(ต่อ1) สรุปผลการดูงาน ณ ประเทศไต้หวัน ภายใต้โครงการ Planning Agencies Networking and Macroeconomic Surveillance

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 23, 2006 16:15 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

               *  จัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลเรื่องระดับราคาสินค้า 
* จัดตั้งคณะทำงานในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และ Kyoto Protocol เพื่อสร้างสมดุลให้กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
* ลดข้อจำกัดในการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศจีน และติดตามการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน
* ปฏิรูปการคลัง โดยมีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลเพื่อให้สมดุลการคลังภายใน 10 ปี รวมทั้งดูแลภาพรวมการจัดการสินทรัพย์ของรัฐเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐ
* ปฏิรูปการเงิน เพื่อเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาค ส่งเสริมธุรกิจบริหารสินทรัพย์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ และเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการเงิน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการควบรวมธนาคารหรือใช้บริการที่ปรึกษาทางการเงินจากต่างประเทศ
* เสริมสร้างธรรมาภิบาลภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และ การซื้อขายหลักทรัพย์นอกตลาด (over-the-counter markets)
* การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยการลงทุนจากภาครัฐ 15 พันล้านเหรียญสหรัฐ และภาคเอกชน 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ทั้งในด้านการคมนาคมเทคโนโลยีขั้นสูง การศึกษาระดับสูง วัฒนธรรม ท่าเรือ การบริหารจัดการทรัพยากร น้ำ และขยะ
* การเพิ่มการจ้างงาน โดยในระยะยาวรัฐบาลได้ส่งเสริมการบริการที่มีมูลค่าทางการผลิต การสร้างงาน มูลค่าเพิ่มในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการเพิ่มคุณภาพชีวิต
* แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการชะลอตัวในไตรมาสแรกของปี 2005 โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณสำหรับการพัฒนา SME สินเชื่อสำหรับการซื้อบ้านหลังแรก เพิ่ม ความรวดเร็วในการประเมินผลโครงการภาครัฐ และดำเนิน 10 โครงการหลัก
2) แผนการพัฒนาชาติระยะปานกลาง (2005-2008)
เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การศึกษา สิ่งแวดล้อมสังคม โดยมีวิสัยทัศน์ที่มุ่งไปสู่ green silicon island และมีแนวทาง ดังนี้
* ลงทุนพัฒนาแรงงาน R&D โครงสร้างโลจีสติกส์ และสภาพแวดล้อม อย่างต่อเนื่อง
* พัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม เช่น Hsinchu bilogy park
* สนับสนุนอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีคัล image display เครื่องจักรอุปกรณ์ เหล็ก digital content และ biotech
* เพิ่มมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น สิ่งทอที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง อาหารเพื่อสุขภาพ วัตถุดิบขั้นสูง และ chemical for optic electronics
* ดำเนินการพัฒนาภาคบริการ
* พัฒนา 7 free port zones และส่งเสริมให้ธุรกิจจัดตั้งสำนักงานในไต้หวัน
* ตั้งศูนย์การบริการทางการเงินระดับภูมิภาค เพื่อเพิ่มสัดส่วนการบริการทางการเงิน
4. ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-ไต้หวัน
4.1 การค้าระหว่างไทย-ไต้หวัน
ปี 2547 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับไต้หวันรวม 5.982 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2546 ร้อยละ 21.34 (ปี 2546 มูลค่า 4.930 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นคู่ค้าอันดับ 12 ของไต้หวัน โดยไต้หวันส่งออกไปไทยรวม 3.217 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2546 ร้อยละ 25.41 (ปี 2546 มูลค่า 2.565 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นตลาดส่งออกอันดับ 13 ของไต้หวัน ไต้หวันนำเข้าจากไทยรวม 2.765 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.93 (ปี 2546 มูลค่า 2.364 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นตลาดนำเข้าอันดับ 13 ของไต้หวัน ไทยขาดดุลการค้า 452 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2546 ไทยขาดดุลการค้า 125.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
4.2 สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย
เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็กและเหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์กระดาษ หม้อแปลงไฟฟ้า ส่วนประกอบยางพารา เป็นต้น
4.3 สินค้านำเข้าที่สำคัญของไทย
เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า ผ้าผืน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์โลหะเหล็กและเหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น
4.4 ปัญหาอุปสรรคทางการค้า
1) มาตรการด้านสุขอนามัย ไต้หวันกำหนดมาตรการฯเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและปกป้องผู้ผลิตภายใน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ไต้หวันสามารถผลิตเองได้ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อเป็ด พืชผักบางชนิด (มันฝรั่ง มันเทศ ข้าว) ผลไม้เมืองร้อน (มะม่วง ลำไย มะละกอ แตงโม สับปะรด ฯลฯ) ถั่วลิสง และถั่วแดง โดยปัจจุบันไต้หวันอนุญาตให้นำเข้าผลไม้จากไทยได้เพียง 4 ชนิด คือ ทุเรียน มังคุด เงาะ และมะพร้าว
2) การตรวจรับรองความปลอดภัยของโรค Newcastle ไต้หวันอนุญาตให้นำเข้าเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ โดยเปิดโควตารวมให้ทุกประเทศ แต่ต้องผ่านการตรวจรับรองฯ ซึ่งไทยยังไม่ผ่านจึงไม่สามารถส่งออกได้
3) การตรวจรับรองโรงงานผู้ผลิตอาหารสุนัขและแมว ไต้หวันอนุญาตให้นำเข้าอาหารสุนัข/แมวชนิดแห้งได้ โดยผู้ส่งออกจะต้องผ่านการตรวจรับรองโรงงานจาก Bureau of Animal and Plant Health Inspection and Quarantine (BAHIQ) ของไต้หวันก่อน (ตั้งแต่ 8 ตุลาคม 2544) เพื่อป้องกันโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อย และโรค Newcastle
4) ระเบียบการตรวจกักกันโรคพืช BAHIQ ของไต้หวัน จะแก้ไขระเบียบดังกล่าว ซึ่งจะมีผลต่อการห้ามนำเข้าผักและผลไม้จากไทย 7 ชนิด (ลำไย มังคุด เงาะ ถั่วฝักยาว พริก หมาก และมะเขือเทศ) เนื่องจาก ไทยถูกระบุว่าเป็นแหล่งแพร่ระบาดของหนอนแมลงในพืช โดยไทยได้ส่งผู้แทนไปชี้แจงกับไต้หวันแล้วเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2546 โดยสรุปผลได้ว่า ขณะนี้ไทยได้ประกาศใช้ Good Agricultural Practice (G.A.P.) เพื่อสร้างมาตรฐานสุขอนามัยของอาหาร และแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคและแมลง และไทยจะรีบทำ Action Plan ให้เสร็จประมาณวันที่ 10 สิงหาคม 2546 และส่งให้ไต้หวันพิจารณาใน Plant Quarantine Committee โดย BAHIQ จะเร่งกระบวนการพิจารณาให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
4.5 การลงทุน
ไทยและไต้หวันได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2539
1) ไต้หวันลงทุนในไทย 1,710 โครงการ มูลค่า 10,942.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลมีนาคม 2547) มูลค่าการลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของการลงทุนต่างชาติทั้งหมดของไทย รองจาก ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ประเภทธุรกิจที่ลงทุนมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมโลหะและเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตร และสนใจอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนรถยนต์และสิ่งทอ
2) ไทยลงทุนในไต้หวัน ปัจจุบันมีภาคเอกชนไปลงทุนประมาณ 46 บริษัทในด้านการเกษตรการขนส่งทางอากาศ ภัตตาคารไทย และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งนี้ ไทยมีโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนในภาคบริการของไต้หวันเพิ่มขึ้นได้อีก เนื่องจากไทยมีศักยภาพ และไต้หวันไม่มีข้อจำกัดการลงทุนของต่างชาติ หรือข้อจำกัดการลงทุนได้รับการผ่อนคลายในด้านต่างๆ เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการท่องเที่ยว และด้านบริการก่อสร้าง เป็นต้น
4.6 แรงงานไทยในไต้หวัน
1) ไต้หวันเป็นตลาดแรงงานที่สำคัญที่สุดของไทย ปัจจุบันแรงงานต่างชาติในไต้หวันมีจำนวนทั้งสิ้น 304,833 คน ซึ่งเป็นแรงงานไทยจำนวน 99,570 คน (ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2548)และเป็นสัดส่วนแรงงานต่างชาติที่มากที่สุดในไต้หวัน (ร้อยละ 32.66 ของแรงงานต่างชาติทั้งหมด) รองลงมา ได้แก่ แรงงานเวียดนาม 93,090 คน ฟิลิปปินส์ 91,290 คน อินโดนีเซีย 20,806 คน มองโกเลีย 56 คน และมาเลเซีย 21 คน โดยประมาณการว่าแรงงานไทยสามารถนำรายได้เข้าประเทศ 21,200 ล้านบาทต่อปี
2) แรงงานไทยส่วนใหญ่ทำงานในภาคการผลิต (ตามโรงงานต่างๆ) ประมาณ 86,000 คนภาคก่อสร้างประมาณ 10,000 คน (แรงงานก่อสร้างประมาณร้อยละ 95 ในไต้หวันเป็นแรงงานไทย) และผู้อนุบาลและผู้ช่วยแม่บ้าน 3,300 คน แรงงานเหล่านี้ทำสัญญาครั้งละ 3 ปี ต่อสัญญาได้ 2 ครั้ง
4.7 การท่องเที่ยว
1) คนไต้หวันเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยปีละประมาณ 700,000 คน เนื่องจากมีความใกล้ชิดในด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรมและศาสนาพุทธ นอกจากนี้ มีชาวไต้หวันที่มาค้าขายและลงทุนในไทยประมาณ 150,000 คน ในปี 2545 จำนวนนักท่องเที่ยวไต้หวันลดลง เนื่องจากผลกระทบของเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมในสหรัฐฯ เมื่อเดือนกันยายน 2544 และในปี 2546 จำนวนนักท่องเที่ยวไต้หวันลดลง เนื่องจากการระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) และภาวะเศรษฐกิจไต้หวันที่ซบเซาตั้งแต่ปี 2544
2) ในปี 2547 สถิติจำนวนผู้ขอรับการตรวจลงตราที่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย รวม 440,332 ราย คิดเป็นรายได้ค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา 379.11 ล้านเหรียญไต้หวัน (ไม่นับรวมการตรวจลงตราประเทศ Visa-on-Arrival ที่ประเทศไทย)
5. ประเด็นข้อสังเกต
5.1 ไต้หวันได้จัดทำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจโดยกำลังดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ 10 โครงการเพื่อใช้ผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า ซึ่งคล้ายกับ Mega Projects ของไทย
5.2 จุดเด่นของไต้หวัน คือให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยภาครัฐจะลงทุนกับการศึกษาในสัดส่วนที่สูง และมุ่งผลิตบุคลากรสาขาวิศวกร (engineer) เป็นส่วนใหญ่ ประมาณร้อยละ 58 ของบุคลากรในระดับอุดมศึกษา นอกจากนี้ ภาครัฐได้จัดทำโครงการกระตุ้นชาวไต้หวันที่เก่งและฉลาดที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาให้อพยพ (migrate) กลับมาทำธุรกิจด้าน IT
5.3 ไต้หวันเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง โดยเฉพาะภาคเอกชน และรายได้ส่วนใหญ่ของประเทศมาจากการส่งออกเกือบทั้งหมด โดยในปัจจุบันการลงทุนของไต้หวันส่วนใหญ่จะเคลื่อนย้ายไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้นหากต้องการดึงดูดให้ชาวไต้หวันมาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอาจทำได้ในรูปของการร่วมลงทุน (Joint Venture) โดยเฉพาะในเรื่องที่ไทยควรศึกษาจากไต้หวันคือเทคโนโลยีชีวภาพ อาทิ เทคโนโลยีกล้วยไม้ นอกจากนี้ ไทยควรพยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวไต้หวันให้มาเที่ยวประเทศไทยมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของไต้หวันที่เป็นเกาะอุตสาหกรรมและระดับรายได้ที่สูงทำให้มีความต้องการเดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศมาก
5.4 ไต้หวันมีการให้การอุดหนุน (subsidy) กับภาคเกษตรเป็นอย่างมาก และมีมาตรการปิดกั้นทางการค้าสำหรับสินค้าด้านเกษตร (ผัก ผลไม้) มากที่สุดประเทศหนึ่ง โดยผลผลิตด้านเกษตรไต้หวันมีคุณภาพสูง เนื่องจากมีการทำวิจัยพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (biotechnology) และมีการอุดหนุน (subsidy) แก่เกษตรกรที่เข้มแข็งและประสบความสำเร็จ เช่น ให้ปุ๋ยฟรี
สรุปสาระสำคัญหน่วยงานที่เข้าเยี่ยม
I Council for Economic Planning and Development (CEPD)
II Industrial Development Bureau (IDB)
III Small and Medium Enterprise Administration (SMEA)
IV China Productivity Center (CPC)
V Hsinchu Science Park (HSP)
Council for Economic Planning and Development (CEPD)
1. ลักษณะสำคัญขององค์กร
1.1 ความเป็นมา
Council for U.S. Aid (CUSA) เป็นหน่วยงานด้านการวางแผนที่ไต้หวันจัดตั้งขึ้นในปี 1948 โดยได้รับความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา ต่อมาปี 1963 ได้ปรับโครงสร้างองค์กรเป็น Council for International Economic Cooperation and Development (CIECD) จนกระทั่งปี 1973 เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการวางแผนเศรษฐกิจและการวิจัย จึงได้ปรับโครงสร้างองค์กรอีกครั้งเป็น Economic Planning Council (EPC) และในปี 1977 ได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรซึ่งยังเป็นรูปแบบปัจจุบันอยู่คือ Council for Economic Planning and Development (CEPD) เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการวางแผนเศรษฐกิจ และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจแบบครบวงจร
1.2 โครงสร้างและหน้าที่
1) โครงสร้างองค์กร: หน่วยงานวางแผนชาติ CPED ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ
1.1) คณะกรรมการบริหาร หรือ the Council ที่มีรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีผู้ว่าธนาคารชาติ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจต่างๆ และ ประธานคณะกรรมการต่างๆ อาทิ ด้านแรงงาน การดูแลด้านการเงิน และการก่อสร้าง ร่วมเป็นกรรมการ
1.2) สำนักงานที่มีเลขาธิการฯ ทำหน้าที่ดูแล และประกอบด้วยสำนักต่างๆ อาทิ วางแผนส่วนรวม วิจัยเศรษฐกิจ วางแผนระดับสาขาการพัฒนาแผนเมืองและการเคหะ ประเมินผล ทรัพยากรมนุษย์ ต่อต้านคอร์รัปชั่น วิเคราะห์โครงการ และศูนย์กลางการดูแลเรื่องการลดขั้นตอนกฎระเบียบทางเศรษฐกิจและนวัตกรรม
2) หน้าที่หลัก: ทำหน้าที่ให้การปรึกษากับ Executive Yuan หรือคณะรัฐมนตรี โดยมีความรับผิดชอบในเรื่องดังต่อไปนี้
2.1) ร่างแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศทั้งระยะสั้นและระยะยาว
2.2) ประเมินผลโครงการพัฒนา เสนอต่อ Executive Yuan
2.3) ประสานการดำเนินการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อติดตามงาน
2.4) ติดตามการดำเนินโครงการพัฒนา มาตรการ และโปรแกรม
3) วิสัยทัศน์ในการพัฒนา
วิสัยทัศน์ในการพัฒนาได้แก่การนำประเทศไปสู่ green silicon island เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้ พร้อมกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมเชิงอนุรักษ์ และการสร้างสังคมที่เข้มแข็ง โดยการดำเนินการดังต่อไปนี้ ดำเนินนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ผลักดันการพัฒนาภาคที่มีมูลค่าการผลิตสูง โดยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาและการดึงดูดการลงทุนจากประเทศที่พัฒนาแล้วในเทคโนโลยีระดับสูง รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาในสาขาบริการ อาทิ สาขาการเงิน การขนส่ง สื่อสาร การแพทย์ การฝึกอบรม การท่องเที่ยว การวิจัยและพัฒนา การให้บริการด้านวิศวกรรม และ การบริการทางด้านข้อมูล เป็นต้น
4) แผนพัฒนาเศรษฐกิจ
Challenge 2008 Six-Year National Development Plan เป็นแผนพัฒนาฉบับปัจจุบันของไต้หวัน ที่กำหนดเป้าหมายการพัฒนาไว้ที่ปี 2008 ภายใต้แนวคิด positioning globally and cultivating Taiwan deeply และมุ่งการดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลัก ขยายความต้องการภายในประทศ กระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ สร้างงาน และส่งเสริมสวัสดิการของประชาชน นอกจากนี้ ยังมุ่งเสริมสร้างการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในเรื่องวิจัยและพัฒนา นวัตกรรม โลจิสติกส์ และการบริหาร ทั้งนี้เพื่อรักษาบทบาทของไต้หวันในระบบเศรษฐกิจโลกและสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในทศวรรษหน้า
2. ประเด็นข้อสังเกต
2.1 CEPD เป็นหน่วยงานวางแผนชาติที่มีขอบเขตความรับผิดชอบใกล้เคียงกับ สศช. ทั้งในด้านการวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยโครงสร้างองค์กรประกอบด้วยสำนักต่างๆ อาทิ การวางแผนส่วนรวม การวางแผนรายสาขา การพัฒนากำลังแรงงาน การพัฒนาเมืองและการเคหะ การเงิน การติดตามและประเมินผล พร้อมทั้งมีสำนักวิจัยเศรษฐกิจที่ทำหน้าที่วิเคราะห์วิจัยประเด็นเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ
2.2 CEPD มีคณะกรรมการบริหารที่เรียกว่า the council ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการเมืองเป็นหลัก โดยตำแหน่งประธานมาจากการแต่งตั้ง และคณะกรรมการประกอบด้วย รัฐมนตรีจากหน่วยงานเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ก.คลัง ก.คมนาคม ก.เศรษฐกิจ เป็นต้น รวมทั้งหน่วยงาน
เศรษฐกิจอื่นๆ อาทิ ผู้ว่าธนาคารชาติ เลขานุการคณะรัฐมนตรี ผู้ว่าสำนักงบประมาณ ประธานคณะกรรมการการก่อสร้างภาครัฐ ประธานคณะกรรมการสภาแรงงาน และประธานคระกรรมการดูแลการเงิน เป็นต้น ดังนั้น จากการที่คณะกรรมการบริหารขององค์กรการมาจากภาคการเมืองเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้สามารถเชื่อมโยงการทำงานด้านการวางแผนการพัฒนาเข้ากับนโยบายของฝ่ายการเมืองได้ และยังสามารถผลักดันการดำเนินนโยบายของรัฐได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีการติดตามและหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับกรรมการบริหารได้โดยตรง
2.3 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การพัฒนาของไต้หวันประสบความสำเร็จในปัจจุบันได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยการให้โอกาสทางการศึกษากับประชาชน ซึ่งระบบการศึกษาภาคบังคับของไต้หวันมีทั้งสิ้น 9 ปี รวมทั้ง การพัฒนา SMEs ยังเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ช่วยให้ไต้หวันมีการพัฒนาที่ก้าวไกล นอกจากนี้ ความต่อเนื่องในการวางแผนที่ผ่านมาโดยตลอด ยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการผลักดันการพัฒนาประเทศ ประกอบกับองค์ประกอบคณะกรรมการบริหารขององค์กรที่ส่วนใหญ่มาจากภาคการเมืองจึงทำให้สามารถเชื่อมโยงการทำงานด้านการวางแผนเข้ากับนโยบายของฝ่ายการเมืองได้ และสามารถผลักดันการดำเนินนโยบายได้เป็นอย่างดี
2.4 แนวคิดและขั้นตอนการจัดทำแผนชาติของไต้หวันมีความคล้ายคลึงกับไทยค่อนข้างมากอย่างไรก็ตาม แนวคิด "การมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน" ยังไม่ปรากฏชัดเจนเท่าไรนัก นอกจากนี้ แผนพัฒนาของไต้หวันยังประกอบด้วยแผนการดำเนินการที่มีการกำหนดงบประมาณในการลงทุน และมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นตัวเลขที่ประเมินได้ในช่วงเวลาของแผน ทั้งนี้ การจัดทำแผนพัฒนาของไต้หวันมีขั้นตอนหลัก ดังนี้
รวบรวมข้อมูลทั้งภายในและภายนอกประเทศ
|
จัดทำแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค
|
ตั้งเป้าหมายและลำดับความสำคัญในการพัฒนา โดยมีข้อสังเกตว่าการกำหนดเป้าหมายของไต้หวันต้องคำนึงถึงกรอบนโยบายของประธานาธิบดีเป็นสำคัญ รวมทั้งต้องนำข้อมูลจากภาคอื่นๆ อาทิ ภาคธุรกิจ ประชาชน นักวิชาการ และผลการศึกษาต่างๆ มาประกอบการจัดทำกรอบ ดังกล่าวด้วย
|
ร่างแผนเศรษฐกิจมหภาค และแผนรายสาขา
|
ปรับปรุง
|
นำเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ
Industrial Development Bureau (IDB)
1. การพัฒนาอุตสาหกรรม
1.1 ทิศทางการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจของไต้หวันพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเป็นสำคัญ มูลค่าการส่งออกในปี 2003 เท่ากับ 144.2 พันล้าน US$ ซึ่งกว่าร้อยละ 98.4 เป็นการส่งออกจากภาคอุตสาหกรรม(Industrial Sector) และเกือบทั้งหมดมาจากอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing Industry) และกว่าร้อยละ 95 เป็นการผลิตจากภาคเอกชน ซึ่งถือได้ว่าอุตสาหกรรมการผลิตเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญต่อการเจริญเติบโตของประเทศ ทั้งนี้ โครงสร้างของอุตสาหกรรมได้มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยมูลค่าของการผลิตในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก เช่น อุตสาหกรรม อาหารและสิ่งทอ ปรับตัวลดลง ในขณะที่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิคส์ เคมีภัณฑ์และเครื่องจักรมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ในปี 2003 สินค้าของไต้หวันที่มีปริมาณการส่งออกถึงร้อยละ 90 ในตลาดโลก ได้แก่ Hub Wireless LAN และ Network Interface Cards
1.2 การก่อตั้งองค์กร
การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไต้หวัน ซึ่งสำเร็จได้โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน รัฐบาลจึงได้จัดตั้ง Industrial Development Bureau (IDB) ขึ้นในปี ค.ศ. 1970 เป็นหน่วยงานหนึ่งในกระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจ (Ministry of Economics Affairs) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ
โดยมีภารกิจหลัก ดังนี้
1) กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และมาตรการในการพัฒนาอุตสาหกรรม
2) ส่งเสริมการยกระดับอุตสาหกรรม
3) ก่อสร้างและบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม (Industrial Park)
4) กำหนดมาตรการทางภาษีและการเงินเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม
5) ป้องกันการก่อมลพิษจากอุตสาหกรรม เสนอมาตรการด้านความปลอดภัยและควบคุมกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรม
6) อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม
1.3 การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนา
ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีความพยายามที่จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุน ทั้งจากนักลงทุนต่างประเทศและชาวจีนที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ โดยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนทั้งการปรับระบบเศรษฐกิจให้เป็นแบบเสรีนิยมทัดเทียมกับประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว พร้อมทั้งมีการปรับปรุงกฎหมายและข้อบังคับที่สนับสนุนการลงทุน โดย IDB ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ดังนี้
1) มาตรการทางภาษี อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 25 แต่เพื่อเป็นการสนับสนุนการลงทุนจึงได้มีมาตรการการจูงใจทางด้านภาษี เช่น ลดหย่อนภาษีร้อยละ 30 สำหรับค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต ร้อยละ 5 -20 สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อลดมลพิษและประหยัดพลังงาน
นอกจากนี้บริษัทที่ผลิตสินค้าที่เป็นสินค้ายุทธศาสตร์ (Newly Emerging, Important and Strategic Industries) จะได้รับการลดหย่อนภาษีร้อยละ 20 ของเงินลงทุน หรือสามารถเลือกการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นระยะเวลา 5 ปี
2) ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี IDB จะสนับสนุนงบประมาณในรูปเงินช่วยเหลือให้กับบริษัทเอกชน สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยเฉพาะทาง เพื่อลงทุนด้านR&D การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การปรับปรุงเทคโนโลยี รวมถึงการปรับปรุงสินค้าและกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมดั้งเดิมให้สามารถยังคงอยู่ได้ในตลาดปัจจุบัน
3) พัฒนาทรัพยากรบุคคล IDB กระทรวงแรงงาน สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยเฉพาะทาง ได้ร่วมกันจัดหลักสูตรอบรมเพื่อพัฒนาความสามารถของแรงงานและบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม มีการจัดตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมสำคัญโดยเฉพาะ ได้แก่ College of semiconductor technology และ College of digital content technology นอกจากนี้ยังมีมาตรการเสริมโดยสนับสนุนให้ผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศเข้ามาทำงานในไต้หวันได้นานขึ้นจาก 3 ปี เป็น 6 ปี และรัฐบาลจะจ่ายค่าจ้างให้บางส่วน รวมทั้งให้เงินสนับสนุนแก่โรงงานอุตสาหกรรมในการจ้างแรงงานต่างชาติในการลงทุนโครงการที่สำคัญ
4) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน เนื่องจากประเทศไต้หวันมีที่ดินจำกัด รัฐบาลจึงสร้างนิคมอุตสาหกรรม (Industrial Park) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน โดยให้นักลงทุนเข้ามาเช่าที่ดินเพื่อสร้างโรงงานหรือเช่าอาคารโรงงานที่สร้างไว้แล้ว พร้อมบริการสาธารณูปโภคและการให้บริการจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐในรูปแบบ one stop service ทำให้การก่อตั้งโรงงานเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วและต้นทุนต่ำ นอกจากนี้ยังมีสวนอุตสาหกรรมด้านวิทยาศาสตร์ (Science Park) ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ National Science Council of the Executive Yuan (NSC)
5) ส่งเสริมการเผยแพร่องค์ความรู้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการค้า(Commercialization) เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการพัฒนาในยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ และเนื่องจาก SMEs เป็นฐานการผลิตที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจของไต้หวันแต่มีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณการลงทุนด้าน R&D รัฐบาลจึงสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยทำการศึกษาด้าน R&D และสร้างระบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่โปร่งใสและรวดเร็ว รวมถึงจัดให้มีบริการการซื้อขายสิทธิบัตรเพื่อการค้าระหว่างสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และภาคอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการเผยแพร่องค์ความรู้เพื่อการค้า ผ่านกลไก Taiwan Technology Marketplace ทั้งนี้จนถึงปี 2004 มีการซื้อขายสิทธิบัตรทางเทคโนโลยีรวมทั้งสิ้น 9,324 สิทธิบัตร โดยกว่าร้อยละ 65 เป็นสิทธิบัตรของสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย
1.4 มาตรการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม
ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ไต้หวันได้มุ่งพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศสมัยใหม่ (Modern Developed Country) ซึ่งในช่วงของการเปลี่ยนแปลงนี้ IDB ได้ดำเนินมาตรการหลัก 6 ด้านเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ดังนี้
1) ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมหลัก ภายใต้แคมเปญ " Two Trillions and Twin Stars" โดย Two Trillions ได้แก่ อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการผลิตสูงในปัจจุบัน คือ อุตสาหกรรม semiconductor และ color-image display ส่วน Twin Stars ได้แก่ อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโตในอนาคต คือ อุตสาหกรรม digital content และ biotechnology พร้อมกับสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ
2) สนับสนุนการพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยจัดตั้ง "ศูนย์บริการอุตสาหกรรม (Industry Service Center)" เพื่อเป็นหน่วยประสานงานระหว่างหน่วยงานราชการกับภาคเอกชน ให้คำปรึกษาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาเฉพาะราย (case-by-case basis) และมีโครงการให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาเทคโนโลยีแก่อุตสาหกรรมดั้งเดิม(Traditional Industry Technology Development Assistance Project) ภาครัฐจะช่วย สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาให้กับอุตสาหกรรมเป็นรายๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนาทางด้านผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี การออกแบบ และวัตถุดิบ
3) ส่งเสริมให้ธุรกิจจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศ เพื่อสร้างกิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงในห่วงโซ่อุปทานในประเทศ เช่น การวิจัยและพัฒนา การออกแบบ การพัฒนาตราสินค้า การบริหารและกระจายสินค้า ตลอดจนส่งเสริมการจัดตั้ง International logistic and distribution centers เพื่อให้ไต้หวันเป็นฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ โดยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
4) ส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน โดยการขยายจำนวนผู้ลงทุนและลดปัญหาอุปสรรคที่มีต่อการลงทุน โดยการสร้างสวนอุตสาหกรรม และจัดบริการ one stop service
5) ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน การผลิตที่สะอาด (Clean Production) สนับสนุนให้โรงงานอุตสาหกรรมสร้างระบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ระบบความปลอดภัยระบบสุขาภิบาลและระบบกำจัดของเสียที่ได้มาตรฐานและถูกสุขลักษณะ ปฏิบัติตามบทบัญญัติสากลว่าด้วยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในการทำงาน ออกกฎหมายและให้ความรู้เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ