ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม และแนวโน้มปี 2552-2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 17, 2009 14:41 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

เศรษฐกิจไทยไตรมาสสามปี 2552 ปรับตัวดีขึ้นจาก 2 ไตรมาสที่ผ่านมา โดยหดตัวร้อยละ 2.8 จากที่หดตัวร้อยละ 7.1 และ 4.9 ในไตรมาสแรกและสองตามลำดับ เป็นการหดตัวน้อยที่สุดในรอบปี เมื่อรวม 9 เดือนแรกของปีหดตัวร้อยละ 5.0 โดยการใช้จ่ายครัวเรือน การลงทุน เอกชน และการส่งออกปรับตัวดีขึ้น เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ได้รับการกระตุ้นจากมาตรการทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในประเทศ ประกอบกับปัญหาการเมืองภายในประเทศเริ่มมีสัญญาณคลี่คลายลง ทำให้ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยปรับตัวดีขึ้น

  • หากปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวจากไตรมาสที่สองร้อยละ 1.3 (% QoQ) แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีการปรับตัวที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก อัตราการใช้กำลังการผลิตสูงขึ้น และอัตราการว่างงานลดลง
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 คาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว(%YoY) เป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบปี โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลด้านบวกต่อการส่งออก การท่องเที่ยว และการใช้จ่ายของครัวเรือน ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น มาตรการเร่งรัดการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ส่งผลให้การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี
  • ทั้งปี 2552 คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 3.0 และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.9 มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ.คาดว่าจะลดลงร้อยละ 13.7 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.7 และมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณร้อยละ 8.8 ของ GDP
  • การประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0-4.0 เป็นการขยายตัวภายใต้เงื่อนไขการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการรักษาความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจและการดูแลแก้ไขปัญหาการลงทุนภาคเอกชน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปร้อยละ 2.5-3.5 อัตราการว่างงานร้อยละ 1.4 และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดร้อยละ 5.3 ของ GDP โดยราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในช่วง 75-85 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล
  • การบริหารเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2553 ควรให้ความสำคัญดังนี้ (1) ขับเคลื่อนและผลักดันการลงทุนของภาคเอกชนให้สามารถเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความชัดเจนของกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเปิดกิจการใหม่หรือขยายกิจการเดิม เพื่อช่วยให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เริ่มมาจากภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะที่ 1 และแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เป็นไปอย่างต่อเนื่อง (2) ส่งเสริมให้ภาคเอกชนใช้ประโยชน์จากการลดภาษีสินค้าในตลาดอาเซียน จากการเปิดเสรีทางการค้าของอาเซียนที่จะเริ่มในเดือนมกราคม 2553 มากขึ้น รวมทั้งเร่งรัดการพัฒนาความเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมและโลจิสติกส์กับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างโอกาสขยายกำลังการผลิตและขยายตลาดให้เชื่อมโยงได้ระหว่างอาเซียนเดิมและอาเซียนใหม่ (3) ประสานนโยบายการเงินและการคลังในการสร้างความมั่นใจให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง
1.เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม ภาพรวมทั้งปี2552

1.1 ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่สาม ปี 2552 เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สามหดตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการหดตัวน้อยที่สุดในรอบปี ใน 9 เดือนแรกของปี 2552 เศรษฐกิจไทยหดตัวร้อยละ 5.0 ปรับตัวดีขึ้น ทั้งการใช้จ่ายครัวเรือน การลงทุนเอกชน และการส่งออก โดยเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลจากมาตรการเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ รวมทั้งปัญหาการเมืองภายในประเทศที่มีสัญญาณที่คลี่คลายลงหากปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้วปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในไตรมาสที่สามของปี 2552 เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 (% QoQ) ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 (% QoQ) ในไตรมาสที่สองแสดงถึงสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ชัดเจนมากขึ้น

ประเด็นหลัก

ภาวะเศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่สามปี 2552 เริ่มเข้าสู่ช่วงการฟื้นตัวและสัญญาณการถดถอยทางเศรษฐกิจได้สิ้นสุดลง ภาวะเศรษฐกิจโลกในไตรมาสนี้หดตัวร้อยละ 0.2 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 4.0 และ 2.5 ในไตรมาสแรกและสองตามลำดับ โดยที่ภาคการเงินในประเทศอุตสาหกรรมหลักๆ ปรับตัวดีขึ้นโดยลำดับ ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจจริงเริ่มเข้าสู่ภาวการณ์ฟื้นตัว โดยมีแรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เมื่อพิจารณาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไตรมาสต่อไตรมาส เศรษฐกิจสหรัฐ และกลุ่มยูโรโซน ขยายตัวเป็นครั้งแรกหลังจากหดตัวติดต่อกันมา 4 และ 5 ไตรมาสตามลำดับ เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน ประกอบกับการขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นของเศรษฐกิจจีนที่ได้รับแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้ส่งผลต่อเนื่องให้ เศรษฐกิจของสิงคโปร์และเกาหลีใต้เริ่มขยายตัวเป็นบวกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สัญญาณบวกที่สำคัญในช่วงไตรมาสที่สาม ได้แก่ การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาและประเทศอุตสาหกรรมสำคัญซึ่งปรับตัวสูงกว่าระดับร้อยละ 50 ชี้ให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม การเลิกจ้างลดลงซึ่งเป็นสัญญาณของการปรับตัวที่มีเสถียรภาพมากขึ้น นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นทั้งภาคธุรกิจและเอกชนปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งราคาหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการบริโภคเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าคงทน ที่ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในขณะเดียวกันการขยายสินเชื่อและการลงทุนของจีนส่งผลให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวเร่งขึ้นและได้ส่งผลให้การค้าในภูมิภาคขยายตัวซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญที่ทำให้ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคปรับตัวดีขึ้นและหลุดพ้นจากภาวะการหดตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม ปี 2552 หดตัวร้อยละ 2.8 ปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 7.1 และ 4.9 ในไตรมาสแรกและสอง ตามลำดับ เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของการส่งออกตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยการส่งออกไปตลาดหลักและตลาดใหม่หดตัวในอัตราที่ช้าลงและเริ่มมีการขยายตัวในตลาดออสเตรเลียร้อยละ 7.1 มีคำ สั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตเริ่มมีการขยายตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 ซึ่งเป็นการขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาสที่สามของปี 2551 ทำให้ไตรมาสนี้ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น และอัตราการว่างงานลดลงจากร้อยละ 1.8 ในไตรมาสที่สอง เป็นร้อยละ 1.2 ในไตรมาสนี้การที่ภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว และสถานการณ์การเมืองภายในประเทศไทยคลี่คลายลงมาก ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น การจ้างงานและราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และใช้จ่ายมากขึ้นในไตรมาสนี้

ปัจจัยบวก

(1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่สาม ได้ส่งผลให้การส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยสังเกตได้จากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วนกลับเข้ามา โดยที่การส่งออกไปยังตลาดใหม่ เริ่มมีสัญญาณบวก เช่น จีน ออสเตรเลีย และฮ่องกง และหากปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้วมูลค่าและปริมาณการส่งออกในไตรมาสที่สามเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่สองร้อยละ 9.3 และ 6.2 ตามลำดับ ในเดือนกันยายนมูลค่าการส่งออกรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคมร้อยละ 9.0 โดยราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 และปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3

(2) การใช้จ่ายครัวเรือนหดตัวร้อยละ 1.3 แต่เป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้วเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่สองร้อยละ 1.0 (%QoQ) และดัชนีการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคและบริโภคภาคเอกชนในเดือนกันยายน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 จากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มรายได้และช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนที่มีรายได้น้อย ประกอบกับผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อัตราการว่างงานลดลง ทำให้อุปสงค์ในการบริโภคเพิ่มขึ้น โดยที่กลุ่มสินค้าที่มีการปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ อาหาร และสินค้าคงทนประเภทรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

(3) การผลิตภาคอุตสาหกรรมมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยที่มูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 5.9 จากที่หดตัวร้อยละ 14.4 และ 8.7 ในไตรมาสแรกและสอง ตามลำดับ เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกในเดือนสุดท้ายของไตรมาสขยายตัวถึงร้อยละ 7.2 เมื่อรวมทั้งไตรมาสขยายตัวร้อยละ 0.2 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 22.2 และ 2.1 ในไตรมาสแรกและสอง ตามลำดับ กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวอย่างชัดเจน คือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ปรับตัวดีขึ้นจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ในไตรมาสที่สองส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ62.4 เทียบกับร้อยละ 58.1 และ 59.2 ในไตรมาสแรกและสองของปี ตามลำดับ

(4) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก ความกังวลต่อการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A (H1N1) ได้ผ่อนคลายลงและสถานการณ์การเมืองภายในประเทศคลี่คลายลงมาก ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะเดินทางมาประเทศไทยเพิ่มขึ้น ในเดือนกันยายน 2552 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 1.1 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.4 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และเมื่อขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 6.2 จากเดือนก่อน ในไตรมาสนี้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงร้อยละ 2.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 15.8 และ 16.5 ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองตามลำดับ อย่างไรก็ตามอัตราการเข้าพักในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 46.9 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ระดับร้อยละ 53.2

(5) ความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้น โดยที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 75.6 ในเดือนกันยายน เพิ่มขึ้นจาก 74.5 ในเดือนสิงหาคม สำหรับภาคธุรกิจดัชนีความเชื่อมั่นดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจใน 3 เดือนข้างหน้าสูงกว่าระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5

ปัจจัยลบ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจเอกชน และทำให้การผลิตยังคงหดตัวในหลายสาขา ได้แก่

(1) การใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากความต้องการสินค้าและบริการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศยังฟื้นตัวช้า ประกอบกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมีความล่าช้า ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุน ทำให้ภาคเอกชนบางส่วนชะลอการลงทุนและเลื่อนการลงทุนออกไปก่อน

(2) ระดับราคาและปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญลดลงทำให้รายได้เกษตรกรลดลง ส่งผลให้การใช้จ่ายครัวเรือนฟื้นตัวช้า

เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี

(1) เสถียรภาพในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสที่สาม เงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ -2.2 เทียบกับร้อยละ -2.8 ในไตรมาสที่สอง เป็นผลมาจากการลดลงของราคาข้าว และราคาน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งการดำเนินมาตรการเรียนฟรี 15 ปีของรัฐบาล ทำให้ค่าใช้จ่ายในด้านการศึกษาลดลงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยในไตรมาสที่สาม เท่ากับร้อยละ -0.5 เมื่อรวม 9 เดือนแรกของปี 2552 อัตราเงินเฟ้อร้อยละ -1.7 และเดือนตุลาคม 2552 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 0.4 ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่เป็นบวกครั้งแรกในรอบ 9 เดือน

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่สามลดลงร้อยละ 10.2 เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 7.0 ในไตรมาสที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงการผ่อนคลายของแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตอย่างต่อเนื่อง และเมื่อรวม 9 เดือนแรกของปี ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ 7.0

อัตราการว่างงาน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่ำกว่าอัตราการว่างงานร้อยละ 2.1 และ 1.8 ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองที่ผ่านมา เป็นสัญญาณชี้ให้เห็นถึงการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในสาขาโรงแรมและภัตตาคารที่เพิ่มขึ้นตามภาวการณ์ท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น และสาขาอุตสาหกรรม ที่เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2551 ตามภาวการณ์ฟื้นตัวของอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมยานยนต์

(2) เสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี: ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง

  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาสที่สามเกินดุล 3,713 ล้านดอลลาร์ สรอ. (125,891 ล้านบาท) เป็นผลมาจากดุลการค้าเกินดุล 5,118 ล้านดอลลาร์ สรอ. ส่วนดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุล 1,406 ล้านดอลลาร์ สรอ. เนื่องจากมีการส่งกลับผลตอบแทนจากการลงทุนและเงินปันผลของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้น เมื่อรวม 9 เดือนแรกของปีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 16,088 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือเท่ากับ 560,762 ล้านบาท
  • เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2552 เท่ากับ 135.26 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี Net Forward Position อีก 15.28 พันล้านดอลลาร์) สูงกว่า 123.45 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2552 (และ Net Forward Position อีก 11.37 พันล้านดอลลาร์) คิดเป็นประมาณ 6.2 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และเท่ากับมูลค่าการนำเข้า 10.6 เดือน
  • อัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาสที่สามเฉลี่ยเท่ากับ 33.91 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นกว่า 34.64 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.ในไตรมาสที่ผ่านมา แต่ยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในช่วงเดียวกันของปี 2551 สำหรับในช่วงเดือนตุลาคม อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 33.36 บาทต่อดอลลาร์สรอ. และ ในช่วงวันที่ 1 — 18 พฤศจิกายน เท่ากับ 33.28 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นการแข็งค่าในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่สี่ และทั้งปี 2552

(1) แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับฐานเศรษฐกิจที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จะส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีมีการขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบปี ทั้งนี้ปัจจัยสนับสนุนและเงื่อนไขที่สำคัญสำหรับการฟื้นตัวในไตรมาสสุดท้าย มีดังนี้

  • การฟื้นตัวของการส่งออก จากการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกในไตรมาสสุดท้ายของปียังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับการส่งออกที่หดตัวมากในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ภาคการส่งออกของไทยมีอัตราการขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบสี่ไตรมาส
  • การปรับตัวดีขึ้นของค่าใช้จ่ายครัวเรือน ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่มีการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในภาคการผลิตต่าง ๆ การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ประกอบกับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตร รวมทั้งผลจากมาตรการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรของภาครัฐ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นคาดว่าจะส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสสุดท้ายเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่สาม และเมื่อเทียบกับฐานการใช้จ่ายที่ต่ำในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วคาดว่าจะเป็นแรงส่งให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนในไตรมาสสุดท้ายขยายตัวได้เป็นครั้งแรกหลังจากหดตัวต่อเนื่อง 3 ไตรมาส
  • มาตรการเร่งรัดการดำ เนินการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2553 เมื่อรวมกับฐานการเบิกจ่ายที่ต่ำในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2552 คาดว่าการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้น
  • สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจคาดว่าจะยังอยู่ในเกณฑ์สูงเนื่องจากการขยายการใช้จ่ายภาครัฐ การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมทั้งการบริหารสภาพคล่องและการขยายสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและรายจ่ายภาคครัวเรือน

(2) การประมาณการเศรษฐกิจทั้งปี 2552: คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 3.0 จากที่ประมาณการเดิมในช่วงร้อยละ(-3.5) - (-3.0) ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2552 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ —0.9 มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ.คาดว่าจะลดลงร้อยละ 13.7 แต่เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทโดยเฉลี่ยอ่อนลงกว่าในปี 2551 มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาท จึงลดลงร้อยละ 11.0 และมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณร้อยละ 8.8 ของ GDP

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2553

(1) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2553 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่สี่ ปี 2552 ตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง การดูแลแก้ไขปัญหาการลงทุนภาคเอกชน และการรักษาความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ โดยมีปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวในปี 2553 ดังนี้

  • การฟื้นตัวของภาคการผลิต การส่งออก และภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐบาลจะส่งผลให้สถานการณ์การจ้างงานและระดับรายได้ของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนภาคอุตสาหกรรมและบริการ ในขณะที่รายได้ของครัวเรือนภาคเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์และราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก ประกอบกับการดำเนินนโยบายการประกันรายได้เกษตรกร ระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์ในการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนมีแนวโน้มสูงขึ้น
  • การดำเนินการลงทุนภาครัฐภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 คาดว่ามีความคืบหน้ามากขึ้นตามลำดับและส่งผลให้การลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำอย่างช้าๆเนื่องจากกำลังการผลิตส่วนเกินในภาคการผลิตยังอยู่ในระดับสูงและความต้องการภายในประเทศยังมีความเปราะบาง ในขณะที่ภาคธุรกิจส่วนหนึ่งรอดูความชัดเจนของแนวโน้มสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดก่อนตัดสินใจลงทุน
  • แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก คาดว่าในปี 2553 ภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัว ในช่วงร้อยละ 2.8-3.2 (เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 1.1 ในปี 2552) ส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย ซึ่งคาดว่าการส่งออกสินค้าไทยจะปรับดีขึ้นทั้งปริมาณและราคา และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากฐานการส่งออกที่ต่ำในปี 2552 โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกการส่งออกสินค้าเกษตรมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีเนื่องจากปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศผู้ผลิตหลายประเทศ การฟื้นตัวของอุปสงค์โลกและการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมัน

(2) ประมาณการเศรษฐกิจทั้งปี 2553: คาดว่าอัตราการขยายตัวทั้งปีจะอยู่ในช่วงร้อยละ 3.0-4.0 โดยที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 - 3.5 มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. จะขยายตัวร้อยละ 10.0 มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทขยายตัวร้อยละ 4.2 และมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณร้อยละ 5.3 ของ GDP

(ยังมีต่อ).../1.2 ภาวะเศรษฐกิจใน..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ