- เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองขยายตัวร้อยละ 4.9 ชะลอลงจากร้อยละ 6.1 ในไตรมาสแรก เนื่องจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว แต่อย่างไรก็ตามภาพรวมครึ่งปีขยายตัวร้อยละ 5.5 นับว่าเป็นการขยายตัวในเกณฑ์ดี
- ปัจจัยสนับสนุนมาจากการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิที่ขยายตัวมากเป็นสำคัญ รวมทั้งการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น
- สาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่สองชะลอตัว ประกอบด้วย ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อสูง การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคเอกชนลดลงอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมาก และความไม่แน่นอนของสถานการณ์ภายในประเทศ
- การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาเริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจชัดเจนมากขึ้น เห็นได้การชะลอตัวของสินเชื่อ เงินฝากประจำเพิ่มขึ้น และสภาพคล่องทางการเงินอยู่ในระดับสูง
- แรงกดดันต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากขึ้นในไตรมาสที่สอง เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นร้อยละ 6.0 และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 1,153 ล้านดอลลาร์ สรอ. แต่สถานการณ์ปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่สามเมื่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงมากเป็นร้อยละ 4.4 และ 3.8 ในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม และดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุล อัตราการว่างงานยังต่ำโดยอัตราเฉลี่ยเท่ากับ 1.4 ในไตรมาสที่สอง และทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ เท่ากับ 58.06 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 คิดเป็นประมาณ 3.3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น
- เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวในครึ่งหลังของปี เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัด ประกอบด้วย ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมทั้งความไม่แน่นอนของสถานการณ์ภายในประเทศ โดยที่โอกาสทางเศรษฐกิจจะมาจากการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ในเกณฑ์ดีแม้จะชะลอตัวลงกว่าในครึ่งแรกของปี และผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น รวมทั้งแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อลดลงจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน
- คาดว่าในปี 2549 ทั้งปีเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 4.2-4.7 อัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ 4.5-4.7 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และอัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.8 - 2.0
1. ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาสสองปี 2549
1.1 เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสองปี 2549 ขยายตัวร้อยละประเด็นหลัก 4.9 ชลอลงจากไตรมาสแรกเนื่องจากอุปสงค์ ภายในประเทศที่ชะลอลงทั้งการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาจากการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิเป็นสำคัญ
ประเด็นหลัก
- เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองขยายตัวร้อยละ 4.9 ชะลอลงจากร้อยละ 6.1 ในไตรมาสแรก เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงชัดเจน อันเนื่องมาจากผลกระทบของราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น และปัญหาทางการเมือง โดยแรงสนับสนุนหลักของเศรษฐกิจในไตรมาสสองมาจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องตามภาวะตลาดโลกโดยเฉพาะการค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ขยายตัวดี และราคายางพาราในตลาดโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามราคาน้ำมัน ในขณะที่การนำเข้าชะลอตัวลงมากเนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวและมีการนำเอาสินค้าคงคลังมาใช้เป็นจำนวนสูง นอกจากนี้ในไตรมาสที่สองมีการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น
- โดยรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 ขยายตัวร้อยละ 5.5 จากแรงขับเคลื่อนของการส่งออกสุทธิเป็นหลัก ส่วนอุปสงค์ภายในประเทศสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้น้อยลง
- อุปสงค์รวมภายในประเทศขยายตัวช้าลง และมีการนำสินค้าคงคลังมาใช้เป็นมูลค่าสูงถึง 14,702 ล้านบาททำให้การนำเข้าและการผลิตชะลอตัว ในขณะที่การส่งออกสุทธิของสินค้าและบริการสนับสนุนเศรษฐกิจได้มากขึ้น ในไตรมาสที่สองอุปสงค์ภายในประเทศที่ไม่รวมการเปลี่ยนแปลงสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 ชะลอลงจากร้อยละ 4.2 ในไตรมาสแรก และโดยรวมครึ่งปีอุปสงค์ภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ต่ำกว่าร้อยละ 7.0 ในปี 2548 แต่ถ้าหากรวมการเปลี่ยนแปลงสินค้าคงคลังจะแสดงว่าในครึ่งแรกของปี อุปสงค์รวมในประเทศลดลง ร้อยละ 2.3 จากที่เพิ่มร้อยละ 7.3 ในปี 2548 สำหรับปริมาณการส่งออกสุทธิที่รวมทั้งสินค้าและบริการนั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 ในไตรมาสที่สอง และร้อยละ 11.3 ในครึ่งแรกของปี 2549 เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 และ 7.8 ในครึ่งแรกและครึ่งหลังของปี 2548 ตามลำดับ
- การใช้จ่ายครัวเรือนชะลอตัวจากไตรมาสแรกเล็กน้อยแต่การใช้จ่ายรัฐบาลกลับมาเพิ่มขึ้น ในไตรมาสที่สองการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.7 ชะลอลงจากร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อน โดยที่การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าคงทนประเภทยานยนต์ อุปกรณ์และเครื่องใช้ถาวร การท่องเที่ยวภายในประเทศ สาธารณสุขและเพื่อการบันเทิงต่าง ๆ ชะลอลง เนื่องจากกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลงจากผลกระทบของราคาน้ำมันและราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นมาก และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี รวมครึ่งปีการใช้จ่ายครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 และการใช้จ่ายรัฐบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ในไตรมาสที่สอง จากที่ลดลงร้อยละ 0.9 ในไตรมาสแรก
- การลงทุนรวมชะลอตัวโดยที่การลงทุนภาคเอกชนชะลอลงมากแต่การลงทุนภาครัฐยังเพิ่มขึ้นในอัตราใกล้เคียงกับไตรมาสแรก การลงทุนรวมภายในประเทศเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.3 ชะลอตัวจากร้อยละ 6.6 ในไตรมาสแรก ตามการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอลงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนด้านเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 ชะลอจากร้อยละ 8.5 ในไตรมาสแรก ทำให้การนำเข้าสินค้าทุนลดลงร้อยละ 1.7 และมีการปรับลดการลงทุนในรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ภายหลังจากที่ได้ลงทุนในระดับสูงมากในปี 2548 ด้านการลงทุนก่อสร้างของภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.5 ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับร้อยละ 2.8 ในไตรมาสแรก แต่ชะลอลงมากเมื่อเทียบกับร้อยละ 11.2 ในปี 2548 การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 4.7 ในไตรมาสแรก
- รวมครึ่งปีแรกของปี 2549 การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ชะลอลงอย่างชัดเจนจากในปี 2548 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 11.2 สำหรับภาครัฐมีการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ชะลอลงจากร้อยละ 11.9 ในปี 2548
- มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากโดยเป็นการเพิ่มขึ้นของปริมาณสินค้า ในขณะที่ราคาส่งออกชะลอตัว มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 ในไตรมาสที่สองและร้อยละ 18.1 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะการค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ยังขยายตัว ได้ดี ประกอบกับการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกสินค้าเกษตรอันเนื่องมาจากราคายางพาราที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามราคายางสังเคราะห์ที่สูงขึ้นจากต้นทุนราคาน้ำมัน และความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังขยายตัวในประเทศจีน และอินเดีย รวมทั้งความต้องการมันสำปะหลังที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามราคาสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเพียงช้า ๆ ทำให้ราคาส่งออกโดยรวมเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4.6 และปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.1 สำหรับในระยะต่อไปนั้น เริ่มมีสัญญาณที่แสดงว่าการส่งออกจะชะลอตัว และมีประเด็นข้อสังเกต ดังนี้
- การส่งออกและนำเข้าสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าของประเทศหลัก ๆ แสดงว่าวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ของภูมิภาคกำลังเข้าสู่ช่วงการชะลอตัว และการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวในครึ่งหลังของปี
- ค่าเงินบาทที่แท้จริงที่แข็งค่าขึ้นไม่ได้มีผลกระทบต่อการส่งออกในช่วงไตรมาสที่สองและในช่วงครึ่งแรกของปีเนื่องจากค่าเงินภูมิภาคแข็งค่าขึ้นเช่นกัน แต่ดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริงเริ่มมีสัญญาณที่จะเพิ่มเร็วขึ้นกว่าค่าเงินในภูมิภาคตามภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งอาจจะเป็นข้อจำกัดของการส่งออกในภาวะที่ตลาดโลกกำลังชะลอตัวและการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น แต่การกำหนดราคาสินค้าตามตลาด (Pricing to market) จะช่วยลดผลกระทบ อย่างไรก็ตามผลกระทบที่สำคัญคือรายรับและผลกำไรในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกจะเพิ่มไม่มากหรือลดลงจากการที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้น ซึ่งแสดงว่าผลต่อรายได้และผลต่อเนื่องจากการส่งออกต่อการใช้จ่ายในประเทศจะชะลอตัว
- มูลค่าการนำเข้าชะลอตัวลงต่อเนื่อง จากปริมาณนำเข้าที่ลดลง แม้ว่าราคานำเข้าโดยเฉลี่ยจะยังคงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะราคาน้ำมัน ไตรมาสที่สองปริมาณการนำเข้าสินค้าลดลงร้อยละ 3.7 แต่ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 ทำให้มูลค่านำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ชะลอลงจากร้อยละ 5.4 ในไตรมาสที่แล้ว โดยการนำเข้าสินค้าทุน และเชื้อเพลิงชะลอตัวลงมาก ในขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปลดลง เนื่องจาก (1) ฐานการนำเข้าในช่วงเดียวกันปีที่แล้วสูงจากการสะสมสินค้าคงคลัง เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะสูงขึ้นมาก (2) การลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวลง อันเนื่องมาจากความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเอกชนลดลง เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ภายในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น (3) การลงทุนก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิแล้วเสร็จ ทำให้การนำเข้าสินค้าทุนชะลอตัวลงมาก และ (4) มาตรการบริหารจัดการการนำเข้าสินค้าที่มีปริมาณสูงและมีความผันผวนในปีที่แล้ว ได้แก่ น้ำมัน เหล็กและเหล็กกล้า และทองคำ ทำให้ปริมาณนำเข้าเหล็ก และปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบลดลงอย่างชัดเจน โดยรวมในช่วงครึ่งแรกของปีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 โดยปริมาณลดลงร้อยละ 3.3 แต่ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9
- ดุลการค้าขาดดุล 1,705 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสที่สอง เทียบกับการขาดดุล 224 ล้านดอลลาร์ สรอ.ในไตรมาสที่แล้ว โดยมีการขาดดุลน้ำมันสุทธิประมาณ 5,447 ล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นการขาดดุลมากขึ้นเมื่อเทียบกับการขาดดุล 4,500 ในไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้น ดุลสินค้าที่มิใช่น้ำมันเกินดุลสุทธิประมาณ 3,742 ล้านดอลลาร์ สรอ. ชะลอลงเมื่อเทียบกับการเกินดุล 4,276 ล้านดอลลาร์ สรอ.ในไตรมาสที่แล้ว รวมครึ่งแรกของปี ดุลการค้าขาดดุล 1,929 ล้านดอลลาร์ สรอ. ประกอบด้วยการขาดดุลน้ำมันสุทธิ 9,947 ล้านดอลลาร์ สรอ. และเกินดุลสุทธิสินค้าที่มิใช่น้ำมัน 8,018 ล้านดอลลาร์ สรอ.
- ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 1,153 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสที่สองของปี จากดุลบริการบริจาคและเงินโอนที่เกินดุลเพียง 551 ล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาลปกติที่ยังไม่ถึงฤดูกาลของการท่องเที่ยว และเป็นช่วงที่มีการส่งกลับเงินปันผลและผลตอบแทนการลงทุนของผู้ประกอบการต่างประเทศ การเกินดุลบริการบริจาคและเงินโอนจึงไม่สามารถชดเชยการขาดดุลการค้าได้ทั้งหมด ดุลบัญชีเดินสะพัดจึงขาดดุลในไตรมาสที่สอง แต่รวมครึ่งปีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 503 ล้านดอลลาร์ สรอ.
- การผลิตชะลอตัวแต่นับว่าการขยายตัวยังอยู่ในเกณฑ์ดี ปริมาณการผลิตขยายตัวช้ากว่าอุปสงค์ในสินค้าและบริการรวม โดยที่สินค้าส่วนหนึ่งมาจากการใช้สินค้าคงคลัง การผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 5.8 ตามภาวะการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี แต่ชะลอลงจากร้อยละ 7.8 ในไตรมาสแรกการผลิตอุตสาหกรรมที่ยังคงเพิ่มขึ้น มากประกอบด้วย หมวดอิเล็กทรอนิกส์ทั้งการผลิตหัวอ่านข้อมูลและแผงวงจรรวม และหมวดรถยนต์และอุปกรณ์ ภาคเกษตรขยายตัวได้ร้อยละ 5.4 พืชผลสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้นประกอบด้วย ข้าวนาปี มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และปาล์มน้ำมัน สำหรับหมวดโรงแรมและภัตตาคารยังคงขยายตัวสูงร้อยละ 11.2 ตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาสสองเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2
- เสถียรภาพเศรษฐกิจในไตรมาสที่สองยังมีแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อสูง และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล แต่แรงกดดันเงินเฟ้อลดลงมากในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม และดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุล
- แรงกดดันต่อราคาสินค้าเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่สอง ในไตรมาสสองอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 6.0 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 2.8 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันถูกส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการได้มากขึ้น ครึ่งแรกของปีเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 5.9 และเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 2.7 แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงเป็นร้อยละ 4.4 ในเดือนกรกฎาคม และร้อยละ 3.8 ในเดือนสิงหาคม เนื่องจากการใช้จ่ายที่ชะลอลงชัดเจน และฐานอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมากในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลและมีการปรับราคาสินค้าขึ้นมาก
- การจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นและอัตราการว่างงานลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ผู้มีงานทำในไตรมาสที่สองปี 2549 มีจำนวน 35.79 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 จาก 34.46 ล้านคน ในไตรมาสที่สองปี 2548 โดยผู้มีงานทำสาขาเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.4 ขณะที่ผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรลดลงร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันปี 2548 การจ้างงานในสาขาก่อสร้างลดลงมากสุดร้อยละ 15.7 รองลงมาคือ สาขาการค้าและธนาคารลดลงร้อยละ 5.0 อัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่องโดยในไตรมาสที่สองเท่ากับร้อยละ 1.4 เทียบกับร้อยละ 2.0 ในช่วงเดียวกัน ของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามสัดส่วนจำนวนตำแหน่งงานว่างต่อ จำนวนผู้สมัครมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจาก 2.26 ในปี 2548 และ 1.9 ในไตรมาสแรก เป็น 1.3 ในไตรมาสที่สอง ชี้ว่าตลาดแรงงานตึงตัวน้อยลง และภาคธุรกิจเอกชนจะมีความระมัดระวังในการจ้างงานมากขึ้น
- หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2549 มีจำนวน 3.26 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.1 ของ GDPเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 41.6 ณ สิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ยังคงต่ำกว่าร้อยละ 46.4 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมปี 2548
- เสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 เท่ากับ 58.06 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และเพิ่มเป็น 58.8 พันล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งคิดเป็น 3.3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และเท่ากับการนำเข้า 5.65 เดือน ซึ่งนับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่มีเสถียรภาพ
- ฐานะการคลังเกินดุลเงินสด 75,580.3 ล้านบาท ในไตรมาสสองของปีปฏิทิน 2549 ฐานะการคลังดีขึ้นเมื่อเทียบกับการเกินดุลเงินสด 9,170.7 ล้านบาทในไตรมาสก่อน และการขาดดุลเงินสด 51,414.1 ล้านบาท ในปี 2548 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2549 ถึงสิ้นไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ (ต.ค.48 - มิ.ย.49) ดุลเงินสดกลับมาเกินดุลจำนวน 883.7 ล้านบาท โดยที่ในไตรมาสที่สองของปี 2549 รัฐบาลจัดเก็บรายได้รวม 455.5 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 ขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณจำนวน 288.6 พันล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 21.2 ของวงเงินงบประมาณ 1,360,000 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ จำนวน 24,166.1 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 1.8 ทั้งนี้ สถานการณ์เบิกจ่ายตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2549 ถึงสิ้นสิงหาคม 2549 (ข้อมูล ณ 26 สิงหาคม 2549) มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณจำนวน 1,116.9 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 82 ของวงเงินงบประมาณ
(ยังมีต่อ).../ภาคการเงิน...