มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากจากปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นแต่ราคาชะลอลงมาก ซึ่งแสดงว่าผลต่อรายได้จากการส่งออกมีไม่มาก ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นทำให้รายได้ในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นไม่มาก มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 ในไตรมาสแรกและร้อยละ 11.8 ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่วัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ของโลกปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2548 และอีกส่วนหนึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกหมวดอาหาร (กุ้งและไก่แปรรูป) และสินค้าเกษตรที่ประเทศไทยมีปัญหาผลผลิตขาดแคลน เช่น กุ้ง ยางพารา และข้าว แต่ใน 4 เดือนแรกของปีนี้ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นมากร้อยละ 12.8 แต่ราคาเพิ่มขึ้นน้อยเพียงร้อยละ 3.1 เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 และ 7.7 ในครึ่งแรกและครึ่งหลังของปี 2548 โดยที่ราคาเฉลี่ยของสินค้าส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ของสินค้าทุกหมวดชะลอลงมากโดยเฉพาะสินค้าในหมวดเทคโนโลยีและ อิเล็กทรอนิกส์ แต่ราคาสินค้าเกษตรยังเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะราคายางพระและราคาข้าว ความเคลื่อนไหวที่สำคัญ ๆ ของการส่งออก มีดังนี้
- ข้อมูลกรส่งออกและนำเข้าสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าของประเทศหลัก ๆ แสดงว่าวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์กำลังผ่านพ้นจุดสูงสุด
- ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ยังไม่ได้ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในช่วงไตรมาสแรกอย่างชัดเจนเนื่องจากค่าเงินภูมิภาคแข็งค่าขึ้นเช่นกัน แต่ดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริงเริ่มมีสัญญาณที่จะเพิ่มเร็วขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งอาจจะทำให้การส่งออกของไทยแข่งขันได้ลำบากขึ้น หากกำหนดราคาสินค้าในรูปของเงินบาท
มูลค่าการนำเข้าชะลอลงอย่างรวดเร็ว แม้ว่าราคาสินค้านำเข้าโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมัน แต่ปริมาณการนำเข้าลดลงชัดเจน ในไตรมาสแรกปริมาณการนำเข้าสินค้าลดลงร้อยละ 3.0 และลดลงร้อยละ 8.6 ในเดือนเมษายน โดยที่ราคาเพิ่มขึ้น
ร้อยละ 8.6 และ 7.1 ในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ในไตรมาสแรก แต่ลดลงร้อยละ 2.1 ในเดือนเมษายน โดยที่การนำเข้าวัตถุดิบชะลอลงมากในไตรมาสแรกและลดลงในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นการปรับตัวจากฐานการนำเข้าที่สูงผิดปกติและเกิดการสะสมสินค้าคงคลังมากเมื่อมีการคาดการณ์ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะสูงขึ้นมากในปีที่แล้ว ดังนั้นในไตรมาสแรกของปีนี้จึงมีการลดการสะสมสินค้าคงคลังลงมาก และในขณะเดียวกันปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนชะลอลงมากจากร้อยละ 13.7 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 9.9 ในไตรมาสแรก และลดลงร้อยละ 15.7 ในเดือนเมษายน ซึ่งชี้ถึงแนวโน้มการลงทุนที่ชะลอตัวลงมาก ดังนั้นฐานะดุลการค้าที่ดีขึ้นมีลักษณะที่สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแฝงอยู่ด้วย แต่ภายใต้สถานการณ์ที่การส่งออกและการใช้จ่ายภายในประเทศยังขยายตัว อัตราการใช้กำลังการผลิตหลายอุตสาหกรรมเต็มกำลัง สินค้าคงคลังที่ลดลง ประกอบกับฐานการนำเข้าที่ต่ำในครึ่งหลังของปี 2548 ทำให้คาดว่าการนำเข้าในครึ่งหลังของปี 2549 จะเพิ่มขึ้นมากกว่าในครึ่งแรก
ดุลการค้าขาดดุล 224 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสแรกปี 2549 โดยที่ดุลน้ำมันสุทธิขาดดุลประมาณ 4,500 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการขาดดุล 4,020 และ 4,239 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสที่สามและไตรมาสที่สี่ปี 2548 เนื่องจากราคานำเข้าน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ดุลสินค้าที่มิใช่น้ำมันเกินดุลสุทธิประมาณ 4,092 ล้านดอลลาร์ สรอ. สำหรับในเดือนเมษายนดุลการค้ารวมขาดดุลประมาณ 520 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยมูลค่าการส่งออกและนำเข้ารวมใน 4 เดือนแรกเท่ากับ 38.2 และ 38.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับ
(ยังมีต่อ).../ดุลบัญชี..