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ
การเปรียบเทียบบรรยากาศการลงทุนที่เป็นข้อจำกัดของประเทศในเอเซียตะวันออก พบว่าไม่สามารถเปรียบเทียบได้ทั้งหมด เนื่องจากแต่ละประเทศมีการจัดเก็บข้อมูลบนพื้นฐานของความต้องการที่แตกต่างกันของรัฐบาล ทั้งๆ ที่ธนาคารโลกต้องการที่จะให้มีการเก็บข้อมูลของอุตสาหกรรมและบริการกลุ่มเดียวกัน แต่ประเทศต่างๆ มีความสนใจในกลุ่มอุตสาหกรรมที่
แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามในภาพรวมสามารถเปรียบเทียบข้อจำกัดที่ผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นปัญหารุนแรงของการลงทุนดังนี้
1) ความไม่แน่นอนของนโยบาย พบว่าผู้ประกอบการ ร้อยละเกือบ 50 ของประเทศอินโดนีเชีย เห็นว่าเป็นอุปสรรคสำคัญของการลงทุน ในขณะที่ผู้ประกอบการในกัมพูชา ร้อยละ 40 เห็นว่าความไม่แน่นอนด้านนโยบายของรัฐบาลกัมพูชาเป็นอุปสรรคสำคัญในการลงทุน รองลงมาคือจีน ฟิลิปปินส์ ไทยและมาเลเซียตามลำดับ
2) ในเรื่องอุปสรรคจากกฎระเบียบต่างๆ นั้นพบว่า ประเทศจีนเป็นประเทศที่ผู้ประกอบการให้ความเห็นว่าเป็นปัญหาที่รุนแรงที่สุด รองลงมาคือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย มาเลเซีย และกัมพูชาตามลำดับ โดยสามารถแบ่งประเภทของกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค ได้ดังนี้
2.1) อัตราภาษี พบว่าผู้ประกอบการในประเทศจีน มากกว่าร้อยละ 35 เห็นว่าเป็นอุปสรรคที่รุนแรงมาก รองลงมาคือฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและไทยตามลำดับ
2.2) การบริหารจัดการเรื่องภาษี พบว่าผู้ประกอบการในประเทศจีน มากกว่าร้อยละ 25 เห็นว่าเป็นอุปสรรคที่รุนแรงมาก รองลงมาคือฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและไทยตามลำดับ
2.3) การเข้าถือครองที่ดิน พบว่าผู้ประกอบการในประเทศฟิลิปปินส์มากกว่าร้อยละ 15 เห็นว่าเป็นอุปสรรครุนแรง รองลงมาคือจีน อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทยตามลำดับ
2.4) การได้รับใบอนุญาตเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ ต่างๆ พบว่าผู้ประกอบการจากประเทศจีนมากกว่าร้อยละ 20 เห็นว่าเป็นปัญหาที่รุนแรง รองลงมาได้แก่อินโดนีซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและไทย ตามลำดับ
2.5) กฎระเบียบเกี่ยวกับแรงงาน พบว่าผู้ประกอบการในประเทศอินโดนีเซียมากกว่าร้อยละ 25 เห็นว่าเป็นปัญหาที่รุนแรง รองลงคือประเทศฟิลิปปินส์ จีน มาเลเซียและไทย ตามลำดับ
2.6) ความเชื่อมั่นต่อศาลยุติธรรมเกี่ยวกับสิทธิการถือครองทรัพย์สิน พบว่าประเทศไทยไทยและมาเลเซียได้รับความเชื่อถือจากผู้ประกอบการสูงที่สุด รองลงมาคือประเทศจีน ซึ่งทั้งสามประเทศสูงกว่าร้อยละ 80
2.7) ประเทศที่นักธุรกิจมีความเห็นว่าการตีความของกฎระเบียบเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดเดาได้มากว่าร้อยละ 50 คือประเทศอินโดนีเซีย
2.8) ระยะเวลาในการบริหารจัดการที่ใช้ในเรื่องกฎระเบียบข้อบังคับ นั้นพบว่าประเทศจีนจะต้องใช้เวลานานที่สุด รองลงมาคืออินโดนีเซียและกัมพูชา
3) สำหรับเรื่องคอรัปชั่น ภาคเอกชนของกัมพูชามากกว่าร้อยละ 50 ให้ความเห็นว่าเป็นปัญหาที่รุนแรงที่สุด รองลงมาคืออินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน ไทยและมาเลเซีย ตามลำดับ
4) ต้นทุนในเรื่องการเงิน พบว่าผู้ประกอบการเกือบร้อยละ 30 ของประเทศอินโดนีเซีย เห็นว่าเป็นปัญหาที่รุนแรงที่สุด รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ จีน มาเลเซีย ประเทศไทย และกัมพูชาตามลำดับ
5) ปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานทักษะ พบว่าผู้ประกอบการมากกว่าร้อยละ 30 ของประเทศจีนเห็นว่าเป็นปัญหาที่รุนแรง และผู้ประกอบการในประเทศไทยร้อยละ 30 เห็นว่าเป็นปัญหารุนแรง รองลงมาคือประเทศมาเลเซียประมาณร้อยละ 25 และอินโดนีเซียเกือบร้อยละ 20 เห็นว่าเป็นปัญหารุนแรง ซึ่งแสดงถึงประเทศที่มีการลงทุนจากต่างชาติในอัตราสูงจะมีปัญหาเรื่องแรงงานที่มีทักษะ
6) ในเรื่องของการคมนาคม นั้นพบว่าผู้ประกอบการจากประเทศจีนร้อยละเกือบ 20 เห็นว่าเป็นปัญหาที่รุนแรง รองลงมาคือฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทยและมาเลเซียตามลำดับ
นอกจากนั้นยังมีปัญหาอื่นๆ เช่น การสูญหายในการส่งสินค้าทางเรือ พบว่าประเทศอินโดนีเซียมีอัตราการสูญหายสูงที่สุด รองลงมาคือประเทศจีนและไทยตามลำดับ
ผลกระทบจากข้อจำกัดเรื่องบรรยากาศการลงทุน ประกอบด้วยกฎระเบียบข้อบังคับ การคอรัปชั่น แรงงานทักษะ การเงินและธรรมาภิบาล พบว่า การเพิ่มผลผลิตจะเปลี่ยนแปลงแตกต่างกัน โดย Productivity ของประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย โดยเฉลี่ยจะลดลง 0.048 ต่อหน่วย ถ้าจำนวนวันที่ใช้ในการดำเนินงานด้านศุลกากรเพื่อส่งออกมากขึ้น และถ้ามีการ Strike เกิดขึ้น Productivity จะลดลง 0.250 เท่า ในทางตรงกันข้ามหากมีบรรยากาศการลงทุนเรื่องแรงงานเพิ่มขึ้น ดุลยภาพของแรงงานจะทำให้ Productivity สูงขึ้น
2.2.2 เรื่องที่ 2 ระบบธรรมาภิบาลและการสร้างบรรยากาศการลงทุนโดยภาครัฐ
1) การปรับปรุงการให้บริการด้านการค้าของภาครัฐให้เกิดความโปร่งใส : กรณีศึกษา ประเทศกัมพูชา
1.1) สภาพการณ์และปัญหา
1.1.1) สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ : เศรษฐกิจของประเทศกัมพูชาถือเป็นเศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นตัวใหม่ หลังจากสงครามอันยาวนานและความขัดแย้งภายในประเทศ โดยมีลักษณะพึ่งพิงความช่วยเหลือจากภายนอกและอุตสาหกรรมหลักบางชนิด เช่น ท่องเที่ยว เกษตร และการผลิตและส่งออกเสื้อผ้า/สิ่งทอ ปัญหาความยากจนจึงสามารถแก้ไขไปได้ระดับหนึ่งจากการจ้างงานและส่งออกสิ่งทอ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูงได้
1.1.2) กัมพูชาประสบปัญหาการอำนวยความสะดวกด้านการค้าของภาครัฐ โดยเฉพาะการคอรัปชั่นและปัญหาการให้บริการของภาครัฐในเรื่องการนำเข้า-ส่งออกสินค้า โดยมีกระบวนการทางศุลกากรที่ล้าหลัง ยังใช้ระบบเอกสารและมีกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อน การเข้าเป็นสมาชิก WTO ทำให้รัฐบาลกัมพูชาจำเป็นต้องปรับปรุงกฎระเบียบจำนวนมากเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันของภาคเอกชน ในด้านผลิตภาพ ความหลากหลาย และบริการขนส่ง ซึ่งจะต้องแก้ไขปัญหาสำคัญในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย และต้นทุนที่เกิดจากกระบวนการราชการและการคอรัปชั่น
1.2) นโยบายปรับปรุงการให้บริการด้านการค้าของรัฐบาลกัมพูชา
1.2.1) รัฐบาลได้วางแนวทางแก้ไขปัญหาข้อจำกัดในการทำธุรกิจดังกล่าว 7 ประการ ได้แก่ (1) เปลี่ยนบทบาทภาครัฐจากการควบคุมเป็นอำนวยความสะดวก (2) ช่วยเสริมสร้างกลไกระบบตลาดและการแข่งขัน (3) เพิ่มความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือ พร้อมสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการให้บริการประชาชนเพื่อช่วยลดข้อจำกัดของภาครัฐ (4) ปรับปรุงระบบบริหารงานภาครัฐให้เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและผลิตภาพ (5) ใช้องค์กรเอกชนให้เป็นศูนย์รวมคนในภาคชนบทและภาคอื่นๆ (6) พัฒนาปรับปรุงระบบในองค์กรเพื่อลดความเสี่ยงและลดต้นทุนการประกอบการ (7) สำรวจและเรียนรู้การพัฒนาองค์กรจากเอกชนให้เข้มแข็ง
1.2.2) กลไกการดำเนินงาน : ตั้ง (1) คณะทำงานระหว่างกระทรวงต่างๆ (Special Inter-Ministerial Task Force - SITF) และ (2) ทีมดำเนินงานปรับปรุงซึ่งประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐหลายหน่วยที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกการค้าและการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี (3) หน่วยดำเนินงานโครงการ (Project Implementation Unit) กับโครงการที่เกี่ยวข้องกับงานต่างๆ เช่น Single Window (PIU อยู่ที่กระทรวงกระทรวงพาณิชย์ และศุลกากร) โดยให้มีเจ้าหน้าที่สนับสนุน
1.2.3) แผนปฏิบัติการ 12 ด้าน ซึ่งได้จากการหารือระหว่างรัฐบาลกับ World Bank โดยเน้นลดอุปสรรคการตรวจปล่อยสินค้า ใช้ Single Window วางระบบติดตามประเมินผล และปรับโครงสร้างการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ (1) จัดตั้งทีมดำเนินงานปรับปรุงซึ่งประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐหลายหน่วยที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกการค้าและการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี (2) พัฒนาระบบชี้วัดความโปร่งใส รวมไปถึงการติดตามประเมินผลโดยเอกชน (3) อำนวยความสะดวกทางการค้า โดยลดขั้นตอนการอนุมัติที่ไม่จำเป็น และใช้เอกสารแบบเดียว (4) ใช้วิธีบริหารจัดการความเสี่ยงลดกระบวนการควบคุมที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วย (5) ทบทวนหน่วยงานที่รับผิดชอบการตรวจสินค้าขาเข้าและสินค้าในท้องตลาด ซึ่งตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยประเทศกัมพูชามีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งล้าสมัยแล้ว (6) ดำเนินการ Single Window Process (7) เก็บค่าธรรมเนียมการบริการในอัตราเดียวตามที่กำหนดใน WTO (8) ลดค่าลงทะเบียนธุรกิจต่างๆ (9) ลดขั้นตอนการแจ้งกระทรวงแรงงานเมื่อมีการจ้างงาน (10) ลดขั้นตอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้ และการจดทะเบียนนิติบุคคล โดยใช้เอกสารแบบเดียวกัน และเลขทะเบียนที่ได้เป็นเลขเดียวกัน (11) ให้รางวัลเพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาล (12) ติดตามประเมินผลและรายงานต่อเวทีประชุมระหว่างรัฐ-เอกชน
1.3) ผลการดำเนินงาน : ธนาคารโลก ร่วมกับองค์กรผู้ให้ความช่วยเหลือการพัฒนาอื่นๆ โดยเฉพาะ EU และ AusAID ได้ให้การสนับสนุนทั้งทางด้านวิชาการและการเงินแก่กัมพูชาในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ 12 ด้าน ดังกล่าว โดยผลการดำเนินงานในระยะ 12 เดือนที่ผ่านมา มีความก้าวหน้าเด่นชัด ในประเด็น ดังต่อไปนี้
1.3.1) กระทรวงพาณิชย์ ลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนพาณิชย์ และลดเพดานเงินลงทุนขั้นต่ำ
1.3.2) ลดเวลาในกระบวนการนำเข้า-ส่งออก โดยงดเว้นหรือลดขั้นตอนของเอกสารการส่งออก เช่น งดเว้นใบกำกับภาษี ใบอนุญาตส่งออก และใบอนุญาตจากตำรวจเศรษฐกิจ (Economic Police Permit) และอนุโลมให้แสดงใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าได้ทั้งก่อนและหลังการส่งสินค้าออก ลดขั้นตอนการตรวจ ปล่อยโดยให้ศุลกากรและ Cam control ตรวจพร้อมกัน และทำรายงานเดียว และอนุโลมให้ใช้โทรศัพท์หรือแฟกซ์เพื่อแจ้งความจำนงการส่งออกสินค้าได้
1.3.3) งดเว้นเงินมัดจำในการดำเนินโครงการของนักลงทุน และอนุญาตให้บริษัทต่างชาติเป็นเจ้าของบริษัทนำเข้าส่งออกได้ 100% ยกเว้นการเป็นเจ้าของที่ดิน
1.3.4) วางกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการพาณิชย์ต่างๆ เช่น การออกกฎหมายบริษัทและวิสาหกิจ กฎหมายการประมูล และพระราชบัญญัติการลงทุน เป็นต้น
1.3.5) ดำเนินงานศึกษา 6 ด้านเพื่อพัฒนาการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยทีมปรับปรุงการดำเนินงาน ร่วมกับองค์กรผู้ให้ความช่วยเหลือการพัฒนา ได้แก่ (1) ศึกษาการปรับปรุงเอกสารการค้า (2) ศึกษาเพื่อทบทวน Cam control (3) ศึกษาเพื่อวางระบบดำเนินการติดตามประเมินผล (4) ศึกษาพัฒนาการอำนวยความสะดวกการค้าโดยใช้การบริหารจัดการความเสี่ยง (5) ศึกษาพัฒนา ICT เพื่อตั้ง Single Window สำหรับการนำเข้า-ส่งออก (6) ศึกษาการมีส่วนร่วมของเอกชนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน
1.3.6) พัฒนาระบบ Single Window ซึ่งเป็นระบบการให้บริการผ่านระบบสารสนเทศ (IT) ภาคเอกชนสามารถเข้าใช้ข้อมูลนำเข้าส่งออกในจอเดียว โดยเชื่อมต่อข้อมูลจากกรมศุลกากรไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจปล่อยสินค้า ได้แก่ ด้านขนส่ง กรมศุลกากร เกษตร และสาธารณสุข โดยเป็นระบบที่สามารถให้บริการรวดเร็ว เป็นสากล โปร่งใส และตรวจสอบได้ ซึ่งจะลดปัญหาคอรัปชั่นได้เนื่องจากมี IT เป็นตัวกลางในกระบวนการซึ่งภาค เอกชนไม่ได้ประสานตรงกับเจ้าหน้าที่
2) การพัฒนาระบบ Single Window ในประเทศที่ประสบความสำเร็จ
2.1) ประเทศสิงคโปร์ ริเริ่มแนวคิดในการดำเนินการระบบ Trade Net ในปี 1986 และดำเนินการในปี 1989 ปัจจุบันสามารถเชื่อมต่อระบบให้บริการถึง 34 หน่วยงาน โดยสามารถลดขั้นตอน 2-7 วัน เป็น 2 นาที ลดการใช้เอกสารจาก 3,035 แผ่น เป็น 1 แผ่น นำไปสู่การลดต้นทุนการดำเนินการภาคเอกชนถึงร้อยละ 35
2.2) ประเทศ Ghana มีการจัดตั้ง Ghana Community Network (GCNet) เพื่อดำเนินการ Trade Net และพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์กรมศุลกากรเพื่อสามารถดำเนินการร่วมกัน โดยภาคเอกชนสามารถใช้บริการขอรับการอนุมัติอนุญาตผ่านเอกสาร 1 แผ่น โดยใช้บริการ GCNet ที่มีการเชื่อมต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาต ตลอดจนประสานกับภาคธุรกิจต่างๆ ได้แก่ ธุรกิจเดินเรือ Clearing Agents ผู้นำเข้า-ส่งออก และธนาคาร ส่งผลการบริการ GCNet ประสบความสำเร็จสูงทั้งเรื่องรายได้ การลดระยะเวลาพิธีการทางศุลกากร เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลของภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง สามารถลดต้นทุนการดำเนินการภาคเอกชนและส่งผลต่อการพัฒนากฎระเบียบและการให้บริการของภาครัฐให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
2.3) สรุปปัจจัยที่ทำให้การพัฒนาระบบ Single Window ประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน หน่วยงานหลักในการดำเนินการมีประสิทธิภาพ ความพร้อมของระบบ IT ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรฐาน กรมศุลกากรให้ความร่วมมือในการดำเนินการ และรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนต่อเนื่อง
2.2.3 เรื่องที่ 3 แรงงานทักษะและความสามารถในการแข่งขัน: กรณีศึกษาของประเทศมาเลเซีย
1) ประเทศมาเลเซียได้ร่วมกับธนาคารโลกดำเนินโครงการสำรวจการเพิ่มผลผลิตและบรรยากาศการลงทุนปี 2002/2003 มีวัตถุประสงค์เพื่อระบุถึงอุปสรรคด้านการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยได้ทำการสำรวจ 1,151 กิจการ ประกอบด้วยกิจการในภาคการผลิต 902 กิจการ และในภาคบริการ 249 กิจการ
2) ผลการศึกษาของโครงการฯ เป็นดังนี้
2.1) ปัญหาการขาดแคลนทักษะเกิดจากการที่ต้องใช้เวลานานในหาแรงงานสำหรับตำแหน่งว่าง ตลาดแรงงานให้ผลตอบแทนที่สูงสำหรับแรงงานทักษะที่จบจากระดับอุดมศึกษา และอัตราการศึกษาต่อยังต่ำกว่าระดับมาตรฐานสากล
2.2) ควรคำนึงถึงคุณภาพของแรงงาน โดยจัดให้มีการฝึกอบรมจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ รวมทั้ง พัฒนาศักยภาพทางด้านภาษาอังกฤษ ทักษะด้าน ICT และทักษะในการสื่อสาร
2.3) แรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบันทำงานไม่ตรงตามสาขา (Mismatch) โดยเฉพาะผู้ที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา จึงทำให้คุณสมบัติของผู้ที่ว่างงานไม่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ผลที่ตามมาคือเกิดการสูญเสียผลิตภาพในการผลิต
2.4) การปรับปรุงทักษะแรงงานจะส่งผลดีต่อกิจการเป็นอย่างมาก
2.5) จำนวนกิจการที่เข้ารับบริการด้านการฝึกอบรมมีจำนวนค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของ SMEs
3) การประเมินแนวทางและผลที่จะได้รับ
3.1) การเพิ่มจำนวนบุคลากรทั้งในระดับวิชาชีพและแรงงานทักษะ โดยเพิ่มศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษา และใช้การฝึกอบรมควบคู่ไปด้วย ซึ่งผลที่จะได้รับคือ จำนวนแรงงานที่จบการศึกษาจากระดับอุดมศักษาเพิ่มมากขึ้น
3.2) การยกระดับคุณภาพการศีกษาและการฝึกอบรม โดยการทบทวนหลักสูตรในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา รวมทั้งการใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สำหรับในระดับอุดมศึกษาควรมีการสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น เพื่อที่จะแก้ปัญหาการทำงานไม่ตรงตามสาขา (Mismatch) นอกจากนี้ ควรมีแผนการฝึกอบรมระดับประเทศควบคู่ไปด้วย โดยผลที่ได้รับจากการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวคือ ระยะเวลาว่างงานจะลดลง
4) ผลการศึกษาสรุปได้ว่า จำนวนของแรงงานทักษะที่ไม่เพียงพอและการทำงานไม่ตรงตามสาขา (Mismatch) เป็นประเด็นหลักของประเทศมาเลเซียที่ควรนำมาใช้พิจารณาเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรม
5) กรณีตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาแรงงาน : ประเทศเกาหลี และไอร์แลนด์
5.1) รูปแบบการดำเนินการของประเทศเกาหลีและประเทศไอร์แลนด์ ได้ถูกนำมาเปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซีย เนื่องจากมีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดและได้ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมทั้ง มีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมสู่กิจกรรมการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น
5.2) จากการเปรียบเทียบกับประเทศไอร์แลนด์และเกาหลี โครงสร้างอุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในขั้นเตรียมจะเข้าสู่รูปแบบการผลิตที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ ระบบเศรษฐกิจของประเทศไอร์แลนด์และประเทศเกาหลีพึ่งพาการส่งออกสินค้าซึ่งใช้เทคโนโลยีและแรงงานในการผลิตเช่นเดียวกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยีของประเทศไอร์แลนด์และประเทศเกาหลี มาจากการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI)
6) ปัจจัยแห่งความสำเร็จของประเทศไอร์แลนด์และประเทศเกาหลี
6.1) การยกระดับคุณภาพของแรงงานทักษะ โดยการสร้างประสิทธิภาพด้านนโยบายการคัดเลือกเข้าเรียนและการฝึกอบรม
6.2) นโยบายการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศไอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร โดยมีการอนุญาตให้แรงงานใน 2 ประเทศนี้ สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี ทำให้ค่าตอบแทนที่ได้รับไม่แตกต่างกัน และที่สำคัญคือเมื่อประเทศไอร์แลนด์ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน จึงก่อให้เกิดอัตราค่าจ้างแรงงานทักษะที่สูงขึ้น และสามารถดึงดูดแรงงานกลับมาจากสหราชอาณาจักร
7) การปรับนโยบายในประเทศมาเลเซีย
7.1) เนื่องจากระบบเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซียขึ้นอยู่กับการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้น ระบบการศึกษาจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบตามเงื่อนไขและความต้องการจากความร่วมมือระหว่างประเทศ
7.2) การลงทุนในศูนย์วิจัยและทดสอบในมหาวิทยาลัย จะเป็นการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันทางวิชาการและภาคอุตสาหกรรมที่จะนำความรู้และเทคโนโลยีไปใช้
7.3) การฝึกอบรมและปรับปรุงเครื่องมืออุปกรณ์ให้ทันสมัยขึ้น มีความสำคัญต่อความอยู่รอดของแรงงานในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว
7.4) การสร้างฝีมือแรงงานโดยโปรแกรมการฝึกอบรมหลายรูปแบบในระดับประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญ และหน่วยงานระดับประเทศควรจัดตั้งมาตรฐานของสถาบันฝึกอบรมต่างๆ เพื่อเป็นการรักษาคุณภาพในการฝึกอบรมแรงงาน
7.5) หน่วยงานวางแผนส่วนกลางของภาครัฐควรประสานงานกับสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน เพื่อให้ข้อมูลด้านความต้องการแรงงาน
7.6) กระบวนการสร้างความร่วมมือระหว่างแรงงาน นายจ้าง และรัฐบาล เป็นสิ่งที่สำคัญในการประสานงานเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างและการขาดแคลนแรงงานในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ
2.2.4 เรื่องที่ 4 ความเสี่ยงและนโยบาย: กรณีศึกษาของประเทศอินโดนีเซีย
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ