(ต่อ7)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม และแนวโน้มปี 2552-2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 24, 2009 15:18 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

3.3.3 องค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2553

  • ด้านอุปสงค์ และเสถียรภาพของเศรษฐกิจ

(1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภครวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 โดยที่การใช้จ่ายครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ปรับตัวดีขึ้นจากที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 0.2 และร้อยละ 1.2 ในปี 2552 ตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการผลิต การส่งออกและภาคการท่องเที่ยวรวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐบาล ซึ่งจะส่งผลให้การจ้างงานและฐานรายได้ของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะครัวเรือนภาคอุตสาหกรรมและบริการ ในขณะที่ฐานรายได้ของครัวเรือน ภาคเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์และราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก รวมทั้งนโยบายการประกันรายได้เกษตรกรแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ของครัวเรือนอย่างเป็นวงกว้างและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 คาดว่าจะส่งผลให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวจากฐานที่ต่ำในปีที่ผ่านมา ในด้านการใช้จ่ายภาครัฐ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6

(2) การลงทุนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 ปรับตัวดีขึ้นจากที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 8.6 ในปี 2552 โดยมีแรงสนับสนุนจากการลงทุนภาครัฐภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่คาดว่าจะเร่งตัวมากขึ้นตามลำดับ และส่งผลให้การลงทุนภาครัฐขยายตัวประมาณร้อยละ 6.0 สำหรับการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะยังคงฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำอย่างช้าๆ ประมาณร้อยละ 3.0 เนื่องจากกำ ลังการผลิตส่วนเกินในภาคการผลิตยังอยู่ในระดับสูง ผลกระทบจากปัญหากฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดรวมทั้งภาคธุรกิจส่วนหนึ่งรอดูแนวโน้มสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกให้มีความชัดเจนมากขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

(3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ในปี 2553 คาดว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 ปรับตัวดีขึ้นจากที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 13.7 ในปี 2552โดยทั้งปริมาณและราคาสินค้าส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากฐานการส่งออกที่ต่ำในปี2552 โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก การส่งออกสินค้าเกษตรมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีเนื่องจากปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศผู้ผลิตรวมทั้งการฟื้นตัวของอุปสงค์โลกและการปรับตัวสูงขึ้นของราคาพืชพลังงาน อย่างไรก็ตามการขยายตัวของปริมาณการส่งออกยังมีข้อจำกัดจากการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณความต้องการนำเข้าของประเทศ อุตสาหกรรมที่ขยายตัวในระดับต่ำ ในขณะที่ประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ๆ โดยเฉพาะจีนที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินสูงและมีความได้เปรียบด้านอัตราแลกเปลี่ยนจะทำให้การแข่งขันยังมีความรุนแรง ภายใต้แนวโน้มดังกล่าวคาดว่าปริมาณและราคาส่งออกสินค้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 และ 3.5 ตามลำ ดับโดยรวมคาดว่าปริมาณการส่งออกทั้งสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 12.1 ในปี 2552

(4) มูลค่าการนำ เข้าสินค้าคาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 18.5 ซึ่งเป็นการขยายตัวจากการหดตัวประมาณร้อยละ 26.1 ในปี 2552 โดยคาดว่าปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 เทียบกับการหดตัวประมาณร้อยละ 22.8 ในปี 2552 และเป็นการขยายตัวจากฐานที่ต่ำตามแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการส่งออก การบริโภค รวมทั้งการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งจะทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นคาดว่าภาคธุรกิจจะเริ่มการสะสมสต็อกอีกครั้งหลังจากการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในปี 2552 ในขณะที่ราคาสินค้านำเข้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ4.5 เร็วกว่าราคาสินค้าส่งออกเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคานำเข้าในกลุ่มวัตถุดิบและน้ำมันเชื้อเพลิง โดยรวมคาดว่าปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 12.4 เทียบกับที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 20.0 ในปี 2552

(5) ดุลการค้ามีแนวโน้มเกินดุลประมาณ 13.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากที่คาดว่าจะเกินดุลประมาณ 21.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2552 ซึ่งเป็นผลมาจากการนำเข้ามีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าการส่งออก เมื่อรวมกับดุลบริการที่คาดว่าจะเกินดุล ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 14.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 5.3 ของ GDP ซึ่งเป็นการเกินดุลลดลงจากประมาณ 22.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2552

(6) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจปี 2553 การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง แรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 — 3.5เพิ่มขึ้นจากประมาณการอัตราเงินเฟ้อร้อยละ -0.9 ในปี 2552 เนื่องจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นและอุปสงค์ภายในประเทศฟื้นตัวนอกจากนั้นผลของมาตรการ “5 มาตรการ 6 เดือนเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน” จะหมดลงในเดือนธันวาคม 2552 และคาดว่าอัตราการว่างงานมีแนวโน้มอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.4

3.3.4 แนวโน้มการผลิต ปี 2553 โดยรวมมีแนวโน้มขยายตัวจากปี 2552 สถานการณ์การผลิตรายสาขามีแนวโน้มดังนี้

(1) สาขาเกษตรกรรม คาดว่าผลผลิตและระดับราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2552 เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจน ส่งผลให้อุปสงค์ในสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ประกอบกับการดำเนินมาตรการของภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนการผลิตภาคเกษตร เช่น มาตรการประกันรายได้เกษตรกรที่ครอบคลุมพืชหลัก ๆ 3 ชนิด คือ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งการส่งเสริมพัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูปที่มีคุณภาพและปรับเปลี่ยนรูปแบบให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ทำให้รายได้เกษตรกรในปี 2553 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย สำหรับแนวโน้มภาคเกษตรกรรมที่สำคัญมีดังนี้

(1.1) ผลผลิตข้าวเปลือก คาดว่าในปี 2553 ผลผลิตและราคามีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการประกันรายได้เกษตรกรในช่วงปลายปี 2552 ต่อเนื่องถึงปี 2553 ประกอบกับอุปทานข้าวในตลาดโลกลดลง โดยเฉพาะผลผลิตข้าวของประเทศต่าง ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ อินเดีย และเวียดนามที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติทั้งภาวะภัยแล้งและน้ำท่วมในปี 2552 อย่างไรก็ตามการที่ประเทศไทยได้นำร่องลดภาษีนำเข้าข้าวเหลือร้อยละ 0 ภายใต้กรอบข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียนที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2553 อาจทำให้มีการนำเข้าข้าวจำนวนมากทำให้ราคาข้าวในประเทศตกต่ำ หรือผู้ส่งออกอาจจะนำเข้าข้าวที่ราคาต่ำกว่าและคุณภาพด้อยกว่ามาผสมกับข้าวไทยแล้วทำการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ดังนั้น หากประเทศไทยไม่มีมาตรการรับมือกับปัญหาต่างๆ จะทำให้ข้าวไทยเกิดภาวะล้นตลาดและไทยอาจจะเสียส่วนแบ่งตลาดต่างประเทศในอนาคตด้วย

(1.2) ยางพารา คาดว่าปริมาณผลผลิตรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากระยะที่ผ่านมาภาครัฐได้มีมาตรการส่งเสริมการปลูกยางพันธุ์ใหม่ทดแทนยางพันธุ์เก่าซึ่งจะเริ่มให้ผลผลิตในปี 2553 ประกอบกับอุปสงค์ของยางธรรมชาติในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ

(1.3) มันสำปะหลัง คาดว่าในปี 2553 ผลผลิตมีแนวโน้มลดลงจากปี 2552 เนื่องจากเกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งมีโครงการประกันรายได้เกษตรกรรองรับ ประกอบกับคาดว่าผลผลิตต่อไร่ในปี 2553 จะลดลงเนื่องจากการระบาดของเพลี้ยแป้งในหลายพื้นที่และสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง

(1.4) อ้อย คาดว่าแนวโน้มระดับราคาอ้อยจะเพิ่มสูงขึ้นจากการที่ประเทศบราซิลซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกประสบกับปัญหาผลผลิตเสียหายเนื่องจากฝนตกอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับประเทศอินเดียได้เปลี่ยนสถานะจากประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่มาเป็นผู้นำเข้าน้ำตาลเนื่องจากประสบภาวะภัยแล้ง ดังนั้น จึงคาดว่าปริมาณผลผลิตโดยรวมในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงส่งผลทำให้ระดับราคาภายในประเทศสูง

(1.5) สาขาประมง คาดว่าในปี 2553 การส่งออกกุ้งจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5-10 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าสำหรับไตรมาสแรก ปี 2553 แล้ว ซึ่งปัจจัยสนับสนุนต่อการส่งออกกุ้งของไทยไปตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา คือ การที่สหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่จะยกเลิกมาตรการต่อต้านการทุ่มตลาด (Anti-Dumping) กับสินค้ากุ้งของไทย โดยสหรัฐและไทยได้บรรลุข้อตกลงเรื่องการทำการประนีประนอม (Settlement) ผ่านวิธีซีซีอาร์ (CCRChanged Circumstances Review) การที่สหรัฐมีแนวโน้มยกเลิกภาษีจากมาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดได้ส่งผลดีต่อการส่งออกกุ้งไทย เนื่องจากมาตรการดังกล่าวทำให้สินค้ากุ้งไทยไม่สามารถแข่งขันกับสินค้ากุ้งจากหลาย ๆ ประเทศที่ส่วนใหญ่ไม่ต้องเสียภาษี อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงในสาขาประมง คือ การที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนในการจับสัตว์น้ำและอัตราเงินเฟ้อของประเทศผู้นำเข้า ทำให้อุปสงค์ในการบริโภคลดลง ดังนั้นในปี 2553 ผู้ส่งออกสินค้าประมงควรหาตลาดใหม่ๆ มากขึ้น เช่น ออสเตรเลียและรัสเซียเป็นต้น

(2) ภาคอุตสาหกรรม คาดว่าปี 2553 มีแนวโน้มขยายตัวจากปี 2552 เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและโลกอย่างต่อเนื่องประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐโดยผ่านโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง2555 ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมเพื่อจำหน่ายภายในประเทศและเพื่อการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่เป็นตลาดสำคัญของไทย เริ่มปรับตัวดีขึ้น อุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งคู่ค้าที่สำคัญ เช่น ออสเตรเลีย เริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน (Eco Car) ที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์จะทำการเปิดตัวในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งจะส่งผลให้อุปสงค์รถยนต์เพิ่มขึ้น การที่อุตสาหกรรมยานยนต์เพิ่มขึ้นได้ส่งผลต่อเนื่องถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรมสนับสนุน เช่น การผลิตยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในขณะที่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการผลิตวัสดุก่อสร้างก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน เป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายรัฐบาลที่กระตุ้นการก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชน อุตสาหกรรมเครื่องเรือนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการภาวะการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งในประเทศและสหรัฐอเมริกาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีอุปสงค์จากตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการทำสัญญาความร่วมมือ JTEPA ทำให้การส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มทรงตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มโดยเฉพาะเบียร์ที่ได้รับผลกระทบจากแนวโน้มการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสินค้าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์รวมทั้งกฎหมายการควบคุมการโฆษณาส่งเสริมการขายสินค้าดังกล่าวในส่วนของอุตสาหกรรมอาหาร ถึงแม้ว่าอุปสงค์ในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่การเพิ่มความเข้มงวดในมาตรการการรักษาความปลอดภัยของอาหารในประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา อาจจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าอาหารของไทยไปยังตลาดโลกมีปัญหา

(3) สาขาการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าในปี 2553 มีแนวโน้มขยายตัวจากปี 2552 ทั้งการก่อสร้างภาครัฐและเอกชน เป็นผลมาจากโครงการก่อสร้างภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เป็นหลัก เช่น โครงการถนนไร้ฝุ่น โครงการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ทั้งโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปลายปี 2552 และสายสีแดงซึ่งมีการก่อสร้างแล้วประมาณร้อยละ 12 ส่วนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวจากปี 2552 เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องประกอบกับความชัดเจนในการพัฒนาเส้นทางการคมนาคมขนส่งของรัฐทั้งในส่วนขยายรถไฟฟ้า และการขยายถนนไปสู่ชานเมืองส่งผลให้ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะตามแนวเส้นทางคมนาคมที่เกิดขึ้นใหม่ นอกจากนี้การที่สถาบันการเงินมีนโยบายในการผ่อนคลายหลักเกณฑ์และการอนุมัติสินเชื่อแก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนในการกระตุ้นอุปสงค์ภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งหากรัฐบาลมีการต่ออายุมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 28 มีนาคม 2553 ออกไปอีกจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการสนับสนุนให้อุปสงค์ของภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะเห็นได้จากการสำ รวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย (Housing Development Sentiment Index: HDSI) ของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Information Center) พบว่าในไตรมาสที่สาม ปี 2552 ดัชนีความคาดหวังในอีก 6 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 64.0 ปรับตัวดีขึ้นจาก 54.4 ในไตรมาสที่สอง ปี 2552 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองในช่วง 6 เดือนข้างหน้าอย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบที่อาจจะส่งผลถึงการขยายตัวของอสังหาริมทรัพย์ในปี 2553 ได้แก่ ราคาต้นทุนการก่อสร้างที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทั้งราคาน้ำมันและราคาวัสดุก่อสร้าง รวมถึงแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งมีผลต่อทั้งต้นทุนของผู้บริโภคและผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์(4) สาขาบริการท่องเที่ยว จากการที่ภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2553มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจน การผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A (H1N1) แนวโน้มสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงรุก โดยกำ หนดยุทธศาสตร์ในการรักษาส่วนแบ่งตลาดรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยว และการกำหนดแผนงานการตลาด เช่น การร่วมมือกับโฮลเซลท่องเที่ยวนำบริษัทค้าปลีกท่องเที่ยวจาก 3 ภูมิภาคหลัก ประกอบด้วย เอเชียตะวันออกอาเซียน และโอเชียเนีย ซึ่งสามารถสร้างรายได้รวมกันมากกว่าร้อยละ 50 ของรายได้ทั้งหมด เข้ามาประชุมเชิงปฏิบัติการในไทย การทำแพ็กเกจร่วมกับโฮลเซลท่องเที่ยวหรือสายการบินนานาประเทศในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (low season) การพัฒนาตลาดกลุ่มสนใจเฉพาะ(niche market) ได้แก่ คู่แต่งงานและฮันนีมูน กลุ่มเยาวชน กลุ่มทำอาหาร รวมทั้งการพัฒนาตลาด ดาวรุ่งกลุ่มใหม่ ได้แก่ จอร์แดน อิหร่าน ซีเรีย กลุ่มประเทศบอลติก ลัตเวีย ลิทัวเนีย และเอสโทเนีย เป็นต้น รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ในโครงการ 12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวันดังนั้นจึงคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาประเทศไทยในปี 2553 มีจำนวนประมาณ 14.8— 15.0 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ประมาณร้อยละ 10 อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงของภาคการท่องเที่ยวในปี 2553 ได้แก่การระบาดรอบใหม่ของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A (H1N1) สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศและความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีความอ่อนไหว เป็นต้น

4. ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2553

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นในปีนี้ และรัฐบาลสามารถดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทันท่วงทีจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งเริ่มดำเนินการได้ในเดือนกันยายนก็ตามแต่ปัจจัยสำคัญของการสร้างความมั่นใจของการฟื้นตัวเต็มที่ของเศรษฐกิจไทย คือ ความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในปี2553 ซึ่งควรให้ความสำคัญกับการดำเนินการใน 3 เรื่องดังนี้

4.1 ผลักดันและขับเคลื่อนการลงทุนของภาคเอกชนให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม ภาวะการฟื้นตัวที่เริ่มชัดเจนขึ้นในขณะนี้มาจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว และการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะที่ 1 ต่อเนื่องถึงแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2553-2555 ซึ่งเป็นการเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจโดยภาครัฐมากขึ้น ในระยะเร่งด่วนของปี 2553 ต่อเนื่องจากปี 2552 จำเป็นจะต้องขับเคลื่อนและผลักดันโครงการลงทุนของภาคเอกชนให้สามารถเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความชัดเจนของกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเปิดกิจการใหม่หรือขยายกิจการเดิม

4.2 ส่งเสริมให้ภาคเอกชนใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีการเปิดเสรีทางการค้าของอาเซียนที่จะเพิ่มมากขึ้นในเดือนมกราคม 2553 เป็นต้นไป จะสร้างประโยชน์ต่อโอกาสขยายการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการไทย จึงควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนใช้ประโยชน์จากการลดภาษีสินค้าในตลาดอาเซียน รวมทั้งจากข้อตกลงการค้าอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-เปรู และหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น เป็นต้น และควรเร่งรัดการพัฒนาความเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมและโลจิสติกส์กับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างโอกาสขยายกำลังการผลิตและขยายตลาดให้เชื่อมโยงได้ระหว่างอาเซียนเดิมและอาเซียนใหม่

4.3 ประสานนโยบายการเงินและการคลังในการสร้างความมั่นใจให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่และต่อเนื่องโดยเฉพาะโครงการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัด ด้านรายได้ที่เป็นผลมาจากการลดภาษีภายใต้กรอบอาฟต้า แม้ว่าขณะนี้แนวโน้มการจัดเก็บภาษีจะปรับตัวดีขึ้นและลดภาวะการขาดดุลการคลังลงไปมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปีก็ตาม รวมทั้งการดำ เนินนโยบายการเงิน การบริหารสภาพคล่อง และการรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้เป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีความมั่นใจให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ประมาณการเศรษฐกิจปี 2552 และแนวโน้มปี 2553

                                                    ข้อมูลจริง                     ประมาณการ 23 พ.ย. 52
                                        2549         2550         2551           2552_f      2553_f
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านบาท)          7,850.2     8,529.8     9,075.5           8,712.5     9,017.4
   รายได้ต่อหัว (บาทต่อคนต่อปี)           121,070.2   129,239.6   135,454.6           129,650     133,591
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านดอลลาร์ สรอ.)    206.9       245.8       273.4             254.0       277.5
   รายได้ต่อหัว (ดอลลาร์ สรอ. ต่อหัวต่อปี)    3,190.9     3,724.2     4,080.6           3,779.9     4,110.5
อัตราการขยายตัวของ GDP (ณ ราคาคงที่, %)       5.1         4.9         2.5              -3.0     3.0-4.0
การลงทุนรวม (ณ ราคาคงที่, %)                 3.9         1.5         1.2              -8.6         3.8
   ภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่, %)                4.1         0.6         3.2             -12.7         3.0
   ภาครัฐ (ณ ราคาคงที่, %)                   3.1         4.2        -4.6               4.4         6.0
การบริโภครวม (ณ ราคาคงที่, %)                3.0         2.8         3.0              -0.2         2.5
   ภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่, %)                3.2         1.7         2.7              -1.2         2.7
   ภาครัฐบาล (ณ ราคาคงที่, %)                2.2         9.7         4.6               5.7         1.6
ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)      9.1         7.8         5.1             -12.1         6.7
   มูลค่าการส่งออกสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)  127.9       151.3       175.2             151.2       166.3
      อัตราการขยายตัว (%)                  17.0        18.2        15.9             -13.7        10.0
      อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %)           11.2        11.9         4.9             -13.2         6.5
ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)      3.3         4.4         8.5             -20.0        12.4
   มูลค่าการนำเข้าสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)  126.9       138.5       175.1             129.4       153.4
      อัตราการขยายตัว (%)                   7.9         9.1        26.5             -26.1        18.5
      อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %)            1.4         3.5        12.3             -22.8        14.0
ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)                1.0        12.8         0.1              21.8        13.0
ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ สรอ.) 1/        2.3        15.7         1.6              22.3        14.6
ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP (%)                    1.1         6.3         0.5               8.8         5.3
เงินเฟ้อ (%)
   ดัชนีราคาผู้บริโภค                          4.7         2.3         5.5              -0.9     2.5-3.5
   GDP Deflator                           5.1         3.2         4.5              -0.9     2.5-3.5

ที่มา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 23 พฤศจิกายน 2552

หมายเหตุ 1/ Reinvested earnings has been recorded as part of FDI in Financial account, and its contra entry recorded as income on equity in current account.

--สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ