สรุปผลการดูงาน 5 ประเทศ (เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน และเวียดนาม)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 15, 2006 14:36 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          สรุปผลการดูงาน 5 ประเทศ (เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน และเวียดนาม) ภายใต้โครงการเชื่อมโยงเครือข่ายหน่วยงานวางแผนชาติระดับภูมิภาค และการเตือนภัยทางเศรษฐกิจมหภาค 
ส่วนที่ 1:
สรุปผลการดูงาน 5 ประเทศ (เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน และเวียดนาม) ภายใต้โครงการเชื่อมโยงเครือข่ายหน่วยงานวางแผนชาติระดับภูมิภาค และการเตือนภัยทางเศรษฐกิจมหภาค (Asian Planning Agency Networking and Macroeconomic Surveillance)
ตามที่สำนักวางแผนเศรษฐกิจมหภาคได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการเชื่อมโยงเครือข่ายหน่วยงานวางแผนชาติระดับภูมิภาค และการเตือนภัยทางเศรษฐกิจมหภาค ประจำปีงบประมาณ 2548 ซึ่งเป็นโครงการที่ปรากฏในคำรับรองการปฏิบัติราชการของ สศช. ตามที่เสนอในแผนการปฏิรูปราชการที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ด้วยนั้น สามารถสรุปสาระสำคัญของโครงการและผลการดูงานได้ ดังนี้
1. วัตถุประสงค์โครงการ
1.1 เพิ่มบทบาทเชิงรุกในกลุ่มนักวางแผนหรือนักวางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ โดยการสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวางแผนชาติหรือสถาบันวางแผนยุทธศาสตร์ชาติในภูมิภาคให้สามารถเป็นเครือข่ายในการสร้างแนวทางร่วมกัน เพื่อพัฒนาภูมิภาคเอเชียให้เป็นไปในทิศทางที่สอดรับและเป็นประโยชน์ร่วมกัน
1.2 เพิ่มโอกาสในการวางแนวทางเพื่อการเรียนรู้ถึงซึ่งกันและกันในเชิงลึกอย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยเฉพาะจากการได้เปิดโลกทัศน์ในการเรียนรู้ประสบการณ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาของประเทศในเอเซีย เพื่อที่จะได้นำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในการพัฒนาระหว่างประเทศ พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจร่วมกันในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นในภูมิภาค
รวมทั้งได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นเพื่อสร้างความร่วมมือกันในการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาค และแสวงหาทิศทางที่เหมาะสมกับการรับมือสถานการณ์โลกที่ผันผวนและไม่แน่นอนเช่นนปัจจุบัน
2. รูปแบบการดูงาน
2.1 เป็นการเดินทางเยือนประเทศในกลุ่มที่มีการพัฒนาแบบก้าวไกล คือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน และกลุ่มประเทศที่มีการแข่งขันอย่างสูงกับประเทศไทย คือ จีน และเวียดนาม รวม 5 ประเทศ โดยสามารถจำแนกหน่วยงานในแต่ละประเทศที่ไปดูงานได้ ดังนี้ (1) หน่วยงานวางแผนชาติ (2) หน่วยงานด้านเศรษฐกิจมหภาค เช่น ธนาคารกลาง และกระทรวงการคลัง (3)หน่วยงานด้านอุตสาหกรรมและการค้า เช่น หน่วยงานส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม อุทยานวิทยาศาสตร์ และ สถาบันการค้าและเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (4) หน่วยงานภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ เช่น บริษัท มตสชิตะ อิเล็กทริกส์ อินดัสเตรียล จำกัด (พานาโซนิค) ADB และ UNDP (รายชื่อหน่วยงาน พร้อมคณะเดินทางในแต่ละประเทศ ปรากฏตามเอกสารแนบ 1)
2.2 การเดินทางครั้งนี้มีการเยือนหน่วยงานวางแผนระดับชาติครบทุกประเทศ โดยแต่ละประเทศก็จะมีจุดเน้นในการดูงานแตกต่างกันไป ดังนี้
1) เกาหลีใต้: เน้นหน่วยงานด้านการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค การเตือนภัยทางเศรษฐกิจและด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม
2) ญี่ปุ่น: เน้นหน่วยงานทางด้านการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและหน่วยงานวางแผนและดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม รวมทั้งบริษัทเอกชน
3) ไต้หวัน: เน้นหน่วยงานด้านการวางแผนอุตสาหกรรม รวมทั้งหน่วยงานระดับปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนา SMEs การเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และอุทยานวิทยาศาสตร์
4) จีน: เป็นการดูงานหน่วยงานเศรษฐกิจที่หลากหลายทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์แห่งประเทศจีน อุทยานวิทยาศาสตร์ และหน่วยงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
5) เวียดนาม: เป็นการดูงานหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของประเทศ และสถาบันระหว่างประเทศ อาทิ กระทรวงการคลัง ธนาคารกลาง กระทรวงการค้าและการลงทุน รวมทั้ง ADB และ UNDP ประจำเวียดนาม
3. สาระสำคัญของการดูงาน 5 ประเทศ
สาระสำคัญของการดูงาน 5 ประเทศสามารถจำแนกตามประเภทหน่วยงาน กับประสบการณ์และนัยจากการเดินทางโดยรวม ได้ดังนี้ (สรุปสาระสำคัญของการดูงานแยกตามประเทศ ปรากฏตามเอกสารแนบ 2)
3.1 สาระสำคัญแยกตามประเภทหน่วยงาน
1) หน่วยงานวางแผนระดับชาติ
- ได้มีการเยือนหน่วยงานวางแผนระดับชาติในทุกประเทศ ซึ่งพบว่าเกาหลีใต้และญี่ปุ่นในปัจจุบันไม่ได้มีการจัดทำแผนพัฒนาในระดับประเทศแล้ว แต่ยังมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดทำกรอบนโยบายเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ หรือแผนปฏิรูปโครงสร้างระบบเศรษฐกิจแทน ในขณะที่ ไต้หวัน จีน และเวียดนาม ยังมีการจัดทำแผนพัฒนาประเทศในภาพรวม เพื่อใช้เป็นกรอบการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง
- รูปแบบองค์กรที่รับผิดชอบการวางแผนระดับชาติของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไป ทั้งในส่วนที่มีหน่วยงานรับผิดชอบการวางแผนชาติโดยตรง เช่นในไต้หวัน จีน และเวียดนาม กับบางประเทศที่มีหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ประสานและกำกับการดำเนินนโยบายระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งมีกระทรวงการคลังและเศรษฐกิจที่เป็นการรวมกันระหว่างหน่วยงานกระทรวงการคลังและหน่วยงานวางแผน ทำหน้าที่กำหนดกรอบนโยบายเศรษฐกิจและสังคม
2) หน่วยงานด้านเศรษฐกิจมหภาค
- มีการไปดูงานหน่วยงานด้านเศรษฐกิจมหภาคเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน และเวียดนาม ได้แก่ หน่วยงานที่จัดทำสัญญาณเตือนภัยทางเศรษฐกิจ ธนาคารกลาง กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ เป็นต้น
- ธนาคารกลางของแต่ละประเทศมีบทบาทที่คล้ายกัน ได้แก่ การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเงิน และระดับราคา เป็นสำคัญ โดยมีระบบการบริหารงานที่เป็นอิสระแม้กระทั่งในประเทศจีนก็ตาม ในขณะที่กระทรวงการคลังก็จะทำหน้าที่หลักในการดูแลนโยบายการคลังของประเทศ แต่ในบางกรณีเช่นกระทรวงการคลังในเวียดนามก็จะรวมงานทางด้านการจัดทำงบประมาณของประเทศเข้ามาด้วย นอกจากนี้ ในเกาหลีใต้ยังมีหน่วยงานที่จัดทำสัญญาณเตือนภัยทางเศรษฐกิจให้กับรัฐบาล เพื่อป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจ โดยมีการจัดทำรายงานเครื่องชี้ที่เป็นสัญญาณเตือนภัย และการติดตามความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด
3) หน่วยงานด้านอุตสาหกรรมและการค้า
- ทุกประเทศที่ไปดูงานจะให้ความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้า โดยจะมีหน่วยงานที่ดูแลการวางแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้าในภาพรวมของประเทศ และจะมีหน่วยงานระดับปฏิบัติที่สนับสนุนการพัฒนาในด้านดังกล่าว อาทิ หน่วยงานการพัฒนา SMEs หน่วยงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และอุทยานวิทยาศาสตร์
- หน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลภาพรวมการพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้าโดยทั่วไปจะมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาในแต่ละสาขา เพื่อเสนอแนะแนวนโยบายการพัฒนาและกำหนดยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสาขาอุตสาหกรรมที่จะส่งเสริม รวมทั้งจะต้องมีการจัดสถาบันพิเศษเพื่อดูแลในภาคการปฏิบัติด้วย อาทิ หน่วยงานส่งเสริมการพัฒนา SMEs
4) หน่วยงานภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประประเทศ
-มีเพียงประเทศเดียวคือญี่ปุ่นที่ได้มีโอกาสไปดูงานหน่วยงานภาคเอกชน คือ บริษัทพานาโซนิค ซึ่งในขณะนี้กำลังเร่งดำเนินยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโต และเสริมสร้างการบริหารจัดการที่เข้มแข็ง ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางการติดต่อสื่อสารของโลกแบบรวมกลุ่ม
-ในขณะที่มีเพียงประเทศเวียดนามเท่านั้นที่มีโอกาสไปศึกษาดูงานสถาบันระหว่างประเทศ 2 สถาบัน ได้แก่ ADB และ UNDP ในเวียดนาม โดยทั้งสองสถาบันทำหน้าที่เป็นตัวแทนประสานงานให้กับองค์กรของตน พร้อมทั้งทำหน้าที่ให้การช่วยเหลือเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศอีกด้วย
3.2 ประสบการณ์และนัยจากการดูงาน
1) แนวคิดการจัดทำแผนพัฒนาประเทศโดยส่วนใหญ่มีความใกล้เคียงกัน คือมีเป้าหมายการพัฒนาเพื่อสร้างความสมดุล และยั่งยืน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังมีการเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ หรือการเปิดเสรีในการแข่งขันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศจะมีการตั้งเป้าหมายการพัฒนาที่แตกต่างกันไปตามระดับการพัฒนาของประเทศ ซึ่งโดยทั่วไปขั้นตอนการพัฒนาของประเทศจะเริ่มต้นตั้งแต่ยุคการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า ไปจนถึงการผลิตเพื่อการส่งออก จากอุตสาหกรรมขนาดเบาไปจนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และต่อเนื่องไปจนถึงการพัฒนาในยุคเทคโนโลยีและเศรษฐกิจฐานความรู้ ดังนั้นประเทศที่มีระดับการพัฒนาที่ก้าวหน้ามากกว่าก็จะตั้งเป้าหมายการพัฒนาประเทศตนไปสู่ยุคของเทคโนโลยีระดับสูงและมุ่งสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้ ดังเช่นในกรณีไต้หวันได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์อย่างชัดเจนว่าจะมีการพัฒนาเพื่อมุ่งไปสู่ Green Silicon Island สำหรับในกรณีของประเทศเกาหลีใต้นั้น นอกจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็น hi-tech แล้ว ยังมุ่งเน้นที่จะเพิ่มขีดความสามารถในด้านบริการ อย่างไรก็ตาม ไม่พบว่าในกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาฯ ในประเทศใดที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางเช่นในกรณีของประเทศไทย
2) ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีสัดส่วนของตลาดทุนที่ใหญ่กว่าประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด จึงสะท้อนว่าภาคเอกชนของประเทศที่พัฒนาแล้วจะได้เปรียบประเทศที่พัฒนาล้าหลังกว่าในเรื่องต้นทุนในการระดมทุนเพื่อดำเนินกิจการ เช่น ตลาดทุนในประเทศจีนมีขนาดที่เล็กมากเมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่น โดยตลาดหลักทรัพย์ของจีนมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 27 ของ GDP ในขณะที่ญี่ปุ่นมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 83 จึงทำให้ภาคเอกชนของจีนส่วนใหญ่ ต้องระดมทุนจากการกู้ยืมธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่เป็นรัฐวิสาหกิจเป็นหลัก ซึ่งทำให้มีต้นทุนที่สูงกว่าการระดมทุนผ่านตลาดทุน
3) การแทรกแซงของธนาคารกลางในการทำ sterilize เงินทุนไหลเข้าประเทศ จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะในกรณีประเทศไทยที่มีระดับการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ที่ช้ากว่าตลาดหุ้น แม้ว่าการทำ sterilize อาจทำให้การดำเนินนโยบายการเงินมีประสิทธิภาพ แต่อาจเป็นภาระต้นทุนของธนาคารกลาง หรือฐานะการคลังของรัฐบาลได้
4) ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จในการจัดทำระบบเตือนภัยทางเศรษฐกิจและการเงินประกอบด้วย (1) การลงทุนในการพัฒนา data warehouse ให้สมบูรณ์และสามารถเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลของกระทรวงต่างๆ ได้อย่างจริงจัง รวมทั้งต้องสามารถลงทุนซื้อ ข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศ นอกจากนี้ จะต้องมีเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจ การตลาด การเงินภายในและระหว่างประเทศ ทำงานอย่างเต็มเวลา และที่สำคัญจะต้องมีทักษะการวิเคราะห์ (technical skills) อย่างแท้จริง (2) ต้องมีคณะกรรมการบริหารที่ประกอบด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและสามารถระดมข้อมูลเชิงลึกได้อย่างแท้จริง และ (3) การรายงานบทวิเคราะห์ และ Early Warning Index จะต้องเป็นความลับและโดยตรงต่อผู้บริหารระดับสูง เพื่อจะได้ไม่สร้างความตระหนกหรือกังวลกับนักลงทุน
5) ในประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวันจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นสูง หรือแม้กระทั่งการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อยก็ยังเน้นการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าโดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการวิจัยและพัฒนาเป็นตัวนำ โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จได้จะต้องเกิดจากความ ร่วมมืออย่างเข้มแข็งระหว่างภาครัฐและเอกชน ประกอบกับประชากรจะต้องมีพื้นฐานที่ใฝ่รู้ มีความมุ่งมั่น และขยันขันแข็งในการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ ในการพัฒนาระบบการศึกษา จะต้องมุ่งเน้นที่การผลิตบุคลากรสาขาวิศวกร หรือแรงงานที่มีทักษะการศึกษาสูง เพื่อนำไปใช้เป็นกำลังแรงงานในการพัฒนาอุตสาหกรรม รวมทั้งได้มีการใช้มาตรการจูงใจทางด้านภาษี เพื่อสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
6) ทิศทางการพัฒนา SMEs ของประเทศเกาหลีใต้มีความคล้ายคลึงกับประเทศไทย แต่ในทางปฏิบัติมีมาตรการที่ชัดเจนและเป็นระบบมากกว่า ทั้งในเรื่องการสนับสนุน know how และด้านการเงิน รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างกิจการขนาดใหญ่กับกิจการที่เป็น SMEs ในรูปของการ outsource หรือ contract out โดยสนับสนุนให้บริษัทขนาดใหญ่ที่ไปลงทุนในต่างประเทศพ่วงกิจการ SMEs ไปด้วย นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งสภา SMEs เป็นการเฉพาะ ซึ่งต่างกับกรณีประเทศไทยที่มีสภาอุตสาหกรรมทำหน้าที่ในการพัฒนา SMEs แต่ในทางโครงสร้างจะถูกชี้นำโดยกิจการขนาดใหญ่
7) การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศจะต้องมีหน่วยงาน/สถาบันระดับปฏิบัติที่รองรับนโยบายการพัฒนา อาทิ การจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศ โดยจะมีการอำนวยความสะดวกและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการดำเนินธุรกิจและพักอาศัย ประกอบกับมีมาตรการด้านภาษีที่เอื้อต่อการลงทุน รวมทั้งจะต้องมีสถาบันวิจัยและพัฒนา และสถาบันการศึกษาอยู่รายรอบเพื่อสนับสนุนการพัฒนาของอุทยานวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในการเป็นแหล่งกำลังคนเพื่อใช้ในกิจการ
สรุปสาระสำคัญแยกตามประเภทหน่วยงาน
1. หน่วยงานวางแผนระดับชาติ
เกาหลีใต้ Ministry of Finance and Economy (MOFE)
1. มีหน้าที่หลักในการกำหนดกรอบนโยบายเศรษฐกิจและสังคมระยะปานกลางและระยะยาว
2. ปัจจุบันไม่มีการจัดทำแผนพัฒนาฯ ในระดับประเทศ แต่การพัฒนาเศรษฐกิจจะดำเนินตามแผนประจำปีและแผนงบประมาณ ซึ่งแต่ละกระทรวงจะกำหนดแผนงานของตนเอง โดยมี Office of Government Policy Coordination ภายใต้สำนักนายกฯ เป็นผู้ประสานและกำกับการดำเนินนโยบายระหว่างหน่วยงานต่างๆ ให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน
3. ปัจจุบันเศรษฐกิจเกาหลีใต้อยู่ในช่วงฟื้นตัว หนี้สินภาคครัวเรือนซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2545 และเริ่มปรับตัวดีขึ้นในปี 2548 และคาดว่าปลายปี 2549 หนี้สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากรัฐบาลออกพันธบัตรเพื่อการแปลงหนี้สินภาคเอกชนจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์มาเป็นหนี้สินภาครัฐบาล
4. ในอนาคตมีนโยบายการพัฒนาที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างงานที่มุ่งเน้นคุณภาพของการจ้างงาน และสนับสนุนให้เกิดการเติบโตที่มีลักษณะฐานกว้างและยั่งยืน พร้อมกับการเปิดตลาดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขัน และสนับสนุนการลงทุนโดยตรงเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี
ญี่ปุ่น Economic and Social Research Institute (ESRI)
เป็นหน่วยงานที่จัดทำแผนการปฏิรูปโครงสร้างระบบเศรษฐกิจระยะปานกลาง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2542 และมีการปรับปรุงแผนฯ ทุกปีเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยในปีงบประมาณ 2004 พบว่า การปฏิรูปฯ ได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นหลายด้าน ได้แก่ อัตราการขยายตัวที่แท้จริงเพิ่มขึ้น งบประมาณเกินดุลลดลง จำนวนพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นโยบายของรัฐบาลและธนาคารกลางมุ่งไปที่การจัดการกับปัญหาภาวะเงินฝืด และการนำอุปสงค์ภาคเอกชนมาเป็นแรงผลักดันหลักให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ
ไต้หวัน Council for Economic Planning and Development (CEPD)
1. มีการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาวที่มีความต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการผลักดันการพัฒนาประเทศให้ก้าวไกล
2. มีคณะกรรมการบริหารที่ประกอบด้วยข้าราชการการเมืองเป็นหลักทำให้สามารถเชื่อมโยงการวางแผนการพัฒนาเข้ากับนโยบายของฝ่ายการเมืองได้เป็นอย่างดี และสามารถผลักดันนโยบายของรัฐให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้
3. แผนพัฒนาไปสู่ศตวรรษใหม่ ระยะที่ 1 (2001-2004) มีการกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศไปสู่ Green Silicon Island พัฒนาเศรษฐกิจฐานความรู้ พร้อมกับพัฒนาสิ่งแวดล้อมเชิงอนุรักษ์ และสร้างสังคมที่เข้มแข็ง ซึ่งได้มีการกำหนดเป้าหมายและลำดับความสำคัญของการพัฒนาที่ชัดเจน และสอดคล้องกับกรอบนโยบายของประธานาธิบดีเป็นสำคัญ โดยแผนพัฒนาฯ ระยะที่ 2 (2005-2008) ซึ่งเป็นช่วงการพัฒนาปัจจุบันได้มีการ ตั้งเป้าหมายการพัฒนาประเทศไปสู่ Green Silicon Island พร้อมกับความอุดมสมบูรณ์ทางวัฒนธรรม และลด ช่องว่างการผลิต ความยั่งยืน ตลอดจนคุณภาพชีวิต
จีน National Development and Reforming Commission of PRC (NDRC)
1. ขณะนี้อยู่ระหว่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 และกำลังจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 โดยมีระยะเวลาในแต่ละแผนฯ 5 ปี
2. มีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ชัดเจน ตลอดจนติดตามประเมินผลการพัฒนาที่ผ่านมาด้วย
3. แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 เน้นให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลระหว่างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางสังคม และสิ่งแวดล้อม และยังเน้นให้คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอีกด้วย
4. มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่เน้นการปรับโครงสร้างสถาบันภาครัฐให้ปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานที่สนับสนุนนโยบายของการเปิดประเทศ
เวียดนาม Ministry of Planning and Investment (MPI)
1. มีการวางแผนพัฒนาประเทศทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการใช้แผนพัฒนาฯ ระยะยาว 10 ปี (2001-2010) และระยะสั้น 5 ปี (2001-2005) และอยู่ระหว่างการเตรียมแผนพัฒนาฯ ระยะสั้น ฉบับที่ 5 (2006-2010)
2. มีการกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศสู่ความเป็นอุตสาหกรรม ขจัดความยากจน และเปิดประเทศให้เจริญทัดเทียมอารยะประเทศ และมีเป้าหมายการพัฒนาที่ชัดเจน ดังนี้
- แผนพัฒนาฯ ระยะยาว 10 ปี (2001-2010) มีเป้าหมายในการเพิ่มการขยายตัวของ GDP ในปี 2010
ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของปี 2001 และลดสัดส่วนภาคเกษตร ขณะเดียวกันก็เพิ่มบทบาทของ
ภาคอุตสาหกรรมและบริการให้สูงขึ้น
- แผนพัฒนาประเทศ ระยะสั้น 5 ปี (2006-2010) เน้นการเปิดประเทศมากขึ้น และตั้งเป้าหมายด้าน
เศรษฐกิจให้มีการขยายตัวประมาณร้อยละ 7.5 - 8 ส่วนด้านสังคมนั้นเน้นการขจัดความยากจน และ
เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชากร
นอกจากนี้ยังมีการประเมินผลการพัฒนาทุกปีเพื่อจะได้ปรับแผนการพัฒนาประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน
3. ลักษณะของการวางแผนเป็นทั้งแบบ Top down และ Bottom up
2. หน่วยงานด้านเศรษฐกิจมหภาค
เกาหลีใต้
Bank of Korea (BOK)
1. มีหน้าที่หลักในการรักษาเสถียรภาพของราคา โดยกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ
2. สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ: ประเทศเกาหลีใต้อยู่ในช่วงที่มีอุปทานส่วนเกิน มีปัญหาการใช้จ่ายในประเทศทั้งจากการลงทุนและการบริโภคที่ชะลอตัว แต่เริ่มมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยมีทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และนโยบายการคลังแบบขยายตัว ส่วนนโยบายการแทรกแซงค่าเงินนั้นถูกจำกัดในกรณีที่จำเป็น และส่วนใหญ่จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด
Korea Center for International Finance (KCIF)
1. เป็นหน่วยงานที่จัดทำระบบสัญญาณเตือนภัยทางเศรษฐกิจให้กับรัฐบาล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ได้แก่ การจัดทำรายงานเครื่องชี้ที่ใช้เป็นสัญญาณเตือนภัยทางเศรษฐกิจ และการติดตามความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในเรื่องตลาดการเงินโลกและภาวะเศรษฐกิจโลก
2. โดยในการจัดทำระบบเตือนภัยของประเทศเกาหลีใต้ สามารถจำแนกออกเป็น 3 ระดับ คือ (1) ระบบเตือนภัยระดับประเทศ (2) ระบบสัญญาณเตือนภัยของ Financial Supervisory Service (FSS) และ (3) ระบบสัญญาณเตือนภัยสำหรับการกำกับธนาคารพาณิชย์
จีน
Ministry of Finance
1. หน้าที่หลัก คือ กำหนดนโยบายด้านการคลัง (นโยบายแบบสังคมนิยม) และจัดทำงบประมาณของประเทศ
2. ปัจจุบันนโยบายการคลังของจีนให้ความสำคัญในเรื่อง ฐานะการคลังที่ตั้งเป้าการขาดดุลไม่เกิน 3,100 ล้านหยวน การกระจายความเจริญสู่ชนบท การปรับโครงสร้างภาษีทั้งด้านการลงทุนและการบริโภค การปรับปรุงระบบงบประมาณ การส่งเสริมการออมในประเทศ และการลอยตัวค่าเงินหยวน
China Securities Regulatory Commission (CSRC)
1. มีหน้าที่ในการกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางการดำเนินงานเพื่อกำกับดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนทั่วประเทศจีนแบบรวมศูนย์
2. ในปัจจุบันตลาดทุนในประเทศยังไม่มีการพัฒนาเท่าที่ควร ตลาดหลักทรัพย์ก็ยังมีขนาดเล็ก
ตลาดทุน: ภาคเอกชนไม่ค่อยให้ความสนใจระดมทุนผ่านตลาดทุน ส่วนใหญ่ทำการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะที่เป็นรัฐวิสาหกิจ
ตลาดหลักทรัพย์: ร้อยละ 50 ของบริษัทจดทะเบียนถือครองโดยรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล ซึ่งไม่สามารถทำการซื้อขายเปลี่ยนมือในตลาดรองได้ และการควบคุมการทำธุรกรรมในตลาดรองของทางการจีนยังไม่ดีนัก บริษัทจดทะเบียนยังมีปัญหาด้านบรรษัทภิบาล ส่งผลให้ราคาหลักทรัพย์มีความผันผวนมาก
The People's Bank of China (PBC)
1. หน้าที่หลัก คือ กำหนดนโยบายการเงิน ป้องกันความเสี่ยงและรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ระบบการบริหารงานเป็นอิสระไม่ขึ้นกับการเมือง แต่จะต้องรายงานการดำเนินนโยบายการเงินที่สำคัญแก่ State Council
2. ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนมีการขยายตัวสูง ตั้งแต่มีการปฏิรูประบบเศรษฐกิจเป็นแบบทุนนิยมในปี 2522 ทำให้ต้องมีการดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อควบคุมสภาพคล่องและป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ แต่ก็ยังไม่สามารถลดปริมาณเงินและความร้อนแรงทางเศรษฐกิจลงได้มากนัก เนื่องจากมีการบังคับใช้มาตรการที่ค่อนข้างหละหลวม และผูกติดค่าเงินหยวนไว้กับค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ในระดับที่ต่ำเกินจริง ดังนั้น ทางการจีนจำเป็นต้องมีท่าทีที่ชัดเจนเกี่ยวกับระบบอัตราแลกเปลี่ยนในระยะต่อไป เพื่อลดการเก็งกำไรและทำให้นโยบายชะลอการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ผลอย่างแท้จริง
เวียดนาม
State Budget Department, Ministry of Finance
1. หน้าที่หลัก คือ จัดทำนโยบายและวางแผนการใช้เงินงบประมาณตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ประสานให้แต่ละหน่วยงานจัดทำงบประมาณในแต่ละปีและตัดลดงบประมาณตามลำดับความสำคัญของแต่ละหน่วยงาน
2. ตั้งเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณไว้ไม่เกินร้อยละ 5 ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมายังไม่เกินเป้าหมายที่กำหนดไว้
Monetary Policy Department, State Bank of Vietnam
หน้าที่หลัก คือ รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ได้แก่ กำกับดูแลไม่ให้อัตราเงินเฟ้อสูงและผันผวนมากนัก และมีมาตรการเพิ่มศักยภาพธนาคารพาณิชย์ให้สามารถแข่งขันได้ โดยการตรวจสอบฐานะของธนาคารพาณิชย์และควบคุมเงินไหลเข้าประเทศอย่างเข้มงวด
3. หน่วยงานด้านอุตสาหกรรมและการค้า
เกาหลีใต้
Korea Institute for Industrial Economic and Trade (KIET)
1. หน้าที่หลัก คือ วิเคราะห์และประมาณการภาพรวมอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมรายสาขาและแนวโน้มเศรษฐกิจ เพื่อเสนอแนะแนวนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมและกำหนดยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมต่อรัฐบาล
2. อุตสาหกรมที่สำคัญมีทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันในเรื่องของต้นทุนการผลิตที่ต่ำ (2) อุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางน้ำ เป็นอุตสาหกรรมที่มีความต้องการสูงและมีการพัฒนาไปค่อนข้างมาก (3) อุตสาหกรรมเหล็ก ทิศทางการขยายตัวยังไปได้ดี เนื่องจากความต้องการเหล็กในตลาดโลกเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากจีน (4) อุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีการขยายตัวสูงอย่างจำกัด เนื่องจากยังต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีจากประเทศที่พัฒนาแล้ว (5) อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ มีความต้องการเพิ่มขึ้นมากในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์, USB memory
Korea Federation of Small and Medium Business (KFSB)
1. สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือแก่กิจการขนาดเล็กและขนาดกลางในด้านข้อมูลข่าวสาร/ความรู้/เทคโนโลยีให้คำแนะนำจากผู้ชำนาญการ และการสร้างเครือข่าย
2. การที่ลักษณะธุรกิจของ SMEs เป็นแบบรับช่วงการผลิตจากกิจการขนาดใหญ่ ทำให้ต้องเผชิญปัญหาอันเนื่องมาจากการแข่งขันด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำจากประเทศจีน นอกจากนี้ยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
การกระจุกตัวของสินค้าส่งออกโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ รัฐบาลจึงต้องมีนโยบายการพัฒนา SMEs ในเรื่องของการสนับสนุนการเริ่มกิจการ การให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน การสร้างบุคลากร การขยายช่องทางการตลาด การเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าเทคโนโลยีใหม่ และการส่งเสริมให้ร่วมลงทุนกับต่างประเทศ
ญี่ปุ่น
Ministry of Economy, Trade and Industry (METI)
1. หน้าที่หลัก คือ การวางแผน และดำเนินนโยบายให้ครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ